ขนุน สิรภพ: ขบวนไม่ได้ล้มเหลวแต่การต่อสู้ทางการเมืองเรื่องระยะยาว

สิรภพ หรือ ขนุน อาจไม่ใช่นักกิจกรรมที่อยู่แถวหน้าในการเคลื่อนไหวและไม่ใช่นักปราศรัยขาประจำ แต่ในช่วงเดือนตุลาคม 2563 ที่แกนนำคณะราษฎรหลายๆ คนถูกคุมขังหลังการสลายการชุมนุม 15 ตุลาคม 2563 ขนุนก็ตัดสินใจขึ้นปราศรัยในการชุมนุมใหญ่ที่แยกปทุมวัน ครั้งนั้นเขายังไม่ถูกดำเนินคดี

ในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2563 ขนุนขึ้นปราศรัยที่หน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ บรรยากาศในการชุมนุมวันนั้นเต็มไปด้วยความโกรธและไม่พอใจเพราะหนึ่งวันก่อนหน้านั้นผู้ชุมนุมราษฎรที่ไปรวมตัวกันหน้ารัฐสภาเกียกกายเพื่อติดตามการอภิปรายและลงมติร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนเพิ่งถูกเจ้าหน้าที่สลายการชุมนุมด้วยแก๊สน้ำตา ในขณะที่การชุมนุมดำเนินไปด้วยความเข้มข้นและป้ายของสำนักงานตำรวจแห่งชาติถูกละเลงด้วยสีต่างๆ แทนความไม่พอใจของผู้ชุมนุม ขนุนซึ่งอยู่บนรถเครื่องเสียงขนาดเล็กก็จับไมค์ขึ้นปราศรัย แม้ขนุนจะเคยขึ้นปราศรัยบนเวทีการชุมนุมมาบ้าง แต่ประเด็นที่เขาปราศรัยก็จำกัดอยู่ที่เรื่องปัญหาในระบบการศึกษาไทยและเรื่องความเหลื่อมล้ำ

ขนุนระบุในภายหลังว่า ที่เขาไม่เคยพูดเรื่องการปฏิรู<ปสถาบันฯ หรือพูดถึงประเด็นปัญหาแวดล้อมสถาบันพระมหากษัตริย์มาก่อน เป็นเพราะเขาเห็นว่ามีคนที่มีข้อมูลมากกว่าตัวเขาคอยพูดอยู่แล้ว เขาจึงเลือกไปพูดประเด็นอื่นแทนเพราะคิดว่าเนื้อหาที่พูดในที่ชุมนุมไม่ควรจะจำกัดอยู่แค่เรื่องสถาบันฯ แต่ควรพูดถึงปัญหาเชิงโครงสร้างอื่นๆ ที่สังคมไทยเผชิญอยู่ด้วย อย่างไรก็ตามความโกรธจากการถูกสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2563 ก็ผลักให้ขนุนตัดสินใจปราศรัยในประเด็นแวดล้อมสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งปรากฏว่าการปราศรัยในประเด็นนี้เพียงครั้งเดียวก็มากพอแล้วที่จะทำให้เขาถูกดำเนินคดีมาตรา 112

ครูสอนว่า เสื้อแดงเป็นคนไม่ดี

“ผมเกิดปี 2543 ตอนนี้อายุ 22 ปี แล้ว ผมเป็นคนกรุงเทพโดยกำเนิด ครอบครัวของผมก็เป็นครอบครัวคนชั้นกลางทั่วไป แม่ของผมยังทำงานบริษัท ส่วนพ่อของผมตอนนี้เกษียณไม่ได้ทำงานแล้ว ตัวผมเองสมัยเป็นนักเรียนก็ไม่ได้เป็นนักเรียนดีเด่นอะไร ออกจะเป็นพวกไม่ตั้งใจเรียนเสียด้วยซ้ำ ยิ่งเรื่องการเมืองนี่ไม่ต้องพูดถึงเลย ไม่เคยรู้จัก ไม่สนใจ ตอนที่ พล.อ.ประยุทธ์ทำรัฐประหาร ผมเรียนอยู่ชั้น ม.3 ตอนนั้นผมก็ไม่รู้ว่ารัฐประหารนี่มันคืออะไร รู้แค่ว่าพ่อมารับผมกลับบ้านเร็วกว่าปกติแล้วก็บอกว่ามีการรัฐประหาร”

“จริงๆ ช่วงก่อนการรัฐประหาร ที่ กปปส.ชุมนุมกัน เคยมีคุณครูที่โรงเรียนคนหนึ่ง เป็นครูสังคม ถามผมกับนักเรียนคนอื่นๆ ในห้องว่ารู้ไหมคนดีเป็นอย่างไร เสร็จแล้วครูเขาก็บอกว่าพวกเสื้อแดงเป็นคนไม่ดี ตอนนั้นด้วยความที่ผมไม่รู้เรื่อง ผมก็ถามครูกลับว่าเสื้อแดงเป็นใคร ทำไมเสื้อแดงไม่ดี เท่านั้นแหละครูก็ร่ายยาวเลย ครูยังถามนักเรียนในห้องด้วยว่าไหนในห้องใครเป็นเสื้อเหลืองบ้าง พวกเพื่อนๆ ก็ยกกันพรึ่บ เหมือนยกตอบเอาใจครูไปอย่างนั้น แล้วพอครูถามว่าไหนใครเป็นเสื้อแดงบ้าง ผมก็ทำท่าจะยกมือเพราะที่บ้านผมเขาชอบเปิดดูช่องเสื้อแดง ปรากฏว่าเพื่อนที่นั่งใกล้ๆ ก็สะกิดให้ผมเอามือลง”

“จริงๆ ตอนที่จะยกมือผมก็ไม่ได้เข้าใจเรื่องเสื้อเหลืองเสื้อแดงอะไรขนาดนั้นหรอก ผมแค่สงสัยว่าทำไมครูถึงบอกทำนองว่าเสื้อเหลืองดี เสื้อแดงไม่ดี ก็แค่นั้น”

รัฐศาสตร์แฟร์เปิดโลก สะสมหนังสือเกี่ยวกับสังคมการเมือง

“อย่างที่บอกว่าสมัยผมเรียนมัธยม ผมเป็นพวกไม่ค่อยสนใจเรียน ความสนใจเรื่องการเมืองของผมจึงไม่ได้เกิดมาจากการเรียนในห้อง แต่เกิดขึ้นเพราะการทำกิจกรรมอื่นๆ โดยเฉพาะการเป็นสภานักเรียน ที่โรงเรียนของผมเด็กที่จะเข้าไปเป็นสภานักเรียนส่วนใหญ่จะมาจากห้องวิทย์ ตัวผมที่เรียนอยู่สายศิลป์เลยถูกปรามาสทำนองว่า มึงสู้ไม่ได้หรอก ผมก็เลยฟอร์มทีมแล้วลงแข่งก็พวกนั้น (เด็กสายวิทย์) สุดท้ายผมกับทีมของผมก็ได้เข้าไปทำงานในสภานักเรียน ตอนที่ผมชนะเลือกตั้งยังจำได้เลยว่าพวกเด็กสายวิทย์มาล้อมห้องผมแล้วมาเค้นถามผมใหญ่เลยว่าผมโกงการเลือกตั้งหรือเปล่า”

“การเข้ามาทำงานสภานักเรียน ทำให้ผมมีประสบการณ์การทำงานร่วมกับผู้บริหารโรงเรียนเพื่อปรับปรุงคุณภาพชีวิตของนักเรียนและการทำงานเกี่ยวกับนโยบายอื่นๆ ผมยังเคยถกเถียงกับ ผอ.เรื่องวิธีการทำงานเพื่อแก้ปัญหาภายในโรงเรียนด้วย ซึ่งประสบการณ์ตรงนั้นก็ทำให้ผมเริ่มสนใจเรื่องการเมืองในภาพที่กว้างออกไป พอผมรู้ข่าวว่ามีงานรัฐศาสตร์แฟร์ที่จุฬาและในงานนั้นจะมีสภาจำลอง ผมก็เลยอยากลองไปดู ในงานรัฐศาสตร์แฟร์ผมได้มีโอกาสเจอพี่แฟรงค์ เนติวิทย์ ซึ่งต่อมาพี่แฟรงค์เนี่ยแหละที่เปิดโลกความรู้และความสนใจทางการเมืองให้กับผม”

“นอกจากพี่แฟรงค์แล้ว ครูสังคมของผมคนหนึ่งก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้ผมเริ่มสนใจและตั้งคำถามเกี่ยวกับเรื่องการเมือง ครูเคยถามผมกับเพื่อนๆในห้องว่า พวกผมจะรู้ได้อย่างไรว่าสิ่งที่พวกผมต้องเรียนคือสิ่งที่พวกผมควรรู้ แล้วสิ่งที่สังคมบอกว่าพวกผมควรรู้มันเป็นสิ่งที่ถูกต้อง และครูก็บอกว่า เขาจะไม่บอกพวกผมว่าสิ่งที่เขาพูดหมายถึงอะไรให้พวกผมไปหาอ่านกันเอง สิ่งที่ครูพูดทำให้ผมหันมาสนใจศึกษาเรื่องการเมืองและเรื่องทางสังคมมากขึ้น”

“จากเดิมที่ไม่สนใจการเมือง ไม่สนใจหนังสือ ผมกลายเป็นพวกหนอนหนังสือ ก่อนหน้าที่จะไปงานรัฐศาสตร์แฟร์ผมน่าจะมีหนังสือเกี่ยวกับสังคมการเมืองเก็บไว้ไม่เกิน 50 เล่ม หลังจบงานกลับมา ผมก็ขยันอ่านหนังสือมากขึ้น สะสมหนังสือมากขึ้น จนตอนนี้ผมอยู่ปีสาม ผมน่าจะมีหนังสือเกี่ยวกับสังคมการเมืองสะสมไว้ไม่ต่ำกว่า 300 เล่มแล้ว”

“ช่วงที่เรียน ม.6 ผมเริ่มออกไปทำกิจกรรมนอกโรงเรียนกับกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไทของพี่แฟรงค์ การออกมาทำกิจกรรมนอกโรงเรียนทำให้ผมมีโอกาสถูกสัมภาษณ์ออกสื่อ จนกลายเป็นที่รู้จักของคนในสังคมมากขึ้น”

“ครั้งแรกว๊อยซ์ทีวีเคยเชิญผมไปออกช่วงที่มีประเด็นวันสอบ Gat Pat ตรงวันเลือกตั้ง แต่วันที่ไปออกรายการเหมือนประเด็น Gat Pat มันจบไปแล้ว พิธีกรเลยสัมภาษณ์เรื่องความคิดทางการเมืองของคนรุ่นใหม่แทน ส่วนรอบที่สองผมไปออกรายการช่วงที่มีประเด็น ผอ.กรุงเทพคริสเตียนทดลองให้นักเรียนแต่งชุดไปรเวทมาเรียน ตอนไปออกทีวีครั้งแรกนี่ผมเอาเอกสารไปให้ครูปกครองที่ขึ้นชื่อว่าดุเซ็นชื่อ พอเขารู้ว่าผมจะไปไหนก็ถึงกับเหวอ แต่ผมก็ไม่สนใจและเดินทางออกจากโรงเรียนมาเลย หลังจากนั้นที่โรงเรียนก็ไม่ค่อยอยากยุ่งกับผมเท่าไหร่”

ตั้งคำถามกับประเพณีรับน้องใน มศว

“อย่างที่เล่าไปตอนต้นว่าผมไม่ใช่นักเรียนที่ขยันนัก แม้ว่าช่วง ม.6 ผมจะเริ่มอ่านหนังสือมากขึ้นแต่ผลการเรียนโดยรวมมันก็ยากที่จะดีขึ้นมาทันสมัครเข้าคณะรัฐศาสตร์ที่จุฬาฯ หรือธรรมศาสตร์ ผมเลยปรึกษาพี่ๆ ทั้งพี่แฟรงค์และเพนกวิน (พริษฐ์ ชิวารักษ์) เพนกวินก็แนะนำว่ารัฐศาสตร์ที่ มศว ก็โอเคแล้ว ที่นี่ก็ยังไม่ค่อยมีนักกิจกรรมถ้าผมได้เข้ามาเรียนก็น่าจะปลุกให้มหาลัยเกิดความคึกคักในเรื่องการทำกิจกรรมได้ ผมก็เลยเอาตามนั้น มศว กลายเป็นมหาลัยเดียวที่ผมส่งคะแนนแล้วผมก็ได้มาเรียนที่นี่”

“ช่วงที่ผมเริ่มเรียนรัฐศาสตร์ที่ มศว เป็นช่วงประมาณกลางปี 62 ตอนนั้นการเลือกตั้งก็ผ่านไปแล้ว ประเด็นที่ผมทำกิจกรรมช่วงแรกๆ เลยเป็นประเด็นภายในมหาลัยอย่างเรื่องรับน้องมศว เป็นมหาลัยที่ระบบอาวุโสมีความเข้มแข็ง ผมเลยกลายเป็นเป้าที่ถูกรุ่นพี่จับตา เพราะผมดันไปชวนเพื่อนปีหนึ่งบางคนให้ตั้งคำถามกับประเพณีรับน้อง อีกเรื่องที่ผมต่อต้านมากคือการห้อยป้ายชื่อ ซึ่งสำหรับผมมันเหมือนเราเป็นสัตว์ที่ต้องสวมปลอกคอยังไงยังงั้น”

“ผมเองตอนที่ตัดสินใจว่าจะมาเรียนที่ มศว ผมก็หวังว่าตัวเองจะเข้ามาผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในแวดวงกิจกรรมนิสิตของที่นี่ ให้มีความทันสมัยและแอคทีฟขึ้น แต่อยู่ไปๆ ผมก็พบว่ามันไม่ง่าย เพราะระบบอาวุโสและระบบความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรนิสิตกับผู้บริหารมันดูจะแนบแน่นเกินไป จนบางทีผมเองก็เริ่มท้อกับการทำกิจกรรมใน มหาลัยเหมือนกัน”

“ที่น่าสนใจคือในช่วงที่มีม็อบใหญ่ คนที่ทำกิจกรรมในมหาลัยส่วนหนึ่งก็ออกไปร่วมม็อบด้วยแล้วพวกเขาก็ออกไปเรียกร้องประเด็นการเมืองภาพใหญ่ที่ดูจะก้าวหน้า แต่พอกลับมาที่มหาลัยดูเหมือนพวกเขาไม่ได้อยากให้การทำกิจกรรมภายในหรือความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างนิสิตกับผู้บริหารมันเปลี่ยนไปในทางที่ดีหรือก้าวหน้าขึ้นซึ่งมันดูขัดแย้งในตัวเองชอบกล”

สวนสวยจริงๆ” ในยุคที่คนรุ่นใหม่หันหน้าหาการเมือง

“สำหรับการเคลื่อนไหวในประเด็นการเมืองภาพใหญ่ผมเริ่มมามีส่วนร่วมครั้งแรกช่วงหลังเหตุการณ์ยุบพรรคอนาคตใหม่ จำได้ว่าวันที่ศาลมีคำสั่งผมไปเดินขายหนังสือกับพี่แฟรงค์ พอคำสั่งออกมาแกก็พูดซ้ำๆ ว่าน่าเสียดาย”

“หลังจากนั้นผมก็มาปรึกษากับเพนกวินว่าผมจะจัดกิจกรรมที่มหาลัยของผมดีไหม เพนกวินก็บอกเอาเลย สุดท้ายผมก็เลยไปจัดชุมนุมที่องครักษ์ (มศว. วิทยาเขตองครักษ์) ครั้งนั้นถือว่า มีคนมาร่วมชุมนุมเยอะเหมือนกันนะ อย่างน้อยๆ ก็เยอะกว่าที่ผมคาดไว้”

“ช่วงเดือนกรกฎาคม 2563 กลุ่มฟรียูธจัดการชุมนุมใหญ่ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย หลังจากฟรียูธจัดชุมนุมได้ไม่นานผมก็ไปร่วมค่ายกับนักกิจกรรมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พอผมกลับมาถึงที่กรุงเทพ รถก็ผ่านอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ตอนนั้นผมก็เห็นว่ามีการนำต้นไม้มาวางที่ตัวอนุสาวรีย์จนเต็มพื้นที่เหมือนไม่อยากให้คนใช้ลานอนุสาวรีย์เป็นพื้นที่ชุมนุม ผมก็เกิดไอเดียว่าอยากจัดกิจกรรมชมสวน ไปตะโกนชมว่าสวนสวยจริงๆ ผมก็เลยโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กไป บอกว่าตัวเองจะไปทำกิจกรรม ตอนที่โพสต์ผมก็ไม่ได้คิดว่าคนจะมาเยอะ แต่ปรากฏว่าคนมาเยอะเกินคาด น่าจะถึงหลักร้อยอยู่ ไม่ใช่แค่คนมาร่วมเยอะอย่างเดียวนะ ตำรวจก็มาเยอะเหมือนกัน”

“หลังทำกิจกรรมชมสวน ผมก็แวะเวียนไปร่วมการชุมนุมตามโอกาส นับรวมๆ แล้วผมน่าจะไปร่วมชุมนุมได้สัก 50 – 60 ครั้งได้อยู่ ส่วนใหญ่ผมจะไปร่วมชุมนุมในฐานะผู้ชุมนุมธรรมดา ไม่ได้เป็นแกนนำอะไร หรืออย่างมากก็ไปช่วยงานหลังเวที อย่างวันที่ 19 กันยายน ที่ชุมนุมที่สนามหลวงผมก็ไปช่วยงานที่หลังเวที แต่ไม่ได้ขึ้นปราศรัย”

“ส่วนใหญ่ผมจะขึ้นปราศรัยในการชุมนุมที่ไม่ใช่การชุมนุมใหญ่ แล้วประเด็นที่ผมปราศรัยมันก็ไม่ใช่ประเด็นเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์หรือการปฏิรูปสถาบัน ผมมองว่าตัวเองไม่ได้มีความรู้มากพอที่จะไปพูดอะไร มีหลายคนที่รู้เรื่องและพูดได้ดีกว่าผม ถ้าถูกชวนให้ขึ้นปราศรัยผมก็มักจะพูดเรื่องปัญหาในระบบการศึกษาหรือเรื่องเศรษฐกิจ ผมคิดว่าในการชุมนุมหนึ่งครั้งควรมีการพูดถึงประเด็นปัญหาที่หลากหลาย เพราะนอกจากเรื่องสถาบันฯ แล้ว ก็ยังมีปัญหาอีกหลายๆ เรื่องที่สมควรถูกหยิบยกมาพูด”

คำปราศรัยเปลี่ยนชีวิต

“ช่วงเดือนตุลาคม 2563 น่าจะเป็นช่วงที่ผมออกหน้าในการชุมนุมมากขึ้น หลังการสลายการชุมนุมช่วงเช้าวันที่ 15 ตุลาคม แกนนำหลายๆ คนถูกจับตัว ผมเลยต้องขึ้นปราศรัยในการชุมนุมที่เกิดขึ้นช่วงนั้น ทั้งเย็นวันที่ 15 ตุลาคม และเย็นวันที่ 16 ตุลาคม ที่มีสลายการชุมนุม แต่ช่วงนั้นตัวผมเองยังไม่ได้พูดเรื่องเกี่ยวกับสถาบันฯ ก็เลยยังไม่ถูกดำเนินคดีด้วยมาตรา 112”

“การชุมนุมที่หน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน คือ ครั้งแรกและครั้งเดียวที่ผมปราศรัยเรื่องสถาบันฯ ในที่ชุมนุม ปรากฏว่าพูดครั้งแรกก็โดนเลย ที่ตลกคือผมปราศรัยในวันที่ 18 พฤศจิกายน พอรุ่งขึ้นวันที่ 19 พฤศจิกายน ประยุทธ์ก็ประกาศจะใช้กฎหมายทุกฉบับ ผมก็รู้เลยว่าตัวเองคงถูกดำเนินคดีแน่ๆ”

“การชุมนุมที่หน้า สตช.วันนั้น (18 พฤศจิกายน 2563) ต้องถือว่าดุเดือดพอสมควร แม้ว่าวันนั้นจะไม่มีเหตุการณ์สลายการชุมนุมแต่อารมณ์ความรู้สึกของคนที่ไปร่วมชุมนุมน่าจะคุกรุ่นไปด้วยความโกรธ เพราะหนึ่งวันก่อนหน้านั้นตอนที่ไปชุมนุมกันที่หน้ารัฐสภา เจ้าหน้าที่พยายามสลายการชุมนุมโดยใช้ทั้งแก๊สน้ำตาและรถฉีดน้ำแรงดันสูง”

“วันที่หน้าสภา (17 พฤศจิกายน 2563) ผมเองก็อยู่ด้วย อยู่บนรถปราศรัยกับครูใหญ่ (อรรถพล บัวพัฒน์) แล้วก็เพนกวิน เรียกว่าวันนั้นดมแก๊สน้ำตาอยู่นานจนจมูกผมมีปัญหาต้องไปหาหมอในภายหลัง”

“นอกจากแก๊สน้ำตาแล้ว ที่หน้าสภายังมีคนที่เห็นต่างจากพวกเรามาชุมนุมด้วยแล้วก็มีการยิงปืนมาจากฝั่งที่ผู้ชุมนุมอีกกลุ่มหนึ่งอยู่ พอมีเสียงปืนทั้งผม เพนกวิน แล้วก็ครูใหญ่ต้องก้มตัวลงบนรถเพื่อหลบกระสุน เพนกวินเหมือนจะอยากรู้ว่าปืนยิงมาจากทางไหนก็ทำท่าจะยืดตัวขึ้นไปดูหลายครั้งผมต้องคอยดึงเขาลงมาเพราะกลัวอันตราย”

“ผมเชื่อว่าหลายคนที่ไปรวมตัวหน้า สตช.วันนั้นน่าจะโกรธมาจากเหตุการณ์ที่หน้าสภา ก็เลยเอาสีไปละเลงกันขนานใหญ่ ตัวผมเองความรู้สึกที่คุกรุ่นมาจากหน้าสภาก็ตัดสินใจปราศรัยในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสถาบันฯ เป็นครั้งแรก ผมเชื่อว่าสิ่งที่ผมพูดจริงๆ แล้วมันไม่น่าจะเป็นความผิด เพราะผมเพียงพูดถึงบทบาทของพระมหากษัตริย์ที่ควรจะเป็นตามระบอบประชาธิปไตย แล้วก็พูดเรื่องการโอนย้ายกำลังพลซึ่งเป็นเรื่องของการบริหาร ไม่ได้พูดโจมตีใส่ร้ายหรือหยาบคายอะไร แต่สุดท้ายก็โดนคดี”

รู้ชะตากรรมที่ต้องเดินเข้าเรือนจำ

วันที่หมายมาที่บ้าน ผมอยู่ที่หอเพื่อน พ่อผมที่เป็นคนรับหมายโทรมาบอก พ่อผมเค้าไม่ได้ว่าอะไรมาก ก็ตัดพ้อเล็กๆ ว่าไม่น่าพูดเลย แต่เมื่อทำไปแล้วก็ต้องรับผลไปช่วงแรกที่ถูกดำเนินคดีผมยังไม่ถูกฝากขัง เลยยังพอจะใช้ชีวิตตามปกติได้บ้าง แต่แล้วพอถึงเดือนพฤษภาคม 2564 อัยการมีความเห็นสั่งฟ้อง แล้วศาลไม่ให้ประกันตัว ผมก็เลยถูกเอาไปขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ”

วันที่อัยการฟ้องคดีผมรู้อยู่แล้วว่าจะไม่ได้ประกันตัว เพราะทั้งศาล อัยการ และเจ้าหน้าที่มีท่าทีขึงขังแบบแปลกๆ ตั้งแต่เช้า ต้องเล่าก่อนว่าวันนั้นผมมีนัดไปศาลแขวงดอนเมืองในคดีชุมนุมอีกคดีหนึ่ง มีนักกิจกรรมที่ถูกดำเนินคดีไปรายงานตัวกันหลายคนรวมทั้งพี่มายด์ (ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล) แล้วก็พี่ลูกตาล (สุวรรณา ตาลเหล็ก) ช่วงที่ผมไปรายงานตัวที่ศาลแขวงดอนเมืองทนายก็ไปขอเลื่อนนัดกับอัยการ แต่อัยการไม่ให้เลื่อนนัด ระหว่างที่ผมอยู่ที่ศาลแขวงดอนเมืองก็มีโทรศัพท์จากศาลอาญากรุงเทพใต้มาหาผมด้วยว่าจะเสร็จเรื่องที่ศาลแขวงดอนเมืองหรือยัง ถ้าเสร็จแล้วให้รีบไปที่ศาลกรุงเทพใต้ ถ้าไม่ไปจะออกหมายจับ ผมมารู้ทีหลังด้วยว่าทางศาลอาญากรุงเทพใต้มีการโทรติดต่อมาที่ศาลแขวงดอนเมืองเพื่อเช็คด้วยว่าผมรายงานตัวเสร็จหรือยัง รู้แบบนี้ผมก็ทำใจแล้วว่ายังไงคงไม่ได้ประกันแน่”

“วันที่อัยการฟ้องคดีเป็นวันเดียวกับที่ศาลอาญามีคำสั่งให้พี่รุ้ง (ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล) ประกันตัว พอเสร็จเรื่องจากที่ศาลแขวงดอนเมืองผมก็บอกกับคนที่อยู่ที่ศาลว่าไม่ต้องห่วงผม ขอให้ทุกคนไปรับพี่รุ้ง ผมไปศาลเองได้ คงไม่มีอะไร แต่มีพี่ลูกตาลที่ยืนยันว่ายังไงๆ จะไปกับผมให้ได้ ตอนที่ศาลมีคำสั่งไม่ให้ประกันตัวก็มีแค่พี่ลูกตาลแล้วก็ทนายความที่อยู่กับผม ผมเพิ่งมารู้ทีหลังว่าพี่มายด์ร้องไห้เลยตอนที่ผมไม่ได้ประกันเพราะตอนเช้าผมยังอยู่กับแกอยู่”

“ถึงผมจะรู้อยู่เลาๆ ว่ายังไงก็คงไม่ได้ประกัน แต่พอศาลอ่านคำสั่งผมก็แอบเหวอไปเหมือนกัน ความกังวลเดียวของผมในตอนนั้นคือเรื่องการเรียน เพราะช่วงที่ผมถูกฟ้องคดีมันอยู่ในช่วงสอบ ผมเลยคุยกับทนายไปแต่แรกว่าถ้ายื่นประกันรอบต่อไปแล้วศาลจะกำหนดเงื่อนไขก็ให้ยอมรับไปเลย เพราะถ้าไม่รับก็คงไม่ได้ออกมา ผมเข้าไปอยู่ในเรือนจำได้สามวัน เข้าไป 6 พฤษภา พอวันที่ 9 พฤษภา ก็ได้ประกันตัวออกมา โดยมีเงื่อนไขว่าจะไม่ทำสิ่งที่อาจเกิดความเสียหายต่อสถาบันฯ ห้ามเดินทางออกนอกประเทศก่อนได้รับอนุญาต”

“ถามว่าการยอมรับเงื่อนไขประกันกระทบกับชีวิตของผมมากไหม มันก็กระทบอยู่บ้าง แต่อาจจะไม่หนักเท่าคนอื่นโดยเฉพาะเรื่องการเคลื่อนไหวทางการเมือง เพราะก่อนที่จะเข้าเรือนจำตัวผมเองก็ลดการเคลื่อนไหวทางการเมืองของตัวเองลงไประดับหนึ่งแล้วเพราะติดเงื่อนไขเรื่องการเรียนหนังสือ แต่ก็ยังตามสถานการณ์อยู่ห่างๆ”

“นึกย้อนไปมันก็เหมือนเป็นเรื่องตลกที่ขำไม่ออก อย่างตอนอยู่ ม.6 ผมก็เคยพูดเล่นกับเพื่อนเวลาคุยกันเรื่องการเมืองว่า อย่าไปพูดมากเลยเดี๋ยวก็ติดคุกหรอก กลายเป็นว่าผมต้องมาเข้าคุกเสียเองจริงๆ แล้วก็ยังมีเรื่องพี่รุ้งอีก วันที่พี่รุ้งได้ประกันตัวรอบแรกในเดือนตุลาปี 63 ผมเคยพูดกับพี่รุ้งที่หน้า สน.ว่า ผมอยากช่วยพี่นะ ถ้าพี่ไม่ไหวยังไงพี่แตะมือกับผมได้นะ กลายเป็นว่าเหมือนผมได้แตะมือกับพี่รุ้งจริงๆ เพราะวันที่แกได้ประกันตัวผมต้องเข้าเรือนจำแทน พอผมมาเจอพี่รุ้งหลังจากนั้นแกพูดกับผมเลยว่าไม่เอาแบบนั้นแล้วนะ”

ขบวนไม่ได้ล้มเหลว แค่ทางข้างหน้ามันอีกไกล

ถ้ามองดูการเคลื่อนไหวในภาพรวม จากปี 2563 – 2564 จนถึงวันนี้ (มกราคม 2565) ถามว่าขบวนล้มเหลวหรือซบเซาไปไหมผมคิดว่าไม่ใช่ ตัวผมเองเคยคุยกับเพื่อนๆ ไว้ตั้งแต่ปี 63 แล้วว่าปี 64 จะเป็นปีที่ยากลำบากสำหรับพวกเรา”

“ปี 63 การเคลื่อนไหวมันค่อยๆ ไต่ระดับขึ้นไป ระลอกแรกในช่วงการยุบพรรคอนาคตใหม่ หลังจากนั้นช่วงกลางปีก็เป็นการชุมนุมของกลุ่ม Free Youth จากนั้นกระแสก็ไต่ระดับสูงขึ้นไปเรื่อยๆจนถึงเดือนตุลาที่น่าจะเป็นจุดพีคในมุมมองของผม แต่หลังจากนั้นเหมือนกระแสจะค่อยๆ ดร็อปลงแต่ผมไม่คิดว่ามันเป็นความล้มเหลวหรอกนะ ผมกลับคิดว่าพวกเราพากระแสการต่อสู้ขึ้นไปสูงที่สุดเท่าที่พอจะพาไปได้แล้วเพราะถึงที่สุดพวกเราเองก็ยังเป็นเด็ก”

“ปี 64 แม้ว่าการเคลื่อนไหวจะไม่คึกคักเหมือนปี 63 คนที่เป็นแกนนำหลายคนถูกดำเนินคดี เป็นปีที่ดูจะยากลำบากสำหรับขบวน แต่ผมก็ไม่คิดว่ามันเป็นปีที่พวกเราล้มเหลว ต้องไม่ลืมว่าการต่อสู้ทางการเมืองมันไม่ใช่เรื่องที่จะจบได้ในปีสองปี มันเป็นเรื่องระยะยาวสิบปี 20 ปี ที่ผ่านมาผมเองยังตกใจด้วยซ้ำว่าสองปีที่ผ่านมาทุกอย่างมันเกิดขึ้นเร็วมาก ถึงวันนี้มีเด็กที่เรียนอยู่โรงเรียนเก่าผมทักมาถามผมว่า พี่ๆ 2475 คืออะไร แล้วก็บ่นว่าครูสอนไม่รู้เรื่อง สำหรับผมการที่น้องทักมามันสะท้อนเลยนะว่าหลายอย่างเปลี่ยนไปแล้วและมันจะไม่เหมือนเดิม เพียงแค่เราต้องระลึกเสมอว่าการต่อสู้ทางการเมืองมันไม่ใช่เรื่องที่เราจะรีบร้อนไปปิดเกมได้”

“ตอนที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งเรื่องล้มล้างการปกครองออกมา ผมคิดว่าเขาคงพยายามหาทางจำกัดการเคลื่อนไหวของขบวน แต่มันก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะทำอะไรไม่ได้เลย ถ้าเขาบีบเราเรื่องลงถนนผมคิดว่าทางหนึ่งที่ขบวนพอทำได้ก็คือการปรับวิธีการต่อสู้ไปทำงานทางวิชาการ ไปทำงานทางความคิดขยายแนวร่วมให้มากขึ้น เพราะเอาจริงๆ ตอนนี้คนที่เคยเคลื่อนไหวหลายคนก็คงเคลื่อนไหวด้วยรูปแบบการชุมนุมลำบากเพราะติดคดีกันหลายคนและแต่ละคนก็มีมากกว่าหนึ่งคดี”

“อีกเรื่องที่ขบวนอาจจะต้องไปทบทวน คือ ที่ผ่านมาการจัดชุมนุมใหญ่อะไรต่างๆ มันมักกระจุกตัวอยู่ที่กรุงเทพแล้วการตั้งประเด็นในการชุมนุมหรือการกำหนดยุทธศาสตร์ก็มักมาจากนักกิจกรรมส่วนกลาง ตรงนี้ผมคิดว่ามันควรจะต้องปรับเหมือนกันเพราะการกระจายอำนาจในการเมืองภาพใหญ่ก็น่าจะเป็นหนึ่งในข้อเรียกร้องย่อยของขบวนการเคลื่อนไหว พวกเราเองก็ควรทำให้การเข้าถึงข้อมูลและการกำหนดยุทธศาสตร์การเคลื่อนไหวภายในขบวนมีความเท่าเทียมกันทั้งส่วนกลางและขบวนจากภูมิภาค”

“ผมยังเชื่อว่าถ้าขบวนมีการทบทวนเรื่องทิศทางและยุทธศาสตร์มันยังมีทางไปต่อได้ ต้องไม่ลืมว่าตลอดเวลาเจ็ดแปดปีที่ พล.อ.ประยุทธ์อยู่ในอำนาจ รัฐพยายามสร้างบรรยากาศแห่งความกลัว แต่เราก็ได้เห็นการเคลื่อนไหวและการไม่ยอมจำนน เราแค่ต้องจำไว้ว่าการต่อสู้ทางการเมืองมันไม่ได้จบในสามวันเจ็ดวัน ก็เท่านั้น”