เก็บตกการสืบพยาน คดีติดสติกเกอร์ กูkult กับการต่อสู้คดีที่เต็มไปด้วยข้อจำกัด

วันที่ 22-24 กุมภาพันธ์ และวันที่ 1 มีนาคม 2565 ศาลอาญารัชดานัดสืบพยานคดีประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ของ นรินทร์ คดีนี้จำเลยถูกกล่าวหาว่าติดสติกเกอร์ “กูkult” ซึ่งเป็นโลโก้เพจเสียดสีการเมืองเพจหนึ่งบนพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งติดตั้งอยู่ที่หน้าศาลฎีกาที่มีการชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร หลังกระบวนการสืบพยานเสร็จสิ้นในวันที่ 1 มีนาคม 2565 ศาลอาญานัดฟังคำพิพากษาในวันศุกร์ที่ 4 มีนาคม 2565 ซึ่งเท่าที่ไอลอว์มีข้อมูล การนัดฟังคำพิพากษาคดีนี้น่าจะเร็วที่สุดในบรรดาคดีมาตรา 112 ที่พิจารณาโดยศาลอาญาและจำเลยให้การปฏิเสธ

ในระหว่างการสืบพยานทั้งสี่วัน โจทก์นำพยานเข้าสืบรวมทั้งสิ้น 12 ปาก เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งสิ้น ขณะที่ฝ่ายจำเลยแถลงไม่ติดใจสืบพยานแม้แต่ปากเดียว 

ข้อกล่าวหาและแนวทางการต่อสู้

ในคดีนี้ นรินทร์ถูกฟ้องว่า เขาเป็นคนนำสติกเกอร์ “กูkult” (สติกเกอร์โลโก้เพจเสียดสีการเมือง กู Kult) ไปติดบนพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่สิบ ที่ติดตั้งอยู่ใกล้อาคารศาลฎีกา โดยติดคาดพระเนตรทั้งสองข้าง เหตุเกิดเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2563 ซึ่งเป็นวันที่มีการชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร ที่ท้องสนามหลวง อัยการบรรยายฟ้องว่าการกระทำของนรินทร์ เข้าข่ายเป็นการกระทำมิบังควร จาบจ้วง ล่วงเกิน ดูหมิ่น หรือกระทำให้ระคายเคืองเบื้องยุคลบาทต่อพระมหากษัตริย์ โดยประการที่น่าจะทำให้พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่สิบ ถูกดูหมิ่น เกลียดชัง โดยนรินทร์มีเจตนาทำลายพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นที่เคารพบูชาของประชาชนชาวไทย ทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา ไม่เคารพสักการะต่อพระมหากษัตริย์ ซึ่งอยู่ในฐานะที่ผู้ใดจะละเมิดไม่ได้

นริทร์ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาและต่อสู้คดีแยกเป็นสองประเด็น ว่าเขาไม่ใช่ผู้กระทำการติดสติกเกอร์ในวันเกิดเหตุ และการติดสติกเกอร์ดังกล่าวไม่ได้เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112

ผู้พิพากษาสอบถามจำเลยเรื่องการเปลี่ยนคำให้การและแนวทางสู้คดีระหว่างการสืบพยาน

ในการสืบพยานโจทก์วันแรก (22 กุมภาพันธ์ 2565) นรินทร์เดินทางมาในห้องพิจารณาคดีพร้อมกับพี่ชายของเขา ผู้พิพากษามีคำสั่งให้ย้ายห้องพิจารณาคดีไปที่ห้องพิจารณาคดี 707 ซึ่งไม่มีนัดพิจารณาคดีอื่นทับซ้อนเพราะในการสืบพยานจำเป็นต้องใช้เวลาพิจารณาคดีมาก

ก่อนเริ่มพิจารณาคดีในช่วงบ่ายวันแรก ผู้พิพากษาได้เรียกจำเลยให้ลุกขึ้นและสอบถามประวัติส่วนตัว เกี่ยวกับอายุ อาชีพ และสอบถามในทำนองว่า ในคดีนี้การสู้คดีของจำเลยตัดสินใจสู้คดีเอง หรือสู้คดีตามเพื่อนฝูง เพราะผลของคดีจะตกสู่จำเลยไม่ใช่ตกสู้เพื่อนและทนาย โดยยรินทร์แถลงต่อศาลว่าเขาเต็มใจสู้คดีด้วยตัวเอง และตัดสินใจดีแล้ว เมื่อนรินทร์ตอบคำถามเสร็จและทนายความเตรียมจะถามคำถามค้านพยานโจทก์ต่อ ศาลให้นรินทร์ปรึกษากับทนายความอีกครั้งเรื่องแนวทางการต่อสู้คดี และเมื่อนรินทร์ปรึกษากับทนายความอีกครั้งนรินทร์ยังคงยืนยันว่าจะต่อสู้คดีในแนวทางเดิม ทนายความจึงถามคำถามค้านต่อ

ทนายจำเลยถามค้านต่อได้อีกครู่หนึ่ง ผู้พิพากษาถามทนายจำเลยและจำเลยอีกครั้งทำนองว่า ศาลเห็นว่าทนายความมองแนวทางการพิจารณาคดีไม่ถูกต้องตั้งแต่แรก การกระทำใดที่จำเลยได้กระทำจริงก็ต้องยอมรับ ถ้ายอมรับเร็วก็อาจเป็นเหตุบรรเทาโทษ หากจำเลยไม่ยอมรับและดำเนินการสืบพยานไปจนจบจะทำให้จำเลยไม่ได้รับการบรรเทาโทษ ในส่วนของกระบวนการถามค้านพยาน ผู้พิพากษาบอกกับทนายจำเลยว่าจะต้องเป็นการถามค้านเพื่อนำข้อเท็จจริงที่เป็นความลับ หรือข้อเท็จจริงที่ศาลไม่รู้ออกมา อย่างไรก็ตามหลัีงศาลให้คำแนะนำนรินทร์และทนายความยังยืนยันคำให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาและขอต่อสู้คดีต่อไป 

เมื่อสืบพยานโจทก์ปากที่สี่แล้วเสร็จ ผู้พิพากษาหารือกับทนายจำเลย และจำเลยอีกครั้งว่า ศาลไม่ได้มีอคติ สิ่งที่ศาลแนะนำฟังดูอาจเป็นเหมือนการบังคับ แต่ศาลต้องการให้การพิจารณาคดีเป็นประโยชน์กับฝ่ายจำเลยมากที่สุด และที่ศาลท้วงติงเป็นเพราะเห็นว่าจำเลยเตรียมแนวทางในการสู้คดีมาไม่ถูก หนทางที่ดีที่สุดอาจจะเป็นสิ่งที่ศาลพูดก่อนสืบพยานในช่วงบ่ายเรื่องการเลือกแนวทางต่อสู้คดี จึงฝากไว้ให้ทนายจำเลยและจำเลยคิดดูอีกที คดีนี้โทษขั้นต่ำ 3 ปี ถ้าสืบพยานแล้วเห็นประเด็นที่เป็นประโยชน์แก่จำเลยก็ดีไป แต่ถ้ารับสารภาพในวันนี้ก็ยังมีเหตุลดโทษได้กึ่งหนึ่ง จำเลยและทนายจำเลยไม่ตอบรับศาลแต่อย่างใด หลังจำเลยยืนยันแนวทางเดิมว่าจะต่อสู้คดี การสืบพยานในนัดต่อๆมาผู้พิพากษาก็ไม่ได้สอบถามนรินทร์เรื่องแนวทางการต่อสู้คดีอีกเลย 

ผู้พิพากษาตัดการพยานผู้เชี่ยวชาญในการให้ความเห็นเกี่ยวกับการติดสติกเกอร์ฯ

ระหว่างการสืบพยานโจทก์ช่วงบ่ายในวันแรก (22 กุมภาพันธ์ 2565) หลังจากที่ศาลสอบถามนรินทร์ว่าจะเปลี่ยนคำให้การหรือไม่ แล้วจำเลยกับทนายความออกไปปรึกษาแนวทางการต่อสู้คดีนอกห้องพิจารณาคดี ผู้พิพากษาคุยกับอัยการว่า จะขอตัดพยานผู้เชี่ยวชาญซึ่งเป็นนักวิชาการที่อัยการเตรียมมาสืบในประเด็นเกี่ยวกับถ้อยคำบนสติกเกอร์ว่าเป็นการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์หรือไม่ออกไป เนื่องจากศาลเห็นว่าการติดสติกเกอร์ในที่ที่ไม่ควรติด เช่นการนำสติกเกอร์อะไรก็ตามไปติดบนพระพุทธรูปซึ่งคนทั่วไปให้ความเคารพบูชา และเห็นว่าไม่ควรนำไปติดก็ถือว่าเป็นการกระทำความผิดแล้ว ผู้พิพากษาระบุด้วยว่าศาลพอจะรู้อยู่ว่าเพจ กูkult เป็นเพจอะไร แต่ความหมายของข้อความไม่ใช่ประเด็นหลัก ประเด็นอยู่ที่การติดสติกเกอร์ในที่ไม่สมควรติด จึงบอกอัยการว่าประเด็นข้อความในสติกเกอร์ตัดทิ้งออกไปได้ ขอให้ตัดพยานออกไป อัยการรับฟังศาลแต่ไม่ได้ตอบรับอะไร

หลังทนายกลับมาสืบพยานต่อ ทนายจำเลยหารือกับผู้พิพากษาว่า หากจำเลยรับประเด็นข้อเท็จริงว่า เป็นผู้ติดสติกเกอร์แต่จะต่อสู้ในประเด็นว่าจำเลยไม่ได้มีเจตนากระทำการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ โดยจะขอนำสืบพยานผู้เชี่ยวชาญที่เป็นนักวิชาการทั้งด้านกฎหมายและด้านศิลปะ เพื่อยืนยันว่าการกระทำของจำเลยอาจจะไม่ได้มีเจตนาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ และอยากสืบพยานให้ปรากฎข้อเท็จจริงในหลาย ๆ มิติว่าการกระทำดังกล่าวเป็นสิ่งที่การเคลื่อนไหวทางการเมืองในต่างประเทศสามารถทำได้ ผู้พิพากษาตอบทนายจำเลยว่า คดีนี้ทนายต้องสืบพยานให้เห็นเจตนาของจำเลยให้ได้ว่าไม่ได้มีเจตนาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ และในทางคดีอาญาเรื่องพยานที่มาให้ความเห็นศาลอาจจะไม่รับฟังความเห็นก็ได้ เพราะพยานผู้เชี่ยวชาญถือเป็นพยานผู้ชำนาญพิเศษ จะต้องเป็นศาสตร์ที่ศาลไม่สามารถรู้เองได้เท่านั้น เช่นพยานทางการแพทย์ หรือพยานเกี่ยวกับนิติวิทยาศาสตร์ แต่ศาลจะขอไปปรึกษาผู้บริหารศาลก่อนว่าถ้าจำเลยเปลี่ยนเป็นให้การรับข้อเท็จจริงว่าติดสติกเกอร์ แล้วขอสู้เรื่องเจตนาในการกระทำจะสามารถรับฟังความเห็นของพยานผู้เชี่ยวชาญอย่างเดียวได้หรือไม่ จากนั้นศาลจึงสั่งพักการพิจารณาคดีเพื่อปรึกษาผู้บริหารศาลในประเด็นดังกล่าว และเพื่อให้ทนายจำเลยคิดประเด็นในการสู้คดีใหม่ หากจะสู้เรื่องข้อเท็จจริงว่าจำเลยไม่ใช่ผู้กระทำความผิด

จากนั้นอีกประมาณ 10 นาที ผู้พิพากษากลับขึ้นบัลลังก์อีกครั้ง และแจ้งว่าจากการปรึกษาผู้บริหารศาลได้ความว่า ถ้าจำเลยรับข้อเท็จจริงว่าเป็นผู้กระทำ ในเรื่องของการพิสูจน์เจตนาว่าการกระทำดังกล่าวไม่เป็นการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ก็ให้ยุติการสืบพยานที่เหลือทั้งหมดแล้วให้จำเลยทำคำแถลงปิดคดีส่งศาล จากนั้นศาลจะนัดฟังคำพิพากษาเลย

ทนายจำเลยตอบศาลว่าหากเป็นเช่นนั้นขอยืนยันการให้การปฏิเสธทั้งเรื่องเป็นผู้กระทำ และเรื่องเจตนา เนื่องจากต้องการสืบพยานในคดีนี้ต่อทั้งหมด หรืออย่างน้อยก็ขอให้ได้สืบพยานนักวิชาการเพื่อแสดงให้เห็นว่าเจตนาของจำเลยไม่เป็นการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ศาลตอบกลับทนายว่าในเรื่องความเห็นศาลสามารถเห็นเองได้ จึงเห็นว่าไม่จำเป็นต้องนำสืบพยานที่เป็นนักวิชาการและปกติปกติศาลจะรับฟังแต่ความเห็นของพยานผู้เชี่ยวชาญเฉพาะในศาสตร์ทีศาลไม่รู้เท่านั้น เช่นพยานทางการแพทย์ หรือเรื่องลายนิ้วมือจากคนที่มีความรู้ทางนิติวิทยาศาตร์ ส่วนประเด็นที่ทนายจะสืบพยานเกี่ยวกับเหตุการณ์ในต่างประเทศ เห็นว่าไม่มีความจำเป็นเพราะประเทศไทยมีกฎหมายของตัวเองกรณีนี้คงไม่สามารถไปเปรียบเทียบกับประเทศอื่นได้

ฝ่ายอัยการก็แถลงว่าติดใจจะสืบพยานผู้เชี่ยวชาญฝ่ายโจทก์เช่นกัน เพื่อชี้ให้เห็นว่าข้อความในสติกเกอร์เป็นข้อความที่เข้าข่ายเป็นการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ จึงขอให้ศาลเพิ่มวันนัดสืบพยานผู้เชี่ยวชาญฝ่ายโจทก์หนึ่งวัน และสืบพยานผู้เชี่ยวชาญฝ่ายจำเลยหนึ่งวัน ศาลตอบอัยการว่า ในเรื่องของข้อความบนสติกเกอร์ไม่จำเป็นต้องนำพยานมาสืบให้ศาลฟัง ศาลเห็นเองได้ว่าสติกเกอร์มีข้อความอะไร จริงๆ แล้วแม้เป็นสติกเกอร์ยาคูลท์ติดในที่ไม่ควรติดก็ถือว่าเป็นการกระทำที่เกิดขึ้นแล้ว ให้ต่อสู้กันในประเด็นว่าจำเลยได้เป็นคนติดจริงไหมเท่านั้น และให้ตัดพยานนักวิชาการจากบัญชีพยานของทั้งสองฝ่าย

ท้ายที่สุดพยานในคดีนี้ที่เป็นนักวิชาการและประชาชนที่จะมาให้ความเห็นของทั้งฝ่ายจำเลยและฝ่ายโจทก์ถูกตัดออกทั้งหมด เหลือเพียงพยานโจทก์ที่เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจฝ่ายสืบสวนและสอบสวน กับพยานจำเลยที่มีจำเลยอ้างตัวเองเป็นพยานปากเดียวเท่านั้น

กระบวนการพิจารณาเปิดเผยแต่ห้ามบุคคลภายนอกจดบันทึกเว้นแต่ผู้พิพากษาอนุญาต

คดีนี้ผู้พิพากษาไม่ได้ห้ามบุคคลทั่วไปเข้าร่วมฟังการพิจารณาคดี แต่ในการสืบพยานโจทก์วันที่สอง (23 กุมภาพันธ์ 2565) ในระหว่างการพิจารณาคดีมีผู้เข้าร่วมฟังการพิจารณาคดีจดบันทึกลงในสมุด เมื่อผู้พิพากษาเห็นจึงสอบถามว่าทำอะไร เมื่อแจ้งว่าจดบันทึกกระบวนการพิจารณาคดีศาลจึงแจ้งว่าในคดีนี้มีทนายความสองคนอยู่แล้ว และเห็นทนายอีกคนช่วยจดประเด็นในคดีอยู่แล้ว คนอื่นไม่จำเป็นต้องจด ในห้องพิจารณาคดีนี้มีระเบียบศาลกำหนดไว้อยู่ว่าห้ามมีการจดบันทึกใด ๆ เว้นแต่จะขออนุญาตต่อศาล และศาลเห็นว่าให้หนึ่งในทีมทนายความเป็นผู้จดประเด็นในการต่อสู้คดีเพียงคนเดียวก็พอแล้ว เรื่องการห้ามจดบันทึกนี้ศาลสั่งด้วยวาจาแต่ไม่ได้บันทึกไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาคดี 

และในวันสืบพยานโจทก์วันที่สาม (24 กุมภาพันธ์ 2565) มีทนายความจากทางศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ที่ไม่ได้ถูกแต่งตั้งเป็นทนายความในคดีนี้มาช่วยทนายจำเลยจดบันทึกประเด็นเอกสารที่ใช้ในการสืบพยาน ผู้พิพากษาก็ไม่ให้จดบันทึก โดยย้ำว่าให้ทีมทนายความที่รับผิดชอบคดีนี้เป็นผู้จดบันทึกเท่านั้น

ผู้พิพากษาไม่บันทึกการถามค้านของทนายจำเลยอย่างน้อยห้าประเด็น

ระหว่างการสืบพยาน ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนพยายามพูดกับทนายจำเลยว่า ประเด็นที่เตรียมมาสืบพยานมาไม่เกี่ยวข้องกับคดี และเตรียมแนวทางการต่อสู้คดีมาผิด ระหว่างที่ทนายจำเลยถามคำถามค้าน เมื่อทนายจำเลยถามคำถามค้านบางประเด็นออกไปศาลจะบอกว่าไม่อนุญาตให้ถาม และไม่จดบันทึกคำถามค้านเหล่านั้นในสำนวนคดีซึ่งจะมีผลให้ประเด็นเหล่านั้นไม่ปรากฎในศาลสูงหากจำเลยอุทธรณ์คดี โดยศาลให้เหตุผลว่าจะตัดประเด็นที่ไม่เกี่ยวข้องกับคดีออกไปเพื่อให้การพิจารณาคดีเป็นไปโดยกระชับ และแจ้งว่าศาลมีอำนาจในการควบคุมกระบวนการพิจารณาคดี หากทนายจำเลยเตรียมประเด็นที่ไม่เกี่ยวข้องกับคดีมาถามหรือถามนอกเรื่องการประวิงกระบวนพิจารณาคดี ศาลจะจดไม่บันทึกให้ โดยมีตัวอย่างประเด็นหรือคำถามที่ศาลไม่บันทึกเพราะเห็นว่าไม่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาคดี เช่น 

ทนายจำเลย ถามอดีตผู้กำกับ สน.ชนะสงคราม ว่า ก่อนจะมีความเห็นสั่งฟ้องคดีนี้เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เคยศึกษาแนวปฏิบัติของตำรวจในคดีอื่นหรือไม่ว่าหากเป็นการกระทำเกี่ยวกับพระบรมฉายาลักษณ์จะเป็นการฟ้องฐานทำลายทรัพย์สินราชการแทน ไม่ฟ้องว่าเป็นความผิดตามมาตรา 112 เมื่อถามคำถามนี้เสร็จศาลแจ้งกับทนายจำเลยว่า คำถามนี้ไม่เกี่ยวกับประเด็นในคดีนี้ เพราะความเห็นในคดีอื่นก็เป็นความเห็นในส่วนของคดีอื่น เอามาเทียบเคียงกันไม่ได้ และไม่จดบันทึกประเด็นเทียบเคียงนี้ให้

ทนายจำเลยถามพยานโจทก์ปากอดีตผู้กำกับ สน.ชนะสงคราม ทราบหรือไม่ว่าจำเลยติดสติกเกอร์บนพระบรมฉายาลักษณ์เป็นเวลานานเท่าใดจึงมีคนแกะออกไป และสติกเกอร์หลุดออกได้อย่างไร ศาลไม่ให้ทนายจำเลยถามคำถามนี้โดยให้เหตุผลว่าการติดสติกเกอร์ ถ้ารับว่ามีการติดไม่ว่าติดเป็นระยะเวลานานเท่าใดก็ถือว่าเป็นความผิดแล้ว เพราะตามกฎหมาย แม้สติกเกอร์ดังกล่าวจะถูกติดเป็นเวลาเพียง 1 วินาทีก็ถือเป็นการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์แล้ว ประเด็นนี้ไม่เกี่ยวข้องกับคดีจึงไม่บันทึก และไม่ให้ถาม

ทนายจำเลยถามพยานปากอดีตผู้กำกับสน.ชนะสงคราม ซึ่งเป็นผู้กล่าวหาคดีนี้ว่า คดีนี้เหตุเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2563 เหตุใดจึงเพิ่งริเริ่มดำเนินคดีในช่วงเดือนธันวาคม 2563 ซึ่งเป็นเวลาหลังจากที่ พล.อ.ประยุทธ์ ประกาศว่าให้ใช้กฎหมายทุกมาตรากับผู้ชุมนุมที่กระทำทำความผิด พยานตอบว่า ที่เพิ่งดำเนินคดีเป็นเพราะต้องรวบรวมพยานหลักฐานหลายขั้นตอน และทำความเห็นสั่งฟ้องต่ออัยการก็ยังอยู่ในอำนาจที่จะทำได้ ศาลพูดต่อจากพยานปากนี้ว่า ตำรวจก็ทำตามอำนาจ และอยู่ในระยะเวลาที่ทำได้ คำถามนี้ไม่เกี่ยวกับประเด็นในคดี ไม่บันทึกให้

ในประเด็นของการถามค้านพยานตำรวจในปากของอดีต สารวัตรสืบสวน เจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวน และพนักงานสอบสวน สน.ชนะสงคราม ทนายจำเลยถามค้านในประเด็นที่เจ้าหน้าที่จากสน.ชนะสงครามเคยนำเอกสารคดีนี้ที่ไปให้นรินทร์ลงลายมือชื่อ ระหว่างที่เขาถูกควบคุมตัวที่สน.ทุ่งสองห้อง ในอีกคดีที่เขาถูกกล่าวหาว่าเป็นแอดมินเพจกูKult ซึ่งทำเนื้อหาเสียดสีการเมือง ในวันที่ 21 กันยายน 2563  (เป็นการทำบันทึกสืบสวน ก่อนจะรวบรวมส่งให้พนักงานสอบสวนครับ) และตัวจำเลยลงลายมือชื่อในเอกสาร ซึ่งเป็นภาพบันทึกหน้าจอจากกล้องวงจรปิดบริเวณพระบรมฉายาลักษณ์ฯ หน้าศาลฎีกาในวันที่ 19 กันยายน 2563 ซึ่งนรินทร์ให้ข้อมูลเพิ่มเติมกับทีมทนายความว่าตำรวจสืบสวน สน.ชนะสงครามนำเอกสารทั้งสามฉบับมาให้เซ็นรับรองเอกสารที่ สน.ทุ่งสองห้องในเวลาประมาณ 05.00 น. ของวันที่ 21 กันยายน 2563 โดยที่ขณะนั้นไม่ได้อยู่ในกระบวนการสอบสวนใด ๆ แต่อยู่ในห้องขังบน สน.ทุ่งสองห้อง และทนายความเห็นว่า การนำเอกสารมาให้ลงลายมือชื่อในลักษณะดังกล่าว เป็นการทำพยานหลักฐานประกอบการสืบสวนหลังวันที่ทำการทำบันทึกการสืบสวนจริง อาจจะใช้ยืนยันตามกฎหมาย และใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีไม่ได้  ประเด็นนี้ศาลไม่ให้ทนายจำเลยถามค้านโดยให้เหตุผลว่า พฤติการณ์แวดล้อมในคดีนี้ชี้ชัดอยู่แล้วว่าจำเลยเป็นผู้กระทำการตามฟ้อง เรื่องเอกสารการสืบสวน สอบสวนในคดีเหล่านี้เป็นเพียงส่วนประกอบไม่ต้องถามค้าน

ในส่วนของประเด็นการเทียบเคียงการกระทำในคดีนี้กับการกระทำต่อสิ่งของที่มีพระบรมฉายาลักษณ์ ทนายจำเลยพยายามถามความคิดเห็นของเจ้าหน้าที่ตำรวจหลาย ๆ คน ที่มาเป็นพยานว่ากระกระทำ เช่น การทิ้งปฏิทินที่มีพระบรมฉายาลักษณ์ลงถังขยะ การขยำธนบัตร หรือเหยียบธนบัตร การหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์หรือไม่ ศาลก็ไม่ให้ทนายถามค้านในประเด็นนี้ และไม่จดบันทึกให้ โดยให้เหตุผลกรณีที่ทนายจำเลยยกมาเป็นคนละกรณีกับการติดสติกเกอร์ในที่ที่ไม่สมควรติด และถือว่าเป็นการแสดงความเห็นให้ศาลฟัง ซึ่งในคดีนี้ศาลมีความเห็นเองได้

จากการพูดคุยกับทนายจำเลยในภายหลัง ทนายจำเลยระบุว่าประเด็นที่ศาลไม่อนุญาตให้ถาม เป็นประเด็นที่ทนายเตรียมมาเป็นประเด็นหลักในการต่อสู้คดี เนื่องจากคดีนี้ไม่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทยมาก่อนจึงต้องสืบพยานเพื่อนำคดีอื่นมาเทียบเคียง และต้องการนำกรณีของต่างประเทศมาเปรียบเทียบให้ศาลเห็นถึงเจตนาของจำเลยว่าไม่การกระทำของจำเลยไม่เป็นการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ทนายของนรินทร์ยอมรับว่าเมื่อไม่สามารถนำสืบได้อย่างเต็มที่เขาก็ไม่สามารถจะทำหน้าที่แก้ต่างให้จำเลยได้เท่าที่ควร

หลังเสร็จสิ้นการสืบพยานโจทก์ปากสุดท้าย ผู้พิพากษาพูดกับทนายจำเลยด้วยว่า “ศาลฝากไว้ให้คิดนะ ชื่อ สภาทนาย มีคำลงท้ายว่าอะไร” ทนายจำเลยเงียบไปครู่หนึ่ง ศาลจึงถามซ้ำว่า ทนายรู้ไหม สภาทนาย มีคำต่อท้ายว่าอะไร ทนายตอบรับไปว่า “พอทราบครับท่าน”

ศาลนัดฟังคำพิพากษาเพียงสามวันหลังสืบพยานเสร็จ

ในวันที่ 1 มีนาคม 2565 ซึ่งเป็นวันนัดสืบพยานจำเลย ทนายจำเลย และจำเลยแถลงต่อศาลว่า จำเลยจะไม่ขึ้นเบิกความในคดี กระบวนพิจารณาจึงเป็นอันยุติ หลังเสร็จสิ้นกระบวนการศาลนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 4 มีนาคม 2565 ในเวลา 09.00 น. ซึ่งห่างจากวันสืบพยานวันสุดท้ายเพียงสามวัน

จากการพูดคุยกับทนายจำเลย ทนายแจ้งว่า ในคดีนี้วันนัดฟังคำพิพากษาถือว่าเร็วมากหากเทียบกับการทำงานของศาลโดยทั่วไป ซึ่งศาลมักนัดฟังคำพิพากษาหลังจากเสร็จสิ้นการสืบพยานประมาณ 15 วัน หรือหนึ่งเดือน