1682 1283 1335 1142 1404 1565 1737 1654 1596 1035 1004 1715 1023 1644 1670 1791 1460 1501 1109 1839 1719 1244 1240 1968 1656 1476 1148 1276 1539 1960 1642 1562 1826 1898 1708 1449 1138 1882 1592 1214 1853 1907 1881 1173 1102 1630 1884 1847 1255 1644 1479 1388 1787 1997 1118 1625 1901 1972 1715 1202 1277 1562 1023 1871 1151 1241 1608 1248 1899 1774 1455 1989 1931 1138 1105 1462 1172 1544 1432 1475 1929 1214 1346 1932 1708 1263 1104 1519 1211 1680 1998 1699 1166 1366 1657 1181 1558 1121 1859 ไหม ธนพร: พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไม่เคยคุมโรค คุมแค่เพียงความทุกข์ยากของแรงงาน | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

ไหม ธนพร: พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไม่เคยคุมโรค คุมแค่เพียงความทุกข์ยากของแรงงาน

 
ไหม-ธนพร วิจันทร์ นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิแรงงานเป็นหนึ่งในผู้ถูกดำเนินคดีฐานฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ก่อนหน้าเดือนตุลาคม 2564 เราพบว่า คดีของเธอมีไม่น้อยกว่าเจ็ดคดี จากนั้นผ่านมาเพียงสี่เดือนเท่านั้น คดีของเธอเพิ่มขึ้นเป็น 17 คดี เธอไล่เรียงแต่ละคดีด้วยน้ำเสียงมั่นอกมั่นใจว่า ข้อกล่าวหาดังกล่าวมาจากเหตุใดบ้าง มี 15 คดีที่เป็นคดีความในการชุมนุมที่เกี่ยวข้องกับการเมืองและการเคลื่อนไหวของราษฎร ส่วนอีกสองคดีเป็นคดีชุมนุมของแรงงาน
 
2297
 
ชีวิตการทำงาน 29 ปีของเธอตั้งแต่หลังเหตุการณ์พฤษภา 2535 มาจนถึงปัจจุบัน ผ่านรัฐประหารอีกสองครั้ง ผ่านรัฐบาลเผด็จการสืบทอดอำนาจและรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งมานับไม่ถ้วน ทำให้สะท้อนภาพเสรีภาพการชุมนุมของแรงงานในประเทศนี้ได้ดี เธอบอกว่า สถานการณ์ย่ำแย่ที่สุดตั้งแต่รัฐประหาร 2557 นายจ้างกระทำกับแรงงานสารพัดแต่แรงงานไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ด้วยข้อจำกัดต่างๆ และปี 2563 พวกเขาถูกกระทำซ้ำด้วยวิกฤติโควิด นายจ้างเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรมและกลไกรัฐไม่สามารถคืนความเป็นธรรมให้แก่พวกเขาได้ เมื่อออกมาชุมนุมเรียกร้องก็ต้องเผชิญกับคดีความ
 
"ที่ไม่เห็นแรงงานออกมาชุมนุม ไม่ใช่เขาไม่อยากออกไปแต่เขาถูกปิดกั้น ไม่ใช่เขาไม่มีความทุกข์แต่ออกไปก็โดนคดี" 
 
บทสัมภาษณ์นี้คือความทุกข์ของแรงงานผ่านเรื่องเล่าของไหม นักสหภาพแรงงานหญิงที่พร้อมสู้เพื่อขบวนแรงงานและประชาธิปไตยแม้ต้องเจออีกกี่คดีก็ตาม
 
 

รัฐประหารกัดกร่อนกระบวนการต่อรองนายจ้างของแรงงาน

 
ไหมเล่าประสบการณ์การชุมนุมระบุว่า การชุมนุมของสหภาพแรงงานที่มีเสรีภาพมากที่สุดคือ รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง แม้รัฐบาลจะไม่ทำอะไรเพื่อสิทธิแรงงานมากมายแต่ก็ไม่ได้ปิดโอกาสในการแสดงความคิดเห็น ปี 2541 ตรงกับวิกฤติต้มยำกุ้ง ขบวนการแรงงานยังสามารถออกมาเคลื่อนไหวได้ต่างจากวิกฤติเศรษฐกิจในเวลานี้ ข้ามมาสู่รัฐประหาร 2557 คสช.ออกคำสั่งให้ผู้นำสหภาพแรงงานต้องรายงานตัวในค่ายทหาร เธอเป็นอีกคนที่ต้องไปรายงานที่ค่ายอดิศร สระบุรี ในตอนนั้นมีการถามถึงบทบาทของสหภาพแรงงาน เธอมองว่า คสช.มีเป้าหมายเพื่อป้องปรามไม่ให้พวกเธอที่เรียกว่าเป็นแกนนำจัดการชุมนุม
 
ภายใต้การปกครองของคสช. หากสหภาพแรงงานจะรวมกลุ่มก็จะมีเจ้าหน้าที่ทหาร ฝ่ายความมั่นคงและตำรวจเข้ามาไม่ให้มีการจัดการชุมนุม ทำให้ต้องพยายามหาสถานที่อื่นๆ ในการนัดรวมกลุ่มเพื่อต่อรองกับนายจ้าง เมื่อนายจ้างและลูกจ้างเจรจาสองฝ่ายแบบทวิภาคีไม่ได้ก็จะเข้าสู่กระบวนการไตรภาคีที่จะมีฝ่ายประนอมข้อเรียกร้องของกระทรวงแรงงานร่วมด้วย แต่บนโต๊ะเจรจาสามฝ่ายก็มักจะมีแขกไม่ได้รับเชิญอย่างเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงเข้ามาแทรกแซงการเจรจา 
 
"ตั้งแต่มีรัฐประหารนายจ้างทำกับแรงงานสารพัดแต่เราชุมนุมไม่ได้ พวกพี่ต้องอาศัยศาลาวัดชุมนุมคุยกัน หลังๆ ก็เข้ามาบอกเจ้าอาวาสว่า ไม่ให้ใช้สถานที่จนพวกพี่ต้องมาหาเช่าตลาดในการชุมนุมกัน รัฐบาลจากการรัฐประหารข้อจำกัดเยอะมาก"
 
นอกจากนี้ในปี 2558 รัฐบาลคสช. ผ่านพ.ร.บ.ชุมนุมฯ กำหนดให้ผู้ที่จะจัดการชุมนุมต้องไปแจ้งต่อสถานีตำรวจท้องที่ก่อน นั่นเป็นอีกข้อจำกัดหนึ่งที่ทำให้การชุมนุมของแรงงานเกิดยากขึ้น 
 

วิกฤติโควิดสั่นคลอนชีวิตแรงงาน 

 
ในปี 2563 สถานการณ์โควิดเริ่มส่งผลกระทบต่อแรงงานในโรงงาน นายจ้างเริ่มลดสวัสดิการและโบนัส นายจ้างไม่เปิดโอกาสให้มีการชุมนุม ทำให้แรงงานเคลื่อนไหวเพื่อต่อรองค่าแรงและสิทธิต่างๆ ลำบากมากขึ้น ต่อมาวันที่ 25 มีนาคม 2563 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และวันที่ 8 พฤษภาคม 2563 กระทรวงแรงงานออกประกาศกระทรวงแรงงาน ห้ามนายจ้างปิดงานหรือลูกจ้างนัดหยุดงานในช่วงระหว่างการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน 
 
ไหมเล่าว่า การเจรจาเป็นขั้นตอนตามกฎหมาย เมื่อมีข้อพิพาทแรงงานอาจหยุดงานประท้วงและต่อรองกับนายจ้าง ขณะที่นายจ้างก็มีสิทธิปิดงานเช่นกัน นายจ้างสามารถปิดเฉพาะสมาชิกสหภาพแรงงานที่เรียกร้องหรือโรงงานก็ได้ ระหว่างที่นายจ้างปิดงานนั้นลูกจ้างที่เรียกร้องจะไม่ได้ค่าจ้าง โดยการเจรจาจะดำเนินไป หากไม่ได้ข้อยุติ กลไกของกระทรวงแรงงานจะเข้ามาเป็นฝ่ายที่สาม แต่ช่วงหลังจากการออกประกาศของกระทรวงแรงงานก็ทำให้การเคลื่อนไหวเพื่อต่อรองของแรงงานถูกแช่แข็ง
 
สถานการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจต่อนายจ้างก็จริง แต่ในกรณีของเธอ นายจ้างใช้สถานการณ์นี้ในการเลิกจ้าง เธอเล่าว่า ด้วยสภาวะเช่นนี้นายจ้างจึงจำเป็นต้องปรับโครงสร้างการผลิตของโรงงาน ต้องย้ายที่ตั้งโรงงาน กรณีที่ลูกจ้างไม่ย้ายตามนายจ้างไปจะถูกเลิกจ้างและได้ค่าชดเชย แรงงานคนอื่นที่แสดงเจตนาจะย้ายก็ได้ย้ายตามไป ยกเว้นเธอที่แสดงเจตนาจะย้ายตามแต่นายจ้างกลับไม่ให้ไป...เป็นเธอคนเดียวเท่านั้น แต่ยังให้ไปทำงานที่โรงงาน เป็นการนั่งอยู่เฉยๆ กับรปภ.ประมาณปีหนึ่ง สุดท้ายนายจ้างขอเลิกจ้างเธอเพียงคนเดียวอีกครั้ง โดยอ้างสถานการณ์โควิด-19 
 
"พี่มองว่า เขาอาจกังวลเรื่องการจัดตั้งแรงงาน พี่ทำงานมา 29 ปี ได้เงินเดือน 16,700 บาท  เขามาเจรจากับพี่ว่า จะให้เงินค่าเสียหายตามกฎหมาย ถ้าเลิกจ้างไม่เป็นธรรมจะต้องจ่ายเงินเดือนปีละหนึ่งเดือนคือ 16,700 คูณ 29 ปีแต่พี่ไม่เอา พี่สู้ขอกลับเข้าทำงาน เป็นคดีที่ศาลแรงงาน มีกำหนดนัดพิจารณา 23-25 มีนาคม 2565"
 
 

เมื่อแรงงานเดือดร้อนลุกขึ้นสู้ แต่รัฐสู้กลับด้วยคดีความ 

 
นอกจากการต่อสู้ในคดีเลิกจ้างไม่เป็นธรรมของเธอแล้ว อีกด้านหนึ่งเธอยังเป็นแกนหลักของเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน มีบทบาทในการรับเรื่องร้องเรียนและติดตามความคืบหน้าจากรัฐ ไม่ว่าจะด้วยวิธีการยื่นหนังสือ การประชุมร่วมกับรัฐหรือการชุมนุม กรณีที่มีการชุมนุมแรงงานจะเคร่งครัดมากเรื่องหน้ากากอนามัยและการเว้นระยะห่าง การชุมนุมแต่ละครั้งอยู่ในพื้นที่โล่งแจ้งและตลอดมาไม่เคยมีครั้งใดที่การชุมนุมมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 
 
ช่วงปี 2563 แรงงานที่ออกไปเคลื่อนไหวเรียกร้องยังสามารถจัดกิจกรรมในบริเวณที่ต้องการอย่างทำเนียบรัฐบาลได้ เป็นการชุมนุมแบบไม่มีแถมท้ายด้วยคดีความ แต่ในปี 2564 การชุมนุมของแรงงานเริ่มตามมาด้วยคดีความ วันที่ 19 ตุลาคม 2564 เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชนและสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ นัดหมายชุมนุมใหญ่ติดตามข้อเรียกร้องหลังลูกจ้างบริษัทตัดเย็บชุดชั้นในสตรีส่งออก "บริลเลียนท์ฯ" เลิกจ้างพนักงานมากกว่าพันชีวิตโดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้าและไม่จ่ายค่าชดเชยอย่างเป็นธรรม ต่อมาตำรวจ สน.นางเลิ้ง กล่าวหาคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กับผู้เข้าร่วมการชุมนุมหกคน ซึ่งหนึ่งในนั้นมีไหมรวมอยู่ด้วย 
 
 
ล่าสุดเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2565 เครือข่ายฯ ได้ไปติดตามข้อเรียกร้องการชดเชยเงินอีกครั้ง เนื่องจาก เสกสกล อัตถาวงศ์ เคยรับปากให้สำหนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ตามนายจ้างที่หนีออกนอกประเทศไป แต่ท้ายที่สุดไม่มีความคืบหน้า เมื่อเครือข่ายฯ ขอให้รัฐบาลใช้งบกลางก็ไม่มีการชงเรื่องเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ทั้งที่เรื่องเป็นความผิดพลาดของหน่วยงานรัฐในการบังคับใช้กฎหมาย จนถึงปัจจุบันลูกจ้าง 1,388 คน ยังต้องรอเงินชดเชยอีก 230 ล้านบาท แต่ผู้เรียกร้องถูกดำเนินคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อย่างฉับไว
 
ไหมเล่าว่า ลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างบางคนอายุเยอะ หางานใหม่ไม่ได้แล้ว เศรษฐกิจก็ไม่ดีค้าขายก็ไม่ได้ ส่วนใหญ่ก็กลับไปทำการเกษตรเพื่อประทังชีวิต
 
 

หาเรื่องเอาผิดไม่ได้ ต้องใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กู้หน้า

 

ด้วยความที่ทำงานด้านสิทธิแรงงานจึงมีแรงงานที่เข้ามาร้องเรียนกับเธออยู่เรื่อยๆ รวมทั้งแรงงานข้ามชาติ วันที่ 28 ตุลาคม 2564 ไหมติดต่อรองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานเพื่อนัดหมายพาแรงงานข้ามชาติเข้าพูดคุยเรื่องการจัดการแรงงานข้ามชาติในช่วงโควิด-19 ในวันที่ 29 ตุลาคม 2564 เมื่อถึงวันนัดหมายเธอเดินไปที่กระทรวงแรงงานพร้อมกับแรงงานข้ามชาติอีกประมาณ 30 คน โดยเธอและแรงงาน 10 คนขึ้นไปประชุมหารือกับผู้แทนของอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ให้แรงงานที่เหลือรออยู่ใต้ถุนกระทรวงแรงงาน
 
ระหว่างนั้นมีตำรวจเข้ามาที่ใต้ถุนและขอตรวจเอกสารแรงงานทั้งหมด มีแรงงานที่ไม่มีเอกสารตามกฎหมายจำนวนเจ็ดคน ตำรวจจึงพาตัวไปที่ สน.ดินแดง ไหมบอกว่า เป็นการจับกุมที่ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ กล่าวคือ ช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 มีแรงงานที่ไม่สามารถเดินทางไปต่อเอกสารการทำงานได้ ทำให้เขาตกอยู่ในสถานะที่ผิดกฎหมาย ซึ่งวันดังกล่าวพวกเขาก็เดินทางมาเพื่อร้องเรียนว่า จะทำอย่างไรให้พวกเขากลับมาอยู่ในสถานะที่ถูกกฎหมายแต่กลับถูกตำรวจจับกุม ทั้งนี้กระบวนการเจรจาบนโต๊ะประชุมเพิ่งเริ่มไปเพียง 15 นาทีเท่านั้น ทำให้การประชุมต้องยุติไปก่อนและไม่มีข้อสรุปใดออกมา
 
ต่อมาผู้รับมอบอำนาจจากกระทรวงแรงงานเข้าร้องทุกข์กล่าวหาว่า ไหมช่วยเหลือและซ่อนเร้นแรงงานข้ามชาติ "เขาไปแจ้งความจับว่า พี่ซ่อนเร้นแรงงานข้ามชาติ พี่ไม่ได้ซ่อนเร้น เขาร้องเรียนเราก็พาเขาไป"  แต่เมื่อคดีไม่ครบองค์ประกอบความผิด พนักงานสอบสวนไม่ดำเนินคดีเรื่องช่วยเหลือและซ่อนเร้นแรงงานข้ามชาติแล้ว เปลี่ยนเป็นคดีฐานฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แทน 
 
เราตั้งข้อสังเกตว่า การที่เธอเป็นเป้าถูกดำเนินคดีเป็นเพราะจุดยืนทางการเมืองที่อยู่ตรงข้ามรัฐบาลและท่าทีปราศรัยที่ดุดันเสมอ เธอรับว่า ใช่ "คือเขาจะมองเราว่า การเคลื่อนไหวทางการเมือง แต่เราออกมาแสดงความคิดเห็นเพราะการทำงานของกระทรวงไม่สอดคล้องกับสถานการณ์โควิด ลูกจ้างถูกลอยแพ แต่กฎหมายบังคับใช้ไม่ได้ ปัญหาแรงงานข้ามชาติก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ ทำให้เราจำเป็นต้องไป"  การเรียกร้องที่ยากลำบากเกิดขึ้นเฉพาะกลุ่มแรงงานที่ไม่สนับสนุนรัฐบาล ไหมบอกว่า "เขามีท่าทีจะดูแลคนงานที่พินอบพิเทาและสนับสนุนเขา ซึ่งเหตุนี้ทำให้ขบวนการแรงงานแตกออกไป"
 
แม้จะตกเป็นเป้าถูกดำเนินคดีและต่อรองยากแต่นักสหภาพแรงงานหญิงรายนี้ก็ยืนยันว่า ขบวนการแรงงานต้องยืนอยู่ฝั่งประชาธิปไตย หลักการของสหภาพคือหลักเดียวกับประชาธิปไตย มีการเลือกตั้งและตรวจสอบจากสมาชิก
 

เพื่อความเปลี่ยนแปลงจะอีกกี่คดีก็ไม่ถอย

 
นอกจากสองคดีที่กล่าวไปแล้ว ไหมยังมีคดีชุมนุมร่วมกับกลุ่มราษฎรหรือแนวร่วมอื่นๆ อีก 15 คดี เช่น การชุมนุม #ม็อบ10กุมภา 'รวมพลคนไม่มีจะกิน ตีหม้อไล่เผด็จการ' ที่สกายวอล์คปทุมวัน วันที่ 10 กุมุภาพันธ์ 2564  และการชุมนุม #ม็อบ11กันยา  เรียกร้องให้ปล่อยตัวแกนนำ ที่หน้าศาลธัญบุรี วันที่ 11 กันยายน 2564 ในส่วนผลกระทบเมื่อมีคดีความ เธอบอกว่า "แน่นอนว่า มีผลกระทบต่ออาชีพการงานและโดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาเราไปสมัครงาน...ต้นทุนการเดินทางในการรายงานตัวในศาล ตอนนี้พี่ถูกเลิกจ้างด้วย เราไม่มีรายได้ด้วย เราก็ต้องพยายาม ค่าเดินทางต้องเอาเงินเก็บออกมา พี่ไม่มีครอบครัว  ไม่มีลูกก็พอได้"
 
เธอมองว่า การบังคับใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพื่อควบคุมโควิด-19 เป็นเรื่องที่ผิดฝาผิดผิดตัวและเห็นได้ว่า ใช้ในการควบคุมการชุมนุม "อ้างพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพื่อคุมโควิด แต่คุณคุมไม่ได้เลย รัฐบาลล้มเหลว พ.ร.ก.ควรยกเลิก ไม่ควรใช้เครื่องมือมาเอาผิดกับเรา" ทั้งยังเรียกร้องให้รัฐยกเลิกการบังคับใช้และเพิกถอนคดี รวมทั้งเยียวยาให้แก่ผู้ถูกกล่าวคดีที่ไม่เป็นธรรมด้วย
 
"คุณต้องเยียวยาด้วย คุณสร้างต้นทุนให้เขา ในเรื่องทนายความ ค่าเดินทาง ค่าเสียเวลา บางคนต้องลางาน หยุดงาน ซึ่งการลางานบ่อยจะส่งผลต่อการปรับเงินเดือนหรือพิจารณาโบนัส และอาจนำไปสู่เงื่อนไขให้เลิกจ้าง"
ไม่เพียงแค่การเรียกร้องชุมนุมจะนำมาซึ่งคดีความ ยังมีการคุกคามตามมา เธอเล่าว่า "เวลาเราโพสต์ว่า จะมีการชุมนุมก็จะมีตำรวจโทรมาถามว่า จะไปยังไง ไม่ไปได้ไหม ไม่ชุมนุมได้ไหม หรือเวลาไปติดหมายเรียกที่บ้าน มายามวิกาลและวันหยุดบ้าง หมายเรียกไม่ควรจะมาตอนทุ่มครึ่ง สองทุ่ม ขยันเกินเหตุ" เธอหัวเราะให้กับความขยันของตำรวจไปด้วยระหว่างเล่า
 
เมื่อเราถามว่า คดีที่มากเช่นนี้ปลี่ยนแปลงความคิดเรื่องการเคลื่อนไหวของเธอหรือไม่ จากที่คุยกันด้วยเสียงเรียบเรื่อยมาตลอด เธอขึ้นเสียงสูงและกล่าวอย่างหนักแน่นว่า "โน (ลากยาว) ไม่เปลี่ยน ไปต่อ มาขนาดนี้แล้ว พี่ไม่กังวล แม้จะมีการชุมนุม ให้มีคดีกี่คดีพี่ก็จะสู้ไปกับฝ่ายประชาธิปไตย"