คุยกับวาดดาว เฟมินิสต์ปลดแอกในวันที่คนรุ่นใหม่ตาสว่างขานรับความเป็นธรรมทางเพศ

“พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่เราเจอคือ ตลกชิบหาย มีพฤติการณ์ที่ว่า ใส่ชุดเหมือนหางเครื่องและเต้นเพื่อดึงดูดให้ประชาชนเข้าร่วม ปูผ้าแพรห้าสีแล้วเต้น มีสมาชิก…พ่นสีบนผ้าขาวว่า ขี่รถบรรทุกชนประยุทธ์ มันตลกและมันก็เห็นเรื่องเพศสภาพ”

วาดดาว-ชุมาพร แต่งเกลี้ยง เฟมินิสต์ปลดแอกตอบพร้อมหัวเราะ เมื่อเราถามถึงเรื่องพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่รัฐใช้บังคับในทางที่ปราบปรามเสรีภาพการแสดงออกในขณะนี้ 

แรกเริ่มเรามุ่งคุยเพียงเรื่องการเคลื่อนไหวและพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ หากแต่เมื่อได้คุยกับนักเคลื่อนไหวเรื่องความเท่าเทียมทางเพศแล้ว เราจึงถือโอกาสถามเรื่องกระบวนการและมาตรการจัดการเมื่อมีเหตุการณ์ความรุนแรงทางเพศที่เกิดขึ้นในขบวนการประชาธิปไตยอยู่บ่อยครั้ง บทสนทนากินเวลายาวนานเกือบสามชั่วโมงพอจะสรุปได้ว่า ความสำเร็จของการเคลื่อนไหวเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ ไม่ใช่สิ่งอันรูปธรรมอย่างจำนวนผู้ลงชื่อผลักดัน #สมรสเท่าเทียม แต่คือการสร้างความตระหนักรู้ สร้างความเปลี่ยนแปลงเรื่องเพศทั้งในแง่ของกิจกรรมสาธารณะและกระบวนการรับมือกับความรุนแรงทางเพศในขบวนประชาธิปไตย

แรงบันดาลใจเริ่มจากการลุกขึ้นสู้ของนักเรียนนักศึกษา

ไล่เรียงคลื่นการชุมนุมในปี 2563 ระลอกแรกเดือนกุมภาพันธ์ 2563 หลังการยุบพรรคอนาคตใหม่ การชุมนุมส่วนใหญ่จะอยู่ในสถานศึกษาที่มีการอวดชั้นเชิงของแต่ละสถาบันด้วยแฮชแท็กต่างๆ ไม่กี่เดือนถัดมามีการจัดตั้งกลุ่มเคลื่อนไหวในจังหวัดต่างๆ ห้อยท้ายด้วยคำว่า “ปลดแอก” สอดคล้องกับช่วงขาขึ้นของการชุมนุมของคนรุ่นใหม่ การเคลื่อนไหวของพวกเขาเหล่านี้ได้สร้างแรงบันดาลใจให้แก่กับวาดดาวและกลุ่มคนที่ทำงานเรื่องความเป็นธรรมทางเพศ

“เรารู้สึกว่า ได้รับแรงบันดาลใจในการต่อสู้ของน้อง ๆ จริงๆเราไม่ได้วางแผนไว้ในการทำกลุ่มแต่แรก แต่ก็อยากลุกขึ้นมาเพราะว่า ข้อแรกเห็นน้องนักเรียนเลวไปที่กระทรวงศึกษาธิการ ทำให้เราเห็นว่า พวกเราถูกกดทับมาตลอดและสิ่งน้อง ๆ ทำคือการคลี่คลายความเจ็บปวดในอดีต ประกอบกับม็อบตุ้งติ้งเรื่องสมรสเท่าเทียมเป็นประเด็นที่เราทำมายาวนานเกือบสิบปี ปีนี้เข้าปีที่เก้าพอเราเห็นข้อความเหล่านั้นเรารู้สึกมีความหวัง รวมไปถึงมันกึ่งๆ ละอายที่เอ็นจีโอที่ทำงานเรื่องนี้จะต้องลุกขึ้นมา”

“ปกติเอ็นจีโอเคลื่อนไหวแบบจัดเสวนา, ทำหนังสือหรือร่างแถลงการณ์ แต่การทำม็อบที่ท้าทายอำนาจรัฐกลุ่มเอ็นจีโอไม่มีความเข้มแข็งในจุดนั้น เราก็คิดว่า กระบวนการที่ผ่านเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยที่ผ่านมา ไม่ละเอียดอ่อนเรื่องทางเพศ ฉะนั้นการที่เรามีตัวตนอยู่จึงมีความสำคัญ” 

วาดดาวและกลุ่มคนที่ทำงานในประเด็นเพศเช่น ทำทางได้จัดตั้งกลุ่มที่ชื่อว่า “ผู้หญิงปลดแอก” หน้าที่หลักของวาดดาวคือการประสานงานและเสนอประเด็น ส่วนการออกแบบกิจกรรมเป็นงานหลักของคนรุ่นใหม่ รูปแบบการทำงานร่วมของกลุ่มได้นำวัฒนธรรมเฟมินิสต์มาใช้ เช่น การทำงานแนวระนาบเน้นการใช้อำนาจร่วม (Power sharing) เปิดพื้นที่ให้หลายคนมาออกแบบการเคลื่อนไหวที่แตกต่างหลากหลาย ที่สำคัญประเด็นความเป็นธรรมทางเพศเพศ (Gender justice) เป็นประเด็นที่ทั่วโลกจับตามอง กลุ่มเฟมินิสต์ปลดแอกได้รับแรงบันดาลใจการจากเคลื่อนไหวเหล่านั้นและถอดบทเรียนเพื่อนำมาในประเทศไทยไปพร้อมกับการเคลื่อนไหวของเฟมินิสต์ทั่วโลก

บทบาทช่วงแรกของกลุ่มผู้หญิงปลดแอกในขบวนการประชาธิปไตยคือการเข้าร่วม จากการเข้าร่วมและการสร้างสรรค์กิจกรรมที่น่าสนใจ รวมถึงการทำงานองค์กรที่เปิดพื้นที่ให้ทุกคนได้มาเรียนรู้ร่วมกัน ทำให้สมาชิกกลุ่มที่สมัครเข้าร่วมเป็นอาสาสมัครมีอัตลักษณ์ทางเพศที่หลากหลายมากขึ้น จึงมีการเสนอเปลี่ยนชื่อจาก “ผู้หญิงปลดแอก” เป็น “เฟมินิสต์ปลดแอก” เพื่อเป็นหมุดหมายในการสร้างพื้นที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์ในขบวนการประชาธิปไตย

กระแสต้านเฟมินิสต์และการคุกคามทางเพศในม็อบ

วาดดาวเล่าถึงความหวาดกลัวขบวนผู้มีความหลากหลายทางเพศว่า เรื่องความหวาดกลัวหรือโฟเบียมีอยู่สองสามรูปแบบคือ หนึ่ง การลดทอนข้อเรียกร้องประเด็นเพศมองว่าไม่ใช่ประเด็นสำคัญ ตอนแรกที่มีการเคลื่อนไหวเรื่องประชาธิปไตยและมีคนบอกว่า ควรจะเคลื่อนประเด็นประชาธิปไตยก่อน วาดดาวอธิบายเพิ่มเติมว่า ขบวนการประชาธิปไตยให้ความสำคัญกับ รูปแบบการต่อสู้แบบ Patriarchy คือการต่อสู้เฉพาะในมุมมองของสถาบัน การสถาปนาอำนาจหรือการนำเสนอกฎหมาย โดยที่ไม่ได้มองรายละเอียดอื่น

“ในขบวนเองช่วงแรก ๆ ก็มีท่าทีว่า ประเด็นเพศเป็นประเด็นที่ควรถูกพูดถึงในช่วงเวลานี้ไหม ประเด็น LGBT ควรถูกพูดถึงในช่วงนี้ไหม หรือก่อนที่จะทำชุมนุมก็มีนักกิจกรรมชายไทยที่ท้าทายว่า พวก LGBT ลงถนนแล้วให้มีคนมาร่วมให้เกินได้ 50 คนนะ มีการใช้คำแบบนี้เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา จนกระทั่งเราสามารถช่วงชิงการนำร่วมได้ เพราะการช่วงชิงการนำนั้นสำคัญ เราไม่ได้ต้องการสถาปนาอำนาจนำ แต่ช่วงชิงการนำเพื่อให้เกิดการนำร่วม คือมีตัวตนในพื้นที่ เราเข้าไปสู่ในพื้นที่การตัดสินใจ เราถูกมองเห็น เรามีพื้นที่ในการจัดกิจกรรม เราถูกนับรวม อันนี้ทำให้คนที่โฟเบียเบาๆ หายไป…หายไปไหมไม่รู้ แต่เสียงเขาเบาลง”

วาดดาวเสริมอีกว่า มีความหวาดกลัวอีกแบบหนึ่งคือ จากฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐ มีเหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่จะใช้คำพูดที่เหยียดเพศ “คนสวยอย่างนู้นอย่างนี้ ทาทา [นักกิจกรรมเฟมินิสต์ปลดแอก] จะเจอเยอะ ตั้งคำถาม หยอกล้อ ทำให้เป็นตัวตลก ส่วนฝั่งตรงข้ามจะด่าทอ นำไปตัวตลก กดขี่ไม่เห็นคุณค่า เคสใหญ่ๆ ที่เจอก็จะเป็นเคสของปาหนัน [นักกิจกรรมผู้มีความหลากหลายทางเพศ] และทาทา มีลักษณะของการบูลลี่บนโลกออนไลน์ นอกจากนี้ยังมีลักษณะของ Misogyny หรือความเกลียดกลัวผู้หญิงในกรณีของเฟมทวิต ซึ่งมีการตอบโต้ด้วยข้อมูลที่ผิดและส่งเสริมความไม่เป็นธรรมทางเพศ” 

ทั้งยังมีกรณีคุกคามทางเพศในพื้นที่ชุมนุม เช่นการการถ่ายภาพผู้หญิงในพื้นที่ชุมนุมและนำไปขายในกลุ่มไลน์ มีกรณีที่ไปแจ้งความแต่ไม่สามารถนำไปสู่การเอาผิดได้  หรือกรณีการคุกคามทางเพศจับเนื้อตัวระหว่างการแสดงออกในรูปแบบต่างๆ “เวลาเราจัดกิจกรรม เฟมปลดแอก เราเคารพสิทธิเนื้อตัวร่างกาย ถ้าน้องๆ อยากแต่งตัวแบบไหนก็เป็นสิทธิของเขา มีน้องๆ ที่แต่งตัวตามสิทธิของเขาอาจจะเรียกว่า เซ็กซี่ เวลาที่อยู่บนขบวนบนรถ มีหลายคนที่ขับรถมาและเอามือจับหน้าอกและขับหนีไป อีกเคสที่รุนแรงคือ เจ้าหน้าที่รัฐตามมาถึงบ้าน ถามว่า ให้พี่ช่วยดูแลไหม มีเงินไหม นี่คือสิ่งที่เจ้าหน้าที่ตำรวจทำกับนักกิจกรรมที่เป็นผู้หญิง”

วาดดาวเล่าต่อว่า ความรุนแรงทางเพศเกิดขึ้นโดยตลอด เห็นได้จากที่ผ่านมาเวลาที่จัดกิจกรรมกันก็มักจะมีคนที่ลุกมาบอกว่า ตนเองนั้นเคยเผชิญกับความรุนแรงทางเพศอะไรบ้าง ในช่วงการชุมนุมขาขึ้น เธอได้ทราบข้อมูลว่า มีคนเข้าไปชวนเด็กผู้ชายในม็อบไปแสวงหาผลประโยชน์ทางเพศ อ้างว่า เป็นการชวนไปดูแลและสนับสนุน กรณีเช่นนี้ยากมากที่มันจะหาคนมาอำนวยกระบวนการให้ได้เหยื่อได้รับความเป็นธรรม เพราะเหยื่อเป็นชนชั้นล่าง มีสภาวะพึ่งพิงสูง และไม่ศรัทธาในเจ้าหน้าที่รัฐจึงยากที่เข้าถึงกระบวนการยุติธรรม จึงไม่สามารถคลี่คลายข้อเท็จจริงในการละเมิดเหล่านี้เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมได้

เมื่อมีความรุนแรงทางเพศต้องไม่เป็นศาลเตี้ย ผลักดันให้เกิดอาการตาสว่าง

ปรากฏการณ์ร้องเรียนความรุนแรงทางเพศเป็นประเด็นที่สังคมให้ความสนใจหลายเหตุการณ์ถูกนำมาพูดถึงและวิจารณ์กันบ่อยครั้ง หลายครั้งเลยเถิดไปจนถึงการขุดคุ้ยข้อเท็จจริง ที่ไม่รู้ว่าจริงหรือไม่ แล้วถ้าหากเป็นกรณีที่ผู้เสียหายเร้องเรียนต่อสังคม กระบวนการรับมือเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมทางเพศจะเป็นอย่างไร

วาดดาว มีข้อเสนอที่เป็นรูปธรรมอยู่หลายรูปแบบ แต่ขอยกข้อปฏิบัติที่เธอทำจนเคยชิน ” อันดับแรกเราจะต้องใช้คอนเซปต์ solidarity with survivor เราไม่อยากใช้คำว่า survivor centered แต่เราคิดว่า เราต้องร่วมรับรู้ความรู้สึก เข้าใจและยืนหยัดฟังผู้ได้รับผลกระทบเป็นหลักก่อนว่า เขาต้องการอะไร แต่การฟังเรื่องและรู้ว่า มีคนกระทำและคนถูกกระทำ แน่นอนว่า มีรายละเอียดหลายอย่าง แต่เมื่อมีการเรียกร้องเราต้องฟังผู้ถูกกระทำว่า ต้องการอะไร…มีข้อกังวลที่เราต้องทำคือ เราเป็นแค่คนรับฟังและสนับสนุนให้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ต้องระวังการเป็นศาลเตี้ย คือตัดสินดำเนินคดีแทนลงโทษทางสังคมแทน”

“สองเราไม่จำเป็นต้องแสวงหาข้อเท็จจริง คือข้อเท็จจริงมันจะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อฝ่ายผู้ถูกกระทำได้ลุกขึ้นมาบอกว่า เขาเจออะไร และมีพื้นที่ให้ผู้กระทำได้สื่อสารข้อมูลจากฝั่งเขา แต่ไม่จำเป็นต้องไปแคะแกะเกา การค้นหาความจริงเพราะว่าเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ไม่มีใครต้องการถูกข่มขืนซ้ำ เขาไม่อยากจะถูกเล่าเรื่องซ้ำ หลายคนบอกว่าต้องหาความจริงให้ได้ก่อน ถึงจะตัดสินได้  จริงๆ คือเราต้องเรียนรู้กับสถาณการณ์ที่เกิดขึ้น เช่นความรุนแรงรูปแบบนี้เป็นแบบไหน เช่น นี่คือการเหยียด นี่คือการควบคุม นี่คือการรังแก นี่คือการข่มขืน ” 

วาดดาวพูดเสริมว่าหากผู้ถูกกระทำต้องการในสิ่งที่มองเห็นว่าจะนำไปสู่กระบวนการยุติธรรมได้ก็จะทำให้ในขอบเขตที่เราทำได้ แต่จริง ๆ หัวใจของมันคือการฟื้นฟูและการสร้างความเข้มเเข็งให้เขา ”ไม่ใช่อยู่ๆ เขาต้องการให้ไล่ xxx ออกจากมหาวิทยาลัย ซึ่งไม่ได้นำไปสู่กระบวนการยุติธรรมในเรื่องนี้ได้ก็ไม่สามารถทำให้ได้ แต่เราช่วยให้มหาลัยไต่สวนว่าผิดจริยธรรมของการเป็นนักศึกษา เป็นครูอาจารย์หรือไม่ กฎระเบียบของมหาลัยมีมาตรฐานหรือยัง” การยืนเคียงข้างผู้ถูกกระทำต้องยึดว่าจะนำไปสู่กระบวนการอำนวยความยุติธรรมในหัวใจและความรู้สึกของผู้ถูกกระทำได้ ไม่ว่าจะเป็นฟ้องร้องคดีความ การขอโทษ หรือการชดเชยความเสียหาย 

วาดดาวสรุปว่า “สิ่งสำคัญคือ พวกเราต้องร่วมกันสร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคม นำกรณีที่เกิดขึ้นมาถกเถียง พูดคุยกัน แต่ต้องไม่เป็นการบอกเล่าโดยการกล่าวโทษ ลดทอนหรือเป็นศาลเตี้ย ฉะนั้นต้องระวังอย่างยิ่งในเรื่องข้อมูลส่วนตัว เหตุการณ์ที่ละเอียดอ่อน การที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสังคมผ่านสามรูปแบบคือ awareness (สร้างความตระหนักรู้ ) และ educate (ให้ความรู้) อีกสิ่งหนึ่งคือ Empowerment (การเสริมศักยภาพ) ในการรับรู้เรื่องเพศและความเป็นธรรมทางเพศ และต้องทำในระดับรื้อถอนความเชื่อฝังหัว (internalize) ทั้งประเด็นผู้ถูกกระทำ และผู้กระทำ

“งาน Educate หรือการให้การเรียนรู้มีความสำคัญ เราจะบอกว่า ต้องมีความเป็นธรรมทางเพศ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นมันมาจากโครงสร้างสังคมที่สอนเขาว่า เขาทำได้…ความรุนแรงเหล่านี้ไม่ได้ซีเรียส มันจะมีคำพูดที่พี่บอกเป็นประจำว่า ต้อง educate your boy ว่า เรื่องเหล่านี้มันทำไม่ได้”

วาดดาวอธิบายว่า การเติบโตมาในโครงสร้างสังคมที่ทำให้ไม่รู้เรื่องความเป็นธรรมทางเพศไม่ได้หมายความว่า จะต้องปกปิดความไม่รู้ แต่จำเป็นต้องสร้างองค์ความรู้ในการเปลี่ยนความคิด “สำหรับผู้กระทำเราพร้อมที่จะทำให้เขาเปลี่ยนจากข้างใน ซึ่งการเปลี่ยนเหมือนการตาสว่าง เรื่องการเมืองที่ทันทีที่เราตาสว่างว่า เราถูกหลอกให้รัก ก็เหมือนกันกับที่คนที่ได้อภิสิทธิ์ชายเป็นใหญ่ถูกหลอกว่า เรื่องแบบนี้มันทำได้ และเราต้องทำให้เขาตาสว่างเรื่องเพศเพื่อยุติมัน และไม่ใช่เรื่องง่าย หน้าที่ในฐานะคนทำงานเพื่อความเปลี่ยนแปลงทางสังคมคือต้องทำไปเรื่อย ๆ และเข้าใจความยาวนานนี้”

“ขบวนการที่เข้มแข็งต้องใส่ความเป็นธรรมทางเพศ ต้องใส่พื้นที่ปลอดภัยในเรื่องนี้ไป เรามีศักยภาพเรื่องความปลอดภัยในเรื่องนี้ ถ้าบอกว่า เราทำสำเร็จเพราะเราก็ดูเหมารวมเกินไป เราสะท้อนมากกว่าว่า คนรุ่นใหม่ต้องการอะไร…เขาต้องการความเป็นธรรมทางเพศ ข้อเสนอเรื่องความเป็นธรรมทางเพศที่ส่งเสียงมานานแล้ว ขบวนการรุ่นก่อนเขาไม่รับ ขบวนการคนรุ่นใหม่เขารับ” 

เราถามวาดดาวว่า หากการสร้างความตระหนักรู้เรื่องนี้เป็นความสำเร็จที่คนรุ่นใหม่ขานรับแล้วการเข้าชื่อร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมที่มีผู้ลงชื่อจำนวนมากไม่นับเป็นหนึ่งในความสำเร็จหรือ วาดดาวหัวเราะตอบปัดว่า “โอ้ย เข้าชื่อสมรสเท่าเทียมใครๆ ก็ทำได้ ไม่ต้องมาทำม็อบหรอก” 

โควิด คดีความและภาพสะท้อนที่รัฐมีต่อนักกิจกรรม

การเคลื่อนไหวที่ผ่านมาเฟมินิสต์ปลดแอกมีการเคลื่อนผ่านการชุมนุมทั้งที่ไปเข้าร่วมและที่จัดเอง ข้อกล่าวหาหลักคือการฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ วาดดาวถูกดำเนินคดีพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แล้ว 8 คดี เช่น เหตุชุมนุม Carmob “แหกกีไปไล่คนจัญไร” Rainbow car mob เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2564 (ขบวนกี)  และเหตุชุมนุม #ม็อบ2กันยา ที่แยกอโศก เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2564  เธอบอกว่า ถ้าหากนับรวมของเฟมินิสต์ปลดแอกแล้ว กลุ่มของเธอถูกดำเนินคดีจากการชุมนุมรวมประมาณ 70 คดี นับรวมทุกคนที่เข้ามาในกิจกรรมที่ทางกลุ่มจัด อาจไม่ใช่สมาชิกของกลุ่ม

วาดดาวเล่าว่า ไม่ใช่ว่าคนที่ออกมาเคลื่อนไหวจะไม่สนใจเรื่องโรคระบาด ทางกลุ่มมีมาตรการป้องกันและดูแลนักกิจกรรม “เรื่องโควิดเป็นความย้อนแย้งระหว่างไม่ออกไปก็ไม่เจอโควิด แต่สถานการณ์การไม่เคลื่อนไหวทางการเมืองก็ส่งผลกระทบต่อการแก้ไขปัญหา จะรอความตายรูปแบบไหน โควิดที่มีความรุนแรงก็มีการพัก ถ้าต้องไปรวมตัวจะต้องตรวจเอทีเคตลอด เรื่องความรับผิดชอบสมาชิกในองค์กรสูงมาก พอความรับผิดชอบสูงมาก มันเลยทำให้เขารู้สึกปลอดภัยในการต่อสู้ สู้ความไม่ชอบธรรมของรัฐที่ใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ทางการเมืองแต่อ้างสถานการณ์โรคระบาด”

ตลอดการพูดคุยวาดดาวย้ำเสมอเรื่องการเคลื่อนไหวอย่างสร้างสรรค์ หากนักกิจกรรมรู้สึกอยากเคลื่อนไหวแบบไหนก็จะร่วมกันผลักดัน ในการเคลื่อนไหวของเฟมินิสต์ปลดแอก เราไม่ได้ออกแบบกิจกรรมหลักเป็น่การปราศรัย การแสดงโชว์ เดินแฟชั่น หรือการเต้น คือกิจกรรมที่ชวนให้ทุกคนมีพื้นที่แบบที่เขาต้องการ ที่เธอบอกว่า แน่นอนทุกคนแต่งหน้าแต่งตัวแบบจัดเต็ม สวยงามทุกครั้ง  ทุกคนได้อยู่ในภาพข่าว หลายคนได้ภาคภูมิใจ ไม่ใช้การนำให้เวทีเด่นแก่ผู้ปราศรัยเหมือนกลุ่มอื่นๆ ที่ทำมา

“พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่เราเจอคือ ตลกชิบหาย มีพฤติการณ์ที่ว่า ใส่ชุดเหมือนหางเครื่องและเต้นเพื่อดึงดูดให้ประชาชนเข้าร่วม ปูผ้าแพรห้าสีแล้วเต้น มีสมาชิก…พ่นสีบนผ้าขาวว่า ขี่รถบรรทุกชนประยุทธ์ จันทร์โอชา มันตลกนะ แต่มันเห็นเรื่องเพศ  มีการตีตราเรื่องเพศสภาพ…มี สมาชิกคนหนึ่ง วันที่ออกไปเคลื่อนไหวเธอก็แต่งตัวสวยงาม เซ็กซี่ จัดเต็ม พอถูกเรียกไปรายงานตัวก็แต่งตัวจัดเต็มอีก พบว่าคนนี้ถูกเรียกตรวจ DNA แค่คนเดียวทั้งที่มีผู้ถูกกล่าวหานับสิบ  เราไม่รู้ว่าทำไมจึงขอตรวจ แต่ปกติที่เราทำงาน ถ้าเป็นพื้นที่สถานบันเทิง เพื่อนพนักงานบริการที่ถูกควบคุมตัวก็จะโดน เพื่อนแรงงานข้ามชาติก็จะโดน หรือแม้แต่ในพื้นที่สามจังหวัดด้วย ตำรวจไม่เคยให้คำตอบ เราก็ต้องเดาเอาเองว่าเป็นพฤติการของตำรวจที่เหมารวมว่า อนาคตจะกระทำผิดซ้ำ มันเป็นกรอบคิดของตำรวจที่อยู่ในพื้นที่ที่มีสถานบริการอย่างทองหล่อ” เราถามว่า แล้วท้ายสุดต้องตรวจดีเอ็นเอหรือไม่ วาดดาวบอกว่า “ไม่ยอมสิ ทำไมต้องยอม”

เมื่อถูกดำเนินคดีพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มากเช่นนี้ เธอมีข้อเรียกร้องรัฐอย่างไร วาดดาวตอบอย่างคล่องแคล่ว และทำให้เห็นว่า ไม่ใช่ครั้งแรกที่เธอตอบคำถามนี้ว่า “ข้อเรียกร้องยกเลิกกฎหมายฉบับนี้ (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ)  เรายืนยันมาตลอดในการยกเลิก พ.ร.บ.ที่ควบคุมประชาชน รัฐที่เห็นประชาชนมีความหมายไม่ควรจะมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน รัฐต้องมีความรับผิดรับชอบในการจัดการตามกฎหมายปกติที่มีอยู่ การมีพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ทำให้รัฐลอยตัว และลอยนวลพ้นผิด ทำให้ผู้นำรัฐมีอำนาจในการบังคับและสั่งการข้าราชการ…ต้องยกเลิกและกลับไปใช้ตัวบทกฎหมายที่มีความรับผิด”

“เหตุการณ์ที่ผ่านมาที่รัฐใช้อำนาจจาก พรก.ฉุนเฉินทั้งเกือบสองพันคดี จะต้องถูกนำไปสู่กระบวนการยุติธรรม(เพื่อประชาชาชน) พิจารณาว่าคำสั่งชอบธรรมไหม และเจ้าหน้าที่ชั้นปฎิบัติงานทำตามคำสั่งโดยไม่พิจารณาว่ายุติธรรมไหม  ครั้งนี้ต้องไต่สวนทั้งเจ้าหน้าทั้งหมดและเจ้าหน้าที่ฝ่ายบัญชาการจะต้องถูกตรวจสอบ และที่สำคัญต้องกระบวนการมีเยียวยาคนที่ได้รับผลกระทบ ค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการดำเนินคดี เราเจอคดี 8 คดี ไปรายงานตัวมากกว่า 30 ครั้ง ความเสียหายจากการยึดของกลาง ผลกระทบทางจิตใจ”

นอกจากคดีความแล้ววาดดาวบอกว่า เธอถูกคุกคามจากการโทรศัพท์ติดตาม “เราจะโดนตำรวจโทรมาหาบ่อยมาก พี่วาดดาว ผมขอถามหน่อยครับว่า ม็อบนี้ใครจัดและพี่จะไปไหม แบบไหนอย่างไง คือเขาจะทำอะไรเราไม่ได้เพราะเราค่อนข้างปากเก่ง สันติบาลจะโทรมาถามตลอด” และเห็นว่า บริเวณที่พักมีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบมาติดตามอยู่บ่อยๆ “เป็นคนที่เห็นและรู้เลยว่า เป็นสายสืบ ใส่กางเกงยีนส์ เสื้อโปโล มายืนเล่นมือถือรอ คือคอนโดมันไม่ใช่จะมีคนที่จะมายืนเล่นมือถือรออยู่ได้ บุคลิกที่ไม่ใช่คนที่จะอยู่คอนโดนั้น”