คุมม็อบหรือคุมโรค? – ตัวอย่างคดีชุมนุมฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ห่างไกลจากการแพร่โรค

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วประเทศตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2563 โดยอ้างเหตุจำเป็นเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด19 นับจากนั้น การชุมนุมโดยสงบซึ่งเป็นสิทธิของประชาชนตามรัฐธรรมนูญได้ถูกจำกัด โดยพล.อ.ประยุทธ์ออกข้อกำหนด ตามมาอีกหลายฉบับ และมอบอำนาจให้ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ออกประกาศควบคุมการชุมนุมโดยตรงอีกหลายฉบับ 

ช่วงเดือนเมษายน 2563 เดือนแรกหลังประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินประชาชนต่างให้ความร่วมมือกับภาครัฐโดยงดเว้นการจัดการชุมนุมในพื้นที่สาธารณะ และงดเว้นกิจกรรมพบปะต่างๆ อย่างไรก็ตามในเดือนพฤษภาคม 2563 ซึ่งสถานการณ์ผู้ติดเชื้อในประเทศเริ่มผ่อนคลายนักกิจกรรมบางส่วนจึงเริ่มออกมาจัดกิจกรรมในที่สาธารณะ ซึ่งข้อกำหนดห้ามชุมนุมตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯก็ถูกนำมาใช้อย่างเข้มข้นทันที แม้ว่าการชุมนุมที่เกิดขึ้นไม่ได้มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคตามที่กฎหมายกำหนดห้ามไว้ก็ตาม และแม้ในบางช่วงเวลาจะไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อในประเทศรายใหม่แล้ว ทว่าการใช้กฎหมายจำกัดเสรีภาพการชุมนุมของประชาชนกลับไม่ได้ผ่อนคลายลง 

ฟอร์ดเส้นทางสีแดงโดนคดีเพราะถือป้ายระหว่างกิจกรรมรำลึกเสธ.แดง

คดีของอนุรักษ์ หรือ “ฟอร์ด เส้นทางสีแดง” นักกิจกรรมคนเสื้อแดงกับพวกอีกแปดคน น่าจะเป็นคดีแรกที่ข้อกำหนดห้ามชุมนุมตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ถูกนำมาใช้ดำเนินคดีกับคนที่แสดงออกทางการเมือง ในวันที่ 13 พฤษภาคม 2563 ซึ่งเป็นวันครบรอบสิบปีการลอบยิงพล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล หรือเสธ.แดง ระหว่างเหตุการณ์สลายการชุมนุมคนเสื้อแดง คนเสื้อแดงกลุ่มหนึ่งร่วมกันจัดกิจกรรมจุดเทียนรำลึกถึงเสธ.แดง ที่ทางลงรถไฟฟ้า MRT สีลม มีประชาชนมาร่วมกิจกรรมประมาณ 30 คน หลังเสร็จกิจกรรมในช่วงค่ำวันเดียวกัน อนุรักษ์ถูกเจ้าหน้าที่จับกุมตัวไปตั้งข้อกล่าวหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยตำรวจอ้างว่าระหว่างที่กิจกรรมดำเนินไปอนุรักษ์เชิญชวนประชาชนส่วนหนึ่งมาถ่ายรูปในลักษณะแออัดและมีผู้ร่วมกิจกรรมบางส่วนไม่สวมหน้ากากอนามัย  คดีนี้ผู้ต้องหาให้การปฏิเสธ ศาลนัดสืบพยานในเดือนพฤษภาคมปี 2565   

กิจกรรมนี้มีผู้เข้าร่วมประมาณ 30 คน มีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขคอยมาอำนวยความสะดวกและดูแลให้ผู้เข้าร่วมทำกิจกรรมโดยรักษาระยะห่างทางสังคม และพื้นที่จัดกิจกรรมก็เป็นพื้นที่เปิดโล่ง  แม้ในข้อกล่าวหาของตำรวจ จะกล่าวว่า ผู้ร่วมชุมนุมบางส่วนมีพฤติการณ์ยืนถือป้ายร่วมกันและไม่สวมหน้ากากอนามัย แต่จากคลิปวิดีโอ  บนเฟซบุ๊กของอนุรักษ์ปรากฎภาพว่า มีผู้สื่อข่าวและผู้ที่อยู่ในคลิปที่ยืนอยู่นอกกลุ่มผู้ชุมนุมที่ถือป้ายจำนวนหนึ่งที่ไม่สวมหน้ากากอนามัยด้วย ซึ่งข้อนี้มีความน่าสนใจว่าหากการดำเนินคดีเป็นไปเพื่อเหตุผลด้านมาตรการควบคุมโรคจริงเจ้าหน้าที่น่าจะต้องดำเนินคดีกับบุคคลอื่นรวมถึงผู้สื่อข่าวที่ไม่สวมหน้ากากอนามัยด้วย ไม่ใช่ดำเนินคดีกับเฉพาะผู้ที่ถือป้าย นอกจากนั้นก็น่าสังเกตว่าการไม่สวมหน้ากากอนามัยน่าจะเป็นพฤติการณ์ที่อยู่ในวิสัยที่เจ้าหน้าที่น่าจะตักเตือนให้ผู้ที่อยู่ในพื้นที่ปฏิบัติตามก่อนได้ แต่กรณีนี้ไม่มีข้อมูลว่าเจ้าหน้าที่ได้มีการประกาศเตือนเรื่องหน้ากากอนามัยก่อนดำเนินคดีหรือไม่  

ทั้งนี้ในวันเกิดเหตุคดีของอนุรักษ์กับพวก ไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อโควิดภายในประเทศรายใหม่  

ดำเนินคดี หมอทศพร – ฟอร์ดเส้นทางสีแดง จัดกิจกรรมหน้าหอศิลป์ แม้เป็นการชุมนุมแบบ One Man Show

วันที่ 22 พฤษภาคม 2563 ครบรอบ 6 ปี การรัฐประหาร อนุรักษ์หรือ “ฟอร์ด เส้นทางสีแดง” ประกาศจัดดนตรีระดมทุนเพื่อนำเงินไปช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจาก Covid19 พร้อมระบุว่านพ.ทศพร เสรีรักษ์ จะมาร่วมเปิดหมวกเพื่อระดมทุนด้วย เมื่อถึงวันเกิดเหตุทศพรนำภาพวาดผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด19 รวมทั้งภาพของ “ปลายฝน” เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยสาวที่ฆ่าตัวตายเพราะปัญหาเศรษฐกิจมาวางแสดง พร้อมทั้งเชิญชวนประชาชนร่วมบริจาคเงินเพื่อนำไปให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ ขณะที่อนุรักษ์หรือฟอร์ด เส้นทางสีแดงซึ่งเป็นผู้ประกาศเชิญชวนให้คนมาร่วมกิจกรรมเดินทางมาถึงในภายหลังและไม่ได้ร่วมกิจกรรมกับทศพร สำหรับประชาชนที่มาร่วมกิจกรรมในวันนี้มีประมาณ 30 คน แต่ประชาชนที่มาร่วมชุมนุมดังกล่าวไม่ได้เข้ามาร่วมกิจกรรมกับทศพร มีบางคนที่นำป้ายมาถือในบริเวณใกล้เคียงกับที่ทศพรทำกิจกรรมแต่ไม่ได้มีลักษณะเป็นการทำกิจกรรมร่วมกัน

กิจกรรมที่ลานหน้าหอศิลป์กรุงเทพฯ ดำเนินไปประมาณ 45 นาที เจ้าหน้าที่สน.ปทุมวันแสดงตัวกับทศพรและอนุรักษ์ จากนั้นจึงควบคุมตัวทั้งสองไปที่สน.ปทุมวัน ในภายหลังมีข้อมูลว่าทั้งทศพรและอนุรักษ์ตัดสินใจให้การรับสารภาพ ศาลแขวงปทุมวันพิพากษาปรับทั้งสองคนละ 5,000 บาทแต่ลดโทษให้กึ่งหนึ่งเพราะทั้งสองรับสารภาพ เหลือโทษปรับ 2,500 บาท 
 

ทั้งนี้มีข้อน่าสังเกตว่าการชุมนุมในวันเกิดเหตุมีลักษณะเป็นการแสดงออกของบุคคล มากกว่าจะเป็นการชุมนุมที่มีการรวมตัวหรือมีคนหลายคนมาทำกิจกรรมร่วมกันในลักษณะใกล้ชิดกัน 

สำหรับสถานการณ์ผู้ติดเชื้อในประเทศรายใหม่ในวันเกิดเหตุ ไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อในประเทศรายใหม่ 
 

กิจกรรมตามหาวันเฉลิมที่หน้าสถานทูตกัมพูชา ตำรวจตั้งข้อหาไปก่อนให้อัยการสั่งไม่ฟ้องในภายหลัง

4 มิถุนายน 2563 มีกระแสข่าวว่าวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ ผู้ลี้ภายการเมืองชาวไทยในกัมพูชาถูกลักพาตัว จากนั้นในวันที่ 8 มิถุนายน 2563 นักกิจกรรมสองกลุ่มรวมตัวกันไปทำกิจกรรมที่หน้าสถานทูตกัมพูชาประจำประเทศไทย ในช่วงเช้าตัวแทนคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) สี่คนไปยื่นหนังสือ โดยหนึ่งวันก่อนหน้านั้น เพจเฟซบุ๊กของกป.อพช. เพียงแต่เผยแพร่แถลงการณ์และเปิดให้ผู้สนใจร่วมลงชื่อท้ายแถลงการณ์ร่วมลงชื่อเท่านั้น ไม่ได้มีการเชิญชวนให้ประชาชนมาร่วมชุมนุมกันจำนวนมาก  จากนั้นในวันที่ 8 มีนาคม ตัวแทนกลุ่มสี่คนจึงนำหนังสือไปยื่นที่สถานทูต แต่เนื่องจากไม่มีตัวแทนของทางสถานทูตออกมารับหนังสือ ตัวแทนเครือข่ายซึ่งมาที่หน้าสถานทูตสี่คนจึงวางซองเอกสารไว้ที่หน้าสถานทูตและเดินทางกลับ ต่อมาในวันที่ 14 มิถุนายน 2563 จึงมีรายงานว่าผู้ร่วมยื่นหนังสือทั้งสี่คนถูกออกหมายเรียกให้ไปรับทราบข้อกล่าวหาในความผิดฐานฝ่าฝืนข้อกำหนดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

ในช่วงบ่ายวันที่ 8 มิถุนายน 2563 หลังตัวแทนกป.อพช. ยุติกิจกรรมที่หน้าสถานทูตกัมพูชาแล้ว มีนักกิจกรรมอีกกลุ่มหนึ่ง ได้แก่ สมยศ พฤกษาเกษมสุข โชติศักดิ์ อ่อนสูง และ นภัสสร ซึ่งเคยถูกดำเนินคดีจากการร่วมการชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งเดินทางมาที่หน้าสถานทูตเพื่อยื่นหนังสือเรียกร้องให้ติดตามตัววันเฉลิมโดยมีผู้เข้าร่วมชุมนุมประมาณ 30 คน ตามที่มีการประชาสัมพันธ์กิจกรรมจะเริ่มในเวลาประมาณ 14.30 น. แต่ตั้งแต่เวลาประมาณ 14.00 น. ก็มีประชาชนส่วนหนึ่งทยอยมาถึงที่หน้าสถานทูตแล้ว เวลาประมาณ 14.30 น.สมยศเดินทางมาถึงที่หน้าสถานทูตกัมพูชา ตำรวจประสานให้ตัวแทนออกมารับหนังสือ ต่อมาในวันที่ 13 สิงหาคม สมยศ หนึ่งในผู้ร่วมกิจกรรมได้รับหมายเรียกคดีฝ่าฝืนข้อกำหนดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และมีผู้ถูกออกหมายเรียกอีกรวมทั้งหมดหกคน ต่อมาในเดือนมิถุนายน 2564 อัยการเจ้าของสำนวนมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องคดีทั้งสองคดี

ทั้งนี้มีข้อน่าสังเกตว่าทั้งสองคดีโดยเฉพาะคดีแรก กลุ่มกป.อพช. ไม่ได้ประกาศเชิญชวนบุคคลใดให้เข้าร่วมการชุมนุม ได้แต่เพียงเชิญชวนผู้เห็นด้วยร่วมลงลายชื่อในแถลงการณ์ที่ทางกลุ่มจะนำไปยื่นเท่านั้น และในวันที่ 8 มิถุนายน 2565 ทางกลุ่มกป.อพช.เพียงแต่ส่งตัวแทนไปรอยื่นหนังสือเพียงสี่คน ไม่ได้ไปเป็นกลุ่มใหญ่หรือมีการจัดขบวนแสดงพลัง ทว่าผู้ไปร่วมยื่นหนังสือสี่คนกลับถูกดำเนินคดีว่าจัดการชุมนุมฝ่าฝืนข้อกำหนดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ตอนหนึ่งของคำสั่งไม่ฟ้องอัยการเจ้าของสำนวนระบุว่า 

“ผู้ต้องหาทั้งสี่มีวัตถุประสงค์เพียงยื่นหนังสือร้องเรียนต่อสถานทูตกัมพูชา ในเรื่องการขอให้สถานทูตกัมพูชาดำเนินการอย่างเร่งด่วนในการหายตัวไปของนายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ เท่านั้น มิได้มีเจตนาที่จะยุยงให้ผู้อื่นมาร่วมชุมนุมกับพวกตนในทันที หรือก่อให้เกิดความไม่สงบในบ้านเมืองแต่อย่างใด และเมื่อไม่มีเจ้าหน้าที่สถานทูตกัมพูชาออกมารับหนังสือจากผู้ต้องหาทั้งสี่แล้ว ผู้ต้องหาทั้งสี่ก็ได้สลายตัวกลับในทันที ซึ่งรวมระยะเวลาที่ผู้ต้องหาทั้งสี่กับพวกอยู่ที่สถานทูตก็เพียงชั่วโมงเศษเท่านั้น จากข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ของผู้ต้องหาทั้งสี่ จึงเห็นได้ว่าผู้ต้องหาทั้งสี่ไม่ได้มั่วสุมในสถานที่แออัด ไม่ได้ยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยในบ้านเมือง คดีจึงมีหลักฐานไม่พอฟ้อง” 

ขณะที่คดีการชุมนุมในช่วงบ่าย อัยการเจ้าของสำนวนก็มีความเห็นสั่งไม่ฟ้องด้วยเหตุผลคล้ายกัน แม้รูปแบบกิจกรรมในช่วงบ่ายจะมีจำนวนผู้เข้าร่วมมากกว่า และลักษณะกิจกรรมจะมีการยืนรวมตัวชูป้ายใกล้ๆกันก็ตาม 

สำหรับสถานการณ์ผู้ติดเชื้อในประเทศรายใหม่ในวันเกิดเหตุ ไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อในประเทศรายใหม่ และนับเป็นวันที่ 14 ที่ไม่พบผู้ติดเชื้อในประเทศรายใหม่       

ออกหมายเรียกแม่รุ้ง เหตุร่วม “ยืนหยุดขัง” 

ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2564 จำเลยและผู้ต้องหาคดีมาตรา 112 บางส่วนถูกคุมขังในเรือนจำเพราะไม่ได้ประกัตัว กลุ่มพลเมืองโต้กลับจึงเริ่มจัดกิจกรรม “ยืนหยุดขัง” เพื่อเรียกร้องสิทธิในการปล่อยตัวชั่วคราวให้ผู้ต้องหาคดีทางการเมือง กลุ่มพลเมืองโต้กลับเริ่มทำกิจกรรมครั้งแรกในวันที่ 22 มีนาคม 2564 โดยไปยืนบริเวณทางเท้าหน้าศาลฎีกาซึ่งผู้ร่วมกิจกรรมเรียกพื้นที่ดังกล่าวว่า “ลานอากง” เพื่อระลึกถึงอำพลหรือ “อากงSMS” นักโทษคดีมาตรา 112 ที่เสียชีวิตระหว่างรับโทษจำคุกในเรือนจำเมื่อปี 2555 นอกจากการจัดกิจกรรมที่ลานหน้าศาลฎีกาแล้ว ยังมีประชาชนกลุ่มอื่นๆจัดกิจกรรมลักษณะเดียวกันในพื้นที่อื่นๆด้วย เช่น เชียงใหม่ ขอนแก่น และอุบลราชธานี เป็นต้น 

เท่าที่มีข้อมูล การยืนหยุดขังอย่างต่อเนื่องครั้งแรกใช้เวลารวมทั้งสิ้น 71 วัน จาก 22 มีนาคม ถึง 2 มิถุนายน 2564  ต่อมาในเดือนสิงหาคมเมื่อผู้ต้องหาและจำเลยที่ถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกทางการเมืองส่วนหนึ่งเริ่มถูกคุมขังในเรือนจำ กลุ่มพลเมืองโต้กลับก็เริ่มจัดกิจกรรมยืน หยุด ขัง อีกครั้ง ในวันที่ 16 สิงหาคม 2564 ก่อนมาประกาศยุติในวันที่ 4 มีนาคม 2565 รวมระยะเวลา 193 วัน    

กิจกรรมยืนหยุดขังผู้เข้าร่วมจะยืนเฉยๆ เป็นเวลา 1 ชั่วโมง 12 นาที ไม่มีการพูดจากัน ไม่มีการปราศรัย ทุกคนจะสวมหน้ากากอนามัยและยืนโดยเว้นระยะห่างกันในพื้นที่เปิดโล่งริมถนน ทั้งจำนวนผู้เข้าร่วมยืนหยุดขังที่หน้าศาลฎีกาโดยเฉลี่ยต่อครั้งมีตั้งแต่หลักสิบจนถึงหลักร้อย อย่างช่วงสัปดาห์แรกของกิจกรรม มีผู้เข้าร่วมในหลักหน่วยหรือหลักสิบต้นๆ แต่ในวันที่ 14 เมษายน 2564 ซึ่งอยู่ในช่วงวันหยุดสงกรานต์ก็มีผู้ร่วมยืนที่หน้าศาลฎีกาเกือบถึง 500 คน  

ในวันที่ 20 พฤษภาคม 2564 ตำรวจออกหมายเรียกผู้เข้าร่วมกิจกรรมยืนหยุดขังที่จัดโดยกลุ่มพลเมืองโต้กลับรวม 12 คน ที่เข้าร่วมกิจกรรมระหว่างวันที่ 18-19 เมษายน และ 26-28 เมษายน 2564 โดยในจำนวนรายชื่อผู้ถูกดำเนินคดี มีชื่อของสุริยา สิทธิจิรวัฒนกุล ซึ่งเป็นแม่ของรุ้ง ปนัสยา จำเลยคดีมาตรา 112 ที่ขณะนั้นถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำรวมอยู่ด้วย  จากการยืนหลายร้อยวัน กรณีข้างต้นน่าจะเป็นกรณีเดียวที่มีการออกหมายเรียกบุคคลมาดำเนินคดีฝ่าฝืนข้อกำหนดห้ามชุมนุมจากการเข้าร่วมกิจกรรมยืนหยุดขัง 

สำหรับสถานการณ์ผู้ติดเชื้อในพื้นที่กรุงเทพมหานครรายใหม่เมื่อวันเกิดเหตุ 18 เมษายน 2564 มีจำวน 347 คน  ส่วนวันที่ 26 เมษายน 2564 มีจำนวน 901 คน

คาร์ม็อบ ชุมนุมรูปแบบใหม่ลดความแออัดแต่ไม่รอดคดีพ.ร.ก.

3 กรกฎาคม 2564 สมบัติ บุญงามอนงค์ประกาศจัดกิจกรรม “คาร์ม็อบ” การชุมนุมรูปแบบใหม่ ที่ผู้ร่วมชุมนุมต่างคนต่างอยู่บนรถของตัวเอง แล้วขับไปตามเส้นทางที่มีการประกาศล่วงหน้าเอาไว้ สำหรับช่องทางการสื่อสารทางผู้เข้าร่วมกิจกรรมจะใช้แอพลิเคชันคลับเฮาส์สื่อสารกันเป็นหลัก 

การจัดการชุมนุมในรูปแบบคาร์ม็อบถือเป็นการปรับยุทธวิธีการเคลื่อนไหวในยามที่โควิด19 กำลังระบาด ทำให้คนกล้าออกจากบ้านมาร่วมชุมนุมโดยมีวิธีการป้องกันตัวไม่ต้องพบปะพูดคุยกับคนจำนวนมาก ไม่ได้รวมตัวกันในพื้นที่แออัด หรือมีการสัมผัสกันระหว่างบุคคล เนื่องจากรูปแบบกิจกรรมเป็นเพียงการรวมตัวขับรถไปตามท้องถนน และส่งเสียงด้วยการบีบแตรแทนการตะโกน แม้รูปแบบการชุมนุมจะถูกปรับเพื่อลดความเสี่ยงด้านสาธารณสุข แต่เจ้าหน้าที่รัฐก็ยังมีความพยายามที่จะดำเนินคดีผู้เข้าร่วมคาร์ม็อบด้วยข้อกล่าวหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

เท่าที่มีข้อมูลระหว่างวันที่ 3 กรกฎาคม 2564 ถึงวันที่ 13 สิงหาคม 2564 มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมคาร์ม็อบถูกดำเนินคดีหลายจังหวัดทั่วประเทศอย่างน้อย 57 คนใน 22 คดี  เช่น

กิจกรรมคาร์ม็อบที่จังหวัดลำปางเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2564 กิจกรรมคาร์ม็อบครั้งดังกล่าวไม่มีการหยุดรถเพื่อตั้งเวทีปราศรัยเป็นเพียงการขับรถไปเรื่อยๆ พินิจซึ่งเป็นนักกิจกรรมกลุ่มพิราบขาวเพื่อมวลชนซึ่งเป็นหนึ่งในเก้าคนที่ถูกตั้งข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯระบุว่า ในวันเกิดเหตุตำรวจไม่ได้อ้างข้อกำหนดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และสั่งห้ามทำกิจกรรม ในการทำกิจกรรมไม่มีการหยุดรถเพื่อตั้งเวทีปราศรัยหรือรวมตัวกัน สำหรับตัวเลขผู้ติดเชื้อในพื้นที่วันวันเกิดเหตุ จังหวัดลำปางมีจำนวนผู้ติดเชื้อยืนยัน 15 คน เป็นผู้ติดเชื้อจากโครงการรับคนลำปางกลับบ้านแปดคน และผู้ติดเชื้อในจังหวัดเจ็ดคน

กิจกรรมคาร์ม็อบในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต 24 กรกฎาคม 2564 ไม่มีการตั้งเวทีปราศรัย เป็นเพียงการขับรถไปตามเส้นทางแล้วไปหยุดรถชั่วคราวที่หน้าจวนผู้ว่า เพื่อยื่นหนังสือเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออกที่จวนผู้ว่า ในวันดังกล่าวนอกจากกลุ่มผู้ชุมนุมคาร์ม็อบแล้วยังมีผู้ชุมนุมที่มารวมตัวต่อต้านผู้ชุมนุมคาร์ม็อบด้วย อย่างไรก็ตามไม่มีรายงานว่าผู้ชุมนุมกลุ่มดังกล่าวถูกดำเนินคดีดังเช่นผู้ชุมนุมกลุ่มคาร์ม็อบแต่อย่างใด มีเพียงกลุ่มผู้ชุมนุมกลุ่มจัดคาร์ม็อบที่ถูกดำเนินคดีสองคน ส่วนอีกหนึ่งคนที่ถูกดำเนินคดีเป็นตัวแทนพรรคก้าวไกลที่ไปสังเกตการณ์การชุมนุมวันดังกล่าว สำหรับตัวเลขผู้ติดเชื้อในพื้นที่วันวันเกิดเหตุ จังหวัดภูเก็ตมีจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ 21 คน

กิจกรรมคาร์ม็อบที่กรุงเทพ สมบัติ บุญงามอนงค์ ผู้จัดกิจกรรมคาร์ม็อบในวันที่ 10 กรกฎาคม 2564 ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้จัดให้มีการรวมตัวของรถยนต์และรถจักรยานยนต์มากกว่า 100 คันในระหว่างที่ประกาศห้ามทำกิจกรรมที่มีการรวมตัวมากกว่า 20 คน ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร อัยการยื่นฟ้องคดีสมบัติ บุญงามอนงค์ต่อศาลแขวงดุสิตเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2564 สำหรับตัวเลขผู้ติดเชื้อในพื้นที่วันวันเกิดเหตุ กรุงเทพมหานครมีจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ 3,191 คน

ตั้งข้อหาฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินกับผู้นำแรงงานหลังช่วยแรงงานข้ามชาติร้องทุกข์

วันที่ 28 ตุลาคม 2564 ธนพร วิจันทร์ นักเคลื่อนไหวด้านแรงงานติดต่อขอนำตัวแทนแรงงานข้ามชาติเข้าพบรองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เพื่อพูดคุยเรื่องการให้ความช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติในช่วงของการแพร่ระบาดของโควิด19 ในวันที่ 29 ตุลาคม 2564 ซึ่งเป็นวันนัดหมาย ธนพรพร้อมด้วยแรงงานข้ามชาติประมาณ 30 คน เดินทางไปที่กระทรวงแรงงาน โดยธนพรและตัวแทนแรงงานสิบคนขึ้นไปประชุมหารือกับผู้แทนของอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานบนอาคาร ส่วนที่เหลือรออยู่ใต้ถุนกระทรวงแรงงาน

ระหว่างนั้นมีตำรวจเข้ามาที่ใต้ถุนและขอตรวจเอกสารแรงงานข้ามชาติที่มารอติดตามผลการพูดคุย เมื่อพบว่ามีแรงงานที่ไม่มีเอกสารตามกฎหมายรวมอยู่ด้วยเจ็ดคน ตำรวจจึงพาตัวไปที่ สน.ดินแดง ในเวลาต่อมามีผู้รับมอบอำนาจจากกระทรวงแรงงานเข้าร้องทุกข์กล่าวโทษธนพรว่าช่วยเหลือและซ่อนเร้นแรงงานข้ามชาติ อย่างไรก็ตามเมื่อไม่มีหลักฐานเพียงพอว่าธนพรกระทำความผิดในส่วนของการช่วยเหลือซ่อนเร้นแรงงานข้ามชาติ เธอก็ถูกตั้งข้อกล่าวหาในความผิดฐานฝ่าฝืนข้อกำหนดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แทนโ ดยมีข้อน่าสังเกตว่าในวันดังกล่าวเธอเป็นเพียงบุคคลเดียวที่ถูกดำเนินคดีในความผิดฐานฝ่าฝืนข้อกำหนดห้ามชุมนุมตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ  

สำหรับตัวเลขผู้ติดเชื้อในพื้นที่วันวันเกิดเหตุ กรุงเทพมหานครมีจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ 845 คน

ยื่นหนังสือร้องเรียนยูเอ็น ก็โดนคดีพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

วันที่ 10 ธันวาคม 2564 สมยศ พฤกษาเกษมสุข จากกลุ่ม 24 มิถุนา ประชาธิปไตย เจษฎา ศรีปลั่ง จากเครือข่ายคนรุ่นใหม่นนทบุรี และผู้ชุมนุมประมาณ 10 – 15 คน รวมตัวกันหน้าอาคารที่ทำการสหประชาชาติ สะพานมัฆวานเพื่ออ่านแถลงการณ์เรียกร้องให้สหประชาชาติกดดันรัฐบาลไทยให้ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 การทำกิจกรรมในวันดังกล่าวเกิดขึ้นที่บริเวณทางเท้าถนนราชดำเนินนอกซึ่งเป็นสถานที่เปิดโล่ง และใช้เวลาสั้นๆประมาณชั่วโมงครึ่งตั้งแต่ 10.40 น.ถึง 12.10 น. ก็ยุติการชุมนุมที่บริเวณหน้าที่ทำการสหประชาชาติ โดยในช่วงเวลาที่ผู้ชุมนุมยืนถือป้ายร่วมกัน ผู้ชุมนุมก็สวมใส่หน้ากากอนามัย 

ในเวลาต่อมามีผู้เข้าร่วมกิจกรรมในวันดังกล่าวถูกออกหมายเรียกเข้ารับทราบข้อกล่าวหารวมหกคนในความผิดฐานฝ่าฝืนข้อกำหนดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ การถูกดำเนินคดีครั้งดังกล่าวส่งผลให้ในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2565 สมยศและผู้ที่ถูกดำเนินคดีจากการชุมนุมในวันที่ 10 ธันวาคม 2564 เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอให้ตรวจสอบการใช้อำนาจตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯของเจ้าหน้าที่ว่าเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ 

สำหรับตัวเลขผู้ติดเชื้อในพื้นที่วันวันเกิดเหตุ กรุงเทพมหานครมีจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ 629 คน

หวังสร้างผลกระทบ ไม่หวังผลทางคดี?

นับถึงเดือนมีนาคม 2565 มีคนถูกดำเนินคดีฐานฝ่าฝืนข้อกำหนดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการร่วมกิจกรรมแสดงออกทางการเมืองแล้วอย่างน้อย 1,445 คน จาก 623 คดี คดีความบางส่วนศาลและอัยการใช้อำนาจของตัวเองในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนอยู่บ้าง เช่น คดีการชุมนุมลำปางรวมการเฉพาะกิจที่จังหวัดลำปางเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2563 อัยการมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องโดยนำเอาเงื่อนไขด้านสถานที่ซึ่งเป็นสถานที่เปิดโล่งและการที่ผู้ชุมนุมสวมหน้ากากมาเป็นเหตุผลประกอบการวินิจฉัยสั่งไม่ฟ้อง คดีการชุมนุมคาร์ม้อบที่จังหวัดตาก ซึ่งมีรถยนต์เข้าร่วม 17 คันและมีผู้ชุมนุมประมาณ 20 คน 

ที่น่าสนใจ คือ แม้ในคดีที่มีผู้เข้าร่วมชุมนุมหลักหมื่นคน ยังมีกรณีที่สุดท้ายศาลมีคำพิพากษาว่า การชุมนุมไม่เป็นความผิด เช่นกรณีการชุมนุมในวันที่ 21 ตุลาคม 2563 ซึ่งเกิดขึ้นระหว่างที่พล.อ.ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ศาลแขวงดุสิตเคยมีคำพิพากษายกฟ้องคดีการชุมนุมในวันที่ 21 ตุลาคม 2563 ที่ผู้ชุมนุมเดินเท้าจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไปทำเนียบรัฐบาล ครั้งนั้นแม้ผู้ชุมนุมจะมีพฤติการณ์เดินฝ่าแนวกั้นเจ้าหน้าที่เพื่อให้ไปถึง ทำเนียบรัฐบาลแต่สุดท้ายศาลก็มีคำพิพากษายกฟ้องความผิดฐานฝ่าฝืนข้อกำหนดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพราะเห็นว่า

การชุมนุม เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2563 เพื่อเดินทางไปยื่นหนังสือให้นายกรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่ง เป็นการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ ภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 44 การเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออกจึงเป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งได้รับการคุ้มครอง

คำพิพากษาของศาลแขวงดุสิตยังสร้างบรรทัดฐานการปกป้องเสรีภาพการชุมนุมให้ช่วงเวลาที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินด้วยว่า จำนวนของผู้ชุมนุมไม่ใช่ปัจจัยชี้ขาดว่าการชุมนุมที่เกิดขึ้นจะเป็นการกระทำความผิดหรือไม่ แต่ต้องดูวัตถุประสงค์ของการชุมนุมเป็นสำคัญ ดังที่ศาลให้เหตุผลประกอบการยกฟ้องตอนหนึ่งว่า 

“…ในประเด็นของการชุมนุมที่มีการมั่วสุมเกินกว่า 5 คน ตามประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ลงวันที่ 15 ต.ค. 63  ศาลแขวงดุสิตได้วินิจฉัยว่า ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 คำว่า “มั่วสุม” หมายถึง การชุมนุมกันเพื่อกระทำการในทางไม่ดี “ส่วนการที่มีบุคคลมารวมตัวกันกว่า 10,000 คน เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2563 เพื่อเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออกนั้น เป็นการเรียกร้องโดยใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ จึงไม่ใช่ การมั่วสุม…” 
 

แม้ในบางกรณีอัยการหรือศาลอาจทำหน้าที่ถ่วงดูลการใช้ดุลพินิจในการดำเนินคดีพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯกับผู้ใช้เสรีภาพในการชุมนุมทั้งโดยตำรวจและอัยการได้ แต่หากพิจารณาจากข้อเท็จจริงว่าผลกระทบทางคดีเริ่มขึ้นตั้งแต่บุคคลถูกออกหมายเรียกไปรับทราบข้อกล่าวหาแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีของผู้ชุมนุมจากต่างจังหวัดที่เดินทางเข้ามาชุมนุมสื่อสารปัญหาความเดือดร้อนของตัวเองในกรุงเทพ แม้ว่าท้าที่สุดยอัยการหรือศาลจะมีคำสั่งหรือคำพิพากษาในทางที่เป็นคุณต่อตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยก็ต้องถือว่าการใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ได้สร้างผลกระทบและสำเร็จประโยชน์ในฐานะเครื่องมือจำกัดการเคลื่อนไหวของผู้เห็นต่างจากรัฐไปแล้ว  

ขณะที่ข้ออ้างที่ตำรวจหรือผู้มีอำนาจรัฐมักให้ประกอบการจำกัดเสรีภาพการชุมนุม เรื่องสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค ก็ดูจะเป็นข้ออ้างที่เลื่อนลอยเพราะจะเห็นได้ว่าไม่ว่าสถานการณ์ผู้ติดเชื้อที่ยืนยันได้ในพื้นที่จัดการชุมนุมจะมากเป็นหลักพันหลักร้อย หรือเป็นเพียงหลักสิบหรือกระทั่งไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อรายใหม่ ก็ดูเหมือนว่าเจ้าหน้าที่จะไม่ได้นำสถานการณ์ผู้ติดเชื้อในเวลาเกิดเหตุมาพิจารณาเรื่องการเข้มงวดหรือผ่อนคลายการจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมแต่อย่างใด ปัจจันที่ทำให้ผู้ชุมนุมถูกดำเนินคดีฐานฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กลับเป็นเนื้อหาข้อเรียกร้องที่แตกต่างจากรัฐบาลปัจจุบันมากกว่า