เมนู สุพิชฌาย์ จาก #มอชองัดข้อเผด็จการ ถึงปรากฏการณ์ทะลุวัง

“หนูเป็นสิ่งที่ระบบการศึกษาเรียกว่าสิ่งมีตำหนิ หนูเป็นความผิดพลาดของระบบการศึกษา หนูเรียนศิลป์ภาษาและเขาก็บอกว่า เรียนศิลป์ภาษาเกรดไม่ถึงหรือเปล่า แต่ความจริงหนูอยากบอกให้คนรู้ว่าหนูชอบทำเกม แต่สายการเรียนไม่มีเนื้อหาแนวนี้ให้หนูเลย หนูรู้สึกว่ามันไม่ตอบโจทก์ หนูก็เลยเรียนศิลป์ภาษาที่หนูจะได้มีเวลาว่างมากขึ้น หนูฝึกเขียนโค้ด ทำอะนิเมชัน หนูทำเกม แต่หนูกลายเป็นความล้มเหลวของระบบการศึกษาค่ะ”

คือบางช่วงบางตอนของความในใจอันแสนอึดอัดต่อระบบการศึกษาที่เมนู-สุพิชฌาย์ ชัยลอม ซึ่งขณะนั้นเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่หกอยู่ที่โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยเชียงใหม่บอกเล่าระหว่างการชุมนุม #มอชองัดข้อเผด็จการ ซึ่งจัดขึ้นที่ศาลาอ่างแก้ว มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2563 ในบรรยากาศที่การเคลื่อนไหวบนท้องถนนกำลังขาขึ้น นอกจากการปราศรัยที่ถือเป็นการปรากฎตัวบนเวทีครั้งแรกของเมนูแล้ว ภาพถ่ายที่นักข่าวคนหนึ่งบันทึกภาพด้านหลังของเมนูในชุดนักเรียนผูกผมด้วยโบสีขาวชูสัญลักษณ์สามนิ้วด้วยมือข้างซ้ายโดยมีฉากหลังเป็นภาพผู้ชุมนุมจำนวนไม่น้อยร่วมกันชูสามนิ้วด้วยได้ ทำให้เมนูกลายบุคคลที่อยู่ในความสนใจของสื่อมวลชนรวมทั้งเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง

ภาพถ่ายโดย Goodmondayshoot

หลังขึ้นปราศรัยที่ศาลาอ่างแก้วเมนูยังคงทำกิจกรรมและขึ้นเวทีการชุมนุมที่จัดในที่ต่างๆอย่างต่อเนื่อง เช่น ที่กรุงเทพฯและหาดใหญ่ สงขลา ซึ่งการปราศรัยในการชุมนุมที่หาดใหญ่นี้เองที่เป็นเหตุให้เมนูถูกดำเนินคดีด้วยประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 แต่คดีหนักๆ ก็ไม่ได้ทำให้เธอหยุด เมนูก็ยังคงเคลื่อนไหวต่อไป และได้มาขึ้นเวทีในการชุมนุมเปิดตัวการเข้าชื่อประชาชนเพื่อยกเลิกมาตรา 112 ของคณะราษฎรยกเลิก 112 (ครย. 112) ในเดือนตุลาคม 2564 ด้วย ต่อมาเมื่อนักกิจกรรมกลุ่ม “ทะลุวัง” เริ่มทำกิจกรรมสำรวจความคิดเห็นประชาชนเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ในประเด็นต่างๆ ในพื้นที่สาธารณะ เมนูก็มาร่วมเคลื่อนไหวด้วยจนเป็นเหตุให้ในวันที่ 22 เมษายน 2565 เธอต้องพบเจอกับประสบการณ์ถูกเจ้าหน้าที่ดักจับกุมกลางถนนเป็นครั้งแรกในชีวิตราวกับเธอเป็นอาชญากรที่กำลังหลบหนี

#มอชองัดข้อเผด็จการ เป็นเวทีเดบิ๊ว

ตามคำบอกเล่าของเมนูในบทสัมภาษณ์ ‘The Students Never Smile’ ไม่อาจปรากฏรอยยิ้มในระบบการศึกษาบ้าอำนาจ ของ Way magazine ต่อมาถูกปรับปรุงเป็นส่วนหนึ่งของหนังสือ ผู้มีมลทินมัวหมอง เมนูเล่าว่า เธอเติบโตมาในครอบครัวที่มีคุณพ่อเป็นตำรวจ เริ่มสนใจประเด็นทางสังคมการเมืองมาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2562 หลังจากที่เธอได้เห็นแฮชแทกต่างๆ เช่น เสือดำ นาฬิกายืมเพื่อน และ ป่ารอยต่อ เธอจะนำแฮชแทกเหล่านั้นไปหาข้อมูลเพิ่มเติม โดยในช่วงแรกๆ การหาข้อมูลของเธอก็เป็นไปเพื่อดับความกระหายใคร่รู้ของตัวเองเท่านั้น ยังไม่ได้คิดที่จะออกมาเคลื่อนไหวหรือทำกิจกรรม  อย่างไรก็ตามเมื่อเธอรู้เรื่องราวต่างๆ มากขึ้นเธอก็ตัดสินใจออกมาเคลื่อนไหว

“ก่อนไปร่วมชุมนุมที่มช. เรายังไม่เคยไปร่วมชุมนุมมาก่อน ถึงจะสนใจติดตามการเมืองมาได้ระยะหนึ่งแล้ว คือ ต้องเข้าใจว่าตอนนั้นเราก็ยังเด็กแล้วม็อบส่วนใหญ่ก็จัดที่กรุงเทพฯ ก็คงเป็นเรื่องยากที่เราจะเดินทางมา ทีนี้พอเราติดตามข่าวสารมาได้พักใหญ่ๆ เราก็ตัดสินใจทักไปที่เพจประชาคมมอชอว่า เราอยากไปม็อบแล้ว ช่วยจัดม็อบหน่อย ทางนั้นก็ตอบมาว่าเขากำลังจะจัดม็อบและเปิดรับสมัครทีมงานอยู่ เราก็เลยตัดสินใจสมัครไปเป็นทีมงานของเขาเลย”

“ทางทีมมช.เขาบอกมาว่าตำแหน่งที่เปิดรับก็มีพวกหน่วยพยาบาล หรือพิธีกร ซึ่งเราคิดว่าเราคงทำอย่างอื่นไม่ได้เลยตัดสินใจสมัครเป็นคนปราศรัย ตอนแรกเราก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจะปราศรัยเรื่องอะไร มาได้ประเด็นเอาก็ช่วงสองสามวันก่อนถึงวันที่จะมีม็อบ เราก็ตัดสินใจพูดเรื่องที่เราอึดอัดคือเรื่องระบบการศึกษาและสิทธิของเยาวชน เท่าที่จำได้วันนั้นไม่ได้พูดเรื่องสถาบันฯเลย”

ในการปราศรัยครั้งแรกนอกจากเรื่องความไม่ตอบโจทย์ของระบบการศึกษาไทยต่อความฝันหรือการประกอบอาชีพดังที่ยกมาข้างต้นแล้ว เมนูยังพูดถึงกรณีการจับกุมฮ็อคแฮกเกอร์ หนึ่งในแร็ปเปอร์ที่ร้องเพลงประเทศกูมีซึ่งถูกจับกุมตัวเพราะร่วมการชุมนุม Free Youth เยาวชนปลดแอกในเดือนกรกฎาคม 2563 ด้วย

จากนครพิงค์สู่เมืองกรุงกับแรงเสียดทานที่เพิ่มขึ้น

หลังเปิดตัวในฐานะผู้ปราศรัยเป็นครั้งแรกในการชุมนุมที่เชียงใหม่จนเป็นที่รู้จักของสาธารณชน เมนูเริ่มเดินทางไปร่วมการชุมนุมที่กรุงเทพฯ เวลาที่มีการชุมนุมครั้งสำคัญหรือการชุมนุมใหญ่ เช่น วันที่ 5 กันยายน 2563 ซึ่งกลุ่มนักเรียนเลวจัดการชุมนุม #หนูรู้หนูมันเลว ที่กระทรวงศึกษาธิการ เพื่อพูดถึงปัญหาในระบบการศึกษาไทย เมนูได้ขึ้นปราศรัยด้วยโดยตอนหนึ่งเธอได้ตั้งคำถามถึงความไม่เป็นประชาธิปไตยในโรงเรียนที่นักเรียนไม่มีโอกาสมีส่วนร่วมในการกำหนดกติกาที่จะใช้อยู่ร่วมกันภายในโรงเรียน รวมถึงตั้งข้อสังเกตเรื่องการใช้อำนาจของครูในโรงเรียน

“กฎระเบียบมีไว้เพื่อเป็นข้อตกลงในการอยู่ร่วมกันในสังคม แต่เรานักเรียนที่ใช้กฎระเบียบไม่เคยมีสิทธิตั้งกฎในโรงเรียนเลย และในปัจจุบันมีหลายๆอย่าง ที่กฎระเบียบค่อนข้างล้าสมัยสำหรับสมัยนี้ และผู้ใหญ่ก็ไม่มีเหตุผลมากพอที่จะตอบพวกเราว่าตั้ง [กฎระเบียบเหล่านั้น] มาทำไม”

“ครูบางท่านใช้อำนาจเพื่อกดขี่นักเรียน เพื่อสร้างฐานอำนาจนิยม เพื่อเอาคความกดขี่ที่ตนเองเคยได้รับมาใช้กับนักเรียนทุกคน มันไม่ใช่เรื่องที่คนมีวุฒิภาวะควรทำค่ะ”

จากนั้นในวันที่ 14 ตุลาคม 2563 ซึ่งเป็นวันที่มีการชุมนุมใหญ่ เมนูก็ขึ้นปราศรัยด้วย “ม็อบวันที่ 14 ตุลาฯ ที่บ้านเราไม่ให้ไป จะยังไงล่ะ ก็หนีสิ วันนั้นที่บ้านไปส่งเราที่โรงเรียน พอเขาส่งเสร็จปุ๊บ เราก็ออกมาจากโรงเรียนตรงไปสนามบิน โผล่มาอีกทีก็กรุงเทพเลย”

“พอไปถึง เขา (ฝ่ายประสานงาน) ก็เอาเราไปอยู่ที่รถเวทีที่เป็นหกล้อแต่ไม่ได้ขึ้นไปยืนปราศรัยกับเขาด้วย บนรถที่เราอยู่น่าจะมีครูใหญ่ [อรรถพล บัวพัฒน์] พี่ฟอร์ด [ทัตเทพ เรืองประไพกิจเสรี] พี่มายด์ [ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล] แล้วก็อาสมยศ [สมยศ พฤกษาเกษมสุข] ที่ยืนพูดบนรถแห่ เราก็งงเหมือนกันว่าทำไมวันนั้นเขาไม่ให้เราเดินไปทำเนียบ ทั้งที่เราเดินได้”

“ความรู้สึกวันนั้น คือ อิ่มเอมหัวใจมาก ระหว่างอยู่ที่รถเวทีเราได้เห็นคนที่ทำงานเบื้องหลัง ทำงานกันเต็มที่ ด้วยอุดมการณ์ของพวกเขา เราได้เห็นคนหลากหลายทั้งนักเรียน ทั้งคนมีอายุ ทุกคนโบกไม้โบกมือให้เรา เราได้แต่คิดว่ามีคนคิดเหมือนเรา ออกมาสู้กับเราเยอะเลย เลยรู้สึกว่าที่เรากำลังสู้มันก็คุ้มแล้ว”

“เรามีโอกาสขึ้นปราศรัยตอนช่วงค่ำหลังจากไปตั้งเวทีที่หน้าทำเนียบฯ สิ่งที่เราปราศรัยวันนั้นมันเหมือนกับเราสาบานกับตัวเองมากกว่าว่า เราในฐานะเยาวชนรู้แล้วว่าสิ่งที่เป็นต้นตอของปัญหาหลายๆอย่างมันคืออะไรและเราจะสู้เพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลง บนเวทีวันนั้นเรายังตัดผมของตัวเองด้วย บางคนอาจจะคิดว่ามัน (การตัดผม) ก็เป็นแค่การแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เล็กๆ แต่สำหรับคนที่มีความเชื่ออย่างเราการตัดผมมันเหมือนกับการปักหมุด การสาบานกับตัวเองว่าเราจะทำอะไรบางอย่างอย่างจริงจัง”

หลังไปร่วมชุมนุมวันที่ 14 ตุลาคม 2563 เมนูเคยให้ข้อมูลกับ The Standard ว่ามีเจ้าหน้าที่ส่งกำลังไปเฝ้าที่บ้านและตามหาเธอที่โรงเรียน เธอจึงตัดสินใจว่าจะยังไม่กลับบ้าน พร้อมระบุว่าเธอเป็นกังวลห่วงพ่อแม่ซึ่งกำลังถูกกดดัน

“อาจจะเป็นเพราะพ่อเราเป็นตำรวจประกอบกับสิ่งที่เราพูดมันยังไม่ได้แรงมาก ช่วงนั้น (ปี 2563) เราเลยไม่ได้เจอการคุกคามกดดันกับตัว แต่เป็นทางพ่อเรามากกว่าที่มีเจ้าหน้าที่หน่วยอื่นๆ มาพูดทำนองว่า ให้ดูแลลูกให้ดีแล้วก็มีคนมากบอกพ่อเราว่า เราไปปราศรัยเรื่องอะไรมาบ้าง”

ดูเหมือนว่าบทบาทของเมนูที่มากขึ้น รวมถึงการมาปรากฎตัวในการชุมนุมใหญ่ที่กรุงเทพฯ จะทำให้แรงเสียดทานเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว

คำปราศรัยเปลี่ยนชีวิตที่หาดใหญ่

วันที่ 30 พฤศจิกายน 2563 เมนูตอบรับคำเชิญจากกลุ่มราษฎรใต้ ที่เชิญให้เธอลงไปปราศรัยที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ในวันนั้นนอกจากเมนูแล้วทางกลุ่มราษฎรใต้ยังเชิญผู้ปราศรัยจากนอกพื้นที่ไม่ว่าจะเป็นตัวแทนจากเครือข่ายรามคำแหงเพื่อประชาธิปไตย, ไอลอว์และเฟมินิสต์ปลดแอกไปร่วมปราศรัยด้วย

แม้ในช่วงเวลาที่มีการชุมนุม สภาพอากาศที่ลานหอนาฬิกาหาดใหญ่จะเย็นสบายและชุ่มฉ่ำไปด้วยน้ำฝน ทว่าบรรยากาศของการชุมนุมกลับคุกรุ่นตั้งแต่ช่วงเย็นเมื่อมีกลุ่มปกป้องสถาบันฯ ที่ไม่เห็นด้วยกับผู้ชุมนุมราษฎรใต้มาตั้งเวทีปราศรัยประชันพร้อมเปิดเพลง “หนักแผ่นดิน” โดยหันลำโพงขนาดใหญ่มาทางเวทีผู้ชุมนุมราษฎร สถานการณ์ดังกล่าวทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องมากั้นแผงเหล็กที่ลานหอนาฬิกาและตรึงกำลังอยู่ระหว่างผู้ชุมนุมทั้งสองกลุ่มเพื่อป้องกันการปะทะ ด้วยฝนที่ตกลงมาประกอบถูกเปิดเพลงเสียงดังกลบ การปราศรัยของผู้ชุมนุมราษฎรใต้รวมทั้งเมนู จึงแทบจับใจความไม่ได้

ทว่าหลังจากนั้นในเดือนสิงหาคม 2564 เมนูก็ได้รับหมายเรียกให้ไปรับทราบข้อกล่าวหาคดีมาตรา 112 ที่สภ.หาดใหญ่ในเดือนกันยายน 2564 ซึ่งเป็นเวลาหลังการชุมนุมราวเก้าเดือน  เมนูไปรายงานตัวกับพนักงานสอบสวนตามนัด ต่อมาเดือนมีนาคม 2565 อัยการมีความเห็นสั่งฟ้องเมนูในความผิดตามมาตรา 112 โดยศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนระบุถึงถ้อยคำที่อัยการใช้เป็นเหตุในการดำเนินคดีตอนหนึ่งว่า

“ถ้อยคำที่จําเลยปราศรัยนั้นทำให้ผู้ชุมนุมจํานวนหลายคนเข้าใจว่าในหลวงรัชกาลที่ 10 เป็นพระมหากษัตริย์ที่ไม่ดี ไม่มีพระปรีชาสามารถ ไม่เห็นหัวประชาชน มีการแก้กฎหมายทําให้ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์กลายเป็นทรัพย์สินของในหลวงแต่พระองค์เดียว ทําให้ทรัพย์สินที่เป็นของประชาชนกลายเป็นทรัพย์สินส่วนพระองค์ เอาเงินภาษีมาเป็นของพระองค์ ทรัพย์สินและเงินภาษีดังกล่าวไม่ได้นํามาใช้พัฒนาประเทศ แต่ได้นําไปใช้เป็นประโยชน์ส่วนพระองค์ นําไปซื้อเครื่องบินและจัดงานศพให้สุนัขทรงเลี้ยง และศาสตร์ของพระราชาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 เป็นเรื่องหลอกลวง ไม่มีประโยชน์ ไร้สาระ ไม่มีความจําเป็นที่จะมีเนื้อหาในหนังสือเรียน”

เมนูบอกว่า “ม็อบที่หาดใหญ่เราไปพูดประเด็นกฎหมายเรื่องทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ฉบับใหม่ ที่เรามองว่ามีเนื้อหาเป็นการขยายพระราชอำนาจ ซึ่งเอาจริงๆ วันนั้นเราไม่ได้คิดว่าเราปราศรัยแรงเลย จะมีอยู่ตอนหนึ่งที่เราโมโหแล้วก็ปราศรัยด่าตำรวจไปเพราะตอนนั้นมีเหตุการณ์ที่พี่ฝ่ายเราคนหนึ่งเข้าไปเผชิญหน้ากับผู้ชุมนุมเสื้อเหลือง เพราะก่อนหน้านั้นมีเหตุชุลมุนแล้วผู้ชุมนุมเสื้อเหลืองทำท่าจะทำร้ายเพื่อนเรา แต่ตำรวจดูนิ่งเฉยแล้วก็เหมือนจะปกป้องพวกเสื้อเหลืองมากกว่า เราเลยด่าตำรวจไปว่าจะทำดีเท่าไหร่ยศมึงก็ไม่สูงเท่าหมาหรอก”

“หลังม็อบหาดใหญ่พอเรากลับบ้านพ่อก็บ่นว่าเอาอีกแล้ว แต่ก็ยังไม่อะไร มาเป็นเรื่องตอนหมายมาที่บ้านนั่นแหละ”

“วันที่หมาย 112 มาบ้านเป็นวันเกิดน้องเราแล้วจากนั้นอีกสองวันจะเป็นวันเกิดเรา พูดได้ว่าไทม์มิ่งแย่มาก ตลกมาก พ่อเราเรียกเราไปคุยด้วยสีหน้าเคร่งเครียด บอกว่าโดน 112 นะ พ่อไปปรึกษาคนนั้นคนนี้ ปรึกษาทนาย แล้วก็มีคนบอกพ่อให้มาบอกเราทำนองว่าให้ยอมๆไป เราก็แบบกูไม่ผิด มาบอกให้ยอมได้ไง”

“ช่วงแรกๆที่โดนหมายความสัมพันธ์ในครอบครัวแย่มาก ทุกคนแพนิกกันหมด เราก็สัมผัสได้ถึงความเป็นห่วง กลัวว่าเราจะติดคุก แต่ขณะเดียวกันเราก็สัมผัสได้ถึงความขลาดกลัวของคนที่ถูกสอนให้อยู่กับระบบอย่าไปหือไปอือหรืออ้าปากพูดเวลามีเรื่องไม่ถูกต้อง การโดน 112 เป็นหมุดหมายที่ทำให้เราตัดสินใจได้เรื่องครอบครัว เราคิดว่าเราไม่สนใจเรื่องความอบอุ่นในครอบครัวอะไรแล้ว เรามีเพื่อน มีแฟนที่พร้อมจะประคับประคองจิตใจของเรา”

การเดินทางบทใหม่ในขบวน “ทะลุวัง”

เพจเฟซบุ๊ก “ทะลุวัง” เปิดขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2565 จากนั้นกลุ่มทะลุวังประกาศทำกิจกรรมในประเด็นที่สื่อสารตรงถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ เช่น การสำรวจความคิดเห็นว่า ขบวนเสด็จสร้างความเดือดร้อนหรือไม่ เห็นด้วยกับการที่รัฐบาลอนุญาตให้กษัตริย์ใช้อำนาจตามอัธยาศัยหรือไม่

เมนูซึ่งย้ายมาอยู่ที่กรุงเทพฯ เพื่อศึกษาต่อในปี 2565 เข้าร่วมกลุ่มทะลุวังด้วย

“เราเข้ามาอยู่กับกลุ่มทะลุวังในช่วงที่มีประเด็นปัญหาเกี่ยวกับการล่วงละเมิดทางเพศที่อดีตสมาชิกบางคนมีส่วนเกี่ยวข้องแล้วมีสมาชิกกลุ่มอีกส่วนหนึ่งมาขอคำปรึกษาจากเรา หลังจากอดีตสมาชิกคนที่ประเด็นออกจากกลุ่มไปเราเห็นว่ากลุ่มทะลุวังมีจุดยืนทั้งเรื่องความเท่าเทียมทางเพศและประเด็นการตีแผ่ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสถาบันฯไปในแนวทางเดียวกับเรา เราก็ตัดสินใจเข้าร่วม”

“หลังมาเข้าร่วมตัวเราเองเคยไปร่วมเดินทำโพลประมาณสองถึงสามครั้งแต่ส่วนใหญ่เราจะทำงานข้อมูลเป็นหลัก”

“ก่อนมาเข้าร่วมกับทะลุวังเราเองได้ประเมินความเสี่ยงไว้แล้วและทางทีมทะลุวังเองก็มีการประเมินความเสี่ยงในการเคลื่อนไหวแต่ละครั้งและเราก็เลือกทำเฉพาะสิ่งที่เราคิดว่าพอรับผลกระทบหรือความเสี่ยงได้”

เมนูให้สัมภาษณ์เรื่องการเข้าร่วมงานกับกลุ่มทะลุวังในวันที่ 21 เมษายน 2565 หนึ่งวันก่อนที่เธอและเพื่อนกลุ่มทะลุวังจะถูกเจ้าหน้าที่แสดงหมายจับและทำการจับกุมตัวระหว่างเดินทางไปต่างจังหวัดในวันที่ 22 เมษายน 2565

ราคาของความฝัน

แม้เมนูจะเคยถูกดำเนินคดีมาตรา 112 มาครั้งหนึ่งแล้วจากการขึ้นปราศรัยที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา แต่ครั้งนั้นเธอเพียงแต่ถูกออกหมายเรียก และเมื่อไปรายงานตัวตามนัดพนักงานสอบสวนก็ปล่อยตัวเธอโดยไม่มีการฝากขัง ต่อมาเมื่ออัยการมีความเห็นสั่งฟ้องคดีดังกล่าวในเดือนมีนาคม 2565 ศาลจังหวัดสงขลาก็อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวด้วยหลักประกัน 150,000 บาทโดยไม่กำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติม แต่ในครั้งนี้ตำรวจใช้วิธีออกหมายจับและทำการจับกุมเธอกับเพื่อนจากบนท้องถนน คล้ายเป็นการส่งสัญญาณว่า จากนี้ไปผลกระทบที่เกิดจากการเคลื่อนไหวของเธอจะทวีความรุนแรงขึ้น หนึ่งวันก่อนถูกจับกุม เมนูยอมรับว่าสิ่งที่เธอและเพื่อนร่วมคนอื่นกำลังสู้อยู่ดูจะต้องแลกมาด้วยราคาที่แพงแสนแพง แต่ถึงกระนั้นเธอก็คิดว่ามันคุ้มที่จะสู้

“หลังเราถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ครอบครัวเราโดยเฉพาะพ่อต้องเผชิญความกดดันที่หนักหน่วงขึ้น มีสันติบาลมาถามลักษณะกดดันว่า พ่อเราอยู่เบื้องหลังการเคลื่อนไหวของเราไหมและบอกให้มาปรามเรา นอกจากนั้นก็มีทหารมาบอกพ่อเราทำนองว่ากูจับตาดูลูกมึงอยู่ ถ้าลูกมึงพลาดเข้าคุกแน่ แต่ความสัมพันธ์ในครอบครัวสำหรับเรามันพังไปแล้ว การกดดันที่เกิดขึ้นยังไงก็ไม่กระทบกับเรา”

“เรายอมรับว่าสิ่งที่เราและอีกหลายๆ คนกำลังสู้มันมีราคาที่ต้องจ่ายสูง ซึ่งคงไม่แปลกเพราะเรากำลังสู้อยู่กับฝ่ายที่มีทั้งกองกำลัง เงิน และทรัพยากรอื่นๆ ประกอบกับสังคมไทยก็หล่อหลอมให้เรามีจิตสำนึกแบบไพร่ทาส และข้อเรียกร้องของเรามันก็เพดานสูงมาก การที่คนคนหนึ่งจะลุกขึ้นมาท้าทายอำนาจรัฐมันจึงมีราคาแพงและบางครั้งก็ยังถูกคนที่เราคิดว่าอยู่ฝ่ายเดียวกันโจมตี แต่เราก็ยังเชื่อว่าถ้าสุดท้ายมันเกิดความเปลี่ยนแปลงได้มันก็คุ้มที่จะจ่ายไปและถ้าถึงวันนั้นเราคงร้องไห้ด้วยความดีใจ”

“ถ้าย้อนกลับไปหาตัวเองในวันปราศรัยที่มช.ได้ เราคงบอกตัวเองในวันนั้นว่านั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีแล้ว แม้มันจะเป็นการเริ่มต้นที่เกิดจากอีโมชันและความเจ็บปวดจากระบบการศึกษา แต่มันก็เป็นเริ่มต้นจากความคิดที่บริสุทธิ์และความคิดบวก และความเชื่อว่าเราเปลี่ยนแปลงได้ พอเวลาผ่านไปอยู่ในสนามนานขึ้นเราได้เห็นปรากการณ์การอุ้มฆ่า การละเมิดสิทธิที่ร้ายแรง ความรู้สึกบริสุทธิ์ที่เราเคยเชื่อว่าทุกคนอยู่ร่วมกันได้มันก็ค่อยๆหายไป เราอยู่กับความระแวงว่าจะถูกกระทำด้วยความรุนแรงในวันใดวันหนึ่ง แต่ถึงกระนั้นเราก็ยังจะสู้ต่อและอยากบอกเมนูในวันนั้นว่า ทำได้ดีแล้ว ตัวเราในวันนั้นคือสิ่งที่หล่อหลอมให้เราเป็นเราในวันนี้”

“ถ้าถามว่าหากย้อนกลับไปเราเลือกไปอยู่ฝ่ายพยาบาลหรือฝ่ายอื่นแทนการขึ้นปราศรัยที่อ่างแก้วแล้วชะตาชีวิตเราจะแตกต่างไปจากวันนี้ไหม เราคิดว่าคงไม่ เพราะถ้าเราเลือกอย่างอื่น มันคงเป็นการเลือกที่ไม่ใช่ตัวเรา และตัวเราเองก็อยากจะจัดม็อบอยู่แล้ว แม้วันนั้นเราจะทำหน้าที่อื่นที่ไม่ใช่ปราศรัย แต่เราก็เชื่อว่าสุดท้ายเราก็คงต้องหาโอกาสปราศรัยอยู่ดี”

“สำหรับเรื่องอนาคตและความฝันของเรา ถึงเราจะเคลื่อนไหวทางการเมืองแต่เราก็ไม่ทิ้งความฝันของตัวเองโดยเฉพาะการเป็นนักพัฒนาเกม ตอนนี้เราเรียนด้านคอมพิวเตอร์และอีสปอร์ตที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง และเราเองก็หาโอกาลงแข่งเกมตามโอกาส ระหว่างทางเราก็พบว่านักพัฒนาเกมหลายคนก็มีจุดยืนทางการเมืองคล้ายๆกับเรา เพื่อนๆและอาจารย์สาขาเราหลายคนก็ให้กำลังใจถึงขั้นมีเพื่อนคนหนึ่งมาขอจับคู่ทำงานกับเราเพื่อช่วยเราทำงานให้เราได้มีโอกาสไปเคลื่อนไหวทางการเมือง ซึ่งเขาเห็นด้วยแต่ไม่สามารถทำได้ สิ่งที่ได้พบระหว่างทางเหล่านี้คือสิ่งที่ทำให้เราอบอุ่น ทำให้รู้สึกว่าอย่างน้อยก็มีคนเห็นคุณค่าในสิ่งที่เราทำ”