เปิดจักรวาลทะลุวังและผองเพื่อน

หากกล่าวถึงการเคลื่อนไหวเรื่องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ในเวลานี้ ทะลุวังและเครือข่ายที่แยกออกมาจากทะลุวังถือเป็นกลุ่มนักกิจกรรมที่กำลังมีบทบาทสำคัญ ในสถานการณ์ที่การชุมนุมไม่ได้อยู่ในช่วงขาขึ้นและไม่มีการชุมนุมบนท้องถนนขนาดใหญ่ การเคลื่อนไหวของกลุ่มทะลุวังคือเสียงสะท้อนว่าความต้องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ยังคงมีอยู่ ที่ผ่านมานักเคลื่อนไหวกลุ่มนี้มักจัดกิจกรรมขนาดเล็ก ใช้วิธีการทำโพลสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์โดยหยิบยกคำถามที่เคยอยู่บนโลกออนไลน์ เช่น คำถามเกี่ยวกับขบวนเสด็จ หรือคำถามเกี่ยวกับงบประมาณสถาบันฯ มาเป็นคำถามทำโพลในที่สาธารณะ นอกจากนั้นเวลาพระมหากษัตริย์มีกำหนดการเสด็จพระราชดำเนินไปประกอบพระราชพิธีต่างๆ นักกิจกรรมกลุ่มนี้ก็จะใช้วิธีประกาศว่าจะไปร่วมเฝ้ารับเสด็จฯด้วย

การเคลื่อนไหวของพวกเขาต้องแลกมาด้วยความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เริ่มจากความพยายามสกัดกั้นไม่ให้ทำกิจกรรม การดำเนินคดีในฐานความผิดเล็กๆน้อยๆ การแสดงตัวของเจ้าหน้าที่ให้เห็นว่า พวกเขาคือเป้าหมายที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด และเมื่อพวกเขาไม่หยุด ข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯก็ถูกหยิบมาใช้เพื่อหยุดการเคลื่อนไหวของนักกิจกรรมเหล่านั้น ทว่าเมื่อการตั้งข้อกล่าวหายังไม่สามารถหยุดการเคลื่อนไหวของพวกเขาได้ การยื่นคำร้องให้ศาลถอนประกันก็ได้กลายเป็นหมากตัวสุดท้ายที่เจ้าหน้าที่หยิบยกขึ้นมาใช้โดยหวังว่าการกระชากอิสรภาพของพวกเขาจะทำให้ทุกความเคลื่อนไหวหยุดลง

การก่อตัวของขบวน ‘ทะลุวัง’

ทะลุวังเริ่มต้นจากนักกิจกรรมสามคนได้แก่ ตะวัน-ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ ซึ่งในเวลานั้นเคลื่อนไหวกับกลุ่มทะลุฟ้า, ใบปอ-ณัฐนิช นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และสายน้ำ-นภสินธุ์ เยาวชนที่ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 จากการแต่งชุดครอปท็อปร่วมเดินแฟชันที่สีลม ร่วมกันยืนถือกระดาษทำโพลตั้งคำถามว่า เห็นด้วยหรือไม่กับการยกเลิกมาตรา 112 ที่หน้าทางเข้างานรำลึกวันที่ 5 ธันวาคม ที่ลานหน้าห้างสรรพสินค้าสยามพารากอนในปี 2564 ครั้งนั้นมีคนมาร่วมแสดงความคิดเห็นเป็นจำนวนไม่น้อยโดยผู้ร่วมแสดงความคิดเห็นส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการยกเลิกมาตรา 112 โดยพวกเขาให้เหตุผลที่เลือกทำกิจกรรมด้วยการทำโพลว่า การทำโพลเป็นกิจกรรมที่มีความรัดกุม ไม่ต้องพูดปราศรัยซึ่งเสี่ยงต่อการถูกดำเนินคดี

ต่อมาวันที่ 28 ธันวาคม 2564 พวกเขาไปรอรับเสด็จรัชกาลที่สิบที่วงเวียนใหญ่ โดยชูป้ายข้อความและตะโกนว่า ยกเลิก 112 จนเป็นเหตุให้ถูกเจ้าหน้าที่รวบตัวและได้รับบาดเจ็บฟกช้ำในวันนั้นตำรวจ สน.บุปผารามเปรียบเทียบปรับทั้งสามในความผิดฐานส่งเสียงอื้ออึงและไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงานคนละ 1,000 บาท

ในวันสิ้นปีนักกิจกรรมทั้งสามไปเคลื่อนไหวอีกครั้งที่ห้างไอคอนสยาม เรียกร้องให้ปล่อยตัวนักกิจกรรมที่ถูกคุมขังระหว่างการพิจารณาคดี กิจกรรมสามารถลุล่วงไปได้ด้วยดี การเคลื่อนไหวข้างต้นของนักกิจกรรมทั้งสามได้จุดประกายให้นักกิจกรรมกลุ่มอื่นๆนำทั้งการตั้งคำถามและรูปแบบกิจกรรมไปใช้เคลื่อนไหวต่อในพื้นที่ของตัวเอง

ในเวลาต่อมาคำถามที่ถูกตั้งในกิจกรรมทำโพลสำรวจความคิดเห็นในที่สาธารณะเริ่มแตกประเด็นออกไป วันที่ 14 มกราคม 2565 พิม-พิมชนก ใจหงษ์ ซึ่งขณะนั้นเคลื่อนไหวอยู่กับกลุ่มทะลุฟ้า พร้อมด้วยยศสุนทร จากกลุ่ม Artn’t ไปรณรงค์เรื่องการไม่เข้าร่วมพิธีรับพระราชทานปริญญาบัตร ที่บริเวณใกล้กับหอประชุมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อันเป็นที่ประทับของกรมสมเด็จพระเทพฯ จนถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัว พิมชนกถูกเปรียบเทียบปรับในข้อหาไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงานและส่งเสียงอื้ออึง ขณะที่ยศสุนทรถูกปรับในข้อหาไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงาน รวมเป็นเงิน 1,500 บาท ในวันเดียวกันตะวันและใบปอไปทำโพลที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิตโดยตั้งคำถามโพลว่า “คุณอยากรับปริญญากับราชวงศ์หรือไม่?”

สำหรับการรณรงค์ “ไม่เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร” เป็นการรณรงค์ที่นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกลุ่มหนึ่งเคยจุดประเด็นตั้งแต่ช่วงที่กลุ่มเยาวชนปลดแอกจัดชุมนุมใหญ่ในปี 2563 ก่อนที่ถูกนักกิจกรรมอีกกลุ่มหนึ่งหยิบยกมาจุดประเด็นในช่วงต้นปี 2565 จนเป็นเหตุให้ตำรวจต้องลงพื้นที่ไปติดตามความเคลื่อนไหวของนักกิจกรรมอย่างใกล้ชิดในช่วงที่มหาวิทยาลัยกำลังจะมีพิธีพระราชทานปริญญาบัตร เช่น ที่มหาวิทยาลัยบูรพาและสงขลานครินทร์

ในวันที่ 28 มกราคม 2565 เฟซบุ๊กเพจ “ทะลุวัง” ได้ถูกสร้างขึ้นโดยมีตะวัน, ใบปอและสายน้ำเป็นสมาชิกรุ่นก่อตั้ง โดยในขณะนั้น ตะวันยุติการเคลื่อนไหวกับกลุ่มทะลุฟ้ามาเป็นสมาชิกทะลุวังอย่างเต็มตัว

วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2565 พิมชนกโพสต์คลิปวิดีโอเหตุการณ์ตำรวจตบหน้ารุ่นน้องของเธอที่ต้องการผ่านพื้นที่ใกล้ขบวนเสด็จไปเข้าบ้าน เหตุการณ์นั้นทำให้กลุ่มทะลุวังประกาศทำกิจกรรมสำรวจความคิดเห็นครั้งใหม่ในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565 โดยตั้งคำถามว่า คุณคิดว่า “ขบวนเสด็จสร้างความเดือดร้อนหรือไม่?” มีตะวันและใบปอเป็นผู้เดินทำโพลที่สยามพารากอน เมื่อมีคนนำสติกเกอร์มาแปะบนแผ่นกระดาษขนาดใหญ่ที่ใช้สำรวจความคิดเห็นได้พอสมควรแล้วทั้งสองจึงเดินไปส่งโพลที่วังสระปทุม แต่ระหว่างที่เคลื่อนขบวนไปตำรวจได้ทำการสกัดกั้นและแย่งกระดาษโพลไป ในเวลาต่อมาพนักงานสอบสวนสน.ปทุมวันได้ออกหมายเรียกให้ใบปอ ตะวัน และบุคคลที่อยู่ร่วมในกิจกรรมรวมเก้าคนไปรายงานตัวรับทราบข้อกล่าวในโดยในหมายเรียกระบุข้อหาหนักสุดคือ ยุยงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 แต่เมื่อไปรายงานตัวมีการตั้งข้อกล่าวหาหนักคือหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ด้วย

แฟนพันธุ์แท้ขบวนเสด็จ

หลังการทำโพลเรื่องขบวนเสด็จ ทะลุวังมาถึงทางแยกจากกรณีที่มีข้อกล่าวหาความรุนแรงทางเพศ ตะวันและสายน้ำออกจากกลุ่มทะลุวัง และได้สุพิชฌาย์ ชัยลอม หรือเมนู ผู้ก่อตั้งกลุ่มนักเรียนล้านนาและเบญจมาภรณ์ นิวาส หรือพลอย อดีตนักกิจกรรมกลุ่มนักเรียนเลวเข้ามาเป็นสมาชิกใหม่ของกลุ่ม

กลุ่มทะลุวังยังคงเคลื่อนไหวด้วยการทำโพลแบบเดิมอย่างต่อเนื่อง โดยมีการตั้งคำถามใหม่มาทำการสำรวจความคิดเห็น เช่น คุณยินดียกบ้านของคุณให้ราชวงศ์หรือไม่, คุณต้องการจ่ายภาษีเลี้ยงราชวงศ์หรือไม่ และคุณเห็นด้วยหรือไม่ที่รัฐบาลอนุญาตให้กษัตริย์ใช้อำนาจตามอัธยาศัย

ขณะที่ตะวันผันตัวเป็นนักกิจกรรมอิสระ ในช่วงที่ออกจากกลุ่มทะลุวังใหม่ๆ ตะวันยังคงทำโพลโดยใช้วิธีผูกโบว์ ก่อนจะเปลี่ยนไปทำกิจกรรมรูปแบบอื่นคือ การรับเสด็จฯ ในวันที่ 5 มีนาคม 2565 ตะวันไปรอรับเสด็จที่ถนนราชดำเนินนอกและไลฟ์เฟซบุ๊กพร้อมตั้งคำถามระหว่างไลฟ์ทำนองว่า เหตุใดม็อบชาวนาที่มาปักหลักเรียกร้องประเด็นปัญหาของตัวเองกลับถูก “ขอ” ให้ออกจากพื้นที่ช่วงที่ขบวนเสด็จจะเคลื่อนผ่าน ระหว่างที่กำลังทำการไลฟ์ ตำรวจคุมตัวตะวันไปที่สโมสรตำรวจและตั้งข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 กับเธอ นอกจากนั้นระหว่างที่ตะวันถูกควบคุมตัวตำรวจจากสน.ปทุมวัน ก็มาแจ้งข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 กับตะวันเพิ่มอีกคดีหนึ่ง โดยเอาอ้างเหตุการทำกิจกรรมโพลสำรวจความคิดเห็นว่า ขบวนเสด็จสร้างความเดือดร้อนหรือไม่? เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565 ซึ่งเป็นการทำกิจกรรมช่วงที่ตะวันยังเป็นสมาชิกกลุ่มทะลุวัง

เมื่อได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวในวันที่ 7 มีนาคม 2565 ตะวันเริ่มทำกิจกรรมด้วยการไปรอรับเสด็จฯเป็นวิธีการหลัก โดยมีเพื่อนร่วมทางซึ่งบางส่วนเป็นเด็กและเยาวชนมาร่วมทำกิจกรรมด้วย พวกเขาเหล่านี้คือคนที่เคยออกมาร่วมชุมนุมตั้งแต่ปี 2563 พวกเขากลายเป็นแฟนพันธุ์แท้ขบวนเสด็จที่มักไปปรากฎตัวและแสดงตัวว่าต้องการเข้าร่วมรับเสด็จ เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงน่าจะมองการทำกิจกรรมด้วยการรับเสด็จว่าเป็นไปเพื่อก่อกวน แต่อีกมุมหนึ่งพวกเขาน่าจะมีเพียงเจตนาที่จะสื่อสารอย่างสันติ ภาพรวมของกิจกรรมรับเสด็จ นักกิจกรรมน่าจะไม่ได้ต้องการจำนวนคนที่มีส่วนร่วม บางครั้งพวกเขาอาจแจ้งสาธารณะล่วงหน้าว่าจะไปทำกิจกรรมแต่บางครั้งก็ไม่ได้มีการแจ้ง รูปแบบกิจกรรมก็มีทั้งการยืนเฉยๆ, การยืนชูป้ายข้อความไปจนถึงการตะโกนบอกข้อเรียกร้อง จากนั้นจึงโพสต์และไลฟ์เฟซบุ๊กถึงเนื้อหาหรือการคุกคามที่พวกเขาต้องเผชิญในแต่ละครั้งที่ทำกิจกรรม เช่น

วันที่ 30 มีนาคม 2565 พิงค์ เด็กอายุ 13 ปีไปรอรับเสด็จที่โรงพยาบาลศิริราชและถูกเจ้าหน้าที่ล้อมไว้ ไม่ให้เข้าถึงขบวนเสด็จ ตะวันก็เป็นอีกคนที่ติดตามไปดูการคุกคาม วันที่ 6 เมษายน 2565 เฟซบุ๊กเพจมังกรปฏิวัติ ซึ่งไม่ชัดเจนว่า เป็นเพจที่บุคคลหรือกลุ่มบุคคลใดเป็นผู้ดูแล โพสต์ภาพนัดหมายไปรับเสด็จที่พระบรมมหาราชวัง ตะวันไปปรากฎตัวตามวันและเวลานัดหมายแต่ไม่สามารถอยู่เข้าไปในพื้นที่เคลื่อนขบวนได้เนื่องจากเป็นบุคคลตามบัญชีเฝ้าระวัง ขณะที่พิงค์และเพื่อนก็ไปที่บริเวณใกล้กับถนนราชดำเนินเช่นกันแต่ถูกตำรวจพาตัวออกมาและพาไปส่งที่สามย่านมิตรทาวน์ ในวันเดียวกันตำรวจยังจับกุมแทนฤทัย เยาวชนอายุ 16 ปีกลุ่มเฟมินิสต์ปลดแอกอีกคนหนึ่งจากการมีป้ายทรงพระเจริญในกระเป๋า แต่ตำรวจปล่อยตัวโดยไม่ได้มีการแจ้งข้อกล่าวหา

วันที่ 15 เมษายน 2565 เฟซบุ๊กเพจมังกรปฏิวัติโพสต์นัดหมายไปรับเสด็จในเวลา 15.30 น. โดยในช่วงเช้าพิงค์ไปกินโจ๊กที่แมคโดนัลด์ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เธอย้ำเจตนาว่า มากินโจ๊กเท่านั้น แต่ตำรวจบอกว่า เธอมีประวัติก่อกวนและสั่งให้ขึ้นรถตู้ตำรวจออกจากพื้นที่ ขณะที่เจ้าหน้าที่จากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)ก็พูดคุยโน้มน้าวให้พิงค์ปฏิบัติตามตำรวจ ระหว่างการพูดคุยเจ้าหน้าที่ไม่สามารถแจ้งว่า การกระทำของพิงค์เป็นความผิดตามกฎหมายข้อใด แต่เธอก็ถูกพาตัวขึ้นรถตู้ของตำรวจไปในที่สุด

หลังพิงค์ถูกควบคุมตัวออกนอกพื้นที่ตะวันและพิมชนกไปติดตามตัวพิงค์ที่กระทรวงพม. แต่เมื่อถึงเวลานัดหมายทั้งสองและเพื่อนนักกิจกรรมก็เดินขบวนไปรับเสด็จตามที่นัดหมายไว้ แต่ไปไม่ถึงเนื่องจากตำรวจตั้งแถวปิดถนนหลานหลวงไม่ให้ขบวนผู้ชุมนุมเคลื่อนผ่านไปยังถนนราชดำเนินได้ วันดังกล่าวมีผู้ได้รับบาดเจ็บระหว่างการผลักดันด้วยโดยหนึ่งในนั้นระบุว่า ถูกตำรวจทำร้าย มีการพูดทำนองว่า มึงอยากรับเสด็จใช่ไหม และลากเขาไปกระทืบ

โซ่ แส้ กุญแจมือหวังปราบคนตั้งคำถาม

การเคลื่อนไหวของทะลุวังและนักกิจกรรมที่แตกออกมาจากทะลุวัง มีความเสี่ยงจากการคุกคามมากขึ้นเรื่อยๆ ใบปอ สมาชิกแรกเริ่มของทะลุวังเล่าว่า หลังการเคลื่อนไหวในวันที่ 5 ธันวาคม 2564 เธอเริ่มสังเกตเห็นเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบมาป้วนเปี้ยนที่คอนโดที่พักของเธอ ขณะที่ในเดือนมกราคม 2565 เริ่มมีเจ้าหน้าที่ขับรถติดตามตะวัน การคุกคามเป็นไปในลักษณะที่หากการชุมนุมหรือการแสดงออกไม่ได้เข้าใกล้พระมหากษัตริย์หรือพระบนมวงศานุวงศ์ในเชิงกายภาพนัก เช่น ขบวนเสด็จหรือที่ประทับ กิจกรรมมีแนวโน้มดำเนินต่อได้ เห็นได้จากกรณีการทำโพลของทะลุวังที่สามารถทำสำเร็จได้ทุกครั้ง  (อ่านรายละเอียดการปราบปรามการทำกิจกรรมของทะลุวังและผองเพื่อนด้านล่าง)

ในกรณีที่นักกิจกรรมเหล่านี้ปรากฏตัวใกล้กับขบวนเสด็จเจ้าหน้าที่ก็จะปรากฏตัวขึ้นทันที ราวกับว่า สะกดรอยตามพวกเขาตลอดหรืออาจด้วยพวกเขาเหล่านี้เป็นนักกิจกรรมเป้าหมายที่คุ้นหน้าคุ้นตากันดี จากนั้นการคุกคามหลากหลายรูปแบบก็จะตามมาเช่น การติดตามไปที่บ้านและการขับรถติดตาม รวมถึงการดำเนินคดีไล่ตั้งแต่โทษเบา เปรียบเทียบปรับไปหาหนักอย่างประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่มีโทษจำคุกตั้งแต่สามถึง 15 ปี

มีข้อสังเกตว่า เมื่อการคุกคามและการดำเนินคดีในข้อหาลหุโทษไม่สามารถหยุดการเคลื่อนไหวได้ รัฐก็เริ่มกล่าวหาในข้อหาความผิดที่หนักขึ้นเห็นได้จากกรณีของคดีส่งโพลขบวนเสด็จที่หน้าวังสระปทุมเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565 หลังเกิดเหตุวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2565 พล.ต.ต.จิรสันต์ แก้วแสงเอก รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาลกล่าวว่า มีการพิสูจน์ทราบผู้ที่อยู่ในกิจกรรมแล้วเก้าคนและจะดำเนินการแจ้งห้าข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญาคือ ยุยงปลุกปั่นตามมาตรา 116, ขัดคำสั่งเจ้าพนักงานมาตรา 368, ต่อสู้ขัดขวางตามมาตรา 138, ดูหมิ่นเจ้าพนักงานตามมาตรา 136 และส่งเสียงอื้ออึงตามมาตรา 370  ขณะที่ในเอกสารแนบท้ายในหมายเรียกรายงานตัวลงวันที่ 4 มีนาคม 2565 ระบุว่า มีการแจ้งความร้องทุกข์ในข้อหา “ร่วมกันกระทำการขัดคำสั่งของเจ้าพนักงาน ซึ่งสั่งการตามอำนาจที่มีกฎหมายให้ไว้ ไม่ปฏิบัติตามคำสั้งนั้นโดยไม่มีเหตุหรือข้อแก้ตัวอันสมควร และร่วมกันกระทำการขัดขวางเจ้าพนักงานหรือผู้ซึ่งต้องช่วยเจ้าพนักงานตามกฎหมายในการปฏิบัติตามหน้าที่โดยไม่มีเหตุอันควรฯ”

อย่างไรก็ตามในขั้นตอนการแจ้งข้อกล่าวหาตำรวจระบุว่า พฤติการณ์ของผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมดเข้าข่ายหมิ่นประมาทกษัตริย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, ยุยงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และร่วมกันฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคําสั่งเจ้าพนักงาน ซึ่งสั่งการตามอํานาจที่มีกฎหมายให้ไว้ ไม่ปฏิบัติตามคําสั่งนั้น โดยไม่มีเหตุหรือข้อแก้ตัว อันสมควรตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 368 ขณะที่ใบปอ, ฐากูรและบีมถูกแจ้งข้อหาต่างหาว่า ร่วมกันขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติตามหน้าที่โดยร่วมกระทําผิดความด้วยกันตั้งแต่สามคนขึ้นไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138  รวมเป็น 4 ข้อหา ส่วนบุ้ง-เนติพร ยังถูกแจ้งข้อหาดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทําการตามหน้าที่ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 136

นอกจากนี้เมื่อได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว นักกิจกรรมก็จะถูกตั้งเงื่อนไขตามสัญญาประกัน

คดีไลฟ์วิจารณ์ขบวนเสด็จของตะวัน ศาลอาญามีคำสั่งให้ปล่อยตัวชั่วคราวตะวันในคดีไลฟ์เฟซบุ๊กวิจารณ์ขบวนเสด็จของ สน.นางเลิ้ง โดยมีการวางหลักทรัพย์จำนวน 100,000 บาท ทั้งนี้ ศาลได้กำหนดเงื่อนไขในการปล่อยตัวว่า ห้ามทำในลักษณะเดียวกันอีก หรือร่วมกิจกรรมที่ก่อให้เกิดความวุ่นวาย และหรือทำการใดที่จะทำให้เสื่อมเสียต่อสถาบันกษัตริย์และให้ติดกำไลอิเล็กทรอนิกส์

คดีส่งโพลขบวนเสด็จที่หน้าวังสระปทุม ศาลอาญากรุงเทพใต้ มีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวตะวัน, ใบปอและบุ้ง จากทะลุวังโดยให้วางหลักทรัพย์จำนวน 200,000 บาท พร้อมกำหนดเงื่อนไขการประกันตัวคือ ห้ามทำกิจกรรมหรือการกระทำใดที่อาจเสื่อมเสียต่อสถาบันกษัตริย์, ห้ามโพสต์เชิญชวน ปลุกปั่น ยั่วยุ ชักจูงประชาชนให้เข้าร่วมชุมนุมในสื่อโซเชียลมีเดีย หรือร่วมชุมนุมที่อาจก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง, ห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร โดยไม่ได้รับอนุญาตจากศาล, ให้ติดอุปกรณ์กำไลอิเล็กทรอนิกส์

เห็นได้ว่าหนึ่งในเงื่อนไขที่ศาลวางให้แก่พวกเขาในฐานะผู้ต้องหาคดีมาตรา 112 คือห้ามกระทำการที่เสื่อมเสียต่อสถาบันกษัตริย์ ซึ่งกว้างขวางไปกว่าที่มาตรา 112 คุ้มครองไว้คือ กษัตริย์, ราชินี, รัชทายาทและผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ หลังได้รับการปล่อยตัว ตะวันและกลุ่มทะลุวังยังคงเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง เมื่อเงื่อนไขไม่สามารถหยุดการเคลื่อนไหวของนักกิจกรรมได้ ขั้นตอนต่อไปคือ การถอนการประกันตัว

18 มีนาคม 2565 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า ตำรวจยื่นคำร้องขอให้ศาลอาญามีคำสั่งถอนการประกันตัวตะวันในคดีมาตรา 112 จากการไลฟ์วิจารณ์ขบวนเสด็จ และขอให้ศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำสั่งถอนการประกันตัวใบปอและบุ้ง-เนติพร ในคดีมาตรา 112 จากการส่งโพลขบวนเสด็จที่หน้าวังสระปทุมซึ่งศาลอาญาไต่สวนและมีคำสั่งถอนประกันถอนประกันไปแล้วเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2565 โดยกรณีของตะวันมีข้อน่าสังเกตว่าตะวันถูกส่งตัวไปที่ทัณฑสถานหญิงกลางอย่างเร่งรีบตั้งแต่เวลาประมาณ 11.00 น. ซึ่งขณะนั้นตะวันยังมีสิทธิยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวฉบับใหม่ และราชทัณฑ์ก็มีรถที่จะนำผู้ต้องขังกลับเรือนจำในช่วงเย็นอยู่แล้ว แต่ตะวันถูกส่งตัวไปเรือนจำอย่างรวดเร็วก่อนที่ศาลจะมีคำสั่งยกคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวฉบับใหม่ของตะวันออกมาในช่วงเย็นโดยให้เหตุผลซึ่งสรุปได้ว่า ผู้ต้องหาเคยทำผิดสัญญาประกันจนถูกศาลเพิกถอนสัญญาประกัน จึงมีเหตุอันควรเชื่อว่าหากปล่อยตัวไปผู้ต้องหาจะไปก่อภยันตรายประการอื่น

ขณะที่ใบปอและบุ้งศาลอาญากรุงเทพใต้นัดไต่สวนเพิกถอนสัญญาประกันในวันที่ 27 เมษายน 2565 และจะมีคำสั่งในวันที่ 3 พฤษภาคม 2565

รวมการปราบปรามการทำกิจกรรมของทะลุวังและผองเพื่อน

การสกัดกั้นและการคุมตัวโดยไม่แจ้งข้อกล่าวหา

  • 8 กุมภาพันธ์ 2565 ตำรวจปิดกั้นพื้นที่บริเวณหน้าวังสระปทุม ไม่ให้กลุ่มทะลุวังเข้าไปส่งโพลเรื่อง คุณคิดว่า ขบวนเสด็จสร้างความเดือดร้อนหรือไม่
  • 18 มีนาคม 2565 Instagram @inwpinkzaa007 เล่าเหตุการณ์ของพิงค์ เด็กวัย 13 ปีและเพื่อนที่ไปรับเสด็จที่หน้าศาลฎีกา หลังการสแกนบัตรที่จุดคัดกรองมีตำรวจเดินเข้ามาหา ถ่ายรูปและเดินตาม ต่อมามีตำรวจนายหนึ่งมาเจรจา เธอเลยถามว่า เหตุใดเธอจึงเข้าร่วมไม่ได้ ตำรวจถามกลับว่า เธอเคยไปทำอะไรมาในม็อบและบอกให้ระวังตัวเอาไว้ เมื่อตัดสินใจนั่งรถออกมาก็มีตำรวจขับรถติดตามมาด้วย
  • 30 มีนาคม 2565 พิงค์ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจหญิงล้อมไม่ให้ไปรับเสด็จที่โรงพยาบาลศิริราช
  • 6 เมษายน 2565 เฟซบุ๊กเพจมังกรปฏิวัติประกาศไปรับเสด็จ พิงค์และเพื่อนถูกติดตามจากเจ้าหน้าที่ตำรวจหญิงบริเวณใกล้กับพื้นที่ที่ขบวนเสด็จจะเคลื่อนผ่าน ต่อมาตำรวจเจรจาพาเธอไปส่งที่สามย่านมิตรทาวน์ วันดังกล่าวตำรวจคุมตัวแทนฤทัย เยาวชนอายุ ปีไปทำประวัติที่สน.สำราญราษฎร์  ขณะที่ตะวันเป็นอีกคนที่มารอรับเสด็จถูกเจ้าหน้าที่ปฏิเสธไม่ให้เข้าพื้นที่ เนื่องจากเป็นบุคคลเฝ้าระวัง
  • 15 เมษายน 2565 เฟซบุ๊กเพจมังกรปฏิวัติประกาศไปรับเสด็จเวลา 15.30 น. แต่ช่วงสายก่อนเวลานัดหมายหลายชั่วโมง พิงค์และเพื่อนอีกสองคน ซึ่งเป็นเยาวชนอายุ 16 และ 17 ปีถูกคุมตัวไปจากร้านแมคโดนัลด์ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ตำรวจระบุว่า พิงค์มีประวัติและมีลักษณะของการก่อกวน ในการคุมตัวตำรวจไม่ได้แจ้งข้อกล่าวหาและระบุชัดเจนว่า การก่อกวนที่ว่า เป็นความผิดตามกฎหมายมาตราใด ท้ายสุดได้รับการปล่อยตัวโดยไม่แจ้งข้อกล่าวหา

การเยี่ยมบ้านและการติดตาม

  • 20 มกราคม 2565 เจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบขับรถติดตามตะวัน
  • 22 มกราคม 2565 สมาชิกทะลุวังถูกบุคคลคล้ายเจ้าหน้าที่นอกเครื่องติดตามตัวไปที่ที่พัก
  • 12 กุมภาพันธ์ 2565 ตำรวจนอกเครื่องแบบไปที่ห้องพักของบีม หนึ่งในผู้ต้องหาคดีมาตรา 112 จากการส่งโพลขบวนเสด็จที่หน้าวังสระปทุม
  • 14 กุมภาพันธ์ 2565 ตำรวจนอกเครื่องแบบไปที่บ้านตามที่อยู่ทะเบียนบ้านของใบปอและสอบถามกับครอบครัวว่า เป็นบ้านของใบปอใช่หรือไม่
  • 24 กุมภาพันธ์ 2565 ตำรวจนำหมายค้นเข้าค้นบ้านของสายน้ำ อดีตสมาชิกทะลุวัง
  • 15 มีนาคม 2565 ไอซ์ นักกิจกรรมอิสระอายุ 15 ปี ผู้ต้องหาคดีมาตรา 112 จากการส่งโพลขบวนเสด็จที่หน้าวังสระปทุมแจ้งว่า ตำรวจเข้าไปที่บ้านแนะนำตัวว่า เป็นผู้กำกับคนใหม่ ถ่ายรูปบ้านพักและพยายามขอเบอร์โทรศัพท์ผู้ปกครองของเขา วันเดียวกันบุ้ง-เนติพร สมาชิกทะลุวัง ผู้ต้องหาร่วมคดีกับไอซ์ถูกตำรวจเยี่ยมบ้านอ้างว่า จะส่งหมายเรียกในคดีส่งโพลขบวนเสด็จทั้งที่เธอไปรายงานตัวแล้ว
  • 18 มีนาคม 2565 ประชาไทรายงานว่า ตำรวจขับรถจักรยานยนต์ตามรถยนต์ของตะวันที่กำลังเดินทางไปทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ โดยมีการขับตามบนทางด่วนด้วย
  • 23 มีนาคม 2565 ตำรวจจากสน.ตลิ่งชันไปที่บ้านของพิงค์ เด็กวัย 13 ปี  อ้างว่า ต้องการคุยกับพิงค์
  • 15 เมษายน 2565 หลังกลุ่มมังกรปฏิวัติยุติกิจกรรมเดินขบวนไปรับเสด็จ มีชายรถยนต์ขับรถติดตามรถยนต์ของตะวัน มีการขับจี้และขับปาด ท้ายสุดคนขับรถของตะวันจึงจอดรถปิดทาง
  • 22 เมษายน 2565 เก็ท-โสภณ กลุ่มโมกหลวงริมน้ำ ซึ่งเคยเดินขบวนไปที่สะพานพุทธเพื่อติดตามตัวตะวันระหว่างมีการเสด็จพระราชดำเนินของรัชกาลที่สิบเมื่อวันที่ 6 เมษายน 2565 ถูกตำรวจติดตามตัว

การจับกุมและดำเนินคดี

  • 28 ธันวาคม 2564 ตะวัน, ใบปอและสายน้ำถูกจับกุมระหว่างการรับเสด็จที่วงเวียนใหญ่ โดยตำรวจเปรียบเทียบปรับในข้อหาส่งเสียงอื้ออึงและไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงานคนละ 1,000 บาท
  • 14 มกราคม 2565 พิมชนกและยศสุนทรถูกคุมตัวระหว่างทำกิจกรรมไม่รับปริญญาที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยตำรวจเปรียบเทียบปรับในข้อหาส่งเสียงอื้ออึงและไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงานรวม 1,500 บาท ต่อมาพิมชนกถูกกล่าวเพิ่มตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เพิ่มเติม
  • 26 กุมภาพันธ์ 2565 ตะวันถูกตำรวจจับกุมไปที่สน.สำราญราษฎร์ หลังพยายามนำโพลมาตรา 112 ไปส่งที่พระบรมมหาราชวัง โดยตำรวจเปรียบเทียบปรับในข้อหาไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงานเป็นเงิน 5,000 บาท 
  • 5 มีนาคม 2565 ตะวันถูกจับกุมระหว่างไลฟ์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวของเธอจากบริเวณถนนราชดำเนินนอก พื้นที่ที่จะมีขบวนเสด็จเคลื่อนผ่าน ระหว่างการไลฟ์มีการวิพากษ์วิจารณ์กรณีที่ม็อบชาวนา ซึ่งมาปักหลักอยู่ก่อนหน้าต้องย้ายออกไปเนื่องจากจะมีขบวนเสด็จ โดยตำรวจกล่าวหาว่า เนื้อหาการไลฟ์ของเธอด้อยค่ากษัตริย์และตั้งข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ
  • 7 มีนาคม 2565 ใบปอ พร้อมด้วยประชาชนและสื่ออิสระรวม 8 คน (ไม่นับตะวันที่ถูกแจ้งข้อหาระหว่างการคุมตัวในคดีไลฟ์วิจารณ์ขบวนเสด็จ) ที่อยู่ในกิจกรรมส่งโพลที่หน้าวังสระปทุมเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565 ได้รับหมายเรียกให้ไปรายงานตัวระบุข้อหาคือ  “ร่วมกันกระทำการขัดคำสั่งของเจ้าพนักงาน ซึ่งสั่งการตามอำนาจที่มีกฎหมายให้ไว้ ไม่ปฏิบัติตามคำสั้งนั้นโดยไม่มีเหตุหรือข้อแก้ตัวอันสมควร และร่วมกันกระทำการขัดขวางเจ้าพนักงานหรือผู้ซึ่งต้องช่วยเจ้าพนักงานตามกฎหมายในการปฏิบัติตามหน้าที่โดยไม่มีเหตุอันควรฯ” แต่เมื่อถึงวันรายงานตัวทั้งหมดถูกกล่าวหาหลักๆตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ 116
  • 19 มีนาคม 2565 เก็ท-โสภณ กลุ่มโมกหลวงริมน้ำถูกจับกุมระหว่างรถรับเสด็จที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยและถูกกล่าวหาว่า ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงาน
  • 22 เมษายน 2565 ที่อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ตำรวจทางหลวงล้อมรถยนต์ของกลุ่มทะลุวัง อ้างว่า ขอตรวจสอบบุคคลในรถยนต์ว่า ตรงกับหมายจับหรือไม่ จากนั้นแจ้งว่า สมาชิกทะลุวังสามคนได้แก่ ใบปอ, เมนูและพลอยถูกศาลอาญาออกหมายจับในคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยมีผู้ร้องเป็นตำรวจปอท. คดีนี้สืบเนื่องจากการที่ทั้งสามแชร์โพสต์เรื่องงบประมาณสนับสนุนสถาบันกษัตริย์ของเพจทะลุวัง

การถอนประกันตัว

  • 18 มีนาคม 2565 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า ตำรวจยื่นคำร้องขอให้ศาลอาญามีคำสั่งถอนการประกันตัวตะวันในคดีมาตรา 112 จากการไลฟ์วิจารณ์ขบวนเสด็จ และขอให้ศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำสั่งถอนการประกันตัวใบปอและบุ้ง-เนติพร ในคดีมาตรา 112 จากการส่งโพลขบวนเสด็จที่หน้าวังสระปทุม