RECAP: ไล่เรียงสถานการณ์ไต่สวนประกันคดีม.112 สะท้อนแนวโน้มส่งผู้ต้องหาเข้าเรือนจำระหว่างพิจารณาคดี

การยื่นเรื่องขอประกันตัวผู้ต้องหาในบางกรณีนอกจากจะต้องวางหลักทรัพย์เป็นจำนวนเงินแล้ว คำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวอาจพ่วงมาด้วย “เงื่อนไข” ภายใต้สัญญาประกัน เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ต้องหาหลบหนี เช่น เงื่อนไขห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร, ห้ามออกนอกเคหสถานภายในเวลาที่กำหนด, การติดอุปกรณ์อิเลกทรอนิกส์ (กำไล EM) หรือเงื่อนไขการมารายงานตัวต่อศาลเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง

ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนดไว้ หากผู้ที่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัวไม่ปฏิบัติตามก็อาจถูกเพิกถอนสัญญาประกันได้ โดยในทางปฏิบัติ ศาลมีอำนาจในการออกหมายเรียกให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยมาศาลเพื่อสั่งเพิกถอนการประกันตัวเองได้ หรือหากคู่กรณี หรือบุคคลอื่นทราบว่ามีการทำผิดเงื่อนไขการประกันตัวก็สามารถยื่นคำร้องขอให้ศาลไต่สวนได้เช่นกัน โดยในกรณีที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่เดินทางมาศาลตามหมายเรียกก็อาจส่งผลให้ถูกออกหมายจับได้

อ่าน “เงื่อนไขประกันตัว คืออะไร? มีเงื่อนไขแล้วยังไงต่อ?” 

อย่างไรก็ตามภายหลังการเพิ่มขึ้นของจำนวนคดีทางการเมืองในปี 2564 การกำหนดเงื่อนไขภายใต้สัญญาประกันได้กลายเป็นอีกมาตรการหนึ่งที่ถูกนำมาใช้มากขึ้นเพื่อมุ่งหวัง “จำกัดการทำกิจกรรมทางการเมือง” เฉพาะเรื่องเช่น เงื่อนไขห้ามโพสต์ข้อความปลุกปั่นในสื่อโซเชียลมีเดีย, ห้ามทำกิจกรรมในลักษณะเดียวกันกับที่ถูกกล่าวหา, ห้ามเข้าร่วมกิจกรรมที่ก่อให้เกิดความวุ่นวาย, ห้ามเข้าร่วมกิจกรรมที่มีลักษณะเป็นการกระทบกระเทือนต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นต้น 

เมื่อพิจารณาเงื่อนไขรูปแบบที่กล่าวมาข้างต้น จะพบว่า เงื่อนไขมีลักษณะของการเลือกใช้คำกว้างๆ ไม่เจาะจง ส่งผลให้การตีความว่าพฤติการณ์ใดเข้าข่ายการทำผิดเงื่อนไขนั้นคลุมเครือและไม่ชัดเจน นอกจากนี้ในคดีการชุมนุมทางการเมืองที่นักกิจกรรมถูกกล่าวหาตามมาตรา 112 เช่น คดีการชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร ปรากฏการวางเงื่อนไขที่กว้างขวางกว่าที่กฎหมายบัญญัติคุ้มครองไว้ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ให้การคุ้มครองบุคคลคือ พระมหากษัตริย์ พระราชนี, รัชทายาทและผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ขณะที่หนึ่งในเงื่อนไขการประกันตัวคือ ห้ามเข้าร่วมกิจกรรมที่อาจทำให้เสื่อมเสียแก่สถาบันพระมหากษัตริย์  ใช้คำว่า สถาบันพระมหากษัตริย์ซึ่งกว้างไปกว่าบุคคลที่กฎหมายคุ้มครองเอาไว้

ไอลอว์ชวนอ่านสรุปสถานการณ์ “ไต่สวนเพิกถอนสัญญาประกันของผู้ต้องหามาตรา 112” จำนวน 5 กรณีที่เกิดขึ้นไล่เรียงกันตลอดเดือนเมษายน 2565 โดยที่ 3 ใน 5 กรณีศาลมีคำสั่งให้ “เพิกถอนประกัน” มีรายละเอียดดังต่อไปนี้

1) ไบรท์ – ชินวัตร จันทร์กระจ่าง

วันที่ยื่นคำร้อง : 21 มีนาคม 2565 โดยพนักงานสอบสวน สภ.นนทบุรี

นัดไต่สวน : 4 เมษายน 2565

ข้อมูลเบื้องต้นของคดีมาตรา 112

วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2565 ตำรวจสภ.รัตนาธิเบศร์นำหมายจับคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เข้าจับกุมชินวัตรที่บ้านพัก เหตุในคดีนี้สืบเนื่องจากการปราศรัยถึงปัญหาการโอนทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ในกิจกรรมยืนหยุดขัง บริเวณหอนาฬิกา ท่าน้ำนนทบุรี เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2565 ภายหลังศาลจังหวัดนนทบุรีมีคำสั่งให้ประกันตัวพร้อมวางหลักทรัพย์จำนวน 200,000 บาท ศาลกำหนดเงื่อนไขประกันตัวจำนวน 3 ข้อ ได้แก่ 1) ห้ามกระทำการอันใดเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์และศาล 2) ห้ามขัดขวางกระบวนการพิจารณาคดีของศาล และ 3) ห้ามเข้าร่วมการชุมนุมที่อาจก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง

นอกเหนือจากคดีดังกล่าว ชินวัตรยังมีคดีมาตรา 112 อีกจำนวน 4 คดี และมีที่มาจากการปราศรัยทั้งหมด ประกอบไปด้วย ปราศรัยในการชุมนุม #ม็อบ29พฤศจิกา หน้ากรมทหารราบที่ 11 , #ม็อบ25พฤศจิกาไปscb , #2ธันวาไปห้าแยกลาดพร้าว และปราศรัยหน้า สน.บางเขน ระหว่างการเข้ารับทราบข้อหาคดี 112 ของทราย เจริญปุระ 

เหตุสืบเนื่องของการไต่สวนถอนประกัน

วันที่ 19 มีนาคม 2564 ชินวัตรถูกกล่าวหาว่าทำผิดเงื่อนไขตามสัญญาประกันตัวของศาล ซึ่งห้ามผู้ต้องหาทำกิจกรรมหรือกระทำการใดๆ ที่ทำให้เกิดความเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ด้วยการโพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ข้อความโดยสรุปว่า “ต้องการเข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภาฯ และอยากให้ทรงแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับมาตรา 112 ว่าการมีหรือไม่มีกฎหมายนี้จะส่งผลดีหรือผลเสียต่อสถาบันฯ อย่างไร” ในระหว่างการไต่สวน พนักงานสอบสวนผู้ยื่นคำร้องแถลงว่า ข้อความข้างต้นเป็นการกล่าวถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ในทำนองสองแง่สองง่าม ซึ่งอาจทำให้ประชาชนรู้สึกไม่ดีเมื่อได้พบเห็น และเชื่อว่าหากปล่อยให้ชินวัตรกล่าวคำพูดต่อจากข้อความข้างต้น ย่อมต้องเป็นข้อความที่เป็นไปในทางเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์

สรุปคำสั่งศาล

วันที่ 4 เมษายน 2565 ภายหลังการไต่สวน ศาลมีคำสั่งไม่เพิกถอนประกันในวันเดียวกัน โดยให้เหตุผลว่า “แม้ข้อความข้างต้นจะเป็นสิ่งที่ไม่ควรกระทำ แต่ข้อความนั้นมิได้เป็นไปในทางเสื่อมเสียแก่สถาบันฯ ยังไปไม่ถึงสิ่งที่ต้องห้ามให้กระทำ ทั้งสิ่งที่พนักงานสอบสวนตีความก็เป็นเพียงความคิดเห็นส่วนบุคคล บุคคลอื่นอาจมีความเห็นแตกต่างไปจากพนักงานสอบสวนก็ได้” ก่อนจะให้ตำรวจและผู้ต้องหาตกลงเงื่อนไขการประกันตัวใหม่

โดยชินวัตรขอให้เจ้าพนักงานตำรวจงดการไปติดตามคุกคามที่บ้าน แลกกับการที่ตนเองจะไม่โพสต์ข้อความหรือยกป้ายข้อความเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ตั้งแต่วันที่ 4 เมษายน 2565 เป็นต้นไป ในด้านของพนักงานสอบสวนสภ.นนทบุรียอมรับเงื่อนไข พร้อมเสนอเงื่อนไขเพิ่มเติมคือ 1) ห้ามชูป้ายเกี่ยวกับสถาบันฯ หรือข้อความที่สื่อถึงสถาบันฯ ระหว่างเส้นทางเสด็จของพระมหากษัตริย์หรือพระบรมวงศานุวงศ์ และ 2) ห้ามปราศรัยพาดพิงพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ที่บริเวณหอนาฬิกาท่าน้ำนนท์ 

2) ลูกเกด – ชลธิชา แจ้งเร็ว

วันที่ยื่นคำร้อง : 22 มีนาคม 2565 โดย ศาลอาญา รัชดาฯ

นัดไต่สวน : 23 เมษายน 2565

ฟังคำสั่ง : 19 เมษายน 2565

ข้อมูลเบื้องต้นของคดีมาตรา 112

ชลธิชาถูกตั้งข้อหามาตรา 112 จากการโพสต์ “ราษฎรสาส์น” ลงในเฟซบุ๊กเพื่อเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2563 ภายหลังการสั่งฟ้องเมื่อ 15 มีนาคม 2565 ศาลมีคำสั่งให้ประกันตัวพร้อมวางหลักทรัพย์ 90,000 บาทและให้ติดกำไล EM พร้อมกำหนดเงื่อนไขประกันตัวจำนวน 4 ข้อ ได้แก่ 1) ห้ามกระทำกิจกรรมที่มีลักษณะเช่นเดียวกับที่ถูกกล่าวหา 2) ห้ามเข้าร่วมกิจกรรมที่มีลักษณะเป็นการกระทบกระเทือนต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ 3) ห้ามออกนอกเคหะสถานเวลา 20.00-05.00 น. และ 4) ให้มารายงานตัวต่อศาลทุก 15 วัน เป็นเวลาสามเดือน

เหตุสืบเนื่องของการไต่สวนถอนประกัน

วันที่ 18 มีนาคม 2565 ชลธิชาได้โพสต์ข้อความเล่าถึงเข้าพบรองผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกาเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2565 เพื่อพูดคุยถึงแนวโน้มการใช้กระบวนการทางกฎหมายเพื่อคุกคามสิทธิและเสรีภาพของประชาชน เช่น การกำหนดเงื่อนไขประกันตัวชั่วคราวของผู้ต้องหาทางการเมืองของศาล รวมทั้งมีการโชว์กำไล EM ให้เจ้าหน้าที่สถานทูตสหรัฐฯ ดูในที่ประชุม ส่งผลให้ภายใน 24 ชั่วโมงหลังการโพสต์ข้อความมีเจ้าหน้าที่ศาลโทรโทรศัพท์มายังนายประกันของชลธิชาเพื่อขอนัดไต่สวนเพิกถอนสัญญาประกันตัวเป็นกรณีเร่งด่วน

ในนัดไต่สวนเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2565 ศาลกล่าวว่า ชลธิชาเผยแพร่ข้อมูลคลาดเคลื่อนไปจากข้อเท็จจริงใน 2 เหตุการณ์ ได้แก่ 1) การพูดคุยกับเมลิสซา เอ. บราวน์ ที่สถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยเมื่อ 17 มีนาคม 2565 ชลธิชาได้มีการพูดถึงคำสั่งให้ติดกำไล EM ของศาล ซึ่งอยู่ในเงื่อนไขประกันตัวชั่วคราวของผู้ต้องหาทางการเมือง โดยศาลเห็นว่านายประกันของจำเลยเป็นฝ่ายยื่นคำร้องให้ติดกำไล EM เอง ไม่ใช่คำสั่งที่มาจากศาล และ 2) ในงานแถลงข่าวเรื่องการไต่สวนประกัน ณ ที่ทำการพรรคก้าวไกล เมื่อ 22 มีนาคม 2565 ชลธิชาได้กล่าวถึงเงื่อนไขห้ามออกนอกเคหสถานผิดจาก 20.00 – 05.00 น. เป็น 05.00 – 20.00 น. รวมทั้งยังมีการกล่าวถึงเงื่อนไขว่า “ห้ามกระทำผิดซ้ำ” ซึ่งศาลชี้แจงว่า เงื่อนไขที่ถูกต้องคือ “ห้ามกระทำกิจกรรมที่มีลักษณะเช่นเดียวกับที่ถูกกล่าวหา”

สรุปคำสั่งศาล

ศาลเสนอทางเลือกให้ชลธิชาแถลงต่อสาธารณะเพื่อแก้ไขข้อมูลที่คลาดเคลื่อน โดยชลธิชาแจ้งต่อศาลว่าจะดำเนินการชี้แจ้งข้อผิดพลาดดังกล่าวภายใน 3 วัน และให้ทนายความทำคำแถลงมายื่นต่อศาลภายใน 15 วัน ต่อมา ในนัดฟังคำสั่งเมื่อ 19 เมษายน 2565 ศาลเห็นว่าชลธิชาได้ชี้แจงแก้ไขตามคำทักท้วงแล้ว จึงให้งดการไต่สวน พร้อมทั้งมีคำสั่งยกเลิกเงื่อนไขห้ามออกนอกเคหะสถานและการมารายงานตัวทุก 15 วัน

ทั้งนี้ ในวันดังกล่าว ชลธิชาเอ่ยว่าเธอยังไม่เข้าใจคำจำกัดความของคำว่า “กิจกรรมที่มีลักษณะเช่นเดียวกับที่ถูกกล่าวหา” และถามศาลว่า ยังสามารถโพสต์เฟซบุ๊กเกี่ยวกับประเด็นทางการเมืองได้อยู่หรือไม่ ศาลตอบว่า “ไม่ขอให้ความเห็น แต่ศาลจะไม่มีเพิกถอนประกันในทันทีและจะมีการไต่สวนความผิดก่อนทุกครั้ง” พร้อมอธิบายซ้ำว่าหากไม่เห็นด้วยกับเงื่อนไขก็สามารถยื่นอุทธรณ์ได้

3) ตะวัน-ทานตะวัน ตัวตุลานนท์

วันที่ยื่นคำร้อง : 5 มีนาคม 2565 โดย พ.ต.ท.สำเนียง โสธร สารวัตสอบสวน สน.นางเลิ้ง

นัดไต่สวน : 5 เมษายน 2565

ฟังคำสั่ง : 20 เมษายน 2565

ข้อมูลเบื้องต้นของคดี

ตะวันถูกตั้งข้อหามาตรา 112 จากกรณีการยืนไลฟ์เฝ้ารับเสด็จในพื้นที่การชุมนุมของ #ม็อบชาวนา เมื่อ 5 มีนาคม 2565 โดยเจ้าหน้าที่เห็นว่าคำบรรยายระหว่างการไลฟ์เข้าข่ายเป็นการด้อยค่าพระมหากษัตริย์ ภายหลังถูกควบคุมตัวไปที่อาคาร บช.ปส. (สโมสรตำรวจ) ในวันที่ 6 มีนาคม 2565 เจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.นางเลิ้งได้เข้ามาแจ้งว่าตะวันมีความผิดในมาตรา 112 ก่อนศาลจะมีคำสั่งให้ประกันตัวในวันที่ 7 มีนาคม 2565 ด้วยหลักทรัพย์จำนวน 100,000 บาท พร้อมกำหนดเงื่อนไขให้ติดกำไล EM, ห้ามทำกิจกรรมในลักษณะเดียวกัน หรือร่วมกิจกรรมที่ก่อให้เกิดความวุ่นวาย และหรือทำการใดที่จะทำให้เสื่อมเสียต่อสถาบันกษัตริย์

นอกจากคดีดังกล่าว ในวันที่ 7 มีนาคม 2565 ตำรวจจากสถานีตำรวจนครบาลปทุมวันยังได้เข้ามาแจ้งข้อกล่าวหาม.112 กับตะวันเพิ่ม จากการทำกิจกรรมของ “โพลขบวนเสด็จ” ที่ห้างสยามพารากอน เมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2565

เหตุสืบเนื่องของการไต่สวนถอนประกัน

ในระหว่างการไต่สวนเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2565 ผู้ร้องเบิกความต่อศาลโดยสรุปว่า เมื่อ 17 มีนาคม 2565 ตะวันแชร์ภาพกำหนดการเสด็จพระราชดำเนินบนเฟซบุ๊กส่วนตัว และได้ขับรถผ่านไปยังบริเวณใกล้เคียงกับพื้นที่ซึ่งมีขบวนเสด็จ รวมทั้งมีการแชร์ซ้ำภาพกิจกรรมโพลขบวนเสด็จที่สยามพารากอน

ต่อมาในนัดที่สองเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2565 ศาลได้ใช้อำนาจแสวงหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติมจากโซเชียลมีเดียเพื่อนำมาประกอบการพิจารณาคำร้อง ได้แก่ เหตุการณ์เมื่อวันที่ 6 เมษายนและ 15 เมษายน 2565 ซึ่งตะวันได้ปรากฏตัวอยู่ในบริเวณที่จะมีการเสด็จพระราชดำเนินผ่านทั้งสองวัน

สรุปคำสั่งศาล

เมื่อประกอบกับข้อมูลประกอบการพิจารณาคำร้อง ศาลจึงวินิจฉัยว่า ในวันที่ 17 มีนาคม 2565 ผู้ต้องหาทราบถึงกำหนดเสด็จพระราชดำเนิน แต่ยังคงเดินทางไปในบริเวณดังกล่าว และได้โพสต์ข้อความบรรยายถึงพื้นที่โดยรอบ รวมทั้งมีการแชร์รูปภาพกิจกรรมโพลขบวนเสด็จพร้อมบรรยายข้อความว่า “ขบวนเสด็จเดือดร้อน” ซ้ำอีกครั้ง ซึ่งการกระทำข้างต้นถือว่าเป็นการผิดเงื่อนไข “ห้ามกระทำการในลักษณะเดียวกันกับที่เคยถูกกล่าวหา” อีกทั้งเมื่อผู้ต้องหารับข้อเท็จจริงว่าเมื่อ 6 เมษายน และ 15 เมษายน 2565 ได้เข้าร่วมกิจกรรมตามเอกสารที่ศาลให้ตรวจดูนั้น ถือว่าผิดเงื่อนไข “ห้ามร่วมกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง” จึงมีคำสั่งให้เพิกถอนประกัน

ทั้งนี้ ทนายความชี้แจงว่าเมื่อ 6 เมษายน 2565 ตะวันปรากฏตัวในพื้นที่จริง แต่ไม่ได้เข้าร่วมกิจกรรมรับเสด็จ เนื่องจากถูกกักตัวอยู่ที่บริเวณจุดคัดกรอง ส่วนกรณีเมื่อ 15 เมษายน 2565 ตะวันเพียงเดินทางไปหาเยาวชนสามคนที่ถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวไปที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) อย่างไรก็ตาม ศาลอธิบายว่ากิจกรรมที่เยาวชนทั้งสามคนเข้าร่วม เป็นกิจกรรมที่ก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ดังนั้น การที่ผู้ต้องหาเดินทางไปในพื้นที่ ก็สามารถตีความได้ว่าเป็นการมุ่งที่จะเข้าร่วมกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดความวุ่นวายได้เช่นเดียวกัน โดยภายหลังอ่านคำสั่ง ได้มีเจ้าหน้าที่ของทางราชทัณฑ์นำตัวตะวันไปที่ทัณฑสถานหญิงในทันที 

4) เวหา แสนชนะศึก

วันที่ยื่นคำร้อง : 4 มีนาคม 2565 โดยพนักงานอัยการ

นัดไต่สวน : 21 มีนาคม 2565

ข้อมูลเบื้องต้นของคดี 112

ที่มาของคดีม.112 ของเวหา สืบเนื่องจากถูกกล่าวหาว่าเป็นเจ้าของบัญชีทวิตเตอร์ “ฟ้าฝน ver. เกรี้ยวกราด” ซึ่งเผยแพร่เรื่องราวการถูกคุมขังในคุกเรือนจำชั่วคราวพุทธมณฑล เขตทวีวัฒนา จนเกิดเป็นกระแสแฮชแท็ก #แอร์ไม่เย็น ในทวิตเตอร์เมื่อช่วงเดือนสิงหาคม 2564 เวหาได้รับการประกันตัวเมื่อ 2 ตุลาคม 2564 ด้วยหลักทรัพย์ 90,000 บาท โดยศาลมีคำสั่งให้ตั้งผู้กำกับดูแลจำเลยในระหว่างปล่อยตัวชั่วคราว และกำหนดเงื่อนไขว่า “ห้ามจำเลยกระทำการในลักษณะเดียวกับที่ถูกกล่าวหาอีก”

อย่างไรก็ตาม นอกจากคดีฟ้าฝน ver.เกรี้ยวกราด เวหายังถูกตั้งข้อหามาตรา 112 อีกจำนวน 1 คดี จากการแชร์โพสต์ของเพจเยาวชนปลดแอก เมื่อ 1 สิงหาคม 2564 และโพสต์ข้อความในวันขึ้นปีใหม่ เมื่อ 1 มกราคม 2565 โดยปัจจุบันเขาถูกคุมขังที่เรือนจำในคดีนี้มาตั้งแต่ 11 มีนาคม 2565

เหตุสืบเนื่องของการไต่สวนถอนประกัน

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานการไต่สวนเมื่อ 21 เมษายน 2565 ว่า สืบเนื่องจากเวหาโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กเกี่ยวกับคำพิพากษาสั่งจำคุกของนรินทร์ (ผู้ถูกกล่าวหาว่าเป็นติดสติกเกอร์ กูkult ลงบนพระบรมฉายาลักษณ์ของในหลวงรัชกาลที่ 10) โดยมีใจความว่า “ตนและเพื่อนร่วมอุดมการณ์น้อมรับคำพิพากษาของศาล และจะปกป้องไม่ให้ใครผู้ใดมากระทำการอันมิบังควรต่อพระบรมฉายาลักษณ์ของในหลวงรัชกาลที่ 10 ด้วยการทำให้รูปที่อยู่ตามสถานที่สาธารณะมิให้ปรากฏอีกต่อไป ไม่ว่าจะที่ใดในประเทศนี้ เพื่อจะได้ไม่มีใครสามารถเอาสติกเกอร์ไปแปะให้ต้องเสื่อมพระเกียรติยศอีก” พร้อมลงภาพประกอบข้อความซึ่งเป็นภาพตนเองขณะยืนอยู่บนแท่นที่มีข้อความว่า “ทรงพระเจริญ” โดยเป็นกรอบรูปเปล่าที่ไม่มีพระบรมมาฉายาลักษณ์ติดอยู่ จึงเป็นเหตุให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องขอไต่สวนการเพิกถอนสัญญาประกัน

สรุปคำสั่งศาล

ศาลมีคำวินิจฉัยในวันเดียวกันว่า ข้อความดังกล่าวเกี่ยวกับคำตัดสินของคดีนรินทร์มีลักษณะเป็นการประชดประชัน รวมทั้งในโพสต์ที่มีข้อความระบุต่อว่า #ภาคีสหายพร้อม!!! นั้น มีเหตุอันควรให้เชื่อว่า เป็นการส่งสัญญาณให้สหายหรือเพื่อนร่วมอุดมการณ์ออกมาร่วมด้วยช่วยกัน ในทำนองให้จัดการกับพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 ที่ติดอยู่ตามสถานที่สาธารณะต่างๆ ออกไปจากประเทศไทยให้หมด

ในส่วนถ้อยคำที่จำเลยกล่าวถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 จำเลยใช้คำว่า ”วชิราลงกรณ์” ซึ่งเป็นถ้อยคำที่ปวงชนชาวไทยที่มีความจงรักภักดีจะไม่ใช้เรียกพระนามของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 และการที่จำเลยยืนอยู่บนแท่นกรอบรูปเปล่า โดยที่แท่นมีข้อความ “ทรงพระเจริญ” ปรากฏอยู่ชัดเจน ถือว่าการกระทำดังกล่าวมีลักษณะไม่เหมาะสมในบริบทของสังคมไทย ทั้งอาจสื่อไปในลักษณะอาจดูหมิ่นพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 ซึ่งเป็นองค์พระมหากษัตริย์ที่เป็นพระมหากษัตริย์ที่ดำรงอยู่ในฐานะเป็นที่สักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 6 การกระทำดังกล่าวของจำเลยจึงเข่าข่ายทำผิดเงื่อนไข “ห้ามกระทำในลักษณะเดียวกันกับความผิดที่ถูกกล่าวหา” ส่งผลให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนสัญญาประกัน

5) ใบปอ และเนติพร จากกลุ่มทะลุวัง

วันที่ยื่นคำร้อง : 18 มีนาคม 2565 โดยร.ต.ท.ปาณัสม์ กลิ่นขจร พนักงานสอบสวน สน.ปทุมวัน

นัดไต่สวน : 27 เมษายน 2565

นัดฟังคำสั่ง : 3 พฤษภาคม 2565

ข้อมูลเบื้องต้นของคดี 112

ใบปอและเนติพร ถูกตั้งข้อหาจากการส่งโพลขบวนเสด็จที่วังสระปทุมเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565 และได้รับการประกันตัวหลังเข้ารายงานตัวที่ สน.ปทุมวันเมื่อ 10 มีนาคม 2565 ด้วยหลักทรัพย์รายละ 200,000 บาท พร้อมคำสั่งติดกำไล EM รวมทั้งศาลยังกำหนดเงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราวคือ 1) ห้ามทำกิจกรรมหรือการกระทำใดที่อาจเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ 2) ห้ามโพสต์เชิญชวน ปลุกปั่น ยั่วยุ ชักจูงประชาชนให้เข้าร่วมชุมนุมในสื่อโซเชียลมีเดีย หรือร่วมชุมนุมที่อาจก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง และ 3) ห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร โดยไม่ได้รับอนุญาตจากศาล

นอกจากคดีดังกล่าว ใบปอและเนติพรยังถูกข้อหามาตรา 112 อีกหนึ่งคดีจากทำโพลสำรวจ “เห็นด้วยหรือไม่ที่รัฐบาลอนุญาตให้กษัตริย์ใช้อำนาจตามอัธยาศัย” เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2565 ที่จตุจักรและเซนทรัล ลาดพร้าว ก่อนจะถูกควบคุมตัวตามหมายจับเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2565 ไปที่ สน.บางซื่อ และได้รับการประกันตัวในวันถัดมา

เหตุสืบเนื่องของการไต่สวนถอนประกัน

ในการไต่สวนเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2565 ผู้ยื่นคำร้องเบิกความต่อศาลว่า วันที่ 13 มีนาคม 2565 ทั้งใบปอและเนติพร ในนามกลุ่มทะลุวังได้ทำกิจกรรมโพลสอบถามความเห็น “คุณยินดียกบ้านให้กับราชวงศ์หรือไม่” ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และต่อมาในวันที่ 31 มีนาคม 2565 ได้ร่วมกันทำโพล “ต้องการจ่ายภาษีเลี้ยงราชวงศ์หรือไม่” บริเวณสกายวอล์คหน้าบิ๊กซีราชดำริและแยกราชประสงค์ นอกจากนี้ ในรายงานการสืบสวนของผู้ร้องยังระบุอีกว่า เมื่อ 21 มีนาคม 2565 ใบปอได้ถ่ายรูปคู่กับพระบรมฉายาลักษณ์ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ในลักษณะท่าทางที่ไม่เหมาะสม จึงเป็นเหตุให้ยื่นคำร้องให้เพิกถอนสัญญาประกัน

สรุปคำสั่งศาล

วันที่ 3 พฤษภาคม 2565 ศาลมีคำสั่งว่าการจัดกิจกรรมโพลทั้งสองวันดังกล่าว เข้าข่ายเป็นการกระทำเดียวกันที่เป็นเหตุให้ผู้ต้องหาถูกดำเนินคดีและมีการเชิญชวนให้ประชาชนเข้าร่วม ซึ่งอาจก่อให้เกิดความวุ่นวายและความไม่สงบเรียบร้อยในสังคมได้ ประกอบกับมีข้อเท็จจริงว่าเมื่อขณะเวลาที่ผู้ต้องหาจัดกิจกรรม ได้มีการชุมนุมของกลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) ในบริเวณใกล้เคียง และได้มีผู้ชุมนุมจากการชุมนุมของผู้ต้องหาเดินเข้าไปยังพื้นที่ชุมนุมของกลุ่ม ศปปส. เป็นเหตุให้เกิดความชุลมุนวุ่นวาย  

อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ “การถอนประกัน”

o ถอนประกันคดีการเมือง: เสรีภาพภายใต้การควบคุมของศาล

o “ถอนประกัน-ไม่ให้ประกัน” การใช้กระบวนการยุติธรรมสกัดการชุมนุม