‘ยก 2 ลง 2’ เปิดคำพิพากษาคดี 112 นับถึงพฤษภาคม 2565

ความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นกฎหมายที่ถูกนำมาใช้ดำเนินคดีผู้ที่แสดงออกทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง คดีของอำพลหรือ ‘อากง SMS’ ดารณีหรือ ‘ดา ตอร์ปิโด’ และสมยศ พฤกษาเกษมสุข คือตัวอย่างของคดีมาตรา 112 ที่เกิดขึ้นเป็นคดีแรกๆในช่วงปี 2551-2554

หลังการรัฐประหารในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ถูกคณะรักษาความสงบแห่งชาตินำมาใช้อย่างเข้มข้นและเป็นระบบกับผู้ที่แสดงออกทางการเมืองจนทำให้ตลอดระยะเวลากว่า 5 ปี ที่คสช.อยู่ในอำนาจ มีคนถูกตั้งข้อกล่าวหาด้วยมาตรา 112 อย่างน้อย 98 คน สถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้คสช.ถูกวิพากษ์วิจารณ์ทั้งโดยผู้ที่ไม่เห็นด้วยในประเทศและถูกวิพากษ์วิจารณ์ในเวทีโลกเมื่อไทยต้องเข้าสู่กระบวนการ เช่น การทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนตามกลไก UPR และ ICCPR 

หลังจากนั้นในปี 2560 การตั้งข้อกล่าวหาด้วยมาตรา 112 กับผู้แสดงออกทางการเมืองรายใหม่เริ่มลดลง ก่อนจะมีความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญเชิงนโยบายในเดือนกุมภาพันธ์ 2561 เมื่อมีการออกแนวปฏิบัติสำนักงานอัยการสูงสุดให้อัยการสูงสุดเป็นผู้พิจารณาสั่งคดีมาตรา 112 แต่เพียงผู้เดียวขณะที่คดีมาตรา 112 บางคดี เช่น คดีของธานัท หรือทอม ดันดี แม้จำเลยจะรับสารภาพศาลก็ยกฟ้อง ขณะที่บางคดีศาลก็ไปลงโทษจำเลยในข้อกล่าวหาอื่นแทน เช่น ความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ หรือประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 

หลังกระแสการชุมนุมเรียกร้องปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์พุ่งสูงในปี 2563 นโยบายเกี่ยวกับมาตรา 112 ก็เปลี่ยนเป็นการใช้งานอย่างกว้างขวาง นับจากเดือนพฤศจิกายน 2563 จนถึงวันที่ 1 พฤษภาคม 2565 มีผู้ถูกตั้งข้อกล่าวหาในคดีนี้อย่างน้อย 191 คน ตามรายงานของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน 

นับจนถึงเดือนพฤษภาคม 2565 มีอย่างน้อยสี่คดีที่ศาลมีคำพิพากษาออกมาแล้ว และในอนาคตอันใกล้จำนวนผู้ถูกคุมด้วยข้อหามาตรา 112 ตามคำพิพากษาของศาลอาจจะพุ่งสูงขึ้นและเป็นการ ‘ขังยาว’ ไม่ใช่การคุมขังชั่วคราวระหว่างการพิจารณาคดี ดังเช่นก่อนหน้านี้

ศาลนครพนมยกฟ้อง กรณีตั้งคำถามการตั้งรัชกาลที่ 10 ไม่ใช่การยืนยันข้อเท็จจริง

คดีแรกที่มีการฟ้องต่อศาลในช่วงหลังการเปลี่ยนแปลงนโยบายคดีมาตรา 112 คือ คดีที่จำเลยชื่ออิศเรศ มูลเหตุแห่งคดีเกิดขึ้นในวันที่ 15 ตุลาคม 2559 ซึ่งเป็นเวลาสองวันหลังรัชกาลที่เก้าเสด็จสวรรคต อิศเรศใช้บัญชีเฟซบุ๊ก “ชาตินักรบ เสือสมิง” โพสต์ข้อความตั้งคำถามถึงกรณีการสืบสันตติวงศ์ว่า  

“ได้โปรดอย่าตอแหลอีกเลย…ครัช เปิดออกมาให้ประชาชนได้รับรู้ พวกมึงต่อรองอะไรกัน ผมฝากพวกโลกสวยหัวกล้วยทั้งหลายศึกษากฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 23 และ 24 ให้หัวสมองโล่งหน่อยนะครับว่า ทำไมจึงยังไม่ประกาศ รัชกาลที่ 10.. การเมืองเป็นเรื่องของประชาชนทุกคนไม่เว้นแม้แต่คนเก็บขยะครับ อย่าบ้องตื้นหลาย… เกิน 24 ชั่วโมงไม่แต่งตั้งกษัตริย์ก็คือศึกชิงบัลลังก์”

อิศเรศถูกออกหมายจับตั้งแต่ปี 2559 แต่ยังไม่มีการจับกุมจนกระทั่งอิศเรศมาร่วมการชุมนุมที่สนามหลวงในวันที่ 19 กันยายน 2563 เขาจึงถูกจับกุมตัวในวันที่ 20 กันยายน 2563 ระหว่างนั่งรถไฟกลับบ้านแฟนที่จังหวัดลำปาง อัยการฟ้องคดีของอิศเรศต่อศาลจังหวัดนครพนมในวันที่ 14 ธันวาคม 2563 ซึ่งเป็นเวลาหลังจากที่พล.อ.ประยุทธ์ประกาศใช้กฎหมาย “ทุกฉบับ ทุกมาตรา” กับผู้ชุมนุมไม่ถึงหนึ่งเดือน

ตามรายงานของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนพยานโจทก์ไม่สามารถยืนยันได้ว่าข้อความที่อิศเรศโพสต์เป็นความผิดหรือไม่ พยานโจทก์คนเห็นว่าเป็นข้อความที่ไม่เหมาะสมเพราะมีคำว่า “กษัตริย์” และ “ชิงบัลลังก์” ส่วนพยานอีกปากหนึ่งเห็นว่าข้อความที่อิศเรศโพสต์ไม่เหมาะสม แต่ก็ไม่ได้เข้าใจความหมายของข้อความดังกล่าว พยานโจทก์ยังรับกับทนายจำเลยด้วยว่าข้อความที่จำเลยโพสต์ไม่ได้มีการระบุชื่อของบุคคลใด รวมถึงบุคคลที่ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 คุ้มครอง นอกจากนั้นพยานโจทก์ยังรับด้วยว่า พระมหากษัตริย์ไทยจะต้องสืบทอดโดยไม่ว่างเว้นแต้แต่นาทีเดียว แต่เมื่อผู้มีหน้าที่ประกาศให้รัชทายาทขึ้นครองราชย์ไม่ปฏิบัติหน้าที่ประชาชนก็สามารถตั้งคำถามได้ เพียงแต่การตั้งคำถามของจำเลยเป็นการกระทำที่ไม่สมควร

ขณะเดียวกันอิศเรศซึ่งเป็นจำเลยก็ต่อสู้คดีว่า เขาไม่ได้ตั้งใจที่จะสื่อว่ามีการแย่งบัลลังก์กันเองในราชวงศ์ แต่ต้องการจะสื่อว่าเขารู้สึกมีความเป็นกังวลที่ผู้มีหน้าที่ไม่กราบบังคมทูลเชิญองค์รัชทายาทขึ้นครองราชย์ 

16 มีนาคม 2565 ศาลจังหวัดนครพนมมีคำพิพากษายกฟ้องอิศเรศพร้อมทั้งให้เหตุผลโดยสรุปได้ว่า

ไม่มีพยานโจทก์ปากใดที่ให้การในชั้นสอบสวน หรือเบิกความในชั้นศาลว่า ข้อความที่จำเลยโพสต์เป็นการแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ฯ และตัวข้อความก็ไม่ปรากฎให้เห็นว่าเป็นเช่นนั้น และไม่เข้าข่ายเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น พระมหากษัตริย์ฯ เพราะการหมิ่นประมาทหมายถึงการใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ซึ่งการใส่ความนั้นจะต้องเป็นการแสดงข้อเท็จจริงเรื่องร้ายให้ผู้อื่นได้รับความเสียหาย และจะต้องระบุถึงตัวบุคคลผู้ถูกใส่ความเป็นการยืนยันรู้ได้แน่นอนว่าเป็นใคร หรือหากไม่ระบุถึงผู้ที่ถูกใส่ความโดยตรง การใส่ความนั้นก็ต้องได้ความว่าหมายถึงบุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะ

ส่วนการดูหมิ่นหมายถึง การด่า ดูถูก เหยียดหยาม หรือสบประมาทให้อับอาย การดูหมิ่นก็ย่อมจะต้องระบุถึงตัวบุคคลที่ถูกดูหมิ่นเป็นการยืนยันรู้ได้แน่นอนว่าเป็นใคร หรือหากไม่ระบุถึงผู้ที่ถูกดูหมิ่นโดยตรง การดูหมิ่นนั้นก็ต้องได้ความว่าหมายถึงบุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะ เมื่อพยานโจทก์ทุกปากล้วนแต่เบิกความว่า ข้อความดังกล่าวเป็นการดูหมิ่น ให้ร้าย สถาบันพระมหากษัตริย์ อันเป็นผลจากการตีความ เนื่องจากข้อความดังกล่าวมิได้ระบุถึงบุคคลที่ถูกดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาทให้รู้ได้แน่นอนว่าเป็นใครหรือบุคคลหนึ่งบุคคลใดโดยเฉพาะ การเข้าใจข้อความดังกล่าวจึงขึ้นอยู่กับการตีความของแต่ละบุคคล ข้อความดังกล่าวจึงมิใช่การยืนยันข้อเท็จจริง  

ทั้งสถาบันพระมหากษัตริย์ก็มิใช่องค์ประกอบความผิดของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 การที่จำเลยลงข้อความดังกล่าวในบัญชีผู้ใช้เฟซบุ๊กของจำเลยจึงไม่ใช่เป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย พระราชินี หรือรัชทายาท พยานหลักฐานโจทก์ไม่พอรับฟังลงโทษจำเลยได้ 

ศาลจันทบุรี ยกฟ้อง วิจารณ์เศรษฐกิจพอเพียงไม่เข้าองค์ประกอบ112 แต่ลงโทษตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ

จรัส นักศึกษาชั้นปีที่หนึ่งของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในจังหวัดจันทบุรี ถูกตั้งข้อหาจากการแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์เศรษฐกิจพอเพียงบนกลุ่มเฟซบุ๊ก “เพจจันทรบุรี” โดยเป็นการคอมเมนท์เพื่อแลกเปลี่ยนโพสต์ของผู้ดูแลเพจที่เขียนว่า “ช่วงนี้โรคโควิดระบาด เศรษฐกิจไม่ดี ให้ใช้ชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียง” โดยจรัสแสดงความคิดเห็นตอบกลับไปว่า 

“…ไม่ต้องรู้หรอก ว่าผมทำไรบ้างอะ แต่แค่ผมจะสื่อสารว่าเราโดนหลอกอะ ทฤษฎีที่มันเอามาแค่หลอกให้พวก ปชช ที่ไม่รู้จักรู้ร้อนรู้หนาว(คนส่วนใหญ่)ได้สบายใจกับคำว่าพอเพียง กับคำว่าประหยัด ส่วนพวกบุคคลที่ได้รับผลกระทบจริงๆ กลับไม่มีอะไรมาเยียวยาเค้าเลย แบบนี้พอเข้าใจว่ามันไม่ควรใช้ยังไง อารมณ์แบบเราเสียภาษีให้กษัตริย์เพื่อให้กษัตริย์มาพัฒนาประเทศและดูแลทุกคนใน ปทท ปะ ไม่ใช่ทอดทิ้งคนกลุ่มล่างปะวะ คิดเอาว่าคนพวกนี้จะอยู่ไง ลำบากแค่ไหน ตื่นมาหาหาข้าวกินสักมื้อนี่โคตรจะลำบากแล้ว ไม่เคยเห็นคนพวกนี้เข้าถึงทฤษฎีนี้สักนิด เพราะผมพูดเลยว่าไม่ต้องมีเศรษฐกิจพอเพียงคนไทยก็อยู่ได้ (แม่งแค่ฉลาดบอกคนไทยให้พอ มันจะรวยได้คนเดียวจะได้กดหัวหัวง่ายๆ) คิดแบบนี้นะ บอกเลยมันโหนคำว่าประหยัดเพื่อหลอก ปชช ครับ คืนประเทศไทยให้คนไทยจะเปลี่ยนให้เป็นเมือง”

จรัสถูกตั้งข้อหาว่า ทำผิดพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ตั้งแต่ปี 2563 และในเดือนมีนาคม 2564 จรัสถูกออกหมายเรียกให้ไปรับทราบข้อกล่าวหาเพิ่มเติมตามมาตรา 112 ภายใต้คำสั่งของคณะทำงานกำหนดแนวทางในการบังคับใช้กฎหมายในคดีตามประมวลกฎหมาอาญามาตรา 112 จากนั้นในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม 2564 อัยการก็มีความเห็นสั่งฟ้อง โดยบรรยายไว้ในคำฟ้องตอนหนึ่งว่า ข้อความบางส่วนที่จรัสกล่าววิพากษ์วิจารณ์ทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียง ของรัชกาลที่ 9 สื่อความหมายว่าแนวพระราชดำริว่าด้วยเศรษฐกิจพอเพียงเป็นทฤษฎีที่นำมาหลอกลวงประชาชนชาวไทย ให้เพียงพอ ประหยัด บังคับให้ประชาชนอยู่ใต้อำนาจโดยง่าย โดยประการที่น่าจะทำให้รัชกาลที่เก้า เสื่อมเสียพระเกียรติ ชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง 
 

ศาลจังหวัดจันทบุรีนัดสืบพยานคดีนี้ในเดือนตุลาคม 2564 ทนายของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้ยกความเห็นของนักวิชาการทั้งหยุด แสงอุทัย, จิตติ ติงศภัทิย์, ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ, สาวตรี สุขศรี และ วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ที่ให้ความเห็นทำนองเดียวกันว่าประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 คุ้มครองเฉพาะพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และคุ้มครองเฉพาะเวลาที่ดำรงตำแหน่งเท่านั้น ขณะที่พนักงานสอบสวนตอบอัยการในประเด็นนี้ว่าแม้จะมีความเห็นทางวิชาการในลักษณะดังกล่าว แต่เขาเห็นว่าการกระทำของจรัสเป็นความผิดจึงมีความเห็นสั่งฟ้อง

ในส่วนของจรัส ต่อสู้คดีว่า เมื่อได้พูดคุยกับเพื่อนและเห็นว่าข้อความที่โพสต์ไปไม่เหมาะสมเขาก็ลบโพสต์ดังกล่าวไป จรัสระบุด้วยว่าเขาได้ถกเถียงตอบโต้กับผู้กล่าวหาอยู่หลายข้อความก่อนจะโพสต์ข้อความตามฟ้องจึงเชื่อว่าผู้กล่าวหาน่าจะโกรธเคืองเขาจนไปร้องทุกข์กล่าวโทษให้ตำรวจดำเนินคดี 

จากนั้นวันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 ศาลจังหวัดจันทบุรีมีคำพิพากษาคดีของจรัสออกมาโดยสรุปเป็นประเด็นสำคัญได้ว่า

1. คำว่าพระมหากษัตริย์ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หมายถึงพระมหากษัตริย์ที่ทรงดำรงตำแหน่งขณะเกิดเหตุแห่งคดีเท่านั้น โดยศาลให้เหตุผลว่าแม้มาตรา 112 จะไม่ได้ระบุว่าพระมหากษัตริย์ที่ถูกกระทำจะต้องทรงดำรงตำแหน่งอยู่หรือไม่ แต่การตีความกฎหมายต้องทำอย่างเคร่งครัด ไม่เช่นนั้นจะหาขอบเขตของการกระทำความผิดไม่ได้ แม้จำเลยจะโพสต์ข้อความเกี่ยวกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงซึ่งเป็นแนวพระราชดำริของรัชกาลที่เก้า ด้วยถ้อยคำที่กระทบต่อพระองค์ในลักษณะการละเมิดและหมิ่นประมาท แต่เมื่อพระองค์เสด็จสวรรคตไปแล้วก่อนที่จำเลยจะลงข้อความตามฟ้องในเฟซบุ๊ก การกระทำของจำเลยจึงขาดองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112    

2. ในส่วนของความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ คดีนี้อัยการฟ้องจรัสด้วยพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์มาตรา 14 (3) ฐานนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรหรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา ศาลกลับพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์มาตรา 14 (1) ฐานนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือน หรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหาย แก่ประชาชน อันมิใช่การกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งข้อหาดังกล่าวอัยการไม่ได้ฟ้องเข้ามาในสำนวนด้วย

ศาลให้เหตุผลว่า แม้กลุ่มเพจจันทบุรีจะเป็นกลุ่มส่วนตัว ที่มีเฉพาะสมาชิกเข้ามาตอบโต้ได้ แต่กลุ่มดังกล่าวก็มีสมาชิกถึง 196,447 คนถือเป็นประชาชนกลุ่มหนึ่ง การที่จำเลยลงข้อความโดยปราศจากความรู้ความเข้าใจในทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงอย่างถ่องแท้ ขาดความระมัดระวังและยับยั้งชั่งใจ ลักษณะของข้อความดังกล่าวย่อมกระทบกระเทือนต่อความรู้สึกของผู้ที่พบเห็นหรือประชาชนทั่วไป อันจะนำไปสู่ความไม่พอใจและอาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรได้ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือน จนประการน่าจะทำให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชน 

ศาลกำหนดโทษในคดีนี้ให้จำคุก 3 ปี ปรับ 60,000 บาท ตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(1) ขณะกระทำความผิดจำเลยอายุ 19 ปี ลดมาตราส่วนโทษให้ 1 ใน 3 เหลือจำคุก 2 ปี และปรับ 40,000 บาท คำให้การของจำเลยเป็นประโยชน์ต่อกระบวนพิจารณา ลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุก 1 ปี 4 เดือน และปรับเงิน 26,666.66 บาท จำเลยเป็นนักศึกษาอายุยังน้อย และเพิ่งกระทำความผิดคดีนี้เป็นครั้งแรก เห็นสมควรให้จำเลยได้กลับตัวเป็นคนดี โทษจำคุกของจำเลยให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี และให้คุมความประพฤติของจำเลยไว้ โดยให้รายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 4 ครั้ง ภายในระยะเวลากำหนด 1 ปี กับให้ทำกิจกรรมสาธารณประโยชน์เป็นระยะเวลา 12 ชั่วโมง 

ศาลอาญาสั่งจำคุกนรินทร์ติดสติกเกอร์ กู Kult 2 ปี ชี้จำเลยกระทำการให้ตจัวเองยิ่งใหญ่กว่าพระมหากษัตริย์

นรินทร์ ถูกกล่าวหาว่านำสติกเกอร์โลโกเพจ กู Kult ซึ่งเป็นเพจเสียดสีการเมืองที่บางครั้งเผยแพร่เนื้อหาที่มีคนตีความว่าสื่อถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ไปติดบนพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวซึ่งติดตั้งอยู่บริเวณใกล้ศาลฎีกาในลักษณะคาดทับพระเนตรระหว่างเข้าร่วมการชุมนุมที่สนามหลวงเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2563 นรินทร์ถูกออกหมายเรียกเข้ารับทราบข้อกล่าวหาในวันที่ 22 ธันวาคม 2563 ต่อมาในวันที่ 25 มีนาคม 2564 อัยการมีความเห็นสั่งฟ้อง

อัยการบรรยายฟ้องโดยสรุปได้ว่า จำเลยนำสติกเกอร์มีข้อความว่า #กูkult ไปติดที่บริเวณพระเนตรบนพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 10 อันเป็นการกระทำที่มิบังควร จาบจ้วง ล่วงเกิน ดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือกระทําให้ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาทต่อพระมหากษัตริย์ โดยประการที่น่าจะทำให้รัชกาลที่ 10 เสื่อมเสียพระเกียรติ ถูกดูหมิ่น เกลียดชัง โดยจำเลยมีเจตนาทำลาย ทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา ไม่เคารพสักการะต่อพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นที่เคารพบูชาของประชาชนชาวไทย และอยู่ในฐานะที่ผู้ใดจะละเมิดไม่ได้

ศาลนัดสืบพยานคดีนี้ในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 เนื่องจากศาลจำกัดประเด็นการสืบพยาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โดยให้ตัดพยานที่จะมาให้ความเห็นทางวิชาการทั้งหมด โดยศาลบอกทนายจำเลยว่า ศาลอาจจะไม่รับฟังพยานความเห็นก็ได้ ฝ่ายจำเลยจึงตัดสินใจไม่นำพยานเข้าสืบ รวมถึงตัวจำเลยก็ตัดสินใจไม่ขึ้นเบิกความคดีนี้ มีเพียงฝ่ายโจทก์ที่นำพยาน 11 ปากที่เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เกี่ยวข้องกับการสืบสวนสอบสวนคดีนี้เข้ามาสืบ 

ผู้สังเกตการณ์ไอลอว์พบว่าระหว่างการสืบพยานคดีนี้ ศาลไม่บันทึกคำถามค้านของทนายจำเลยหลายประเด็น เช่น  ประเด็นที่ทนายจำเลยถามค้านพยานว่า ก่อนจะสั่งฟ้องคดีนี้เป็นความผิดตามมาตรา 112 พยานเคยศึกษาแนวปฏิบัติของตำรวจในคดีอื่นหรือไม่ เพราะศาลเห็นว่าไม่ควรเทียบเคียงกับคดีอื่น ทนายจำเลยถามพยานโจทก์ปากผู้กล่าวหาว่า ทราบหรือไม่ว่าจำเลยติดสติกเกอร์บนพระบรมฉายาลักษณ์เป็นเวลานานเท่าใดจึงมีคนแกะออกไป และสติกเกอร์หลุดออกได้อย่างไร ศาลไม่ให้ทนายจำเลยถามคำถามนี้โดยให้เหตุผลว่า แม้สติกเกอร์ดังกล่าวจะถูกติดเป็นเวลาเพียง 1 วินาทีก็ถือเป็นการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์แล้ว ประเด็นนี้ไม่เกี่ยวข้องกับคดีจึงไม่บันทึก และไม่ให้ถาม เป็นต้น

การที่ศาลไม่บันทึกคำถามของทนายความหรือคำตอบของพยานมีผลให้ประเด็นดังกล่าวไม่ปรากฎในสำนวนคดีและไม่สามารถนำไปใช้สู้คดีในศาลสูงได้

ศาลอาญาอ่านคำพิพากษาในวันที่ 4 มีนาคม 2565 ซึ่งเป็นเวลาเพียง 3 วันหลังการสืบพยานวันสุดท้าย โดยคำพิพากษาพอสรุปได้ว่า 

การที่จำเลยนำสติกเกอร์ไปติดคาดพระเนตรบนพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่สิบ เป็นการแสดงตนให้ยิ่งใหญ่เหนือกว่า แม้จะกระทำต่อพระบรมฉายาลักษณ์ก็เป็นการดูหมิ่นต่อองค์พระมหากษัตริย์ เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ลงโทษจำคุก 3 ปี การไปร้องทุกข์ต่อตำรวจสน.ชนะสงครามของนรินทร์เป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคดี มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษจำคุกให้ 1 ใน 3 คงจำคุก 2 ปี โดยไม่รอการลงโทษ หลังศาลมีคำพิพากษา นรินทร์ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวในชั้นอุทธรณ์โดยวางเงิน 100,000 บาท เป็นหลักประกันซึ่งศาลอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวในวันเดียวกัน

ศาลอาญากรุงเทพใต้สั่งจำคุกสมบัติ ทองย้อย 6 ปี กรณีโพสต์ “กล้ามา เก่งมาก ขอบใจ”

สมบัติ ทองย้อย อดีตการ์ดคนเสื้อแดงถูกกล่าวหาว่าโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กในลักษณะที่อาจเข้าข่ายเป็นการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์รวมสามข้อความในช่วงระหว่างเดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายน 2563 โดยมีข้อความที่สมบัติยกพระราชดำรัสของพระเจ้าอยู่หัวมาโพสต์ในลักษณะที่ทำให้ผู้อ่านเข้าใจว่าสมบัติมีเจตนาเสียดสีพระมหากษัตริย์รวมอยู่ด้วย ศรายุทธ สังวาลย์ทอง ประชาชนทั่วไปซึ่งระบุว่า ตัวเองเคยร่วมการชุมนุมกับกลุ่มกปปส. เป็นผู้พบเห็นข้อความของสมบัติจึงได้เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษให้พนักงานสอบสวนสน.ทุ่งมหาเมฆดำเนินคดี

สำหรับข้อความที่เป็นมูลเหตุแห่งคดีข้อความแรก สมบัติโพสต์ข้อความ #กล้ามา เก่งมาก ขอบใจนะ ซึ่งพ้องกับพระราชดำรัส “กล้ามาก เก่งมาก ขอบใจนะ” ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตรัสกับฐิติวัฒน์ ธนการุณย์ เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2563 ระหว่างที่ทรงมีพระราชปฏิสันถารกับพสกนิกรที่มาเฝ้ารอรับเสด็จ 

อีกสองข้อความ มีข้อความยาวที่สมบัติโพสต์เกี่ยวกับเรื่องการปรับลดงบประมาณและการลงมาใกล้ชิดกับประชาชนซึ่งสมบัติตั้งข้อสังเกตว่าน่าจะเป็นการกระทำที่ไม่จริงใจ ส่วนข้อที่สามสมบัติเขียนเรื่องว่ามีการแจกลายเซ็นเหมือนกับเป็นดารา โดยที่ข้อความทั้งหมดไม่ได้ระบุชื่อบุคคลใด

สมบัติถูกออกหมายเรียกให้ไปรับทราบข้อกล่าวหาในเดือนธันวาคม 2563 ศาลอาญากรุงเทพใต้สืบพยานคดีของสมบัติในเดือนมีนาคม 2565 ศรายุทธซึ่งเป็นผู้กล่าวหาเบิกความต่อศาลว่า เขาเห็นว่าข้อความทั้งสามที่สมบัติโพสต์น่าจะหมายถึงพระเจ้าอยู่หัวโดยเฉพาะข้อความ “กล้ามาก เก่งมาก ขอบใจ” ซึ่งเป็นข้อความที่พระเจ้าอยู่หัวทรงตรัสกับฐิติวัฒน์ผู้ชูพระบรมฉายาลักษณ์ 

ขณะที่ฐิติวัฒน์ซึ่งเป็นผู้ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้ายู่หัวทรงพระราชปฏิสันถารด้วยเบิกความตอนหนึ่งด้วยว่าในความเห็นของเขา เชื่อว่าข้อเรียกร้อง “ปฏิรูปสถาบันฯ” ในความหมายของผู้ชุมนุมคณะราษฎรคือการล้มล้าง สำหรับข้อความที่สมบัติโพสต์ ฐิติวัฒน์ก็เห็นว่าผู้โพสต์น่าจะจงใจหมายถึงพระมหากษัตริย์ แม้ประชาชนทั่วไปจะสามารถนำข้อความดังกล่าวมาพูดหรือเขียนได้แต่ก็ต้องดูเจตนาของการกระทำด้วย 

ด้านสมบัติอธิบายว่า การโพสต์ข้อความ #กล้ามา เก่งมาก ขอบใจ เขาเพียงแต่โพสต์เพราะเห็นว่ามีคนโพสต์จนเป็นกระแสไวรัลในโลกออนไลน์ ส่วนข้อความเรื่องการลงมาใกล้ชิดกับประชาชนและเรื่องงบประมาณ รวมถึงข้อความเรื่องการแจกลายเซ็น เขาหมายถึงรัฐบาล ที่ใช้งบประมาณอย่างสุรุ่ยสุร่าย พอเห็นว่าคะแนนนิยมของตัวเองตกต่ำก็มีการส่งส.ส.และรัฐมนตรีไปลงพื้นที่เพื่อหาทางฟื้นคะแนนนิยมของตัวเอง ฝแม้ตัวเขาเองจะเคยไปร่วมชุมนุมกับคณะราษฎร แต่ก็ไม่ได้เห็นด้วยกับข้อเรียกร้องเรื่องการปฏิรูปสถาบันฯ โดยเขาได้เคยแสดงความคิดเห็นเรื่องดังกล่าวบนเฟซบุ๊กส่วนตัวด้วย 

ในวันที่ 28 เมษายน 2565 ศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำพิพากษาลงโทษจำคุกสมบัติเป็นเวลารวม 6 ปี โดยคำพิพากษาพอสรุปเป็นประเด็นสำคัญได้ดังนี้

ข้อความ กล้ามาก เก่งมาก ขอบใจมากที่จำเลยนำมาโพสต์ เป็นพระราชดำรัสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตรัสในวันที่ 23 ตุลาคม 2563 เพื่อชื่นชม ฐิติวัฒน์ ซึ่งยืนถือพระบรมฉายาลักษณ์ในหลวงรัชกาลที่เก้าและสมเด็จพระราชินีในรัชกาลที่เก้า ระหว่างที่มีการชุมนุมของคณะราษฎร แม้โดยเนื้อแท้ข้อความดังกล่าวจะเป็นการกล่าวชื่นชม ไม่ได้หมิ่นประมาท แต่เมื่อพิจารณาการโพสต์ของจำเลยที่นำข้อความพระราชดำรัสไปประกอบกับข่าวเรื่องที่นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไม่เข้ารับปริญญาทั้งคณะ จำเลยจึงมีเจตนาชื่นชมบัณฑิตที่ไม่เข้ารับปริญญา โดยเอาพระราชดำรัสมาโพสต์ ซึ่งในสังคมไทยการรับปริญญาถือว่าเป็นเกียรติและศิริมงคล การกระทำของจำเลยจึงถือเป็นการล้อเลียนเสียดสีพระมหากษัตริย์ เป็นการกระทำที่ไม่บังควร จางจ้วง เข้าข่ายเป็นการดูหมิ่น หมิ่นประมาท พระมหากษัตริย์

ส่วนข้อความที่จำเลยเขียนทำนองว่าเขาให้ปรับลดงบประมาณ ไม่ใช่ให้ลดตัวมาใกล้ชิดกับประชาชน และข้อความที่จำเลยเขียนว่ามีแจกลายเซ็น แม้จำเลยจะอ้างว่าเป็นการโพสต์ตำหนิรัฐบาล แต่ไม่ปรากฎว่าระหว่างที่จำเลยโพสต์ข้อความทั้งสอง จำเลยได้มีการโพสต์ข้อความอื่นๆ ไม่มีหลักฐานว่าในช่วงเวลาที่จำเลยโพสต์ข้อความ มีรัฐมนตรีหรือ ส.ส.คนใดไปลงพื้นที่พบปะประชาชน นอกจากนั้นข้อความทั้งสองที่จำเลยโพสต์ก็ห่างจากการเสร็จพระราชดำเนินไปในพระราชพิธีวันปิยะมหาราชและการเสด็จไปเปลี่ยนเครื่องทรงพระแก้วมรกตไม่นาน โดยในการเสด็จพระราชดำเนินพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระราชทานลายพระอภิไธยให้กับประชาชนที่มารอรับเสด็จบางส่วนด้วย จึงเชื่อว่าจำเลยน่าจะโพสต์ข้อความเพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจว่าพระมหากษัตริย์ทรงใช้งบประมาณไม่เหมาะสมและการเสด็จพระราชดำเนินพบปะประชาชนก็เป็นการเสแสร้ง เป็นการหมิ่นประมาทและดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ 

แม้สมบัติจะโพสต์ข้อความรวมสามข้อความ แต่ศาลเห็นว่าข้อความเรื่องการลงมาใกล้ชิดกับประชาชนและข้อความเรื่องการแจกลายเซ็นเป็นการโพสต์แบบต่อเนื่องกันในระยะเวลาที่ห่างกันไม่นานจึงเห็นว่าเป็นการกระทำภายใต้เจตนาเดียวกัน จึงลงโทษสมบัติจากการโพสต์ข้อความทั้งสองเป็นการกระทำหนึ่งกรรม ส่วนข้อความที่สมบัติโพสต์พระราชดำรัสประกอบภาพข่าวนักศึกษาธรรมศาสตร์ไม่เข้ารับปริญญาสมบัติโพสต์ข้อความมาก่อนหน้านั้นระยะหนึ่งแล้ว ศาลจึงลงโทษเป็นการกระทำอีกกรรมหนึ่ง

รวมแล้วศาลพิพากษาลงโทษจำคุกสมบัติการกระทำกรรมละ 3 ปี 2 กรรมรวม 6 ปี

หลังศาลมีคำพิพากษาสมบัติยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างอุทธรณ์คดีต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ แต่ศาลให้ส่งคำร้องของสมบัติไปให้ศาลอุทธรณ์เป็นผู้พิจารณาโดยระหว่างนั้นสมบัติจะถูกส่งตัวไปคุมขังในเรือนจำ ก่อนที่ต่อมาในวันที่ 30 เมษายน 2565 ศาลอุทธรณ์จะมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวสมบัติโดยให้เหตุผลโดยสรุปได้ว่า 

พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ข้อหามีอัตราโทษสูง ลักษณะการกระทำความผิดของจำเลยนำมาซึ่งความเสื่อมเสียสู่สถาบันฯ กระทบกระเทือนจิตใจของประชาชน ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุก หากอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว มีเหตุอันควรเชื่อว่าจำเลยจะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่นหรืออาจจะหลบหนี จึงให้ยกคำร้อง