8 ปี ไม่เปลี่ยนผัน : “ลูกเกด ชลธิชา แจ้งเร็ว” เจ้าแม่แซนวิชกับจดหมายเปลี่ยนชีวิต

รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 เวียนมาครบรอบแปดปีในวันที่ 22 พฤษภาคม 2565 ระยะเวลาแปดปีที่ผ่านมามีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในประเทศนี้หลายประการ เช่น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผันตัวจากหัวหน้าคณะรัฐประหารมาเป็นนายกรัฐมนตรีที่เข้าสู่อำนาจตามกลไกปกติรัฐธรรมนูญ 2560 พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ พี่ใหญ่ คสช.ผันตัวเป็นนักการเมืองแบบเต็มตัวด้วยการสมัครเป็นสมาชิกและขึ้นดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ขณะเดียวกันสภานิติบัญญัติแห่งชาติ สภาจากการแต่งตั้งของคสช. ก็แปลงรูปร่างใหม่เป็น ส.ว.แต่งตั้ง จากนั้นก็มีการจัดการเลือกตั้งครั้งแรกภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 ในวันที่ 24 มีนาคม 2562

การเลือกตั้งในปี 2562 และการสิ้นสภาพของคสช. น่าจะทำให้สถานการณ์ทางการเมืองและสิทธิเสรีภาพของประชาชนดีขึ้นแต่ความเป็นจริงกลับไม่เป็นเช่นนั้น เพราะหลังสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 เริ่มทวีความรุนแรงขึ้นทั่วโลกตั้งแต่ช่วงต้นปี 2563 พล.อ.ประยุทธ์ก็ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วประเทศและบริหารประเทศด้วยอำนาจพิเศษอีกครั้ง แม้อำนาจตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จะไม่กว้างขวางและเข้มข้นเท่าอำนาจตามมาตรา 44 ก็ตาม ขณะที่การบังคับใช้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่เข้มข้นในช่วงต้นหลังการยึดอำนาจของคสช. ก่อนจะเริ่มผ่อนคลายในไปในช่วงปี 2560 ก็ถูกนำกลับมาบังคับใช้อย่างเข้มข้นอีกครั้งหลังเดือนพฤศจิกายน 2563 และถูกใช้หนักกว่ายุคที่คสช.มีอำนาจเต็มเสียด้วยซ้ำ

เมื่อผู้นำไม่เปลี่ยนหน้าและสถานการณ์ไม่เปลี่ยนแปลง นักกิจกรรม รวมถึงนักการเมืองบางส่วนที่เคยเคลื่อนไหวต่อต้านหรือวิพากษ์วิจารณ์คสช. จึงยังคงมีบทบาทในทางการเมืองอยู่ในปัจจุบันมากบ้าง น้อยบ้าง แตกต่างกันไป 

ในโอกาสครบรอบแปดปีการรัฐประหาร เราอยากชวนย้อนดูความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับชีวิตของชลธิชา แจ้งเร็ว หรือ ลูกเกด นักกิจกรรมนักศึกษาที่เคยออกมาเคลื่อนไหวในยุคคสช. จนถูกดำเนินคดีฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช.และคดียุยงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 หลังเรียนจบลูกเกดผันตัวมาร่วมก่อตั้งกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย (DRG) ทำกิจกรรมรณรงค์ด้านสิทธิทางการเมืองของประชาชนรวมทั้งทำกิจกรรมด้านสร้างเสริมศักยภาพให้นักกิจกรรมนักศึกษาและผู้ใช้แรงงาน และการทำานรณรงค์ประเด็นสิทธิมนุษยชนกับองค์กรระหว่างประเทศ

ก่อนที่เธอจะตัดสินใจทางการเมืองอีกครั้งเตรียมลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนสังกัดพรรคก้าวไกลในการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น หากสภาผู้แทนที่มาจากการเลือกตั้งปี 2562 หมดวาระไป 

ในช่วงที่กระแสการชุมนุมขึ้นสูงในปี 2563 และมีการนำเสนอข้อเรียกร้องเรื่องการปฏิรูปสถาบันฯ ลูกเกดเขียนจดหมายเปิดผนึกถึงพระมหากษัตริย์เพื่อนำเสนอข้อเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันฯ ในมุมของเธอเผยแพร่บนเฟซบุ๊กส่วนตัวระหว่างที่มีการจัดกิจกรรม “ส่งจดหมายถวายกษัตริย์” ที่สนามหลวง จนเป็นเหตุให้เธอถูกดำเนินคดีมาตรา 112

เชิงอรรถชีวิต – เจ้าแม่แซนด์วิช ขบวนการประชาธิปไตยใหม่ กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย

เย็นวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 พล.อ.ประยุทธ์ในฐานะหัวหน้า คสช.ยึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาลรักษาการณ์ของยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ลูกเกดซึ่งขณะนั้นยังศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒ ประสานมิตรได้พูดคุยกับเพื่อนนักกิจกรรมนักศึกษาว่า น่าจะต้องจัดกิจกรรมอะไรสักอย่างเพื่อแสดงความไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร 

แต่เนื่องจากขณะนั้น คสช.ออกประกาศห้ามชุมนุมตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป หากเธอกับเพื่อนๆ ไปจัดการชุมนุมก็อาจเป็นเหตุให้ถูกจับกุมดำเนินคดีได้ ลูกเกดกับเพื่อนๆ จึงคิดกันว่าน่าจะจัดกิจกรรมลักษณะอื่นที่ โดยเฉพาะเป็นกิจกรรมที่อยู่ในชีวิตประจำวันของคนอยู่แล้ว สุดท้ายเลยตกลงกันว่าจะไปจัดกิจกรรม “ปิคนิคใต้ร่มนนทรี อ่านบทกวี ฉายหนัง รัฐประหาร”  ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในวันที่ 6 มิถุนายน 2557 

ปรากฏว่ายังไม่ทันเริ่มกิจกรรมก็มีเจ้าหน้าที่มารอและสั่งห้ามจัดกิจกรรมแล้ว ลูกเกดกับเพื่อนๆ เลยพยายามต่อรองขอแจกขนมที่เตรียมมาก่อนเดินทางกลับแต่เจ้าหน้าที่ก็ไม่ยอมจึงเกิดเป็นภาพข่าวที่ลูกเกดซึ่งเป็นนักศึกษาตัวเล็กๆ ถูกเจ้าหน้าที่ยื้อแย่งแซนด์วิชในมือ นับจากนั้นแซนด์วิชก็ลายเป็นสัญลักษณ์ต่อต้านการรัฐประหาร ขณะที่ลูกเกดก็ถูกเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงคนหนึ่งเรียกขานว่าเป็น “เจ้าแม่แซนด์วิช” ต่อมาในเดือนมิถุนายน ลูกเกดกับเพื่อนของเธอก็ไปทำกิจกรรมกินแซนด์วิชที่หน้าสยามพารากอนจนเป็นเหตุให้เธอถูกเอาตัวไปปรับทัศนคติที่สโมสรกองทัพบก 

ในวันครบรอบ 1 ปี การรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2558 ลูกเกดกับเพื่อนนักกิจกรรมนักศึกษาและประชาชนกลุ่มหนึ่งประมาณ 50 – 60 คน นัดทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ยืนดูนาฬิกาที่หน้าหอศิลป์กรุงเทพฯ ในช่วงเย็น ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ทำการสลายการชุมนุมและจับกุมผู้เข้าร่วมกิจกรรมไปควบคุมไว้ที่ สน.ปทุมวันราว 30 คน ซึ่งลูกเกดอยู่ร่วมในการชุมนุมครั้งนั้นด้วยและการถูกจับกุมครั้งนั้นส่งผลอย่างรุนแรงต่อสุขภาพของเธอ

“ระหว่างทำกิจกรรมเราถูกเจ้าหน้าที่ปฏิบัติด้วยความรุนแรงอย่างน้อยสองครั้ง ครั้งแรกเรารู้สึกเหมือนมีกระแสไฟฟ้าช็อตข้างหลังบริเวณด้านซ้าย จากนั้นระหว่างนั่งกับเพื่อนเป็นวงก็มีเจ้าหน้าที่อีกคนมากระชากแขนซ้ายเพื่อดึงให้ลุกจากวง ความรุนแรงทั้งสองครั้งส่งผลกับร่างกายเรามาจนถึงทุกวันนี้”

“ก่อนร่วมชุมนุมครั้งนั้นเราเป็นคนแข็งแรงแล้วเราก็เชื่อว่าเราทำกิจกรรมถึกๆ ลุยๆ ได้ แต่หลังจากวันนั้นเรามักจะมีอาการชาที่ด้านซ้ายของร่างกาย ยกของหนัก ใช้ร่างกายหนักๆ ไม่ได้เหมือนเมื่อก่อน บางครั้งถึงขั้นชาจนเดินไม่ได้เลยก็มี การใช้กำลังของเจ้าหน้าที่ครั้งนั้นไม่ได้แค่ทำให้เราเจ็บปวดทางกายนะแต่มันส่งผลต่อสภาพจิตใจของเราด้วย”

หลังถูกจับกุมลูกเกดและเพื่อนนักศึกษาอีกหกคนที่ถูกตั้งข้อกล่าวหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่ 3/2558 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนจากกิจกรรมที่หน้าหอศิลป์กรุงเทพฯ เธอตัดสินใจทำอารยะขัดขืนไม่เข้ารายงานตัวกับตำรวจโดยมีนักกิจกรรมกลุ่มดาวดินเจ็ดคนที่ทำกิจกรรมที่จังหวัดขอนแก่นและถูกดำเนินคดีร่วมทำอารยะขัดขืนโดยไม่เข้ารายงานตัวกับตำรวจที่ขอนแก่นแต่ลงมาร่วมชุมนุมที่กรุงเทพ 

จากนั้นลูกเกดกับเพื่อนนักศึกษารวม 14 คนซึ่งรวมตัวกันเป็น “ขบวนการประชาธิปไตยใหม่” ยังได้ร่วมทำกิจกรรมยืนถือป้ายผ้าและปราศรัยต่อต้านรัฐประหารที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในวันที่ 25 มิถุนายน 2558 ก่อนที่ในวันต่อมาลูกเกดกับเพื่อนๆ ทั้ง 14 คน จะถูกจับกุมตัวส่งศาลทหารกรุงเทพเพื่อดำเนินคดีในข้อหายุยงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 

ตำรวจพานกศึกษาทั้ง 14 คนส่งศาลทหารในช่วงค่ำก่อนที่จะมีการไต่สวนคำร้องฝากขังของพนักงานสอบสวนจนถึงเที่ยงคืน ซึ่งท้ายที่สุดศาลทหารกรุงเทพอนุญาตให้ฝากขังผู้ต้องหาทั้ง 14 คน ลูกเกดกับเพื่อนจึงตัดสินใจยอมเข้าเรือนจำ เพราะต้องการแสดงอารยะขัดขืน แสดงเจตจำนงค์ในการไม่ยอมรับอำนาจศาลทหาร เพราะเชื่อว่า “พลเรือนต้องไม่ขึ้นศาลทหาร”

นักกิจกรรมชาย 13 คน ถูกคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ ส่วนลูกเกดถูกคุมขังที่ทัณฑสถานหญิงกลางเพียงคนเดียว

“วันแรกคือวันที่ 26 มิ.ย. ไปถึงปั๊บก็จะมีเจ้าหน้าที่เรือนจำส่วนหนึ่งมารอรับเรา ทำประวัติ ตั้งแต่ตีหนึ่งครึ่ง เราไปนอนในแดนแรกรับตอนตีสอง แล้วคือเพื่อนนักโทษในแรกรับเขาก็จะมองเราแปลกๆ เพราะเราเข้ามาเป็นเคสพิเศษมาก คือ เขาบอกว่า ‘กูติดคุกมากเป็นสิบปีกูไม่เคยเห็นนะ ศาลที่ไหนแม่งเปิดรอรับมึงยันตีสองอะ’ หรือ ‘มึงไปทำคดีอะไรมา ไปโดนคดีอะไรมา’ เขาก็ถามว่าเรามาจากไหน เราก็บอกว่าจากศาลเลย เขาก็ว่าศาลที่ไหนเขาจะเปิดนานขนาดนั้น เราก็บอกว่า อ๋อ…เขาเปิดรอหนูอยู่อะไรแบบนี้อะ” 

“ในคุกเหมือนคนใช้ชีวิตกับการหายใจไปวันๆ หนึ่งอะ ซึ่งหากกำลังใจคุณไม่เข้มแข็งจริงมันก็อยู่ยากไง คือไม่มีทางที่เราจะรู้ข่าวสารด้านนอก” ลูกเกดพูดถึงชีวิตเมื่อครั้งถูกคุมขังกับประชาไท

อย่างไรก็ตามสิ่งที่เลวร้ายที่สุดสำหรับลูกเกดในช่วงที่ถูกฝากขังในเรือนจำน่าจะเป็นประสบการณ์การถูกตรวจร่างกายในลักษณะที่เธอเห็นว่าเป็นการละเมิดสิทธิในเนื้อตัวร่างกายและเป็นเรื่องที่ติดอยู่ในใจเธอมาโดยตลอด

“เขาบังคับให้เราถอดเสื้อผ้าต่อหน้าผู้คุมคนอื่น ให้เรานั่งยองๆ คลำร่างกายเรา ตอนนั้นเราตั้งคำถามว่าเขามีประตูตรวจจับวัตถุแปลกปลอมอยู่แล้ว ทำไมต้องให้เราเปลื้องผ้าในที่ที่มีคนอื่นอยู่ด้วย เขาบังคับให้เราขึ้นขาหยั่ง ตอนนั้นเราไม่รู้จักขาหยั่ง ไม่รู้ว่ามันคือการตรวจภายใน และไม่รู้ว่าเขาจะเอานิ้วแหย่เข้ามาในอวัยวะเพศของเรา เราช็อกมากและตกใจร้องกรี๊ดขึ้นมา ผู้คุมก็พูดจาไม่ดีบอกว่า “อย่ามาดัดจริตได้ไหมมันเรื่องแค่นี้เอง” เราถูกดำเนินคดีก็แย่อยู่แล้ว แล้วยังต้องมาโดนการคุกคามทางเพศอีก” 

ลูกเกดเล่าเรื่องการถูกล่วงละเมิดนี้ให้แอมเนสตี อินเตอร์เนชันแนลประเทศไทยฟัง โดยเชื่อว่าการนำประสบการณ์เช่นนี้มาเล่าซ้ำน่าจะไปสะกิดแผลของเธออยู่บ้างไม่มากก็น้อย

ในปี 2559 ลูกเกดยังคงเคลื่อนไหวร่วมกับเพื่อนในขบวนการประชาธิปไตยใหม่ โดยการรณรงค์ที่สำคัญที่สุดในปีนั้นคือการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรมนูญฉบับที่จัดทำขึ้นโดยผู้ได้รับการแต่งตั้งจากคสช. แต่สุดท้ายรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวก็ผ่านการประชามติโดยที่ผู้ไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อออกไปรณรงค์ก็มักถูกดำเนินคดีทั้งด้วยคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 พ.ร.บ.ประชามติฯ และกฎหมายอื่นๆ ตามแต่กรณี

เมื่อถึงปี 2560 ลูกเกดซึ่งขณะนั้นจบการศึกษาระดับปริญญาตรีแล้วก็ตัดสินใจจัดตั้งองค์กรรณรงค์ทางการเมืองร่วมกับเพื่อนของเธอ ชื่อ กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตยขึ้น เพื่อทำงานเคลื่อนไหวอย่างจริงจัง โดยเธอระบุเหตุผลส่วนหนึ่งว่า

“ครั้งหนึ่งเราเคยเถียงกับที่บ้านนะว่าที่สภาพสังคมมันเป็นแบบนี้ ที่คนรุ่นเราต้องมาเจอกับอะไรแบบนี้เป็นเพราะพ่อกับแม่เลือกที่จะเงียบกับสถานการณ์ที่เป็นอยู่ เราเลยต้องมาลำบากกับสภาพสังคมแบบนี้ การเถียงกับที่บ้านครั้งนั้นเป็นหนึ่งในแรงผลักดันที่ทำให้เราตัดสินใจทำงานในองค์กรรณรงค์ทางการเมืองอย่างกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย (Democracy Restoration Group – DRG) ในปี 2560 เพื่อพิสูจน์ให้ที่บ้านเห็นว่าเราไม่ใช่แค่พวกเห่อม็อบไปชุมนุมเอามัน แต่เราต้องการทำงานเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมแบบจริงจัง”

“ในช่วงที่ผ่านมา เพื่อนเราบางคนตัดสินใจหันไปทำงานกับพรรคการเมืองก็เป็นเรื่องที่ดี แต่โดยตัวเราเอง คิดว่าสถานการณ์ ณ ตอนนั้นเรามีประโยชน์กับการทำงานเพื่อสนับสนุนขบวนการเคลื่อนไหวของประชาชนมากกว่า เลยตัดสินใจทำงานรับใช้ขบวน”

จดหมายเปลี่ยนชีวิตแต่จิตใจไม่เปลี่ยนผัน

ในช่วงปี 2561 ที่มีการเคลื่อนไหวเรียกร้องการเลือกตั้ง ลูกเกดเข้าร่วมการเคลื่อนไหวกับกลุ่มคนอยากเลือกตั้งด้วย ส่งผลให้เธอถูกดำเนินคดีเพิ่มเติมอีกสามคดีได้แก่ คดีการชุมนุมที่แยกราชดำเนิน (RDN50) ที่หน้ากองทัพบก (Army57) และที่หน้าองค์การสหประชาชาติ (UN62) 

คดี RDN50 กับ UN62 ลูกเกดถูกฟ้องด้วยข้อหายุยงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 เป็นข้อหาหลัก ส่วนคดีการชุมนุมที่หน้ากองทัพบกเธอถูกฟ้องด้วยข้อหาตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯเป็นข้อหาหลัก

“มีคดีคนอยากเลือกตั้ง (RDN 50) ที่เราเป็นแกนนำและโดนฟ้อง 116 ซึ่งศาลตัดสินยกฟ้อง ระหว่างการต่อสู้คดีมีเอกสารทางรัฐหลุดมาเขียนว่าการดำเนินคดีกับแกนนำเพียงแค่ต้องการสร้างความยุ่งยากในชีวิตเพื่อให้ไม่มีเวลาไปทำกิจกรรม แต่ไม่ได้ต้องการให้ติดคุกจริงๆ เพราะการติดคุกจะทำให้ถูกโจมตีจากองค์กรระหว่างประเทศมากขึ้น ทำให้เห็นชัดเจนว่านี่คือการฟ้องกลั่นแกล้ง (SLAPP) ผู้ดำเนินคดีอาจเห็นอยู่แล้วว่าเราไม่ได้ทำผิด เป็นเสรีภาพพื้นฐานที่เราทำได้ แต่เขาแค่ต้องการฟ้องกลั่นแกล้งเพื่อปิดปากเรา คดีนี้สะท้อนให้เห็นว่านักปกป้องสิทธิฯ มักเจอการคุกคามในลักษณะนี้อยู่เรื่อยมา” 

ลูกเกดเปิดใจเล่าถึงการถูกเดินคดีการชุมนุมของคนอยากเลือกตั้งกับแอมเนสตี อินเตอร์เนชันแนลประเทศไทย ศาลมีคำสั่งยกฟ้องเธอในคดี RDN 50 และคดี Army57 ส่วนคดี UN62 ยังอยู่ระหว่างการสืบพยาน

ในช่วงปี 2563 ซึ่งมีการชุมนุมของนักศึกษาก่อนที่ต่อมาจะพัฒนาเป็นขบวนราษฎร ลูกเกดไม่ได้มีบทบาทเป็นคนนำการเคลื่อนไหว โดยเธอไปทำงานสร้างเสริมศักยภาพให้กับนักกิจกรรมและผู้ใช้แรงงานรวมทั้งยังได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาและแก้ไขปัญหาสิทธิมนุษยชนและการลอบประทุษร้ายประชาชนในสภาผู้แทนราษฎร แต่เธอก็มักถูกร้องขอโดยนักกิจกรรมรุ่นน้องให้มาช่วยเป็นคนเจรจากับเจ้าหน้าที่เวลาจัดชุมนุมหรือมาช่วยแจ้งการชุมนุมให้ 

ในการชุมนุมเสกคาถาผู้พิทักษ์ปกป้องประชาธิปไตยที่ทนายอานนท์ขึ้นปราศรัยเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ก็เป็นการชุมนุมอีกครั้งหนึ่งที่นักกิจกรรมรุ่นน้องขอให้เธอช่วยไปยื่นแจ้งการชุมนุมให้ ในฐานะที่มีชื่อเป็นคนยื่นแจ้งการชุมนุม ลูกเกดจึงดำเนินคดีไปด้วย แต่ครั้งนั้นข้อหาหลักเป็นเพียงข้อหาชุมนุมฝ่าฝืนข้อกำหนดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

ในวันที่ 9 พฤศจิกายน 2563 ราษฎรนัดชุมนุม “ราษฎรสาส์น” เขียนจดหมายถึงพระมหากษัตริย์ไปหย่อนตู้ไปรษณีย์ที่สนามหลวง ลูกเกดมีความรู้สึกร่วมกับกิจกรรมนี้มากเธอจึงตัดสินใจเขียนจดหมายกระดาษและไปร่วมชุมนุมรวมทั้งนำจดหมายไปหยอดตู้ในที่ชุมนุมด้วยตัวเอง นอกจากนั้นเธอยังนำจดหมายดังกล่าวมาแปลงเป็นไฟล์ภาพและโพสต์ลงบนเฟซบุ๊กส่วนตัวด้วย

“เนื้อความในจดหมายของเรา ไม่ได้เป็นอะไรมากกว่าการส่งเสียง ส่งความในใจของเราด้วยความบริสุทธิ์ใจต่อพระมหากษัตริย์ เพื่อสะท้อนว่าในฐานะราษฎรเราอยากให้พระมหากษัตริย์และสถาบันปรับตัวอย่างไร ตอนที่เราเขียนจดหมายเราเต็มไปด้วยความรู้สึก ความรู้สึกกล้าหาญที่มีต่อตัวเองที่จะเขียนอะไรแบบนี้ต่อสาธารณะและความกล้าที่มีต่อพระมหากษัตริย์ที่เราจะเขียนความในใจเพื่อสื่อสารแบบตรงไปตรงมาด้วยความปรารถนาดี และความรู้สึกอีกก้อนที่เราบอกไม่ถูกที่เกิดขึ้นตอนเราเขียนชื่อผู้ลี้ภัยการเมืองที่ไปตายอยู่ต่างประเทศ เราเคยไปทำงานเป็นกรรมาธิการในสภาที่ติดตามเรื่องนี้ [การบังคับสูญหายผู้ลี้ภัยการเมือง] เราจำได้ว่าพอเขียนจดหมายมาถึงตรงนั้นเราก็ร้องไห้ มันรู้สึกเจ็บแค้นที่เพราะแค่พวกเขามีความเห็นต่อสถาบันฯ ในแบบที่รัฐไม่ต้องการให้มี พวกเขาก็ต้องลี้ภัย ถูกอุ้มหาย และถูกฆ่า” ลูกเกดยอมรับว่าขณะเขียนจดหมายเธอเขียนด้วยความหวัง แต่ต่อมาเมื่อมีคนนำจดหมายเธอไปร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดำเนินคดีเธอด้วยมาตรา 112 ความรู้สึกนึกคิดของเธอก็เปลี่ยนไป

“…เรื่องที่เราเสียใจคือกระบวนการยุติธรรมของประเทศนี้มันหวังอะไรไม่ได้เลยตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ โดยเฉพาะถ้าคุณเป็นคนที่มีความคิดเห็นแตกต่างจากผู้มีอำนาจ คุณจะถูกตราหน้าว่าเป็นอาชญากร เป็นศัตรูของรัฐ ส่วนเรื่องที่เราถูกดำเนินคดีม.112 เราคิดว่ามันก็ทำให้เราตัดสินใจอะไรในทางการเมืองได้ง่ายขึ้นและถือว่าเราได้ใช้ความพยายามในการเรียบเรียงและสื่อสารความในใจของเราไปเรียบร้อยแล้วเป็นครั้งสุดท้าย”  

คดีเขียนจดหมายถึงพระมหากษัตริย์เป็นคดีมาตรา 112 คดีแรกของลูกเกดแต่ไม่ใช่คดีสุดท้าย ในวันที่ 11 พฤศจิกายน 2564 ลูกเกดไปร่วมปราศรัยในการชุมนุมที่หน้าศาลจังหวัดธัญบุรีเพื่อเรียกร้องสิทธิในการปล่อยตัวชั่วคราวให้กับนักกิจกรรมที่ถูกดำเนินคดีจากการไปชุมนุมและสาดสีใส่ตำรวจที่หน้ากองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 1 

โดยบางช่วงบางตอนของการปราศรัยเธอพูดถึง การใช้งบประมาณของสถาบันพระมหากษัตริย์และการออกพ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการในพระองค์ พ.ศ. 2560 ของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รวมไปถึงการแก้กฎหมายเกี่ยวกับการจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ด้วยการออก พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2561 

ในเดือนมีนาคม 2565 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า อัยการสั่งฟ้องคดี 112 ของลูกเกดจากกรณีเขียนจดหมายถึงรัชกาลที่สิบเผยแพร่บนเฟซบุ๊ก ศาลอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวเธอแต่ก็กำหนดเงื่อนไขคุมเข้ม 

ทั้งห้ามกระทำกิจกรรมที่มีลักษณะเช่นเดียวกับที่ถูกกล่าวหา ห้ามเข้าร่วมกิจกรรมที่มีลักษณะเป็นการกระทบกระเทือนต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ห้ามออกนอกเคหสถานตั้งแต่เวลา 20.00 – 05.00 น. และต้องใส่กำไลอิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว (EM)  

ในเวลาต่อมาศาลยกเลิกเงื่อนไขเรื่องการห้ามออกนอกเคหะสถานบางเวลาของลูกเกด แต่ยังคงสั่งให้เธอต้องสวมกำไลอิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัวต่อไป โดยเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นหลังลูกเกดโพสต์ภาพและข้อความเรื่องที่เธอไปเข้าพบเมลิสซา เอ. บราวน์ รองผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกาและได้ให้ข้อมูลกับทางการสหรัฐฯ เรื่องคดีของเธอรวมทั้งเรื่องสถานการณ์การใช้มาตรา 112 และการกำหนดเงื่อนไขตามสัญญาประกันจนศาลเรียกเธอมาไต่สวนก่อนจะมีการลดเงื่อนไขบางประการ

สำหรับตัวของลูกเกด ในปี 2565 ชีวิตเธอกำลังจะมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่งนอกเหนือจากการต่อสู้คดีในศาล เธอยังตัดสินใจลงต่อสู้ในสนามการเมืองอย่างเต็มตัวด้วยในฐานะผู้สมัครรับเลือกตั้งเขต 3 จังหวัดปทุมธานี 

ตามรายงานของข่าวสด พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ระบุว่าที่เลือกลูกเกดลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นเพราะเธอเป็นคนที่มีอุดมการณ์และมีประสบการณ์การทำงาน โดยเคยเป็นกรรมาธิการวิสามัญเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนร่วมกับพรรคก้าวไกลมา จึงเชื่อว่าหากได้รับเลือกก็สามารถทำงานได้เลย ขณะที่ตัวลูกเกดเองก็ระบุถึงเหตุผลที่เธอตัดสินใจลงเล่นการเมืองเต็มตัว จากเดิมที่ไม่คิดจะทำงานการเมืองในสภาว่า

“นับตั้งแต่การเคลื่อนไหวของราษฎรในปี 2563 เป็นต้นมา เราได้ใช้พื้นที่การเมืองบนท้องถนน ของภาคประชาชนในการผลักดันข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ จนเกิดปรากฏการณ์ ทะลุเพดาน ที่สำคัญในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย แต่แค่นี้มันยังไม่เพียงพอที่จะทำให้ข้อเรียกร้องในการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์สำเร็จ แต่มันต้องอาศัยการทำงานของพรรคการเมืองเพื่อผลักดันเรื่องนี้ไปควบคู่กัน และนี่คือเหตุผลที่เราตัดสินใจทำงานร่วมกับพรรคการเมืองในฐานะว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.”