การชุมนุมปี 2563 พริบตาแห่งความเปลี่ยนแปลง: พลังก่อตัวจากไหน มีพัฒนาการอย่างไร เราเจออะไรมาบ้าง

779 ครั้งคือจำนวนการชุมนุมทั่วประเทศในปี 2563 ที่เราสามารถเก็บข้อมูลได้ โดยเป็นปีแรกที่เก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบ แม้ไม่มีข้อมูลสถิติเปรียบเทียบในปีอื่นๆ ก็เป็นที่ประจักษ์ชัดว่า ปี 2563 มีการชุมนุมมากครั้งที่สุดในรอบหลายปีที่ผ่านมานับตั้งแต่มีการรัฐประหารในปี 2557 ซึ่งมีการปิดกั้นการชุมนุมทุกประเภทด้วยการออกประกาศ/คำสั่งของ คสช. ช่วงเวลานั้นจึงไม่เคยมีการชุมนุมใหญ่เกิดขึ้น นี่เป็นข้อบ่งชี้ว่าสถานการณ์ในประเทศไทยกำลังเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง

การขยายตัวของการชุมนุมเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นชั่วข้ามคืน มันประกอบสร้างขึ้นจาก

  1. ความไม่เป็นธรรมทางการเมืองในช่วงเกือบทศวรรษที่ผ่านมา
  2. เหล่าขบวนการนักศึกษา คนรุ่นใหม่ที่ต่อสู้อย่างไม่หยุดยั้งแม้ถูกปราบปรามอย่างหนัก
  3. พรรคการเมืองที่เป็นเหมือนแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่ และ
  4. สื่อมวลชนที่เป็นกระบอกเสียงเผยแพร่ข้อเท็จจริง

คสช. : ผู้สืบสาน รักษา ต่อยอด ความไม่เป็นธรรมทางการเมือง

ความขัดแย้งทางการเมืองกว่าทศวรรษจบลงที่การรัฐประหาร 2 ครั้งในปี 2549 และ 2557 การรัฐประหารปี 2549 ได้ยกเลิกรัฐธรรมนูญที่กล่าวกันว่าดีที่สุดฉบับหนึ่งของไทย คือ รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน 2540 และร่างฉบับใหม่ขึ้นมีเนื้อหาเปลี่ยนแปลงระบบการเลือกตั้งที่เป็นหัวใจสำคัญในการกุมอำนาจในสภา ระบบใหม่มีเป้าหมายกระจายคะแนนไปยังผู้สมัครหลายคนและสร้างความผูกพันในเชิงพื้นที่ เพื่อลดอำนาจผูกขาดการเมืองในรัฐสภาของพรรคไทยรักไทย

รัฐประหารครั้งนั้นใช้เวลาราว 2 ปีก่อนจัดการเลือกตั้งในปี 2551 แต่ผลลัพธ์ยังคงนำพาพรรคพลังประชาชนกลับคืนมา ไม่นานก็มีเหตุให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคและเกิดใหม่เป็นพรรคเพื่อไทย ต่อมาในปี 2554 รัฐบาลของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีการเปลี่ยนระบบเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อให้กลับไปเป็นระบบเดิมตามรัฐธรรมนูญ 2540 ปีเดียวกันพรรคเพื่อไทยกลับมาครองตำแหน่งรัฐบาลอีกครั้ง ปี 2556 พรรคเพื่อไทยเสนอพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ก่อให้เกิดการคัดค้านและการชุมนุมของกลุ่มกปปส. จนนำไปสู่การยุบสภาและเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ 2557 อย่างไรก็ตาม พรรคฝ่ายค้านอนุรักษ์นิยมเก่าแก่อย่างประชาธิปัตย์ประกาศบอยคอตการเลือกตั้ง ขณะที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยไม่รับรองการเลือกตั้ง แล้วจึงตามมาด้วยการรัฐประหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นำโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา

๐ รัฐธรรมนูญฉบับ คสช. : ปิดปากคนค้าน สร้างระบบเลือกตั้งปูทาง คสช.2

ตามสูตรของการรัฐประหารคือ ฉีกรัฐธรรมนูญเก่า เขียนรัฐธรรมนูญใหม่ แล้วเลือกตั้ง คสช.ก็เช่นกัน นอกจากจะสร้างบรรยากาศความหวาดกลัวและกระชับอำนาจด้วยประกาศคำสั่งคสช.หลายร้อยฉบับแล้ว ยังหล่อเลี้ยงความหวังแก่ประชาชนว่าอีกไม่นานจะมีการเลือกตั้ง รัฐบาลกล่าวซ้ำๆ ว่า ขอเวลาอีกไม่นาน แต่สัญญาณแห่งการอยู่ยาวเริ่มขึ้นจากการล้มร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรก (บวรศักดิ์ อุวรรณโณ) เริ่มร่างใหม่ฉบับที่สอง (มีชัย ฤชุพันธุ์) และจัดประชามติที่ฝ่ายสนับสนุนพูดได้ แต่ฝ่ายค้านห้ามพูด หลังรัฐธรรมนูญผ่านประชามติแบบมัดมือชกก็ต้องรออีกเกือบปีกว่าที่จะบังคับใช้ในวันที่ 6 เมษายน 2560 ระหว่างนี้มีการแก้ไขเพิ่มเติมอีก 4 ครั้งคือ การใช้มาตรา 44 แก้ไขเรื่องศาสนาประจำชาติ การศึกษา และเพิ่มเติมเรื่องอำนาจส.ว.เรื่องการออกเสียงเลือกนายรัฐมนตรีในระยะ 5 ปี รวมทั้งแก้ไขหมวดพระมหากษัตริย์ตามพระราชประสงค์ของรัชกาลที่ 10

๐ เลือกตั้ง 2562 : ระบบของคสช.เพื่อ คสช.

หลังรัฐประหาร 2557 พรรคการเมืองถูกล็อคไว้ให้ยุติบทบาทเป็นการชั่วคราว หลังจากนั้นในเดือนกันยายน 2561 คสช. จึงคลายล็อคให้พรรคการเมืองสามารถดำเนินกิจกรรมทางการเมืองได้และเข้าสู่บรรยากาศการเลือกตั้ง แต่เจ้าหน้าที่รัฐยังคุกคามและก่ออุปสรรคในการหาเสียงให้แก่นักการเมืองขั้วตรงข้ามอยู่เรื่อยมา โดยเฉพาะพรรคอนาคตใหม่ที่ตกเป็นเป้าสำคัญ ขณะที่พรรคการเมืองจัดตั้งของ คสช.อย่างพรรคพลังประชารัฐสามารถหาเสียงได้อย่างสะดวก

ก่อนหน้าการเลือกตั้งไม่นาน ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคไทยรักษาชาติ จากกรณีการเสนอทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนฯ ในบัญชีนายกรัฐมนตรีของพรรค คำวินิจฉัยดังกล่าวเกิดขึ้นต่อเนื่องจากพระราชโองการของรัชกาลที่ 10 เรื่องทูลหระหม่อมหญิงอุบลรัตนฯ ต้องอยู่เหนือการเมือง ประกอบกับรัฐธรรมนูญ 2560 ได้เปลี่ยนระบบการเลือกตั้งเป็นแบบจัดสรรปันส่วนผสมให้ผู้ออกเสียงกาบัตรใบเดียวนำไปสู่การแข่งขันในพื้นที่ระดับเขตและเอื้อต่อผู้มีอิทธิพลท้องถิ่น ทั้งไม่สามารถสะท้อนเจตนารมณ์ของผู้ออกเสียงได้ทั้งหมด การล็อคพรรคการเมืองด้วยระบบการเลือกตั้งเช่นนี้ปูทางให้พรรคพลังประชารัฐได้เปรียบ ขณะที่พรรคใหญ่คู่แข่งคือ พรรคเพื่อไทยที่จำต้องมีนโยบาย ‘แตกแบงก์พัน’ เพื่อให้ได้ที่นั่งมากที่สุดนั้น ภารกิจเป็นอันล้มเหลว เพราะมีการยุบพรรคไทยรักษาชาติ

๐ แผ่นดินใหม่ : เปลี่ยนรูปแบบการจัดการทรัพย์กษัตริย์และกำลังพล

รัฐประหาร 2557 เกิดขึ้นท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองและการเปลี่ยนรัชกาล คสช.สร้างความเปลี่ยนแปลงหลายประการที่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์ และมันได้กลายเป็นเหตุผลสำคัญส่วนหนึ่งในข้อเรียกร้องเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ฯ ของราษฎร 2563

ทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ – 16 กรกฎาคม 2560 ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ.2560 โดยที่ไม่ปรากฏว่าหน่วยงานใดจัดทำร่างและเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และมีการพิจารณากันเมื่อใด ข้อแตกต่างที่สำคัญจากกฎหมายเดิม ได้แก่ ประธานและกรรมการสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์แก้ไขให้มาจากการแต่งตั้งตามพระราชอัธยาศัย, ยกเลิกระบบ “ทรัพย์สินส่วนสาธารณสมบัติของแผ่นดิน” แล้ว และให้พระราชวังหรือทรัพย์สินอื่นในประเภทนี้ไปรวมกับ “ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์” ในความดูแลของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย และเปลี่ยนหลักการเสียภาษี ตามกฎหมายเดิมเขียนว่า ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ย่อมได้รับความยกเว้นจากการเก็บภาษีอากรเช่นเดียวกับทรัพย์สินของแผ่นดิน แต่กฎหมายใหม่แก้ไขเป็นว่า ทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ทุกประเภทจะต้องเสียภาษีอากรหรือได้รับยกเว้นภาษีอากรย่อมเป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น

กำลังทหาร – 16 ตุลาคม 2562 ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร สมัยวิสามัญ ครั้งที่ 1 เป็นพิเศษ ส.ส.ลงคะแนนเพื่ออนุมัติพระราชกำหนดโอนอัตรากำลังพล และงบประมาณบางส่วนของกองทัพบก กองทัพไทย กระทรวงกลาโหม ไปเป็นของหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ซึ่งเป็นส่วนราชการในพระองค์ พ.ศ. 2562 (พ.ร.ก.โอนอัตรากำลังพลฯ) ที่ประชุมสภาส่วนใหญ่มีมติเห็นชอบ กำลังพลที่โอนย้ายไปเป็นกำลังพลในส่วนที่เกี่ยวกับกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ และกรมทหารราบที่ 11 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์

พรรคอนาคตใหม่ : พรรคอายุสั้นผู้ปลุกความโกรธของคนหนุ่มสาว

พรรคอนาคตใหม่ก่อตั้งในเดือนมีนาคม 2561 นักการเมืองหน้าใหม่จากหลากหลายวงการมารวมตัวกัน ความโดดเด่นของอนาคตใหม่คือ การใช้โซเชียลมีเดียเป็นกลไกหลักในการสื่อสารสร้างฐานเสียง ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่คนรุ่นใหม่นิยมใช้ ต่อมากลุ่มคนเหล่านี้ได้กลายเป็นกำลังสำคัญของการชุมนุมในปี 2563 ความนิยมของคนรุ่นใหม่เกิดขึ้นจากการนำเสนอนโยบาย เนื้อหาทางการเมืองหลากหลายประเด็น และความเป็นไปได้แบบใหม่ที่สร้างความหวังให้แก่พวกเขา

ปี 2562 อนาคตใหม่ได้ดันเพดานการต่อสู้ทางการเมืองให้สูงขึ้นด้วยการตรวจสอบและวางข้อเสนออย่างตรงไปตรงมากับกองทัพ และการจัดแฟลชม็อบในช่วงเดือนธันวาคม 2562 ของพรรคก็เป็นการชุบชีวิตการเคลื่อนไหวภาคประชาชน

๐ เปิดหน้าชนกองทัพ สถาบันหลักของชาติ

หลังเข้าปฏิบัติหน้าที่ในสภา พรรคอนาคตใหม่ผลักดันนโยบายที่เคยหาเสียงไว้ อย่างการยกเลิกการเกณฑ์ทหาร โดยเสนอกฎหมายการรับราชการทหารซึ่งมี 2 หลักการสำคัญคือ ใช้การรับสมัครแทนการเรียกมาตรวจคัดเลือก และสิทธิเสรีภาพ ความปลอดภัย ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิประโยชน์และสวัสดิการของทหารกองประจำการต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ นอกจากนี้ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ยังได้ตั้งข้อสังเกตถึงรายได้ของกองทัพปีละประมาณหนึ่งหมื่นล้านบาทที่ไม่ได้ส่งคืนคลัง ตามมาด้วยกรณีพ.ร.ก.โอนย้ายกำลังพลฯ ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่อภิปราย ว่า พ.ร.ก.ฉบับนี้ตราขึ้นโดยไม่เป็นไปตามเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 172 ซึ่งกำหนดให้การออก พ.ร.ก. ต้องเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วนเท่านั้น และเป็นปัญหาในการใช้อำนาจของคณะรัฐมนตรีที่อาจจะขัดกับรัฐธรรมนูญ

๐ แฟลชม็อบหยั่งเสียงก่อนยุบพรรค

หลังผ่านการเลือกตั้ง 2562 พรรคอนาคตใหม่ได้ที่นั่งในสภา 81 ที่นั่ง ธนาธรต้องเผชิญวิบากกรรมตั้งแต่วันแรก เมื่อเขาไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้จากกรณีหุ้นสื่อและเป็นเหตุให้ศาลรัฐธรรมนูญตัดสิทธิ ส.ส.ในเดือนพฤศจิกายน 2562 อนาคตของพรรคก็ไม่สู้ดีนักเนื่องจากมีการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยเรื่องเงินกู้ที่เขาปล่อยกู้ให้แก่พรรคเป็นเงิน 191.2 ล้านบาทในเดือนธันวาคม 2562 ท่ามกลางข่าวเร่งรัดพิจารณายุบพรรคอนาคตใหม่จากกรณีดังกล่าว ธนาธรประกาศจัดแฟลชม็อบ #ไม่ถอยไม่ทน ที่สกายวอล์คปทุมวันในช่วงเวลานี้ มีผู้เข้าร่วมเต็มพื้นที่สกายวอล์ค นั่นถือเป็นเรื่องใหม่สำหรับการชุมนุมทางการเมืองในพื้นที่สาธารณะที่นับตั้งแต่การรัฐประหารไม่เคยมีครั้งใดที่มีผู้เข้าร่วมมากเช่นนี้ จำนวนผู้เข้าร่วมเป็นหนึ่งในมาตรวัดความสำเร็จของแฟลชม็อบและสื่อต่อสังคมให้เห็นถึงกำลังสนับสนุนของพรรคอนาคตใหม่

21 กุมภาพันธ์ 2563 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติให้ยุบพรรคอนาคตใหม่และเพิกถอนสิทธิการเมืองคณะกรรมการบริหารพรรคเป็นเวลา 10 ปี คล้อยหลังคำตัดสิน ช่วงค่ำพรรคอนาคตใหม่ประกาศรวมตัวกันที่หน้าตึกไทยซัมมิท มีผู้เข้าร่วมจำนวนมาก วิบากกรรมที่เกิดขึ้นกับพรรคอนาคตใหม่เผชิญเป็นพล็อตเดิมในขัดแย้งทางการเมืองหลายปีที่ผ่านมาและมีตัวแสดงไม่มากนัก ได้แก่ คณะรัฐประหาร กองทัพ ศาลรัฐธรรมนูญ และนักการเมือง เมื่อตัวแสดงเดิมเล่นบทซ้ำไปมา คนรุ่นใหม่แม้จะไม่ทันกับเหตุการณ์ในอดีต แต่เรื่องราวในลักษณะเดียวกันก็เกิดขึ้นอีกต่อหน้าพวกเขาโดยตรง จนอาจกล่าวได้ว่ามันได้กลายเป็นชนวนเหตุนำไปสู่การชุมนุมครั้งใหญ่ในปี 2563

สิรภพ อัตโตหิ หรือ แรปเตอร์ แกนนำเสรีเทยพลัส เคยให้ความเห็นไว้ถึงจุดเริ่มต้นการชุมนุมปี 2563 ว่า ฟางเส้นสุดท้ายที่นำไปสู่การเคลื่อนไหวคือการตัดสินยุบพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งเป็นพรรคที่มีฐานเสียงเป็นคนรุ่นใหม่ที่เป็นผู้มีสิทธิออกเสียงครั้งแรก (First voter) การที่ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินใจยุบพรรคอนาคตใหม่คือ การไม่เคารพในเสียงของคนรุ่นใหม่ที่พวกเขาได้โหวตเข้าไปจำนวนมาก กลุ่มคนรุ่นใหม่มองการเลือกตั้งเป็นความหวัง การยุบพรรคทำให้ความหวังถูกทำลายหายไปในพริบตานำไปสู่การเคลื่อนไหว อย่างไรก็ตามการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ไม่ได้เป็นไปเพื่อปกป้องพรรคอนาคตใหม่ แต่มองไปถึงระบบและเหตุผลในการยุบพรรคอนาคตใหม่ที่มันไม่ยุติธรรมตลอดเวลาที่ผ่านมา

การเคลื่อนไหวครั้งแรกเกิดขึ้นในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2563 สหภาพนักเรียน นิสิตและนักศึกษาแห่งประเทศไทย ประกอบด้วยแกนนำอย่างจุฑาทิพย์ ศิริขันธ์ และ พริษฐ์ ชิวารักษ์ นัดรวมตัวกันที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ภายใต้กิจกรรมชื่อว่า #ประเทศนี้ไม่มีความยุติธรรม กิจกรรมครั้งนี้ยังไม่มีข้อเรียกร้องที่ชัดเจน นอกจากการให้กำลังใจพรรคอนาคตใหม่ อย่างไรก็ตาม การยุบพรรคพรรคอนาคตใหม่แม้เป็นจุดเริ่มต้น แต่ไม่ใช่เหตุผลหลักของคลื่นการชุมนุมลูกที่สองของปี 2563 ซึ่งจัดโดยนิสิต นักศึกษาหลายจังหวัดทั่วประเทศ (อ่านเพิ่มเติมในหัวข้อขบวนการนิสิตนักศึกษา : ผู้ผลักเพดานแห่งความหวาดกลัว)

การเคลื่อนไหวเริ่มจากความเกรี้ยวกราดไร้ข้อเสนอ จากนั้นจึงเริ่มพัฒนาข้อเสนอต่อสังคม เช่น การร่างรัฐธรรมนูญใหม่ การให้รัฐบาลหยุดคุกคามประชาชน และต่อยอดข้อเสนอที่เกี่ยวเนื่องกับการเกณฑ์ทหารอย่างการปฏิรูปกองทัพมานำเสนอในพื้นที่ชุมนุม ข้อเรียกร้องเหล่านี้เปิดเปลือยความไม่พอใจต่อโครงสร้างที่เป็นอยู่ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ขบวนการนักศึกษาไปไกลกว่าพรรคอนาคตใหม่คือ การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ฯ

นักเรียน นักศึกษา : ผู้พังเพดานแห่งความหวาดกลัว

หลังรัฐประหาร 2557 คณะรัฐประหารได้กดปราบการแสดงออกทางการเมืองอย่างหนักเป็นเวลาหลายปี อย่างไรก็ตามมีความพยายามเคลื่อนไหวจากนักกิจกรรมคนรุ่นใหม่ในตอนนั้นที่ตอนนี้ผู้คนคุ้นหน้ากันดี เช่น สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือ จ่านิว, ชลธิชา แจ้งเร็ว หรือลูกเกด, จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ดาวดิน และพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน

การชุมนุมในห้วงดังกล่าวมีผู้เข้าร่วมไม่มากเท่าปี 2563 แต่พวกเขาก็ยังคงเคลื่อนไหวและทำงานในเชิงประเด็นสิทธิมนุษยชนเรื่อยมา ทั้งยังมีบทบาทในการชุมนุมในปี 2563 จนอาจเรียกได้ว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังคนสำคัญ

การเมืองปี 2562 มีการจัดการเลือกตั้งที่หลายฝ่ายมองว่าไม่เป็นประชาธิปไตย เช่น การคงอำนาจมาตรา 44 ที่สร้างบรรยากาศแห่งความหวาดกลัว การใช้กลไกรัฐที่มีอยู่สร้างความได้เปรียบให้แก่คสช. ต่อมาพรรคพลังประชารัฐรวบรวมเสียงตั้งรัฐบาลได้และสภาเลือกพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัยด้วยเสียงท่วมท้นโดยเฉพาะจาก ส.ว.ที่คสช.เป็นผู้ที่แต่งตั้งเอง ด้านพรรคอนาคตใหม่กลายเป็นเป้าถูกโจมตีจากคดีความสารพัดในศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ขณะเดียวกันก็มีเหตุการณ์ที่สร้างคำถามต่อกองทัพและการบริหารราชการของรัฐบาลคสช.2 ให้ดังกระหึ่ม เช่น การกราดยิงที่โคราช มาตรการรับมือและเยียวยาเศรษฐกิจจากโรคโควิด 19 สิ่งเหล่านี้หล่อเลี้ยงความโกรธและขับเคลื่อนการชุมนุมของนักเรียนศึกษา

๐ คลื่นลูกที่ 1 : ฉากใหม่คุกคามซ้ำเดิม เริ่มตั้งธงแก้รัฐธรรมนูญ

คลื่นการชุมนุมลูกแรก คือ การวิ่งไล่ลุงทั่วประเทศในเดือนมกราคม 2563 เริ่มจากธนวัฒน์ วงค์ไชย นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและเพื่อนนักกิจกรรมรวมตัวกันจัดกิจกรรม โดยมีข้อเรียกร้องที่เป็นรูปธรรมชัดเจน คือ การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ, การแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 และการหยุดเอื้อประโยชน์แก่พวกพ้อง การชุมนุมที่ควรจะจัดได้อย่างเรียบง่ายถูกสกัดตั้งแต่การเริ่มต้นแถลงข่าวถึง 2 ครั้ง เส้นทางวิ่งต้องเปลี่ยนจาก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ไปตามถนนราชดำเนิน ไปเป็นการวิ่งในสวนรถไฟ การคุกคามเกิดขึ้นซ้ำเดิมแม้จะผ่านการเลือกตั้งแล้วเป็นการตอกย้ำให้เห็นว่า การเลือกตั้งไม่ได้เปลี่ยนแปลงให้ประเทศกลับสู่ระบอบเสรีประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

การปิดกั้นและคุกคามซ้ำๆ นับเป็นการเรียกแขกให้แก่กิจกรรมวิ่งไล่ลุง ประกอบกับรูปแบบของกิจกรรมมีความแปลกใหม่ ทำให้มีผู้เข้าร่วมหลักหมื่นคน และมีการจัดดาวกระจายในต่างจังหวัดไม่น้อยกว่า 34 จังหวัด ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในพื้นที่สาธารณะ มีบ้างที่จัดในมหาวิทยาลัย เช่น ม.วลัยลักษณ์ นครศรีธรรมราช

วิ่งไล่ลุงมีข้อเรียกร้องที่ชัดเจนคือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยุบสภาและหยุดเอื้อประโยชน์แก่พวกพ้อง เป็นกิจกรรมวันเดียวจบ แต่นัยสำคัญของมันคือ การผลักเพดานความกลัว นิสิตนักศึกษาและประชาชนหลายจังหวัดขานรับกิจกรรมนี้แม้ในบางพื้นที่จะจัดกันอย่างยากลำบาก เพราะวัฒนธรรมทางการเมืองของแต่ละจังหวัดมีความแตกต่างกันโดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่ภาคใต้ซึ่งฐานที่มั่นของพรรคฝ่ายรัฐบาล แต่พื้นที่ดังกล่าวก็ยังมีผู้ออกมาเคลื่อนไหว เช่น ภูเก็ตและตรัง นอกจากนี้ยังมีการเคลื่อนไหวที่ปัตตานี ซึ่งเป็นพื้นที่ควบคุมภายใต้กฎอัยการศึกมานับสิบปี โดยแกนนำจัดกิจกรรมเป็นกลุ่มนักศึกษาในพื้นที่และมีผู้เข้าร่วมจำนวนไม่น้อยเลยทีเดียว

๐ คลื่นลูกที่ 2 : สถานศึกษาเป็นพื้นที่ปลอดภัย ร่างข้อเรียกร้องสู้ประชาธิปไตย

คลื่นลูกที่สองตามมาติดๆ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 หลังการยุบพรรคอนาคตใหม่ นิสิตและนักศึกษาได้ออกมาเคลื่อนไหวด้วยการจัดการชุมนุม เริ่มจากการให้กำลังใจพรรคอนาคตใหม่และปรับเปลี่ยนเป็นการชุมนุมที่มีข้อเรียกร้องทางการเมืองในทางโครงสร้าง

การชุมนุมในรอบนี้ใช้พื้นที่มหาวิทยาลัยเป็นพื้นที่เคลื่อนไหว มีลักษณะของการเกาะเกี่ยวกับสถาบันการศึกษาเห็นได้จากชื่อกิจกรรม เช่น #เสาหลักจะไม่หักอีกต่อไป ของนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แปลงมาจากวิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัยที่ว่า เป็นเสาหลักของแผ่นดิน และ #KUไม่ใช่ขนมหวานราดกะทิ ของนักศึกษามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่ใช้คำว่า ขนมหวานราดกะทิ แทนชื่อขนมซาหริ่ม ซึ่งมีนัยเสียดสีกลุ่มคนที่ถูกเรียกว่า สลิ่ม นอกจากนี้ยังชื่อกิจกรรมยังถูกทำเป็นแฮชแท็กในทวิตเตอร์ ที่ช่วยแพร่กระจายข้อมูลเรื่องการชุมนุมไปอย่างรวดเร็ว

อันที่จริงแล้ว การเคลื่อนไหวของนักศึกษาในคลื่นลูกนี้มีกลิ่นอายของการประชันขันแข่งระหว่างสถาบันในการหลุดพ้นจากเงาเผด็จการและแสดงออกว่า พวกเขานั้นไม่ได้เพิกเฉยต่อสถานการณ์ทางการเมืองที่เป็นอยู่ เห็นได้จากการตั้งชื่อกิจกรรม เช่น กิจกรรม #ลูกระนาดขอฟาดบ้างแม่ ที่มหาวิทยาลัยบูรพา, #ศิลปากรขอมีซีน ที่มหาวิทยาลัยศิลปากร และกิจกรรม #ตีนดอยjoinชุมนุม ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา วิทยาเขตพายัพ

การชุมนุมที่แพร่ระบาดในมหาวิทยาลัยต่างๆ ในช่วงแรกยังไม่มีข้อเรียกร้องที่ชัดเจน นอกจากการให้กำลังใจพรรคอนาคตใหม่ เท่าที่สามารถเก็บข้อมูลได้ กิจกรรมแรกที่เริ่มมีข้อเสนออย่างเป็นรูปธรรม คือ กิจกรรม #ช้างเผือกจะไม่ทน ของนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2563 โดยเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออกและให้ยุบสภา และในกิจกรรรม #วังท่าพระไม่สายลมแสงแดด ของนักศึกษามหาวิทยาลัยศิลปากร เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2563 ซึ่งเป็นข้อเรียกร้องที่สืบเนื่องจากกิจกรรมวิ่งไล่ลุงในเดือนมกราคม 2563

อย่างไรก็ตามการชุมนุมของนิสิตและนักศึกษาในระลอกนี้ไม่ได้มีข้อเรียกร้องที่สอดคล้องกันในทุกที่ และการชุมนุมหลายครั้งไม่ปรากฏข้อเรียกร้องที่เป็นรูปธรรมชัดเจน แต่สิ่งที่พวกเขามีร่วมกันคือ ความไม่พอใจต่อความไม่เป็นธรรมทางการเมือง ขณะที่การชุมนุมบางแห่งเริ่มมีข้อความที่วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ฯ แล้ว แต่เท่าที่สามารถเก็บข้อมูลได้ เรื่องสถาบันกษัตริย์ฯ ไม่ได้ถูกพูดถึงในการปราศรัยของแกนนำหลัก คลื่นการชุมนุมรอบนี้อยู่ได้เพียงประมาณ 20 วันก็ต้องยุติด้วยเหตุการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19

๐ คลื่นลูกที่ 3 : ผลักข้อเสนอสูงขึ้นสู่การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ฯ

คลื่นลูกที่สามเริ่มต้นอุ่นเครื่องในเดือนพฤษภาคม 2563 หลังจากที่ประชาชนต้องอยู่ภายใต้การล็อคดาวน์เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 เป็นเวลาประมาณ 2 เดือน ระหว่างนั้นคนจำนวนมากต้องประสบกับความยากลำบากทางเศรษฐกิจที่มีจุดเริ่มต้นจากสนามมวยของกองทัพ จนกระทั่งในเดือนพฤษภาคม 2563 สถานการณ์อยู่ในระดับที่ควบคุมได้ การเคลื่อนไหวก็เริ่มต้นอีกครั้งจากการรำลึกเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองของกลุ่มคนเสื้อแดง ตามมาด้วยกิจกรรมการแสดงออกของกลุ่มนักศึกษาที่นำโดยสหภาพนักเรียน นิสิต และนักศึกษาแห่งประเทศไทย พวกเขาเริ่มต้นด้วยการผูกโบว์ขาวและติดป้ายตามสถานที่สำคัญต่างๆ โดยมิได้มุ่งหวังให้มีผู้เข้าร่วมชุมนุม แต่ต้องการสื่อสารทางโซเชียลมีเดียเท่านั้น

จุดเปลี่ยนสำคัญคือ การอุ้มหายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ นักกิจกรรมที่ลี้ภัยทางการเมืองไปกัมพูชาตั้งแต่หลังรัฐประหาร 2557 ทำให้สหภาพนักเรียนฯ และขบวนการนักศึกษาเริ่มออกมาเคลื่อนไหวผ่านการชุมนุมในที่สาธารณะอีกครั้ง ปรากฏการณ์ที่เป็นสัญญาณของความพร้อมในการชุมนุมคือ วันที่ 24 มิถุนายน 2563 ครบรอบการอภิวัฒน์สยาม มีการจัดกิจกรรมไม่น้อยกว่า 8 ครั้ง ทั่วประเทศพร้อมกัน

เดือนกรกฎาคม 2563 เยาวชนปลดแอกนำโดย ทัตเทพ เรืองประไพกิจเสรี นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนัดชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย มีผู้เข้าร่วมการชุมนุมหลายพันคนและเป็นครั้งแรกหลังการรัฐประหารที่สามารถปิดพื้นราชดำเนินและอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยได้ เยาวชนปลดแอกเสนอ 3 ข้อเรียกร้องได้แก่ แก้ไขรัฐธรรมนูญ, ยุบสภาและหยุดคุกคามประชาชน ซึ่งข้อแรกเป็นข้อเรียกร้องเดิมที่ยืนยันมาตั้งแต่กิจกรรมวิ่งไล่ลุง การชุมนุมดังกล่าวนำไปสู่การชุมนุมดาวกระจายทั่วประเทศจำนวนไม่น้อยกว่า 218 ครั้งและแทบทุกที่ขานรับข้อเรียกร้อง 3 ข้อ

เดือนสิงหาคม 2563 เริ่มจากวันที่ 3 สิงหาคม 2563 กลุ่มมหานครเพื่อประชาธิปไตยจัดกิจกรรมเสกคาถาผู้พิทักษ์ปกป้องประชาธิปไตย อานนท์ นำภา ทนายความได้ปราศรัยถึงการขยายพระราชอำนาจในเรื่องทรัพย์สินกษัตริย์และการโอนอัตรากำลังพลทหาร ข้อเรียกร้องถูกผลักให้สูงขึ้นจากการชุมนุม #ธรรมศาสตร์จะไม่ทน ที่เสนอข้อเรียกร้อง 10 ข้อต่อสถาบันกษัตริย์ฯ หลังการเสนอข้อเรียกร้องมีข้อคิดเห็นจากบางฝ่ายว่า ข้อเสนอดังกล่าวอาจสร้างรอยร้าวให้แก่ขบวนการนักศึกษาและสังคมยังปรับตัวไม่ทันกับข้อเสนอนี้อาจนำไปสู่การสนับสนุนที่น้อยลง แต่ผลลัพธ์กลับไม่เป็นเช่นนั้น เห็นได้จากกิจกรรม #ขีดเส้นตายไล่เผด็จการ เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2563 มีผู้เข้าร่วมชุมนุมจำนวนมากเต็มพื้นที่ราชดำเนินกลาง และเมื่อแกนนำดัดแปลงข้อเรียกร้องทั้ง 10 ข้อให้กลายเป็น 1 ความฝันแล้วก็ยังได้รับการสนับสนุนเช่นเดิม

เมื่อการเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ฯ เป็นเรื่องที่ถูกพูดในการชุมนุมอย่างต่อเนื่อง มันได้สร้างหมุดหมายใหม่ในการก้าวข้ามเพดานเสรีภาพเดิม เพราะในช่วงกว่า 6 ปีหลังการรัฐประหารแค่เพียงประชาชนวิจารณ์ คสช.ก็ต้องเผชิญกับข้อกล่าวหาโทษหนักอย่างมาตรา 116 ยุยงปลุกปั่นแล้ว เพดานที่เพิ่มขึ้นนี้เห็นได้จากคำขอร้องของตำรวจที่กล่าวต่ออาจารย์มหาวิทยาลัยท่านหนึ่งทำนองว่า วิจารณ์คสช.ได้ ล่ารายชื่อแก้รัฐธรรมนูญได้ แต่ขออย่าปราศรัยเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ฯ

การชุมนุมระหว่างเดือนกรกฎาคม – ธันวาคม 2563 มักเกิดขึ้นในพื้นที่สาธารณะที่เดิมทีไม่สามารถจัดการชุมนุมได้ แต่นักเคลื่อนไหวเหล่านี้ได้ผลักเพดานเสรีภาพการชุมนุมออกไปจนสามารถทวงคืนความปกติของการชุมนุมสาธารณะกลับมา ขณะที่แฮชแท็กยังคงเป็นตัวกลางแพร่กระจายข้อมูลสำคัญ และการเคลื่อนไหวในช่วงนี้ก็ไม่ได้ผูกติดกับสถานศึกษามากเหมือนในช่วงต้นปีอีกต่อไป

เดือนตุลาคม 2563 การสลายการชุมนุมและกวาดจับแกนนำระหว่างวันที่ 13-16 ตุลาคม 2563 นำไปสู่การเคลื่อนไหว ‘เพราะทุกคนคือแกนนำ’ ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวภายใต้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ผู้ชุมนุมใช้กลยุทธ์ที่หลากหลาย มีความยืดหยุ่นเข้ากับสถานการณ์ ไม่ว่าจะเป็นการนัดการชุมนุมในเวลารวดเร็ว การเปลี่ยนสถานที่ชุมนุมหากสถานที่เดิมถูกปิดกั้น เมื่อประกอบเข้ากับจำนวนผู้เข้าร่วมที่มากขึ้นแม้ไม่มีแกนนำ ทำให้รัฐตัดสินใจยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ หลังประกาศใช้มาไม่ถึงหนึ่งสัปดาห์

การชุมนุมดำเนินต่อเนื่องเรื่อยมาจนถึงช่วงเดือนธันวาคม 2563 ก็ซาลง แกนนำระบุว่า เป็นช่วงพักรบและจะกลับมาใหม่อีกครั้งในปี 2564 การชุนนุมในคลื่นลูกที่ 3 นี้กินเวลายาวนานที่สุดอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาตั้งแต่หลังการรัฐประหาร หากนับตั้งแต่ช่วงอุ่นเครื่องในเดือนพฤษภาคม 2563 ก็เป็นเวลากว่า 7 เดือน

สื่อมวลชน : ผู้ส่งสารที่จำเป็นต้องก้าวข้ามความกลัวไปด้วยกัน

การชุมนุมปี 2563 สื่อและขบวนการเคลื่อนไหวมีความสัมพันธ์ในลักษณะเอื้ออาศัยซึ่งกันและกัน สื่อมีบทบาทสำคัญในการเผยแพร่ข่าวสารการชุมนุมต่อสาธารณะเพื่อขยายขอบเขตการรับรู้เกี่ยวกับข้อเรียกร้องของขบวนการเคลื่อนไหวให้กว้างขวางขึ้น ในอีกด้านหนึ่งกลยุทธ์ของการเคลื่อนไหวของผู้ชุมนุมก็มีส่วนช่วยในการผลักเพดานเสรีภาพสื่อมวลชนให้กลับสู่ภาวะปกติอีกครั้ง

๐ ภูมิทัศน์สื่อก่อนการชุมนุม 2563

วันที่ 11-18 มีนาคม 2556 หรือเมื่อ 7 ปีก่อนไทยพีบีเอสออกอาศรายการตอบโจทย์ประเทศไทย ตอนสถาบันพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ โดยมีแขกรับเชิญ 4 คน ได้แก่ สุรเกียรติ เสถียรไทย อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ, วสิษฐ เดชกุญชร อดีตนายตำรวจประจำราชสำนัก ถวายงานใกล้ชิดในหลวงร.9, สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ปัญญาชนสยาม ฝ่ายอนุรักษ์นิยม และสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เนื้อหาเป็นการกล่าวถึงมาตรา 112 และการปรับตัวของสถาบันกษัตริย์ นำไปสู่กระแสความไม่เห็นด้วยของประชาชนบางกลุ่มและมีการแจ้งความดำเนินคดี รวมทั้งส่งเรื่องให้กสท. องค์กรที่มีหน้าที่กำกับดูแลสื่อโทรทัศน์พิจารณา โดยภายหลังสั่งปรับเป็นเงิน 50,000 บาท (ปี 2561 ศาลปกครองพิจารณาเพิกถอนคำสั่งของกสท.ให้คืนค่าปรับแก่ไทยพีบีเอส) นี่คือบรรยากาศการถกเถียงเรื่องสถาบันกษัตริย์ในสื่อสาธารณะก่อนรัฐประหารไม่นาน

ปี 2557 คสช.มาพร้อมกับการปิดกั้นและคุกคามสื่อมวลชนด้วยประกาศและคำสั่งคสช. โดยกสทช.มีบทบาทหลักในการพิจารณาลงโทษสื่อผ่านพ.ร.บ.ประกอบกิจการฯและประกาศคสช.ที่ 97 และ 103/2557 สื่อที่ถูกลงโทษบ่อยครั้งที่สุดคือ วอยซ์ ทีวี 24 ครั้งจากการลงโทษทั้งหมด 59 ครั้ง เพราะถูกมองว่าเป็นขั้วตรงข้ามทางการเมืองกับคสช. เนื้อหาที่ถูกนำมาพิจารณาให้โทษส่วนใหญ่แล้วคือ เนื้อหาวิเคราะห์ทางการเมือง การถูกลงโทษแต่ละครั้งหมายถึงการตักเตือน ปรับเงิน และพักการออกอากาศ เสมือนหนึ่งเชือดไก่ให้ลิงดูและสร้างบรรยากาศความหวาดกลัวต่อสื่อมวลชนเจ้าอื่นๆ รวมทั้งยังนำไปสู่การเซนเซอร์เนื้อหาภายในองค์กรสื่อจำนวนมาก

สื่อต่างประเทศก็ถูกจำกัดเนื้อหาเช่นกันทั้งการเซนเซอร์ระหว่างการออกอากาศหรือการห้ามตีพิมพ์ในประเทศไทย จนกระทั่งการเลือกตั้ง 2562 ที่จัดขึ้นภายใต้เงื่อนไขการแสวงหาการยอมรับจากประเทศประชาธิปไตย ทำให้เกิดภาพแห่งการผ่อนคลายจำกัดเสรีภาพของสื่อมวลชน แนวโน้มการปิดสื่อด้วยกลไกของกสทช.ลดน้อยลง แต่ไม่ใช่ว่าจะไม่เกิดขึ้นเลยและยังคงวางใจไม่ได้เมื่อรัฐบาลคสช.ไม่ยกเลิกประกาศคำสั่งจำกัดเสรีภาพสื่อ ประกอบกับการเติบโตของสื่อออนไลน์และประชาชนที่ผันตัวมาเป็นสื่อพลเมือง ทำให้การนำเสนอข่าวกลับมางอกงามหลากหลายอีกครั้ง

๐ ภูมิทัศน์สื่อในคลื่นการชุมนุม 2563

การเผยแพร่เนื้อหาผ่านไลฟ์บนสื่อโซเชียลเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ปัจจุบันสื่อต่างๆ นิยมใช้ นอกไปจากการรายงานเนื้อข่าวเป็นบทพูดหรือการตัดต่อวรรคทองของผู้ปราศรัยในการชุมนุม การไลฟ์ คือ ประสบการณ์ร่วมสำคัญที่สร้างผลกระทบอย่างมากในแง่การมีส่วนร่วมของประชาชนและหากเป็นไลฟ์เชิงเนื้อหาและสถานการณ์ นั่นย่อมส่งผลกระทบโดยตรงต่ออำนาจการควบคุมเนื้อหาที่รัฐไม่ต้องให้ประชาชนได้ยิน

๐ ปิดสื่อแบบเดิมไร้ผล

ความท้าทายสำคัญของสื่อคือ การเผยแพร่รายงานข่าวในคลื่นการชุมนุมลูกที่สามที่มีการแสดงออกเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ฯอย่างเข้มข้น ทั้งจากบรรดาแกนนำและผู้เข้าร่วมการชุมนุม หากติดตามย้อนดูการนำเสนอข่าวพบว่า มีสื่อไม่กี่เจ้าที่ไลฟ์เนื้อหาการปราศรัยของการชุมนุมอย่างไม่จำกัด โดยเฉพาะเมื่อเรื่องดังกล่าวเป็นประเด็นแหลมคม สื่อต่างเลือกที่จะรายงานเพียงบางส่วนเท่านั้น เห็นได้จากการชุมนุมวันที่ 10 สิงหาคม 2563 แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมได้เสนอข้อเรียกร้อง 10 ข้อ สื่อจำนวนมากเลือกที่จะนำเสนอข้อเรียกร้องบางส่วนหรือไม่มีการนำเสนอเลย ยกเว้นประชาไท

อย่างไรก็ตาม แม้สื่อจะไม่รายงานแต่ในวันดังกล่าวก็มีการไลฟ์เนื้อหาบนเวทีปราศรัผ่านเพจขบวนการเคลื่อนไหวของนักศึกษาและเหล่าสื่อพลเมือง ในสถานการณ์เช่นนี้วิธีการปิดกั้นแบบเดิมๆ ของรัฐไม่เป็นผลและไม่ทันต่อสถานการณ์ ทำให้การชุมนุมต่อมาในวันที่ 16 สิงหาคม 2563 รัฐเลือกที่จะสกัดช่องทางการส่งสารด้วยการรบกวนสัญญาณโทรศัพท์ ส่งผลให้สื่อแทบจะไม่สามารถไลฟ์สดเผยแพร่เนื้อหาได้เลย เว้นเพียงบางกอกโพสต์ที่ไลฟ์สดพากย์ทับเป็นภาษาอังกฤษ จากนั้นสื่อหลายสำนักกลับมาไลฟ์สดได้ในช่วงท้ายของการชุมนุม หลังมีการเผยแพร่ข่าวการรบกวนสัญญาณโทรศัพท์ของเจ้าหน้าที่รัฐ

ท่ามกลางกระแสสูงของการชุมนุม ประชาชนมีความต้องการทราบข่าวเรื่องการชุมนุมมากขึ้น สื่อมวลชนพยายามอย่างยิ่งในการส่งข่าวการชุมนุม หากไม่มีการแพร่ภาพสดก็ยังคงมีเนื้อหารูปแบบอื่นๆ เช่น สกู๊ปข่าว บทความและภาพชุด ในประเด็นต่างๆ ซึ่งชิ้นงานเหล่านี้มีคุณค่าในการสื่อสารเรื่องราวของผู้ชุมนุมในอีกทางหนึ่ง วอยซ์ ทีวีและสำนักข่าวออนไลน์อย่างประชาไทเน้นการไลฟ์สดเนื้อหาการชุมนุม ขณะที่สื่อเจ้าอื่นจะไลฟ์สดเล่าสถานการณ์ประกอบแทน แต่ไม่ว่าจะอย่างไรทุกหัวทุกเจ้าต่างมุ่งสู่การทำข่าวการชุมนม

๐ คุกคามเสรีภาพสื่อมวลชน

การไลฟ์ยังเป็นเหตุให้สื่อตกเป็นเป้าหมายของการคุกคามเสรีภาพสื่อ ในเดือนกันยายน 2563 กลุ่มไทยภักดีเข้าแจ้งความอานนท์ นำภา และวอยซ์ ทีวีจากการไลฟ์สดเผยแพร่การปราศรัย #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร แต่ก็ยังมีการไลฟ์สดรายงานข่าวอย่างต่อเนื่องเรื่อยมา จนกระทั่ง 15 ตุลาคม 2563 รัฐบาลออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตกรุงเทพมหานครอ้างเหตุการชุมนุมเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2563 ตามมาด้วยคำสั่งหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ห้ามการเสนอข่าวหรือข้อมูลอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัวหรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร ทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉินจนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐหรือความสงบเรียบร้อย มีการระบุชื่อสื่อ 4 เจ้า ได้แก่ วอยซ์ทีวี ประชาไท เดอะรีพอร์ตเตอร์ และ เดอะสแตนดาร์ด โดยมอบหมายให้กสทช.และกระทรวงดิจิทัลฯพิจารณา

สถานการณ์ในปี 2563 ไม่เหมือนกับช่วงการรัฐประหารที่เมื่อมีคำสั่งลงโทษสื่อแล้ว สื่อต้องต่อสู้อย่างโดดเดี่ยว แต่ครั้งนี้สื่อมีกำลังสนับสนุนสำคัญอย่างประชาชน นำไปสู่แฮชแท็กรณรงค์อย่าง #Saveสื่อเสรี และ #หยุดคุกคามสื่อ ต่อมากระทรวงดิจิทัลฯได้ยื่นคำร้องต่อศาลให้มีคำสั่งปิดช่องทางการเผยแพร่ของวอยซ์ทีวี แต่วันที่ 21 ตุลาคม 2563 ศาลปัดตกและอ้างถึงเสรีภาพสื่อตามรัฐธรรมนูญ 2560 คำตัดสินเกิดขึ้นต่อเนื่องกับเหตุการณ์การสลายการชุมนุมด้วยแก๊ซน้ำตา คดีความและการตอบโต้กลับรัฐด้วยการชุมนุมที่ขยายตัวอย่างคาดการณ์ไม่ได้ ทั้งยังตามมาด้วยการเพิกถอนประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ในวันที่ 22 ตุลาคม 2563

๐ กลยุทธ์การชุมนุมดันเพดานเสรีภาพสื่อ

“ค่อยๆ เปิดแผลไปทีละแผลๆ” เป็นคำกล่าวของแกนนำราษฎรในช่วงปลายปี 2563 กลยุทธ์ดังกล่าวเป็นการใช้ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องประสานเข้ากับสถานที่จัดการชุมนุมในเรื่องที่เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ฯ วิธีการนี้เป็นเรื่องแปลกใหม่และช่วยผลักเพดานเสรีภาพของสื่อมวลชนไปด้วย เพราะในการชุมนุมที่ผ่านมา สื่อสามารถหลีกเลี่ยงความแหลมคมในเรื่องสถาบันกษัตริย์ฯได้ เนื่องด้วยพื้นที่การชุมนุมมักจะผูกติดกับสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยและใจกลางเมือง แต่เมื่อข้อเรียกร้องถูกผูกติดสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์ฯ คำถามที่เลี่ยงไม่ได้ที่จะตามมา คือ ทำไมต้องไปที่นั่น? และการรายงานก็ย่อมหลีกเลี่ยงเนื้อหาใจความหลักได้ยาก

เท่าที่สามารถเก็บข้อมูลได้มีการชุมนุมลักษณะนี้เกิดขึ้นอย่างน้อย 3 ครั้งได้แก่ การชุมนุมที่หน้าสถานเอกอัครราชทูตเยอรมนีเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2563, การชุมนุมที่หน้าธนาคารไทยพาณิชย์ ซึ่งเปลี่ยนจากหน้าสำนักงานทรัพย์พระมหากษัตริย์เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2563 และการชุมนุมที่หน้ากรมทหารราบ 11 ซึ่งเปลี่ยนจากหน้ากรมทหารราบที่1 เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2563

ความสำเร็จครั้งสำคัญของกลยุทธ์นี้ปรากฏให้เห็นอย่างน้อยในการรายงานข่าวเรื่องย้อนประวัติศาสตร์-ข้อถกเถียง “ทรัพย์สินพระมหากษัตริย์” ทางไทยพีบีเอสและการดีเบทเรื่องพ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ฯ ทางไทยรัฐทีวี ซึ่งทั้งสองเจ้าถือเป็นสื่อกระแสหลักที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ง่าย

๐ สื่อต่างประเทศ กระบอกเสียงเรื่องแหลมคม

สื่อต่างประเทศก็มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการรายงานข่าวการชุมนุมในปี 2563 ไปทั่วโลก ต้องยอมรับว่า สื่อต่างประเทศมีข้อจำกัดน้อยกว่าสื่อไทย เมื่อเกิดสถานการณ์ร้ายแรงหรือเรื่องที่อาจพูดได้ยาก สื่อต่างประเทศจึงเป็นกำลังหลักในการคลี่คลายข้อเท็จจริง เช่น กรณีขบวนเสด็จฝ่าม็อบราษฎรและคนเสื้อเหลืองที่ทำเนียบรัฐบาลเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม โดยหลังรัฐบาลเดินหน้าดำเนินคดีประทุษร้ายต่อเสรีภาพพระราชินีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 110 จับกุมเอกชัย หงส์กังวาน และสุรนาถ แป้นประเสริฐ และออกหมายเรียกบุญเกื้อหนุน เป้าทอง รอยเตอร์ออกรายงานเชิงสอบสวนเหตุการณ์ขบวนเสด็จด้วยหลักฐานภาพถ่าย วิดีโอและการสัมภาษณ์ผู้ที่เห็นเหตุการณ์ การคลี่คลายข้อเท็จจริงครั้งนี้ยังผลกระทบทางอ้อมเป็นการคลี่คลายสถานการณ์และลดการผูกขาดข้อมูลจากฝ่ายรัฐเพียงฝ่ายเดียว

ขณะเดียวกันยังมีบทบาทในการนำเนื้อหาจากต่างประเทศมาถึงผู้รับสารชาวไทย วันที่ 12 ตุลาคม 2563 บีบีซีไทยที่รายงานเนื้อหาข่าวเรื่องส.ส.พรรคกรีนตั้งคำถามถึงการทรงงานของรัชกาลที่10 ในแคว้นบาวาเรียและระบุด้วยว่า ในประเทศไทย “สื่อมวลชนและสำนักพระราชวังแทบไม่เคยนำเสนอข่าวหรือกล่าวถึงเรื่องที่กษัตริย์ไทยประทับอยู่ในต่างแดน เพราะมีความเสี่ยงที่จะถูกดำเนินคดีตามกฎหมายซึ่งมีขึ้นเพื่อปกป้องสถาบันกษัตริย์จากการถูกวิพากษ์วิจารณ์” ลักษณะดังกล่าวได้ปลดล็อคข้อจำกัดการเข้าถึงเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์ฯ และข้อเท็จจริงที่เพิ่มพูนก็กลายเป็นต้นทุนในการเคลื่อนไหวทางการเมืองต่อไป เช่นที่เกิดขึ้นหน้าสถานเอกอัครราชทูตเยอรมนีเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2563