1940 1880 1574 1006 1199 1670 1779 1617 1115 1063 1541 1504 1851 1362 1855 1845 1199 1487 1783 1079 1258 1778 1334 1505 1060 1172 1561 1138 1358 1229 1685 1008 1800 1656 1990 1564 1484 1284 1736 1268 1356 1398 1116 1328 1036 1689 1632 1605 1192 1013 1997 1429 1919 1299 1501 1450 1007 1774 1384 1599 1659 1142 1985 1723 1008 1358 1313 1485 1500 1885 1351 1859 1182 1482 1735 1989 1368 1685 1877 1529 1143 1890 1675 1688 1159 1177 1908 1870 1669 1658 1433 1797 1776 1154 1889 1538 1571 1489 1803 8 ปีคสช. : เราจะทำตามสัญญา...คุกคามประชาชนถ้วนหน้า | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

8 ปีคสช. : เราจะทำตามสัญญา...คุกคามประชาชนถ้วนหน้า

ในช่วงที่กระแสการชุมนุมทางการเมืองสูงขึ้น เรื่องราวของนักกิจกรรมที่ถูกเจ้าหน้าที่รัฐคุกคามไม่ว่าจะเป็นการไปเยี่ยมที่บ้าน โทรศัพท์ข่มขู่ หรือขับรถตาม เกิดขึ้นแทบทุกวันจนเห็นรายงานข่าวอยู่บ่อยๆ และกลายเป็นเรื่องชินตาของสังคม อย่างไรก็ตาม การคุกคามในรูปแบบที่กล่าวถึงนั้น "ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น" หากแต่เป็นกลยุทธ์ที่ถูกใช้มาอย่างยาวนานตั้งแต่การยึดอำนาจของคสช.ในปี 2557 โดยเป็นปฏิบัติการที่มุ่งหวังให้สังคมไทยกลายเป็น "สังคมปลอดการเมือง" (Depoliticize society) ผ่านการปราบปรามและปิดกั้นเสรีภาพของประชาชนในรูปแบบต่างๆ 
 
เมื่อล่วงเวลามาภายหลังการเลือกตั้ง 2562 วลี "เลือกความสงบ..จบที่ลุงตู่" ที่พรรคพลังประชารัฐใช้หาเสียงในโค้งสุดท้าย ก็ดูจะ "ไม่จริง" แต่ปรากฏเป็นการชุมนุมต่อต้านอำนาจรัฐที่พุ่งสูงขึ้นในแง่ปริมาณ ไม่น้อยกว่า 2,300 ครั้ง จนถึงปี 2565 เมื่อพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาอยู่ในตำแหน่งมานานถึงแปดปี ประตูบ้านของเหล่านักกิจกรรมก็ยังคงมีเจ้าหน้าที่รัฐแวะเวียนมา "เคาะ" หาอยู่เป็นประจำ
 
ไอลอว์ชวนย้อนดู “การคุกคาม” จากเจ้าหน้าที่รัฐ ภายใต้รัฐบาล คสช.1 (2557-2561) และ คสช.2 (2562-2565) ที่นำโดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผ่านไทม์ไลน์สถานการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นในช่วงเวลา “8 ปี” ดังนี้
 
2390
 

o คสช. 1 (2557-2561) : 4 ปีภายใต้ชุดทหาร อ้างต้องการให้สงบ

 
คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ “คสช.” คณะบุคคลผู้ทำการรัฐประหารเมื่อ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 โดยภายหลังการประกาศกฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร คสช. ก็เริ่มต้นเปิดฉากการปิดกั้นเสรีภาพตั้งแต่วันแรกของการยึดอำนาจผ่านหลากหลายกลวิธี
 

++ ออกคำสั่งรายงานตัว ++

การออกคำสั่งเรียกบุคคลให้มารายงานตัวของ คสช. นับเป็นเครื่องมือชิ้นสำคัญในช่วงของการยึดอำนาจ โดยมีทั้งการประกาศออกอากาศทางโทรทัศน์ การโทรศัพท์เรียก การส่งจดหมายเชิญ หรือการไปตามหาตัวที่บ้านพัก หากบุคคลมีลักษณะเป็นแกนนำการเคลื่อนไหวหรือถูกสงสัยว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหว ก็จะถูกเรียกไปพูดคุยเพื่อ "ปรับทัศนคติ" ให้ยุติการเคลื่อนไหว หรือควบคุมตัวไว้ด้วยอำนาจตามพ.ร.บ.กฎอัยการศึก ที่ให้ทหารมีอำนาจ จับกุมบุคคลโดยไม่ต้องมีหมายศาล สามารถเข้าจับกุมได้แม้ในที่รโหฐาน ในเวลาใดก็ได้โดยไม่ต้องมีหมายค้น สามารถควบคุมตัวบุคคลได้ 7 วัน โดยไม่ต้องมีเหตุผล ไม่ต้องเปิดเผยสถานที่ควบคุมตัว ไม่มีสิทธิติดต่อญาติ ไม่มีสิทธิพบทนายความ พร้อมออกประกาศคสช. ฉบับที่ 40/2557 กำหนดให้การไม่มารายงงานตัวเป็นความผิด
 
นอกจากนี้ ในบางพื้นที่ตามต่างจังหวัด การโทรศัพท์เรียกให้ไปรายงานตัว หรือออกหมายเรียกจากส่วนราชการเพื่อให้บุคคลมารายงานตัว อาจออกโดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองหรือเจ้าหน้าที่ทหาร และจะทำการส่งจดหมายไปที่บ้านหรือที่ทำงาน ซึ่งบุคคลที่รายงานตัวจะต้องมาปรับทัศนคติและทำเอกสารข้อตกลง (MOU) กับเจ้าหน้าที่เพื่อยุติบทบาทการเคลื่อนไหวทางการเมือง
 
สถิติของไอลอว์พบว่า ในช่วงสามเดือนแรกของการยึดอำนาจ มีประชนถูกออกประกาศเรียกจำนวน 570 คน และหากจำแนกตามความเกี่ยวข้อง จะพบว่าเป็นบุคคลที่เกี่ยวโยงกับกลุ่มคนเสื้อแดง นปช. และพรรคเพื่อไทย 388 คน รองลงมาคือ กลุ่มนักวิชาการ นักเขียน ดีเจ และนักกิจกรรม 140 คน 
 

++ จำกัดเสรีภาพในสถาบันการศึกษา ++

 
ภายหลังการประกาศยึดอำนาจ ได้มีประกาศให้สถาบันทางการศึกษาหยุดเรียนตั้งแต่วันที่ 22 - 25 พฤษภาคม 2557 ส่งผลให้มหาวิทยาลัยทุกแห่งต้องปิดชั่วคราว และต่อมา มีความพยายามทั้งจากมหาวิทยาลัยและทหารเข้าไปแทรกแซงเพื่อจำกัดสถานที่หรือกิจกรรมเพื่อแสดงความคิดเห็นทางการเมือง
 
ตัวอย่างเช่น กรณีของมหาวิทยาลัยรามคำแหง เมื่อ 5 มิถุนายน 2557 มีนักศึกษา 3 คนถูกควบคุมตัว เนื่องจากมีสติกเกอร์ “ต้านรัฐประหาร” อยู่ในครอบครอง โดยคนหนึ่งถูกจับกุมในมหาวิทยาลัยหลังเจ้าหน้าที่กองกิจการนักศึกษาและรปภ.มหาวิทยาลัยรามคำแหงออกตรวจตราและไล่นักศึกษาที่ยังนั่งเล่นอยู่ให้กลับบ้านก่อนเวลาเคอร์ฟิว ขณะที่คนอื่นๆ ถูกทหารเข้าควบคุมตัวพร้อมอาวุธปืน
 
กรณีของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อ 1 กรกฎาคม 2557 มีคำสั่งเพื่อควบคุมไม่ให้นักศึกษาที่ไม่เห็นด้วยกับ คสช. ใช้พื้นที่เพื่อทำกิจกรรม โดยมีเจ้าหน้าที่ตรวจสอบทางเข้า-ออก ภายในบริเวณมหาวิทยาลัยเพื่อตรวจบัตรพนักงานและบัตรนักศึกษาอย่างเข้มงวด รวมทั้งมีทหารควบคุมอยู่บางจุด นอกจากนี้ มีการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนกรณี “อั้ม เนโกะ” ใช้เสรีภาพในการแสดงออกอย่างไม่เหมาะสมทางสื่อสังคมออนไลน์ และให้คณะกรรมการดังกล่าวมีอำนาจเชิญบุคคลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมาให้การเพื่อสรุปหาข้อเท็จจริง และรายงานเสนอมหาวิทยาลัยลงโทษต่อไป 
 

++ บุกรุกสถานที่ ++

 
ตาม พ.ร.บ.กฎอัยการศึก พ.ศ.2457 ให้ทหารมีอำนาจเหนือพลเรือนตามมาตรา 8 “เมื่อประกาศใช้กฎอัยการศึกในตำบลใด, เมืองใด, มณฑลใด, เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารมีอำนาจเต็มที่จะตรวจค้น, ที่จะเกณฑ์, ที่จะห้าม, ที่จะยึด, ที่จะเข้าอาศัย, ที่จะทำลายหรือเปลี่ยนแปลงสถานที่, และที่จะขับไล่” 
 
จากการเก็บข้อมูลของไอลอว์พบว่า ในระยะเวลา 2 เดือนแรกของการยึดอำนาจ มีการบุกรุกสถานที่เอกชนโดยเจ้าหน้าที่รัฐกว่า 177 แห่ง โดยส่วนใหญ่จะกระทำโดยเจ้าหน้าที่ทหารเป็นหลักและมีเจ้าหน้าที่ตำรวจสมทบ หากจำแนกความเกี่ยวข้องของสถานที่ที่บุกรุก พบว่ามากที่สุดคือสถานีวิทยุชุมชน 99 แห่ง รองลงมาคือบ้านพักของนักวิชาการและกลุ่มนักเคลื่อนทางการเมือง 59 แห่ง และหากจำแนกตามภูมิภาค พบว่าการบุกรุกมักเกิดขึ้นที่ภาคอีสาน 107 แห่ง รองลงมาคือภาคเหนือ 31 แห่ง นอกจากนี้สถิติยังพบว่ามีผู้ที่ถูกควบคุมตัวภายหลังการบุกรุกโดยเจ้าหน้าที่รัฐอย่างน้อย 53 คน 
 

++ เยี่ยมบ้าน ++

 
  • ชวนพูดคุยปรองดอง

ตั้งแต่มกราคม 2558 คสช. พยายามปรับเปลี่ยนรูปแบบการคุกคามเป็นการไปพบที่บ้าน ชวนไปกินกาแฟ หรือกินข้าว เช่น ในเดือนกุมภาพันธ์ 2558 เจ้าหน้าที่ทหารค่ายกาวิละ จังหวัดเชียงใหม่ ได้เชิญแกนนำเสื้อแดงเชียงใหม่ร่วมรับประทานอาหารและพูดคุยเกี่ยวกับปัญหาและหาทางออกทางการเมืองร่วมกัน ต่อมา มีการออก "จดหมายเชิญบุคคล" ให้ไปพบโดยอ้างว่าต้องการติดตามบุคคลเป้าหมาย ต่อมา ในช่วงเดือนเมษายน 2558 รัฐบาลโดยศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป ได้เชิญนักกฎหมาย นักวิชาการด้านสิทธิมนุษยชน นักกิจกรรมทางสังคม และทนายความจำนวนมาก เข้าร่วมหารือเพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาความขัดแย้งที่สโมสรกองทัพบก  โดยข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนระบุว่า ในมีผู้ถูกเชิญเข้าร่วมหารือทั้งหมด 82 ราย ซึ่งมีความเชื่อมโยงกันคือเคยร่วมลงชื่อคัดค้านการใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว มาตรา 44 

 
  • เกลี้ยกล่อมครอบครัว
ในเดือนพฤษภาคม - กรกฎาคม 2558 สืบเนื่องจากการจัดกิจกรรมรำลึกครบ 1 ปี รัฐประหารเมื่อ 22 พฤษภาคม 2558 มีนักกิจกรรมจำนวนมากถูกจับ นำมาสู่การจัดตั้ง "กลุ่มประชาธิปไตยใหม่" ที่ออกมาเรียกร้องเสรีภาพผ่านการเคลื่อนไหวทางการเมือง จากกรณีนี้ ส่งผลให้เจ้าหน้าที่ได้เริ่มปรับเปลี่ยนจากการเรียกรายงานตัวที่ใช้มาแต่เดิม เป็นการเดินทางไปหาเป้าหมายที่บ้านพักโดยไม่ได้นัดหมายไว้ล่วงหน้า มักเป็นการไปโดยไม่มีธุระสำคัญอย่างเป็นทางการ และเข้าพูดคุยกับครอบครัวนักกิจกรรมในลักษณะเกลี้ยกล่อมผู้ปกครองให้พาลูกหลานมารายงานตัวกับเจ้าหน้าที่ ไปจนถึงข่มขู่คุกคาม โดยรูปแบบการเยี่ยมเยียนที่บ้านในช่วงเวลาดังกล่าว มักกระทำโดยตำรวจในท้องที่หรือตำรวจจากกองบังคับการตำรวจสันติบาลที่ไม่แต่งเครื่องแบบ และไป "แสดงตัว" พร้อมกับติดตามความเคลื่อนไหว และเจ้าหน้าที่อาจจะขอถ่ายภาพร่วมกับบุคคลในเป้าหมายเพื่อ "รายงานนาย" ด้วย 
 
  • มาหาในช่วงวันสำคัญ 

หากเป็นในช่วงที่มีกิจกรรมสำคัญ เช่น ช่วงที่มีพระราชพิธี หรือกรณีที่หัวหน้า คสช. เดินทางลงพื้นที่ต่างจังหวัด จะมีเจ้าหน้าที่ไปที่บ้านของคนที่มีประวัติทำกิจกรรมและแจ้งตรงๆ ให้งดการเคลื่อนไหว นอกจากนี้ ก่อนที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะนัดอ่านคำพิพากษาในคดีโครงการรับจำนำข้าวของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 25 สิงหาคม 2560 ก็ได้มีเจ้าหน้าที่เดินทางไปบ้านของแกนนำเสื้อแดงหลายรายอย่างต่อเนื่อง  

ไม่เฉพาะกลุ่มที่เคลื่อนไหวเรื่องการเมืองเพื่อต่อต้าน คสช. เท่านั้น แต่คนที่เคลื่อนไหวแสดงออกในเรื่องอื่นๆ ก็ตกเป็นเป้าการไปติดตามถึงบ้านอย่างจริงจัง เช่น 21 พฤษภาคม 2559 ทหารแต่งชุดลายพราง 2 คน พร้อมเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบเดินทางไปที่บ้านของ "เสมอ" ผู้เข้าร่วมคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดบำเหน็จณรงค์, 11 พฤศจิกายน 2560 ทหารควบคุมตัวแกนนำสวนยางจากจังหวัดพัทลุงและจังหวัดตรังไปเข้าค่ายทหาร หลังเตรียมเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อยื่นข้อเรียกร้องให้แก้ปัญหาราคายางพาราตกต่ำ, 12 มิถุนายน 2561 เจ้าหน้าที่หลายหน่วยงานทั้งทหาร กอ.รมน. ตำรวจ ฝ่ายปกครอง ไปที่บ้านของแสวง แอบเพ็ชร์ ชาวบ้าน จ.นครสวรรค์ที่มีปัญหาข้อพิพาทเรื่องที่ดินกับกรมราชทัณฑ์ เพื่อติดตามว่าจะไปยื่นหนังสือร้องเรียนต่อหัวหน้า คสช. หรือไม่
 
ตั้งแต่วันที่ 17-21 พฤษภาคม 2561  ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่ามีประชาชนอย่างน้อย 54 ราย ที่ถูกเจ้าหน้าที่เข้าเยี่ยมบ้าน นัดหมายพบเจอ เฝ้าติดตาม หรือถูกโทรศัพท์ติดตามความเคลื่อนไหวเป็นระยะ โดยทั้งหมดถูกสอบถามว่าจะเดินทางไปชุมนุม “คนอยากเลือกตั้ง” ในวันที่ 21-22 พฤษภาคม 2561 หรือไม่ และหลายกรณีมีการขอหรือข่มขู่ไม่ให้ไปร่วมกิจกรรม รวมทั้งมีลักษณะปฏิบัติการที่รุนแรงขึ้น เช่น ควบคุมตัวไปค่ายทหาร นำหมายค้นเข้าตรวจค้น-นำกำลังเจ้าหน้าที่จำนวนมากไปล้อมบ้าน ติดตามความเคลื่อนไหวตลอด 24 ชั่วโมง หรือให้เซ็นเอกสารข้อตกลงไม่ไปร่วมการชุมนุม 
 
ต้นปี 2562 ก่อนมีการเลือกตั้งในเดือนมีนาคม เจ้าหน้าที่รัฐยังคงใช้ปฏิบัติการติดตามตัวถึงที่บ้านหรือที่ทำงานและการขอความร่วมมือไม่ให้เข้าร่วมชุมนุม เช่น กรณีตำรวจสันติบาล 2 คน ไปที่บริษัทภายในนิคมอุตสาหกรรมบางพลีเพื่อขอพบนักสหภาพแรงงานไทรอัมพ์และสอบถามว่าจะไปร่วมกิจกรรมคัดค้านการเลื่อนการเลือกตั้งหรือไม่ พร้อมระบุว่า "ช่วงนี้อยากให้บ้านเมืองสงบ" ในขณะเดียวกัน ภายหลังการชุมนุมจบลงแล้ว ก็ยังมีการเข้าติดตามผู้ที่ออกมาชุมนุมหรือเข้าร่วมกิจกรรมถึงที่บ้าน เช่น กรณีของว่าที่ ร.ต.ประเสริฐ หงวนสุวรรณ สมาชิกพรรคสามัญชนแพร่ ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจสันติบาลจำนวน 2 นาย เดินทางไปพบที่บ้านหลังออกมาทำกิจกรรมหน้าศาลากลาง โดยบอกว่า "ถ้าจะทำกิจกรรม ขอให้แจ้งกับทางเจ้าหน้าที่ก่อน"
 

++ ทำร้ายร่างกายนักกิจกรรม (โดยกลุ่มคนไม่ทราบฝ่าย) ++

 
ปี 2561 ในช่วงเวลา 18 เดือนก่อนมีการเลือกตั้ง มีนักกิจกรรมทางการเมืองที่แสดงออกว่าต่อต้าน คสช. ถูกก่อกวน คุกคาม ทำร้ายร่างกายจนบาดเจ็บ หรือทรัพย์สินได้รับความเสียหายอย่างน้อย 15 ครั้ง และในจำนวน 10 ครั้งเป็นกรณีของเอกชัย หงส์กังวาน โดยเกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อ 19 มกราคม 2561 เอกชัยถูกปาแก้วน้ำใส่หลังเดินทางไปทำเนียบเพื่อขอมอบนาฬิกาให้พล.อ.ประวิตร ก่อนจะถูกคุกคามหนักขึ้นเรื่อยๆ เช่น ถูกตักตีจนหัวแตก ถูกชายฉกรรจ์รุมทำร้ายร่างกาย ไปจนถึงถูกเผารถยนต์ 
 
นอกจากนี้ยังมีนักกิจกรรมคนอื่นๆ ที่ถูกกระทำในลักษณะใกล้เคียงกัน เช่น 31 มีนาคม 2562 อนุรักษ์ เจนตวนิชย์ หรือ “ฟอร์ด เส้นทางสีแดง” ถูกทำร้ายร่างกายขณะกลับบ้าน หลังจัดกิจกรรมทางการเมือง และ 2 มิถุนายน 2562 สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือ “จ่านิว” ถูกคนร้ายไม่ต่ำกว่า 5 คน ทำร้ายร่างกาย หลังจัดกิจกรรมเรียกร้องให้ ส.ว.งดออกเสียงเลือกนายกฯ และถูกดักทำร้ายซ้ำอีกครั้งอย่างรุนแรงภายในเดือนเดียวกันจนได้รับบาดเจ็บสาหัส ดวงตาไม่สามารถมองเห็นได้เหมือนเดิม
 
 

++ ปิดกั้นและแทรกแซง กิจกรรมสาธารณะ++

ห้วงเวลาภายใต้การปกครองของ คสช. เพดานของการแสดงออกทางการเมืองในสังคมไทยถูกกดให้ต่ำลงอย่างมากจนภาคประชาชนไม่สามารถจัดกิจกรรมสาธารณะได้อย่างราบรื่น มักถูกเจ้าหน้าที่เข้าปิดกั้นและแทรกแซง ไม่ว่าจะเป็นการชุมนุม การรณรงค์ในพื้นที่สาธารณะ หรือการจัดกิจกรรมความรู้ทางวิชาการในรูปแบบงานเสวนา รวมทั้งการนำกฎหมายความผิดลหุโทษมาดำเนินคดีกับผู้เข้าร่วมกิจกรรม เช่น พ.ร.บ.ความสะอาดฯ  
 
จากการเก็บข้อมูลของไอลอว์ระหว่างปี 2557-2561 พบว่ามีการปิดกั้นและแทรกแซงกิจกรรมสาธารณะจากเจ้าหน้าที่รัฐรวมกันมากกว่า 200 ครั้ง (มากที่สุดคือปี 2558 จำนวน 67 ครั้ง) ประกอบไปด้วยรูปแบบการคุกคามที่หลากหลาย ดังนี้
 
  • โทรศัพท์ขอให้ยกเลิกกิจกรรม
เช่น กิจกรรม “รำกระตั้ว คั่วป๊อบคอร์น นอนดูหนัง” เมื่อ 20 พฤศจิกายน 2557 โดยกลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย (LLTD) ตำรวจได้โทรศัพท์เข้ามาเพื่อขอความร่วมมือกับโรงภาพยนตร์ไม่ให้ฉาย The hunger game ตามรอบกำหนดเดิมที่ทางกลุ่ม LTTD ได้แจ้งประชาชนไว้ก่อนหน้า พร้อมจับกุมผู้เข้าร่วมกิจกรรมไป 3 ราย ก่อนปล่อยตัวออกมาภายหลังทำการตักเตือน
 
  • ส่งหนังสือแทรกแซง-ขอความร่วมมือยุติกิจกรรม
เช่น กิจกรรม “9 ปีที่ก้าวไม่พ้น รัฐประหาร 19 กันยา” โดยขบวนการประชาธิปไตยใหม่ เมื่อ 19 กันยายน 2558 มีหนังสือจากกองทัพภาคที่ 1 ส่งมาที่มหาวิทยาลัยให้ยกเลิกการอนุญาตให้ใช้ห้อง ทางกลุ่มจึงต้องย้ายสถานที่
 
  • บุกเข้ามาในพื้นที่ขณะทำกิจกรรม
เช่น การประชุมภายในเพื่อปรึกษาหารือคดีกับชาวบ้านที่ฟ้องคดีเขื่อนไซยะบุรีและเขื่อนดอนสะโฮง ที่จังหวัดขอนแก่น เมื่อ 5 พฤศจิกายน 2557 มีตำรวจและทหารบุกเข้ามาในห้องประชุม รวมทั้งมีสายข่าวมานั่งเฝ้าการประชุม
 
  • เข้าควบคุมเนื้อหาเสวนา
เช่น งานเสวนาวิชาการ "ประวัติศาสตร์ ว่าด้วยการชำระ และการสร้าง" ของกลุ่มสภาหน้าโดม เมื่อ 5 ตุลาคม 2557 โดยก่อนเริ่มเสวนา มีทหารเข้ามาพูดคุยและขอให้หลีกเลี่ยงเนื้อหาที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคง
 
 
ในช่วงปี 2559 ประเด็นที่เปราะบางอย่างเด่นชัด คือ กิจกรรมสาธารณะที่เกี่ยวข้องกับ “การลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ” ภายหลังคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) นำเสนอร่างรัฐธรรมนูญออกสู่สาธารณะครั้งแรกเมื่อ 29 มกราคม 2559 เพื่อเปิดรับความคิดเห็นจากหน่วยงานต่างๆ โดยกิจกรรมที่จัดขึ้นเพื่อแสดงออกเกี่ยวกับเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญ ถูกเจ้าหน้าที่รัฐแทรกแซงและปิดกั้นอย่างน้อย 20 ครั้ง
 
 
 

o คสช. 2 (2562-2565) : คุกคามต่ออีก 4 ปี ท่ามกลางกระแสคนรุ่นใหม่

 
แม้ว่าในเดือนมีนาคม 2562 จะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น โดยคณะรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งก็ได้ถวายสัตย์ฯ เข้ารับตำแหน่งในวันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2562 อีกทั้งเมื่อ 15 กรกฎาคม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้อ่านสารอำลาในโอกาสสิ้นสุดการปฏิบัติหน้าที่ผ่านทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย แต่ดูเหมือนว่าความเปราะบางของ คสช.และรัฐบาลจะไม่ได้สิ้นสุดตามลง เนื่องจากรูปแบบการคุกคามแบบเดิมๆ จากเจ้าหน้าที่รัฐ เช่น การโทรศัพท์ข่มขู่, เยี่ยมบ้าน, กดดันให้ทำ MOU หรือใช้กฎหมายอย่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เพื่อปิดกั้นการวิพากษ์วิจารณ์รัฐในโลกออนไลน์ ก็ยัง "มีคง" อยู่เรื่อยมา 
 
ภายใต้วิกฤตการณ์โควิด-19 ในช่วงปี 2563-2564 เจ้าหน้าที่รัฐอ้างสถานการณ์โรคระบาดเพื่อสกัดกั้นและติดตามคุกคามผู้แสดงออกทางการเมือง ได้แก่ การดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมด้วย "พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ" ในฐานะเครื่องมือหลักเพื่อปราบปรามการจัดกิจกรรมสาธารณะ โดยจากสถิติจนถึงเดือนมีนาคม 2565 มีผู้ถูกกล่าวหาด้วย พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อย่างน้อย 1,445 คน จากจำนวนกว่า 600 คดี นอกจากนี้ยังมีการใช้ “ข้อมูลนัดหมายฉีดวัคซีน” เพื่อตามจับนักกิจกรรมหรือสะกดรอยตามอีกด้วย
 

++ กดดันเยาวชนผ่านโรงเรียน ++

 
ภายหลังการเกิดขึ้นของการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลที่นำโดยเยาวชนคนรุ่นใหม่ ในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 2563 พบว่ามีการคุกคามประชาชนเกิดขึ้นอย่างน้อย 79 ครั้ง โดย 13 ครั้งเป็นการคุกคามภายในสถาบันทางการศึกษา เนื่องจากผู้เข้าร่วมการชุมนุมส่วนหนึ่งยังเป็นเยาวชน เช่น กรณีเมื่อ 22 กรกฎาคม 2563 มีการเปิดเผยหนังสือราชการที่ออกโดย ผกก.สภ.เมืองพัทลุง ส่งถึงผู้อำนวยการโรงเรียนสตรีพัทลุง เรื่องขอความร่วมมือให้อำนวยการประชาสัมพันธ์ ไม่ให้นักเรียนและผู้ปกครองไปร่วมชุมนุมใน ไม่เข้าร่วมกิจกรรมชุมนุมสาธารณะ โดยอ้างถึงความผิดในการรวมตัวชุมนุมมาด้วย
 
หรือกรณีของกรณีเมื่อ 24 กรกฎาคม 2563 กรณีนักเรียนชั้น ม.6 จากโรงเรียนในจังหวัดปัตตานี แจ้งว่าครูฝ่ายปกครองเชิญนักเรียนและผู้ปกครองมาพบที่โรงเรียน เนื่องจากมีตำรวจสันติบาลโทรศัพท์มาหา และบอกว่ามีนักเรียนของโรงเรียนดังกล่าวไปชุมนุมและถือป้ายรอยัลลิสต์มาเก็ตเพลส โดยอ้างว่าอาจมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112
 

++ สอดแนมด้วยเทคโนโลยี ++

 
ในปี 2564 ภายหลังการเคลื่อนไหวภาคประชาชนยังไม่สามารถถูกกำราบลงได้ เจ้าหน้าที่รัฐก็มีความพยายามที่จะตรวจสอบและเก็บข้อมูลผู้ชุมนุมหรือบุคคลที่แสดงออกว่าอยู่ตรงข้ามกับรัฐบาลด้วยวิธีที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น เช่น  
 
  • ติดจีพีเอสใต้รถนักเคลื่อนไหว
กรณีเมื่อ 16 สิงหาคม 2564 กลุ่มทะลุฟ้าได้โพสต์ผ่านเพจเฟซบุ๊กว่า ตรวจพบเครื่องติดตามและดักฟังใต้ท้องรถยนต์ โดยคาดว่าอุปกรณ์ดังกล่าวถูกเจ้าหน้าที่นำมาติดตั้งเมื่อ 2 สิงหาคม 2564 ภายหลังกลุ่มทะลุฟ้าโดนจับกุมและถูกยึดรถจากหน้าสโมสรตำรวจไว้ที่สน.ทุ่งสองห้อง นอกจากนี้ยังมีกรณีเมื่อ 10 ตุลาคม 2564 พรรณิการ์ วานิช อดีตส.ส.พรรคอนาคตใหม่ ออกเปิดเผยผ่านทวิตเตอร์ว่า เมื่อหลายเดือนก่อนในขณะที่เอารถไปซ่อม ช่างได้ตรวจพบอุปกรณ์ติดตามตัว ข้างหลังเป็นแถบแม่เหล็กติดอยู่ที่ใต้ท้องรถ ด้านในมีซิมการ์ด และมีลักษณะของวิธีการติดอย่างมืออาชีพ 
 
  • ส่งสปายแวร์แฮ็คโทรศัพท์นักกิจกรรม
ตั้งแต่ 24 พฤศจิกายน 2564 นักกิจกรรมและนักวิชาการหลายคน เช่น เดฟ-ชยพล ดโนทัย กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม และสมาชิกกลุ่ม WeVo, เอเลียร์ ฟอฟิ กลุ่มศิลปะปลดแอก, รพี อาจสมบูรณ์ กลุ่มศาลายาเพื่อประชาธิปไตย, รศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ สฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์ ทยอยออกมาเปิดเผยว่าได้รับอีเมลล์แจ้งเตือนจาก Apple ระบุว่า “ผู้ใช้อาจตกเป็นเป้าหมายการดำเนินการที่เข้าข่ายว่าเป็นการโจมตีโดยสปายแวร์ที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐ” 
 
 

++ ตรวจสอบที่มารายได้/ภาษี องค์กรภาคประชาสังคม ++

 
  • ร่างพ.ร.บ.ควบคุมการรวมกลุ่มฯ
เมื่อ 29 มิถุนายน 2564 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเห็นชอบการเพิ่มเติมหลักการของร่าง “พระราชบัญญัติการดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหาผลกำไร พ.ศ. …” โดยมีสาระสำคัญเพื่อวางมาตรการให้องค์กรภาคประชาสังคมที่อยู่ในรูปแบบสมาคม มูลนิธิ หรือคณะบุคคล ต้องเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับองค์กรเพื่อให้รัฐและสาธารณชนเข้าถึง อีกทั้งต้องไม่ทำการที่จะกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อย ศีลธรรมอันดี และไม่ก่อให้เกิดความแตกแยก ซึ่งร่างดังกล่าวเปิดช่องให้รัฐใช้อำนาจสอดส่องการทำกิจกรรมของประชาชนและการใช้เงินทุนและเงินบริจาคและสั่งปิดองค์กรที่ทำงานทางสังคมได้
 
  • ใช้สรรพากรตรวจสอบภาษี NGO
11 กุมภาพันธ์ 2565 ตัวแทนองค์กรภาคประชาชนจาก 6 องค์กร เช่น มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม, สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) ได้ออกมาเปิดเผยถึงกรณีเจ้าหน้าที่สรรพากรออกหนังสือขอตรวจสอบภาษีและที่มาของเงินในองค์กรที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนและวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล โดยเจ้าหน้าที่ของสรรพากรให้การยอมรับว่า “มีที่มาจากใบสั่งของบุคคลในรัฐบาล” 
 

++ การคุกคาม เพื่อปกป้องกิจกรรมของสถาบันฯ ++

 
หนึ่งในข้อเรียกร้องหลักของม็อบราษฎร 2563 เรื่อง “ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์” ส่งผลให้ความอ่อนไหวในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์ เช่น การรับปริญญา, ขบวนเสด็จ, พระราชพิธีในวันสำคัญ กลายเป็นประเด็นหลักในการคุกคามของเจ้าหน้าที่รัฐในปี 2565 โดยจากสถิติของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิและมนุษยชนพบว่า ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2565 มีการคุกคามเกิดขึ้นอย่างน้อย 149 ราย ในจำนวนนี้เป็นเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 18 ปี จำนวน 15 ราย ดังตัวอย่างต่อไปนี้ 
 
  • การรับปริญญา
5-20 มกราคม 2565 เกิดกรณีการคุกคามสมาชิกกลุ่มโกงกาง ทั้งในรูปแบบการโทรศัพท์เพื่อสอบถามข้อมูล, พูดคุยกับผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านเพื่อสอบถามข้อมูล, การเข้ามาติดตามบริเวณที่พัก ไปจนถึงการขับรถติดตาม โดยกลุ่มโกงกางระบุว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจและฝ่ายความมั่นคงพยายามสอบถามว่า ทางสมาชิกกลุ่มจะเข้ารับปริญญาหรือไม่และจะทำกิจกรรมอะไรหรือไม่ในงานรับปริญญาของมหาวิทยาลัยบูรพาที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 19-20 มกราคม 2565 
 
  • ขบวนเสด็จ
17 มีนาคม 2565 เพจ "ทะลุวัง – ThaluWang" โพสต์ข้อความเล่าถึงกรณีที่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจปรากฏตัวที่บ้านพักของนักกิจกรรมสองคนซึ่งเป็นผู้ต้องหาในคดีมาตรา 112 จากการทำกิจกรรม “โพลขบวนเสด็จ” ที่ห้างสยามพารากอน เมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2565 โดยหนึ่งในผู้ถูกคุกคามเล่าว่า เจ้าหน้าที่ได้เข้ามาพูดคุยพร้อมถามว่า “พรุ่งนี้ขอได้ไหม อย่าไปขบวนเสด็จ” ในขณะที่อีกคนตำรวจส่งหมายเรียกซ้ำในคดีเดิม แม้ว่าผู้ต้องหาทุกคนในคดีจะเดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหาที่ สน.ปทุมวัน ไปก่อนแล้ว 
 
  • พระราชพิธี
6 เมษายน 2565 นักกิจกรรมเยาวชน อายุ 17 ปีจากจังหวัดบุรีรัมย์ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า เช้าวันนี้ซึ่งเป็นวันจักรี มีเจ้าหน้าที่ตำรวจมาสังเกตการณ์บริเวณหน้าบ้าน โดยเจ้าหน้าที่มาถามหาตัวเขาและพูดตักเตือนกับสมาชิกในครอบครัวว่า “ให้ดูแลหลานให้ดี วันนี้วันจักรีเขามีพิธี อย่าให้ไปสร้างความวุ่นวายที่ไหน” 
 
ชนิดบทความ: