“เสื้อ-โพล-ป้าย” เป็นสิ่งเปราะบาง: สำรวจการปิดกั้นและการแสดงออกทางการเมือง ในงานรับปริญญา มธ. 65

แคมเปญ #ไม่รับปริญญา ถูกจุดประกายขึ้นตั้งแต่เวทีการชุมนุมที่บริเวณสกายวอล์ก แยกปทุมวัน เมื่อ 8 สิงหาคม 2563 ในฐานะช่องทางการแสดงออกทางการเมืองต่อประเด็นสถาบันพระมหากษัตริย์ และนำมาซึ่งมาตรการตรวจการที่ “เข้มงวด” ในงานรับปริญญาของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ของปีนั้นในวันที่ 30-31 ตุลาคม 2563 

เนื่องด้วยสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 พิธีพระราชทานปริญญาบัตรที่พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 10 จะเสด็จมาด้วยพระองค์เองก็ห่างหายไปเนิ่นนาน กระทั่งปลายปี 2564 เมื่อกำหนดการงานรับปริญญาเริ่มกลับคืนมา งานรับปริญญาก็ได้รับเลือกจากนักกิจกรรมให้เป็นช่องทางเพื่อส่งสารทางการเมืองอีกครั้ง เช่น กรณีการเผาชุดครุยเพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ของบัณฑิตคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ระหว่างวันพิธีพระราชทานปริญญาบัตร เมื่อ 13 ธันวาคม 2564  

ความเชื่อมร้อยกันระหว่างข้อเรียกร้อง “ปฏิรูปสถาบันฯ” ของผู้ชุมนุมกับพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ได้ส่งผลให้งานรับปริญญากลายเป็นช่วงเวลาแห่งความ “เปราะบาง” สำหรับหน่วยงานความมั่นคงไปโดยปริยาย ตัวอย่างชัดเจนจากกรณีการคุกคามโดยเจ้าหน้าที่รัฐที่เกิดขึ้นในช่วงใกล้กำหนดการรับปริญญา เช่น เมื่อต้นปี 2565 สมาชิกกลุ่มโกงกาง (กลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยบูรพาที่เคลื่อนไหวทางการเมือง) ถูกเจ้าหน้าที่โทรศัพท์เพื่อสอบถามข้อมูล, มาติดตามบริเวณที่พัก ไปจนถึงขับรถตาม โดยกลุ่มโกงกางระบุว่า เจ้าหน้าพยายามสอบถามว่าสมาชิกกลุ่มจะเข้ารับปริญญาหรือไม่ และจะทำกิจกรรมอะไรในงานรับปริญญาของมหาวิทยาลัยบูรพาที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 19-20 มกราคม 2565 หรือไม่

กลางปี 2565 กำหนดการรับปริญญาของมหาวิทยาลัยที่ได้ชื่อว่าเป็นดินแดนแห่งเสรีภาพทุกตารางนิ้ว อีกทั้งเป็นสถานศึกษาที่กำเนิดของ “10 ข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันฯ” ถูกประกาศออกมาอย่างเร่งด่วน ท่ามกลางกระแสของการชุมนุมที่ไม่ครึกครื้นเฉกเช่นปีก่อนๆ

ไอลอว์ชวนสำรวจ “การคุกคาม” และความพยายาม “ปิดกั้น” การแสดงออกทางการเมือง ภายในงานรับปริญญาของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระหว่างวันที่ 27-29 พฤษภาคม 2565 ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 เสด็จมาเป็นผู้พระราชทานปริญญาบัตรด้วยพระองค์เอง ดังต่อไปนี้

o โดนกักตัวหน้างาน เหตุสวมเสื้อ “ยกเลิก112 – ทะลุฟ้า”

27 พฤษภาคม 2565 เกิดกรณีของพี (นามสมมติ) นักศึกษาที่ตั้งใจเดินทางมาร่วมงานรับปริญญา ถูกเจ้าหน้าที่ห้ามไม่ให้เข้างาน พร้อมใช้โทรศัพท์ถ่ายรูปพีจำนวนหลายรูปที่บริเวณจุดตรวจหน้าประตูเข้างาน เนื่องจากพีสวมเสื้อที่ปรากฏคำว่า “ยกเลิก 112” และ “ปฏิรูปสถาบัน”

พีเล่าว่าเจ้าหน้าที่ไม่ได้แจ้งเหตุผลที่ทำให้ไม่สามารถเข้างานได้ เพียงแต่กล่าวว่าอาจมีปัญหาเกิดขึ้น รวมทั้งมีทางเลือกให้ คือ 1) ถอดเสื้อออก โดยเจ้าหน้าที่จะยึดเสื้อไปพร้อมหาเสื้อให้ใส่ใหม่ และ 2) ไม่อนุญาตให้เข้าไปในงาน ภายหลังพีเลือกที่จะไม่เข้างาน พบว่ามีเจ้าหน้าที่ในเครื่องแบบ สน.ชนะสงคราม คอยเดินตามเป็นระยะ และเข้ามาสอบถามข้อมูลส่วนตัว เช่น ชื่อ ที่อยู่ สถานศึกษา และถามว่า “มากับใคร มีเจตนาอะไร” รวมทั้งขออาสา “ไปส่ง” กลับบ้าน แต่พีเลือกที่จะปฏิเสธตอบคำถาม และเรียกวินมอเตอร์ไซค์เพื่อออกไปยังบริเวณอื่น เจ้าหน้าที่จึงหยุดตาม

ต่อมา 28 พฤษภาคม 2565 เวลา 12.36 น. ไอลอว์ได้รับรายงานว่า มีประชาชนรายหนึ่งสวมเสื้อสกรีนข้อความ “ทะลุฟ้า” ถูกกักตัวที่หน้าทางเข้า ซึ่งไม่แน่ชัดว่าเกิดจากสาเหตุใดและภายหลังสามารถเข้าไปในมหาวิทยาลัยได้หรือไม่

นอกจากนี้ ภายในวันเดียวกัน เวลา 16.14 น. ยังมีกรณีของพิงค์ นักกิจกรรมเด็กอายุ 13 ปี ที่สวมเสื้อสีขาว สกรีนข้อความว่า “ยกเลิก 112 ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์” โดยพิงค์ถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวไว้ที่บริเวณจุดคัดกรอง จากนั้น มีคนที่ระบุว่าเป็นกรรมการบัณฑิตเข้ามาพูดคุยด้วยและเสนอทางเลือกคือ 1) เปลี่ยนเสื้อเพื่อให้สามารถเข้าไปภายในงานได้ หรือ 2) หากไม่เปลี่ยนเสื้อก็ต้องกลับออกไป โดยพิงค์ตอบกลับไปว่า “การสวมเสื้อผ้าเป็นเสรีภาพ” พร้อมพยายามต่อรองว่าสามารถนำสติกเกอร์มาปิดข้อความบนเสื้อได้หรือไม่ แต่กรรมการกลัวว่าเธออาจแกะสติกเกอร์ออกเมื่อเข้าไปด้านใน พิงค์จึงเสนออีกว่าจะขอยืมเสื้อยืดของเพื่อนที่มีข้อความ “ปริญญาศักดินา” ใส่แทนได้หรือไม่ แต่สุดท้ายไม่สามารถตกลงกันได้ พิงค์จึงตัดสินใจเดินทางกลับ

ทั้งนี้ พิงค์เล่าเสริมว่า ระหว่างการพูดคุย กรรมการบัณฑิตกล่าวกับเธอใจความว่า มหาวิทยาลัยไม่ใช่ที่แสดงออกและอยากให้คิดถึงอนาคตของตัวเอง

o บัณฑิตทำโพลถามความเห็น “ม.112” ถูกล้อม-ยึดป้าย

27 พฤษภาคม 2565 เกิดกรณีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยเข้าล้อม รุจน์ บัณฑิตจากสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร (SIIT) ซึ่งยืนทำกิจกรรมในชุดครุย บริเวณประตูท่าพระอาทิตย์ เป็นการทำโพลติดสติกเกอร์สอบถามความคิดเห็น  ประกอบไปด้วยสองตัวเลือก คือ “ยกเลิก 112” และ “สนับสนุน 112”

รุจน์เล่าว่า หลังจากเริ่มทำกิจกรรมได้ 15-20 นาที มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย (สวมเสื้อกั๊ก) จำนวน 7-8 คนเข้ามาถามชื่อ และถามว่า “เป็นนักศึกษาใช่ไหม” จากนั้นเจ้าหน้าที่ได้ยืนล้อมกระจายออกเป็นวงห่างๆ เพื่อไม่ให้คนในงานเข้ามาติดสติกเกอร์ พร้อมทั้งถ่ายรูปตลอดช่วงเวลาที่รุจน์ทำกิจกรรม

ต่อมา มีตัวแทนกรรมการบัณฑิตเข้ามาพูดคุยและขอดูกระดาษคำถามที่ใช้ทำกิจกรรมทั้งหมด เนื่องจากรุจน์ได้เตรียมกระดาษไว้ 4-5 คำถาม จากนั้นตัวแทนกรรมการบัณฑิตขอให้เขาเปลี่ยนหัวข้อ รุจน์จึงคิดคำถามใหม่ที่มีความสืบเนื่องกัน ได้แก่ “ประเทศไทยมีเสรีภาพในการแสดงออกหรือไม่?” อย่างไรก็ตาม รุจน์เล่าว่าเมื่อเปลี่ยนคำถามแล้วก็ยังมีอาจารย์ในคณะและตัวแทนกรรมการบัณฑิตคนเดิมเดินเข้ามาพูดคุยเพื่อขอให้เลิกทำกิจกรรม เนื่องจากยังไม่สบายใจ ตนจึงยินยอมเอาลง หลังจากนั้นมีคนของกองกิจการนักศึกษาเข้ามายึดกระดาษไปทั้งหมด เนื่องจากกลัวว่าตนอาจกลับไปทำกิจกรรมต่อ

ภายหลังยุติกิจกรรม รุจน์สังเกตว่ามีตำรวจนอกเครื่องแบบหนึ่งคนคอยเดินตามและถ่ายรูปตั้งแต่ออกมาจากประตูท่าพระอาทิตย์จนถึงตึกกิจกรรมของคณะ SIIT โดยรุจน์เลือกเดินเข้าไปถ่ายรูปบุคคลดังกล่าว แต่เจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบได้ปิดหน้าและเดินหนี จากนั้น มีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบอีกคนเปลี่ยนมาติดตามต่อ ก่อนที่ในช่วงเย็นจะมีบุคลากรของคณะ SIIT มาช่วยดูแลความปลอดภัยกระทั่งรุจน์เดินทางกลับบ้าน ทั้งนี้ รุจน์ไม่ทันสังเกตว่าเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบเลิกติดตามเขาไปในเวลาใด

เมื่อถามถึงความรู้สึก รุจน์ตอบว่าไม่กังวลเรื่องการคุกคามที่อาจตามมามากนัก แต่เป็นห่วงเพื่อนๆ ที่เข้ามาถ่ายรูปด้วย เนื่องจากมีเจ้าหน้าที่มาติดตามถ่ายรูปตลอดเวลาที่อยู่กับเพื่อน อีกทั้งรุจน์ยังมองว่า พื้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นพื้นที่ที่ปลอดภัยมากที่สุดในการแสดงออกเรื่องดังกล่าว พร้อมยืนยันว่าการทำโพลสอบถามความคิดเห็นไม่เป็นเรื่องผิดกฎหมาย  

o นอกเครื่องแบบโผล่กลางม. ตามถ่ายรูปนักกิจกรรม – กรรมการบัณฑิตกังวล “ป้ายข้อความการเมือง”

20 พฤษภาคม 2565 ซึ่งเป็นวันซ้อมใหญ่ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพจแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ได้โพสต์ภาพการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ด้วยการโปรยกระดาษที่ลานปรีดี พนมยงค์ ข้อความว่า “ขอรับปริญญากับคนที่เราเลือก #ไม่รับปริญญากับคนแปลกหน้า” พร้อมติดแฮชแท็ก #ไม่เข้ารับปริญญา ในโพสต์ดังกล่าว 

ต่อมา 29 พฤษภาคม 2565 เวลาประมาณ 14.00 น. ผู้สังเกตการณ์ของไอลอว์พบเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบ (เสื้อสีน้ำเงิน) ผมเกรียนและใส่หมวก จำนวน 3 คน บริเวณคณะรัฐศาสตร์ ในระหว่างที่ รุ้ง ปนัสยา และสมาชิกคนอื่นๆ ของกลุ่มแนวร่วมมธ.ฯ ร่วมถ่ายภาพแสดงความยินดีกับบัณฑิต 

บิ๊ก-เกียรติชัย หนึ่งในสมาชิกกลุ่มเล่าว่า มีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบ สวมเสื้อสีเหลือง หัวเกรียน อย่างน้อย 4 คน พยายามถ่ายรูปเขาในขณะที่ร่วมแสดงความยินดีกับบัณฑิต โดยเจ้าหน้าที่ยืนกระจายตัวอยู่ทั้งบนอาคาร และรอบๆ บริเวณที่เขายืนอยู่ นอกจากนี้ บิ๊กยังตั้งคำถามผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า เหตุใดอธิการบดีจึงอนุญาตให้เจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบเข้ามาภายในมหาวิทยาลัย “คุณรู้ไหมว่าหลายคนกลัว บางคนก็โดนแอบถ่ายรูปไปไม่รู้เท่าไร ผมเองก็โดนถ่าย จนต้องเดินตามไปหลายคนเพื่อให้เขาหยุดทำ” 

ในเวลา 15.14 น. จากไลฟ์ของเบนจา อะปัญ หนึ่งในสมาชิกแนวร่วมมธฯ บอกเล่าเหตุการณ์กรณีมีตัวแทนกรรมการบัณฑิตหญิงเข้ามาพูดคุยกับบัณฑิตคณะรัฐศาสตร์เพื่อขอให้หยุดการชูป้ายภาษาละติน ข้อความว่า “Salus populi suprema lex esto” (ความปลอดภัยของประชาชนเป็นกฎหมายสูงสุด) โดยหนึ่งในกรรมการบัณฑิตกล่าวว่า “ขอละไว้ในฐานที่เข้าใจนิดนึงนะ” แต่สมาชิกคนอื่นๆ ขอให้ชี้แจงเหตุผล ตัวแทนกรรมการบัณฑิตหญิงจึงตอบว่า “จริงๆ ธรรมศาสตร์ของเรามีสิทธิเสรีภาพอยู่แล้ว เราเข้าใจ แต่วันนี้เราขอ…” จากนั้นเบนจาได้ถามแทรกขึ้นมาว่า “เสรีภาพไม่ได้มีทุกวันหรอคะ หรือมีแค่บางวัน?”
ในช่วงท้ายไลฟ์ มีชายที่กล่าวว่าเป็นประธานกรรมการบัณฑิตเดินเข้ามาพูดคุยว่า “วันนี้เป็นวันรับปริญญา เราอยากให้เป็นป้ายแสดงความยินดีมากกว่า” ซึ่งบัณฑิตเจ้าของป้ายยืนยันว่า ข้อความดังกล่าวเป็นคำที่อาจารย์สอนในวิชารัฐศาสตร์ และต้องการนำมาชูเพื่อถ่ายรูปกับเพื่อนๆ เพียงเท่านั้น จากนั้นเรื่องจึงยุติลง
นอกจากนี้ ในวันเดียวกัน เวลา 16.28 น. ยังเกิดกรณีกรรมการบัณฑิตเข้าไปพูดคุยกับ พิงค์ นักกิจกรรมเด็กอายุ 13 เพื่อขอให้เก็บป้ายกระดาษเอสี่ ข้อความว่า “ปริญญาศักดินา” และ “หยุดผลิตซ้ำพิธีกรรมศักดินา” อีกด้วย
สำหรับสถิติการจบการศึกษาระดับปริญญาตรีของบัณฑิตมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในปี 2565  มีผู้ไม่เข้ารับปริญญา 7,761 คน จากทั้งหมด 15,136 คิดเป็น 51.3% และหากจำแนกตามกลุ่มคณะตามที่มหาวิทยาลัยกำหนด มีสถิติการไม่เข้ารับดังนี้
  • กลุ่ม (1) จำนวน 6 คณะ ได้แก่ คณะศิลปศาสตร์, วิทยาลัยแพทยศาสตร์นานาชาติจุฬาภรณ์, วิทยาลัยนวัตกรรม, วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วยอึ๊งภากรณ์, วิทยาลัยโลกคดีศึกษา และคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ ไม่เข้ารับ 1,620 คน จากทั้งหมด 2,533 คน คิดเป็น 64%
  • กลุ่ม (2) จำนวน 4 คณะ ได้แก่ สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร, วิทยาลัยสหวิทยาการ, คณะเศรษฐศาสตร์ และคณะแพทยศาสตร์ ไม่เข้ารับ 1,263 คน จากทั้งหมด 2,494 คน คิดเป็น 50.6%
  • กลุ่ม (3) จำนวน 4 คณะ ได้แก่ คณะนิติศาสตร์, คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน, คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา และคณะศิลปกรรมศาสตร์ ไม่เข้ารับ 866 คน จากทั้งหมด 2,533 คน คิดเป็น 34.2%
  • กลุ่ม (4) จำนวน 4 คณะ ได้แก่ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, คณะเภสัชศาสตร์, คณะทันตแพทยศาสตร์ และคณะสหเวชศาสตร์ ไม่เข้ารับ 1,181 คน จากทั้งหมด 2,511 คน คิดเป็น 47%
  • กลุ่ม (5) จำนวน 4 คณะ ได้แก่ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี, คณะพยาบาลศาสตร์, คณะสาธารณสุขศาสตร์ และคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง ไม่เข้ารับ 1,446 คน จากทั้งหมด 2,526 คน คิดเป็น 57.2%
  • กลุ่ม (6) จำนวน 4 คณะ ได้แก่ คณะวิศวกรรมศาสตร์, คณะวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์, คณะรัฐศาสตร์ และคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ ไม่เข้ารับ 1,385 คน จากทั้งหมด 2,539 คน คิดเป็น 54.5%

อ่านเพิ่มเติม

o กรรมการบัณฑิตมธ. สกัดเด็ก 13 ปีระหว่างแคมเปญ #ปริญญาศักดินา 

o รวมมาตรการตรวจเข้ม ผวา ‘บิ๊ก เซอร์ไพรส์’ รับปริญญา มธ. 63–คำถามระงมใครส่งข้อมูลให้ จนท.