1314 1095 1604 1009 1097 1357 1738 1280 1329 1235 1170 1184 1195 1666 1275 1248 1246 1192 1740 1792 1612 1072 1409 1460 1505 1584 1136 1569 1022 1179 1640 1889 1772 1736 1283 1347 1676 1245 1774 1823 1401 1954 1175 1869 1759 1497 1476 1285 1466 1759 1548 1645 1527 1308 1595 1579 1537 1532 1055 1911 1448 1214 1792 1172 1520 1006 1038 1292 1541 1865 1731 1132 1977 1980 1064 1847 1296 1438 1560 1346 1542 1148 1004 1145 1040 1682 1453 1038 1478 1462 1908 1056 1369 1292 1104 1010 1992 1226 1600 พอร์ท ไฟเย็น: จังหวะชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปในฤดูร้อน | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

พอร์ท ไฟเย็น: จังหวะชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปในฤดูร้อน

 

 

ปริญญา ชีวินกุลปฐม หรือพอร์ท’  นักร้อง นักดนตรี สมาชิกวงไฟเย็นเป็นหนึ่งจำเลยคดีมาตรา 112 ที่ถูกดำเนินคดีหลังการชุมนุมของราษฎร 2563 

 

เรื่องราวชีวิตช่วงสำคัญของพอร์ทผกผันและหักเหไปในฤดูร้อนที่ผ่านเข้ามาถึงสามครั้ง ฤดูร้อนแรก คือ  ชีวิตวัยรุ่นที่หลงใหลอัลบั้มซัมเมอร์ของพาราด็อกซ์ และฤดูร้อนนี้ส่งอิทธิพลในการทำงานเพลงของเขาอย่างมาก ฤดูร้อนครั้งถัดมา คือ เหตุนองเลือดในเดือนเมษายน 2553 ที่ความโกรธเกรี้ยวผลักให้เขาเริ่มเขียนเพลงการเมือง 

 

 

2399

 

ระหว่างทางผ่านสู่ฤดูร้อนที่สามระหกระเหินน่าจะเป็นคำแทนชีวิตของพอร์ทได้ดี เมื่อเขาต้องหนีภัยการเมืองข้ามแดนตามเพื่อนสมาชิกวงไฟเย็นไปที่ลาว ท่ามกลางสถานการณ์การอุ้มหายคนแล้วคนเล่า และคำขู่เอาชีวิต จนท้ายสุดต้องกลับมารักษาอาการป่วยจากโรคตับอ่อนอักเสบ แต่เมื่อผ่านมาได้จนถึงฤดูร้อนที่สามเขากลายเป็นจำเลยคดีมาตรา 112 และต้องเข้าไปอยู่ในเรือนจำนานกว่าสองเดือน

 

"อาจจะไม่สนุกก็ได้ ผมเป็นคนเล่าไม่สนุก" พอร์ทบอกก่อนที่จะเริ่มเล่าเรื่องชีวิตที่ผ่านมาของเขา

 

 

 

นักเรียนเลวรุ่น '90

 

ในวัยเด็กพอร์ทเติบโตมากับกระแสวัฒนธรรมญี่ปุ่น เสพการ์ตูนผ่านทั้งการดูทีวีและการอ่าน โดราเอม่อนเป็นการ์ตูนเรื่องแรกที่เขาอ่านและช่วยให้พอร์ทพัฒนาเรื่องภาษาได้ดีกว่าหนังสือเรียนอย่างมานะมานี "เราสามารถเรียนรู้คำที่ยากขึ้นจากการที่เราอ่านการ์ตูน อ่านการ์ตูนมันสนุกไงและบางคำเราอาจจะไม่เข้าใจความหมาย เราก็สามารถเอาคำนี้ไปถามพ่อแม่ว่า คำนี้อ่านออกเสียงยังไง"  

 

อีกภาพหนึ่งที่เขาจดจำได้ คือ ภาพการเล่นเกมตามร้านเกม พอร์ทบอกว่า คนเล่นเกมมีหลายบทบาท ถ้ามีเงินก็ได้ครองเครื่องเล่นเกมเอง แต่ถ้าเกมนั้นแพงค่าขนมไม่พอก็ต้องรับบทคนดูเพื่อนเล่นแทน ราคาเกมใหม่ๆ ค่อนข้างแพงอาจพุ่งไปที่ชั่วโมงละสามสิบบาท ยุคนั้นข้าวจานละสิบบาทเมื่อนำมาเทียบกับราคาเกมถือว่า แพงมาก ตอนนั้นเขาเล่นเกมจริงจังและเก็บเงินซื้อเพลย์สเตชั่นเล่นที่บ้าน 

 

"ผมก็ติดเกมนะ ตอนนั้น เกมดังๆคือ แร็คนาร็อค เคาน์เตอร์สไตร์ค ผมไม่ได้เล่นนะเกมพวกนั้น...ผมเล่นปังย่า เป็นเกมกอล์ฟมันเล่นง่าย ผมไม่ถนัดพวกแนวไฟนอล แฟนตาซี ผมเล่นเป็นเกมง่ายๆ พวกมาริโอ้หรือแนวคล้ายเก็บดาบ ผมเล่นมาเกือบสิบปีเลย..."

 

การ์ดเกมหรือไพ่ยูกิเป็นสิ่งที่เด็กยุคนั้นชอบเล่นกัน พอร์ทชอบเล่นการ์ดเกมเมจิก เดอะ แกเธอริง และการเล่นเกมก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขาตั้งคำถามในความสมเหตุสมผลของการห้ามของครู ผู้มีอำนาจในโรงเรียน

 

"ชื่อผม Rishadan Port ก็มาจากเกมนี้ ครูมองว่า เป็นการพนันบ้าง แต่จริงๆ แล้วมันแค่สิ่งที่เด็กไปซื้อมาเล่นกัน ครูจะมีกฎออกมาว่า ถ้าพบการ์ดเกมจะยึด ผมไม่ยอมและมองว่า มันเป็นทรัพย์สินส่วนตัวและกฎโรงเรียนไม่ได้มีเขียนไว้ด้วย เรามีหน้าที่โต้เถียงอธิบาย...ถ้าเกิดเรายอม กลุ่มของเราก็จะไม่มีคนเล่นแล้ว ก็เหมือนกับประเทศเรานี่แหละ อะไรที่เราไม่เห็นด้วยกับผู้มีอำนาจเราต้องลุกขึ้นมาต่อสู้ในการให้เหตุผลหรือในการโต้แย้ง

 

"ผมมีเรื่องกับครูตั้งแต่เด็ก เด็กส่วนใหญ่เขาไม่เห็นด้วยเขาคิดอยู่ในใจ แต่เราพูดออกมาและโดนเชิญผู้ปกครอง ครูก็เหมือนผู้มีอำนาจ ทำตามผู้มีอำนาจอีกทีหนึ่งที่รัฐเขาวางเอาไว้ สอนแบบนี้ให้เด็กเป็นแบบนี้ อย่างเช่น พิธีไหว้ครู ผมไม่เคยเห็นด้วย ทำไปเพื่ออะไรวะ ครูแม่งมีบุญคุณเหี้ยอะไรกับเรา รับเงินที่เราจ่ายค่าเทอม เราไม่ได้มาเรียนฟรี ต่อให้เราเรียนฟรีมันก็มาจากรัฐ รัฐก็เป็นเงินภาษีของเราแล้ว ทำไมต้องมีบุญคุณ ทำไมต้องไปไหว้ด้วย"

 

 

ฤดูร้อนที่มีความหมายของคนเพลง 

 

 

จุดเริ่มต้นของการทำเพลงและเล่นดนตรีของพอร์ท คือ การฟังเพลง เริ่มจากแนวดนตรีที่ฟังง่ายอย่างป็อปที่เริ่มฟังมาตั้งแต่ช่วงประถมปลายเรื่อยมาจนถึงช่วงมัธยมตอนต้น ตอนที่เขาเรียนมัธยมปีที่หก เขาก็มีโอกาสได้ไปดูคอนเสิร์ต เรียกได้ว่า เป็นขาประจำต้องไปดูทุกสัปดาห์

 

ก่อนหน้าม.6 ทางบ้านไม่อนุญาตให้กลับดึกๆ เราได้มีโอกาสดูคอนเสิร์ตตอนช่วงม.6 ตั้งแต่นั้นมาเราก็ตามดูคอนเสิร์ตทุกสัปดาห์ ชอบแนวร็อก อัลเทอร์เนทีฟร็อก อินดี้ร็อก ป็อปร็อกก็ชอบ คือ ชอบแนวร็อกแทบทุกประเภท เมทัลก็มีฟังบ้างแต่อาจจะไม่เท่าร็อก คนทั่วไปอาจจะคิดว่า เมทัลกับร็อคอันเดียวกัน หนักๆ แต่จริงๆมีความต่างพอสมควร

 

พอร์ทบอกว่า การเขียนเพลงของวงนี้ค่อนข้างเปิดกว่าและมีวิธีการแปลกใหม่กว่าเพลงอื่นในสมัยนั้น เช่น การใช้คำซ้ำๆในเพลงและใช้คอร์ดชุดเดียวกันวนทั้งเพลง ขณะที่เนื้อเพลงก็จะปล่อยให้คนจินตนาการเอง วงพาราด็อกซ์ คือ แรงบันดาลใจที่ส่งอิทธิพลอย่างมากในการทำงานเพลงของพอร์ทและเป็นวงที่เขาชอบที่สุดด้วย เขาเริ่มรู้จักพาราด็อกซ์ตอนอัลบั้ม Intro 2000 และซัมเมอร์ของพาราด็อกซ์เป็นอัลบั้มที่มีอิทธิพลต่อการทำงานเพลงของเขามาก

 

เชื่อไหมตอนที่เขาดังๆ อัลบั้มแรกผมไม่รู้จัก มารู้จักทีหลัง ชอบอัลบั้มซัมเมอร์มาก เป็นอัลบั้มที่มีอิทธิพลของการทำเพลงของผมเยอะ ในการคิดงาน คิดงานเพลงแบบนี้ได้ด้วยนี่หว่า หลังจากนั้นเราก็กลับไปฟังยุคใต้ดินของเรา ทำให้เห็นว่า เขียนเพลงแบบนี้ได้ ไม่ใช่ต้องเขียนเพลงแบบกระแสหลัก เรารู้สึกว่า เขาเปิดไอเดียให้เราเยอะในเรื่องการทำเพลง”  

 

คนจำนวนมากรู้จักและติดภาพเขาว่า พอร์ทเป็นสมาชิกวงไฟเย็นที่ทำเพลงการเมือง แต่ชีวิตที่ผ่านมาในฐานะนักฟังที่มีฝันอยากมีวงดนตรี พอร์ทผ่านประสบการณ์การตั้งและยุบรวมวงดนตรีมาอย่างโชกโชน สังกัดวงดนตรีอีกอย่างน้อยห้าวงคือ Us, LS20, Fuxk Fake Force, Risky Drop และทับทิมสยาม โดยสี่วงแรกเป็นวงดนตรีที่ทำร่วมกับเพื่อนของเขา ไม่ได้มีเนื้อหาเป็นการเมืองนัก

 

ผมมีวงดนตรีตั้งแต่ที่เรียนมหาวิทยาลัยปีสอง ช่วงปี 2547 ผมตั้งวงดนตรีกับเพื่อนชื่อว่า Us ตอนนั้นว่าจะใช้ชื่อวง POW มาจากชื่อต้นของชื่อเล่นของทุกคน แต่เพื่อนไม่เห็นด้วย Us คือวง เรา ที่เรียกติดปาก ผมชอบคำว่า Us มากกว่า We เพราะมันเป็น Passive เราเป็นผู้ถูกกระทำ ผมมองว่า มันเป็นสิ่งที่ดี การเป็นผู้ถูกกระทำมันสร้างแรงบันดาลใจได้มากแค่นั้นเอง

 

ตอนหลังมีวง LS20 อีกวงอันนี้เป็นวงของเพื่อนสมัยมัธยมฯ แต่คิดถึงกันก็เลยมารวมวงกัน อยู่ได้สักพักมือกลองติดงานเยอะเลยไม่ได้ซ้อมกันเลยให้มือเบสมารวมกับวง Us หลังจากที่มือเบสคนเก่าเรียนหนักเลยเลิก เลยชวนมือเบส วง LS20 และวง Us มาเป็นวง Risky drop ตั้งชื่อในปี 2563”

 

Risky drop เป็นวงล่าสุดของเขา เนื้อหาของเพลงออกไปทางสังคมการเมืองอยู่บ้าง แต่ไม่มุ่งตรงไปถึงสถาบันกษัตริย์ มีเพลงชีวิตคนทั่วไปอย่างเพลงตื่นสาย พอร์ทเล่าว่า เพลงนี้เพื่อนทุกคนในวงช่วยกันแต่ง มีที่มาจากมือกลองที่เขียนจากชีวิตเขา เหตุผลที่ต้องนอนตื่นสายเพราะไม่อยากไปทำงาน ไม่อยากไปเจอกับเธอเพราะเธอเป็นคนใจร้าย ทุกคนก็นำมาขยาย ตัวพอร์ทเองก็ไม่ชอบการทำงานเช้าอยู่แล้ว เพลงนี้จึงออกมาเป็นรูปเป็นร่างในที่สุด

 

ตอนสมัยทำงานก็เป็นคนทำงานสาย ผมไม่ชอบการเข้างานเช้าๆ ผมตื่นไม่ได้ ถามว่า งานเสร็จไหม งานก็เสร็จ ผมคิดว่า งานเสร็จก็พอไม่ใช่หรอ ไม่เห็นจำเป็นต้องเข้าเวลาไหนออกเวลาไหนเลย ทำงานอยู่บ้านก็ได้ ทำไมต้องเข้าบริษัท ออฟฟิศ ทำที่ไหนก็ได้ขอให้งานเสร็จตามเดดไลน์ ผมว่า เป็นวิธีคิดที่ไม่จำเป็นต้องเข้าทำงาน ผมเคยถึงขั้นขอเจ้านายเวิร์คฟอร์ม โฮม โดยไม่ต้องขึ้นเงินเดือนก็ได้

 

เหตุนองเลือดในฤดูร้อนดันสู่ถนนดนตรีการเมือง

 

การเคลื่อนไหวของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในปี 2548 เป็นจุดเริ่มต้นให้พอร์ทสนใจการเมืองมากขึ้น พอร์ทเป็นอีกคนที่ต่อต้านรัฐบาลของทักษิณ ชินวัตร แต่จุดหักเหสำคัญ คือ การที่พระราชินีในรัชกาลที่เก้าเสด็จงานพิธีพระราชทานเพลิงศพโบว์-อังคณา ระดับปัญญาวุฒิ ผู้เสียชีวิตระหว่างการสลายการชุมนุมเมื่อเดือนตุลาคม 2551 ทำให้เขาเริ่มสนใจเรียนรู้ประวัติศาสตร์การเมืองมากขึ้น พอร์ทเข้าไปในเว็บบอร์ดฟ้าเดียวกันและพบกับข้อมูลที่ไม่เคยรู้มาก่อน ปฏิกิริยาแรกเขาไม่เชื่อข้อเท็จจริงชุดใหม่ในทันที เพราะเขาเองก็เคยผ่านกระบกวนการกล่อมเกลาของรัฐไทยมาก่อน

 

เมื่อก่อนเราก็เหมือนคนทั่วไปที่คิดว่า สถาบันกษัตริย์ไม่ควรแตะต้อง อยู่เบื้องสูง ต่อให้ไม่ชอบก็เก็บไว้ในใจ เราพยายามหาเหตุผลมาหักล้าง ต่อให้เราเริ่มไม่ชอบพันธมิตรฯ แต่เรายังมีความเชื่อแบบคนไทยคือความจงรักภักดีพอไปอ่านแล้วมันมีข้อมูลอีกด้านหนึ่ง หลายอย่างเลยเรายังไม่เชื่อ แต่พอไปค้นหาหลักฐานมันก็มีตลอด ค้นข่าวหน้าข่าวหรือว่า มีข่าวในหนังสือพิมพ์ มีรูป หรือเหตุการณ์การแสดงออกของสถาบันฯที่เกี่ยวข้องทางการเมือง

 

ต่อมาเดือนเมษายน 2553 เกิดเหตุการณ์การสลายการชุมนุมของคนเสื้อแดงบริเวณสี่แยกคอกวัว ครั้งนั้นมีผู้เสียชีวิตรวมทั้งสิ้น 26 ราย แบ่งเป็นเจ้าหน้าที่ทหาร 5 นาย และพลเรือน 21 ราย เป็นจุดเริ่มต้นของความรู้สึกไม่พอใจของเขา และทำให้เริ่มเขียนเพลงที่มีเนื้อหาทางการเมืองออกมา

 

เห็นเขาโดนทำร้ายแล้วมันไม่แฟร์ เราเริ่มไม่โอเคแล้ว เริ่มเขียนเพลงการเมืองออกมา จริงๆก่อนหน้านี้มีเขียนแต่ว่า มันไม่ค่อยดี เพลงแรกที่เริ่มรู้สึกว่า ระบายอย่างตรงไปตรงมาคือ เพลงกูไม่รักมึง ผมเขียนเนื่องในความเจ็บแค้นในเหตุการณ์ปี 2553 ตอนนั้นมีโปรเจคต์จะทำเพลงกันอยู่แหละ มีเพลงกูไม่รักมึงและเพลง 112 และผมก็คิดว่า อยากจะทำสองเพลงพร้อมๆ กันเพราะมันจะสื่อสารได้ชัดเจนกว่า แต่ท้ายที่สุดโปรเจคต์ก็ล่ม ไม่ได้ทำ

 

ต่อมาปี 2553 อำพล หรืออากง SMS’ ถูกกล่าวหาว่า ส่งเอสเอ็มเอสหมิ่นพระมหากษัตริย์และพระราชินีไปให้เลขานุการของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะจำนวนสี่ข้อความ และปีถัดมาศาลอาญาตัดสินว่า อากงมีความผิดลงโทษจำคุก 20 ปี ระหว่างจำคุกเขาเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง คดีนี้ได้รับความสนใจมากเนื่องจากคำพิพากษาลงโทษที่สูง จำเลยเป็นชายแก่ที่ฐานะยากจนและปฏิเสธว่าตัวเองส่งเอสเอ็มเอสไม่เป็น กระแสจากคดีอากงทำให้พอร์ทรู้สึกกับตัวเองว่า เขาจะต้องเริ่มใช้เสียงดนตรีขับเคลื่อนสังคม 

 

ผมเข้ามากับวงทับทิมสยาม ตอนนั้นสมาชิกวงทับทิมสยามคือ คุณโบ๊ท เป็นหัวหน้าที่บริษัทของผมเอง เขาชวนมาเคลื่อนไหวเราก็สนใจ อันที่จริงตอนนั้นสิ่งที่เป็นแรงผลักดันในการเคลื่อนไหวคือ คดีอากง SMS ปลายปี 2554 ทำให้เรารู้สึกว่า อยากจะทำอะไรมากกว่านี้แล้ว

 

ระหว่างที่พอร์ทเล่นดนตรีกับวงทับทิมสยาม เขาก็ได้รู้จักกับสมาชิกวงไฟเย็นที่มาเป็นแบกอัปให้วงทับทิมสยามและพูดคุยถูกคอกันต่อมาเมื่อสมาชิกวงไฟเย็นลาออกไปหนึ่งคน จึงเปิดทางให้พอร์ทได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของวงไฟเย็น 

 

37 ปีที่ผ่านมาของพอร์ท ชีวิตครึ่งแรกของเขาเต็มไปด้วยเรื่องของการ์ตูน, เกมและดนตรี ไม่ได้มีพื้นที่ให้การเมืองนัก แต่ครึ่งชีวิตต่อมาในถนนการเมืองของเขา ความสนใจเรื่องอื่นได้เจือจางลงไป 

 

ก่อนหน้านั้นผมไม่สนใจการเมือง ผมสนใจเรื่องดนตรีเรื่องเกม เรื่องการ์ตูน ผมสังเกตว่า ตัวเองเล่นเกมหรืออ่านการ์ตูนน้อยลง ตอนนี้แทบไม่อ่านเลย

 

รัฐประหาร ลี้ภัยและการสูญหาย

 

เนื้อหาเพลงของวงไฟเย็นเสียดสีประเด็นทางการเมือง และความเชื่อที่ถูกปลูกฝังกันมาในโรงเรียน หลายประเด็นเพดานสูงกว่าการสื่อสารที่ปรากฏออกมาในยุคสมัยเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการสลายการชุมนุมในปี 2553, คดีมาตรา 112 และการเรียกร้องให้ปล่อยนักโทษทางการเมือง บางเพลงอย่างไม่รักนะ ระวังติดคุกยังคงเป็นเพลงที่ได้ยินบ่อยครั้งในการเคลื่อนไหวชุมนุมของกลุ่มราษฎร 2563 

 

นับตั้งแต่เปิดตัวครั้งแรกในปี 2554 ไฟเย็นใช้เสียงเพลงในการเคลื่อนไหวหวังเพื่อที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลง แต่ประวัติศาสตร์ก็วนเวียนมาซ้ำอีกครั้ง วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทำการรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร สองวันถัดมาคสช.ออกคำสั่งคสช.ที่ 5/2557 เรียกให้บุคคลมารายงานตัว ซึ่งมีชื่อของนักวิชาการและนักเคลื่อนไหวทางการเมือง  รวมทั้งสมาชิกวงไฟเย็นเช่น นิธิวัต วรรณศิริ หรือ จอม, ไตรรงค์ สินสืบผล หรือ ขุนทอง และ ชฤต โยนกนาคพันธุ์ โยนก

 

แม้คำสั่งเรียกครั้งนั้นจะไม่มีชื่อของพอร์ท แต่คำสั่งเช่นนี้ก็ทำให้สมาชิกวงคนอื่นรู้สึกไม่ปลอดภัยจึงลี้ภัยไปที่ลาว ส่วนเขาตัดก็ตัดสินใจตามไปด้วย

 

"ตอนรัฐประหาร ผมรู้สึกว่า ผมยังอยากทำเพลงกับวงอยู่ เจ้าหน้าที่ยังไม่น่าจะรู้จักผมและผมก็ไม่เคยเปิดเผยชื่อ คนก็ไม่รู้ เขาก็มีหมายเรียกทุกคน แต่มีคนนึงตลกอยู่ เรารู้กันอยู่ว่า สมาชิกในวงคนหนึ่งในทางสาธารณะและเจ้าหน้าที่รู้ว่า ชื่อจริงคืออะไร แต่เป็นชื่อที่ผิดและเขาก็ออกหมายเรียกรายงานตัวชื่อนี้ เรียกผิดตัว เขาน่าจะเอาข้อมูลมาจากเว็บไซต์หนึ่งที่เขียนประวัติผิด มันก็ตลกดี เราก็เห็นว่า เจตนาของคนเรียกก็คือเรียกไฟเย็นนี่แหละ

 

ระหว่างการลี้ภัยไปใช้ชีวิตฝั่งตรงข้ามแม่น้ำโขง เพื่อนสมาชิกวงไฟเย็นยังคงผลิตผลงานเพลงและรายการวิทยุแบบสตรีมมิ่งที่มีเนื้อหาต่อต้านอำนาจเผด็จการทหารในไทยและเพื่อนบ้านอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ในไทยเริ่มมีกระแสของบีเอ็นเค ซึ่งเขาก็เป็นหนึ่งในคนที่ติดตามวงดังกล่าวเคยจัดรายการบทเพลงเพื่อสามัญชนจัดกับสยาม ธีรวุฒิ [ผู้ที่สูญหายระหว่างการลี้ภัยในลาวเมื่อเดือนพฤษภาคม 2562] มีการพูดเรื่องบีเอ็นเคบ่อย มีแฟนรายการที่ชอบเรื่องไอดอลอยากให้พูดเรื่องไอดอล ทำให้ต้องไปหาข้อมูลวงไอดอลต่างๆเช่น SWEAT16 และ Fever

 

พอร์ทมีสถานะต่างจากคนอื่นอยู่บ้าง เมื่อเขาไม่เคยถูกคำสั่งเรียกรายงานตัว เขาจึงเดินทางข้ามไปลาวอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และเดินทางไปกลับบ้านในไทยได้อยู่เรื่อยๆ การผ่านหน่วยตรวจคนเข้าเมืองที่ชายแดนไม่ใช่ปัญหาสำหรับเขา 

 

วันที่ 30 กรกฎาคม 2559 ระหว่างการรณรงค์ประชามติร่างรัฐธรรมนูญ เขาไปร้องเพลงและขายซีดีเพลงที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลาฯ ต่อมาตำรวจเข้าตรวจสอบและแจ้งว่า ซีดีเพลงที่เขาขายไม่มีสลากที่ขออนุญาตอย่างถูกต้องและคุมตัวเขาไปที่สน.ชนะสงคราม ทำการสอบประวัติและได้ชื่อจริงของเขาไป ทำให้เขารู้สึกไม่ปลอดภัยมากขึ้น จึงตัดสินใจข้ามไปลาวและหวังที่จะไปอย่างถาวร ช่วงแรกผมไปๆกลับๆได้ แต่ตอนหลังเหตุการณ์นี้ผมตัดสินใจไม่กลับ เพราะมีโอกาสสูงที่ผมจะไม่รอดก็เลยไม่กลับ ช่วงนั้นผมไม่คิดว่า ผมไม่ได้กลับมาตรงนี้แล้ว

 

ในช่วงดังกล่าวสถานการณ์ผู้ลี้ภัยในลาวเริ่มไม่สู้ดี วันที่ 22 มิถุนายน 2559  อิทธิพล สุขแป้น หรือเบียร์ หรือที่รู้จักกันในชื่อของ ดีเจซุนโฮหายตัวไปอย่างลึกลับ ดีเจซุนโฮเป็นคนเสื้อแดงจากจังหวัดเชียงใหม่และยังเป็นผู้จัดรายการวิทยุชุมชนที่มีเนื้อหาวิจารณ์สถาบันกษัตริย์โดยตรง หลังจากนั้นมีผู้ลี้ภัยในลาวถูกอุ้มหายต่อเนื่องทุกปี

 

  • วันที่ 29 กรกฎาคม 256 วุฒิพงศ์ กชธรรมคุณ หรือ โกตี๋
  • วันที่ 12 ธันวาคม 2561 สุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์, ไกรเดช ลือเลิศ หรือสหายกาสะลอง และชัชชาญ บุปผาวัลย์ หรือสหายภูชนะ
  • วันที่ 9 พฤษภาคม 2562 ชูชีพ ชีวสุทธิ์ หรือลุงสนามหลวง, กฤษณะ ทัพไทยและสยาม ธีรวุฒิ

 

พอร์ทบอกว่า เมื่อมีเหตุอุ้มหายครั้งหนึ่งก็จะเกิดความตื่นตัวในหมู่ผู้ลี้ภัยและมีการย้ายที่อยู่เพื่อความปลอดภัย การย้ายแต่ละครั้งผู้ลี้ภัยอย่างเขาก็จะต้องทิ้งของไม่จำเป็นไว้เพราะหาซื้อใหม่ได้ เอาไปแค่ของที่จำเป็น อย่างผมที่ติดตัวตลอด คือ กีตาร์ โน้ตบุ๊ก เสื้อผ้าบางส่วนก็ต้องทิ้ง 

 

ในใจของผู้ลี้ภัยทางการเมือง ไม่มีใครคิดจะอยู่ลาวตลอดไป พวกเขาพยายามไปยื่นขอสถานะผู้ลี้ภัย เพื่อเดินทางไปประเทศที่สามอยู่หลายครั้งหลายแห่งแต่ถูกปฏิเสธ ระหว่างที่ผู้ลี้ภัยก็เริ่มหายตัวไปเรื่อยๆ 

 

จากดีเจซุนโฮถึงกลุ่มลุงสนามหลวง 
จากหนึ่งเป็นสองเป็นแปด 
สูญหายหก พบศพสองในสภาพที่ถูกทารุณกรรมอย่างโหดร้าย 

 

ถึงคิวไฟเย็น จะหยุดหรือจะตาย!

 

วันที่ 19 พฤษภาคม 2562 มีข่าวการกวาดล้างสมาชิกวงไฟเย็น มีคลิปเสียงของคนที่เขาขู่มาว่า ถ้าไม่เลิกเคลื่อนไหวจะไม่รับรองความปลอดภัย เขามีพิกัดอยู่แล้วและเขาก็บอกพิกัดที่อยู่ได้ถูกต้องด้วยว่า สมาชิกวงไฟเย็นอยู่ที่ไหน ซึ่งสมาชิกเขาไม่คิดจะหยุดไง

 

จากข่าวดังกล่าวนำไปสู่กระแสแฮชแท็ก #SaveFaiyen และ #อย่าฆ่าไฟเย็น บนโลกออนไลน์เพื่อร่วมกันส่งเสียงไม่ให้กรณีกวาดล้างผู้ลี้ภัยดังกล่าวเงียบหาย และนำไปสู่การได้โอกาสลี้ภัยไปประเทศฝรั่งเศสของสมาชิกวงไฟเย็น ในช่วงเวลาที่ตึงเครียดพอร์ทเป็นคนที่เล่ามุมมองจากคนในลาวผ่านทางทวิตเตอร์อย่างต่อเนื่อง ทำให้หลายคนคิดไปว่า พอร์ทอยู่ที่ลาวและลี้ภัยไปพร้อมกับเพื่อนวงไฟเย็น แต่ไม่ใช่

 

ปี 2561 พอร์ทเริ่มมีอาการป่วย จุดเริ่มต้นคือ วันหนึ่งเขาตื่นมาพร้อมกับอาการปวดท้องหนักมาก ตอนนั้นเขาคิดว่า ไม่ใช่เป็นอาการที่รุนแรงจึงกินยาธาตุน้ำขาว อย่างไรก็ตามอาการไม่ดีขึ้นต้องไปพบแพทย์ แพทย์บอกว่า อาการรุนแรงแต่วินิจฉัยไม่ได้  แต่แพทย์ยังไม่สามารถวินิจฉัยสาเหตุของอาการป่วยได้แน่ชัด

 

ผมคิดว่า ผมจะตายแล้วตอนนั้น แพทย์ที่ลาวพูดตรงๆ ให้ผมตัดสินใจว่า ตอนนี้มีทางเลือกแค่สองทางว่า จะรักษาที่ลาวต่อโดยที่เขาจะรักษาอย่างเต็มความสามารถเท่าที่เทคโนโลยีจะเอื้ออำนวย หรือกลับไทยที่มีเทคโนโลยีทางการแพทย์ดีกว่า แน่นอนผมตัดสินใจไม่ยากเลย ผมไม่อยากตาย ผมเลยต้องกลับประเทศไทย ต่อให้กลับไทยและต้องเสี่ยงถูกจับเข้าคุกมันก็ยังไม่ตายไง แต่อยู่ลาวอาจจะเสี่ยงโดนอุ้ม

 

เดือนธันวาคม 2561 หลังกลับมารักษาตัวที่ไทย แพทย์วินิจฉัยว่า พอร์ทป่วยเป็นโรคตับอ่อนอักเสบ เริ่มแรกเป็นแบบเฉียบพลันรุนแรง ผมจำได้ว่า เป็นช่วงคริสต์มาส กลับมารักษาตัวเป็นสิบวันจึงออกจากโรงพยาบาลแรกและไปรักษาต่ออีกโรงพยาบาลหนึ่ง ผ่านไปได้ไม่ถึงเดือนดีก็แอดมิดต่ออีกเดือนหนึ่ง” 

 

โรคตับอ่อนอักเสบมีสาเหตุ เช่น แอลกอฮอล์และนิ่ว ซึ่งแพทย์บอกว่า กรณีของเขาเป็นเรื่องแอลกอฮอล์อย่างแน่นอน ทั้งที่พอร์ทดื่มน้อยมาก เขาวิเคราะห์เอาเองว่า อาจเป็นเพราะเขาไม่ใช่นักดื่มแต่แรก เพิ่งเริ่มดื่มแอลกอฮอล์ตอนอายุเข้า 30 ช่วงที่ไปอยู่ลาว ทำให้ร่างกายไม่คุ้นชิน เขารักษาตัวเรื่อยมาจนมีข่าวเรื่องการกวาดล้างวงไฟเย็น เขายังคงใช้สื่อออนไลน์สื่อสารเรื่องของวงไฟเย็นต่อสาธารณะ และทำประหนึ่งว่า เขาอยู่ที่ลาวเพื่อความปลอดภัยของตัวเขาเองด้วย

 

ตอนนั้นผมใกล้ตายแล้ว ผมคิดอยู่ว่า ถ้าจะฆ่ามาฆ่ากูนี่ กูจะตายอยู่แล้วไม่ต้องไปฆ่าเพื่อนกู ตอนนั้นผมอาการหนักจริงๆ และผมก็ไม่อยากจะมีชีวิตอยู่เท่าไหร่ ยอมรับว่า ตอนนั้นค่อนข้างซึมเศร้า อยากตาย เพราะว่า มันทรมานจริงๆ เรารู้สึกว่า คุกนี่ยังมีความทรมานที่น้อยกว่ามาก

 

พอร์ทเป็นคนร่างใหญ่ ก่อนหน้าที่จะลี้ภัยเขาน้ำหนักประมาณ 103 กิโลกรัม เมื่อไปอยู่ลาวน้ำหนักลดลงเรื่อยๆเหลือประมาณ 80 กิโลกรัม และตอนป่วยน้ำหนักลงไปเหลือ 50 กิโลกรัม

 

ไม่มีแรงเดิน ไม่มีแรงเปิดแม้แต่ขวดน้ำ ไม่มีแรงหมุน โรคนี้ทำให้การย่อยอาหารพัง เบื่ออาหารเลยตอนนั้น กินเข้าไปก็อ้วก กลายเป็นว่าไปดึงของเก่าในร่างกายออกมาใช้จนไม่เหลือเลยแล้วผมคิดว่า ถ้าผมยังกินแล้วอ้วกต่อไปเรื่อยๆผมคงต้องตายแน่ๆ แต่โชคดีถึงจุดหนึ่งเลิกอ้วก การย่อยเริ่มดีขึ้น เริ่มกลับมากินได้โดยที่ไม่อ้วก” 

 

เขาใช้เวลาฟื้นฟูร่างกายประมาณสามปีกว่าจะกลับมาน้ำหนักประมาณ 80 กิโลกรัม ร่องรอยของความผ่ายผอมของเขายังคงปรากฏตามเนื้อตัว ท้องแขนที่ไม่เต็มตึงมีริ้วคลื่นแตกลาย ร่องรอยว่า ครั้งหนึ่งเขาเคยมีน้ำหนักมากกว่านี้

 

ราษฎร 63 กับการปฏิรูปสถาบันฯ

 

ตั้งแต่ปี 2557 ภายใต้อำนาจเบ็ดเสร็จของคณะรัฐประหาร ผู้เคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยแทบจะกระดิกตัวไม่ได้ จำนวนมากต้องเข้ารายงานตัวตามคำสั่ง คสช. และลงนามในข้อตกลงว่า จะไม่เคลื่อนไหวทางการเมือง รัฐบาลคสช.มีแนวโน้มในการใช้คดีโทษหนักอย่างมาตรา 112 และมาตรา 116 ในการปราบปรามผู้เห็นต่างทางการเมือง ขณะที่การชุมนุมเกิดขึ้นแทบไม่ได้เลย การตัดสินใจกลับมารักษาตัวที่ไทยของพอร์ท อย่างน้อยก็ทำให้เขาได้เห็นภาพที่เขาไม่เคยคิดฝันมาก่อน คือ การชุมนุมเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ของราษฎรในปี 2563

 

สภาพร่างกายที่ไม่สู้ดีนักทำให้พอร์ทไม่สามารถออกไปร่วมการชุมนุมได้ แต่การชุมนุมติดตามผ่านสื่ออยู่ตลอด 

 

"ผมไม่สามารถเข้าไปวิ่งหนีการสลายการชุมนุม ร่างกายผมไม่ดีพอ แต่ผมสนับสนุนตลอด ทวิตเตอร์ เฟซบุ๊กผมก็สนับสนุนตลอด เห็นด้วยกับมูฟเม้นนี้ ผมเห็นด้วยทุกเรื่องที่เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ ส่วนเรื่องอื่นก็ชอบแต่เพียงแต่จะดูเป็นประเด็นไป ผมชอบการปราศรัยของอานนท์มากที่สุด แน่นอนบางจุดผมอาจจะไม่เห็นด้วยถึงท่าทีของเขาในการปราศรัยมากนัก แต่เข้าใจได้ว่า ทำไมเขาถึงพูดแบบนี้

 

พอร์ทบอกว่า การเคลื่อนไหวของราษฎรทำให้การถกเถียงเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์กว้างขวางมากขึ้นต่างจากช่วงหลังปี 2553 

 

 

หนึ่งในสิบข้อเสนอเพื่อการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ คือ การยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ความรู้สึกที่ติดตรึงของเขาจากเหตุการณ์คดีอากง คือ  มาตรา 112 รุนแรงเกินไปและยืนอยู่ข้างฝ่ายยกเลิกมาตรา 112 มาตลอด

 

"เจตจำนงของผมคือ ยกเลิกมาตรา 112 ผมไม่เห็นด้วยกับการแก้ไข ผมไม่ได้ลงชื่อกับครก.112...ตอนนี้ที่ราษฎรยกเลิกมาตรา 112 ผมลงชื่อเรียบร้อยแล้ว ถ้าเป็นกรณียกเลิก ผมสนับสนุนเต็มตัวเลย ผมดีใจมากที่มูฟเม้นของคนรุ่นใหม่มันก้าวหน้ามาก แต่คนที่เสนอตัวเป็นนักการเมือง ผมว่า ยังตามหลังมวลชนอยู่มาก

 

เขามองว่า การยกเลิกมาตรา 112 และข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์เป็นการเคลื่อนไหวที่กล้าหาญของราษฎร 2563 อย่างไรก็ตาม เขาเชื่อว่า การวิพากษ์สถาบันกษัตริย์ไม่มีทางนำไปสู่การล่มสลายของสถาบันกษัตริย์

 

มันไม่มีหรอกล้มเจ้า มันล้มไม่ได้ ไม่มีใครมีศักยภาพกองกำลังมากพอที่จะล้มเจ้าได้ นี่คือเรื่องจริง คุณจะเอาอะไรไปล้มเจ้า อย่างมากก็แค่วิจารณ์ การพูดถึงควรจะทำได้อย่างเสรี ผมไม่เคยคิดเลยว่า จะเสื่อมสลายได้จากการที่เราวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์

 

การปรับเปลี่ยนผมมองว่า เป็นผลดีต่อสถาบันกษัตริย์ ซึ่งหลายคนก็คิดอย่างนี้ ฝ่ายกษัตริย์นิยมที่ออกมาเย้วๆตอนนี้เขาอาจจะไม่เห็นด้วย แต่แน่นอนสิ่งที่เราจะต้องสู้ คือ การใช้เหตุผลในการอธิบายให้เข้าใจว่า จริงๆ แล้วเรื่องนี้มันเป็นผลดีในระยะยาวต่อสังคมและตัวสถาบันกษัตริย์ ต่อให้เขาจะไม่เห็นด้วยแต่ถ้าเรายังพูดต่อไปเรื่อยๆ มันก็มีโอกาสเปลี่ยนตาม อย่างที่เราเห็นว่า ผ่านไปสิบปีเปลี่ยนขนาดนี้และอีกสิบปีข้างหน้าอาจจะเปลี่ยนไปมากกว่านี้

 

แม้ว่า มันเป็นสิ่งที่ขัดแย้งกับกระแสหลักของสังคมและสังคมแม่งไม่เห็นด้วย ผมก็จะโพสต์เพราะผมมองว่า กูคิดแบบนี้และคิดว่า มันถูกต้องสำหรับกู แต่แน่นอนความถูกต้องหรือความดี ความเลวมันเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย ฉะนั้นในยุคสมัยหนึ่งที่เราคิดว่า อันนี้ดี ถ้าเราไม่เห็นด้วยเราก็แสดงออก แสดงความคิดเห็นไป ถ้ายุคนี้ไม่ยอมรับ ในอนาคตเขาอาจจะยอมรับก็ได้ เราอาจจะตายไปแล้วก็ได้

 

 

หมายจับ 112 กับการติดคุกครั้งแรกในฤดูร้อน

 

วันที่ 5 มีนาคม 2564 ระหว่างที่นักกิจกรรมทางการเมืองทยอยถูกฝากขังระหว่างการพิจารณาคดี ตำรวจจับกุมพอร์ทที่บ้านพักตามหมายจับของศาลทหารและแสดงหมายค้นของศาลอาญาพระโขนงยึดโทรศัพท์และคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กของเขา พอร์ทถูกกล่าวหาว่า หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จากการโพสต์เฟซบุ๊กสามข้อความระหว่างเดือนเมษายนถึงกรกฎาคม 2559 คดีนี้ศาลทหารเคยออกหมายจับไว้ในเดือนสิงหาคม 2559 ซึ่งเป็นช่วงหลังจากที่เขาถูกตำรวจสน.ชนะสงครามจับจากการขายซีดีไม่มีสลาก 

 

วันถัดมาศาลอาญามีคำสั่งไม่ให้ประกันตัว ทำให้เขาต้องถูกคุมขังระหว่างการพิจารณาคดีและมีโอกาสได้เจอกับเหล่าราษฎรในเรือนจำและนี่เป็นฤดูร้อนครั้งที่สามที่ผูกพันกับตัวตนและอุดมการณ์ของเขา พอร์ทผ่านทุกข์เจียนตายจากการป่วยจากโรคตับอ่อนอักเสบมาแล้ว ความยากลำบากในคุกจึงเป็นเพียงการเปิดประสบการณ์ใหม่ 

 

มันก็เป็นประสบการณ์ใหม่ ตอนแรกไปอยู่ที่แดนกักโรคโควิด 14 วัน เมื่อก่อนคุกมันจะมีแดนแรกรับคือแดนหนึ่ง แต่ตอนนี้ต้องไปอยู่แดนกักตัวก่อนและจำแนกไปแดนอื่นๆ ผมได้จำแนกไปที่แดนหก ซึ่งจะมีคุณสมยศ แต่ตอนนั้นผมไม่เจอคุณสมยศเลยเพราะว่า คุณสมยศต้องไปขึ้นศาลและเมื่อกลับเข้ามาก็ต้องอยู่แดนกักโรคอีก 14 วัน การออกศาลบ่อยทำให้ไม่มีโอกาสได้เข้าแดนหกที่กำหนดไว้ แต่ตอนที่ไปพบทนายความ มีเจอสมยศ เพนกวิน อานนท์ เฮียซ้งและสมคิด

 

ผมค่อนข้างชิลกว่าเพื่อนร่วมห้อง มีบางคนแพนิกและระบายความรู้สึก เราเข้าใจเขาได้นะ ส่วนผมเฉยๆ ผมพยายามจะดูว่า เราสามารถอยู่ยังไงได้ ตอนแดนแรกรับค่อนข้างสบาย แต่ข้อเสียคือต้องอยู่ในห้องเกือบ 24 ชั่วโมงทุกวัน จะมีลงไปได้บ้าง เมื่อมาอยู่แดนหกผู้คุมจะให้ลงจากเรือนนอนตอนหกโมง เที่ยวเล่น เจอเพื่อนห้องอื่นบ้าง มีปฏิสัมพันธ์กับคนในแดนได้บ้าง

 

พอร์ทเล่าว่า หลังจำแนกมาที่แดนหกเรือนจำอนุญาตให้เล่นกีฬาได้ แต่เขาไม่ใช่คนประเภทชอบเล่นกีฬาออกกำลังกายต่อให้ร่างกายดีก็ไม่เล่นตอนอยู่ในเรือนจำมีองค์กรที่ช่วยเหลือผู้ต้องขังทางการเมืองส่งอาหารเข้ามาให้เขาอยู่เสมอ ซึ่งมีจำนวนมาก เขาจึงจัดแบ่งให้เพื่อนผู้ต้องขัง ถือเป็นการสร้างมิตรภาพภายในเรือนจำ นิสัยของพอร์ทเป็นพวกไม่คาดหวังและประเมินอนาคตในแบบที่แย่ที่สุดไว้ก่อน เขาจึงไม่คาดคิดเลยว่า จะได้ออกมาในเร็ววัน

 

คิดว่า เขาจะให้อยู่ยาวและสู้คดีในคุกเลย ตอนนั้นผมพูดกับเพื่อนในคุกว่า ผมติดโน่นแหละ 45 ปีเพราะคดีผมมันคดี 112 สามกรรม กรรมหนึ่งสามถึง 15 ปีก็ maximum ไปเลย  ตอนนั้นพูดไปขำไปนะ ผมประเมินใน worst case scenario ไว้ก่อนว่า เราต้องมีโอกาสเจอสิ่งที่เหี้ยที่สุดก่อน ถ้าเราไม่ได้เจอสิ่งนั้นเราก็จะเจอสิ่งที่ดีกว่า มันก็ดีไง

 

ระหว่างที่อยู่ในเรือนจำมีจดหมายเข้ามาถึงพอร์ทและเพื่อนผู้ต้องขังคนอื่นๆอยู่เรื่อยๆ พอร์ทหยิบกองจดหมายที่เขาวางซ้อนกองบนโต๊ะออกมา เมื่อถูกถามว่า รู้สึกอย่างไรกับจดหมายจากคนข้างนอก เขาตอบยิ้มๆว่า มีมันก็ดีนะเขาค่อยๆอ่านจดหมายทีละฉบับและแยกของคนสนิทที่เขียนให้เขาออกมา ที่เหลือเขามอบให้พิพิธภัณฑ์สามัญชนในการเก็บรักษา ถ้าเจอหมอลำแบงค์ฝากเอาให้เขาด้วยนะ เจ้าหน้าที่หยิบของเขาปนมาด้วยอันนึงเขาฝากฝังจดหมายหลงของปฏิวัฒน์หรือแบงค์ ที่ถูกคุมขังอยู่ในช่วงเวลาเดียวกัน 

 

จดหมายหลายสิบฉบับล้วนถูกเขียนอย่างหนักแน่นและตั้งใจ ส่วนใหญ่เป็นการเขียนให้กำลังใจและการทำงานของเขากับวงไฟเย็น 

 

 


 

 

ตัวอย่างจดหมายถึงพอร์ท

 

"ผมไม่ค่อยรู้จักคุณมากนัก แต่พอได้มาติดตามผลงานของคุณ ผมทึ่ง และคิดว่า คุณ เก่งมาก กล้ามาก ผมรู้จักผลงานแรกจากเพลง Hanging tree คุณทำออกมาได้ดีมาก ราวกับว่า เพลงนี้ถูกแต่งมาเพื่อเหตุการณ์ในประเทศไทย ตุลาวิปโยคเลย เหมาะเจาะมาก จากนั้นรู้จักเพลงพ่อ และเพลงอื่นๆอีก พอรู้ว่า คุณป่วยก็ตกใจเหมือนกันแล้วยังมาโดนจับอีก ขอเป็นกำลังใจให้นะครับ ผมจะขอร่วมกิจกรรมต่อสู้ข้างนอกนั่นเพื่อให้นักสู้ประชาธิปไตยได้รับอิสรภาพ อย่างที่คุณบอก ห้ามคิด ห้ามถาม ห้ามวิจารณ์แล้วจะรู้ได้ยังไงว่า ดีจริง

 

"ผมชอบเพลงไฟเย็นมากๆครับ

 

"สวัสดีค่ะคุณพอร์ท หวังว่า คุณจะสบายดีนะคะได้ฟังผลงานเพลงของคุณและเพื่อนๆ เป็นผลงานที่ดีและเพลิดเพลินค่ะ ขอให้คุณมีกำลังกายและกำลังใจที่ดีอยู่เสมอนะคะ ขอให้สุขภาพแข็งแรงและมีอิสรภาพในเร็ววัน

 

"ผลิตผลงานเพลงเพื่อประชาธิปไตยมาให้คนไทยได้ฟังอีกนะครับ...ศักดินาจงพินาศ ประชาราษฎร์จงเจริญ"

 

"ผมติดตามพี่พอร์ทมาตั้งแต่วงทับทิมสยามจนมาเข้าไฟเย็น ผมรู้สึกว่า พี่เป็นคนที่กล้าพูดในเรื่องที่หลายๆคนไม่พูดกัน การเคลื่อนไหวของพี่และผู้ลี้ภัยคนอื่นๆ มันเป็นสิ่งที่สั่นคลอนระบอบศักดินาที่กำลังพังในไม่ช้า ถึงแม้วันนี้พี่จะสิ้นอิสรภาพ แต่เพลงที่พี่แต่ง มันจะปลุกหัวใจผู้คนให้ลุกขึ้นต่อสู้กับระบอบอำมาตยาธิปไตย

 


 

 

วันที่ 12 พฤษภาคม 2564 ระหว่างที่เขาติดโควิดในเรือนจำ ศาลอาญานัดไต่สวนคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวและมีคำสั่งปล่อยตัวเขาในเย็นวันนั้น กำหนดวงเงินประกัน 200,000 บาท กำหนดเงื่อนไขห้ามกระทำการใดๆรวมทั้งการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ในทางที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ห้ามร่วมกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ห้ามเดินทางออกนอกประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาต และให้ผู้ต้องหามาศาลตามนัดทุกครั้ง

 

เงื่อนไขในการปล่อยตัวชั่วคราวไม่ได้ทำให้พอร์ทใช้ชีวิตยากมากขึ้นเท่าไหร่ มีความอึดอัดอยู่บ้างที่จะต้องกลั่นกรองข้อความในการโพสต์ ที่ผ่านมาแม้ศาลจะห้ามโพสต์ในเชิงสร้างความเสื่อมเสียต่อสถาบันกษัตริย์ แต่เขาก็ยังโพสต์เกี่ยวกับเรื่องข้อเรียกร้องงการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ และเชื่อว่า ข้อความหรือเนื้อหาที่โพสต์ไม่ได้สร้างความเสื่อมเสีย การปฏิรูปพวกนี้เป็นผลดีกับสถาบันกษัตริย์ในระยะยาว สิ่งที่เราจะเสนอ เป็นผลดีต่อสถาบันกษัตริย์ไม่ได้ทำอะไรให้เสื่อมเสีย"

 

 

หนังสือและเพลง งานอดิเรกในเรือนจำ

 

ไม่ต่างจากผู้ต้องขังคดีการเมืองคนอื่นๆ ที่ใช้เวลาระหว่างอยู่ในเรือนจำอ่านหนังสือ พอร์ทบอกว่า ตอนที่อยู่ในเรือนจำอ่านหนังสือเกี่ยวกับเพศของธเนศ วงศ์ยานนาวา เมื่อได้รับการปล่อยตัวจึงไปหาซื้อมาอ่านต่ออีกหลายเล่ม จนถึงตอนนี้เขาเพิ่งอ่านจบไปสองเล่ม แต่ด้วยยังไม่ได้ทำงานประจำ เพราะติดคดีความอยู่ เขาจึงยังพอมีเวลาให้ได้เก็บเกี่ยวไปเรื่อยๆ 

 

ผมมีโอกาสได้อ่านในคุกและรู้สึกว่า เขาศึกษามาละเอียดดีตั้งแต่ในยุคสมัยก่อน แกบรรยายสนุก มันมีบางเล่มที่ยากแต่ก็ไม่ยากเกินไป ตอนนี้ผมอ่านเรื่องว่าด้วยเรื่องความสุขอยู่ก็สนุกดีที่สมัยก่อนคนเรามองความสุขแบบหนึ่ง สมัยนี้เป็นอีกแบบหนึ่ง และมีเรื่องการเมืองต่างๆ จริงๆผมสนใจเรื่องความเชื่อ ความคิด วิธีคิดอุดมการณ์ เรื่องศาสนาผมสนใจมานานแล้ว เมื่อก่อนผมเคยเชื่อเรื่องพระเจ้า เชื่อเรื่องชีวิตหลังความตาย แต่ตอนหลังผมไม่เชื่อแล้ว ผมมองว่า เป็นเรื่องที่พิสูจน์ไม่ได้ ผมมองว่า สิ่งที่พิสูจน์ได้คือ โลกนี้ โลกที่เราอยู่นี่แหละ เราเห็นได้จริงๆ และทำไมเราถึงต้องไปซีเรียสหวังผลในสิ่งที่มันจะมีหรือเปล่า

 

อีกสิ่งหนึ่งที่พอร์ททำคือ การแต่งเพลง เวลา 68 วันในเรือนจำเขาสามารถแต่งเพลงได้สามเพลง หนึ่งในนั้นคือเพลงชื่อว่าสมเด็จหากไม่ใช่คนที่เคยอยู่ในคุกมาก่อน เมื่อฟังแค่ชื่อเพลงก็อาจะคิดไปไกลได้ แต่ไม่เป็นเช่นนั้น 

 

มันเป็นไอเดียหนึ่งที่ตอนที่ผมอยู่ในเรือนจำ เขาเรียกว่า เป็นผู้ต้องขังวีไอพี มีเงินสามารถซื้อความสะดวกสบาย คนที่อยู่ในเรือนจำด้วยกันเขาจะเรียกคนพวกนี้ว่า สมเด็จ เหมือนกับเป็นชนชั้นสูงในเรือนจำ เป็นคำประชดว่า ตัวมึงเป็นระดับสมเด็จเลย ไอ้พวกสมเด็จ…”

 

ผมเลยคิดว่า น่าสนใจ เพราะมันเป็นการสะท้อนกันเรื่องชนชั้น ในท่อนฮุคเขียนว่า ไหนบอกว่า คนเท่ากันแม้แต่ในคุกยังมีชนชั้น ไม่มีหรอกความยุติธรรม

 

เขาเล่าว่า เพื่อนๆ ที่เขาเจอในเรือนจำหลายคนก็แต่งเพลงเหมือนกัน ส่วนใหญ่จะเป็นเพลงรัก มีคนหนึ่งต้องโทษมานานจนเขียนเพลงได้เป็นร้อยเพลงแล้ว

 

มีผู้ต้องขังแต่งเพลงในคุกเยอะแยะเพราะเขามีกีตาร์ แต่บางคนก็ไม่ได้มีกีตาร์ ผมมีรู้จักอยู่คนหนึ่งเขาเริ่มหัดแต่งเพลงในคุกและแต่งมาเป็นร้อยเพลงเพราะเขาติดมาหลายปี เขาแต่งเก็บมาเรื่อยๆ แต่งได้หลายรูปแบบแต่เป็นรูปแบบเก่า เชยๆหน่อย เป็นเพลง ‘80 ‘90 และลูกทุ่ง เขาติดแบบเดิมๆที่จะมีสัมผัสเหมือนกลอนแปด มีสัมผัสระหว่างบทด้วย ผมบอกว่า ไม่ต้องสนใจเรื่องสัมผัสดีไหม สนใจเรื่องที่เราจะเล่าดีไหม ผมแชร์เพลงที่ผมแต่งให้เขาฟังบ้างเขาก็ได้ไอเดีย สนุกดี

 

มีบางคนที่แต่งเป็นสมัยใหม่เลย เขาอายุประมาณยี่สิบกว่าปี แต่งเพลงค่อนข้างวัยรุ่น แต่งเพลงใช้ได้เลย มีทำงานเพลงในคุกด้วยนะ ในคุกมีโครงการทูบบีนัมเบอร์วัน มีห้องทำเพลง แต่ต้องทำเพลงที่เปิดในคุกได้ เน้นให้กำลังใจคนในคุก สำนึกผิดอะไรแนวๆนี้

 

นับถอยหลังพิพากษาคดี 112 

 

เดือนมีนาคม 2565 ศาลอาญานัดสืบพยานโจทก์และจำเลยในคดีมาตรา 112 ของพอร์ทเป็นนัดแรกและคาดว่า ภายในปี 2565 จะได้เห็นคำพิพากษาคดีของเขา 

 

การสืบพยานวันแรกพ่อและแม่ของเขามาร่วมฟังการพิจารณาด้วย  พอร์ทและแม่มาก่อนพร้อมกันอย่างเร่งร้อน เนื่องจากศาลอาญาอยู่ไกลจากบ้านของพวกเขาย่านอุดมสุข แม่ของพอร์ทเป็นคนไทยเชื้อสายจีน หญิงร่างเล็กนั่งฟังกระบวนการอย่างตั้งใจ ไม่มีท่าทีกระวนกระวายที่ต้องมานั่งในห้องพิจารณาคดีที่มีลูกชายของเธอเป็นจำเลย และหลังเริ่มพิจารณาคดีพ่อของเขาจึงตามมาสมทบ

 

พอร์ทบอกว่า พ่อกับแม่ของเขาอยากมาดูกระบวนการพิจารณาคดี เหมือนกับพ่อและแม่ทั่วไปที่เป็นห่วงลูก เขาบอกว่า ตลอดมาที่บ้านไม่เคยเห็นด้วยกับการออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองเลย ด้วยเป็นห่วงไม่อยากให้เขาต้องถูกดำเนินคดี

 

แต่ไม่มีใครหยุดผมได้ ไม่มีใครห้ามผมได้ ผมก็เลยมาถึงจุดนี้ เขาแค่เป็นห่วง เห็นด้วยไม่เห็นด้วยก็เรื่องหนึ่ง เหมือนกับเรื่องอื่นๆ ที่คนในครอบครัวอยากทำ ถ้าผมไม่เห็นด้วยก็อาจจะแนะนำ แต่ถ้าเขาจะทำก็เรื่องของเขา มันเป็นสิทธิของแต่ละคนอยู่แล้ว ที่บ้านเคารพการตัดสินใจของคนในบ้านพอสมควร พ่อแม่ก็เป็นแบบนี้ โดยธรรมชาติเขาก็อยากให้ลูกไปในทางที่เขาอยากให้ไป ทางที่เขาคิดว่า ดี แต่เราอาจจะเห็นต่างจากเขาก็แค่นั้นเอง

 

ทุกวันนี้เขายังไม่สามารถทำงานได้เนื่องจากติดเรื่องการดำเนินคดี จึงใช้ชีวิตอยู่ที่บ้านและทำงานอดิเรกต่างๆ พอร์ทมองว่า การกลับมาไทยเป็นการตัดสินใจที่ถูก ทำให้ได้รักษาตัวและมาเจอครอบครัวอีกครั้ง

 
ชนิดบทความ: