ปิยบุตรรายงานตัวคดีม. 112 ยันทวีตปฏิรูปสถาบันฯ ไม่ผิดกฎหมาย

20 มิถุนายน 2565 รศ.ดร.ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้านัดหมายเข้ารายงานตัวต่อพนักงานสอบสวนสน.ดุสิต ในคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยคดีนี้มีผู้ร้องทุกข์คือ เทพมนตรี ลิมปพยอม

บรรยากาศตั้งแต่เวลา 8.45 น. ที่หน้าสน.ดุสิตมีประชาชน, ส.ส.พรรคก้าวไกล และทีมงานคณะก้าวหน้าจังหวัดต่างๆ ประมาณ 50 คน มาร่วมให้กำลังใจ รวมทั้งยังมีกลุ่มเคลื่อนไหวอิสระตั้งโต๊ะเชิญชวน ลงชื่อยกเลิกมาตรา 112 ขณะที่ตำรวจมีการกั้นแผงเหล็กและวางกำลังที่ด้านหน้าทางเข้าสน. ต่อมาเวลา 10.00 น. รศ.ดร.ปิยบุตร พร้อมด้วยกฤษฎางค์ นุตจรัสทนายความมาถึงสน.ดุสิต หลังทักทายผู้ที่มีรอให้กำลังใจแล้วจึงเข้าไปรายงานตัวภายในสน. พร้อมด้วยทนายความและส.ส.พรรคก้าวไกลจำนวนหนึ่ง

เวลา 12.50 น. หลังรายงานตัว รศ.ดร.ปิยบุตรและกฤษฎางค์ ทนายความให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน กฤษฎางค์กล่าวว่า “กระบวนการวันนี้พนักงานสอบสวนเรียก รศ.ดร.ปิยบุตร มารับทราบข้อกล่าวหา จากกรณีเทพมนตรี ลิมปพยอมแจ้งความกล่าวหาไว้ตั้งแต่วันที่ 17 พฤศจิกายน 2564 โดยยื่นพยานหลักฐานเป็นเนื้อหาบนทวิตเตอร์และเฟซบุ๊กของ รศ.ดร.ปิยบุตรหลายข้อความ”

จากการสอบสวนพนักงานสอบสวนเห็นว่า มีข้อความเข้าข่ายองค์ความผิดตามมาตรา 112 อยู่หนึ่งข้อความคือ ข้อความในทวิตเตอร์เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2564 ที่ว่า “สภาพสังคมปัจจุบันนี้ เป็นไปไม่ได้เลยที่จะอยู่ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์จำแลงได้อย่างสันติ แต่การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ กองทัพ ศาล เพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบอบประชาธิปไตยที่รักษาสถาบันกษัตริย์ไว้อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ ต่างหากที่เป็นไปได้ และทำให้ทุกคนอยู่อย่างสันติ”

อย่างไรก็ตาม รศ.ดร.ปิยบุตรให้การปฏิเสธและจะทำถ้อยคำโต้แย้งเป็นหนังสือส่งไปยังพนักงานสอบสวนภายใน 30 วันหลังจากนี้ โดยตำรวจไม่ได้มีการยื่นคำร้องขอฝากขังในชั้นสอบสวน

ทั้งนี้ กฤษฎางค์ ในฐานะทนายความที่ทำคดีมาตรา 112 มาหลายคดีมีข้อสังเกตว่า การมาพบพนักงานสอบสวนตามนัด รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาลที่มาภายหลัง ได้ให้ความเห็นว่า น่าจะทำเป็นเงื่อนไขไว้ให้รศ.ดร.ปิยบุตรต้องมารายงานตัวทุก 7 วัน ซึ่งเป็นการเพิ่มภาระ แต่เพื่อไม่ให้พนักงานสอบสวนต้องลำบากใจจึงมารายงานตัวตามนัดหมาย ซึ่งมันเป็นเรื่องที่ผิดปกติเพราะฐานะตอนนี้รศ.ดร.ปิยบุตรเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญายังไม่ได้เป็นจำเลย ไม่ได้มีหมายศาลมาขังหรือมาควบคุมตัวไว้

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า ท่าทีของรองผู้บัญชาการตำรวจนครบาลทำให้หนักใจต่อการสู้คดีต่อไปหรือไม่ กฤษฎางค์ตอบว่า “ท่าทีของท่านไม่ได้ทำให้เราเพิ่มความหนักใจ จริงๆ ความหนักใจเรื่องนี้เรามีตั้งแต่แรกที่เราคุยกับพนักงานสอบสวน ได้ถามพนักงานสอบสวนแล้วว่า ในคดีนี้มีแรงกดดันหรือมีใบสั่งหรือไม่ ซึ่งรองผู้บังคับการตำรวจนครบาล 1 ตอบว่า ไม่ต้องกังวลใจ จะให้ความเป็นธรรม ให้ทางผู้ต้องหาหาหลักฐานมาต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่ ยังมีเวลาในการทำสำนวนอีก 6 เดือน เพียงแค่กังวลเรื่องการรายงานตัวทุก 7 วัน”

ในส่วนของ รศ.ดร.ปิยบุตร ระบุยืนยันว่าข้อความที่คุณเทพมนตรีกล่าวโทษไว้ทั้ง 8 ข้อความ ได้อ่านหมดแล้วไม่มีข้อความไหนเข้าองค์ประกอบความผิดเลย และแม้ในท้ายที่สุดพนักงานสอบสวนมีความเห็นตั้งข้อกล่าวหาและสั่งฟ้องเพียง 1 ข้อความ

“ผมคิดว่า วิญญูชน คนมีเหตุมีผล คนที่มีอัตตวินิจฉัย มีสติสัมปชัญญะที่ดี ลองอ่านข้อความอีกครั้งก็สามารถพินิจพิเคราะห์ได้ว่าไม่เข้าข่ายองค์ประกอบความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น อาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์เลยตรงไหนก็ไม่เข้า สักข้อความหนึ่งก็ไม่เข้า แต่เมื่อพนักงานสอบสวนมีความเห็นแบบนี้ก็ต่อสู้คดีกันไป”

“คดีที่ผมโดนไม่ใช่ตัวผมคนเดียว แต่เป็นภาพใหญ่ของการใช้สิทธิเสรีภาพ ทุกท่านคงยอมรับตรงกันแล้วว่ายุคสมัยปัจจุบันมีความคิดและการแสดงออกของเยาวชนคนรุ่นใหม่จำนวนมากที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ผมเองเล็งเห็นว่า เพื่อจะทำให้สังคมอยู่กันได้อย่าสันติ เพื่อให้ความเห็นทั้งฝ่ายต้องการปฏิรูป ฝ่ายไม่ต้องการให้ปฏิรูป หรือฝ่ายที่เฉยๆ สามารถอยู่ในสังคมไทยได้อย่างเป็นปกติสุข อยู่ได้อย่างสันติ มันควรจะต้องมีการพูดคุยในพื้นที่ที่ปลอดภัย…แต่ปรากฏว่า การแสดงออกของผมที่ต้องการสร้างพื้นที่ปลอดภัยแบบนี้ ทำไปทำมากลับโดนนายเทพมนตรี ลิมปพยอมไปกล่าวโทษในความผิด ม.112…การแสดงความเห็นทางวิชาการแบบนี้ยังถูกกล่าวโทษเลยตกลงมันจะเหลือทางเลือกไหนหลงเหลือให้เดินอีกบ้าง…”

“ตกลงแล้วเราจะปิดพื้นที่ทุกอย่างจนไม่สามารถพูดคุยกันในที่สาธาณะได้เลยใช่หรือไม่ ข้อความที่ฝ่ายอนุรักษ์นิยม มักจะบอกว่า รุนแรงเกินไป อย่าพูด และในท้ายที่สุดข้อความแบบผมที่แสดงเหตุผลทางวิชาการอย่างตรงไปตรงไปมาด้วยความปรารถนาดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์และประชาธิปไตยไทย สุดท้ายยังโดน ม.112 อีก สรุปแล้วคือมัน (บรรทัดฐาน) อยู่ตรงไหน การพูดคุยเรื่องนี้หรือท้ายที่สุดห้ามพูดคุยเรื่องนี้เลย ทั้งๆ ที่กฎหมายอาญามาตรา 112 ไม่ได้ห้ามพูดถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ เขาห้ามเฉพาะหมิ่นประมาท ดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้าย ดังนั้น การแสดงออกของผมไม่มีตรงไหนที่เข้าข่ายเรื่องพวกนี้เลย ต่อไปสังคมไทยจะอยู่กันอย่างไร ถ้าการพูดจาแบบมีเหตุผลวิชาการก็สามารถถูกดำเนินคดี…เราจะนำเสนอเรื่องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์เพื่อรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ให้ดำรงอยู่ในสังคมไทยต่อไปอย่างไร”

อีกทั้ง รศ.ดร.ปิยบุตร ยังฝากส่งเสียงไปยังบรรดานักร้องว่า ให้พิจารณาข้อกฎหมายบ้างที่ต้องเข้าองค์ประกอบความผิดของกฎหมาย มิใช่จินตนาการเอาความรู้สึกนึกคิดของตนเองมาแจ้งความ

“เรียกได้ว่า โตๆ กันแล้วมันควรจะต้องใช้สมอง ใช้สติสัมปชัญญะบ้างในการพิจารณาเรื่องเหล่านี้” พร้อมย้ำว่า ข้อเสนอเรื่องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ถูกพูดถึงมาเป็นเวลา 10 ปีแล้วตั้งแต่สมัยยังเป็นอาจารย์ แต่กลายเป็นว่า เมื่อเข้าสู่วงการเมืองกลับถูกดำเนินคดี

“ผมยืนยันว่า ความคิดเห็นของผมที่แสดงออกอย่างสุจริตใจนั้น ผมจะดำเนินการต่อไป ทั้งหมดไม่ใช่เพื่อประโยชน์ส่วนตัวเลย แต่ทั้งหมดเพื่อประโยชน์ของสังคมไทย มันถึงเวลายอมรับความจริงและพูดคุยกันว่า กฎเกณฑ์ในทางรัฐธรรมนูญ กฎเกณฑ์ในกฎหมายต่างๆ ต้องเปลี่ยนแปลง ต้องปฏิรูปอย่างไรเพื่อจะหาทางออกร่วมกันของสังคมไทย”