ชวนรู้จัก พรชัย ผู้ต้องหา ม.112 กับเรื่องประหลาดถูกส่งเข้าเรือนจำ

1. พรชัย ยวนยี หรือ แซม เป็นชาวจังหวัดบึงกาฬ เข้าเรียนที่คณะรัฐศาสตร์ สาขาการเมืองการปกครอง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในโครงการจุฬาฯ-ชนบท เมื่อปี 2552 ซึ่งเป็นโครงการที่เปิดรับนักเรียนที่ฐานะยากจนในต่างจังหวัดเข้ามาเรียนโดยให้ทุนการศึกษาตลอดจนเรียนจบ

2. พรชัย เริ่มทำกิจกรรมสมัยเป็นนิสิต จุฬาฯ เข้าร่วมกับสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) เคลื่อนไหวคัดค้านการเอามหาวิทยาลัยออกนอกระบบ ร่วมจัดตั้งกลุ่มประชาคมจุฬาเพื่อประชาชน (CCP) เป็นเลขาธิการสนนท. ในปี 2553-2554 พรชัยเข้าร่วมการเคลื่อนไหวกับขบวนการคนเสื้อแดง มีบทบาทเด่นชัดในฐานะนักศึกษาปีกประชาธิปไตย

3. เมื่อปี 2558 พรชัยเข้าร่วมการชุมนุมครบรอบ 1 ปีการรัฐประหารของ คสช. และถูกจับกุมร่วมกับคนอื่นอีกรวม 32 คน พรชัยถูกดำเนินคดีฐานชุมนุมฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. 3/2558 และประกาศ “อารยะขัดขืน” ไม่ยอมรับข้อหาตามคำสั่งหัวหน้า คสช. เคลื่อนไหวต่อเนื่องในนามขบวนการประชาธิปไตยใหม่จนถูกดำเนินคดีข้อหามาตรา 116 และถูกฝากขังในเรือนจำรวม 12 วัน ก่อนศาลทหารให้ปล่อยตัว และคดีความก็ค้างคาอยู่เป็นชนักติดหลัง


ต่อมาพรชัยเข้ารายงานตัวในคดีแรกของเขา แต่คดีที่ต้องพิจารณาที่ศาลทหารก็ไม่มีความคืบหน้า จนกระทั่งคดียุติไปเพราะคำสั่งหัวหน้า คสช.​ ถูกยกเลิก ส่วนคดีที่สองของเขาในปี 2562 ทางตำรวจเรียกธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เข้ามาเป็นผู้ต้องหาเพิ่มในคดี และคดีก็ยังไม่มีความคืบหน้า

4. ในปี 2563 พรชัยเคลื่อนไหวร่วมกับกลุ่ม Unme of Anarchy จัดการชุมนุมในช่วงเดือนตุลาคม 2563 เรียกร้องการปล่อยตัวผู้ต้องขังทางการเมือง แต่ไม่ได้ร่วมในกลุ่มราษฎรที่นำเสนอประเด็น “ทะลุเพดาน” พรชัยร่วมการเคลื่อนไหวอีกครั้งในการตั้ง “หมู่บ้านทะลุฟ้า” บริเวณข้างทำเนียบรัฐบาล และทำกิจกรรมร่วมกับกลุ่มทะลุฟ้ามาต่อเนื่องกว่าหนึ่งปี


5. ในปี 2564 พรชัย ถูกดำเนินคดีฐานฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการร่วมชุมนุมกับกลุ่มทะลุฟ้าอย่างน้อย 4 คดี ได้แก่

1) คดีที่ถูกจับจากการสลายหมู่บ้านทะลุฟ้า เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2564

2) คดีให้กำลังใจมิลลิ แรปเปอร์ที่ถูกดำเนินคดีฐานดูหมิ่นพล.อ.ประยุทธ์ เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2564

3) คดีสาดสีที่หน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ วันที่ 2 สิงหาคม 2564

และ 4) คดีที่เดินขบวนไปทำเนียบรัฐบาล วันที่ 16 สิงหาคม 2564

โดยทุกคดี พรชัยไปรายงานตัวตามหมายเรียก และตำรวจไม่ควบคุมตัว


6. พรชัยแต่งงานเมื่อปี 2557 ลูกของพรชัยอายุ 8 ปีแล้ว ในช่วงกลางปี 2565 พรชัยและภรรยาวางแผนจะเดินทางไปใช้ชีวิตต่อในประเทศสหรัฐอเมริกา และแม้ว่าจะพร้อมเดินทาง พรชัยก็เลือกกลับไปเข้าร่วมกระบวนการเพื่อต่อสู้ในคดีของตัวเองที่ยังค้างอยู่ ซึ่งการเดินทางไปต่างประเทศจะต้องผ่านการตรวจของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง หากเขามีหมายจับค้างอยู่ก็จะไม่สามารถเดินทางออกนอกประเทศไทย
ได้

7. วันที่ 7 กรกฎาคม 2565 พรชัยเดินทางไปยังศาลทหารกรุงเทพ เพื่อไปขอถอนหมายจับที่มีอยู่ตั้งแต่ปี 2558 ในเวลาประมาณ 10.00 น. เจ้าหน้าที่ของศาลทหารแจ้งว่าคดีนี้จบไปแล้ว แต่หมายจับยังคงค้างอยู่ ซึ่งพรชัยต้องไปขอยกเลิกหมายจับที่ต้นทางที่เป็นผู้ขอออกหมาย คือ สน.สำราญราษฎร์ พรชัยจึงเดินทางไปที่สน.สำราญราษฎร์ เพื่อขอให้ยกเลิกหมายจับที่ค้างอยู่ และรออยู่ 1-2 ชั่วโมงตำรวจก็นำหมายจับฉบับใหม่มาให้ดู พร้อมแจ้งว่า พรชัยมีหมายจับอีกหมายหนึ่ง ในคดีมาตรา 112 ซึ่งเป็นหมายจับของสน.นางเลิ้ง


8. พรชัยรับว่า ตัวเองเป็นบุคคลตามหมายจับ และถูกจับกุมพาตัวไปที่สน.นางเลิ้ง เมื่อไปถึงสน.นางเลิ้งในเวลาประมาณ 13.00 ตำรวจที่สน.นางเลิ้งก็ได้แจ้งข้อกล่าวหาให้ทราบว่า พรชัยถูกตั้งข้อหาฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ตามมาตรา 112 ฐานวางเพลิงเผาทรัพย์ ตามมาตรา 217 ฐานทำให้เสียทรัพย์ ตามมาตรา 358 และฐานฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในการชุมนุมเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2564 โดยตำรวจกล่าวหาว่า พรชัยปาระเบิดเพลิงใส่พระบรมฉายาลักษณ์ที่อยู่บนสะพานลอยหน้าโรงเรียนราชวินิตแต่ไม่ลุกไหม้ เพราะก่อนเกิดเหตุมีฝนตกหนักทำให้ซุ้มเปียกชื้น จึงวางแผนใหม่อีกครั้ง พรชัยให้การปฏิเสธ 


9. หลังจากนั้นตำรวจส่งตัวพรชัยไปฝากขังที่ศาล ในเวลา 15.00 น. ก่อนที่ในเวลา 16.50 น. ศาลอาญามีคำสั่งให้ฝากขังและไม่อนุญาตให้ประกันตัว ให้เหตุผลว่า พิเคราะห์กรณีการกระทำของผู้ต้องหาตามที่ถูกกล่าวหาเป็นข้อหาร้ายแรง มีอัตราโทษสูง มีลักษณะร่วมกันกระทำโดยใช้ความรุนแรงในที่สาธารณะ และกระทำให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินของทางราชการอันเป็นการไม่ยำเกรงต่อกฎหมาย น่าเชื่อว่าหากปล่อยชั่วคราวไป ผู้ต้องหาอาจหลบหนีหรือไปก่อภยันอันตรายประการอื่นอีก

10. ตำรวจแจ้งว่า ในกรณีเดียวกันมีผู้ถูกออกหมายจับอีก 2 คน ทำให้ในเหตุเดียวกันนี้จะมีผู้ถูกดำเนินคดีรวมจำนวน 4 คน เพราะก่อนหน้านี้ “บัง” (สงวนชื่อสกุลจริง) ได้เข้ารับทราบข้อกล่าวหาแล้ว 1 คน และได้รับการปล่อยตัวในชั้นสอบสวน ตำรวจยังอธิบายด้วยว่าคดีนี้เคยส่งหมายเรียกไปยังที่อยู่ของพรชัยในจ.บึงกาฬ สองครั้งแล้วแต่พรชัยไม่อยู่บ้าน และไม่มีผู้รับ จึงไปขอศาลอาญาให้ออกหมายจับค้างไว้


11. การชุมนุมเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2564 เป็นการนัดหมายชุมนุมแบบ Car Mob นำโดยณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ใช้ชื่อว่า “ขับรถยนต์ชนรถถัง” ซึ่งนัดหมายชุมนุมที่แยกอโศก และเคลื่อนขบวนไปยังอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ส่วนการชุมนุมบริเวณแยกนางเลิ้งนั้น เป็นการชุมนุมต่อเนื่องของมวลชนอิสระหลังการชุมนุมหลักจบลงแล้ว


12. นับถึงวันที่ 7 กรกฎาคม 2565 มีผู้ถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกและการชุมนุมทางการเมืองในข้อหาตามมาตรา 112 แล้วอย่างน้อย 204 คน ใน 219 คดี มีผู้ที่ถูกคุมขังโดยศาลไม่ให้ประกันตัว 4 คน คือ สมบัติ ทองย้อย, ใบปอ และ บุ้ง ทะลุวัง และพรชัย เป็นคนล่าสุด

หมายเหตุ รูปภาพได้รับความยินยอมจากตัวน้องและคุณแม่แล้ว