#ปล่อยเพื่อนเรา มีนักโทษการเมือง 30 คนในเรือนจำ

จนถึงวันที่ 21 กรกฎาคม 2565 มีนักกิจกรรมทางการเมืองที่ถูกคุมขังระหว่างการสอบสวนและระหว่างที่คดียังไม่ถึงที่สุดอย่างน้อย 30 คน นับจากกระแสเรียกร้องทางการเมืองรอบใหม่ หลังการชุมนุมของเยาวชนปลดแอกในปี 2563 การคุมขังนักเคลื่อนไหวทางการเมืองเกิดขึ้นเป็นระลอกๆ ตามบรรยากาศการชุมนุมเรียกร้องที่ขยายตัวขึ้นและลง ครั้งนี้ถือเป็นระลอกที่สี่แล้ว ไล่เรียงมาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2563, เดือนกุมภาพันธ์ 2564, เดือนสิงหาคม 2564 และเดือนมีนาคม 2565

ในเดือนเมษายน 2565 มีการไต่สวนเพิกถอนสัญญาประกันของผู้ต้องหาคดีมาตรา 112 ทั้งสิ้นรวมห้าครั้ง โดยที่สามในห้า ศาลมีคำสั่งให้ถอนประกัน ประกอบไปด้วย ตะวัน-ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ เมื่อ 20 เมษายน 2565, เวหา แสนชนชนะศึก เมื่อ 21 เมษายน 2565 และกรณีของใบปอ-ณัฐนิช ดวงมุสิทธิ์ กับบุ้ง-เนติพร เสน่ห์สังคม จากกลุ่มทะลุวัง เมื่อ 3 พฤษภาคม 2565 (เลื่อนฟังคำสั่งจาก 27 เมษายน 2565)

ต่อมา เดือนพฤษภาคม 2565 เป็นเดือนที่มีวันสำคัญทางประวัติศาสตร์ทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ชุมนุมใหญ่ในปี 2535 และการสลายการชุมนุมของคนเสื้อแดงในปี 2553 อีกทั้งยังเป็นเดือนที่มีพระราชพิธีฉัตรมงคลและพระราชพิธีพืชมงคล นักกิจกรรมผู้ต้องหามาตรา 112 ที่ถูกเพิกถอนสิทธิประกันหลายคนก็ได้รับการปล่อยตัวในช่วงปลายเดือน เช่น เก็ท-โสภณ สุรฤทธิ์ธำรง จากกลุ่มโมกหลวงริมน้ำ ที่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจล้อมจับในคดีมาตรา 112 เมื่อ 1 พฤษภาคม 2565 ได้รับการปล่อยตัวในวันที่ 26 พฤษภาคม 2565  หรือตะวัน ได้รับการปล่อยตัวในวันที่ 31 พฤษภาคม 2565

เดือนมิถุนายน 2565 การชุมนุมบริเวณแยกดินแดงกลับมาชีวิตอีกครั้ง หลังการประกาศนัดหมายชุมนุมแบบไร้แกนนำภายใต้กิจกรรม “ราษฏรเดินไล่ตู่” เมื่อ 11 มิถุนายน 2565 ซึ่งเป็นเดินขบวนจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไปยังอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาอออกจากตำแหน่ง โดยกิจกรรมบริเวณแยกดินแดงที่เกิดขึ้นหลังการชุมนุมหลัก ก็มีการนัดหมายกันอย่างต่อเนื่องในระหว่างวันที่ 12-19 มิถุนายน 2565 และส่งผลให้มีผู้ชุมนุมถูกจับกุมในช่วงเวลาดังกล่าวเป็นจำนวน 14 คน 

กระทั่งมาถึงเดือนกรกฎาคมซึ่งมีวันสำคัญอย่างวันเฉลิมพระชนมพรรษาในช่วงปลายเดือน รวมทั้งมีกำหนดการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งสุดท้ายของสภาชุดปัจจุบัน ในช่วงวันที่ 19-22 กรกฎาคม 2565 การฝากขังนักกิจกรรมระหว่างพิจารณาคดีในช่วงครึ่งเดือนแรกก็ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ การออกหมายจับ แซม-พรชัย ยวนยี จากกลุ่มทะลุฟ้า ในมาตรา 112 เมื่อ 7 กรกฎาคม 2565 ตามมาด้วยการฝากขังสมาชิกทะลุฟ้าเพิ่มอีกเจ็ดคน ภายหลังอัยการสั่งฟ้องคดีสาดสีหน้าพรรคประชาธิปัตย์จากการชุมนุมเมื่อหนึ่งปีก่อน ในวันที่ 19 กรกฎาคม 2565 ซึ่งเป็นวันแรกที่กลุ่มทะลุฟ้า ในนาม “ราษฎร” นัดหมายกันไปปักหลักชุมนุมที่หน้ารัฐสภาในช่วงของการอภิปรายไม่ไว้วางใจ

คดีมาตรา 112 รวม 5 คน

  • ใบปอ-ณัฐนิช ดวงมุสิทธิ์ และ บุ้ง-เนติพร เสน่ห์สังคม จากลุ่มทะลุวัง 

จำนวนวันที่ถูกขัง: 80 วัน (ตั้งแต่ 3 พฤษภาคม 2565)

ชั้นคดี: ชั้นพิจารณาคดี

3 พฤษภาคม 2565 ศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำสั่งถอนการประกันตัวใบปอและบุ้ง สมาชิกทะลุวัง จากการจัดกิจกรรมสอบถามความเห็นของกลุ่มทะลุวังสองครั้ง ครั้งที่หนึ่ง การทำโพลสอบถามความเห็น “คุณยินดียกบ้านให้กับราชวงศ์หรือไม่” เมื่อ 13 มีนาคม 2565 ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และครั้งที่สอง การทำโพลสอบถามความเห็น “ต้องการจ่ายภาษีเลี้ยงราชวงศ์หรือไม่” เมื่อ 31 มีนาคม 2565 บริเวณสกายวอล์คหน้าบิ๊กซีราชดำริและแยกราชประสงค์ โดยศาลเห็นว่า เป็นการกระทำนองในลักษณะทำนองเดียวกันกับการกระทำที่เป็นเหตุให้ผู้ต้องหาถูกดำเนินคดีและชักจูงและเชิญชวนให้ประชาชนคนทั่วไปเข้าร่วมชุมนุม ซึ่งอาจก่อให้เกิดความวุ่นวายและความไม่สงบเรียบร้อยในสังคมได้ 

ประกอบกับมีข้อเท็จจริงว่า เมื่อขณะเวลาที่ผู้ต้องจัดกิจกรรม ได้มีการชุมนุมของกลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบันอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกับพื้นที่ชุมนุมของผู้ต้องหา และมีผู้ชุมนุมจากการชุมนุมของผู้ต้องหาเดินเข้าไปยังพื้นที่ชุมนุมของกลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดความชุลมุนวุ่นวาย ความไม่สงบเรียบร้อยในสังคม อันเป็นเหตุฝ่าฝืนเงื่อนไขสัญญาปล่อยตัวชั่วคราว ศาลจึงมีคำสั่งให้เพิกถอนสัญญาประกันตัวของผู้ต้องหาทั้งสอง

ทั้งนี้ ภายหลังอยู่ในเรือนจำนานหนึ่งเดือน ใบปอและบุ้งตัดสินใจอดอาหารเพื่อเรียกร้องสิทธิประกันตัวตั้งแต่วันที่ 2 มิถุนายน 2565 จนถึงปัจจุบัน (21 กรกฎาคม 2565) ทั้งคู่อดอาหารมาเป็นระยะเวลากว่า 49 วันแล้ว

  • สมบัติ ทองย้อย 

จำนวนวันที่ถูกขัง: 85 วัน (ตั้งแต่ 28 เมษายน 2565)

ชั้นคดี: ชั้นอุทธรณ์ 

สมบัติเป็นอดีตการ์ดคนเสื้อแดง ซึ่งถูกกล่าวหาว่าในช่วงระหว่างเดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายน 2563 เขาโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก เข้าข่ายผิดมาตรา 112 คือ โพสต์ที่ยกพระราชดำรัสของรัชกาลที่สิบมาโพสต์โดยน่าจะมีเจตนาเสียดสีคือ ข้อความ “กล้ามาก เก่งมาก ขอบใจ”, เรื่องการปรับลดงบประมาณและการพระราชทานลายพระอภิไธยให้กับประชาชนที่มีเข้าเฝ้าต่อมาวันที่ 28 เมษายน 2565 ศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำพิพากษาลงโทษจำคุกสมบัติเป็นเวลาหกปี 

หลังศาลมีคำพิพากษา ทนายความของสมบัติยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว แต่ศาลมีคำสั่งให้ศาลอุทธรณ์เป็นผู้สั่งว่าจะให้ปล่อยตัวชั่วคราวสมบัติหรือไม่ และในวันที่ 30 เมษายน 2565 ศาลอุทธรณ์สั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัว ด้วยเหตุผลว่า คดีดังกล่าวมีอัตราโทษสูง ลักษณะการกระทำผิดของจำเลยนำมาซึ่งความเสื่อมเสียสู่สถาบันพระมหากษัตริย์กระทบกระเทือนจิตใจประชาชน ถ้าปล่อยตัวชั่วคราวมีเหตุควรเชื่อว่าอาจก่อเหตุร้ายแรงประการอื่น หรืออาจจะหลบหนี

  • พลทหารเมธิน (นามสมมติ) 

จำนวนวันที่ถูกขัง: 125 วัน (ตั้งแต่ 19 มีนาคม 2565)

ชั้นคดี: ชั้นพิจารณาคดี

จากข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุว่าเมธินเป็นทหารเกณฑ์ประจำการอยู่ที่กองพันทหารแห่งหนึ่ง โดยกลางดึกของวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2565 เขาถูกรถยนต์เฉี่ยวชนขณะขับรถจักรยานยนต์และได้มีปากเสียงกัน โดยช่วงหนึ่งเมธินได้มีการพูดพาดพิงถึงรัชกาลที่ 10 และถูกคู่กรณีซึ่งบันทึกวิดีโอไว้นำไปแจ้งความในข้อหามาตรา 112 ต่อมา 13 กุมภาพันธ์ 2565 เมธินถูกถูกขังในค่ายทหารเป็นเวลาห้าวัน หลังจากนั้นไม่นาน เขาก็ถูกส่งตัวไปธำรงวินัย ที่ มทบ.11 เป็นเวลา 30 วัน ก่อนที่ตำรวจ สภ.บางบัวทอง จะเข้าจับกุมตามหมายจับและยื่นขอฝากขังต่อศาลทหารกรุงเทพ ตั้งแต่วันที่ 19 มีนาคม 2565 

  • แซม-พรชัย ยวนยี จากกลุ่มทะลุฟ้า 

จำนวนวันที่ถูกขัง: 15 วัน (ตั้งแต่ 7 กรกฎาคม 2565)

ชั้นคดี: ระหว่างการสอบสวนในชั้นตำรวจ

แซมเป็นอดีตเลขาธิการสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) และหนึ่งในผู้ต้องหาคดี “14 นักศึกษา” ที่เคยถูกฝากขังจากการต่อต้านรัฐประหารเมื่อปี 2558 โดยในวันที่ 7 กรกฎาคม 2565 แซมเดินทางไปที่ศาลทหารกรุงเทพ เพื่อไปขอถอนหมายจับที่มีอยู่ตั้งแต่ปี 2558 ในเวลาประมาณ 10.00 น. เจ้าหน้าที่ของศาลทหารแจ้งว่าคดีนี้จบไปแล้ว แต่หมายจับยังคงค้างอยู่ เขาจึงต้องเดินทางไปขอยกเลิกหมายจับที่ สน.สำราญราษฎร์ ซึ่งเป็นต้นทางผู้ออกหมาย หลังจากรออยู่ 1-2 ชั่วโมง ตำรวจก็นำหมายจับฉบับใหม่มาให้ดู พร้อมแจ้งว่า เขามีหมายจับอีกหมายหนึ่ง ในคดีมาตรา 112 ซึ่งเป็นหมายจับของ สน.นางเลิ้ง

เมื่อไปถึงสน.นางเลิ้งในเวลาประมาณ 13.00 ตำรวจก็ได้แจ้งข้อกล่าวหาให้ทราบว่า เขาถูกตั้งข้อหามาตรา 112 รวมทั้งมีความผิดฐานวางเพลิงเผาทรัพย์ตามมาตรา 217, ฐานทำให้เสียทรัพย์ ตามมาตรา 358 และฐานฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในการชุมนุมเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2564 

หลังจากนั้น ตำรวจส่งตัวแซมไปฝากขังที่ศาล ในเวลา 15.00 น. ก่อนที่ในเวลา 16.50 น. ศาลอาญามีคำสั่งให้ฝากขังและไม่อนุญาตให้ประกันตัว ให้เหตุผลว่า พิเคราะห์กรณีการกระทำของผู้ต้องหาตามที่ถูกกล่าวหาเป็นข้อหาร้ายแรง มีอัตราโทษสูง มีลักษณะร่วมกันกระทำโดยใช้ความรุนแรงในที่สาธารณะ และกระทำให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินของทางราชการอันเป็นการไม่ยำเกรงต่อกฎหมาย น่าเชื่อว่าหากปล่อยชั่วคราวไป ผู้ต้องหาอาจหลบหนีหรือไปก่อภยันอันตรายประการอื่นอีก

คดีสืบเนื่องจากม็อบดินแดง รวม 17 คน

  • คทาธรและคงเพชร จากกลุ่มอาชีวะพิทักษ์ประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

จำนวนวันที่ถูกขัง: 102 วัน (ตั้งแต่ 11เมษายน 2565)

ชั้นคดี: ชั้นพิจารณาคดี

คทาธรและคงเพชร ถูกตำรวจจับกุมเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2565 ระหว่างที่เดินทางจากย่านดินแดงไปยังแยกราชประสงค์ เพื่อร่วมงานรำลึก 12 ปี การสลายการชุมนุมคนเสื้อแดง จากการตรวจสอบของตำรวจพบสิ่งของที่ใต้เบาะรถ เช่น มีดและระเบิดแสวงเครื่องชนิดกระทบแตก เขาถูกตั้งข้อกล่าวหาหลายข้อหา เช่น ร่วมกันมีวัตถุระเบิดไว้ในครอบครอง, พกอาวุธไปในทางสาธารณะตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 371 และร่วมกันต่อสู้ขัดขวางตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 138 โดยในวันถัดมา พนักงานสอบสวนยื่นคำร้องขอฝากขังต่อศาลอาญา ศาลมีคำสั่งไม่ให้ประกันตัว

  • พรพจน์ แจ้งกระจ่าง จากกลุ่มทะลุแก๊ซ

จำนวนวันที่ถูกขัง: 100 วัน (ตั้งแต่ 13 เมษายน 2565)

ชั้นคดี: ชั้นพิจารณาคดี

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า พรพจน์ถูกคุมขังระหว่างการสอบสวน ตั้งแต่วันที่ 12 เมษายน 2565 หลังจากเข้ามอบตัวที่ สภ.เมืองพิษณุโลก เมื่อ 11 เมษายน 2565 กรณีที่ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่มีกลุ่มบุคคลปาระเบิดปิงปองใส่สนามหญ้าด้านหน้ากรมทหารราบที่ 1 หลังจากการชุมนุมรำลึกเมษาเลือด #ยุติธรรมไม่มี12ปีเราไม่ลืม เมื่อ 10 เมษายน 2565

  • วัชรพล จากกลุ่มทะลุแก๊ซ

จำนวนวันที่ถูกขัง: 39 วัน (ตั้งแต่ 13 มิถุนายน 2565)

ชั้นคดี: ระหว่างการสอบสวนในชั้นตำรวจ

ศูนย์ทนายฯ รายงานว่า วัชรพลถูกกล่าวหาจากการทุบและเผารถยนต์ตำรวจ ระหว่างการชุมนุมในกิจกรรม #ราษฎรเดินไล่ตู่ เมื่อ 11 มิถุนายน 2565 บริเวณดินแดง                  

  • จตุพล จากกลุ่มทะลุแก๊ซ

จำนวนวันที่ถูกขัง: 36 วัน (ตั้งแต่ 16 มิถุนายน 2565)

ชั้นคดี: ระหว่างการสอบสวนในชั้นตำรวจ

ศูนย์ทนายฯ รายงานว่า จตุพลถูกกล่าวหาเรื่องการทุบและเผารถยนต์ตำรวจ ระหว่างการชุมนุมในกิจกรรม #ราษฎรเดินไล่ตู่ เมื่อ 11 มิถุนายน 2565 บริเวณดินแดง                  

  • ณัฐพล, พลพล, พุฒิพงศ์, พิชัย,สมชาย, อัครพล, ธีรวิทย์, หนึ่ง และวรวุฒิ จากกลุ่มทะลุแก๊ซ

จำนวนวันที่ถูกขัง: 35 วัน (ตั้งแต่ 17 มิถุนายน 2565)

ชั้นคดี: ระหว่างการสอบสวนในชั้นตำรวจ

ศูนย์ทนายฯ รายงานว่า ณัฐพล, พลพล และพุฒิพงศ์ ถูกกล่าวหาเรื่องการทุบและเผารถยนต์ตำรวจ ระหว่างการชุมนุมในกิจกรรม #ราษฎรเดินไล่ตู่ เมื่อ 11 มิถุนายน 2565 บริเวณดินแดง ในขณะที่พิชัย, สมชาย, อัครพล, ธีรวิทย์, หนึ่ง และวรวุฒิ ถูกกล่าวหาว่าเข้าร่วมการชุมนุมบริเวณดินแดง เมื่อ 14 มิถุนายน 2565

ในกรณีของธีรวิทย์ ศูนย์ทนายฯ รายงานว่าเขาอดอาหารเพื่อเรียกร้องสิทธิประกันตัวตั้งแต่วันที่ 18 มิถุนายน 2565 

  • ร็อก-ธนรัตน์ จากกลุ่มทะลุแก๊ซ

จำนวนวันที่ถูกขัง: 32 วัน (ตั้งแต่ 20มิถุนายน 2565)

ชั้นคดี: ระหว่างการสอบสวนในชั้นตำรวจ

ศูนย์ทนายฯ รายงานว่า ร็อกถูกกล่าวหาว่าครอบครองระเบิด สืบเนื่องจากการชุมนุมบริเวณดินแดง เมื่อ 19 มิถุนายน 2565        

  • ภูมิ-ศศลักษณ์ และ โอม-ใบบุญ ผู้ชุมนุมอิสระ

จำนวนวันที่ถูกขัง: 35 วัน (ตั้งแต่ 17มิถุนายน 2565)

ชั้นคดี: ระหว่างการสอบสวนในชั้นตำรวจ

ศูนย์ทนายฯ รายงานว่า ภูมิและโอมถูกกล่าวหาว่าเข้าร่วมการชุมนุมบริเวณดินแดง เมื่อ 14 มิถุนายน 2565 โดยศาลมีคำสั่งว่า กรณีความผิดของผู้ต้องหา เป็นการใช้ความรุนแรงกระทำต่อเจ้าพนักงานของรัฐที่ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย อันถือว่าเป็นความผิดร้ายแรง มีอัตราโทษสูงโดยเฉพาะผู้ต้องหาที่ 1 (ภูมิ) และ 3 (โอม) เคยกระทำการจนกระทั่งถูกฟ้องร้องเป็นคดีในศาลนี้มาก่อนแล้ว แสดงว่าไม่ยำเกรงต่อคำสั่งและการถูกดำเนินคดี ดังนั้น หากให้ปล่อยชั่วคราวไป ผู้ต้องหาทั้งแปดอาจหลบหนี โดยเฉพาะอย่างยิ่งน่าจะไปก่อเหตุประการอื่นอีก” 

นอกจากนี้ ในจำนวนของผู้ต้องขังคดีจากม็อบดินแดง ศูนย์ทนายฯ รายงานว่า มีจำนวน 4 คน ที่พยายามทำร้ายร่างกายตัวเองเพื่อเรียกร้องสิทธิประกันตัว ได้แก่ พลพล ที่ได้กินยาแก้ปวดจำนวน 62 เม็ด โดยขณะนี้ยังรักษาอาการไตอักเสบอยู่ที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ นอกจากนี้ยังมี โอม, พุฒิพงศ์และหนึ่ง ที่พยายามทำการกรีดแขนของตัวเองเป็นจำนวนหลายครั้ง

คดีการเมืองอื่นๆ รวม 8 คน

  • เอกชัย หงส์กังวาน 

จำนวนวันที่ถูกขัง: 94 วัน (ตั้งแต่ 19 เมษายน 2565)

ชั้นคดี: ชั้นฎีกา

เอกชัยถูกฟ้องจากการโพสต์เล่าประสบการณ์ทางเพศเมื่อครั้งเขาถูกคุมขังในเรือนจำ ในข้อหานำเข้าข้อมูลลามกอนาจาร ตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(4) เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2565 ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ให้จำคุก 1 ปี โดยไม่รอลงอาญา ทำให้เอกชัยต้องกลับเข้าเรือนจำอีกเป็นครั้งที่สี่ในชีวิตของเขา ต่อมา 22 เมษายน 2565 ศาลฎีกาสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัว เพื่อต่อสู้คดีต่อในชั้นศาลฎีกา โดยให้เหตุผลว่า

“เนื่องจากจำเลยเคยต้องโทษจำคุกมาก่อนและยังถูกฟ้องอีกหลายคดีศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ลงโทษจำคุกหนึ่งปี หากได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยอาจหลบหนี คดียังไม่เห็นสมควรได้รับการปล่อยชั่วคราวระหว่างฎีกา”

  • คิม, ชาติ, คาริม, ป่าน, ทู, อาทิตย์ และเจมส์ จากกลุ่มทะลุฟ้า

จำนวนวันที่ถูกขัง: 3 วัน (ตั้งแต่ 19 กรกฎาคม 2565)

ชั้นคดี: ชั้นพิจารณาคดี

ศูนย์ทนายฯ รายงานว่า เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2565 อัยการมีคำสั่งฟ้องคดีของนักกิจกรรมกลุ่มทะลุฟ้า ประกอบไปด้วยหกข้อกล่าวหา ได้แก่ ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215 และ 216 ข้อหาทำให้เสียทรัพย์, ตามมาตรา 358 ข้อหาบุกรุกโดยใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายหรือโดยร่วมกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป, ตามมาตรา 362 ประกอบมาตรา 365, ฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และข้อหาใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาตจากการทำกิจกรรมสาดสีหน้าที่ทำการพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อ 30 กรกฎาคม 2564 โดยในคดีนี้มี ราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์เป็นผู้กล่าวหา

ในเย็นวันเดียวกัน ศาลอาญาไม่อนุญาตให้ประกันตัว โดยระบุเหตุว่า “จำเลยถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดต่อกฎหมายหลายบท ทั้งการใช้ความรุนแรงเกิดอันตรายแก่ทรัพย์สินของบุคคลอื่นโดยไม่มีเหตุสมควร โดยเฉพาะจำเลยทั้ง 7 ยังเคยถูกดำเนินคดีที่ศาลนี้มาแล้วด้วย จึงน่าเชื่อว่าหากปล่อยตัวชั่วคราว จำเลยทั้ง 7 อาจก่อภยันตรายอื่นได้อีก”