ว่าด้วยรักและอุดมการณ์ของ “แซม ทะลุฟ้า” ในสายตาคู่ชีวิต

“เอาจริงๆ นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เราเจอเรื่องแบบนี้ เราเคยผ่านมันมาแล้ว กำลังใจเรายังดี ..”

เสียงจากปลายสายโทรศัพท์ตอบกลับด้วยน้ำเสียงที่ยังคงสดใสเมื่อถูกถามถึงสภาพจิตใจ ในยามที่ต้องรับมือกับสารพัดปัญหาหลังคู่ชีวิตถูกคุมขังในเรือนจำแบบไม่มีใครทันตั้งตัว และศาลยังไม่ให้สิทธิในการประกันตัว

แม้ว่าการต้องเข้าเรือนจำของ พรชัย ยวนยี หรือ แซม นักเคลื่อนไหวทางการเมืองในนามกลุ่มทะลุฟ้าและอดีตเลขาธิการสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย จะไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับ ‘เอ’ คู่ชีวิตของแซม แต่ภายใต้รัฐบาลที่สืบทอดอำนาจต่อมาจากคณะรัฐประหารอย่างคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก็ทำให้ เอและครอบครัวต้องกลับมาเจอกับปัญหาซ้ำเดิมอีกครั้ง ปัญหาที่ผู้มีอำนาจใช้คดีความจัดการกับคนเห็นต่างและเอาคนไปคุมขังในเรือนจำ

ในยามที่ ‘แซม ทะลุฟ้า’ ยังถูกคุมขังในเรือนจำ เราตัดสินใจขอพูดคุยกับ ‘เอ’ คู่ชีวิตของแซม ถึงตัวตนของคนรัก ความเป็นไปเฉพาะหน้า และความท้าทายครั้งใหม่ที่คนรักของเธอถูกตั้งข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ข้อหายอดนิยมของนักเคลื่อนไหวทางการเมืองที่สร้างแรงสั่นสะเทือนไปถึงผู้กุมอำนาจรัฐ

แซม ทะลุฟ้า: สามัญชนผู้เปี่ยมไปด้วยความห่วงใยต่อผู้คน

“เอเจอกับแซมครั้งแรกตอนเรียนปีหนึ่งที่จุฬาฯ เจอกันครั้งแรกก็ไม่ได้รู้สึกอะไรกับเขาเป็นพิเศษ ก็เห็นว่าแซมเป็นเพื่อนคนหนึ่งที่ออกจะกวนโอ้ยเสียด้วยซ้ำ” เอเล่าถึงแซมด้วยน้ำเสียงเจือความสุขเมื่อหวนย้อนถึงวันวานที่ทั้งคู่เข้าเรียนที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเมื่อปี 2552 ด้วยกัน

“แซมเป็นคนที่สนใจเรื่องการเมืองมากเป็นพิเศษ ส่วนเอนี่ไม่เลย ถึงจะเรียนรัฐศาสตร์ปกครองแต่ก็สนใจพวกงาน HR (ทรัพยากรบุคคล) มากกว่าอย่างวิชาโทเอก็จะไปเรียนพวกวิชาด้านบริหารอะไรไป ส่วนแซมนี่เขาเป็นพวกอินการเมืองวิชาโทก็จะไปเรียนพวกวิชาประวัติศาสตร์อะไรแบบนั้น”

“แซมเป็นคนที่ทำกิจกรรมมาตั้งแต่สมัยเรียนทั้งกิจกรรมในคณะแล้วก็กิจกรรมนอกมหาลัย อย่างมีช่วงหนึ่งแซมก็เคยเป็นเลขาธิการสนนท. (สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย) ด้วยความเป็นเด็กกิจกรรมแซมก็เลยเกรดไม่ดีมากนักอยู่กลางๆ แต่จะมีวิชาปรัญญาการเมืองที่เค้าทำได้ดีมาก จำได้ว่าคืนก่อนสอบแซมยังไปกินเหล้ากับเพื่อนอยู่เลยแต่ปรากฎเกรดออกมาเขาได้เกรดเอ ส่วนตัวเอที่ตั้งใจอ่านหนังสือยังได้ไม่เท่าเขา ตอนนั้นยังแอบคิดอยู่เลยว่าไม่ไม่แฟร์เท่าไหร่”

แม้ว่าทั้งเอและแซมจะดูต่างกันคนละขั้วแต่ก็คงเหมือนแม่เหล็กต่างขั้วที่มีแรงดึงดูดกันบางอย่างที่สุดท้ายทำให้ทั้งสองได้มาตกลงคบหาดูใจกัน

“เอเพิ่งมาคบกับแซมตอนปีสี่นี่เอง ช่วงนั้นแซมเค้าไม่ได้เป็นเลขาธิการสนนท.แล้ว คือที่คณะรัฐศาสตร์จะมีวิชาฝึกปลัดที่นิสิตจะต้องไปลงพื้นที่ใช้ชีวิตในต่างจังหวัดประมาณเดือนหนึ่ง เอกับแซมลงเรียนวิชานี้เหมือนกัน ไปอยู่ที่โรงเรียนแห่งหนึ่งในพิษณุโลกแต่จำไม่ได้แล้วว่าชื่อโรงเรียนอะไร ตอนที่ไปถึงเป็นช่วงปิดเทอมที่โรงเรียนเลยไม่ค่อยมีคนอยู่ การไปอยู่ที่นั่นคือพวกเราต้องอยู่กันเอง ดูแลกันเองไม่มีใครซัพพอร์ต เจอตุ๊กแกก็ต้องจับกันเอง”

“การที่ได้ไปใช้ชีวิตที่พิษณุโลกร่วมกับแซมทำให้เอได้รู้จักค้ามากขึ้น ก็เลยตัดสินใจคบกันหลังจากนั้น ถ้าถามว่าประทับใจอะไรเกี่ยวกับแซม เอคิดว่าเป็นเรื่องความสบายใจ เอรู้สึกว่าเวลาอยู่กับแซมเอเป็นตัวของตัวเองได้เต็มที่ไม่ต้องแต่งต้องเติมอะไรเพียงเพราะหวังให้เค้ามารักเราหรือทำให้เค้ามาสนใจเรา”

“ทีนี้พอคบกันแบบจริงจังมากขึ้นแซมก็พาเอไปเจอเพื่อนเค้าแกงค์นั้นแกงค์นี้ ตรงนี้ทำให้เอได้เห็นมิติความเป็นการเมืองของแซม แซมเป็นคนที่พูดเยอะเวลาไปเจอเพื่อนแต่ละกลุ่มเค้าก็จะเลือกวิธีพูดที่แตกต่างกันไปแต่สิ่งหนึ่งที่เหมือนกันคือเป้าหมายของเค้า สิ่งที่แซมพูดออกไปคืออุดมการณ์เรื่องประชาธิปไตยและความเสมอภาค คือตัวแซมเองก็ไม่ได้มาจากครอบครัวที่มีฐานะ ต้องต่อสู้จนได้จนตัวเองได้มาเรียนที่จุฬาฯ ทีนี้พอเค้าเริ่มลืมตาอ้าปากได้เค้าก็ไม่ได้คิดแค่จะเข้าระบบทำงานหาเงินเอาตัวรอดคนเดียวแต่เค้าคิดตลอดเวลาที่จะช่วยคนอื่นด้วย ตรงนี้ก็เป็นอีกข้อที่เอรู้สึกประทับใจแซมและคิดว่ามันทำให้เค้าแตกต่างและไม่เหมือนใคร”

เมื่อถามถึงห้วงเวลาที่โรแมนติกที่สุดในวันเหล่านั้น เอตอบกลับด้วยน้ำเสียงที่สดใจกว่าเดิมว่า “คงเป็นตอนที่เรียนอยู่จุฬานั่นแหละช่วงก่อนไปเข้าค่ายฝึกปลัดที่พิษณุโลก วันนั้นเรานั่งอยู่กับชาวแกงค์ของเราที่หน้าห้องสมุด ตาแซมก็เดินสะพายเป้มา สภาพตอนนั้นคือผมยาวไว้หนวด ในมือเค้าถือขนมสังขยามาสามห่อ ที่ตลกคือมันเป็นขนมสังขยาที่ห่อใหญ่มาก เดินมาถึงก็ยื่นให้บอก อ่ะซื้อมาฝาก แล้วเค้าก็เดินจากไป เราก็ได้แต่บอกขอบคุณนะ เพื่อนเราที่นั่งอยู่ด้วยกันก็ดูจะหมั่นไส้แซมอยู่ไม่น้อยเลยหล่ะ ที่ตลกคือถึงวันนี้แซมยังคอยซื้อขนมสังขยามาฝากเราอยู่เลย เพียงแต่มันไม่ได้ชิ้นใหญ่แบบวันนั้นแล้ว”

“หลังจากเรียนจบช่วงประมาณปี 56 เราก็ไปอยู่ที่อินเดียกับแซมปีนึงไปเรียนภาษาอังกฤษกันเพราะตั้งใจว่าจะไปเรียนต่อปริญญาโทที่อังกฤษ เอาตรงๆคือภาษาของเราดีกว่าแซมมาก แต่เชื่อไหมว่าที่อินเดียแซมมีเพื่อนเยอะมาก ถึงเค้าพูดไม่เก่งแต่สิ่งที่เขามีคือความกล้าและความเห็นอกเห็นใจคนอื่น ขนาดเค้าพูดไม่เก่งแต่เค้ามักจะเป็นที่ปรึกษาให้กับเพื่อนๆทั้งคนอินเดียแล้วก็คนปากีสถานที่มีปัญหา บ่อยครั้งก็เปิดบ้านพาเพื่อนมากินข้าวกินเหล้าพูดคุยปรับทุกข์กัน เหมือนว่าเค้าจะรู้สึกดีที่ได้ช่วยคนอื่น”

รัฐประหาร 57: จุดเริ่มต้นของคดีความและอุปสรรคครั้งแรก

“ตอนที่อยู่อินเดียนี่แหละที่เอมีน้องพีซ (ลูกสาว) คือเอกับแซมก็ไม่รู้เรื่องเลยกระทั่งตั้งท้องได้ห้าเดือน พอเรียนภาษาจนเสร็จเราสองคนก็กลับมาเมืองไทยแล้วเอก็มาคลอดน้องพีซช่วงเดือนมิถุนายน ปี 57 ซึ่งตอนนั้นก็มีรัฐประหารไปแล้ว เอาจริงๆที่แซมตั้งชื่อน้องว่าพีซ (Peace – สันติภาพ) ก็เพราะลูกของเราคลอดออกมาช่วงที่มีรัฐประหารนั่นแหละ หลังจากคลอดลูกช่วงกลางปี เอกับแซมก็มาแต่งงานกันช่วงปลายปี 57”

“ช่วงที่กลับมาจากอินเดียแซมเค้าก็ทำงานเป็นนักเขียนฟรีแลนซ์ให้กับพรรคการเมืองระหว่างที่เอรอไปเรียนต่อที่อังกฤษช่วงกลางปี 2558 เราคุยกันว่าอยากจะรีบไปรีบกลับเพราะตอนนั้นน้องพีซยังไม่รู้ความ ถ้ารอนานกว่านี้น้องอาจจะติดแม่ แต่ก่อนจะถึงวันเดินทางไม่นานก็ปรากฎว่าแซมมาโดนจับเสียก่อน”

“ตอนที่แซมถูกจับครั้งแรกเราก็ยังงงๆอยู่เพราะเราไม่รู้กระบวนการอะไรพวกนี้ แซมเค้าแค่โทรบอกเราว่าถูกจับเพราะไปชุมนุมที่หน้าหอศิลป์ (ชุมนุมครบรอบ 1 ปี รัฐประหาร) แต่ครั้งนั้นวันถัดมาเค้าก็ได้ปล่อยตัวยังไม่มีอะไร ทีนี้ช่วงเดือนมิถุนาแซมเค้าก็มาถูกจับอีกครั้งตอนกรณี 14 นักศึกษา ก่อนที่แซมจะถูกจับเอไปอยู่กับเค้าที่สวนเงินมีมาด้วย อยู่ด้วยกันจนกระทั่งตำรวจพาแซมขึ้นรถไป แล้วเอก็ตามไปที่สถานีตำรวจก่อนที่แซมจะถูกส่งเข้าเรือนจำกลางดึกคืนนั้น”

“ตอนที่แซมถูกจับรอบที่สองนี่เป็นช่วงที่เราสองคนใกล้จะต้องบินไปอังกฤษ เอก็คุยกับแซมว่าจะเอายังไงดีจริงๆตอนนั้นเอคิดแล้วว่าถ้าแซมไม่ได้ออกจากเรือนจำก็อาจจะเลื่อนการเรียนออกไปปีหนึ่งเพราะทางมหาลัยตอบรับแล้วเราก็แค่วางมัดจำแล้วขอเลื่อนไปอีกปีหนึ่งก็ยังได้แต่ปรากฎว่าครั้งนั้นแซมถูกขังแค่ 12 วันก็ได้ปล่อย พอเค้าออกจากเรือนจำมาได้สองสามวันเราก็บินกันเลย”

“ช่วงที่เอไปเรียนต่อที่อังกฤษแซมจะคอยดูแลเรื่องอาหารการกินให้เพราะเค้าเป็นคนที่ทำอาหารเก่งมากระหว่างที่อยู่ที่นั่นเอก็คุยกับแซมอยู่เหมือนกันว่าถ้าเรียนจบแล้วกลับมาเมืองไทยจะเอายังไงต่อ แซมก็บอกว่าเค้าคงจะหางานทำแล้วถอยออกมาจากการเมืองไม่ได้ไปเคลื่อนไหวออกหน้าอะไรแบบตอนที่โดนจับแล้ว ตอนที่เค้าบอกเอก็ไม่ได้คิดอะไรแล้วก็ไม่ได้ติดใจว่าเป็นคำสัญญาชั่วฟ้าดินสลายอะไรขนาดนั้น ถ้าวันหนึ่งแซมจะเปลี่ยนใจกลับมาเคลื่อนไหวทางการเมืองอีกเอก็เชื่อว่าแซมคงมีเหตุผลของเค้าและเอก็พร้อมจะสนับสนุนเค้าในสิ่งที่เอทำได้”

เมื่อเพื่อนได้รับความไม่เป็นธรรม จึงต้องลงสนามมวลชนอีกครั้ง

“เอรู้สึกได้เลยว่าแซมเค้าเกิดมาเพื่อการเคลื่อนไหวทางการเมืองจริงๆ เอรู้สึกได้เลยว่าตอนที่ไปอยู่อังกฤษ อยู่ห่างจากการเคลื่อนไหวทางการเมือง เหมือนแซมเค้าจะไร้ชีวิตชีวา พอกลับมาเมืองไทยแซมเค้าก็เปิดร้านเหล้าชื่อ The Bar Hasd no Name ตอนนั้นเอสังเกตได้ว่าเค้าดูมีชีวิตชีวาขึ้นมาบ้างแต่พอร้านไปไม่รอดแล้วแซมต้องกลับมาทำงานฟรีแลนซ์ก็ดูเหมือนเค้าจะกลับมาหมดไฟไร้ชีวิตชีวาอีกครั้ง”

“ช่วงปี 63 แซมก็ยังทำงานฟรีแลนซ์เขียนบทความให้พรรคการเมืองแล้วก็ตามการชุมนุมอยู่ห่างๆแต่ไม่ได้ทำอะไรเอง จนกระทั่งมาถึงปี 64 ที่ตาไผ่ (จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา) ถูกจับด้วยคดีมาตรา 112 เป็นครั้งที่สอง แซมก็ตัดสินใจกลับมาเคลื่อนไหวการเมืองแบบเต็มตัวอีกครั้ง เอคิดว่าที่เค้ากลับมาข้อหนึ่งคงเป็นเพราะเค้ารักเพื่อนรักไผ่ จริงๆแล้วแซมกับไผ่ก็เรียนกันคนละที่ แต่ก็มารู้จักกันตอนที่โดนคดี 14 นักศึกษาด้วยกันแล้วก็ค่อยๆสนิทกันมากขึ้นหลังจากนั้น”

“ตอนที่ไผ่ถูกขังรอบที่สอง น้องๆที่ร่วมเดินทะลุฟ้ากับไผ่เคว้งกันมาก แซมเค้าก็เลยตัดสินใจเข้าไปช่วยขบวนไปกินไปนอนอยู่ที่หมู่บ้านทะลุฟ้า ขนาดบ้านของเราอยู่ห่างจากทำเนียบตรงที่เขาตั้งหมู่บ้านไม่ถึง 15 นาที แซมยังไม่ยอมกลับมาบ้านเลย แค่จะกลับมาอาบน้ำที่บ้านก็ยังไม่มา เราได้แต่เจอกันผ่านทางหน้าจอโทรศัพท์ มาช่วงใกล้ๆวันที่เขาจะสลายหมู่บ้านเอถึงได้พาลูกไปเจอหน้าพ่อสักสองครั้ง ครั้งสุดท้ายที่เจอกันคือคืนก่อนสลายหมู่บ้าน เอตื่นเช้ามาก็ตกใจเลยเพราะเขารวบแซมกับเพื่อนๆไปตั้งแต่ตีห้ากว่า โทรศัพท์ก็ติดต่อไม่ได้ ตอนนั้นเอไม่รู้จะติดต่อใครก็พอดีเห็นว่ามีน้องที่หมู่บ้านทะลุฟ้าบางส่วนที่ไม่ถูกจับเขาตั้งห้องคลับเฮาส์รายงานสถานการณ์เอเลยเข้าไปฟังแล้วก็บอกน้องเขาว่านี่เอเองนะ แซมเป็นยังไงบ้าง สรุปวันนั้นเออยู่ในคลับเฮาส์เกือบหกชั่วโมงจนสุดท้ายพอรู้ว่าแซมกับน้องๆเข้าไปป่วนกันที่ตชด.เอก็เลยรู้ว่าเขากำลังใจดีเลยค่อยคลายความกังวล แล้ววันสองวันหลังจากนั้นแซมกับคนที่ถูกจับก็ได้ปล่อยตัวออกมา”

“หลังได้รับการปล่อยตัวแซมก็ยังเคลื่อนไหวกับกลุ่มทะลุฟ้าอย่างจริงจัง แต่สิ่งหนึ่งที่เปลี่ยนไปคือแซมพยายามให้เวลากับเอและลูกมากขึ้น ในทุกๆวันถ้าแซมไม่ได้เดินทางไปทำกิจกรรมกับน้องๆที่ต่างจังหวัด สิ่งที่เขาทำไม่ขาดคือการแวะมาเซย์กู๊ดไนท์เอกับน้องพีซ”

มาตรา 112: ความท้าทายระลอกสองของแซมและครอบครัว

“ช่วงเดือนเมษาที่ผ่านมา (2565) เอพาลูกไปเที่ยวอเมริกา ตอนแรกก็กะแค่ว่าจะไปเที่ยวเฉยๆไม่ได้คิดเรื่องย้ายไปหรอก เพราะเอาจริงๆการที่ใครสักคนจะย้ายไปทำงาน ไปตั้งรกรากที่ต่างประเทศมันคงไม่ใช่เรื่องง่ายแต่ปรากฎว่าพอไปแล้วน้องพีซชอบที่นั่นมาก ญาติเอที่อยู่ที่อเมริกาจนได้กรีนการ์ดเค้าลองเอาเรซูเมของเอไปส่งให้เอเจนซี่ ปรากฎเอเจนซีชอบโปรไฟล์ของเอมาก นัดสัมภาษณ์ได้วันเดียวแล้วเค้าก็แจ้งว่าเอจะได้ไปทำงานที่นั่นให้รีบตัดสินใจแล้วรีบเดินทางไป เอก็เลยบอกกับแซมว่าเออยากไปทำงานที่นั่นแล้วเอาลูกไปอยู่ไปเรียนหนังสือ ส่วนแซมจะตัดสินใจอย่างไรเอก็จะเคารพการตัดสินใจของแซมเพราะต่อให้แซมไม่ย้ายไปด้วยเราก็ยังติดต่อกันไปมาหาสู่กันได้เพราะไม่ได้ตายจากกัน แต่ปรากฎว่าแซมเค้าเอาไปคิดแล้วตัดสินใจว่าจะไปกับเอส่วนหนึ่งเพราะเค้าคิดว่าเค้าอยากให้น้องๆทะลุฟ้าได้เติบโต ถ้าเค้ายังอยู่เค้าก็จะยังไปคนนำ น้องๆก็จะโตได้ไม่สุด แซมเลยคิดว่าเค้าอยากถอยออกมา ไปอยู่ที่อเมริกาทำงานเก็บตัง ถ้าวันหนึ่งน้องๆต้องการความช่วยเหลืออะไรเค้าก็สามารถจะช่วยเหลือได้บ้าง แซมคุยเรื่องนี้กับน้องๆ กับไผ่แล้วก็เตรียมเรื่องถ่ายงานในขบวนไว้แล้ว”

“ตอนแรกที่คุยกันคือเอต้องเดินทางก่อนเพราะแซมเค้าติดพันเรื่องโครงการเลยจะต้องอยู่เคลียร์ธุระทางนี้ถึงเดือนตุลา เอก็เลยบอกเค้าว่างั้นแซมเคลียร์ธุระให้เรียบร้อยจะได้ไปได้อย่างสบายใจ ส่วนเอจะไปก่อนตั้งแต่ช่วงเดือนกรกฎาแล้วให้แม่ไปส่ง แต่ปรากฎว่าแม่เอขอวีซ่าไม่ผ่าน แซมเลยบอกว่างั้นเค้าจะไปส่งเอเอง เค้าก็เลยไปเดินเรื่องที่ตม.(ตรวจคนเข้าเมือง) ถึงได้ไปเจอว่ามีหมายคดีชุมนุม 14 นักศึกษาที่ค้างอยู่ที่ศาลทหารซึ่งคดีมันจบไปแล้ว แต่ตำรวจยังไม่เคลียร์หมายให้ เมื่อวันพฤหัสที่แล้ว (7 กรกฎาคม 2565) แซมก็เลยชวนน้องทะลุฟ้าไปติดต่อเรื่องที่ศาลทหาร แล้วศาลทหารก็บอกว่าให้ไปที่สน.สำราญราษฎร์เพื่อเอาเอกสารจากตำรวจถึงได้รู้ว่าตัวเองโดนหมายคดี 112 แล้วก็ถูกจับไว้เลย”

“ตอนนั้นเอทำงานอยู่ปรากฎว่าแชทในกลุ่มทะลุฟ้าเด้งหลายรอบเอเลยรู้เรื่องแล้วช่วงสายๆแซมก็โทรมาถามว่ารู้เรื่องจากกลุ่มแล้วใช่ไหม เอบอกว่าใช่แล้วก็ถามกลับไปว่าออกนอกประเทศไม่ได้แล้วใช่ไหม แซมก็บอกว่าใช่พร้อมกับบอกว่าค่อยคุยกันจากนั้นสายก็ตัดไป”

“ยอมรับว่าพอรู้เรื่องเอก็สับสนว่าจะเอาอย่างไรดี แอบคิดอยู่เหมือนกันว่าถ้าแซมไม่ได้ออกมาจะไม่ไปอเมริกาแล้ว ตัวเอเองน่าจะหางานใหม่ไม่ยาก ส่วนน้องพีซก็หาโรงเรียนเข้าใหม่ได้ไม่เป็นไร วันศุกร์ที่แล้ว (8 กรกฎาคม 2565) ทนายไปเยี่ยมแซมผ่านทางระบบวิดีโอ เอก็ไปด้วยแล้วก็ได้คุยกับแซมผ่านทนาย ก็ได้เห็นว่าแซมมีสภาพจิตใจที่ดีมาก เค้าบอกเอว่าแผนที่วางไว้ก็ให้ไปตามเดิม ไม่ต้องห่วง ให้คิดเสียว่าเค้าไปต่างประเทศ ไป “ห้องกรง” เร็วกว่ากำหนด พอได้ยินแบบนั้นเอก็ตัดสินใจว่าก็คงจะไปอเมริกาตามเดิม ถ้าแซมมีเรื่องคดีเรื่องอะไรตรงนี้ก็ให้จัดการไป หน้าที่ของเอคือดูแลตัวเอง ดูแลลูกให้ดีแล้วก็ไปเตรียมเรื่องขอกรีนการ์ดให้แซมเพื่อว่าในวันที่แซมเดินทางได้ ทุกอย่างก็จะพร้อมสำหรับแซม”

“มันก็ตลกดี เหมือนชะตาจะลิขิตให้แซมต้องสู้ ต้องอยู่ตรงนี้ ทั้งๆที่ตอนแรกแซมตั้งใจว่าจะถอยออกมาไปทำงานเก็บเงินที่อเมริกากับเอ เราคุยกันว่าถ้าเก็บเงินได้มากพอจะไปหาซื้อที่สักผืนที่ชะอำไว้ทำสวนตอนเราอายุมากขึ้น แซมกับเอชอบไปเที่ยวด้วยกันที่นั่นทุกๆปีช่วงวันเกิดเอ เราเลยฝันกันว่าสักวันหนึ่งอยากไปใช้ชีวิตที่นั่นส่วนเรื่องขบวนแซมก็ไม่ได้จะทิ้ง เพียงแต่เค้าอยากจะเปลี่ยนบทบาทถอยมาอยู่ด้านหลัง ถ้าน้องๆต้องการคำปรึกษาหรือทรัพยากรก็จะสนับสนุนตรงนั้น แต่สุดท้ายแซมก็มาถูกจับเสียก่อน ทำให้แซมต้องต่อสู้คดีแล้วก็คงเดินทางไม่ได้เพราะเท่าที่คุยกับทนายบอกว่าต่อให้ได้ประกันตัวยังไงก็ต้องติดกำไลอีเอ็ม”

เขาจะมีมวลชนอยู่เบื้องหน้า และจะมีเราอยู่เบื้องหลังเสมอ

“ที่เล่าให้ฟังมาทั้งหมด มันเหมือนกับว่าเอต้องยอมทุกอย่างให้แซม เคยมีเพื่อนหลายคนพูดกับเอทำนองว่าทำไมถึงต้องยอมอะไรแซมขนาดนี้ เพราะมองในมุมของคนนอกดูเหมือนแซมจะไม่ได้สนใจใส่ใจครอบครัวเอาแต่เคลื่อนไหว คือใครจะมองแบบนั้นก็ไม่ว่ากัน แต่เอมองอีกมุมนะ ตั้งแต่ก่อนคบกับแซมเอเป็นคนที่ต้องคอยช่วยเหลือคนโน้นคนนี้มาตลอดอยู่แล้ว พอมาเจอกับแซมมันก็เหมือนถูกลิขิตมา เอมีหน้าที่ดูแลตัวเอง ดูน้องพีซแล้วก็ดูแลแซมบ้าง ส่วนแซมมีหน้าที่ต้องไปดูอะไรบางอย่างที่มันใหญ่กว่านั้น เพราะสุดท้ายอุดมการณ์และความฝันของแซม ถ้ามันเป็นจริงหรือเข้าใกล้ความจริง เอเชื่อว่าทุกๆคนรวมถึงน้องพีซก็จะได้มีชีวิตที่ดีขึ้น ไม่ใช่แค่แซมนะ สิ่งที่น้องๆทะลุฟ้าที่ยอมเสียสละชีวิตส่วนตัวทุกคนกำลังทำอยู่มันยิ่งใหญ่มากจนเอคิดว่าเรื่องที่เอกับแซมไม่ค่อยมีเวลาให้กันมันเป็นเรื่องเล็กไปเลย ตลอดเวลาที่คบกันจนมาถึงวันที่แต่งงานเป็นครอบครัวกัน เอกับแซมไม่เคยทะเลาะกันเรื่องจุกจิกๆเจ้าแง่แสนงอนเลย ไม่เคยทะเลาะกันว่าทำไมเธอไม่มีเวลาไม่สนใจชั้น อะไรแบบนั้น เวลาโทรไปไม่รับก็รู้เลยโอเคเค้าประชุมอยู่”

“ตอนที่คบกันเอก็ต้องรับมือกับที่บ้านเหมือนกันนะ คือพ่อเอเค้าก็มีความคิดความเชื่อทางการเมืองแบบหนึ่งที่ต่างไปจากแซม แล้วก็เคยมีสถานะหรือตำแหน่งแห่งที่ทางการเมืองที่ตรงกันข้ามกับแซม แต่เค้าก็ดีนะ เพราะพ่อไม่เคยมีปัญหาเรื่องความคิดความเชื่อทางการเมืองของแซม สิ่งที่พ่อกังวลหรืออาจจะเคยมีปัญหากับแซมอยู่บ้างก็คงเป็นเรื่องความปลอดภัยของเอและน้องพีซ รวมถึงเรื่องที่แซมไม่ได้แสดงออกว่าเอาใจใส่ครอบครัวคือเอกับลูกอย่างจริงจัง แต่ตัวเอไม่ได้ต้องการอะไรแบบนั้นอยู่แล้วเพราะเอดูแลตัวเองได้ แล้วมันก็มีบางมุมที่คนนอกมองเข้ามายังไงก็คงไม่รู้ แต่เอรู้ว่าเรามีอะไรบางอย่างที่เติมเต็มให้กัน อย่างตอนที่เรียนอยู่อังกฤษแซมก็คอยดูแลเรื่องอาหารการกินการใช้ชีวิตจนทำให้เอโฟกัสกับการเรียนได้อย่างเต็มที่”

“สำหรับเรื่องข้างหน้า เอคิดว่าก็คงตามแผนเดิม แซมบอกว่าอยากให้เอไปและให้พาลูกไป ไม่อยากให้เสียโอกาสเพราะเรื่องคดีที่เขาเผชิญอยู่ เพราะสุดท้ายเราก็ยังไม่ได้ตายจากกัน ยังไงก็คงได้คุยกันแล้วก็ยังจะได้เจอกันอีกถ้าไม่ใช่แซมเคลียร์คดีแล้วเดินทางไปก็เป็นเอกลับมาเยี่ยมหลังจากเรื่องต่างๆที่นั่นลงตัว เราก็แค่อยู่ไกลแต่ไม่ได้จากกันไปไหน”

“ถ้ามีอะไรที่อยากจะบอกแซมตอนนี้ ก็อยากบอกเค้าว่า เอยังเชื่อในตัวเค้า และเชื่อว่าอุดมการณ์ของเค้าได้ส่งมาถึงน้องๆทะลุฟ้าทุกคนแล้ว เชื่อว่าสิ่งที่แซมฝันคงจะประสบความสำเร็จเร็วๆนี้ ส่วนตอนนี้ก็อยากให้แซมรู้ว่าเอยังอยู่ข้างๆ และจะดูแลลูกกับดูแลตัวเองอย่างดีแล้วระหว่างนี้ก็จะดูแลน้องๆทะลุฟ้าให้ ขอให้แซมดูแลตัวเองและสู้ให้เต็มที่ไม่ต้องห่วงเรื่องทางนี้”