27 วันของ “แซม ทะลุฟ้า” ในเรือนจำ

พรชัย ยวนยี หรือ “แซม ทะลุฟ้า” ถูกฝากขังในเรือนจำในคดีมาตรา 112 จากการเข้าร่วมการชุมนุม เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2564 โดยตำรวจกล่าวหาว่า แซมร่วมกันวางแผนเพื่อปาระเบิดเพลิงใส่พระบรมฉายาลักษณ์ที่อยู่บนสะพานลอยหน้าโรงเรียนราชวินิตแต่ไม่ลุกไหม้ เพราะก่อนเกิดเหตุมีฝนตกหนักทำให้ซุ้มเปียกชื้น แซมมีแผนการเดินทางไปต่างประเทศ จึงไปรายงานตัวเพื่อ “เคลียร์” หมายจับสำหรับการเดินทาง และถูกแจ้งว่า มีหมายจับในคดีนี้ เขาถูกฝากขังในเรือนจำตั้งแต่วันที่ 7 กรกฎาคม 2565 เป็นต้นมา โดยศาลอาญาไม่อนุญาตให้ประกันตัว

วันที่ 2 สิงหาคม 2565 ทนายความได้เข้าเยี่ยมแซม เพื่อปรึกษาเรื่องการยื่นคำร้องขอประกันตัว และได้อัพเดทการใช้ชีวิตของแซมในเรือนจำ ซึ่งทราบว่าแซมมีกำลังใจ และปรับตัวกับการใช้ชีวิตในเรือนจำได้ แซมเพิ่งครบเวลากักตัวดูอาการว่าติดโควิดหรือไม่ และถูกย้ายไปอยู่ที่แดน 4 ของเรือนจำพิเศษกรุงเทพ เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์จัดให้นอนห้องเดียวกันกับผู้ต้องขังในคดีทางการเมืองคนอื่น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มทะลุแก๊ซรวม 13 คน แต่ไม่ได้อยู่ร่วมกันกับผู้ต้องขังที่มาจากกลุ่มทะลุฟ้า ในแดน 4 ยังมีเอกชัย หงส์กังวาน และสมบัติ ทองย้อยรวมอยู่ด้วย แต่เขาไม่มีโอกาสได้เจอสมบัติมากนัก เพราะสมบัติเป็นผู้ต้องขังตามคำพิพากษาต้องถูกจัดให้ไปทำงาน

แซมเล่าว่า ตารางเวลาในแต่ละวันของเขาเหมือนกัน คือ ต้องอยู่ในห้อง 15 ชั่วโมง และได้ลงมาเดินเล่นในแดน 8 ชั่วโมง กิจวัตรประจำวันของเขาคือการอ่านหนังสือในห้องสมุด ซึ่งมีหนังสือที่มีคุณภาพและน่าอ่านน้อยมาก แต่ก็ยังพอมี หนังสือเกี่ยวกับการเมืองที่เขาอ่านส่วนใหญ่เป็นหนังสือที่มีคนส่งเข้าไปให้กับเพนกวิน พริษฐ์ เมื่อครั้งที่เพนกวินถูกคุมขังอยู่ที่นี่ เพนกวินเขียนชื่อตัวเองไว้ทุกเล่ม แซมเห็นแล้วก็เอาหนังสือเหล่านั้นมาไล่อ่าน ซึ่งเป็นหนังสือที่มีประโยชน์

สำหรับสภาพความเป็นอยู่ของพวกเขา แซมบอกว่า อยู่ได้ ไม่แออัด บางห้องมีผู้ต้องขังอยู่รวมกันกว่าสามสิบคนซึ่งจะค่อนข้างอึดอัดมาก และเสี่ยงต่อการแพร่โรคระบาดมาก แต่ห้องที่แซมและผู้ต้องขังกลุ่มทะลุแก๊สอยู่ด้วยกันมีเพียงสิบกว่าคน จึงยังพอมีพื้นที่อยู่บ้าง พวกเขาอยู่กันด้วยระบบ “ผ้าห่มสามผืน” คือ มีผ้าแจกให้สำหรับปูนอนหนึ่งผืน พับเป็นหมอนหนุนหนึ่งผืน และห่มอีกหนึ่งผืน ทุกคนได้รับจัดสรรเหมือนกันไม่มีใครได้นอนฟูก และแซมได้พบว่าในเรือนจำมีผู้ต้องขังที่ยากจน ไม่มีญาติมาเยี่ยม และเดือดร้อนเยอะมาก ผู้ต้องขังเหล่านี้จะทำงานแทนผู้ต้องขังที่มีเงินและรับค่าตอบแทน เขาได้ตกลงให้ “จ้างซักผ้า” ในราคาเหมาเดือนละประมาณ 300 บาท ส่วนผ้าห่มสามผืนคิดราคาค่าจ้างซัก 50 บาท

การใช้ชีวิตในเรือนจำนั้น ไม่ได้มีเงินสดให้จ่ายมือต่อมือ แต่ผู้ต้องขังที่มีญาติฝากเงินให้จะซื้อของจากร้านค้าสวัสดิการ แล้วเอาของเหล่านั้นมาใช้จ่ายเป็นเงิน เช่น นมหนึ่งกล่อง คิดเป็นราคา 10 บาท กาแฟซองแพ็คละ 100 บาท ผู้ต้องขังที่ได้รับของไปสามารถเอาไปแลกกลับเป็นเงินที่ร้านค้าสวัสดิการได้ สำหรับอาหารถ้าจะกินของที่ “โรงเลี้ยง” จัดให้ก็พอกินได้ แต่ถ้าจะซื้อกินเองสามารถสั่งที่ร้านค้าได้ ราคาจานละ 40-50 บาท ถ้าอยู่อย่างสบายๆ ก็มีค่าใช้จ่ายวันละประมาณ 150 บาท

ล่าสุดทนายความของแซมยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อคัดค้านการฝากขัง เพราะตำรวจไม่มีเหตุต้องควบคุมตัวแซมไว้ในระหว่างการสอบสวนอีก เนื่องจากแซมไม่มีพฤติการณ์หลบหนี และไม่มีอิทธิพลจะไปขัดขวางกระบวการสอบสวนได้ ศาลอาญานัดไต่สวนคำร้องคัดค้านการฝากขังในวันที่ 11 สิงหาคม 2565 เวลา 13.30 น. ซึ่งเป็นวันที่ครบกำหนดฝากขังครั้งที่ 4