แซม ทะลุฟ้า จำเลยคดีเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติไม่ได้รับการประกันตัวเป็นครั้งที่ 4

11 สิงหาคม 2565 ศาลอาญานัดไต่สวนคำร้องคัดค้านฝากขัง พรชัย ยวนยี หรือ “แซม ทะลุฟ้า” พรชัยถูกตั้งข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยถูกกล่าวหาว่าร่วมกับผู้อื่นเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติรัชกาลที่สิบเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2564 ระหว่างการชุมนุมคาร์ม็อบในโอกาสครบรอบ 15 ปี การรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 พรชัยถูกจับกุมตัวเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2565 ระหว่างที่เขาไปติดต่อราชการกับเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อขอให้เพิกถอนหมายจับในคดีการชุมนุมของ 14 นักศึกษา ขบวนการประชาธิปไตยใหม่ที่เกิดขึ้นในปี 2558 และคดีสิ้นสุดไปแล้วเพื่อเตรียมเดินทางไปต่างประเทศ แต่เมื่อไปถึงที่สถานีตำรวจก็ปรากฎว่าพรชัยมีหมายจับคดีมาตรา 112 ค้างอยู่ในระบบจึงถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมตัว

ในวันที่ 8 กรกฎาคม พนักงานสอบสวนนำตัวพรชัยไปขออำนาจศาลอาญาฝากขังซึ่งศาลอนุญาตพร้อมทั้งมีคำสั่งยกคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว พรชัยจึงถูกคุมขังนับจากนั้นเป็นต้นมาจนกระทั่งในวันนี้พนักงานสอบสวนได้ยื่นคำร้องขอฝากขังพรชัยเป็นครั้งที่สี่ ทนายของพรชัยยื่นคำร้องคัดค้านศาลจึงมีคำสั่งให้ไต่สวนคำร้องขออนุญาตฝากขังของพนักงานสอบสวนในวันนี้ ก่อนหน้านี้เมื่อครั้งที่พนักงานสอบสวนขออำนาจศาลฝากขังพรชัยเป็นครั้งที่สามระหว่างวันที่ 31 กรกฎาคม – 11 สิงหาคม 2565 ทนายของพรชัยเคยขอให้ศาลไต่สวนคำร้องฝากขังของพนักงานสอบสวนแต่ศาลเพิ่งมาเรียกไต่สวนในวันนี้ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่พนักงานสอบสวนมายื่นคำร้องขออำนาจศาลฝากขังพรชัยเป็นครั้งที่สี่

พนักงานสอบสวนระบุเหตุผลในคำร้องขอฝากขังพรชัยว่า จำเป็นต้องตรวจสอบลายนิ้วมือ ประวัติของผู้ต้องหา และพยานหลักฐานอื่นๆ จึงต้องขอฝากขังพรชัยอีกครั้งหนึ่ง ขณะที่ทนายความให้เหตุผลในคำร้องคัดค้านการฝากขังว่า การขังผู้ต้องหาต่อไปจะเกินความจำเป็น เพราะผู้ต้องหามีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ไม่มีพฤติการณ์หลบหนีและไม่สามารถเข้าไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานได้ นอกจากนั้นผู้ต้องหายังเป็นเพียงผู้ถูกกล่าวหาเท่านั้น ยังไม่ได้มีคำพิพากษาว่ากระทำความผิด ส่วนที่พนักงานสอบสวนอ้างว่าต้องสอบปากคำพยานเพิ่มเติมและรอผลการตรวจพิมพ์ลายนิ้วมือ พนักงานสอบสวนสามารถดำเนินการได้โดยไม่ต้องขังผู้ต้องหา จึงขอให้ศาลยกคำร้องฝากขังและปล่อยตัวผู้ต้องหาในชั้นสอบสวน

ศาลเริ่มการไต่สวนในเวลา 10.00 น. มีพยานเข้าเบิกความเพียงปากเดียวคือพนักงานสอบสวน ทนายความถามว่าที่พยานอ้างว่าต้องรอผลการตรวจสอบลายนิ้วมือทำให้ต้องขอให้ฝากขังผู้ต้องหาต่อ เป็นกระบวนการภายในของตำรวจใช่หรือไม่ พยานตอบว่าเป็นการทำงานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทนายถามต่อว่ากระบวนการนั้นไม่ว่าผู้ต้องหาจะถูกคุมขังหรือไม่ก็สามารถดำเนินการได้ใช่หรือไม่ พยานตอบว่าสามารถดำเนินการได้ พยานยังตอบทนายความด้วยว่าพยานอีกสองคนที่พนักงานสอบสวนต้องสอบปากคำเพิ่มเติมมีทั้งบุคคลทั่วไปและเจ้าหน้าที่รัฐ พนักงานสอบสวนก็สามารถสอบสวนได้อย่างรวดเร็วไม่ว่าจำเลยจะถูกคุมขังหรือไม่ และยอมรับว่าการจับกุมเกิดจากการที่ผู้ต้องหาเดินทางมารายงานตัวที่ สน.สำราญราษฎร์เอง

เมื่อถูกถามว่าพนักงานสอบสวนจะคัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราวหรือไม่ พยานเบิกความว่าให้อยู่ในดุลพินิจของศาล และพนักงานสอบสวนยอมรับด้วยว่าแม้จะปล่อยตัวผู้ต้องหาไปก็จะไม่กระทบต่อการสอบสวนแต่อย่างใด

เวลา 11.45 น. ศาลมีคำสั่งให้ฝากขังพรชัยต่อเป็นครั้งที่สี่ โดยให้เหตุผลว่า พนักงานสอบสวนมีความจำเป็นต้องรอสอบปากคำพยานเพิ่มและรอตรวจลายนิ้วมือของผู้ต้องหา ซึ่งถือเป็นความจำเป็นที่ต้องกระทำในการรวบรวมหลักฐานในคดีอาญา กรณีมีเหตุจำเป็นจึงอนุญาตให้ฝากขัง

หลังจากอ่านคำสั่งเสร็จศาลถามพนักงานสอบสวนว่าขอให้พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนให้เสร็จภายในเวลา 7 วันได้หรือไม่ เมื่อพนักงานสอบสวนมีท่าทีอ้ำอึ้ง ศาลได้พูดขึ้นว่าขอให้ทำการสอบสวนให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ทนายความของพรชัยพูดขึ้นว่าพนักงานสอบสวนอยู่ในเรือนจำแต่เป็นลูกความของเขาที่อยู่ในเรือนจำ ศาลพูดขึ้นว่าศาลเห็นใจและเคารพความแตกต่างทางความคิด แต่ยุคนี้มีการใช้เทคโนโลยีบ่อนทำลายมนุษย์ด้วยกัน สิ่งที่นำไปโพสต์กันในโลกออนไลน์มีทั้งจริงและไม่จริง ซึ่งสามารถตามตัวได้ว่าผู้กระทำเป็นใคร แต่ที่ศาลไม่ได้ดำเนินการใด ๆ เป็นเพราะบุคคลเหล่านั้นเป็นกลุ่มคนที่ต่อต้านกระบวนการยุติธรรมอยู่แล้ว พร้อมกล่าวกับทนายความด้วยว่าควรจะเตือนลูกความของตัวเองว่าอะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้ ไม่ใช่มาแก้ที่ปลายเหตุเช่นนี้ ส่วนที่มีการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องเงินเดือนของศาล ในความเป็นจริงแล้วศาลเป็นหน่วยงานที่ทำงานหนักมาก และเมื่อเปรียบเทียบกับต่างประเทศ ศาลในต่างประเทศยังได้รับเงินเดือนมากกว่าศาลไทยและมีปริมาณงานน้อยกว่า

หลังจากศาลอนุญาตให้ฝากขังพรชัยต่อ ทนายความได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว ก่อนที่ในเวลา 17.00 น. ศาลจะมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวพรชัย โดยให้เหตุผลว่าศาลนี้เคยมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวมาก่อนและได้ระบุเหตุผลไว้ชัดแจ้งแล้ว กรณียังไม่มีเหตุให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม จึงให้ยกคำร้อง

คำสั่งของศาลทำให้พรชัยต้องอยู่ในเรือนจำต่อไปเป็นวันที่ 35 หลังจากถูกฝากขังมาตั้งแต่วันที่ 8 กรกฎาคม 2565 ก่อนหน้านี้ทนายความของพรชัยเคยยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวมาแล้วสามครั้ง เมื่อรวมกับครั้งนี้เขาจะถูกปฏิเสธสิทธิในการปล่อยตัวชั่วคราวมาแล้วรวมสี่ครั้ง