ศาลบันทึกคำเบิกความด้วยวิดีโอ ในคดีม.116 ของทิวากร ทนายชี้ทำให้รวดเร็วและบันทึกครบถ้วน

ระหว่างวันที่ 23 – 26 สิงหาคม 2565 ศาลจังหวัดลำปางนัดสืบพยานโจทก์-จำเลยในคดีฐานยุยงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ของ ทิวากร ชาวจังหวัดขอนแก่นที่ถูกประชาชนชาวจังหวัดลำปางร้องทุกข์กล่าวโทษให้ตำรวจลำปางดำเนินคดี จากกรณีที่เขาเปิดแคมเปญบนเว็บไซต์ change.org

 เชิญชวนให้คนที่ต้องการให้มีการจัดการออกเสียงประชามติว่าจะคงไว้หรือยกเลิกสถาบันพระมหากษัตริย์มาร่วมลงชื่อ 

ความน่าสนใจของคดีนี้อยู่ที่กระบวนการพิจารณาคดีนี้ไม่ได้เป็นการพิจารณาตามปกติ ที่ผู้พิพากษาจะทำหน้าที่คอยสรุปคำเบิกความของพยานด้วยเครื่องบันทึกเสียงของศาลเพื่อให้เจ้าหน้าที่หน้าบัลลังก์พิมพ์ถ้อยคำตามที่ผู้พิพากษาพูดออกมาเป็นเอกสารที่เรียกว่าบันทึกคำเบิกความพยาน แต่คดีนี้ใช้ระบบบันทึกกระบวนพิจารณาคดีทั้งหมดเป็นวิดีโอ ทำให้คำพูดทุกคำและท่าทางของพยานทุกคนถูกบันทึกไว้เป็นส่วนหนึ่งของสำนวน 

ธีรพล คุ้มทรัพย์ ทนายความของทิวากรเปิดเผยหลังการพิจารณาคดีว่า รู้สึกพอใจกับการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีของศาลด้วยวิธีนี้ เพราะทำให้กระบวนพิจารณาคดีเป็นไปอย่างรวดเร็วและที่สำคัญคำพูดทุกคำของพยานจำเลย และประเด็นการต่อสู้ของฝ่ายจำเลยถูกบันทึกอย่างไม่ตกหล่น ซึ่งแตกต่างจากบางคดีที่ศาลมักใช้ดุลพินิจไม่บันทึกคำพยานเวลาทนายจำเลยต่อสู้ในประเด็นหลักการหรืออุดมการณ์ทางการเมืองที่จำเลยต้องการนำเสนอ โดยผู้พิพากษาหลายคนให้เหตุผลว่า ไม่เกี่ยวกับประเด็นแห่งคดี

+++เปิดข้อกำหนดประธานศาลฎีกา ให้บันทึกภาพและเสียงได้ ในคดีสำคัญ+++

กฎหมายที่เปิดให้ศาลใช้วิธีการบันทึกคำพยานด้วยระบบวิดีโอปรากฎอยู่ใน “ข้อบังคับของประธานศาลฎีกาว่าด้วยการบันทึกคำเบิกความพยานในคดีอาญาโดยใช้วิธีการบันทึกลงในวัสดุซึ่งสามารถถ่ายทอดออกเป็นภาพและเสียงพ.ศ.2564” ลงนามโดย เมทินี ชโลธร ประธานศาลฎีกาเมื่อวันที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2564 ก่อนที่จะประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2564 และเริ่มมีผลบังคับใช้ในวันที่ 15 ตุลาคม 2564 โดยมีสาระสำคัญอยู่ที่ข้อกำหนดข้อ 3, 5 และ 7 ซึ่งกำหนดโดยสรุปได้ว่า

ข้อ 3. ไม่ว่าจะมีผู้ร้องหรือไม่ เมื่อศาลเห็นสมควรให้สั่งบันทึกคำเบิกความพยานเป็นภาพและเสียงได้ ในคดีที่มีความสำคัญเป็นพิเศษที่ต้องอาศัยความรู้เห็นของพยานบุคคล เช่น คดีความผิดเกี่ยวกับชีวิต คดีความผิดเกี่ยวกับเพศ และคดีความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง คดีที่เป็นสนใจของประชาชน และคดีที่สมควรบันทึกคำเบิกความพยานไว้ด้วยวิธีการนี้ เช่นในกรณีที่มีความจำเป็นต้องสังเกตอากัปกิริยาขณะที่พยานเบิกความ หรือคดีที่ข้อเท็จจริงที่พยานเบิกความมีความยุ่งยากซับซ้อนหรือหรือพยานต้องเบิกความผ่านล่าม

ข้อ 5. กรณีที่ศาลจะสืบพยานด้วยวิธิการนี้ ให้ศาลแจ้งคู่ความและพยานล่วงหน้าก่อนนัดสืบพยานปากนั้น และ

ข้อ 7. ในการสืบพยานด้วยการบันทึกภาพและเสียง ศาลไม่ต้องบันทึกคำเบิกความพยานแบบเก็บใจความสำคัญอีก (การบันทึกคำเบิกความตามวิธีเดิม) และให้ถือว่าภาพและเสียงคำเบิกความพยานที่บันทึกไว้เป็นคำเบิกความของพยานโดยไม่ต้องจัดพิมพ์เป็นเอกสารเพื่ออ่านให้พยานหรือคู่ความฟัง โดยคู่ความหรือพยานสามารถขออนุญาตศาลตรวจดูบันทึกภาพและเสียงคำเบิกความได้ภายใต้การควบคุมดูแลของเจ้าหน้าที่ แต่ไม่สามารถบันทึกภาพและเสียงหรือทำสำเนาข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าวได้

ข้อกำหนดนี้ออกมาโดยอาศัยความในมาตรา 72 วรรคสี่และวรรคห้าของประมวลวิธีพิจารณาความอาญา ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมปี 2551 ที่กำหนดให้ศาลสามารถบันทึกคำเบิกความพยานลงในวัสดุที่สามารถถ่ายทอดเป็นภาพและเสียงได้ และให้ศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาสามารถนำบันทึกคำเบิกความดังกล่าวไปใช้ประกอบการพิจารณาคดีได้ โดยให้ข้อกำหนดของประธานศาลฎีกาประกาศในราชกิจจานุเบกษาและมีผลบังคับได้ใช้หลังที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาให้ความเห็นชอบ

ดูข้อกำหนดประธานศาลฎีกาฉบับเต็ม

จากข้อกำหนดดังกล่าว ไม่ได้บังคับให้ศาลใดจะต้องบันทึกการสืบพยานด้วยวิดีโอเสมอไป แต่ขึ้นอยู่กับผู้พิพากษาในคดีนั้นจะเห็นสมควรว่าจะใช้วิธีการนี้หรือไม่ ซึ่งหากคู่ความต้องการให้บันทึกคำเบิกความด้วยวิดีโอก็สามารถร้องขอไปในคดีได้ โดยข้อกำหนดของประธานศาลฎีกาเปิดกว้างไว้สำหรับ “คดีที่สมควร” โดยไม่ได้จำกัดว่าจะใช้อุปกรณ์เทคโนโลยีเข้ามาช่วยเฉพาะในคดีบางข้อหาเท่านั้น

พิจารณารวดเร็ว – คำเบิกความพยานถูกบันทึกครบถ้วน เสียงสะท้อนจากทนายจำเลยคดีทิวากร   

หลังเสร็จสิ้นการพิจารณาคดีมาตรา 116 ของทิวากร ธีรพล คุ้มทรัพย์ระบุว่า จากประสบการณ์การว่าความในคดีนี้เขาเห็นว่าการสืบพยานด้วยวิธีบันทึกคำพยานด้วยระบบวิดีโอทำให้การสืบพยานเป็นไปได้ด้วยความรวดเร็ว ลดการเสียเวลาจากการที่พยานตอบไม่ตรงคำถามซึ่งมักเป็นสาเหตุที่ทำให้การพิจารณาคดีบางนัดล่าช้าเกินความจำเป็น ที่สำคัญการสืบพยานด้วยวิธีการนี้ในคดีของทิวากรยังทำให้ฝ่ายทนายจำเลยสามารถนำประเด็นต่างๆ เข้าสู่สำนวนได้อย่างครบถ้วน โดยที่ไม่ถูกตัดเหมือนการพิจารณาคดีแบบเดิมที่บางกรณีศาลอาจบันทึกคำเบิกความพยานไม่ครบทุกประเด็น โดยให้เหตุผลว่าประเด็นที่พยานเบิกความไม่เกี่ยวข้องกับประเด็นแห่งคดี ซึ่งมักเป็นคำเบิกในประเด็นสิทธิหรือประเด็นหลักการทางการเมือง 

ทนายธีรพลระบุด้วยว่า การเบิกความด้วยวิธีนี้ยังช่วยให้ศาลทำงานง่ายขึ้นเนื่องจากประเด็นการเบิกความในคดีที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งการเมืองมักยาวและมีความซับซ้อน หากใช้วิธีการสืบพยานตามปกติศาลอาจต้องหยุดกระบวนการเบิกความพยานเพื่อสรุปคำเบิกความและบันทึกถ้อยคำในสำนวนเป็นระยะทำให้การพิจารณาคดีต้องยืดออกไป ทนายธีรพลระบุด้วยว่าเท่าที่เขาทราบมีคดีที่อยู่ในความดูแลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนอย่างน้อยสามคดีที่ศาลดำเนินการสืบพยานด้วยการบันทึกวิดีโอ ได้แก่ คดี 116 ของทิวากรที่ศาลจังหวัดลำปางและคดีที่ศาลแขวงเชียงรายอีกสองคดี ได้แก่ คดีวิ่งไล่ลุงที่จังหวัดเชียงราย และคดีการชุมนุมปิดสวิตช์ส.ว.