112 ALERT! ชวนเปิดแฟ้ม “นิว จตุพร” คดีแต่งชุดไทยเดินแฟชั่นที่สีลม ก่อนพิพากษา

ย้อนกลับไปเมื่อปลายปี 2563 ในกิจกรรมแต่งชุดไทยเดินแฟชั่น “รันเวย์ของประชาชน” ที่ถนนสีลม หลายคนอาจคุ้นตาภาพของผู้เข้าร่วมกิจกรรมร่างเล็ก ตัดผมสั้น สวมชุดไทยสีชมพู และมีคนถือร่มสีแดงเดินตามหลัง

เธอมีชื่อว่า จตุพร หรือ “นิว” สมาชิกกลุ่มบุรีรัมย์ปลดแอก และสมาชิกกลุ่มมวลชนอาสา We Volunteer (Wevo)

คดีของนิว ไม่ได้เริ่มต้นโดยเจ้าหน้าที่รัฐผู้บังคับใช้กฎหมาย แต่เริ่มต้นโดย “ประชาชนคนหนึ่ง” เดินไปร้องทุกข์กับตำรวจว่า การกระทำของนิวเข้าข่ายความผิดตามมาตรา 112 เพราะระหว่างการเดินแฟชั่น นิวแสดงท่าทางเลียนแบบสมเด็จพระราชินี ขณะที่นิวต่อสู้คดีว่า เธอไม่ได้มีเจตนาเสียดสีหรือแสดงตนเป็นบุคคลใด เพียงแค่อยากแต่งชุดไทยไปร่วมกิจกรรมแต่เพียงเท่านั้น ภายหลังอัยการสั่งฟ้องและการสืบพยานเสร็จสิ้น ศาลอาญากรุงเทพใต้ก็นัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 12 กันยายน 2565 เวลา 9.00 น.

แต่ก่อนที่นาฬิกาของคำพิพากษาจะเดินไปถึง ไอลอว์ชวนทำความรู้จักคดีมาตรา 112 ของนิวให้มากขึ้น

1. “นิว-จตุพร” คือใคร? ทำไมถูกฟ้อง ม.112?

o จำเลย: นิว-จตุพร เป็นสมาชิกกลุ่มบุรีรัมย์ปลดแอกและกลุ่มมวลชนอาสา We Volunteer (Wevo) เข้าร่วม กิจกรรม “แต่งชุดไทยเดินแฟชั่น” ที่ถนนสีลม เมื่อ 29 ตุลาคม 2563

o โจทก์: วริษนันท์ ศรีบวรธนกิตติ์ ประชาชนคนหนึ่ง ท่ีมีอีกบทบาทเป็นแอดมินเพจเชียร์ลุง

o บันทึกการแจ้งข้อกล่าวหา สน.ยานนาวา สรุปได้ว่า

ในวันเกิดเหตุ นิวแต่งกายและแสดงท่าทางประกอบการเดินแบบในลักษณะที่ทำให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจได้ว่าเป็นการเยี่ยมเยียนผสกนิกรของสมเด็จพระราชินี เนื่องจากเธอสวมชุดไทยสีชมพู ถือกระเป๋าขนาดเล็ก และมีชายอีกคนแต่งชุดไทยนุ่งโจงกระเบนกางร่มเดินตาม อีกทั้งยังมีผู้หญิงถือพานทองที่มีปลอกแขนการ์ดวางอยู่ข้างบนเดินตาม และในงานยังมีการเปิดเพลงข่าวในพระราชสำนักอีกด้วย

ระหว่างการเดิน มีประชาชนที่นั่งอยู่ข้างพรมแดงส่วนหนึ่งก้มตัวลงคล้ายจะหมอบกราบ จึงเชื่อได้อาจเป็นการตระเตรียมกระทำการเป็นกลุ่ม หรือหากไม่มี ท่าทางเลียนแบบของนิวก็อาจทำให้คนทั่วไปเข้าใจว่าเป็นการล้อเลียนสมเด็จพระราชินีได้ รวมทั้งมีกลุ่มคนที่กำลังชมอยู่ ตะโกนว่า “พระราชินี”

กรณีดังกล่าว จึงทำให้ตำรวจเชื่อว่าเธอมีเจตนาล้อเลียนสมเด็จพระราชินี และทำให้ประชาชนทั่วไปรู้สึกเป็นการดูหมิ่น-เกลียดชัง

นอกจากมาตรา 112 แล้ว นิวยังเคยถูกตั้งข้อหา “หมิ่นประมาทโดยการโฆษณา” จากกรณีโพสต์เฟซบุ๊กวิจารณ์การจัดหาวัคซีนในจังหวัดบุรีรัมย์อีกด้วย

2. ภาพรวมการสืบพยานคดี “นิว-จตุพร” เป็นอย่างไร?

15 กรกฎาคม 2564 อัยการยื่นฟ้องคดีของนิวต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ โดยศาลอนุญาตให้ประกันด้วยหลักทรัพย์ 200,000 บาท และกำหนดเงื่อนไขห้ามร่วมกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายกับสถาบันพระมหากษัตริย์ 

14-15, 17, 24 มิถุนายน 2565 นัดสืบพยานโจทก์ รวม 5 ปาก โดยมีข้อมูลที่น่าสนใจดังนี้
(1) วริษนันท์ ศรีบวรธนกิตติ์ หรือแอดมินเพจเชียร์ลุง ผู้กล่าวหา (พยานปาก 1) เบิกความโดยสรุปส่วนหนึ่งว่า

ในวันเกิดเหตุเธอไม่ได้ไปดูกิจกรรมในที่เกิดเหตุ แต่รับชมผ่านการรายงานของสื่อ ซึ่งเธอพบว่านอกจากการเดินแฟชั่นแล้ว ยังมีการขึ้นป้ายเขียนข้อความว่า “ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์” และข้อความเรื่องแบรนด์สิริวัณณวรี (Sirivannavari) ใช้เงินภาษีประชาชน

ขณะที่เดินบนพรมแดง มีคนสองคนเดินตาม โดยชายคนหนึ่งเดินตามกางร่มให้คล้ายเป็นมหาดเล็ก และมีหญิงอีกคนหนึ่งถือพานเดินตามคล้ายเป็นนางสนองพระโอษฐ์ ขณะที่ในระหว่างที่เดิน จำเลยมีพฤติการณ์เดินหันหน้าทักทายคนที่นั่งอยู่ข้างพรมทั้งสองฝั่งและมีผู้ชุมนุมคนหนึ่งยื่นมือออกมาจับข้อเท้าของจำเลย คล้ายกับเหตุการณ์ระหว่างการเสด็จพระราชดำเนินครั้งหนึ่งของสมเด็จพระราชินี

ทั้งนี้ หลักฐานที่วริษนันท์รวบรวมมาให้พนักงานสอบสวนเป็นภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหวที่นำมาจากสื่อและอินเทอร์เน็ตทั้งหมด

(2) ส.ต.ท.กรณินทร์ คุ้มกัน เจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวน (พยานปาก 2) เบิกความโดยสรุปส่วนหนึ่งว่า  

เขามาสังเกตการณ์พร้อมบันทึกภาพของกิจกรรมและทราบภายหลังว่าหญิงคนที่แต่งชุดไทยคือนิว นอกจากนี้ หญิงอีกคนหนึ่งถือพานเดินตามจำเลยยังใช้โทรโข่งเปิดเพลงมาร์ชราชวัลลภประกอบการเดินแฟชั่นด้วย

ส.ต.ท.กรณินทร์มองว่า จำเลยน่าจะแต่งตัวเลียนแบบสมเด็จพระราชินีองค์ปัจจุบัน เพราะระหว่างที่เดินแฟชั่น มีผู้ชมมาเกาะขาจำเลยและพูดว่า “ทรงพระเจริญ” ซึ่งการแสดงออกในลักษณะดังกล่าวน่าจะเป็นการแสดงออกต่อพระราชวงศ์ชั้นสูงเท่านั้น นอกจากนี้ ยังมีคนก้มลงจับข้อเท้าของจำเลยและตะโกนว่า “ทรงพระเจริญ” จำเลยไม่ได้แสดงท่าทางปัดป้องหรือห้ามปรามไม่ให้ผู้ชุมนุมหยุดการกระทำแต่อย่างใด

(3) วีระกร ผู้ประกอบการในพื้นที่จัดการชุมนุม (พยานปาก 3) เบิกความโดยสรุปส่วนหนึ่งว่า 

เขาเห็นการแสดงของจำเลยที่สวมชุดไทยจากการรายงานของสื่อเจ้าหนึ่ง เมื่อดูแล้วก็รู้สึกไม่ดีจึงเลิกดู ส่วนการแต่งชุดไทย วีระกรมองว่าชุดไทยเป็นชุดที่คนทั่วไปสามารถสวมใส่ได้ จะใส่เพื่อเดินแบบก็ได้ แต่ต้องดูเจตนาว่าเหมาะสมหรือไม่ ซึ่งเขาเห็นว่าไม่เหมาะสมและเชื่อว่าจำเลยมีเจตนาแต่งกายและแสดงท่าทางเลียนแบบ

(4) ตรีดาว อภัยวงศ์ นักวิชาการด้านศิลปะการแสดง  (พยานปาก 4) เบิกความโดยสรุปส่วนหนึ่งว่า 

เท่าที่ได้ดูภาพเคลื่อนไหวของการแสดง มีทั้งเสียงเพลงมาร์ชราชวัลลภ เสียงตะโกนว่า “ทรงพระเจริญ” เสียงกรีดร้องด้วยความสนุกสนาน และเสียงปรบมือด้วยความสะใจ ซึ่งเพลงมาร์ชราชวัลลภเป็นเพลงที่สื่อว่ามีความเกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์ และการใช้เสียงตะโกนว่า “ทรงพระเจริญ” ทำให้เข้าใจเป็นบุคคลอื่นไม่ได้ ระหว่างเปิดเพลงก็ยังมีผู้ชุมนุมเปล่งเสียงว่า “ทรงพระเจริญ” ซึ่งเป็นคำราชาศัพท์ที่ใช้กับพระมหากษัตริย์และพระราชินี  รวมทั้งมีเสียงผู้ชมโห่ร้อง-ปรบมือด้วยความสะใจ ทำให้เห็นว่าการแสดงดังกล่าวแสดงให้ผู้ชมถูกใจ ตลกขบขัน และไม่เคารพต่อสถาบันฯ

(5) พ.ต.ท.เกียรติศักดิ์ พิมพ์มานนท์ พนักงานสอบสวน (พยานปาก 5) เบิกความโดยสรุปส่วนหนึ่งว่า 

เขาดูเหตุการณ์ทั้งหมดจากวิดีโอคลิป พบว่ามีเสียงตะโกนเช่น “ทรงพระเจริญ” และ “พระราชินีสวยมาก” โดยจำเลยแต่งชุดไทยมาเดิน มีคนถือร่มเดินตามหลัง และมีคนเปิดเพลงมาร์ชราชวัลลภ นอกจากนี้ ระหว่างนั้นยังมีผู้ชุมนุมคนหนึ่งเอามือมาจับข้อเท้าของจำเลยอีกด้วย

25 มิถุนายน 2565 นัดสืบพยานจำเลย นิวเบิกความโดยสรุปส่วนหนึ่งว่า 

ในวันเกิดเหตุ เธอตั้งใจจะเช่าชุดสีเขียวมาใส่แต่เนื่องจากชุดไม่พอดีตัวจึงเช่าสีชมพูมาแทน ส่วนที่เลือกสวมชุดไทย เธอกล่าวว่าชุดไทยเป็นชุดประจำชาติและใส่แล้วรู้สึกว่าดูดี จึงเลือกสวมใส่โดยไม่ได้ตั้งใจว่าจะแต่งตัวเพื่อล้อเลียนใครและแค่ตั้งใจเป็นตัวของตัวเองเท่านั้น นอกจากนี้ ช่วงเวลาที่ร่วมเดินแฟชั่นเธอไม่ได้ประกาศว่าตัวเองแต่งตัวเลียนแบบใคร และพิธีกรก็ไม่ได้แนะนำว่าเธอเป็นใคร และเธอใช้เวลาร่วมเดินแฟชั่นเพียงสั้นๆ ไม่ถึง 30 วินาที

ระหว่างที่กำลังเดิน มีผู้หญิงคนหนึ่งกวักมือเรียกซึ่งเธอเข้าใจว่าจะถ่ายรูปด้วยจึงเดินเข้าไปหา ก่อนที่หญิงคนดังกล่าวจะจับข้อเท้า ขณะนั้นเธอตกใจจนทำอะไรไม่ถูกจึงรีบเดินต่อให้เสร็จ ซึ่งระหว่างนั้นก็มีคนตะโกนว่า เจ้าคุณพระบ้าง พระราชินีบ้าง เธอได้แต่ตกใจและเดินออกมาโดยไม่ตอบรับอะไร

หลังร่วมกิจกรรมเดินแฟชั่นเธอก็ไปดูกิจกรรมอื่นๆ ในพื้นที่จัดงาน จากนั้นก็ไปขายร่มและของที่ระลึกของกลุ่ม Wevo แล้วเดินทางกลับ ไม่ได้อยู่ดูจนจบ และเพิ่งทราบว่าในงานมีการเปิดเพลงมาร์ชราชวัลลภหลังวันเกิดเหตุ 

อ่านบันทึกการสืบพยานฉบับเต็ม https://freedom.ilaw.or.th/case/916

3. ก่อนฟังคำพิพากษา “นิว-จตุพร” รู้สึกอย่างไร?

โดยปกตินิวจะพักอาศัยอยู่ที่บ้านบุรีรัมย์ และที่ผ่านมาการมานัดศาลทำให้เธอต้องเดินทางไปมาระหว่างบุรีรัมย์-กรุงเทพฯ เพื่อต่อสู้คดี แต่ในวันที่ 12 กันยายน 2565 ที่จะมีนัดฟังคำพิพากษาที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ ทำให้เธอต้องมาพักอยู่ที่กรุงเทพฯ เป็นระยะเวลาหลายวัน

ด้านความรู้สึก นิวเล่าผ่าน Twitter Spaces ในรายการ ‘Here me, Here with me’ ทาง @iLawfx เมื่อ 9 กันยายน 2565 ถึงช่วงชีวิตหลังจากได้รับหมายตลอดระยะเวลาเกือบสองปีว่า

“เหตุการณ์วันนั้นไม่ได้จบลงแค่โดนคดีนะ หนูโดนหมายหัวทำร้ายร่างกายด้วย หนูไปเห็นมีคนโพสต์ว่าใครตบหนูได้ให้ 5,000 บาท มันต้องขนาดไหนถึงหมายมั่นปั้นมือทำร้ายกันแบบนี้ บางคนก็ไปขุดเรื่องเพศสภาพของหนูมาว่าโจมตี”

“หลังๆ ที่หนูมาม็อบ [บางคน] ก็จะถามว่าอ้าวไม่สู้แล้วหรอ มันเป็นคำถามที่ทำให้หนูเจ็บมากนะ แต่หนูก็ไม่ได้ตอบโต้อะไรไป เพราะหนูแค่อยากให้เขารู้ว่าหนูทิ้งครอบครัวมานานมากเลย แทบไม่ได้เจอพวกเขาตั้งแต่ปี 63 ที่ลงถนน หนูก็เลยกลับไปใช้เวลาที่เหลือ เรียกได้ว่าเคาท์ดาวน์ถอยหลังอยู่กับเขา อยู่กับสิ่งที่หนูรัก อยู่กับการทำอาหาร อยู่กับการปลูกผัก”

“หนูห่วงแม่ แม่หนูร้องไห้ แค่หนูเดินหันหลังออกมา [จากบ้านที่บุรีรัมย์] แม่ก็ร้องไห้ตาบวมและเข้ามากอดหนู คนที่บ้านก็ตามเข้ามากอดแล้วร้องไห้ บอกว่าให้กลับมาบ้านนะ รออยู่ ขอให้ลูกกลับมาปลอดภัย”

อย่างไรก็ตาม นิวทิ้งท้ายว่า ไม่ว่าวันที่ 12 กันยายน 2565 นี้ศาลจะตัดสินออกมาอย่างไร เธอก็พร้อมรับมือเสมอ

“ถ้าสุดท้ายแล้วจะต้องถูกขัง หนูก็พร้อมแล้ว นี่ก็กลับไปบ้านไปจ่ายค่างวดรถ ค่าอินเทอร์เน็ต ฝากฝังหมาแมวกับที่บ้านไว้เรียบร้อยแล้ว สุดท้ายแล้วไม่ว่าจะติดกี่ปี พอได้ออกมาหนูก็จะเคลื่อนไหว จะสู้ต่อ”

นิวเสริมอีกว่า หากได้ประกันตัว เธอจะยังพักอยู่ที่กรุงเทพฯ เพื่อเรียนทำอาหารเอาใบประกาศนียบัตร เธอบอกว่าเมนูที่ถนัดที่สุดคือส้มตำ ผัดกระเพราและต้มยำ ซึ่งความฝันหลังจากจบคดีนี้คือการได้ทำ “Foodtruck อาหารอีสานเคลื่อนที่” 

อ่านบทสัมภาษณ์ “ชุดไทย น้ำปลาร้า มาตรา 112 และชีวิตพลิกผันของ นิว จตุพร” 

ทำความรู้จัก “นิว-จตุพร” เพิ่มเติมผ่านคลิปวิดีโอที่นี่