10 ข้อ สนับสนุน #ยกเลิก112 ทุกคนช่วยกันทำได้ทุกวัน

โกรธมาก! ผู้ต้องหาคดีมาตรา 112 ไม่ได้ประกันตัวระหว่างสู้คดี
สิ้นหวังสุดๆ อ่านข่าวคำพิพากษาคดีมาตรา 112 แล้วไม่ยุติธรรมเลย
เศร้าจัง คนถูกฟ้องด้วยมาตรา 112 พุ่งสูงเกิน 200 คนแล้ว

ในสถานการณ์แบบนี้ คนทั่วไปอย่างฉัน ทำอะไรได้บ้างนะ?

ท่ามกลางบรรยากาศความน่ากลัวของการบังคับกฎหมายที่มีขอบเขตไม่ชัดเจน จำนวนคดีที่เพิ่มขึ้นแทบจะทุกวันและดูเหมือนไม่มีที่สิ้นสุด ตลอดจนคำพิพากษาให้จำคุกที่ทยอยออกมาเรื่อยๆ ก่อนที่สังคมจะดำดิ่งไปสู่ความจำนนต่อสถานการณ์ ไอลอว์ชวนดูทางเลือก 10 ข้อ อยากสนับสนุน #ยกเลิก112 ทำอะไรได้บ้าง?

1.ลงชื่อ #ยกเลิก 112 ออนไลน์ หรือเดินไปลงชื่อที่บูธตามงานกิจกรรม

ขั้นตอนนี้ใช้เวลาไวสุดๆ ไม่เกิน 3 นาทีเท่านั้น!! เพียงแค่เข้าไปที่เว็บไซต์ https://www.nomore112.org กรอกข้อมูลส่วนตัว แล้วเซ็นลายมือชื่อจากหน้าจอโทรศัพท์ได้เลย

แคมเปญการล่ารายชื่อนี้เกิดขึ้นจากกลุ่มคนที่ชื่อว่า “คณะราษฎรยกเลิก 112” (ครย. 112) เปิดให้ลงชื่อครั้งแรกเมื่อ 31 ตุลาคม 2564 ที่สี่แยกราชประสงค์ โดยพวกเขาใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญมาตรา 133 ที่เปิดช่องทางให้ประชาชนสามารถเข้าชื่อเสนอหรือแก้ไขกฎหมายได้ ผ่านการรวบรวมรายชื่อขั้นต่ำ 10,000 ชื่อ แล้วนำรายชื่อเหล่านั้นไปยื่นให้รัฐสภาพิจารณา

การยกเลิกมาตรา 112 ในประมวลกฎหมายอาญา ต้องเสนอเป็น “ร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา” ซึ่งข้อเสนอในครั้งนี้ก็เป็นข้อเสนอสั้นๆ ไม่ซับซ้อน มีประเด็นเดียวคือให้ “ยกเลิกมาตรา 112” มาตราเดียวออกจากประมวลกฎหมายอาญาเท่านั้

หากร่างกฎหมายนี้ผ่านการพิจารณาของสภาจนกระทั่งประกาศใช้ ก็จะมีผลทำให้การดำเนินคดีภายใต้มาตรา 112 ทั้งหมดที่มีอยู่ สิ้นสุดลง!!

o ถ้าคดีอยู่ระหว่างการพิจารณา ก็จะต้องจำหน่ายคดีออก

o ถ้าจำเลยไม่ได้ประกันตัว ก็จะได้รับการปล่อยตัวทันที

และถ้าศาลมีคำพิพากษาไปแล้วว่าให้มีความผิด ก็จะเท่ากับเป็นการล้างมลทินของผู้ต้องโทษเหล่านั้นด้วย

ส่วนการคุ้มครองชื่อเสียงของพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ก็จะยังมีกฎหมายอื่นคุ้มครองอยู่เช่น มาตรา 326 328 และ 393 ที่เป็นกฎหมายใช้คุ้มครองชื่อเสียงของบุคคลธรรมดา-เป็นความผิดต่อส่วนตัว และมีข้อยกเว้นสำหรับการวิจารณ์โดยสุจริต

สำหรับใครที่ยังไม่ได้ลงชื่อ กดคลิก https://www.nomore112.org เข้าไปลงชื่อกันได้เลย หรือใครสะดวกไปเจอทีมตั้งโต๊ะล่ารายชื่อในม็อบหรืองานกิจกรรมออนไซต์ต่างๆ ก็เดินเข้าไปลงชื่อกันได้เลยนะ อย่าลืมชวนเพื่อน ชวนแฟน คนคุย พี่น้อง ลุงป้าน้าอา มาลงชื่อกันเยอะๆ ล่ะ

2.เป็นอาสาสมัครตั้งโต๊ะจุดรับรายชื่อ

อึดอัดใจจัง ลงชื่อได้แค่ครั้งเดียว พ่อแม่เอย แฟนเอย ก็ชวนกันมาลงหมดบ้านแล้ว ทำยังไงดี? ไม่ต้องกังวลไปนะ ลองนัดแนะกับกลุ่มเพื่อนออกไป “ตั้งโต๊ะล่ารายชื่อ” กันเองซะเลยสิ

เตรียมโต๊ะ เต็นท์ ปากกา ไปตั้งบูธในชุมชน หรือจะใช้แค่กระดานรองเขียนกับปากกาแท่งเดียวแล้วออกไปจับกลุ่มกันยืนตามพื้นที่ที่คนสัญจรไปมาก็ได้ ทั้งตลาดใกล้บ้าน รถไฟฟ้า หน้าโรงเรียน หรือตามม็อบและเวทีปราศรัย รอบนี้ไม่ต้องคอยถ่ายเอกสารสำเนาบัตรประชาชนของผู้ลงชื่อแล้วด้วย สะดวกสุดๆ

ตอนนี้รายชื่อบนเว็บไซต์มีประมาณ 230,000 คนเท่านั้น เรายังต้องการรายชื่อมากกว่านี้เพื่อแสดงพลังว่า “กฎหมายที่ไม่ยุติธรรมต้องถูกเปลี่ยนแปลง” และหน้าที่ในการตามหารายชื่อผู้เห็นด้วยเพิ่มก็ไม่ใช่ของใคร แต่เป็นของพวกเราทุกคน 😀

สามารถดาวน์โหลดแบบฟอร์มเพื่อจัดพิมพ์และดูคู่มืออาสาสมัครได้ที่ https://ilaw.or.th/node/6000

หรือถ้าใครอยากได้โบชัวร์ข้อมูลรณรงค์ #ยกเลิก112 เท่ๆ ไปแจกระหว่างล่ารายชื่อด้วย สามารถทัก inbox เพจไอลอว์มาได้เลยนะ เราจะส่งให้ถึงมือท่านโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด

3.เขียนจดหมายถึงเพื่อนในเรือนจำ 

รู้ไหม ตอนนี้มีผู้ต้องขังทางการเมืองในคดีมาตรา 112 และคดีอื่นๆ จำนวนหลายคนที่ไม่มีโอกาสได้รับรู้ข่าวสารหรือความเป็นไปจากโลกภายนอกเลย แถมช่วงเวลาที่ทนายจะเข้าเยี่ยมได้ก็มีน้อยนิดเหลือเกิน ไม่มากพอจะเล่าอะไรให้ฟังได้มากมาย

ลองนึกภาพว่าเรานั่งอยู่ในห้องแคบๆ แล้วมีคนเขียนจดหมายมาเล่าเรื่องนั้นเรื่องนี้ให้ฟังทุกๆ วันสิ โลกเหงาๆ ก็คงจะมีสีสันขึ้นมาไม่มากก็น้อยเลยใช่ไหม

โดยเรือนจำก็เปิดช่องทางให้สามารถ “ส่งจดหมาย” เข้าไปหาคนข้างในได้ เราจึงอยากเชิญชวนทุกคนมาจับปากกาส่งสารไปถึงเพื่อนๆ กัน 😀

วิธีการก็ไม่ยากเลย เขียนจดหมายใส่กระดาษ เอาใส่ซอง จ่าหน้าชื่อผู้รับ+ที่อยู่ของเรือนจำนั้นๆ ติดแสตมป์แล้วนำไปส่งไปรษณีย์ก็เสร็จเรียบร้อยแล้ว อ้อ แต่อย่าลืมว่าต้องส่งผ่านขนส่งไปรษณีย์ไทยเท่านั้นนะ!

๐ เรือนจำพิเศษกรุงเทพ ที่อยู่ เลขที่ 33 ถนนงามวงศ์วาน แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพ 10900 (ผู้ชายจะอยู่ที่นี่)

๐ ทัณฑสถานหญิงกลาง ที่อยู่ เลขที่ 33/3 ถนนงามวงศ์วาน แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 (ผู้หญิงจะอยู่ที่นี่)

๐ เรือนจำ มทบ.11 (ตึกดิน) ที่อยู่ ตำบลทุ่งน้อย อำเภอเมืองนครปฐม นครปฐม 73000 (สำหรับกรณีที่ตัดสินภายใต้ศาลทหารกรุงเทพ)

๐ เรือนจำอำเภอธัญบุรี ที่อยู่ เลขที่ 78 หมู่ 4 ตำบล รังสิต อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี 12110 (สำหรับคนที่มีโทษกักขัง-กักบริเวณ จากคดีละเมิดอำนาจศาล)

นอกจากจะช่วยอัพเดทข่าวสารแล้ว จำเลยที่เคยอยู่ในเรือนจำหลายคนก็เล่าเป็นเสียงเดียวกันว่า ตอนที่อยู่ข้างใน จดหมายทุกฉบับจะเปรียบเสมือนของขวัญล้ำค่าที่พวกเขาเก็บสะสมแล้วนำมาอ่านซ้ำๆ เพื่อเป็นกำลังใจในการใช้ชีวิต หรือถ้าใครเขียนไม่เก่ง จะปรินท์รูป ส่งโปสการ์ด ไปให้แทนก็ได้นะ

สำคัญ **จดหมายทุกฉบับที่ถูกส่งเข้าไป จะถูกเจ้าหน้าที่อ่านเนื้อหาก่อนทุกบรรทัด เพื่อตรวจสอบว่าจะไม่มีการนัดแนะส่งสิ่งของผิดกฎหมาย หรือนัดแนะในการช่วยเหลือผู้ต้องขังให้หลบหนี**

4.ไปสังเกตการณ์ศาล ให้กำลังใจจำเลย 

เมื่อจำเลยไม่ได้รับการประกันตัว การจะได้พบหน้ากันอีกครั้งก็เป็นเรื่องยากมาก สถานที่เดียวที่พวกเขาจะได้พบเจอหน้ากับครอบครัว คนรัก หรือเพื่อนได้โดยไม่มีลูกกรงกีดขวางคือที่ “ศาล” หรือในห้องพิจารณาคดี โดยในบางนัด เช่น นัดตรวจพยานหลักฐาน นัดสืบพยาน หรือนัดไต่สวนคำร้องต่างๆ จำเลยอาจจะถูกเบิกตัวมาในห้องพิจารณาคดีด้วย

ที่ศาลอาญา ระหว่างพักการไต่สวน เช่น เวลาพักเที่ยง จำเลยจะถูกพาตัวลงมาที่ “ใต้ถุนศาล” ซึ่งเราสามารถยืนคุยกับจำเลยผ่านโทรศัพท์ได้ (ตอนยืนคุยก็จะเห็นหน้ากันเล็กน้อยผ่านลูกกรงหนาๆ) นอกจากนี้เรายังสามารถสั่งข้าว ขนม น้ำ กาแฟ ให้จำเลยที่นั่งรออยู่ข้างในห้องได้ด้วย แต่ได้เฉพาะร้านค้าสวัสดิการหน้าทางเข้าห้องขังเท่านั้นนะ ซื้อจากที่อื่นให้ไม่ได้

ส่วนวิธีการก็ไม่ยาก พอจ่ายเงินเลือกเมนูแล้ว ทางร้านก็จะให้กระดาษเล็กๆ เอาไว้ให้เราเขียนหมายเลขห้องกับชื่อจำเลย จากนั้นก็จะมีเจ้าหน้าที่นำอาหารไปให้ถึงในห้องเลย ส่วนพิกัดของใต้ถุนศาลก็หาไม่ยาก จะเดินอ้อมตึกแล้ว เลียบกำแพงมาด้านหลังอาคารศาลอาญา หรือลงบันไดจากชั้นหนึ่งของตึกผ่านเครื่องสแกนก็ได้ (เลี้ยวซ้ายจะเป็นฝั่งของจำเลยผู้ชาย ส่วนขวามือจะเป็นฝั่งของผู้หญิง)

หรือจริงๆ ไม่ต้องรอให้มีคำพิพากษาไปแล้วก็ได้นะ ถ้าจำเลยได้ประกันตัวระหว่างสู้คดี เราไปมอบหลังบวกให้พวกเขาตัวเป็นๆ กันได้เลย นอกจากเป็นกำลังใจแล้ว ก็ยังได้เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยสังเกตการณ์การพิจารณาคดีหน้าบันลังก์ด้วย

ถ้าพร้อมแล้วก็เช็คเวลา ห้องพิจารณาคดี และสถานที่ให้ดีๆ ระวังจะสับสนระหว่างศาลอาญารัชดา-ศาลอาญากรุงเทพใต้ แล้วไปผิดที่กันนะจ๊ะ

o ดูตารางนัดหมายคดี https://freedom.ilaw.or.th/112schedule

5.สมทบทุนเงินประกันตัว

นับตั้งแต่รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นำมาตรา 112 กลับมาดำเนินคดีกับผู้เห็นต่างทางการเมืองเมื่อ 19 พฤศจิกายน 2563 ภายหลังกระแสการชุมนุมทางการเมืองของคนรุ่นใหม่ปะทุเดือดขึ้น จนถึงปัจจุบัน (13 กันยายน 2565) มีผู้ถูกฟ้องร้องด้วยมาตราดังกล่าวจำนวนรวม 215 คน จากทั้งหมด 234 คดี ซึ่งตัวเลขดังกล่าวนับว่าสูงที่สุดแล้วในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ไม่เคยมียุคไหนมากขนาดนี้มาก่อน!

เมื่อถูกฟ้องร้อง ก็คงจะพอเดากันได้ใช่ไหมว่าราคาที่ต้องจ่ายในการต่อสู้ภายใต้กระบวนการยุติธรรมนั้นต้องใช้เงินจำนวนมหาศาล ทั้งการวางเงินเป็น “หลักประกัน” เพื่อให้ได้ประกันตัวระหว่างสู้คดี “ค่าเดินทาง” เพื่อมานัดศาลในแต่ละครั้ง บางคนถูกฟ้องทางไกลและต้องเดินทางมาไปต่างจังหวัดเป็นระยะทางร้อยๆ กิโลในทุกๆ เดือน  นอกจากนี้ ยังมี “ค่าปรับ” ในกรณีที่ศาลตัดสินลงโทษปรับ รวมทั้ง “ค่าใช้จ่ายในเรือนจำ” สำหรับกรณีที่ไม่ได้ประกันอีกด้วย

แต่ในปัจจุบัน มีกลุ่มคนจำนวนหนึ่งคอยทำหน้าที่เป็นคนกลางคอยให้ความช่วยเหลือด้านค่าใช้จ่ายในการสู้คดีของนักโทษทางการเมืองอยู่ ไอลอว์รวบรวมบัญชีขององค์กรสำคัญๆ ไว้ดังนี้

o กองทุนราษฎรประสงค์ (สนับสนุนเงินประกันตัว)

ชื่อบัญชี กองทุนราษฎรประสงค์โดยมูลนิธิสิทธิอิสรา ธนาคารกสิกรไทย เลขบัญชี  125-8-64752-8

โดยสามารถเข้าไปดูความเคลื่อนไหวการเบิกจ่ายเงินได้ที่ https://www.facebook.com/willofthepeoplefund

o กองทุน ดา ตอร์ปิโด (สนับสนุนค่าใช้จ่ายในการสู้คดี เช่น ค่าเดินทาง ค่าใช้จ่ายในเรือนจำ)

ชื่อบัญชี น.ส.อัจฉรา รักยุติธรรม และ น.ส. มุทิตา เชื้อชั่ง ธนาคารกสิกรไทย เลขบัญชี 093-8-92403-1

โดยสามารถเข้าไปดูความเคลื่อนไหวการเบิกจ่ายเงินได้ที่ https://www.facebook.com/FOTOofSilence

o ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน (ให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมาย)

ชื่อบัญชี มูลนิธิสิทธิเพื่อความยุติธรรม เลขบัญชี 800-9-54209-4 ธนาคารกรุงศรีอยุธยา

และสามารถติดตามอัพเดทข้อมูลคดีรายวันได้ที่ https://tlhr2014.com

ปล.ไม่จำเป็นว่าต้องโอนเป็นเงินจำนวนมากเท่านั้น จะหลักหน่วยหลักสิบก็ได้หมดเลย หรือใครอยากโอนเป็นตัวเลขเท่ๆ เช่น 112.12 ก็ได้นะ

6.อุดหนุนและแจกจ่ายสินค้ารณรงค์

สำหรับใครที่เป็นสายช็อปปิ้ง การอุดหนุนสินค้ารณรงค์เพื่อประชาธิปไตยตามม็อบหรือหน้าเพจของกลุ่มกิจกรรมทางการเมืองต่างๆ ก็ถือเป็นอีกหนึ่งช่องทางการสนับสนุนที่สำคัญ เพราะการใช้สินค้าที่ปรากฏข้อความ #ยกเลิก112 หรือข้อเรียกร้องอื่นๆ ทางการเมืองในชีวิตประจำวัน ย่อมเป็นการเพิ่มพื้นที่ให้ถ้อยคำเหล่านั้นไปปรากฏต่อสายตาของผู้คน เพื่อสร้างการรับรู้ต่อสาธารณะให้เพิ่มมากขึ้น เรียกได้ว่าเป็นการสื่อสารทางอ้อม แต่ถ้าใครอยากสื่อสารแบบตรงๆ ก็ซื้อไปยื่นให้กับมือเล้ยย

สำหรับใครที่ยังนึกไม่ออกว่าจะซื้ออะไร ไอลอว์มีสินค้ารณรงค์ในแคมเปญ #ยกเลิก112 มาแนะนำจำนวน 5 รายการด้วยกัน

(1) หนังสือ INTRODUCTION TO NO.112

หนังสือที่จะชวนทุกคนร่วมสำรวจรากฐานของมาตรา 112 ผ่าน 12 คำถามพื้นฐาน พร้อมกับคำอธิบายง่ายๆ ประกอบข้อเท็จจริง สถิติ บทสัมภาษณ์ที่ไอลอว์ได้บันทึกและเรียบเรียงมาตลอดกว่า 10 ปี รับรองว่าอ่านง่ายไม่งง จะซื้ออ่านเองก็ได้ หรือนำไปแจกจ่ายต่อก็ดี

(2) ห้องเช่าหมายเลข 112

รวมเรื่องเล่าของคนธรรมดาๆ ที่ชีวิตต้องพลิกผันเพราะถูกฟ้องร้องด้วยมาตรา 112 ตั้งแต่ช่วงหลังปี 2550 มาจนถึงช่วงการรัฐประหารโดยคสช. (2557 – 2558) เก็บหอมรอมริบมาจากการติดตามเฝ้าสังเกตการณ์ทั้งที่ศาลและเรือนจำ ผสมเข้ากับข้อมูลคดีมาประกอบกันเป็นเรื่องราว เรียบเรียงโดยทีมงานไอลอว์ และอาสาสมัครเยี่ยมนักโทษทางการเมือง เล่มนี้เคยขาดตลาดไปเมื่อหลายปีก่อน แต่ตอนนี้เราทำฉบับปรับปรุงมาขายใหม่อีกครั้งแล้วนะ

(3) เสื้อ Free Speech for All

เสื้อยืดรณรงค์เท่ๆ สีขาว สกรีนคำว่า Free Speech for All (เสรีภาพในการพูดเป็นของมนุษย์ทุกคน) พร้อมด้วยข้อความ NO112 ตัวน้อยๆ บนอก เหมือนชวนให้คนบนรถไฟฟ้าที่เผลออ่าน text บนเสื้อ ให้มา #ยกเลิก112 แบบกระซิบๆ

(4-5) สติกเกอร์ SET รักแบบมีเหตุผล และ SET NO112

สติกเกอร์ลายเส้นน่ารักจากมือกราฟิกของไอลอว์ ที่สุดของการรณรงค์แบบคิ้วท์ๆ หน้าตาไม่ดุดันชวนให้คนทั่วไปเปิดใจฟังข้อเสนอ นำไปแปะที่ไหนก็ได้ ยิ่งแปะเยอะยิ่งดี ถ้าซื้อไปฝากใครแล้วก็ชวนคนนั้นมา #ยกเลิก112 ด้วยกันนะ

เลือกดูสินค้าของ iLaw Online Store ทั้งหมดได้ที่ https://ilaw.or.th/node/6096

7.สร้างบทสนทนาเรื่อง #ยกเลิก112 ต่อคนรอบข้าง

การยกเลิกมาตรา 112 ไม่จำเป็นต้องจับไมค์ขึ้นพูดปราศรัยในม็อบเสมอไป เราอาจจะเริ่มต้นง่ายๆ จากการแชร์ข่าวที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายมาตรานี้ในเฟซบุ๊กตอนเช้า แชร์คลิป Reels บทสัมภาษณ์ของผู้ต้องหาตอนบ่ายๆ แล้วกลับบ้านมารีทวิตผลประกันอีกครั้งก่อนนอนก็ได้

หรือถ้าใครมีเวลามากกว่านั้น ลองเขียนแคปชั่นนิดๆ หน่อยๆ ชักชวนคนอื่นให้มาตามอ่านต่อก็ได้นะ ลองเริ่มจากคดีแปลกๆ ที่ดึงความสนใจผู้คน เช่น คดีหมิ่นสุนัขทรงเลี้ยง คดีใส่ชุดไทยแล้วถูกฟ้องว่าหมิ่นพระราชินี คดีโพสต์ “กล้ามาก เก่งมาก ขอบใจ” แล้วติดคุก หรือจะเป็นยอดสถิติที่พุ่งสู๊งงงเป็นประวัติการณ์ ตั้งคำถามต่อความแปลกต่างๆ ที่เกิดขึ้นในกระบวนการยุติธรรม ทำแบบนี้ไปทุกๆ อาทิตย์ เท่านี้ก็ช่วยส่งต่อข้อเสนอให้ผ่านตาคนได้มากขึ้นเยอะเลย

นอกจากการสื่อสารในโซเชียลมีเดียแล้ว จริงๆ การสร้างบทสนทนาเรื่อง #ยกเลิก112 เพื่อส่งต่อข้อเสนอไปสู่ผู้คนก็สามารถเกิดขึ้นได้ในทุกๆ ช่วงเวลาของวัน บางที การจัดตั้งหรือการรวมกลุ่มกันทางการเมืองในอดีต ก็อาจจะมีจุดเริ่มต้นจากบนสนทนาระหว่างมื้ออาหารทั่วไปนี่แหละ ถ้าพร้อมแล้ว มื้อหน้าก็ลุยเลย! ไอลอว์เป็นกำลังใจให้ทุกๆ คนในการเริ่มต้นบทสนทนานะ

และเมื่อสังคมมีคนมาช่วยกันพูดถึงการ #ยกเลิก112 ในจำนวนที่มากขึ้นจนกลายเป็นเรื่องปกติ กำแพงของ “การเปิดรับข้อเสนอ” ที่ยังคงเป็นอุปสรรคอยู่ในตอนนี้ก็จะถูกทุบลงไปเรื่อยๆ กระทั่งถูกทลายลงในที่สุดยังไงล่ะ

8.ไปม็อบ ออกมาส่งเสียงต่อสาธารณะ

การเข้าร่วมการชุมนุมเป็นอีกหนึ่งวิธีที่สามารถ “ยืนยัน” อย่างเป็นรูปธรรมได้ว่าคนที่เห็นด้วยมีจำนวนเท่าไหร่ ช่วยเพิ่มความหนักแน่นให้ข้อเรียกร้อง ไปจนถึงสร้างความหวาดกลัวต่อรัฐ นอกจากนี้ พื้นที่ในม็อบก็ยังเอื้ออำนวยให้เกิดปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันและกันของพันธมิตรในขบวนการเคลื่อนไหว ตลอดจนเกิดความรู้สึกภูมิใจในตัวผู้เข้าร่วมว่าได้เป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงอีกด้วย

มากไปกว่านั้น การปรากฏตัวในม็อบ ยังถือเป็นการ “ให้กำลังใจ” นักกิจกรรมซึ่งเป็นกำลังเสียงหลักและมดงานที่คอยขับเคลื่อนขบวน ในที่นี้ไม่จำเป็นต้องอยู่จนจบม็อบก็ได้นะ แค่ไปยืนฟังพวกเขาปราศรัยสั้นๆ แสดงตัวซัพพอร์ทว่า “ฉันจะยืนอยู่ข้างเธอเสมอนะ” แค่นี้ก็เยียวยาความเหนื่อยล้าและมอบคุณค่าทางจิตใจไม่ให้พวกเขารู้สึกว่ากำลังสู้อยู่ลำพังได้มากแล้ว

9.เลือกพรรคการเมืองที่จะ #ยกเลิก112

ข้อนี้สำคัญมาก! เพราะรัฐสภาคือปลายทางที่รายชื่อทั้งหมดจากแคมเปญยกเลิกมาตรา 112 จะเดินทางไปถึง และเป็นสถานที่ที่มีอำนาจจะตัดสินว่า กฎหมายจะถูกแก้ไขหรือยกเลิกได้จริงๆ รึเปล่า

ดังนั้น เพื่อไม่ให้บรรดารายชื่อที่รวบรวมมาไร้ความหมายไปซะก่อน การเลือกตั้งปี 2566 ที่กำลังใกล้เข้ามานี้ เราจำเป็นต้องช่วยกันเพิ่มจำนวนเก้าอี้ของพรรคการเมืองที่แสดงจุดยืนอย่างชัดเจนว่า “จะยกเลิกมาตรา 112” เพื่อให้พวกเขาในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนำเอาเป้าประสงค์ของพวกเราส่งต่อไปเป็นการรับร่างในสภา และสามารถมีผลบังคับใช้เป็นกฎหมายต่อไปได้ในอนาคต

หากไม่แน่ใจว่าพรรคการเมืองที่เราชื่นชอบหรืออยากจะเลือกจะมีนโยบายเรื่องนี้อย่างไร เรายังสามารถช่วยกันสอบถามผู้แทนของเราได้ หรือเสนอไปยังผู้แทนของเราได้ว่า เราต้องการให้พวกเขาใช้อำนาจของผู้แทนราษฎร กับกฎหมายมาตรานี้อย่างไร ถ้าเสียงของพวกเราชัดเจนมากพอ ผู้แทนราษฎรก็จะต้องทำตาม

10.กดแชร์โพสนี้ หรือโพส #ยกเลิก112 อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

ถ้าคุณอ่านมาจนถึงข้อนี้ ยินดีด้วย! เก่งมากเลยเจ้าพวก Active Citizen พอจะเห็นภาพกันแล้วใช่ไหมว่าการสนับสนุน #ยกเลิก112 นั้นมีหลากหลายวิธีมาก เผลอๆ มีเยอะกว่า 10 ข้อที่เราหยิบมานำเสนอด้วยซ้ำ ทั้งนี้ทั้งนั้น ทุกคนไม่จำเป็นต้องทำครบทุกข้อก็ได้นะ แค่ 2-3 ข้อ แต่ช่วยกันหลายๆ คน ก็ดันเพดานให้สูงขึ้นได้มากแล้วแหละ

หรืออย่างน้อยที่สุดช่วยกันกดแชร์โพสต์นี้ และโพสต์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในจักรวาลการ #ยกเลิก112 ช่วยกันเผยแพร่ข่าวสารและเนื้อหาเกี่ยวกับการบังคับใช้ และสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อมาตรานี้มันยังคงอยู่ออกไปให้ไกล และบ่อยที่สุด เพื่อไม่ให้เรื่องนี้เงียบหายไปจากความรู้ของผู้คน นี่เป็นสิ่งเล็กๆ ที่ทุกคนทำได้ทุกวันและต้องอาศัยหลายคนช่วยกันไปเรื่อยๆ ถึงจะเห็นผล

ถ้าเรื่องราวเกี่ยวกับมาตรา 112 ถูกแชร์ถูกส่งต่อไปเรื่อยๆ ก็น่าจะเปิดบทสนทนาเพิ่มทางเลือกให้สังคมมุ่งไปสู่บรรยากาศของการถกเถียงที่สร้างสรรค์ได้ในเร็ววันนี้!!