มุมความคิดต่อ มาตรา112 ของอ.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ

รศ.ดร.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ หรือที่ถูกเรียกว่า “อาจารย์ยิ้ม” เป็นนักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ที่มีชื่อเสียงคนหนึ่งของประเทศไทย เป็นอดีตอาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนอกจากบทบาททางวิชาการแล้วยังมีบทบาทอยู่ในแวดวงการเคลื่อนไหวทางการเมือง โดยเคยอยู่ร่วมในขบวนการนักศึกษายุค 6 ตุลาฯ 2519 เคยเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย เป็นนักเขียนและนักหนังสือพิมพ์ที่มีบทบาทในช่วงปี 2530-2550

จุดยืนทางการเมืองของรศ.ดร.สุธาชัย ชัดเจนว่าไม่สนับสนุนการรัฐประหาร เข้าร่วมกับแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และสนับสนุนขบวนการเคลื่อนไหวของ “คนเสื้อแดง” รศ.ดร.สุธาชัย ยังมีบทบาทในฐานะนักวิชาการที่แสดงความคิดเห็นคัดค้านการบังคับใช้มาตรา 112 และสนับสนุนให้ยกเลิกมาตรา 112 มาอย่างต่อเนื่อง โดย “อาจารย์ยิ้ม” มีผลงานเขียนคอลัมน์ถนนประชาธิปไตยประจำหนังสือพิมพ์โลกวันนี้ วันสุข ซึ่งออกเผยแพร่ทุกวันศุกร์ เกี่ยวกับการบังคับใช้มาตรา 112 อย่างต่อเนื่อง

รศ.ดร.สุธาชัย เสียชีวิตเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2560 ก่อนที่จะได้เห็นประชาธิปไตย และก่อนที่จะทันได้เห็นขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องให้ยกเลิกมาตรา 112 

ต่อมาในปี 2565 ศ.บาหยัน อิ่มสำราญ ภรรยาของอาจารย์ยิ้ม ได้นำผลงานเขียนในคอลัมน์ถนนประชาธิปไตยเกี่ยวกับมาตรา 112 ที่รวบรวมและเรียบเรียงเป็นรูปแบบหนังสือเล่มเพื่อนำมอบให้กับไอลอว์ เพื่อเผยแพร่ให้เป็นประโยชน์ต่อสังคมไทยต่อไป ผลงานหลายชิ้นเขียนถึงการบังคับใช้มาตรา 112 ในอดีต และเรื่องราวส่วนใหญ่ที่อาจารย์ยิ้มเขียนถึง เป็นข้อมูลข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นก่อนการก่อตั้งศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ ของไอลอว์ จึงไม่เคยถูกบันทึกไว้มาก่อนบนฐานข้อมูลออนไลน์ของไอลอว์ จึงเห็นว่ามีประโยชน์อย่างยิ่งในการนำมาไว้ในฐานข้อมูลแห่งนี้ และเผยแพร่ต่อเพื่อการเรียนรู้เรื่องเกี่ยวกับมาตรา 112 ที่กำลังเป็นกระแสในหมู่ของคนรุ่นใหม่ในยุคสมัยนี้ 

[ ดาวน์โหลดข้อเขียนทั้งหมดได้ตามไฟล์แนบ ท้ายหน้านี้ ]

ข้อเขียนโดยรศ.ดร.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ แบ่งออกเป็น 33 ตอน ดังนี้

๑. ข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในฐานะเครื่องมือทางการเมือง

๒. คดีผังล้มเจ้า

๓. เขาคือ “สุรชัย แซ่ด่าน”

๔. เรื่องของธันยฐ์วุฒิทวีวโรดมกุล (หนุ่ม เรดนนท์)

๕. ข้อเสนอแก้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพของนิติราษฎร์

๖. พระพุทธรูปและมาตรา ๑๑๒

๗.เตือนรัฐบาลเพื่อ ไทยเรื่องมาตรา ๑๑๒

๘. ก้านธูปกลางความมืดในสังคมไทย

๙. ย้อนอดีตคดีพระองค์เจ้าวีระ

๑๐. เมืองไทยใต้กระแสขวาคลั่ง

๑๑. เมื่อนักวิชาการต่างประเทศต้าน ม.๑๑๒

๑๒. จาก ครก. ถึงตุลาการ และพรรคเพื่อ ไทย

๑๓. ไทยยุคบ้านป่าเมืองเถื่อน

๑๔. ชะตากรรมของผังล้มเจ้า

๑๕. อากง ผู้บริสุทธิ์

๑๖. ปรากฏการณ์ ๑๑๒ ริกเตอร์

๑๗. กลุ่มญาติผู้ประสบภัย ๑๑๒

๑๘. มาตรา ๑๑๒ กับการล่าแม่มดครั้งใหม่

๑๙. ปฏิญญาหน้าศาลเรื่องปัญหาสิทธิมนุษยชนไทย

๒๐. ความกล้าหาญทางจริยธรรม

๒๑. มาตรา ๑๑๒ กฎหมายป่าเถื่อน

๒๒. สมศักดิ์ กับมาตรา ๑๑๒

๒๓. รักเอยในฐานะวรรณกรรมเพื่อชีวิต

๒๔. เรื่องเหลือเชื่อของศาลกับมาตรา ๑๑๒

๒๕. คดปีระหลาดยิ่งจริงยิ่งหมิ่น

๒๖. หน้ากากอากงและหน้ากากสมยศ

๒๗. วันชัย แซ่ตันและคดี ๑๑๒

๒๘. ห้าปี ดา ตอร์ปิ โด

๒๙. บัณฑิต อานียา กับ มาตรา ๑๑๒

๓๐. ลัทธิไล่ล่าสมศักดิ์เจียม

๓๑. ไล่ล่าสุดขอบฟ้าโกตี๋

๓๒. ปล่อยตัว “ไผ่ ดาวดิน”

๓๓. มหากาพย์สมยศ พฤกษาเกษมสุขกับ ม.๑๑๒

“ข้อสรุปจากการอ่านทบทวนสถานการณ์ ทั้งในทางสังคมและวัฒนธรรมในรอบ ๘ ปี สำหรับผู้เขียน ทำให้รู้สึกว่า สังคมไทยป่วยหนักด้านวัฒนธรรมและความคิดจนยากที่จะเยียวยา โลกทัศน์หลักของชนชั้นนำและชนชั้นกลางยังอยู่ในยุคสมัยกลาง สังคมไทยจึงยังคงจัดอยู่ในช่วง “ก่อนยุคใหม่” ในประวัติศาสตร์ไทย สมัยใหม่ ยังไม่เคยมีกระบวนการเคลื่อนไหวด้านความคิดที่จะปฏิวัติด้วย “เหตุผล” กระแสการเคลื่อนไหวทางวัฒนธรรมที่ก้าวหน้าเกิดขึ้นเพียง ๒ ครั้ง คือ วัฒนธรรมประชาธิปไตยเสรีนิยมในช่วงแห่งการปฏิวัติ ๒๔๗๕ และปฏิวัติภูมิปัญญาสมัย ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ ที่วิพากษ์สังคมด้วยแนวคิดสังคมนิยม แต่การเคลื่อนไหวทั้งสองกระแส ในที่สุดก็พ่ายแพ้ความคิดอนุรักษ์แบบดั้งเดิมกลายมาครอบงำเป็นอำนาจนำ ความเป็นไทยจอมปลอมที่สร้างเอาเองตามใจชนชั้นนำ กลายเป็นกรอบควบคุมความคิดประชาชน ระบบเหตุผลและข้อมูลหลายด้าน จึงพ่ายแพ้ต่ออคติและมายาคติ อวิชชา และข้อมูลด้านเดียว สังคมไทยถอยหลังสู่อนุรักษ์นิยมฝ่ายขวารุนแรงขึ้นทุกที และกลายเป็นประเทศเดียวในโลกที่ต้องมาแสวงหากันใหม่เพียงแค่เรื่อง “ประชาธิปไตยยุคดึกดำบรรพ์” เท่านั้น

ภารกิจของเราในวันนี้ คือ ทำให้สังคมไทยก้าวพ้นจากภาวะ “ก่อนสมัยใหม่” ในทางความคิดและวัฒนธรรม มาสู่ยุคใหม่แห่งเหตุผลและประชาธิปไตย ซึ่งจะเป็นภารกิจยากลำบากสาหัส และหวังว่าหนังสือเล่มนี้ จะมีส่วนช่วยรองรับภารกิจนี้บ้าง แม้เพียงเล็กน้อยก็ว่าบรรลุจุดมุ่งหมายของผู้เขียน”

ส่วนหนึ่งจากบทนำของหนังสือ ที่รศ.ดร.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ เขียนไว้ ลงวันที่ 27 กันยายน 2560

[ ดาวน์โหลดข้อเขียนทั้งหมดได้ตามไฟล์แนบ ท้ายหน้านี้ ]

ไฟล์แนบ