112 ALERT! ชวนเปิดแฟ้ม “ทิวากร” คดีเสื้อหมดศรัทธา ก่อนพิพากษา

หลังเกิดกรณีการอุ้มหาย “วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์” ในช่วงเดือนมิถุนายน 2563 ประชาชนและนักกิจกรรมหลายกลุ่มออกมาเคลื่อนไหวแสดงออกในลักษณะต่างๆ เพื่อตอบโต้สถานการณ์ ทั้งแฟลชม็อบ #saveวันเฉลิม การยื่นหนังสือเรียกร้องให้รัฐบาลกัมพูชาติดตามหาผู้รับผิดชอบกรณีของวันเฉลิม ในขณะเดียวกันก็มีนักกิจกรรมกลุ่มหนึ่งที่ตั้งข้อสังเกตในลักษณะเชื่อมโยงการหายตัวของวันเฉลิมกับสถาบันพระมหากษัตริย์

“ทิวากร” หนึ่งในสมาชิกกลุ่มเฟซบุ๊ก Royalist Market Place – ตลาดหลวง ก็เป็นอีกคนที่ต้องการแสดงออกต่อกรณีการหายตัวของวันเฉลิมในแบบของเขาเอง โดยทิวากรได้โพสต์ภาพตัวเองสวมเสื้อยืดสีขาว สกรีนข้อความว่า #เราหมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์แล้ว

แต่ผลที่เกิดขึ้นคือ มีตำรวจมาหาทิวากรถึงบ้านเพื่อโน้มน้าวให้เลิกสวมเสื้อตัวดังกล่าว และต่อมาในเดือนกรกฎาคม 2563 ทิวากรก็ถูกพาตัวไปเข้าโรงพยาบาลจิตเวช แต่ครั้งนั้นเขายังไม่ถูกดำเนินคดี  

ต่อมา ในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2564 คดีมาตรา 112 ของทิวากรเกิดขึ้นหลังเขาประกาศจะทำเสื้อสกรีนข้อความ “เราหมดศรัทธา…” ดังกล่าวออกขาย เพื่อตอบโต้กรณีที่นักเคลื่อนไหวหลายคนที่ถูกคุมขังด้วยมาตรา 112  โดยทิวากรถูกดำเนินคดีจากการกระทำ 3 กรรม กรรมแรกจากการโพสต์ภาพถ่ายที่เขาสวมเสื้อยืดตัวเดิมที่เขาโพสต์ไว้ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2563 ส่วนอีก 2 ข้อความ เป็นการโพสต์วิพากษ์วิจารณ์การใช้มาตรา 112 โดยมีบางส่วนที่วิจารณ์ไปถึงสถาบันพระมหากษัตริย์

ก่อนที่นาฬิกาจะเดินไปถึงเวลาอ่านคำพิพากษาในวันที่ 29 กันยายน 2565 ไอลอว์ชวนทุกคนทำความรู้จักคดีมาตรา 112 ของทิวากรให้มากขึ้น

(1) ทิวากรเป็นใคร? ทำไมโดนฟ้อง ม.112 ?

ทิวากร วิถีตน เป็นอดีตวิศวกรชาวจังหวัดขอนแก่น หนึ่งในสมาชิกกลุ่ม Royalist Market Place ที่โพสต์ภาพตนเองสวมเสื้อสกรีนข้อความ “เราหมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์แล้ว” เมื่อปี 2563 และเป็นเหตุให้ถูกนำตัวไปอยู่ที่โรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์นานกว่าครึ่งเดือน

ทิวากรเริ่มสนใจประเด็นทางการเมืองในช่วงปี 2548 และเคยเข้าร่วมการชุมนุมเสื้อแดงมาบ้างในช่วงปี 2550 กับแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ (นปก.) ที่สนามหลวง และต่อมา ในปี 2552-53 เขาก็เคยไปร่วมชุมนุมกับกลุ่ม นปช. ด้วย

นอกจากนี้ ทิวากรยังสนใจการถกเถียงเรื่องการเมืองบนโลกออนไลน์ตั้งแต่สมัยบทสนทนาการเมืองเฟื่องฟูในเว็บบอร์ด จนถึงปัจจุบัน เขาก็มักใช้เฟซบุ๊กส่วนตัวที่เปิดเป็นสาธารณะวิจารณ์สถานการณ์ทางการเมือง ไปจนถึงประเด็นแวดล้อมสถาบันพระมหากษัตริย์อยู่เสมอๆ

ในปี 2564 ภายหลังสี่แกนนำราษฎรในคดีการชุมนุม 19 กันยาฯ ไม่ได้รับการประกันตัว ทิวาการตัดสินใจโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กเตือน “ผู้มีอำนาจ” เรื่องผลเสียของการนำมาตรา 112 มาใช้ แต่ด้วยการใช้ภาษาที่ตรงไปตรงมา ข้อความบนเฟซบุ๊กของเขาก็กลายเป็นเหตุให้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 เสียเอง

มากไปกว่านั้น ทิวากรยังถูกดำเนินคดีมาตรา 116 อีกหนึ่งคดี จากการสร้างแคมเปญบนเว็บไซต์ change.org ชวนคนที่อยากให้มีการจัดทำประชามติว่าจะคงไว้หรือยกเลิกสถาบันพระมหากษัตริย์มาร่วมลงชื่ออีกด้วย

(2) ไล่ไทม์ไลน์คดี เปิดคำฟ้อง-สืบพยาน

โจกท์: พนักงานอัยการจังหวัดขอนแก่น
ลำดับเหตุการณ์
  • เดือนกรกฎาคม 2563 ทิวากรถูกตำรวจจับและส่งตัวไปที่โรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ สืบเนื่องจากการโพสต์ภาพตนเองสวมเสื้อสกรีนคำว่า “เราหมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์แล้ว” โดยเขาถูกควบคุมตัวตั้งแต่วันที่ 9-22 กรกฎาคม 2563 รวม 14 วัน
  • 4 มีนาคม 2564 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนฯ รายงานว่า เวลาประมาณ 7.00 น. ทิวากรถูกเจ้าหน้าที่กว่า 20 นาย เข้าจับกุมตัวจากบ้านพักในอำเภอเมืองขอนแก่น ไปยัง สภ.ท่าพระ ก่อนจะแจ้งข้อกล่าวหามาตรา 112 มาตรา 116 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) จากการโพสต์ 3 ข้อความ  

ต่อมา เวลา 13.30 น. พนักงานสอบสวนได้ยื่นคำร้องขอฝากขังทิวากรต่อศาลจังหวัดขอนแก่น แต่การขอฝากขังดังกล่าวไม่ใช่การพาไปที่ศาล เพราะตำรวจได้นำตัวเขาไปที่ทัณฑสถานบำบัดพิเศษขอนแก่นทันที และใช้ระบบวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ในการขอฝากขัง กระทั่งเวลาประมาณ 14.19 น. ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว โดยวางหลักทรัพย์ 150,000 บาท

o สำหรับรายละเอียดคำฟ้องทั้ง 3 ข้อหา มีดังต่อไปนี้

(1) ระหว่างวันที่ 2 มิถุนายน 2563 – 27 กุมภาพันธ์ 2564 ทิวากรได้ดูหมิ่นรัชกาลที่ 10 ด้วยการโพสต์รูปตนเองสวมเสื้อคอกลมสีขาว มีข้อความสกรีนตัวหนังสือสีแดงว่า “เราหมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์แล้ว”

อย่างไรก็ตาม จากโพสต์ดังกล่าว ศูนย์ทนายฯ รายงานว่าระหว่างการสืบพยาน พนักงานสอบสวนเบิกความว่าตนได้แจ้งข้อหา 116 แต่เพียงเท่านั้น ก่อนที่อัยการจะมีความเห็นสั่งฟ้องมาตรา 112 เพิ่มด้วย

(2) เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2564 ทิวากรได้หมิ่นประมาทรัชกาลที่ 10 ด้วยการโพสต์ข้อความวิพากษ์วิจารณ์ทำนองว่าหากพระมหากษัตริย์นำมาตรา 112 มาใช้กับประชาชนอาจทำให้เกิดความตึงเครียดและความขัดแย้งระหว่างพระมหากษัตริย์กับประชาชน

(3) เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2564 ทิวากรได้หมิ่นประมาทรัชกาลที่ 10 ด้วยการโพสต์ข้อความเรียกร้องให้สถาบันพระมหากษัตริย์ปล่อยตัวผู้ที่ถูกคุมขังด้วยมาตรา 112

คลิกอ่านคำฟ้องฉบับเต็ม 

  • 24-27 พฤษภาคม 2565 สืบพยานรวม 4 วัน โดยโจทก์นำพยานเข้าเบิกความทั้งสิ้น 13 ปาก ทั้งนี้ วันที่ 25 พฤษภาคม 2565 ศูนย์ทนายฯ รายงานผ่านทวิตเตอร์ว่า ศาลสั่งห้ามผู้ร่วมสังเกตการณ์จดบันทึกโดยไม่แจ้งเหตุผล

วิไลวรรณ สมโสภณ อดีตอาจารย์มหาวิทยาลัยขอนแก่น เชี่ยวชาญด้านภาษาไทย หนึ่งในพยานฝ่ายโจทก์ เบิกความส่วนหนึ่งว่า “ข้อความ ‘หากสถาบันกษัตริย์ไม่ระงับใช้ 112 โดยทันที ก็เท่ากับทำตัวเองเป็นศัตรูกับประชาชน หากสถาบันกษัตริย์เป็นศัตรูกับประชาชนจุดจบคือล่มสลายสถานเดียว’ มีความหมายโดยรวมในลักษณะข่มขู่สถาบันกษัตริย์ด้วย”

ด้าน อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ อาจารย์คณะสถิติประยุกต์ จาก NIDA เบิกความส่วนหนึ่งว่า “คําว่า ‘หมดศรัทธา’ หมายถึง เชื่อว่าสถาบันกษัตริย์ไม่ใช่สิ่งที่ดีงาม เลวทราม การที่บอกว่าไม่ศรัทธา แสดงว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่แย่มาก

ขณะที่ทิวากรชี้แจงว่า เจตนาของข้อความบนเสื้อนั้นต้องการแสดงความรู้สึกนึกคิดอันเป็นสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานในการพูดและการแสดงออก ซึ่งคําว่า “หมดศรัทธา” ไม่ได้เป็นการล้อเลียน ลบหลู่ หรือดูหมิ่น หมิ่นประมาท และข้อความดังกล่าวไม่ได้หยาบคาย หรือเป็นการอาฆาตมาดร้าย

คลิกอ่านบันทึกการสืบพยาน 

o นัดฟังคำพิพากษาวันที่ 29 กันยายน 2565 โดยในวันที่ 23 กันยายน 2565 ทิวากรโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ข้อความส่วนหนึ่งว่า “ผมขอลาทุกท่านล่วงหน้านะครับ ในกรณีที่ผมถูกศาลชั้นต้นตัดสินว่าผิด ม.112 ในวันที่ 29 ก.ย. 65 ซึ่งผมจะขออุทธรณ์โดยไม่ขอประกันตัว”

ดูรายละเอียดคดีทั้งหมด

(3) เกิดอะไรขึ้นกับ “ทิวากร” ในโรงบาล’ จิตเวช ?

9 กรกฎาคม 2563 ภายหลังการโพสต์ภาพตนเองสวมเสื้อ “เราหมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์แล้ว” ได้มีจิตแพทย์จากโรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์และเจ้าหน้าที่ กอ.รมน. เข้ามาพูดคุยถึงบ้านพักของทิวากร หลังจากนั้นเขาก็หายตัวไปจากเฟซบุ๊ก

ต่อมา สังคมได้ทราบภายหลังว่า เขาถูกควบคุมตัวไว้ที่โรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ตั้งแต่ 9-22 กรกฎาคม 2563 (รวม 14 วัน) โดยญาติของทิวากรเล่าว่า ตอนถูกพาตัวไป เจ้าหน้าที่ได้ทำการมัดมือ จากนั้น ทิวากรถูกควบคุมไว้ในห้องที่มีลูกกรงและยังต้องเข้าสู่กระบวนการประเมินสภาพจิตใจโดยจิตแพทย์ ซึ่งเขาต้องตอบคำถามเพื่อประเมินสภาพจิตใจ

ระหว่างอยู่ที่โรงพยาบาล การเยี่ยมทิวากรมีเงื่อนไขพิเศษคือต้องให้ตำรวจมาดูแลด้วย เนื่องจากทาง สภ.เมืองขอนแก่น ส่งตำรวจสองนายผลัดเวรกันมาเฝ้าทิวากรที่โรงพยาบาลตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อป้องกันการหลบหนี หรือป้องกันผู้ป่วยทำร้ายผู้อื่นหรือตัวเอง นอกจากนี้ ทางตำรวจยังได้ขอบัตรประชาชนของทุกคนที่มาเยี่ยมทิวากรไปตรวจสอบด้วย

“ตอนที่ถูกเอาตัวไปที่โรงพยาบาล ผมทั้งต้องกินยาแล้วก็ถูกฉีดยา ผมไม่รู้ว่ามันคือยาอะไรรู้แต่ว่าหลังตัวยาเข้าไปในร่างกายแล้วมันจะเบลอๆ มีสติไม่เต็มร้อย ผลข้างเคียงของยายังทำให้ผมรู้สึกเจ็บหน้าอกด้วย ตอนที่ต้องกินยาหรือฉีดยาผมรู้สึกว่าร่างกายตัวเองมันไม่ไหวเหมือนจะตายเอา”

“นอกจากการกินยา ผมยังต้องทำแบบทดสอบต่างๆ ทั้งทดสอบไอคิว ทดสอบบุคลิก แล้วก็จะมีทั้งจิตแพทย์และนักจิตวิทยามาคุยด้วย ปรากฏว่าผลการทดสอบออกมาค่อนข้างดี ผมพยายามต่อรองกับหมอว่าถ้าผมปกติดีก็ปล่อยผมออกไปได้ไหม”

“ตอนแรกหมอเหมือนจะยอม แต่ระหว่างที่ผมกำลังคุยกับหมอก็มีโทรศัพท์เข้ามาสายหนึ่ง ผมแอบเห็นชื่อคนที่โทรเข้ามาแวบหนึ่งก็พอจะจำได้ว่าเป็นชื่อคนที่ทำงานที่ศาลากลาง  หมอรับสายได้สักพักก็ทำหน้าเครียด ผมก็พอจะรู้ชะตากรรมว่าคงยังไม่ได้ออกจากโรงบาลแหงๆ สุดท้ายผมก็เลยพยายามต่อรองกับหมอว่า จะขังผมต่อก็ได้ แต่อย่างน้อยขอให้งดยาได้ไหม เพราะเมื่อผมไม่ป่วยก็ไม่ควรจะต้องกินยา”

ทิวากรให้สัมภาษณ์กับไอลอว์เมื่อสิงหาคม 2565 ถึงเหตุการณ์ขณะถูกคุมขังในโรงพยาบาลเมื่อปี 2563