วันนี้เมื่อปี 63 : #ม็อบ13ตุลา จุดเริ่มต้นของมหากาพย์ “ล้อมจับ” ประชาชนเข้าเรือนจำ

หลังคาราวานการชุมนุมของเยาวชนในปี 2563 เปิดฉากขึ้น ปรากฏการณ์ควบคุมตัว “แกนนำ” และตั้งข้อหาทางกฎหมายจากการขึ้นเวทีปราศรัยก็เกิดขึ้นตามมาอย่างต่อเนื่อง โดยการสกัดกั้นกิจกรรมทางการเมืองผ่านวิธี “ล้อมจับ” ในพื้นที่ชุมนุมเพื่อส่งตรงไปสู่ “เรือนจำ” ในระลอกแรกนั้น เริ่มต้นขึ้นในวันที่ 13 ตุลาคม 2563 กินเวลายาวไปจนถึง 21 ตุลาคม 2563

ในโอกาสครบรอบ 2 ปี ไอลอว์ชวนย้อนเวลาไปดู “ที่มาที่ไป” ของเหตุการณ์การจับกุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ที่ส่งผลให้มีผู้ชุมนุมถูกควบคุมตัวไปเรือนจำพร้อมกันมากถึง 21 คน

ย้อนกลับไปเมื่อ 2 ปีก่อน นักกิจกรรมส่วนหนึ่งที่เรียกตัวเองว่า “คณะราษฎรอีสาน” เดินทางมาที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย (ฝั่งแมคโดนัลด์ สาขาราชดำเนิน) เพื่อติดตั้งเต็นท์และเตรียมอุปกรณ์ต่างๆ สำหรับการชุมนุมใหญ่ของ “คณะราษฎร” ในวันที่ 14 ตุลาคม 2563 แต่ในขณะที่พวกเขากำลังจะเริ่มตั้งเวทีปราศรัย เจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนชุดสีน้ำเงิน (คฝ.) ก็เริ่มตรึงกำลังเข้าล้อมและรื้อเต็นท์ภายในบริเวณดังกล่าว

นอกจากข้าวของที่ถูกยึดไปแล้ว ในวันดังกล่าวยังมีผู้ชุมนุมอย่างน้อย 21 คน ถูกควบคุมตัวขึ้นรถผู้ต้องขังไปยังกองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดน ภาค 1 ปทุมธานี (ตชด.1) โดยพวกเขาต้องนอนอยู่ที่นั่นเป็นเวลา 1 คืน ก่อนจะถูกพาตัวไปคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ รวม 7 วัน

กำแพงมนุษย์

“ตอนแรกสถานการณ์เหมือนม็อบปกติ คือเจ้าหน้าที่มาขอให้ออกจากพื้นที่ ตอนนั้นจำไม่ได้ว่าอ้างเรื่องจะมีขบวนเสด็จผ่านไหม แต่มันมีการประกาศขอให้ออกจากพื้นที่ ขอให้ไปอยู่ข้างหลังถนน ในซอยแมคโดนัลด์ แต่ว่าตอนนั้นผู้ชุมนุมก็ไม่ได้ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ ผมเองก็ถ่ายรูปเฉยๆ ตอนที่เจ้าหน้าที่ส่งตัวแทนมาเจรจา ผมก็ไม่ได้สนใจเพราะกำลังถ่ายรูปอยู่”

ปีก ทะลุฟ้า หนึ่งในผู้ชุมนุมที่ถูกควบคุมตัวเล่าถึงเหตุการณ์ในวันนี้เมื่อสองปีก่อน เมื่อครั้งที่เขายังไม่ได้เคลื่อนไหวในนามทะลุฟ้าว่า ตั้งใจเดินทางมาร่วมกิจกรรมเนื่องจากเพื่อนสนิทที่รู้จักกับ “ไผ่ ดาวดิน” ชักชวนให้มาถ่ายรูปม็อบ โดย ณ ขณะนั้น ปีกกำลังเรียนที่คณะภาพยนตร์อยู่ในจังหวัดใกล้เคียงกับพื้นที่ชุมนุม

ปีกเล่าว่า นักกิจกรรมจากหลากหลายกลุ่มที่มารวมตัวกันในนาม “ราษฎรอีสาน” ได้รับมอบหมายจากทางกลุ่มราษฎรกลางให้ทำหน้าที่ฝ่ายสวัสดิการ เตรียมเต็นท์ และของใช้สำหรับการชุมนุมในวันที่ 14 ตุลาคม 2563

“พอเจรจาไปๆ มาๆ ก็ตามลำดับขั้นตอนของเจ้าหน้าที่คือเขาสั่งให้ คฝ. เข้ามาจัดการน่าจะมีเกิน 100 คน ซึ่งแต่ละคนไม่ได้ห้อยป้ายแสดงตัวหรือแจ้งข้อหาอะไรเลยก่อนจับกุม แล้วที่น่ากลัวคือ ตอนที่ คฝ. เริ่มล้อมเข้ามา มันมีหลายแนวล้อม ทั้งวงข้างนอก-ข้างใน แล้วก็อีกส่วนที่จะบุกเข้ามารื้อของ”

“ผู้ชุมนุมเองก็ไม่ได้เตรียมตัวว่าถ้าถูกล้อมต้องทำยังไง เพราะตั้งใจมาแค่เตรียมของฝ่ายสวัสดิการ พอโดนล้อม บรรยากาศก็ด้นสด (ผู้ชุมนุม) เริ่มทำกำแพงมนุษย์ ยืนคล้องแขนต่อกันเป็นแนวกำแพงยาวไม่ให้ คฝ. เข้าไปถึงตัวรถเครื่องเสียง เพราะพอจะประเมินกันได้อยู่ว่าเขาตั้งใจจะมาจับพี่ไผ่ที่อยู่บนรถ แต่รถเครื่องเสียงนี่ก็ไม่ได้ตั้งใจจะมาปราศรัยนะ แค่จะเอามาใช้เป็นเครื่องขยายเสียงเพื่อสั่งงานว่า เต็นท์วางตรงนั้น ช่วยกันยกๆ ไปวางตรงไหนๆ อะไรแบบนี้”

ล้อมจับ 21 คน

ปีกเล่าว่าเมื่อบรรยากาศเริ่มไม่สู้ดี ก็มี “ป้าๆ แม่ๆ เสื้อแดง” เริ่มปะทะคารมกับเจ้าหน้าที่ ตนจึงเดินเข้าไปห้าม บอกให้ใจเย็นๆ กัน แต่เมื่อวงล้อมของตำรวจบีบวงแคบเข้ามามากขึ้น เขาจึงตัดสินใจ “ไฝว้” กับกลุ่มมนุษย์ในชุดสีน้ำเงินเสียเอง

“ตอนแรกผมยังมีท่าทีใจเย็นอยู่ แต่หลังจากนั้นตำรวจก็ยังไม่หยุดบีบวงเข้ามา เราก็รู้สึกไม่ปลอดภัย เลยเริ่มมีปากเสียงกับเจ้าหน้าที่เองบ้าง ตำรวจในละแวกนั้นเลยเพ่งเล็งเรา หลังจากนั้นวงก็ยังบีบเข้ามาอีก เมื่อถึงจังหวะที่เราต้องดันกับเจ้าหน้าที่จริงๆ กำแพงของผู้ชุมนุมก็หันหลังให้เจ้าหน้าที่ ให้นึกภาพเหมือนฉากสไปเดอร์แมนหยุดรถไฟ”

“แต่นึกว่าเจ้าหน้าที่จะดัน ที่ไหนได้ เขาล็อคคอผม แล้วก็ทำให้ล้มจากข้างหลัง” ปีกเล่าย้อนภาพในอดีตพร้อมกับยิ้มแหยๆ

“พอถูกทำให้ล้ม ก็มี คฝ. มากกว่า 7 คนอุ้มไป ซึ่งระหว่างทางไปขึ้นรถผู้ต้องขัง ไม่เกิน 100 เมตรนะ แต่เราโดนใช้ความรุนแรงมาตลอดทาง พอจะขึ้นรถก็มึนแล้ว เหมือนคนเมาหมัดอะ… แล้วถ้าใครเคยเห็น ชั้นนอกของรถผู้ต้องขังมันจะมีพื้นที่ประมาณบล็อคหนึ่งไว้สำหรับให้เจ้าหน้าที่นั่ง แล้วก็เป็นประตูอีกชั้นก่อนจะไปถึงที่นั่งสำหรับผู้ต้องขัง ซึ่งวันนั้นตรงประตูชั้นนอกมีเจ้าหน้าที่อยู่ชุดหนึ่ง จังหวะที่เราถูกอุ้มเข้าไป เขาก็แอบกระทืบเราอีกที”

ปีกเล่าว่า เขาเจอ “พี่แอมมี่” เป็นคนแรกบนรถผู้ต้องขัง ก่อนที่จะมีผู้ชุมนุมคนอื่นๆ ถูกจับตามขึ้นมาเพิ่มอีกทีละคน สองคน หรือสามคนบ้าง รวมแล้วประมาณเกือบ 20 คน ทว่า ในวินาทีที่รถใกล้เคลื่อนออกไป ปีกพบว่า “ยาใจ-ไดโน่” เพื่อนสนิทของเขาสองคนจากกลุ่มทะลุฟ้า ยังไม่ได้ขึ้นมาบนรถด้วยกัน

“พอพี่ไผ่ขึ้นมาบนรถคนสุดท้าย เราก็ไม่รู้ว่าต้องทำอะไรต่อ เจ้าหน้าที่ก็ไม่ได้แจ้งข้อหาหรือให้ข้อมูลอะไรกับเรา และพอเรามาเช็คกันดูก็พบว่า อ้าว ไดโน่กับยาใจหายไปนี่หว่า ซึ่งหลังจากที่ทุกคนโดนใช้ความรุนแรงมา มันก็เป็นบรรยากาศแห่งอารมณ์ ยังไม่รู้ว่า ‘กูจะต้องไปที่ไหนต่อ’ แล้วสถานการณ์การเมืองในตอนนั้นมันก็เลวร้ายมาก อ่อนไหวมากด้วย… ยิ่งเพิ่งมีข่าวเรื่องวันเฉลิม (วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์) เราก็กลัวกันมากว่าเพื่อนของเรา หรือกระทั่งเราเองจะโดนอุ้มหายไปเหมือนกัน”

คุกครั้งแรกของ “ราษฎรอีสาน”

ครบระยะทางร่วมชั่วโมงจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถึง ตชด.1 ความกังวลใจของทุกคนก็สิ้นสุดลงเมื่อได้พบว่า ยาใจและไดโน่นั้นถูกจับขึ้นไปบนรถผู้ต้องหาอีกคันที่มุ่งหน้ามายังสถานที่เดียวกัน และในเช้าวันรุ่งขึ้น ทั้ง 21 คนก็ถูกพาตัวไปที่ศาลแขวงดุสิตเพื่อออกหมายฝากขัง แล้วจึงถูกพากลับขึ้นมาบนรถอีกครั้ง โดยในครั้งนี้มีปลายทางคือ “เรือนจำพิเศษกรุงเทพ” 

“ศาลสั่งฝากขังไปหกวัน ตอนแรกเจ้าหน้าที่ยัดข้อหาให้แค่ลหุโทษ คือ พ.ร.บ.ความสะอาดฯ ยังไม่มีเรื่องประทุษร้ายเจ้าหน้าที่ ข้อหาพวกนี้เขาแจ้งตามมาวันที่ห้า ตอนอยู่ในเรือนจำแล้ว พอวันที่หก (19 ตุลาคม 2563) ศาลก็คอนเฟอร์เรนซ์เข้ามาในคุก แจ้งคำสั่งว่าให้ฝากขังเพิ่มอีกหกวัน ตอนนั้นกระบวนการมันพิลึกมาก ขอทนายก็ไม่ได้ แต่เพื่อนที่โดนจับไปด้วยกันเรียนนิติมา มันเลยไปเอาหนังสือประมวลกฎหมายจากห้องสมุดคุก แล้วลุกขึ้นว่าความเองเลย (หัวเราะ) บอกศาลว่า ขอประกันตัวนะครับ”

ในเบื้องต้นศาลแขวงดุสิตมีคำสั่งไม่ให้ประกันตัว แต่ต่อมา ผู้ถูกจับกุมทั้งหมดได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้น และศาลอุทธรณ์ก็มีคำสั่งให้ประกันในวันเดียวกัน อิสรภาพจึงได้หวนกลับคืนสู่ “คณะราษฎรอีสาน” อีกครั้ง ในเวลาประมาณ 20.00 น. ของวันที่ 19 ตุลาคม 2563 

“มันเหมือนเป็นแรงผลักดันแบบแรงแค้นซะมากกว่า.. ไม่รู้จะพูดยังไง มันเหมือนเป็นแรงผลักดันว่าต้องทำอะไรซักอย่างกับสังคมที่มันเลวร้ายขนาดนี้” ปีกทิ้งท้ายความรู้สึกของการติดคุกครั้งแรกไว้เพียงสั้นๆ

ภายหลังเหตุการณ์จับกุม ผู้ถูกจับกุมทั้ง 21 คนถูกตั้งข้อกล่าวหารวม 10 ข้อกล่าวหา เช่น ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 ชุมนุมมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนฯ, มาตรา 358 ร่วมกันทําให้เสียทรัพย์ฯ, มาตรา 368 ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงานฯ, มาตรา 385 ร่วมกันกีดขวางทางสาธารณะฯ, มาตรา 391 ร่วมกันใช้กำลังทำร้ายผู้อื่นฯ และฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เป็นต้น ขณะที่ไผ่ ดาวดิน ถูกตั้งข้อกล่าวหายุยงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 เพิ่มเติมอีกข้อหาหนึ่ง

สำหรับความคืบหน้าของคดี #ม็อบ13ตุลา ศาลอาญา รัชดา ได้นัดสืบพยานรวม 18 นัด แบ่งเป็นสืบพยานโจทก์  วันที่ 13-16, 27-30 กันยายน 2565 และ 4-5,7 ตุลาคม 2565 และนัดสืบพยานจำเลย วันที่ 18-20 ตุลาคม 2565 และ 14-16, 20 ธันวาคม 2565

อ่านบทสัมภาษณ์ของผู้ถูกจับกุมเมื่อ 13 ตุลาคม 2563 คนอื่นๆ ได้ที่นี่

ย้อนดูข้อมูลการชุมนุมคณะราษฎรอีสาน ได้ที่