RECAP: เกิดอะไรขึ้นกับ “สมบัติ ทองย้อย” ?

28 ตุลาคม 2565 ครบรอบครึ่งปีที่ “สมบัติ ทองย้อย” ถูกคุมขังในเรือนจำระหว่างการต่อสู้คดี #มาตรา112 ในชั้นอุทธรณ์ ใครหลายคนอาจรู้จักสมบัติในชื่อ “พี่หนุ่ม” สมบัติเป็นอดีตการ์ดคนเสื้อแดงในการชุมนุมปี 2552-2553 หลังการรัฐประหาร 2557 สมบัติถูกเจ้าหน้าที่ทหารบุกค้นบ้านในเดือนพฤษภาคม 2559 และกลายเป็นบุคคลใน Watch Lists ที่ถูกเจ้าหน้าที่ติดตามความเคลื่อนไหวอย่างใกล้ชิด

เมื่อมาถึงการชุมนุมของราษฎรในช่วงปี 2563 สมบัติก็ยังคงออกไปร่วมชุมนุมในฐานะผู้ชุมนุมคนหนึ่ง และเคยช่วยงานรักษาความปลอดภัยให้กับผู้ชุมนุมอยู่ระยะเวลาหนึ่งด้วย ก่อนที่ในเวลาต่อมาเขาจะลดบทบาทตัวเองและถอยห่างออกจากการชุมนุม ซึ่งเป็นช่วงเดียวกันกับที่เขาถูกดำเนินคดีมาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากการแสดงความคิดเห็นบนเฟซบุ๊ก

28 เมษายน 2565 ศาลอาญากรุงเทพใต้พิพากษาว่า สมบัติมีความผิดตามมาตรา 112 รวมสองกรรม ให้จำคุกกรรมละ 3 ปี รวมเป็น 6 ปี โดยหนึ่งในข้อความที่ศาลตัดสินว่าผิด คือ แคปชั่น #กล้ามาก #เก่งมาก #ขอบใจนะ ที่สมบัติเขียนบนโพสต์เรื่องการไม่เข้ารับปริญญาของนักศึกษาธรรมศาสตร์ที่เขาแชร์มาจากคนอื่นเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2563 หลังมีคำพิพากษา สมบัติถูกส่งตัวไปที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพในวันเดียวกัน และยังคงไม่ได้รับการประกันตัวระหว่างยื่นอุทธรณ์คดีมาเป็นเวลากว่า 6 เดือนแล้ว

(1) สมบัติคือใคร? ทำไมถูกฟ้อง ม.112 ?

สมบัติ ทองย้อย หรือ “พี่หนุ่ม” ชื่อเล่นที่ใครหลายคนในแวดวงการเมืองคนรู้จัก เขาเป็นอดีตการ์ดเสื้อแดงในการชุมนุมปี 2552-2553 ก่อนที่หลังรัฐประหาร 2557 สมบัติถูกเจ้าหน้าที่ทหารบุกค้นบ้านในเดือนพฤษภาคม 2559 วันเดียวกับที่เจ้าหน้าที่ทหารตำรวจบุกไปบ้านของอดีตนักการเมืองในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการอย่างวรชัย เหมะ และ ประชา ประสพดี ครั้งนั้นเขาถูกยึดข้าวของทั้งวิทยุสื่อสาร ปืนบีบีกัน รวมทั้งถูกดำเนินคดีในความผิดฐานครอบครองยุทธภัณฑ์ ได้แก่ วิทยุสื่อสารที่สามารถเข้าถึงคลื่นความถี่ของทางราชการได้

นับจากครั้งนั้นสมบัติก็กลายเป็นบุคคลใน Watch Lists ที่ถูกเจ้าหน้าที่ติดตามความเคลื่อนไหวอย่างใกล้ชิด

เมื่อมาถึงการชุมนุมของราษฎรในปี 2563 สมบัติยังคงออกไปร่วมชุมนุมในฐานะผู้ชุมนุมคนหนึ่ง และช่วยงานรักษาความปลอดภัยให้กับผู้ชุมนุมอยู่ชั่วระยะเวลาหนึ่ง กระทั่งลดบทบาทตัวเองและถอยออกมา ซึ่งเป็นช่วงเดียวกันกับที่เขาถูกดำเนินคดีมาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากการแสดงความคิดเห็นบนเฟซบุ๊ก

นอกจากนั้น สมบัติยังเคยถูกดำเนินคดีจากการโพสต์ข้อความดูหมิ่นนายกรัฐมนตรี และถูกดำเนินคดีในข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดห้ามชุมนุมตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการร่วมชุมนุมในวันที่ 15 ตุลาคม 2563 และ 18 ตุลาคม 2563 อีกด้วย

อ่าน “สมบัติ ทองย้อย : อดีตการ์ดคนเสื้อแดงและจำเลยคดี 112 กับความทรงจำที่ยังคุกรุ่น” 

(2) โพสต์ “กล้ามาก เก่งมาก ขอบใจ” ทำไมโดนขังคุก?

28 เมษายน 2565 ศาลอาญากรุงเทพใต้พิพากษาว่าสมบัติมีความผิดตามมาตรา 112 รวมสองกรรม ให้จำคุกกรรมละ 3 ปี รวมเป็น 6 ปี โดยหนึ่งในข้อความที่ศาลตัดสินว่าผิด คือ “แคปชั่น” ที่สมบัติเขียนแนบกับการแชร์โพสต์เรื่องการไม่เข้ารับปริญญาของนักศึกษาธรรมศาสตร์ เมื่อ 30 ตุลาคม 2563 ว่า #กล้ามาก #เก่งมาก #ขอบใจนะ

ศาลตัดสินว่า ข้อความดังกล่าวเป็นการจงใจล้อเลียนพระมหากษัตริย์ เนื่องจากเป็นพระราชดำรัสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตรัสในวันที่ 23 ตุลาคม 2563 เพื่อชื่นชม ฐิติวัฒน์ ธนการุณย์ ซึ่งยืนถือพระบรมฉายาลักษ์ในหลวงรัชกาลที่เก้าและสมเด็จพระราชินีในรัชกาลที่เก้า ระหว่างที่มีการชุมนุมของคณะราษฎร”

“แม้โดยเนื้อแท้ข้อความดังกล่าวจะเป็นการกล่าวชื่นชม ไม่ได้หมิ่นประมาท แต่เมื่อพิจารณาการโพสต์ของจำเลยที่นำข้อความพระราชดำรัสไปประกอบกับข่าวเรื่องที่นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไม่เข้ารับปริญญาทั้งคณะ จำเลยจึงมีเจตนาชื่นชมบัณฑิตที่ไม่เข้ารับปริญญา โดยเอามาพระราชดำรัสมาโพสต์ ซึ่งในสังคมไทยการรับปริญญาถือว่าเป็นเกียรติและศิริมงคล การกระทำของจำเลยจึงถือเป็นการล้อเลียนเสียดสีพระมหากษัตริย์ เป็นการกระทำที่ไม่บังควร จางจ้วง เข้าข่ายเป็นการดูหมิ่น หมิ่นประมาท พระมหากษัตริย์”

หลังมีคำพิพากษา สมบัติถูกส่งตัวไปที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพภายในวันเดียวกัน และยังคงไม่ได้รับการประกันตัวระหว่างยื่นอุทธรณ์คดีมาเป็นเวลากว่า 6 เดือนแล้ว

อ่านรายละเอียดคดีของสมบัติ ทองย้อย 

(3) เกิดอะไรขึ้นบ้างระหว่าง 6 เดือนในเรือนจำ

15 มิถุนายน 2565 มีการเบิกตัวสมบัติจากเรือนจำเป็นครั้งแรก เพื่อนัดสืบพยานในคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ร้ายแรง จากการเข้าร่วมม็อบในวันที่ 18 ตุลาคม 2563 โดย “ณัฎ” ลูกสาวของสมบัติให้สัมภาษณ์กับทางศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนว่า 

“หลังจากพิจารณาคดีเสร็จ เราลงไปซื้อข้าวกลางวันแล้วเอาข้าวไปให้พ่อ ซึ่งเราคิดว่าคงมีแค่กระจกใสกั้นเรากับพ่อไว้ แต่เราต้องฝากข้าวให้กับผู้คุมเพื่อเอาไปให้พ่อ เพราะสิ่งที่กั้นเรากับพ่อคือห้องๆ หนึ่ง ไม่ใช่กระจกอย่างที่เราคิด ตอนที่ผู้คุมเปิดกระจกมาเอาข้าวให้พ่อเรากวาดสายตาเพื่อมองหาพ่อ ซึ่งเราก็เห็นพ่ออยู่อีกฝั่งของห้อง และด้วยความที่ว่ากระจกระยะสายตาเป็นกระจกดำ แต่กระจกบนหัวเป็นใส เรากับพ่อก็กระโดดและยกมือบ๊ายบายเพื่อให้อีกฝ่ายเห็น”

“เรากับพ่อกระโดดอยู่แบบนั้นซักพัก จนผู้คุมน่าจะเรียกพ่อไปกินข้าว ความรู้สึกตอนนั้นโคตรดีใจ โคตรเสียใจ และ โคตรคิดถึงพ่อเลย…”

“ความจริงสิ่งที่เรากับพ่อทำเมื่อวานมันคือเรื่องปกติด้วยซ้ำ แต่มันกลายเป็นอะไรที่ดูพิเศษเพียงเพราะพ่อโดนพรากอิสรภาพจากการที่ศาลตัดสินจำคุกพ่อในคดี 112 การที่พ่อโพสต์ “กล้ามาก เก่งมาก ขอบใจ” มันเป็นการแสดงความคิดเห็นด้วยซ้ำ ไม่ใช่การอาฆาตมาดร้าย ความจริงแล้ววัตถุประสงค์ของคดี 112 ตั้งขึ้นมาเพื่อปกป้องสถาบัน ไม่ใช่เพื่อคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งใช้เป็นเครื่องมือกลั่นแกล้งคนคิดต่างทางการเมือง และไม่ควรมีใครถูกริดรอนอิสรภาพ เพียงแค่มีความคิดเห็นที่แตกต่าง” ลูกสาวของผู้ต้องหามาตรา 112 กล่าว

ในระหว่างถูกคุมขัง ศูนย์ทนายฯ รายงานว่า จากการเข้าเยี่ยมเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2565 สมบัติแจ้งว่าเขาตรวจโควิดด้วย ATK และผลออกมาว่าติดโควิด-19 สมบัติจึงต้องย้ายไปกักตัวแดน 2 เป็นระยะเวลาหนึ่ง นอกจากนี้ สมบัติยังเล่าว่าระหว่างถูกคุมขัง ได้ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยก่อสร้าง เช่น เปลี่ยนเครื่องกรองน้ำ งานไม้ งานเหล็ก  

23 ตุลาคม 2565 ศูนย์ทนายฯ ระบุว่า ศาลอุทธรณ์ยังคงมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวสมบัติในระหว่างอุทธรณ์คำพิพากษา โดยระบุเหตุผลเช่นเดียวกันกับครั้งก่อนว่า “พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดี ศาลอุทธรณ์เคยมีคำสั่งไม่อนุญาตปล่อยชั่วคราวจำเลยในระหว่างอุทธรณ์มาแล้วหลายครั้ง และเหตุตามคำร้องไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยในระหว่างอุทธรณ์ ให้ยกคำร้อง” ซึ่งในครั้งนี้เป็นการยกคำร้องครั้งที่ 9 แล้ว