Recap : วรเจตน์ ฝากนักกฎหมายในระบบราชการ ยึดหลักวิชาชีพจะบรรเทาวิกฤติ 112

13 พฤศจิกายน 2565 ที่ห้องพูนศุข วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มูลนิธิสิทธิอิสรา จัดเสวนาสาธารณะหัวข้อ “112 กับ สถาบันกษัตริย์ : 1 ทศวรรษเพื่อการทบทวน” โดยศาสตราจารย์วรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และหนึ่งในอาจารย์กลุ่ม “นิติราษฎร์” ที่ผลิตชุดข้อเสนอเพื่อการรณรงค์แก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 

ปลายปี 2564 ข้อเสนอ “ยกเลิก 112” ถูกจุดขึ้นท่ามกลางบรรยากาศที่มาตรา 112 ถูกนำมาใช้กับผู้ชุมนุม หลายคดียังเดินหน้าไปตามกระบวนการ ในปี 2565 หลายคดียังไม่มีทิศทางชัดเจนว่าจะเป็นอย่างไร ในขณะที่ข้อเสนอยกเลิก 112 ก็ยังคงดำรงอยู่และเป็นที่ถกเถียงในสังคม แต่ไม่เคยถูกนำเข้าไปถกเถียงกันในสภาอย่างจริงจัง อย่างไรก็ดี ข้อเสนอยกเลิก 112 ก็ไม่ใช่ข้อเสนอแรกที่พยายามจะเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์มาตรา 112 โดยใช้กลไกการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย ย้อนกลับไปเมื่อ 10 ปีก่อน คณะรณรงค์แก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 (ครก. 112) พยายามที่จะใช้กลไกดังกล่าว เพื่อเสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ตามชุดข้อเสนอของนิติราษฎร์ แต่ข้อเสนอดังกล่าวก็ไม่สัมฤทธิ์ผล เพราะสภาไม่ตอบรับข้อเสนอดังกล่าว 

ย้อนทวน 10 ปี เสนอแก้ 112 การต่อสู้ระยะยาวที่อาจไม่จบในรุ่นเรา

วรเจตน์ ภาคีรัตน์ เริ่มต้นกล่าวว่า “จริงๆ อาจจะมีคนสงสัยว่าทำไม ผมซึ่งเป็นอาจารย์สอนหนังสืออยู่ในมหาวิทยาลัย สอนกฎหมายอยู่ดีๆ ได้รับทุนมูลนิธิอานันทมหิดลไปศึกษาต่อต่างประเทศ อยู่ๆ จึงลุกขึ้นมาเคลื่อนไหวแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หลายคนก็บอกว่า มาตรา 112 มันก็มีมานานแล้ว มันก็อยู่ของมันดีๆ แล้วจะไปยุ่งหรือจะไปแก้ไขกับมันทำไม หลายคนที่รู้จักมักคุ้นกับผมก็มักจะบอกว่า ผมไม่ควรไปยุ่งเกี่ยวกับมาตรานี้เลย มันจะส่งผลกระทบกับผมในหลายด้าน ทั้งด้านส่วนตัวและหน้าที่การงานของผมต่อไปอีก

แต่ว่ามนุษย์เรา มันมีเรื่องบางเรื่อง ที่มันจำเป็นต้องทำ เรื่องบางเรื่องก็ไม่อาจที่จะไม่ทำได้ ในช่วงที่ผมเคลื่อนไหวเมื่อประมาณ 10 ปีก่อนนั้น มันเกิดคดีขึ้นมาจำนวนหนึ่ง คดี 112 เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญหลังรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 เพราะฉะนั้นวันนี้ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องมา เราจะมองขาดจาก 19 กันยา 2549 ไม่ได้”

วรเจตน์กล่าวต่อไปว่า การรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เป็นจุดที่ทำให้เกิดคดี 112 มากขึ้น เนื่องจาก อาจจะมีคนตั้งคำถามกับบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ในส่วนที่เกี่ยวกับเรื่องการทำรัฐประหารในปีนั้น ไม่มีใครทราบว่าความจริงเป็นอย่างไร แต่เป็นที่สงสัยในประชาชนกลุ่มหนึ่ง นับแต่นั้นมา ความเกี่ยวพันกับเรื่องของสถานะ พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ กับ มาตรา 112 และคดีความ จึงผูกติดกันเรื่อยมา

จุดที่ทำให้หนึ่งในอาจารย์กลุ่ม “นิติราษฎร์” ตัดสินใจลุกขึ้นมาเคลื่อนไหว เพราะว่า มีบางคดีที่เกิดขึ้นและกระทบกับความรู้สึก มีการแสดงความเห็นของประชาชนจำนวนหนึ่งซึ่งเขาอาจแสดงความเห็นไปโดยรู้สึกว่าเป็นสิ่งที่ควรจะพูดได้ แล้วมีคดีเกิดขึ้น โทษที่กำหนดโดยกฎหมายมันค่อนข้างแรง คือ จำคุกตั้งแต่สามปีถึง 15 ปี สิ่งที่ตนคิดได้ในเวลานั้นและตัดสินใจทำมันขึ้นมา คือ ทำเรื่องนี้ให้ตรงไปตรงมา โดยการเสนอให้เป็นประเด็นสาธารณะอย่างเปิดเผย อย่างจริงใจ แล้วก็ขอให้มีการเข้าชื่อกันแก้ไขกฎหมายนี้ โดยที่คณะนิติราษฎร์จะทำหน้าที่เป็นคนช่วยยกร่างกฎหมายให้ แล้วนำข้อเสนอนี้ออกสู่สาธารณะ เป็นข้อเสนอที่ทำขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาที่มีอยู่ในระหว่างนั้น 

เหตุที่เสนอแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 แต่ไม่ได้เสนอยกเลิกเลย วรเจตน์อธิบายว่า การเสนอแก้ไขกฎหมายในช่วงเวลานั้น คำนึงถึงปัจจัยในแง่ข้อกฎหมาย ซึ่งต้องดูความสัมพันธ์กับบทบัญญัติอื่นๆ ในตระกูล “หมิ่น” ที่อยู่ในประมวลกฎหมายอาญา ให้มันรับกัน ประเด็นเสนอแก้ไข มีหลายประเด็น เพื่อให้เกิดการถกเถียง วิพากษ์วิจารณ์ถึงการเสนอแก้ไขประเด็นเหล่านี้ เช่น 

  • การเลิกมาตรา 112 เพื่อนำออกจากหมวดความมั่นคงของรัฐ และตั้งหมวดใหม่ เรื่องการคุ้มครองพระเกียรติยศของพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และเกียรติยศของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
  • แยกการคุ้มครองตำแหน่งพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ออกจากกันเป็นสองส่วน
  • ปรับเปลี่ยนอัตราโทษ
  • เพิ่มเหตุยกเว้นความผิด และเหตุยกเว้นโทษ ในส่วนของเหตุยกเว้นความผิด ก็ย้อนกลับไปเหมือนช่วงเปลี่ยนแปลงการปกครอง ที่กำหนดให้วิพากษ์วิจารณ์ได้ ส่วนเหตุยกเว้นโทษ หากพิสูจน์ได้ว่าสิ่งที่พูดเป็นความจริง และเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ เพื่อนำเสนอว่าเราสามารถพูดความจริงในสังคมได้ โดยที่คนที่พูดไม่ต้องกลัวว่าจะติดคุกตาราง 
  • กำหนดให้ราชเลขาธิการเป็นผู้กล่าวโทษ

แต่ละประเด็นที่เสนอแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา ก็มีหลายคนที่โต้แย้งในหลายละเอียด ทั้งเรื่องโทษที่บางคนยังบอกว่าหนักเกินไป บางคนบอกว่าควรยกเลิกไปเลย บางคนก็บอกว่าไม่ควรให้ราชเลขาธิการเป็นผู้กล่าวโทษเพราะเป็นตำแหน่งที่ใกล้ชิดพระมหากษัตริย์ ควรให้เลขาธิการพระราชวังเป็นคนกล่าวโทษ 

หลังจากที่นำเสนอร่างแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ไปแล้ว ก็มีอุปสรรคหลายอย่าง ต้องเข้าใจว่าในเวลานั้น เปรียบเสมือนการจุดพลุในประเด็นบางอย่าง หลายคนรู้สึกว่าเป็นการกระทำที่ไม่สมควรเพราะเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นจากข้อเสนอมีหลากหลาย ปฏิกิริยาในทางลบดูจะมากกว่าทางบวก หลังจากที่ตนบรรยายเรื่องนี้เมื่อ 15 มกราคม 2555 สื่อมวลชนไม่น้อยก็เขียนบทความโจมตีข้อเสนอของนิติราษฎร์อย่างมาก โดยที่อาจจะไม่ได้ทำความเข้าใจข้อเสนอเหล่านั้น เพราะรู้สึกว่าไปแตะต้องสถาบันพระมหากษัตริย์

เมื่อมีการเสนอแก้ไขมาตรา 112 ก็มีความเข้าใจผิดเกิดขึ้น เช่น มีผู้เข้าใจผิดว่าเสนอโดยกลุ่มหรือขบวนการล้มเจ้า มีผู้เข้าใจผิดว่าจะเสนอแก้รัฐธรรมนูญเพราะเข้าใจว่า มาตรา 112 อยู่ในรัฐธรรมนูญ เข้าใจผิดว่ามาตรา 112 ดำรงอยู่อย่างนี้มาโดยตลอด ไม่มีการแก้ไข ความเข้าใจผิดหลายอย่างจากเมื่อ 10 ปีก่อน ยังคงดำรงมาจนถึงปัจจุบัน สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงความพยายามปิดการรับรู้บางอย่าง เพราะเมื่อมีการตั้งประเด็นแล้วว่าพูดเรื่องนี้ขึ้นมา มันคือการแตะต้องสถาบันพระมหากษัตริย์ ตัวบทมาตรา 112 ก่อนเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ไม่มีโทษขั้นต่ำ ตัวบทที่ใช้ในปัจจุบัน ก็คือมรดกของการรัฐประหาร สังคมไทยส่งมรดกที่มีปัญหาจากคนรุ่นหนึ่งไปถึงคนรุ่นหนึ่ง

ปัจจุบัน มีข้อเสนอ “ยกเลิก 112” ที่ถูกโยนเข้ามาในสังคม ผ่านกลไกการเข้าชื่อเสนอกฎหมายเช่นเดียวกับข้อเสนอแก้ไข มาตรา 112 ความแตกต่างระหว่างสองข้อเสนอ ที่เกิดในคนละช่วงเวลา ทำให้เกิดคำถามว่า ข้อเสนอของนิติราษฎร์ จะยังใช้อยู่ได้หรือไม่ วรเจตน์แสดงความคิดเห็นว่าข้อเสนอของนิติราษฎร์ก็ยังใช้ได้ในภาพรวม แน่นอนว่าอาจมีคนเสนอยกเลิก มาตรา 112 ซึ่งเป็นข้อเสนอที่ถกเถียงกันได้ แต่ว่าส่วนตัวตนมีความเห็นอีกแบบ ตนคิดว่ารัฐหนึ่งจะต้องมีประมุขของรัฐที่คุ้มครองตัวระบอบไม่ว่าจะเป็นระบอบไหน ในแง่นี้ ถ้าการคุ้มครองประมุขของรัฐซึ่งรักษาระบอบการปกครองที่ยุติลงตัว โดยส่วนตัวตนก็ไม่มีปัญหาที่จะมีกฎหมายคุ้มครองประมุขของรัฐที่ต่างไปจากบุคคลธรรมดาบ้าง แบบที่ปรากฏกันในหลายประเทศ แต่ตนก็ไม่มีปัญหากับคนที่เสนอให้ยกเลิกไปเลย ประเด็นเหล่านี้เป็นสิ่งที่สามารถถกเถียงกันได้

วรเจตน์กล่าวต่อว่า ประเด็นที่อาจเป็นปัญหามากกว่า ระหว่างการยกเลิกหรือแก้ไข คือ การพ่วงตำแหน่งอื่นๆ ที่ไม่ใช่ประมุขของรัฐ หากตำแหน่งเหล่านี้จะรับการคุ้มครองเป็นพิเศษ อาจต้องมีฐานความชอบธรรมในทางบทกฎหมายเป็นพิเศษ ซึ่งอธิบายได้ค่อนข้างยาก

“มีบทเรียนบางอย่าง ที่ผมอยากจะเรียนกับคนที่เป็นนักเคลื่อนไหวปัจจุบัน ก็คือว่า เราต้องไม่ลืมว่าไม่ว่าจะเคลื่อนไหวยังไงก็ตาม กฎเกณฑ์ 112 ยังไม่ถูกแก้ มันยังเป็นกฎเกณฑ์ที่เป็นกฎหมายที่มีผลใช้บังคับอยู่จริงๆ ในบ้านเมืองในเวลานี้ เพราฉะนั้น โดยเหตุที่กฎเกณฑ์นี้ยังไม่แก้ จึงมีอะไรหลายอย่างซึ่งแม้ว่าเราอยากจะพูดเพื่อประโยชน์สาธารณะ มันก็อาจจะไม่ได้ การ move (เคลื่อนไหว) ในเรื่องนี้ ต้องใช้ความระมัดระวังอย่างสูง ผมเข้าใจในแง่ของเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่มีการเคลื่อนไหว ที่ตอนนี้ถูกกดทับจากบทบัญญัติมาตรานี้ แต่ว่าก็ต้องพยายามเข้าใจว่าการต่อสู้ในเรื่องนี้มันเป็นการต่อสู้เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระยะยาวอย่างยิ่ง มันเป็นเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจว่ามันอาจจะไม่จบใน generation เดียว อาจจะต้องส่งผ่านสิ่งนี้ไปต่อๆ ในอีกหลาย generation เมื่อมีใครคนใดคนหนึ่งจุดไฟขึ้นมาแล้ว ก็ต้องพยายามหล่อเลี้ยงมันวันไม่ให้มันดับ มันอาจจะยังไม่สำเร็จ แต่ว่าต้องหล่อเลี้ยงมันต่อไป แล้วเราไม่ต้องคาดหวังว่ามันต้องเสร็จหรือยุติในรุ่นของเรา เราอาจจะมีความหวังว่ามันควรจะจบ แต่ว่า สภาพสังคมต้องการความพร้อมของคนจำนวนมาก มากกว่านี้เยอะ 10 ปีนี้มันมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นจริง แต่ยังมีปริมาณไม่มากพอ เราต้องยอมรับในจุดนี้ และต้องทำกันต่อไป…”

112 เครื่องมือ “เบรก” ข้อวิพากษ์วิจารณ์หลังคณะรัฐประหารขยายแก้กฎหมายขยายพระราชอำนาจ

วรเจตน์แจกแจงว่า ปัญหามาตรา 112 มีสามระดับ 1) ปัญหาเชิงอุดมการณ์ 2) ปัญหาแง่ตัวบทกฎหมาย และ 3) ปัญหาในการปรับใช้กฎหมาย

อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ ขยายความถึงปัญหาเชิงอุดมการณ์ไว้ว่า อุดมการณ์ที่เป็นตัวกำกับการใช้การตีความกฎหมาย ยังไม่ลงตัวในรัฐธรรมนูญไทย รัฐไทยพยายามแสวงหาอุดมการณ์ร่วมในทางการเมืองการปกครอง แต่ยังไม่สำเร็จ อุดมการณ์ทั้งสองส่วน คือ อุดมการณ์จากระบอบเก่า และอุดมการณ์ประชาธิปไตย-นิติรัฐ ยังดำรงอยู่ในรัฐธรรมนูญเรื่อยมา เพียงแต่ว่าอุดมการณ์ใดเข้ามามีบทบาทนำในแต่ละช่วง 

วรเจตน์อธิบายต่อว่า หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ช่วง 15 ปีแรก พอจะบอกได้ว่าอุดมการณ์ประชาธิปไตย นิติรัฐ เป็นอุดมการณ์ที่นำในรัฐธรรมนูญ แต่ก็ยังมีแนวคิดจากระบอบเดิมที่ตกค้างอยู่บ้าง ฝ่ายที่ถูกเปลี่ยนแปลง คือ สถาบันพระมหากษัตริย์ ภายหลังก็รื้อฟื้นอำนาจบางส่วนที่เสียไป ในรัฐธรรมนูญฉบับที่สอง 10 ธันวาคม 2475 หลังปี 2490 ตำแหน่งแห่งที่ของพระมหากษัตริย์ถูกรื้อฟื้นกลับมา พระมหากษัตริย์มีพระราชอำนาจแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภาได้ หลังปี 2500 การรื้อฟื้นสถาบันพระมหากษัตริย์ก็เข้มข้นมากขึ้น ทว่า การรื้อฟื้นที่เข้มข้นมากที่สุด ปรากฏในรัฐธรรมนูญ 2560 ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม ชีวิตของเราถูกเคลื่อนผ่านระบอบการปกครองอันหนึ่งไปสู่อีกระบอบอีกแบบหนึ่ง แม้ว่าชื่อระบอบจะใช้ชื่อเดิม คือ “ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” แต่เนื้อในของตัวระบอบมันเปลี่ยนแปลงไป

ความเปลี่ยนแปลงของเนื้อในของระบอบ เกิดขึ้นในรัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติมาแล้ว เพราะฝ่ายการเมืองแก้รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ของร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติมาแล้ว กลับมาแก้ไขตามข้อสังเกตพระราชทาน จะเห็นได้จากความเปลี่ยนแปลงบทบัญญัติที่เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ ถึงแม้จะบอกว่า การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวไม่เกี่ยวกับกลไกหรือองค์กรทางการเมืองอื่นๆ แต่ว่าในระบบการเมืองการปกครอง ทุกสถาบันและองค์กรในรัฐธรรมนูญมีความเกี่ยวโยงสัมพันธ์กัน ไม่มีองค์กรใดที่ขาดปฏิสัมพันธ์ต่อกัน การเปลี่ยนแปลงสถาบันหรือองค์กรใดย่อมส่งผลกระทบต่อระบบหรือโครงสร้างโดยรวมไม่มากก็น้อย รวมถึงการเปลี่ยนแปลงในแง่ของพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ด้วย

วรเจตน์ ภาคีรัตน์ แจกแจงความเปลี่ยนแปลงพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ ที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญ คือ กำหนดให้การใช้พระราชอำนาจบริหารข้าราชการในพระองค์ สามารถตราขึ้นโดยพระราชกฤษฎีกา การบริหารข้าราชการในพระองค์ เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย หมายความว่า หน่วยงานซึ่งแต่เดิมเคยอยู่ใต้บังคับบัญชาของนายกรัฐมนตรี เปลี่ยนสายการบังคับบัญชาของพระมหากษัตริย์ นอกจากนี้ ยังมีการเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการจัดการทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ในพระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ พ.ศ.2561 มีการโอนอัตรากำลังพล ทหารบางส่วน ไปอยู่ภายใต้บังคับบัญชาของพระมหากษัตริย์โดยตรง ตามพระราชกำหนดโอนอัตรากำลังพลและงบประมาณบางส่วนของกองทัพบก กองทัพไทย กระทรวงกลาโหม ไปเป็นของหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ซึ่งเป็นส่วนราชการในพระองค์ พ.ศ. 2562 มีการเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์ในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ ในปี 2561 การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้มีลักษณะเพิ่มพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ทั้งสิ้นและเกิดขึ้นภายในช่วงรัฐประหาร 2557

วรเจตน์กล่าวต่อไปว่า หากย้อนไปดูนับแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ทุกคราวหลังจากการรัฐประหารครั้งแรกปี 2490 พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์บางส่วนเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา มากบ้างน้อยบ้าง ค่อยๆ มีการเปลี่ยนแปลง เช่น พระราชอำนาจในการยับยั้ง (วีโต้) ร่างกฎหมาย จากเวลาน้อยก็ยาวนานขึ้น การถือกำเนิดองคมนตรี การตั้งสมาชิกวุฒิสภา ฯลฯ ความเปลี่ยนแปลงเชิงกฎเกณฑ์เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ ก็เป็นผลพวงมาจากอุดมการณ์หรือการต่อสู้ของอุดมการณ์ในการปกครองร่วมกัน 

“…ฝ่ายที่เคลื่อนไหว ที่มีการเสนอปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ผมคิดว่า จุดหลักอยู่ตรงที่ว่า จะจัดวางตำแหน่งของพระมหากษัตริย์ในระบบกฎหมายไทยหรือระบบการปกครองไทยอย่างไร ให้สามารถที่จะมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับอำนาจต่างๆ ของรัฐ ในลักษณะที่ไม่กระทบกับตัวอำนาจอื่นๆ และในลักษณะซึ่งถ้าเกิดมีการใช้อำนาจ สามารถที่จะตรวจสอบในทางกฎหมายได้ อันเป็นความมุ่งหมายของหลักนิติรัฐหรือหลักนิติธรรม ประเด็นมันอยู่ตรงนี้ ไม่ได้อยู่ตรงที่ว่าการล้มเจ้าหรือเปลี่ยนไปเป็น Republic (สาธารณรัฐ)…”

อาจารย์ด้านกฎหมายมหาชนสรุปให้เห็นว่า เมื่อมีความเปลี่ยนแปลงในทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์ ก็เป็นธรรมดาที่จะมีข้อเรียกร้อง มาตรา 112 ก็เข้ามามีบทบาทในแง่การ “เบรก” ไม่ให้พูดเรื่องนี้ ส่วนของประชาชนทั่วไป เขาไม่ได้มีความรู้ทางกฎหมาย เขาก็พูดจากความรู้สึก ความคิดความอ่านของเขาในเรื่องที่เกี่ยวกับกิจการบ้านเมือง บางส่วนก็อาจไปเข้าองค์ประกอบความผิด มาตรา 112 เมื่อโทษรุนแรงเกินกว่าเหตุ ก็อาจต้องปรับให้เหมาะกับสิ่งที่ควรจะต้องเป็น 

อย่างไรก็ดี วรเจตน์เห็นว่า อุดมการณ์ตามระบอบเก่าเมื่อเกิดขึ้นแล้ว ยังไม่ถึงขนาดทำให้ในระบบกฎหมายประเทศไทยกลับไปเป็นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เพราะแม้จะมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น แต่ยังจำกัดอยู่ในกรอบเรื่องที่เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ ยังไม่เปลี่ยนแปลงหลักพื้นฐานเรื่องอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย ยังไม่เปลี่ยนแปลงหลักที่กำหนดว่าองค์กรของรัฐต้องปฏิบัติหน้าที่ตามหลักนิติธรรม เพราะฉะนั้นศาลจะยังต้องตีความกฎหมายให้รับรองอุดมการณ์แบบนี้ แต่ข้อสังเกตคือ อุดมการณ์ในแง่การมองสถาบันพระมหากษัตริย์ กับมาตรา 112 ของหมู่ผู้ใช้กฎหมายนั้น ยังไม่เปลี่ยน ยังเป็นอุดมการณ์ลักษณะแบบเดิมอยู่ ตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนให้เห็น คือคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 28-29/2555 ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ 

อุดมการณ์ระบอบเก่าฝังรากลึก กระทบกระบวนการยุติธรรม

วรเจตน์อธิบายเชื่อมโยงว่า ผลจากอุดมการณ์ลักษณะแบบเดิมในหมู่ผู้ใช้กฎหมาย ทำให้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เมื่อถูกนำมาใช้ในทางปฏิบัติ ก็เกิดคดีจำนวนหนึ่ง ซึ่งคดีบางส่วนก็ไม่น่าเชื่อว่าจะเกิดการฟ้องร้องกันได้ ยกตัวอย่างเช่น คำพิพากษาศาลฎีกา 47-48/2561 ซึ่งพนักงานอัยการฟ้องว่าจำเลยหมิ่นประมาทสมเด็จพระเทพพระรัตนราชสุดาฯ และพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าโสมสวลีฯ ในฐานะ “รัชทายาท” ซึ่งทั้งสองไม่ใช่องค์รัชทายาท รัชทายาท คือ สยามมกุฎราชกุมาร ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ถูกระบุไว้ในกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ คดีแบบนี้ ไม่ควรเป็นคดีมาตั้งแต่แรก สุดท้ายแล้วในคดีนี้ ศาลลงโทษด้วยมาตรา 326 หมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา ปัญหายังมีต่อไปว่า ไม่มีผู้กล่าวโทษในคดีนี้ แล้วศาลลงโทษได้อย่างไร เมื่ออัยการฟ้องมาฐานหนึ่ง ศาลไปลงโทษอีกฐานหนึ่ง นี่คือปัญหาในเชิงกระบวนการพิจารณา สิ่งที่เห็นได้จากตัวอย่างนี้ คือความ sensitive (อ่อนไหว) ของกระบวนการยุติธรรมที่ต่อมาตรา 112 

วรเจตน์ยังได้ยกตัวอย่างปัญหาการบังคับใช้กฎหมายเพิ่มเติม ในคดีหมิ่นประมาท รัชกาลที่ 4 คดีนี้ไปถึงชั้นฎีกา ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง แต่ศาลฎีกากลับคำพิพากษาไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น กล่าวคือพิพากษาลงโทษ จำคุกสี่ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดลงให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกสองปี พิเคราะห์รายงานการสืบเสาะและพินิจจำเลยแล้ว ไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนดสองปี คดีนี้วรเจตน์มองว่าต้องยกฟ้อง และคำพิพากษาศาลฎีกามีปัญหา เป็นปัญหาดุลยภาพระหว่างฝ่ายตุลาการกับฝ่ายนิติบัญญัติ ตามหลักในกฎหมายอาญา จะต้องตีความโดยเคร่งครัด จะตีความโดยขยายความเทียบเคียง (Analogy) ไม่ได้ ถ้าตัวบทกฎหมายเขียนอย่างไรต้องเขียนอย่างนั้น สมมุติมีกฎเกณฑ์บางอย่างที่ศาลรู้สึกว่าควรจะเป็นความผิด แต่ถ้าบทบัญญัติไม่สามารถตีความไปทางนั้นได้ ก็ต้องตีความตามนั้น ถือว่าเป็นช่องว่างทางกฎหมาย ฝ่ายที่จะอุดช่องว่างได้ คือ ฝ่ายนิติบัญญัติ ตราบเท่าที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติ ก็ไม่มีความผิด สิ่งนี่คือหลักประกันในกฎหมายอาญา

วรเจตน์กล่าวต่อไปว่า ปัญหาที่ตามมาจากคดีหมิ่นประมาท รัชกาลที่ 4 ส่งผลให้มีการดำเนินคดีอื่นที่เกี่ยวกับการดูหมิ่น หมิ่นประมาทอดีตพระมหากษัตริย์ตามมา พนักงานสอบสวนทำสำเนา พนักงานอัยการก็ฟ้องต่อศาล เพราะในระบบกระบวนการยุติธรรมของไทย เมื่อมีคำพิพากษาออกมา ก็แทบกลายเป็นบรรทัดฐานในการทำงานต่อไปข้างหน้า ทั้งนี้ แม้แต่ในหมู่ศาลเองก็ยังตัดสินไม่เหมือนกัน ทำให้จำเลยในคดีต้องไปต่อสู้คดีเอง ซึ่งสร้างความไม่แน่นอน สุ่มเสี่ยงกระทบต่อสิทธิเสรีภาพประชาชน

ภารกิจระยะยาว : สร้างระบบตรวจสอบศาล สร้างความเข้าใจในหมู่ประชาชน

วรเจตน์มองถึงสิ่งที่ผู้คนในสังคมควรจะทำต่อไปในอนาคตว่า ไม่ใช่แค่การแก้ไขมาตรา 112 แต่ต้องพยายามทำความเข้าใจกับผู้คนต่อไปด้วย ให้คนเข้าใจว่า ต่อให้มีการเปลี่ยนแปลงทางกฎหมาย การกระทำที่เป็นการดูหมิ่น หมิ่นประมาท อย่างน้อยก็ยังเป็นความผิดอยู่ เพียงแต่โทษจะเปลี่ยนแปลงไป ให้สมเหตุสมผล พอเหมาะพอประมาณกับการกระทำ การเฉลิมพระเกียรติพระมหากษัตริย์ ไม่ใช่การเอาผิดด้วยโทษที่รุนแรง สิ่งที่สูงส่งอยู่แล้วไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปเพราะคำพูดหรือการกระทำของผู้คน ก็จะยังสูงอยู่อย่างนั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่ากฎหมายไทยหมิ่นประมาท ติดอันดับท็อปของโลกในแง่ที่มีอัตราโทษสูง หลายประเทศแม้จะมีการกำหนดเช่นนี้แต่โทษไม่ได้สูงขนาดนั้น และภายใต้ข้อจำกัดที่ยังมีอยู่ นักวิชาการ นักกฎหมาย จะต้องอธิบายคำพิพากษาของศาลที่เกิดขึ้น

หนึ่งในนิติราษฎร์มองถึงอนาคตว่า ควรมีระบบการตรวจสอบศาล อิสระผู้พิพากษาไม่ได้หมายความว่าขาดความเชื่อมโยงยึดโยงกับประชาชนเจ้าของอำนาจ ต้องมีระบบตรวจสอบ จะปล่อยให้บุคคลสามารถชี้เป็นชี้ตายผู้อื่นโดยไร้การตรวจสอบไม่ได้ มิเช่นนั้นจะเป็นเหมือนศาสนจักร ทุกอาชีพมีทั้งคนดีคนไม่ได้ เราไม่สามารถไว้วางใจตัวคนได้ แต่ว่าเราทำระบบที่ดีได้ ทำให้คนไม่ดีในระบบที่ดีนั้นถูกตรวจสอบได้ และทำให้คนไม่ดีออกไปจากระบบ อย่างน้อยในระยะสั้น ควรมีความผิดฐานบิดเบือนกฎหมายขึ้น หรือบางคดีที่มีการตัดสินโดยเห็นได้ชัดว่าฝ่ากฎเกณฑ์ที่ควรจะเป็น ต้องมีการตรวจสอบโดยองค์กรบริหารศาล น่าเสียดายที่ระบบบริหารงานบุคคลศาลกลายเป็นระบบปิดไปแล้วหลังรัฐธรรมนูญ 2560 ประกาศใช้ ปัจจุบันเป็นระบบ “ดูแลกันเอง” โดยคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) กรณีที่ “คนนอก” ซึ่งไม่ใช่ผู้พิพากษา จะเข้าไปเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ต้องให้ผู้พิพากษาเลือก ซึ่งวรเจตน์แสดงความเห็นถึงการเปลี่ยนแปลงภายในสถาบันศาลว่า การที่ศาลมีระบบปิดมากกว่าเดิมเลยทำให้มาตรา 112 เป็นวิกฤตมากขึ้น

อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์มองว่า วิกฤติ 112 ตอนนี้เป็นวิกฤตของสามอำนาจ คือ วิกฤตจากฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งภาพใหญ่ยังไม่มีปฏิกิริยาต่อเรื่องนี้ ฝ่ายบริหารทั้งกลไกตำรวจ-อัยการ ก็ยังบังคับใช้กฎหมายทำให้กระบวนการไหลไปและพ้นจากองค์กรของตนเอง ฝ่ายตุลาการก็ใช้การตีความอย่างยากที่จะยอมรับได้ 

วรเจตน์ได้ทิ้งท้ายฝากถึงผู้ประกอบวิชาชีพทางด้านกฎหมายว่า ทุกอาชีพมีหลักที่ต้องยึดถือ ต่อให้จะอยู่ในระบบราชการ ก็ยังมีหลักวิชาชีพนักกฎหมายที่ต้องปฏิบัติอยู่ เป็นหลักการที่ผู้ใช้กฎหมาย ใช้กฎหมายอย่างซื่อตรงต่อมโนธรรมสำนึกของตัวและสามารถที่จะตอบคำถามทางกฎหมายได้ “ผมคิดว่านักกฎหมายหลายคนก็รู้ได้ ว่าการกระทำบางอย่างมันไม่ถูก อย่าทำสิ่งที่มันไม่ถูกเพียงเพื่อจะไต่เต้าขึ้นไปในตำแหน่งที่สูงขึ้นในระบบราชการ ขอให้รักษาสิ่งตรงนี้เอาไว้ เพราะมนุษย์ทุกคน เรามีชีวิตอยู่แค่ช่วงเวลาไม่ถึงกระพริบตาเดียวของจักรวาล ทุกสรรพสิ่งถูกกาลเวลากลืนกินหมด… แต่ว่า ตอนที่คุณใช้ชีวิตเป็นนักกฎหมาย อยากจะให้ระลึกถึงหลักเกณฑ์ตรงนี้ไว้บ้าง ตั้งแต่ชั้นตำรวจ พนักงานอัยการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้พิพากษา สามส่วนนี้ จะช่วยบรรเทาวิกฤตผลร้ายที่เกิดขึ้นจากกฎเกณฑ์ 112 ลงได้บ้างในระดับหนึ่ง”