RECAP 112 : ชวนรู้จักคดี “พรชัย” หนุ่มปกาเกอะญอที่เดินทางไกล “ขึ้นเหนือ-ล่องใต้”

ชวนรู้จักกับจำเลยคดีมาตรา 112 คนสำคัญ ที่ชะตาชีวิตของเขาไม่ง่าย ภายใต้ชีวิตที่ต้องสู้ ต้องทำมาหากิน ก็ต้องมาตกเป็นจำเลยคดีที่สำคัญของยุคสมัยแถมเป็นคดี “ทางไกล” ที่สร้างภาระในชีวิตถึงสองคดี ต้องผ่านการเข้าเรือนจำ การอดอาหารประท้วงในเรือนจำ การติดโควิดในเรือนจำ และเส้นทางคดีของเขาข้างหน้ายังอาจมีเรือนจำรออยู่

(1) พรชัย หรือชื่อเล่นที่เขาตั้งให้ตัวเอง คือ มาริโอ้ พื้นเพเป็นชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ เกิดและเติบโตในอำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน เมื่อโตขึ้น พรชัยเดินทางเข้าไปใช้ชีวิตและแสวงหา “อนาคต” ในกรุงเทพมหานคร และใช้ชีวิตในเมืองหลวงเป็นหลักต่อเนื่องมากว่า 20 ปี 

(2) พรชัยเริ่มใช้ชีวิตในเมืองหลวงด้วยสถานะ “คนไร้บ้าน” ที่สถานีรถไฟหัวลำโพง ก่อนจะพยายามหางานเลี้ยงชีพด้วยการสมัครเป็นยาม ตามแต่สถานที่ต่างๆ จะประกาศรับ ต่อมา เขาเริ่มตั้งตัวทำมาค้าขายโทรศัพท์มือถือและซิมการ์ดบริเวณปากคลองตลาด และทำกิจการค้าขายของตัวเองซื้อมาขายไปมาเรื่อยๆ โดยยังไม่ได้มีฐานะทางเศรษฐกิจที่ดีนัก

(3) กระทั่งช่วงเช้าของวันที่ 10 มีนาคม 2564 พรชัยเล่าว่า เวลาประมาณ 7.00 น. ระหว่างเขากำลังจะออกไปทำงาน มีตำรวจนอกเครื่องแบบประมาณ 30 นายเข้าจับกุมที่หน้าคอนโดของเขา โดยเบื้องต้นเขาถูกสอบสวนเกี่ยวกับเหตุการณ์ “เผาพระบรมฉายาลักษณ์” ที่หน้าศาลอาญา แต่พรชัยปฏิเสธว่าไม่เกี่ยวข้อง 

(4) เมื่อตำรวจสอบสวนและดูภาพแล้วก็ไม่ได้ดำเนินคดีกับพรชัยจากเหตุดังกล่าว แต่หลังจากนั้น เขาก็ถูกส่งตัวไปจังหวัดเชียงใหม่ เพราะได้รับแจ้งว่ามีอีกคดีหนึ่งค้างอยู่ที่ สภ.แม่โจ้ โดยเป็นคดีจากการโพสต์เฟซบุ๊ก 4 ครั้ง ด้วยภาพและข้อความเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์และการชุมนุม และในคดีที่เชียงใหม่นี้ เขาถูกควบคุมตัวและศาลก็ให้ฝากขังโดยไม่ให้ประกันตัว ทำให้พรชัยถูกส่งตัวไปที่ “เรือนจำกลางจังหวัดเชียงใหม่” ทันที

(5) คดีที่เชียงใหม่เริ่มต้นขึ้นโดยมี “เจษฎา ทันแก้ว” อดีตการ์ดกลุ่ม กปปส. เป็นผู้เข้าแจ้งความกับ สภ.แม่โจ้ โดยที่ทั้งสองคนไม่รู้จักกันมาก่อน และเจษฎาไม่รู้ว่าพรชัยอาศัยอยู่ที่ใด 

(6) เจษฎากล่าวหาพรชัยว่า เป็นผู้โพสต์ข้อความและรูปภาพพาดพิงกษัตริย์ลงในเฟซบุ๊กรวม 4 โพสต์ ในช่วงเดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายน 2563 รวมเป็นความผิด 4 กรรม ตาม #มาตรา112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ

(7) แต่หลังเข้าเรือนจำได้แค่วันเดียว พรชัยก็ได้รับข่าวร้ายเพิ่ม เมื่อตำรวจจาก สภ.บันนังสตา จังหวัดยะลา เดินทางไกลมาพบเข้าที่เชียงใหม่เพื่อแจ้งข้อกล่าวหาคดีมาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ อีกหนึ่งคดี จากการโพสต์วิดีโอบนเฟซบุ๊ก รวมทั้งโพสต์ภาพและข้อความอื่นๆ รวมแล้วเป็นข้อกล่าวหา 3 กรรม โดยมีวัชรินทร์ นิวัฒน์สวัสดิ์ ภาคีประชาชนปกป้องสถาบันฯ ชาวอำเภอบันนังสตาเป็นผู้ริเริ่มแจ้งความไว้ที่ สภ.บันนังสตา 

(8) ด้วยเหตุนี้ พรชัยจึงถูกดำเนินคดีมาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พร้อมๆ กันถึงสองคดี คดีแรกที่จังหวัดเชียงใหม่ คดีที่สองที่จังหวัดยะลา รวมสองคดีเขามีข้อกล่าวหา 7 กรรม และทั้งสองคดีริเริ่มโดย “คนธรรมดา” ซึ่งไม่เคยรู้จักกันมาก่อน 

(9) ระหว่างที่อยู่ในเรือนจำกลางจังหวัดเชียงใหม่ เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่มีผู้ชุมนุมทางการเมืองถูกคุมขังเป็นจำนวนมาก และคนมีชื่อเสียงอย่าง เพนกวิน พริษฐ์ และรุ้ง ปนัสยา สองนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ประกาศอดอาหารเรียกร้องสิทธิประกันตัว พรชัยเองซึ่งอยู่เรือนจำในเชียงใหม่ก็ประกาศขอ “อดข้าว อดน้ำ” ด้วยเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2564 แต่ภายหลังจากนั้น 4 วัน เขามีอาการปวดท้องอย่างหนัก จึงเลิกการทรมานตัวเอง พรชัยถูกคุมขังที่เรือนจำกลางจังหวัดเชียงใหม่ รวมเป็นเวลา 44 วัน ก่อนศาลจะให้ประกันตัวภายหลัง แต่เนื่องจากพรชัยติดโควิดจากเรือนจำ ทำให้เมื่อถูกปล่อยตัวแล้วยังต้องกักตัวเพิ่มอีก 15 วัน

(10) พรชัยยังคงต้องเดินทางจากกรุงเทพเพื่อไปเข้าร่วมกระบวนการคดีของเขาทั้งที่จังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดยะลาอีกหลายครั้ง โดยคดีที่ศาลจังหวัดยะลาสืบพยานเสร็จแล้ว เขารับว่าคลิปวิดีโอที่ปรากฏภาพของเขานั้น เขาถ่ายวิดีโอตัวเองจริง แต่เนื้อหาที่เขาพูดนั้นเป็นข้อเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ให้อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นสิ่งที่ประชาชนเรียกร้องได้ ไม่เป็นความผิด 

ส่วนอีกสองภาพที่ถูกกล่าวหาว่าโพสต์บนเฟซบุ๊ก พรชัยปฏิเสธว่าไม่ได้โพสต์และไม่มีความเกี่ยวข้องกับข้อความเหล่านั้น โดยศาลจังหวัดยะลานัดฟังคำพิพากษาวันที่ 15 ธันวาคม 2565 ส่วนคดีมาตรา 112 อีกคดีที่ศาลจังหวัดเชียงใหม่ มีนัดสืบพยานในเดือนธันวาคม 2565