เปิดแนวคำพิพากษาและประมวลความคืบหน้า คดีการแสดงออกต่อ “พระบรมฉายาลักษณ์และซุ้มเฉลิมพระเกียรติ”

การเผา – ทำลาย หรือการแสดงออกในรูปแบบอื่นๆ ต่อซุ้มเฉลิมพระเกียรติ เป็นการแสดงออกทางการเมืองรูปแบบหนึ่งที่เกิดขึ้นอยู่เป็นระยะในช่วงการชุมนุมตั้งแต่ปี 2563 จนถึงปี 2564 แม้ว่าก่อนหน้านั้นในยุคคสช. จะมีกรณีที่คล้ายกันเกิดขึ้นอย่างน้อยสองกรณี แต่ก็เป็นเหตุการณ์ที่อาจจะไม่ได้เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ทางการเมืองขณะนั้นโดยตรง และหนึ่งในนั้นมีคดีที่ผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดเป็นคนที่มีอาการป่วยทางจิตที่น่าจะก่อเหตุเพราะอาการป่วย ไม่ได้ทำไปเพราะต้องการแสดงออกทางการเมือง

ในปี 2563 การปราศรัยของทนายอานนท์ นำภา และการออกแถลงการณ์ 10 ข้อเรียกร้องเพื่อการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์โดยแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมเปลี่ยนภูมิทัศน์การเมืองไทยไปอย่างสิ้นเชิง การวิพากษ์วิจารณ์ และเอ่ยพระนามพระมหากษัตริย์อย่างตรงไปตรงมาในที่ชุมนุมกลายเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางและเปิดเผย เท่าที่มีข้อมูลคดีที่มีมูลเหตุจากการแสดงออกโดยตรงต่อพระบรมฉายาลักษณ์ในช่วงปี 2563 น่าจะเกิดขึ้นครั้งแรกในเดือนกันยายน 2563 คือกรณีที่มีคนนำสติกเกอร์เพจเสียดสีการเมือง กู Kult ไปติดคาดพระเนตรของรัชกาลที่สิบบนพระบรมฉายาลักษณ์ซึ่งอยู่ในพื้นที่การชุมนุม จากนั้นในช่วงเดือนตุลาคม 2563 ก็มีการแสดงออกต่อพระบรมฉายาลักษณ์อีกสองกรณีโดยเกิดขึ้นหลังเจ้าหน้าที่ใช้กำลังสลายการชุมนุม โดยเท่าที่มีข้อมูลในปี 2563 ยังไม่มีการแสดงออกด้วยการใช้ไฟเผาทำลาย

สำหรับการใช้ไฟเผาทำลายพระบรมฉายาลักษณ์กรณีแรก มาเกิดขึ้นครั้งแรกในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 โดยเป็นการประท้วงต่อต้านการคุมขังจำเลยคดีมาตรา 112 ระหว่างการพิจารณาคดี ในการชุมนุมแต่ละครั้งหลังจากนั้น เมื่อเจ้าหน้าที่ใช้กำลังสลายการชุมนุมด้วยวิธีการรุนแรงขึ้น การแสดงออกด้วยการเผาทำลายพระบรมฉายาลักษณ์ก็เพิ่มมากขึ้นเป็นเงาตามตัว โดยนับจากปี 2563 – 2564 มีคดีมาตรา 112 และข้อหาอื่นที่เกี่ยวข้องกับการเผา ทำลาย หรือแสดงออกโดยตรงต่อพระบรมฉายาลักษณ์หรือซุ้มเฉลิมพระเกียรติอย่างน้อย 17 คดี 

ล่วงมาถึงปี 2565 ศาลทยอยมีคำพิพากษาคดีเหล่านี้ไปแล้วบางส่วน ได้แก่คดีเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติที่จังหวัดขอนแก่น และคดีติดสติกเกอร์ กู Kult คาดทับพระบรมฉายาลักษณ์ ขณะเดียวกันก็มีคดีที่ศาลสืบพยานเสร็จแล้ว และมีนัดวันฟังคำพิพากษาแล้วในช่วงปลายปี 2565 ต่อต้นปี 2566 เช่น คดีติดป้ายที่ทิ้งขยะบนพระบรมฉายาลักษณ์ที่หน้าศาลฎีกา คดีปลดภาพพระบรมฉายาลักษณ์ที่จังหวัดลำปาง และคดีวางเพลิงพระบรมฉายาลักษณ์ที่ถนนราชดำเนินระหว่างการชุมนุมของกลุ่มเยาวชนปลดแอกในเดือนกรกฎาคม 2564

1.คดีที่ศาลมีคำพิพากษาแล้ว

คดีติดสติกเกอร์ ‘กูKult’:  ศาลชี้การกระทำของจำเลยเป็นการแสดงตนให้ยิ่งใหญ่เหนือพระมหากษัตริย์

นรินทร์เข้าร่วมการชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร ที่สนามหลวงเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2563 ระหว่างนั้นมีคนนำสติกเกอร์ ‘กูKult’ ไปติดบนพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่สิบบริเวณหน้าศาลฎีกาในลักษณะเอาสติกเกอร์ปิดคาดทับพระเนตร จากการสอบถามนรินทร์ระบุว่าในวันที่ 20 กันยายน 2563 ระหว่างที่เขากำลังเดินทางกลับบ้านจากพื้นที่การชุมนุมทางตรอกข้าวสาร มีคนเข้ามาล้อมอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาขอดูหน้าตาและจดชื่อที่อยู่เขาไปโดยที่ไม่ได้แจ้งว่าเขาทำความผิดอะไร

นรินทร์ถูกออกหมายเรียกไปรับทราบข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ในเดือนธันวาคม 2563 โดยถูกกล่าวหาว่าเป็นคนติดสติ๊กเกอร์ดังกล่าว นรินทร์ให้การปฏิเสธและพนักงานสอบสวนปล่อยตัวเขาโดยไม่ขออำนาจศาลฝากขัง คดีสืบพยานไปในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ และมีนาคม 2565 

การสู้คดีของนรินทร์เต็มไปด้วยข้อจำกัด ตั้งแต่ก่อนการพิจารณาคดีศาลถามนรินทร์ว่าเขายังยืนยันให้การปฏิเสธหรือไม่ พร้อมแจ้งว่าหากยืนยันจะต่อสู้คดีเมื่อสืบพยานไปแล้วหากศาลเห็นว่ามีความผิดก็อาจไม่ได้รับการลดหย่อนโทษ ศาลยังแนะนำนรินทร์ด้วยว่าการต่อสู้คดีต้องตัดสินใจด้วยตัวเองให้ดี เพราะหากตัดสินใจตามเพื่อนหรือตามทนายแล้วถูกลงโทษตัวเขาคือผู้ถูกลงโทษ

ศาลยังตัดการสืบพยานผู้เชี่ยวชาญของคู่ความทั้งสองฝ่ายด้วย ฝ่ายโจทก์ศาลให้ตัดพยานที่จะให้ความเห็นเรื่องความหมายของสติกเกอร์เพราะเห็นว่าลำพังการนำสติกเกอร์ไปติดสถานที่ที่ไม่เหมาะสมก็เป็นความผิดอยู่แล้ว ในส่วนของฝ่ายจำเลย เมื่อทนายความกับนรินทร์หารือกับศาลว่า นรินทร์จะรับข้อเท็จจริงว่าเขาเป็นคนติดสติกเกอร์ แต่จะต่อสู้ว่าการกระทำดังกล่าวไม่ใช่การหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ โดยจะนำพยานผู้เชี่ยวชาญมากเบิกความแทนเพื่อต่อสู้ในประเด็นเจตนา ศาลได้ไปปรึกษาผู้บริหารศาลก่อนกลับมาแจ้งมาหากจำเลยจะต่อสู้คดีในแนวทางดังกล่าวศาลจะงดการสืบพยานทั้งหมดแล้วให้จำเลยทำคำแถลงปิดคดีส่งแทน ท้ายที่สุดศาลสั่งให้ตัดพยานผู้เชี่ยวชาญที่จะมาให้ความเห็นของคู่ความทั้งสองฝ่าย และในการถามค้านพยานโจทก์เมื่อทนายความจะถามคำถามเทียบเคียงกรณีอื่นๆ เช่น การนำพระบรมฉายาลักษณ์ที่อยู่บนปฏิทินไปทิ้ง การขยำหรือการเยียบพระบรมฉายาลักษณ์ศาลก็ไม่ให้ถามและจดบันทึกคำพยานในประเด็นดังกล่าว โดยให้เหตุผลว่า เป็นคนละกรณีกับการติดสติกเกอร์ในที่ที่ไม่ควรติด เมื่อเห็นว่าไม่สามารถสู้คดีอย่างเต็มที่นริทร์ก็ตัดสินใจแถลงว่าจะไม่สืบพยานจำเลย 

หลังการสืบพยานแล้วเสร็จในวันที่ 1 มีนาคม 2565 ศาลอาญาก็นัดนรินทร์ฟังคำพิพากษาในวันที่ 4 มีนาคมหรือเพียงสามวันหลังการสืบพยานแล้วเสร็จ ทั้งที่โดยปกติศาลมักใช้เวลาประมาณหนึ่งเดือนในการทำคำพิพากษา หรือบางกรณีอาจนานกว่านั้นเพราะศาลจะต้องส่งคำพิพากษาไปให้ผู้บริหารศาลหรืออธิบดีระดับภาคตรวจทานโดยศาลมีคำพิพากษาว่า นรินทร์มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ลงโทษจำคุกสามปี แต่เนื่องจากนรินทร์เคยไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนจากกรณีที่ถูกเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบติดตามตัวในวันที่ 20 กันยายน 2563 และข้อมูลที่ให้การไว้กับตำรวจมีประโยชน์ต่อการพิจารณาคดีอยู่บ้าง จึงลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุกสองปี ศาลให้เหตุผลที่การกระทำของนรินทร์เป็นความผิดว่า การนำสติกเกอร์ไปติดคาดดวงพระเนตรเป็นการแสดงตนให้ยิ่งใหญ่เหนือกว่าพระมหากษัตริย์ แม้จะกระทำต่อพระบรมสาทิสลักษณ์ก็เป็นการดูหมิ่นต่อองค์พระมหากษัตริย์ จึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 

• ดูรายละเอียดคดีของนรินทร์ >>> https://freedom.ilaw.or.th/th/case/923

• ดูข้อจำกัดในการต่อสู้คดีของนรินทร์ >>> https://freedom.ilaw.or.th/node/1031

สามคดีเผาซุ้มที่ขอนแก่น ไร้ข้อหามาตรา 112 ศาลตัดสินผิดวางเพลิงทำรายทรัพย์สิน แต่ให้รอลงโทษ

ในปี 2564 มีกรณีเผาทำลายซุ้มเฉลิมพระเกียรติเกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดขอนแก่นอย่างน้อยสามกรณี กรณีแรกเป็นการเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติบริเวณถนนบายพาส ตำบลศิลา จังหวัดขอนแก่น เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2564 หลังกรณีเผาภาพพระบรมฉายาลักษณ์ที่หน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 กรณีสองเป็นการเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติที่หน้าโรงพยาบาลศรีนครินทร์เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2564  และกรณีที่สามเป็นการเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติที่หน้าวิทยาลัยเทคนิคขอนแก่นเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2564 โดยช่วงเวลาที่เกิดเหตุกรณีที่สองและสามเป็นช่วงที่การชุมนุมที่แยกดินแดงกำลังเข้มข้นและเจ้าหน้าที่มีการตอบโต้ผู้ชุมนุมด้วยวิธีการที่รุนแรง 

อิศเรษฐ์ นักกิจกรรมและพ่อค้าขายพวงมาลัยชาวจังหวัดขอนแก่นถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ก่อเหตุในคดีที่หนึ่งและถูกออกหมายจับในเดือนพฤศจิกายน 2564 เมื่อทราบว่าถูกออกหมายจับเขาได้ประสานตำรวจเข้ามอบตัวเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ พนักงานสอบสวนไม่ได้แจ้งข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 กับอิศเรษฐ์แต่แจ้งข้อกล่าวหากระทําความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์และวางเพลิงเผาทรัพย์ อิศเรษฐ์ให้การปฏิเสธกับพนักงานสอบสวน และเขาได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวในชั้นสอบสวนโดยต้องโดยวางเงินประกัน 35,000 บาท เมื่อคดีมาถึงชั้นศาลอิศเรษฐ์ตัดสินใจเปลี่ยนคำให้การจากปฏิเสธเป็นรับสารภาพ   

“เจมส์” และ “บอส” นักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่นถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ก่อเหตุในกรณีที่สอง ทั้งสองถูกตำรวจบุกจับกุมตัวที่ห้องพักในวันที่ 17 กันยายน 2564 หรือสี่วันหลังวันเกิดเหตุ ทั้งสองให้การปฏิเสธในชั้นสอบสวนและได้รับอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวโดยไม่ต้องวางหลักทรัพย์โดยศาลแต่งตั้งให้คณบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษาและศิษย์เก่าสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นผู้กำกับดูแลผู้ต้องหาทั้งสอง ในกรณีนี้ตำรวจจังหวัดขอนแก่นก็ไม่ได้มีการแจ้งข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 กับผู้ต้องหา และเมื่ออัยการฟ้องคดีต่อศาลก็ไม่ได้มีการฟ้องด้วยมาตรา 112 เช่นกัน เมื่อคดีมาถึงชั้นศาล ทั้ง “เจมส์” และ “บอส” เปลี่ยนคำให้การเป็นรับสารภาพ 

“เทพ” นักศึกษาวิทยาลัยเทคนิคขอนแก่นถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ก่อเหตุในกรณีที่สาม เทพไม่ได้ถูกตำรวจควบคุมตัวโดยตรงแต่ทราบว่าตัวเองตกเป็นเป้าหมายเมื่อมีตำรวจบุกไปค้นห้องพักของ “มินท์” เพื่อนสนิทของเขาระหว่างที่ “มินท์” ไม่อยู่ที่ห้อง ขณะเดียวกันก็มีบุคคลแปลกหน้าทักเทพมาทางเฟซบุ๊กแมสเซนเจอร์ว่าให้เขาหลบหนีไป เทพจึงตัดสินใจประสานทนายจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนให้พาไปพบตำรวจเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจ ในชั้นสอบสวน “เทพ” ถูกฝากขังโดยพนักงานสอบสวนคัดค้านการประกันตัว แต่ศาลก็อนุญาตให้ปล่อยตัวเขาโดยวางหลักประกัน 35,000 บาท ในกรณีของ “เทพ” ไม่มีการตั้งข้อกล่าวหาด้วยมาตรา 112 ตั้งแต่ชั้นสอบสวน มีเพียงการตั้งข้อกล่าวหาวางเพลิงเผาทรัพย์ผู้อื่นและข้อหาทำลายทรัพย์สิน ในชั้นสอบสวน “เทพ” ให้การปฏิเสธ แต่ต่อมาก็เปลี่ยนมาให้การรับสารภาพในชั้นศาล 

• ทั้งสามคดีศาลจังหวัดขอนแก่นนัดฟังคำพิพากษาพร้อมกันเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2565 

คดีของอิศเรษฐ์ ศาลพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดฐานวางเพลิงเผาทรัพย์ผู้อื่นและฐานทำลายทรัพย์สินสาธารณะ แต่เนื่องจากจำเลยไม่เคยต้องโทษจำคุก และจำเลยแสดงรู้สึกผิดต่อการกระทำดังกล่าวด้วยการชดใช้ค่าเสียหายกับเจ้าของทรัพย์ จึงให้รอการกำหนดโทษไว้สองปี ให้รายตัวกับพนักงานคุมประพฤติตามกำหนดและบำเพ็ญประโยชน์เป็นเวลา 24 ชั่วโมง

คดีของ “เจมส์” และ “บอส” ศาลพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดฐานวางเพลิงเผาทรัพย์ผู้อื่น แต่เนื่องจากจำเลยทั้งสองไม่เคยต้องโทษจำคุก และจำเลยแสดงรู้สึกผิดต่อการกระทำดังกล่าวด้วยการชดใช้ค่าเสียหายกับเจ้าของทรัพย์ จึงให้รอการกำหนดโทษไว้สองปี ให้รายตัวกับพนักงานคุมประพฤติตามกำหนดและบำเพ็ญประโยชน์เป็นเวลา 24 ชั่วโมง     

ส่วนคดีของ “เทพ” ตัวจำเลยแถลงขอให้ศาลเลื่อนนัดฟังคำพิพากษาออกไปก่อนเนื่องจากเขายังชำระค่าเสียหายให้เจ้าของทรัพย์ไม่ครบ จึงต้องขอเวลาเพิ่มเติมอีกสามเดือนเพื่อดำเนินการ ซึ่งผู้เสียหายไม่ได้แถลงคัดค้าน ศาลจึงอนุญาตให้เลื่อนนัดฟังคำพิพากษาออกไป จากนั้นในวันที่ 31 สิงหาคม 2565 ศาลจึงนัดอ่านคำพิพากษาคดีของเทพ โดยพิพากษาว่า “เทพ” มีความผิดฐานวางเพลิงเผาทรัพย์ผู้อื่น แต่เนื่องจาก “เทพ” ไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อนและแสดงความรู้สึกผิดต่อการกระทำรวมถึงได้ชดใช้ค่าเสียหายกับเจ้าของทรัพย์จนครบถ้วนแล้ว  จึงให้รอการกำหนดโทษไว้สองปี ให้รายตัวกับพนักงานคุมประพฤติตามกำหนดและบำเพ็ญประโยชน์เป็นเวลา 24 ชั่วโมง

• ในคดีทั้งสามคดีศาลยังให้เหตุผลในการรอการกำหนดโทษจำเลยทั้งสามคดีในทำนองเดียวกันด้วยว่า จำเลยอยู่ในวิสัยที่จะปรับปรุงแก้ไขความประพฤติ จึงให้โอกาสจำเลยกลับตัวเป็นพลเมืองดี 

ก่อนหน้านี้ในช่วงปี 2560 เกิดกรณีการเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติในอำเภอพล จังหวัดขอนแก่น ซึ่งผู้ต้องหาวัยรุ่นหกคนที่ร่วมกันก่อเหตุเคยถูกตั้งข้อกล่าวหาด้วยประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยทั้งหกกระทำความผิดฐานดังกล่าว แต่ในชั้นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาคสี่แก้คำพิพากษาว่าจำเลยไม่ได้มีเจตนาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ เพียงแต่มีเจตนาสร้างความเสียหายกับทรัพย์สินจึงยกฟ้องในส่วนของประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 แต่ลงโทษในส่วนของการวางเพลิงเผาทรัพย์เท่านั้น        

2.คดีที่ศาลพิจารณาแล้วเสร็จ รอคำพิพากษา

คดีปลดภาพพระบรมฉายาลักษณ์ที่ธรรมศาสตร์ ลำปาง นัดพิพากษา 20 ธ.ค.65

ในวันที่ 17 ตุลาคม 2563 กลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ลำปางจัดการชุมนุมที่ถนนทางเข้าหน้าหอพักนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง เพื่อประท้วงการใช้กำลังสลายการชุมนุมที่แยกปทุมวันเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2563 มีนักศึกษาและประชาชนเข้าร่วมการชุมนุมประมาณ 300 คน ในเวลาไล่เลี่ยกับที่มีการจัดการชุมนุมปรากฎว่ามีกลุ่มบุคคลปลดพระบรมฉายาลักษณ์ที่ติดตั้งอยู่บริเวณทางเข้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ลำปางออกจนทำให้ได้รับความเสียหายขาดเป็นสี่ชิ้น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ออกแถลงการณ์เกี่ยวกับกรณีดังกล่าวตอนหนึ่งว่า

“ตามที่ปรากฏเหตุการณ์จากการนัดประชุมแฟลชม็อบของนักศึกษาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง เมื่อช่วงค่ำวันที่ 17 ตุลาคมที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขอแสดงความเสียใจอย่างยิ่งต่อทุกภาคส่วนในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้เกิดความกังวล และไม่สบายใจ

“เหตุการณ์นี้เป็นเหตุการณ์ไม่ควรเกิดขึ้น และเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสม มหาวิทยาลัยจะดำเนินการป้องกันไม่ให้เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นอีก”

ในเวลาต่อมา “ไลลา” นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กับนักศึกษาอีกหนึ่งคนถูกเรียกไปพบผู้บริหาร เมื่อไปถึงปรากฎว่ามีเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองและตำรวจอยู่ในห้องประชุมด้วย เบื้องต้นตำรวจแจ้งข้อกล่าวหากับนักศึกษาทั้งสองคนว่าทำความผิดฐานทำลายทรัพย์สินสาธารณะ แต่ยังไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหามาตรา 112 ต่อมาในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 พนักงานสอบสวน สภ.ห้างฉัตรออกหมายเรียกให้ ไลลากับนักศึกษาอีกคนหนึ่งไปรับทราบข้อกล่าวหามาตรา 112 เพิ่มเติม อัยการมีความเห็นสั่งฟ้องคดีนี้ต่อศาลจังหวัดลำปางตั้งแต่เดือนเมษายน 2564 แต่เนื่องจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ศาลจึงเลื่อนนัดสอบคำให้การคดีนี้ออกไปเป็นวันที่ 16 ธันวาคม 2564 ในเวลาต่อมาจำเลยอีกคนหนึ่งตัดสินใจเปลี่ยนคำให้การเป็นรับสารภาพจึงมีการแยกสำนวนคดีออกไปโดยไม่มีข้อมูลว่าศาลมีคำพิพากษาในคดีดังกล่าวแล้วหรือไม่และพิพากษาว่าอะไร  

ในส่วนของ ไลลาซึ่งยืนยันให้การปฏิเสธ มีการสืบพยานนัดสุดท้ายไปเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2565 ไลลาเบิกความโดยสรุปได้ว่า ในวันเกิดเหตุเธอร่วมการชุมนุมและขึ้นปราศรัยที่หน้าหอพักนักศึกษาภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ลำปาง เพื่อแสดงความไม่เห็นด้วยต่อการสลายการชุมนุมที่กรุงเทพในวันที่ 16 ตุลาคม 2563 ต่อมาเมื่อกลุ่มผู้ชุมนุมเคลื่อนขบวนไปที่หน้ามหาวิทยาลัยตัวเธอได้ติดตามไปด้วย เมื่อไปถึงก็พบว่ามีคนกลุ่มหนึ่งกำลังปลดภาพพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่สิบลงมา เธอจึงเข้าไปเก็บพระบรมฉายาลักษณ์กับนักศึกษาอีกกลุ่มหนึ่งเพื่อไม่ให้เกิดเหตุบานปลายหรือมีการทำลายพระบรมฉายาลักษณ์ ทั้งยังแจ้งเหตุไปยังผู้บริหารมหาวิทยาลัยและต่อมาทางอาจารย์ก็ได้แจ้งให้นำพระบรมฉายาลักษณ์ไปเก็บไว้ในอาคารเรียนรวมชั้นห้าซึ่งเป็นที่ทำการของผู้บริหารคนที่เธอโทรไปแจ้งเหตุ ไลลายังเบิกความด้วยว่าเธอไม่เคยรู้จักกับคู่คดีอีกคนที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ทำการปลดภาพพระบรมฉายาลักษณ์มาก่อน ขณะที่ รศ.ภูมินทร์ บุตรอินทร์ ซึ่งเป็นผู้บริหารที่ ไลลาอ้างถึงมาเบิกความเป็นพยานจำเลยโดยสรุปได้ว่าในวันเกิดเหตุ ไลลาได้โทรมาแจ้งเหตุกับตัวเขาจริงและตัวเขาเป็นคนประสานกับไลลาให้นำภาพไปเก็บ ในเวลาต่อมาผู้ว่าราชการจังหวัดลำปางขอให้ไลลาขอขมาต่อพระบรมฉายาลักษณ์ แต่ไลลาปฏิเสธเพราะเห็นว่าตัวเองไม่ได้เป็นผู้ปลดภาพพระบรมฉายาลักษณ์ลงมา    

หลังการสืบพยานในวันที่ 12 ตุลาคม 2565 แล้วเสร็จฝ่ายจำเลยแถลงว่าหมดพยานที่จะนำเข้าเบิกความ ศาลจังนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 20 ธันวาคม 2565 

• ดูรายละเอียดคดีของ “ไลลา” >>> https://freedom.ilaw.or.th/th/case/934

คดีติดกระดาษ “ที่ทิ้งขยะ สิ่งปฏิกูล” บนพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่สิบ ศาลอาญารอศาลรัฐธรรมนูญตีความความชอบด้วยกฎหมายมาตรา 112 

ในวันที่ 22 มีนาคม 2564 เจ้าหน้าที่ตำรวจนำหมายจับศาลอาญาเข้าจับกุมชูเกียรติหรือ “จัสติน” นักกิจกรรมชาวจังหวัดสมุทรปราการที่บ้าน ก่อนที่จะมีการเปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับการกระทำตามข้อกล่าวหาว่า ในวันที่ 20 มีนาคม 2564 ซึ่งกลุ่ม REDEM นัดชุมนุมที่สนามหลวง ชูเกียรติซึ่งเข้าร่วมชุมนุมด้วยนำกระดาษเขียนข้อความว่า “ที่ทิ้งขยะ” ไปติดบนพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่สิบนอกรั้วศาลฎีกาซึ่งเป็นพื้นที่การชุมนุม

หลังถูกจับกุมชูเกียรติถูกฝากขังในคดีนี้ตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคม 2564 จนถึงวันที่ 2 มิถุนายน 2564 จึงได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว อัยการยื่นฟ้องชูเกียรติในวันที่ 14 มิถุนายน 2564 ชูเกียรติให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาพร้อมทั้งปฏิเสธว่าเขาไม่ได้เป็นผู้เขียนและนำกระดาษดังกล่าวไปติดที่พระบรมฉายาลักษณ์ ศาลเริ่มสืบพยานคดีนี้ในเดือนมีนาคม 2565 และสืบพยานแล้วเสร็จในวันที่ 27 กันยายน 2565 โดยเป็นการสืบพยานโจทก์เพียงฝ่ายเดียว ส่วนฝ่ายจำเลยไม่ได้นำพยานเข้าเบิกความ แม้ว่าคดีนี้ข้อกล่าวหาหลักที่มีโทษสูงสุดจะเป็นข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 แต่ก็มีการแจ้งข้อกล่าวหาอื่นเพิ่มเติมกับจำเลยทั้งความผิดฐานยุยงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ความผิดฐานฝ่าฝืนข้อกำหนดห้ามชุมนุมตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าหน้าที่ และความผิดฐานทำร้ายเจ้าพนักงาน โดยที่ในการสืบพยานโจทก์ ไม่มีพยานปากใดที่สามารถยืนยันได้ว่าตัวเองถูกชูเกียรติทำร้ายร่างกาย หรือมีพยานคนใดยืนยันได้ว่าชูเกียรติเป็นผู้จัดการชุมนุมหรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่ม REDEM ซึ่งเป็นกลุ่มที่นัดหมายการชุมนุมครั้งดังกล่าว ในส่วนของความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ชูเกียรติให้การปฏิเสธตั้งแต่ชั้นสอบสวนว่าไม่ได้เป็นผู้กระทำการดังกล่าว แต่ประสงค์จะเบิกความในชั้นศาล

ในนัดสุดท้ายของการสืบพยานชูเกียรติยื่นคำร้องขอให้ศาลอาญาส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความเรื่องความชอบด้วยกฎหมายของประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่ถูกเพิ่มโทษโดยประกาศคณะปฏิรูปการปกครอง ซึ่งเป็นคณะทหารที่ทำการยึดอำนาจในช่วงค่ำวันที่ 6 ตุลาคม 2519 หลังการสังหารผู้ชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในช่วงเช้าวันเดียวกัน โดยสาระสำคัญของคำร้องมีอยู่สามประเด็น

1. คำสั่งคณะปฏิรูปฯ ฉบับที่ 41 ไม่มีสถานะเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอีกแล้ว เนื่องจากคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินสิ้นสภาพลงแล้ว และรัฐธรรมนูญ 2519 ที่ให้การรับรองคำสั่งคณะปฏิรูปฉบับที่ 41 ไว้ในมาตรา 29 ก็ถูกยกเลิกไปแล้ว และรัฐธรรมนูญฉบับต่อๆ มาตั้งแต่รัฐธรรมนูญชั่วคราว ฉบับปี 2520 จนถึงรัฐธรรมนูญ 2560 ที่บังคับใช้อยู่ในขณะเกิดเหตุคดีนี้ก็ไม่ได้รับรองสถานะคำสั่งคณะปฏิรูปฉบับที่ 41 ไว้

2.คำสั่งคณะปฏิรูปฯ ฉบับที่ 41 เป็นคำสั่งที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ 2560 เนื่องจาก มาตรา 3 กำหนดว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย และอำนาจในการตรากฎหมายเป็นของรัฐสภา คณะปฏิรูปฯ หรือคณะรัฐประหารจึงไม่ใช่องค์กรที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้ใช้อำนาจนิติบัญญัติออกกฎหมายจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลได้ และ

3.คำสั่งคณะปฏิรูปฯ ฉบับที่ 41 เป็นคำสั่งที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ 2560  เนื่องจากมีสาระสำคัญเป็นการเพิ่มโทษทางอาญาของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ให้สูงขึ้น เป็นมาตรการทางกฎหมายที่ใช้ในการจำกัดเสรีภาพในแสดงความคิดของบุคคล สร้างภาระต่อสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุ ด้วยเหตุผลสองประการ

ประการแรกการเพิ่มโทษของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เป็นการมาตรการทางกฎหมายที่มุ่งจำกัดเสรีภาพของประชาชนเจ้าของประเทศในการแสดงความคิดเห็นต่อประมุขของรัฐ ซึ่งมีสถานะเป็นองค์กรของรัฐอย่างหนึ่งเกินความจำเป็นหรือเกินสมควรแก่เหตุ เพราะแม้แต่อัตราโทษของกฎหมายที่ใช้คุ้มครองชื่อเสียงประมุขแห่งรัฐในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ยังต่ำกว่าโทษตามคำสั่งคณะปฏิรูปฯ ฉบับที่ 41 

ประการที่สอง ประเทศไทยปกครองในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งยึดถือ “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” และ “สิทธิเสรีภาพ” เป็นคุณค่าสูงสุด แต่คำสั่งคณะปฏิรูปฯ ฉบับที่ 41 กลับมุ่งคุ้มครองคุณค่าของสิทธิในชื่อเสียงและสถานะอันล่วงละเมิดมิได้พระมหากษัตริย์มากกว่าการคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น อันจะเห็นได้จากการเพิ่มอัตราโทษที่สูงเกินจำเป็นและไม่ชอบด้วยเหตุผล

คดีของชูเกียรติในขณะนี้ยังไม่มีวันนัดฟังคำพิพากษา โดยศาลจะกำหนดวันนัดเมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยในประเด็นที่ชูเกียรติขอให้ศาลมีคำวินิจฉัย หากศาลเห็นว่าคำสั่งคณะปฏิรูปฯ ที่ใช้เพิ่มอัตราโทษของประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ชอบด้วยกฎหมาย ศาลอาญาก็จะทำคำพิพากษาไปตามปกติ แต่หากศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ด้วยคำสั่งคณะปฏิรูปฉบับที่ 41 ขัดหรือแย้งรัฐธรรมนูญ 2560 ศาลอาญาจะต้องตัดสินคดีของชูเกียรติรวมถึงคดีมาตรา 112 คดีอื่นๆ ด้วยกฎหมายที่บังคับใช้อยู่ก่อนการออกคำสั่งดังกล่าว ซึ่งในเวลานั้นประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 มีอัตราโทษจำคุกสูงสุดเจ็ดปี

• ดูรายละเอียดคดีของชูเกียรติ >>> https://freedom.ilaw.or.th/th/case/953

• ดูประเด็นการยื่นศาลรัฐธรมนูญตีความ ความชอบด้วยกฎหมายของมาตรา 112 ของชูเกียรติ >>> https://web.facebook.com/iLawClub/photos/10166993411550551 

คดีเผาพระบรมฉายาลักษณ์ใกล้แยกนางเลิ้ง นัดพิพากษา 17 ม.ค.66

ระหว่างการชุมนุม “ทวงคืนประเทศไทย ขับไล่ปรสิต” ซึ่งกลุ่มเยาวชนปลดแอกเป็นผู้นัดหมายในวันที่ 18 กรกฎาคม 2564 เกิดเหตุเพลิง ลุกไหม้พระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่สิบซึ่งติดตั้งอยู่บนถนนราชดำเนินนอกใกล้เคียงกับพื้นที่การชุมนุม หนึ่งวันหลังเกิดเหตุตำรวจนำกำลังพร้อมหมายจับไปที่บ้านพักของสิทธิโชค ผู้ประกอบอาชีพขับรถจักรยานยนต์รับส่งอาหาร หลักฐานที่เจ้าหน้าที่นำมาใช้ดำเนินคดีสิทธิโชค ได้แก่ภาพเคลื่อนไหวที่ปรากฎบุคคลคล้ายสิทธิโชคอยู่ในบริเวณที่เกิดเหตุเพลิงลุกไหม้ซุ้มเฉลิมพระเกียรติ โดยที่ภาพตามคลิปวิดีโอหลักฐานยังปรากฎภาพขณะชายที่คล้ายสิทธิโชคกำลังเทของเหลวบางอย่างจากขวดใส่บริเวณซุ้มเฉลิมพระเกียรติหลังจากนั้นก็มีเปลวไฟลุกขึ้น

• คดีของสิทธิโชคมีการสืบพยานในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2565 จนแล้วเสร็จและศาลนัดฟังคำพิพากษาวันที่ 17 มกราคม 2566

3.คดีที่รอนัดสืบพยาน

คดีหนุ่มเมืองนนท์ปลดพระบรมฉายาลักษณ์ ศาลจังหวัดนนท์สืบพยานแบบปิดลับ

คืนวันที่ 8 สิงหาคม 2564 เกิดเหตุบุคคลปลดภาพพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่สิบซึ่งติดตั้งอยู่ที่หน้าหมู่บ้านประชาชื่นออกไป จากนั้นภาพดังกล่าวถูกนำทิ้งที่คลองบางตลาด ต่อมาในวันที่ 10 สิงหาคม 2565 ตำรวจนำกำลังไปจับกุมศิระพัทธ์ ชาวจังหวัดนนทบุรี โดยแจ้งข้อกล่าวลักทรัพย์ในเวลากลางคืนและออกนอกเคหสถานหลังเวลาเคอร์ฟิวส์ หลังการจับกุมตัวตำรวจนำตัวศิระพัทธ์ไปฝากขังที่ศาลจังหวัดนนทบุรี เบื้องต้นศาลอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวโดยต้องวางหลักทรัพย์ 100,000 บาท ต่อมาในวันที่ 30 สิงหาคม 2565 ศิระพัทธ์ต้องเดินทางไปพบพนักงานสอบสวนเพื่อรับทราบข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เพิ่มเติม พนักงานสอบสวนระบุพฤติการณ์ตามข้อกล่าวหา จำเลยปีนขึ้นไปแกะพระบรมฉายาลักษณ์พร้อมกรอบลงมา จากนั้นนำพระบรมฉายาลักษณ์คว่ำลงกับพื้นก่อนจะเดินลากไปประมาณ 190  เมตร ซึ่งโดยปกติพระบรมฉายาลักษณ์จะต้องประดิษฐานไว้ในที่ที่เหมาะสมเพราะเป็นเสมือนตัวแทนองค์พระมหากษัตริย์  การกระทำของศิระพัทธ์จึงเป็นการกระทำที่แสดงออกถึงการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น แก่องค์พระมหากษัตริย์ คดีนี้ศาลจังหวัดนนทบุรีสืบพยานโดยพิจารณาคดีลับในเดือนพฤศจิกายน 2565 ยังไม่มีข้อมูลว่าศาลนัดฟังคำพิพากษาวันใด 

คดีเผาพระบรมฉายาลักษณ์ที่หน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพ เลื่อนไปสืบพยานต้นปี 66

เท่าที่มีข้อมูลคดีนี้นับเป็นคดีเผาทำลายพระบรมฉายาลักษณ์คดีแรกที่เกิดขึ้นในปี 2564 วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 เวลากลางคืน เกิดเหตุเพลิงไหม้พระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่สิบซึ่งติดตั้งอยู่ที่หน้าเรือนจำกลางคลองเปรม และคลิปวิดีโอเหตุเพลิงไหม้ดังกล่าวถูกเผยแพร่บนอินเทอร์เน็ตบนเฟซบุ๊กเพจ The Bottom Blues หลังเกิดเหตุดังกล่าวตำรวจรวบรวมพยานหลักฐานก่อนขอศาลอนุมัติหมายจับไชยอมร แก้ววิบูลพันธ์ หรือแอมมี่ จากนั้นในช่วงดึกวันที่ 3 มีนาคม 2564 เจ้าหน้าที่จึงนำกำลังเข้าจับกุมไชยอมรจากที่พักแห่งหนึ่งในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ไชยอมรถูกฝากขังในชั้นสอบสวนตั้งแต่วันที่ 4 มีนาคม 2564 โดยศาลอาญาไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว กระทั่งไชยอมรแถลงยอมรับเงื่อนไขว่าจะไม่เข้าร่วมกิจกรรมที่ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และไม่เข้าร่วมการชุมนุมที่อาจก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ศาลจึงอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวในวันที่ 11 พฤษภาคม 2564 นอกจากไชยอมรแล้ว ในคดีนี้เจ้าหน้าที่ยังดำเนินคดีกับธนพัฒน์ หรือ ปูน ทะลุฟ้า ซึ่งขณะเกิดเหตุอายุ 18 ปี ด้วย โดยธนพัฒน์ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างการพิจารณาคดี

ในที่สุดอัยการฟ้องคดีนี้ คือฟ้องคดีต่อไชยอมรเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2564 และฟ้องคดีต่อธนพัฒน์ในวันที่ 2 มิถุนายน 2564 แต่คดีของทั้งสองคนถูกรวมเข้าด้วยกัน โดยอัยการบรรยายฟ้องคดีนี้ไว้โดยสรุปได้ว่า พระบรมฉายาลักษณ์ที่ถูกทำลาย เรือนจำกลางคลองเปรมจัดทำขึ้นพื่อแสดงความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นที่เคารพสักการะของปวงชนชาวไทย การกระทําของจําเลยกับพวก เป็นการแสดงออกว่าจะทําให้เสียหายในทางใดๆ ไม่ว่าจะเป็นภยันตรายแก่ร่างกาย ทรัพย์สิน สิทธิ เสรีภาพหรือชื่อเสียงเกียรติคุณ ไม่ใช่การใช้สิทธิตามปกตินิยม เป็นการแสดงอาฆาตมาดร้าย ดูหมิ่น พระมหากษัตริย์ ทําให้พระมหากษัตริย์รัชกาลที่สิบทรงเสื่อมเสียพระเกียรติ และมีเจตนาทําลายสถาบันพระมหากษัตริย์ เดิมทีศาลอาญากำหนดวันนัดสืบพยานในช่วงเดือนมีนาคม 2565  แต่ไชยอมรติดเชื้อโควิด-19 จึงต้องเลื่อนนัดสืบพยานออกไป โดยคู่ความนัดสืบพยานใหม่เป็นวันที่ 23 – 24, 28 กุมภาพันธ์ และ 1 – 2 มีนาคม 2566 

• ดูรายละเอียดคดีไชยอมร เผาพระบรมฉายาลักษณ์ >>> https://freedom.ilaw.or.th/th/case/935

คดีปาระเบิดโมโลตอฟใส่ซุ้มเฉลิมพระเกียรติที่แยกนางเลิ้ง นัดสืบพยาน มี.ค.67

วันที่ 19 กันยายน 2564 “บัง” ทะลุฟ้า นักกิจกรรมวัย 22 ปี เข้าร่วมกิจกรรมคาร์ม็อบที่นัดหมายเคลื่อนขบวนจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไปทำเนียบรัฐบาล โดยบังขี่รถจักรยานยนต์ไปจอดที่แยกนางเลิ้ง  ในเวลา 19.14 น. มีชายคนหนึ่งใช้วัตถุบางอย่างขว้างขึ้นไปยังซุ้มเฉลิมพระเกียรติที่มีพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่สิบและสมเด็จพระราชินีที่ติดตั้งอยู่บนสะพานลอยคนข้ามหน้าโรงเรียนราชวินิตมัธยม เป็นเหตุให้ซุ้มเฉลิมพระเกียรติได้รับความเสียหาย จากนั้นชายคนดังกล่าวได้วิ่งไปขึ้นซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ของบัง ก่อนที่รถคันดังกล่าวจะขับหลบหนีออกจากที่เกิดเหตุ

ต่อมาในวันที่ 8 ตุลาคม 2564 บังได้รับหมายเรียกจากสน.นางเลิ้งให้ในไปรับทราบข้อกล่าวหาตามมาตรา 112 โดยที่บันทึกการแจ้งข้อกล่าวหาไม่ได้มีรายละเอียดที่ชัดเจนว่า บังเป็นผู้ทำลายหรือเผาพระบรมฉายาลักษณ์แต่อย่างใด ได้แต่บรรยายพฤติการณ์กว้างๆ ของวันเกิดเหตุไว้ บังให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา เขายอมรับว่าเข้าร่วมการชุมนุมแต่ปฏิเสธว่าไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ ทั้งสิ้นกับเหตุการเผาทำลายพระบรมฉายาลักษณ์ ในชั้นสอบสวนพนักงานสอบสวนปล่อยตัวบัง หลังเข้ารับทราบข้อกล่าวหา

หลังบังเข้ารายงานตัวในเดือนตุลาคม 2564 คดีก็ไม่มีความเคลื่อนไหว กระทั่งในเดือนกรกฎาคม 2565 จึงมีความเคลื่อนไหวสำคัญเมื่อพรชัยหรือ แซม นักกิจกรรมกลุ่มทะลุฟ้ามาถูกจับกุมตัวในคดีนี้ พรชัย เป็นนักกิจกรรมที่เคยออกมาชุมนุมต่อต้านคสช.ในช่วงครบรอบหนึ่งปี การรัฐประหาร 2557 จนถูกดำเนินคดีชุมนุมฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช. (คดีการชุมนุม 14 นักศึกษา) ในศาลทหารโดยที่คดีของเขายุติไปแล้วแต่ยังมีหมายจับค้างอยู่ในระบบ พรชัยจึงไปติดต่อที่ศาลทหารเพื่อให้ดำเนินการถอนหมายเพราะเขาต้องการเดินทางไปต่างประเทศ แต่เจ้าหน้าที่ที่ศาลทหารก็แจ้งให้เขาไปดำเนินเรื่องที่สน.สำราญราษฎร์ ปรากฎว่าเมื่อแซมไปดำเนินเรื่องที่สถานีตำรวจก็ได้รับแจ้งว่าเขาถูกออกหมายจับคดีมาตรา 112 ในคดีเดียวกับบังและถูกควบคุมตัวไปส่งที่สน.นางเลิ้งซึ่งเป็นเจ้าของท้องที่ทันที พรชัยเป็นผู้ต้องหาคนที่สองที่ถูกจับกุมตัวในคดีนี้ 

ต่อมาในวันที่ 23 กันยายน อัยการยื่นฟ้องคดีพรชัยต่อศาลอาญา โดยคำฟ้องพอสรุปได้ว่า พรชัย จำเลยที่หนึ่งในคดีนี้ พร้อม บัง ทะลุฟ้า และจิตริน หรือคาริมที่ยังไม่ได้นำตัวมาฟ้อง และบุคคลไม่ทราบชื่ออีกคนหนึ่งร่วมกันหมิ่นประมาทกษัตริย์ด้วยการปาระเบิดเพลิงขึ้นไปบนซุ้มเฉลิมพระเกียรติบนสะพานลอยที่มีพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่สิบและราชินี และได้ราดน้ำมันวางเพลิงซุ้มดังกล่าวจนไฟลุกทำให้เกิดเพลิงไหม้เป็นรอยดำสองจุด คิดเป็นมูลค่าความเสียหาย 1,000 บาท  ซุ้มเฉลิมพระเกียรติเป็นทรัพย์สินที่กรุงเทพมหานครจัดสร้างขึ้นเพื่อแสดงความจงรักภักดี เฉลิมพระเกียรติ และเทิดทูนพระมหากษัตริย์และพระราชินี ซึ่งเป็นที่เคารพสักการะของปวงชนชาวไทย การกระทำจำเลยจึงมีเจตนาร่วมกันกระทำการอันเป็นการไม่สมควรและเป็นการแสดงออกถึงความอาฆาตมาดร้าย ดูหมิ่น รัชกาลที่สิบและพระราชินี 

ในวันที่อัยการฟ้องคดีต่อศาล พรชัยเป็นจำเลยที่ถูกฟ้องคดีเพียงคนเดียว เนื่องจากบังผู้ต้องหาอีกคนที่ถูกฟ้องต่อศาลไม่ได้มารายงานตัวกับอัยการ ขณะที่จิตรินและบุคคลไม่ทราบชื่ออีกคนหนึ่งยังไม่ได้ถูกนำตัวเข้าสู่กระบวนการชั้นสอบสวน หลังอัยการฟ้องคดีพรชัยได้ประมาณสัปดาห์เศษ ในวันที่ 4 ตุลาคม 2565 บังก็มารายงานตัวกับอัยการเพื่อเข้าสู่กระบวนการฟ้องคดี ในวันเดียวกันนั้นเขาก็ถูกควบคุมตัวระหว่างการพิจารณาคดีในเรือนจำ ต่อมาศาลนัดตรวจพยานหลักฐานคดีนี้เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2565 โดยได้นัดวันสืบพยานเป็นวันที่ 19 – 22 มีนาคม 2567

ทั้งนี้พรชัยและบังพยายามยื่นคำร้องขอประกันตัวแต่ศาลก็ไม่อนุญาต ในวันที่ 10 พฤศจิกายน 2565 ศาลนัดไต่สวนคำร้องขอประกันตัวของพรชัยและบัง ซึ่งทั้งสองแถลงว่าหากศาลจะกำหนดเงื่อนไขประกอบสัญญาประกันก็ยินดีจะปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด รวมทั้งจะให้ความร่วมมือและเชื่อฟังผู้กำกับดูแลที่ศาลจะแต่งตั้งให้ หลังการไต่สวนศาลแจ้งว่าจะนัดฟังคำสั่งว่าพรชัยและบังจะได้รับการประกันตัวหรือไม่ในวันที่ 22 พฤศจิกายน 2565 โดยศาลอ้างว่าต้องรวบรวมข้อมูลไปให้ผู้บริหารศาลเป็นผู้พิจารณาและมีคำสั่ง ศาลยังให้เหตุผลที่นัดวันฟังคำสั่งห่างจากวันไต่สวนนานถึง 12 วันว่า เนื่องจากติดช่วงวันหยุดพิเศษเพราะการประชุมเอเปค

• คลิกอ่านรายละเอียดการไต่สวนคำร้องขอประกันตัวของพรชัยและ “บัง”

คดีพ่นสเปรย์ใส่ซุ้มเฉลิมพระเกียรติฯ หน้า มธ.รังสิต นัดสืบพยาน 21 พ.ย.65

กลางดึกวันที่ 13 มกราคม 2564 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจหลายสิบนายนำกำลังเข้าจับกุมสิริชัยหรือ นิว นักศึกษาชั้นปีที่ 1 วิทยาลัยป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นสมาชิกแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมด้วย

สิริชัย หรือ นิว นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถูกเจ้าหน้าที่บุกจับกุม เพราะเจ้าหน้าที่เชื่อว่าเป็นผู้พ่นข้อความบนพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบรมวงศานุวงศ์ใกล้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต จากคำบอกเล่าของสิริชัย เขาถูกเจ้าหน้าที่ดักจับในช่วงค่ำ ระหว่างที่ขี่รถจักรยานยนต์ออกจากที่พักของเพื่อนเพื่อไปรับประทานอาหาร  มีเจ้าหน้าที่มากกว่าสิบนายปิดล้อมซอย ในการจับกุมสิริชัยไม่ได้รับอนุญาตติดต่อผู้ใกล้ชิดหรือทนายความในทันทีและเขาถูกยึดโทรศัพท์มือถือ ตำรวจยังมีพฤติการณ์ปิดบังที่อยู่ของสิริชัยทำให้เกิดความเป็นห่วงถึงความปลอดภัยและเป็นกระแส #saveนิว ในช่วงดึกของคืนนั้น อย่างไรก็ตามสิริชัยมีโอกาสติดต่อทนายความช่วงสั้นๆ หลังเจ้าหน้าที่ทำบันทึกจับกุมเสร็จแล้ว  

ในวันที่ 7 เมษายน 2564 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่าอัยการมีความเห็นสั่งฟ้องคดีสิริชัยต่อศาลจังหวัดธัญบุรีแล้ว โดยในส่วนของความผิดตามมาตรา 112 สิริชัยถูกกล่าวหาว่าฉีดพ่นข้อความ “ภาษีกู” และ “ยกเลิก 112” ลงบนพระฉายาลักษณ์ของพระราชินีในรัชกาลที่เก้ารวมสามจุด พระรูปของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ หนึ่งจุด บนป้ายมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ฝั่งถนนพหลโยธินขาออกหนึ่งจุด และใต้พระฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่เก้ากับสมเด็จพระราชินีในรัชกาลที่เก้าอีกหนึ่งจุด รวมหกจุด ในปี 2565 ศาลจังหวัดธัญบุรีสืบพยานโจทก์เสร็จแล้ว และกำหนดวันนัดสืบพยานจำเลยเป็นวันที่ 21 พฤศจิกายน 2565

• ดูรายละเอียดคดีของนิว สิริชัย >> https://freedom.ilaw.or.th/th/case/950