RECAP เสวนา 112 Never Forget: หนึ่งคนใช้ (กฎหมาย) หลายคนเดือดร้อน

วันที่ 20 พฤศจิกายน 2565 ที่สโมสรนิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไอลอว์จัดกิจกรรมเปิดตัวหนังสือ “Never Stop คนและคดียังไปต่อ” มีวงสนทนากับผู้ได้รับผลกระทบจากมาตรา 112 “Never Forget: หนึ่งคนใช้ (กฎหมาย) หลายคนเดือดร้อน”  โดยมีผู้เข้าร่วมแลกเปลี่ยนเป็นจำเลยคดีมาตรา 112 ได้แก่

  • สุริยศักดิ์ ฉัตรพิทักษ์กุล อดีตแกนนำนปช. สุรินทร์
  • พอร์ท-ปริญญา ชีวินกุลปฐม สมาชิกวงไฟเย็น
  • อั๋ว-จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์ สมาชิกเยาวชนปลดแอก (Free Youth)
  • อานนท์ นำภา ทนายความสิทธิมนุษยชน 

สุริยศักดิ์ : จับคดีก่อการร้าย อายัดซ้ำม. 112 สุดท้ายศาลยกฟ้องติดคุกฟรีสองปี 

สุริยศักดิ์  ฉัตรพิทักษ์กุล อดีตแกนนำนปช. จังหวัดสุรินทร์ เขาถูกจับกุมในคดีก่อการร้ายและอายัดซ้ำในคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 คดีนี้ศาลชั้นต้นยกฟ้องแล้ว เขากล่าวว่า ก่อนรัฐประหาร 2549 ตอนนั้นเขาไม่มีความรู้ทางการเมืองเลย แต่เมื่อมีการรัฐประหารจึงสงสัยว่า ทำไมประเทศนี้มันแปลกจังเลย พอหลังรัฐประหารก็เกิดเหตุการณ์การเรียกร้องประชาธิปไตยที่สนามหลวง เขาจึงเข้าไปร่วมในลักษณะศึกษาการเมือง จากนั้นก็เข้าสู่ขบวนการเสื้อแดงก็ต่อสู้เรียกร้องเรื่อยมากระทั่งรัฐประหาร 2557 ก็หยุดการเคลื่อนไหว

“วันที่ 18 มีนาคม 2560 เช้าตรู่คุณแม่มาเคาะประตู สุนัขที่บ้านร้องกันเสียงขรมเลย ผิดปกติ พอเขามองลงมาก็เห็นเจ้าหน้าที่จำนวนมาก ราวกับว่า มาจับคดีฆาตกรรม  เจ้าหน้าที่แจ้งข้อกล่าวหา จากนั้นถูกพาตัวไปที่ค่ายทหารจังหวัดสุรินทร์ก่อน และพาคุมตัวในมทบ. 11 เป็นเวลาเจ็ดวัน ก่อนออกจากค่ายทหารไปที่กองปราบปราม เจ้าหน้าที่ปิดตาเขาและหิ้วปีกขึ้นรถ เหมือนกับเราเป็นผู้ต้องหารายสำคัญเลย” 

ที่กองปราบปราม มีตำรวจและกองทัพสื่อมวลชนเป็นร้อยชีวิตเลย บนโต๊ะที่แถลงข่าวมีอาวุธสงครามและวัตถุระเบิดเต็มไปหมดเลย เขาถามคู่คดีที่ไม่เคยรู้จักมาก่อนว่า เป็นของๆ ใคร ทุกคนปฏิเสธ สื่อออกข่าวหลายวัน แต่พอคดียกฟ้องแล้ว ความเสียหายที่เกิดขึ้นมันชดเชยอย่างไร สิ่งที่กระทำไปก่อนหน้านี้มันจะแก้ไขกันอย่างไร ต่อมา ดีเอสไอแจ้งข้อกล่าวหาว่า ก่อการร้าย และถูกฝากขังเจ็ดผลัด จากนั้นได้รับการปล่อยตัวและอายัดตัวซ้ำไปที่ปอท. แจ้งข้อกล่าวหามาตรา 112 และฝากขังยาว โดยให้เหตุผลว่า เป็นคดีโทษสูง

สุริยศักดิ์พยายามจะขอประกันตัวหลายครั้ง แต่ไม่ได้รับการประกันตัวระหว่างการพิจารณาเป็นเวลาสองปี โดยปัจจุบันศาลยกฟ้องแล้ว เหตุจากพยานหลักฐานไม่ชัดเจน

“เรารู้อยู่แล้วว่า การที่เรามาเป็นนักต่อสู้มันต้องเจอเหตุการณ์แบบนี้ไม่วันใดก็วันหนึ่ง เพราะฉะนั้นถ้าเกิดเราทำใจได้ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ทุกคนที่เป็นนักต่อสู้คงจะคิดเหมือนผม ยิ่งมาโดนคดีต่างๆ มันเฉยๆ แต่ความรู้สึกจริงๆ ลึกๆ ความเป็นธรรมมันควรจะมีในประเทศนี้ ไม่ใช่เวทีของมึง กติกาก็ของมึง อย่างนี้มันไม่ใช่ในความรู้สึกของผม ถ้าที่ใดมีความยุติธรรมผมเชื่อแบบนี้”

สุริยศักดิ์เล่าว่า การดำเนินคดีในศาลทหารและศาลยุติธรรมมีความแตกต่างกัน โดยศาลยุติธรรมดำเนินกระบวนพิจารณาคดีไม่ถึงสองปีก็มีคำพิพากษาแล้ว แต่ศาลทหารไม่ใช่ และระหว่างการพิจารณาอัยการออกหมายเรียกพยานที่ร้องทุกข์ แต่เมื่อถึงวันนัดหมายพยานไม่มา ทำให้ต้องนัดหมายใหม่เรื่อยๆ และไม่เสร็จสิ้น จนกระทั่งศาลทหารหมดอำนาจในการพิจารณาคดีตามคำสั่งหัวหน้าคสช. เมื่อปี 2562 ต้องโอนคดีมาที่ศาลยุติธรรม [หมายเหตุ ศาลทหารดำเนินกระบวนการพิจารณาคดีที่ไม่ต่อเนื่อง นัดแบบ ‘ฟันหลอ’ เช่น นัดวันที่ 1 เดือนมกราคมและเว้นไปอีกเดือนหนึ่งหรืออาจหลายเดือน ต่างกับศาลยุติธรรมที่จะนัดต่อเนื่องเป็นสัปดาห์หรือเดือน]

ในประเด็นเรื่องมาตรา 112 สุริยศักดิ์กล่าวว่า ทุกคนอยากทำให้บ้านเมืองมันดีขึ้น ทีนี้กฎหมายมาตรา 112 คือ การใช้ปิดปากทั้งจากคนที่ไม่พอใจคนคิดต่าง หรือฝ่ายเผด็จการใช้เป็นเครื่องมือหยุดคนเห็นต่าง กระบวนการการพิจารณาคดีก็ต้องไปแก้ต่าง ในกระบวนการที่ถูกจับกุมและควบคุม ทำให้เสียเวลา ขณะที่อัตราโทษสูง และใครก็สามารถร้องทุกข์ได้ “ความเฮงซวยคือ ผิดถูกอย่างไรก็ไปแก้ตัวในศาลแล้วกัน ซึ่งทำให้ได้รับผลกระทบ”

“ผมมีครอบครัว ลูกกำลังเรียน กำลังใช้เงินใช้ทอง พอเสาหลักของครอบครัวเข้าไปลำบากเลย ทุกอย่างมันเปลี่ยนไปหมดเลย ถ้าเข้าไปแล้วได้ประกันตัวแล้วสู้อย่างเป็นธรรมอีกเรื่องหนึ่ง และของผมอยู่ศาลทหารด้วย นัดฝ่ายโจทก์ ไม่มา…ไม่มา ไม่มาครั้งหนึ่ง[เสียเวลา]ร้อยกว่าวัน สามสี่ครั้งร่วมปี มาอยู่เหมือนกูบ้างสิมึงจะอยู่ยังไง…ไม่ใช่คนคิดต่างกับพวกมึงเป็นศัตรู มันไม่ใช่”

ช่วงท้ายเขาย้ำว่า การเสนอยกเลิกมาตรา 112 ไม่ใช่การยกเลิกสถาบันฯ แต่คือ ทำให้มันถูกต้อง ทำให้มันดีขึ้น

พอร์ท ไฟเย็น : ไม่ควรมีใครต้องติดคุก หรือถูกตามล่า ตามฆ่า ตามคุกคามเพราะวิจารณ์กษัตริย์

พอร์ท-ปริญญา ชีวินกุลปฐม สมาชิกวงไฟเย็น เล่าว่า ก่อนหน้ารัฐประหาร 2557 เขาเล่นดนตรีกับวงทับทิมสยามและมีเหตุให้ต้องคลุกคลีกับวงไฟเย็นเรื่อยมา ช่วงนั้นก็ยังไม่ได้เข้าสมาชิกวงไฟเย็นและจับผลัดจับพลูมาเข้าวงไฟเย็นเนื่องจากมีสมาชิกออกไป จึงมีที่ว่างให้เขาเข้าร่วมสมาชิก

การทำหน้าที่ของวงไฟเย็นเหมือนกับวงสามัญชนในปัจจุบัน กล่าวคือ ในลักษณะรณรงค์ทางการเมือง โดยเนื้อหาของเพลงวงนี้คือการเสียดสีสถาบันกษัตริย์ หลังการรัฐประหารสมาชิกวงไฟเย็นหลายคนถูกคสช.เรียกรายงานตัวจึงตัดสินใจลี้ภัยทางการเมืองไปที่ลาว ซึ่งตัวเขาไม่ได้มีหมายเรียกรายงานตัว แต่ยังอยากทำเพลงกับเพื่อนร่วมวงจึงข้ามไปมาไทยลาวอย่างถูกกฎหมายต่อเนื่องเรื่อยมา

จนถึงเดือนกรกฎาคม 2559 ในวันดังกล่าวเขาไปร้องเพลงที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา จากนั้นก็ถูกตำรวจเรียกไปที่ สน.ชนะสงคราม อ้างเรื่องฉลากซีดีเพลง ทำให้เขาเริ่มกลัวว่า จะตกเป็นเป้าหมาย ต่อมา เขาจึงกลับไปที่ลาวและอยู่ยาว  

ช่วงปลายปี 2561 เขาป่วยหนักจนต้องกลับมารักษาตัวที่ไทย จากนั้น เขาถูกจับกุมตามหมายจับในเดือนมีนาคม 2564 ซึ่งเป็นคดีที่เขาไม่รู้มาก่อนว่ามีอยู่ หลังการจับกุม ศาลอาญามีคำสั่งไม่ให้ประกันตัว พอร์ทบอกว่า ตอนนั้นทำใจแล้วคงไม่ได้ประกันแน่ เพราะเทียบเคียงกับสถานการณ์ในช่วงรัชกาลที่เก้าที่ผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ต้องสู้คดีในเรือนจำ 

“ผมบอกคนที่อยู่ในคุก ในห้องเดียวกันว่า ติดยาวแน่นอน” แต่หลังจากนั้นเขาก็สู้ตามกระบวนการยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราว และท้ายสุดศาลอาญามีคำสั่งปล่อยตัวชั่วคราวในเดือนพฤษภาคม 2564 

“ผมคิดอยู่แล้วว่า มันต้องเจออะไรแบบนี้ มันต้องเจออยู่แล้ว จะช้าจะเร็วเท่านั้นเอง ผมยังคิดว่า ผมจะตายด้วยซ้ำ ถูกอุ้มฆ่าอย่างเพื่อนผม ยังคิดอยู่เลยว่า วงไฟเย็นโชคดีที่รอดมาได้ ที่เหลือก็อย่างที่เราเห็น…เราไม่อยากเห็นเรื่องนี้มันเกิด แต่เรารู้ว่า เผด็จการไทยมันเหี้ยเลยเป็นอย่างนี้ ไม่ควรมีคนต้องถูกฆ่าเพราะเรื่องนี้ การวิจารณ์เป็นเรื่องปกติมากๆ เรื่อง 112 ไม่ควรจะมีแล้วนะ ต่างประเทศหลายประเทศเขาไม่มีนะที่หมิ่นกษัตริย์แล้วติดคุก 3-15 ปีบางประเทศถึงมีก็ไม่ใช้ เลิกใช้เลย ทำไมประเทศไทยไม่เปลี่ยนตรงนี้ การพูดเรื่องนี้เป็นเรื่องธรรมดา เหมือนกับวิจารณ์นักการเมืองหรือคนอื่นในสังคม มันไม่ควรมีใครต้องติดคุก หรือถูกตามล่า ตามฆ่า ตามคุกคาม”

ในเรื่องมาตรา 112 พอร์ทระบุว่า เขายืนยันว่าต้องยกเลิกเท่านั้น สมมติแก้ไขให้ความผิดมันลดลง แต่ยังมีโทษจำคุกอยู่ดี ฉะนั้นจะไม่ทำให้นักโทษ 112 ได้ออกจากเรือนจำ ฉะนั้นถ้าต้องการให้ประเทศนี้ไม่มีนักโทษ 112 ต้องยกเลิกเท่านั้น ที่ผ่านมามีพรรคการเมืองที่เสนอให้แก้ไขมาตรา 112 เป็นการเคลื่อนไหวที่ดี ที่กล้าหาญ แต่ยังไม่เพียงพอ ขณะที่คณะก้าวหน้า โดยปิยบุตร แสงกนกกุลมีข้อเสนอให้ยกเลิกกฎหมายหมิ่นทั้งระบบ และร่างขึ้นมาใหม่คุ้มครองเทียมกันในมาตราเดียวกัน ไม่มีโทษจำคุก ซึ่งเขามองว่า เป็นข้อเสนอที่ฟังได้มากที่สุด พอร์ทระบุว่า ก่อนหน้านี้เขาจะวิจารณ์ท่าทีของพรรคอนาคตใหม่และปิยบุตรหลายเรื่อง 

ทั้งนี้คดีมาตรา 112 ของพอร์ทสืบเนื่องจากการโพสต์เฟซบุ๊กสามข้อความระหว่างเดือนเมษายนถึงกรกฎาคม 2559 และดำเนินการสืบพยานในช่วงต้นปี 2565 วันที่ 15 สิงหาคม 2565 ศาลพิพากษาลงโทษจำคุกกรรมละ 3 ปีรวม 9 ปี จำเลยให้การเป็นประโยชน์ลดโทษเหลือ 6 ปี

อั๋ว จุฑาทิพย์ : เมื่อข้อเท็จจริงเรื่องงบสถาบันกษัตริย์มิอาจถูกกล่าวถึง

อั๋ว-จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์ สมาชิกเยาวชนปลดแอก (Free Youth) เล่าว่า คดีมาตรา 112 ของเธอเป็นการปราศรัยเรื่องบประมาณของสถาบันกษัตริย์และธุรกิจของสถาบันกษัตริย์ ซึ่งเธอมองว่า ควรจะนำมาจัดสรรให้แก่ประชาชนในประเทศ ตอนที่จะปราศรัยก็ทำการตรวจค้นข้อมูลสาธารณะและนำมาปราศรัยทำนองว่า รัชกาลที่สิบมีพระนามเป็นผู้ถือหุ้น รวมถึงกล่าวถึงบุคคลที่สามที่เข้ามาจัดการบริหารงบประมาณ อย่างไรก็ตาม คดีนี้เป็นคดีมาตรา 112 คดีเดียวที่เธอมี และก่อนหน้านี้เธอถูกดำเนินคดีหลายคดีแล้วจึงไม่ได้รู้สึกอะไรมากนัก คิดว่า เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นอีกเรื่องหนึ่งในชีวิตของนักกิจกรรม มีบ้างที่กังวลว่าจะมีกระบวนการที่ไม่ปกติเช่น การฝากขังระหว่างการพิจารณาคดีหรือการคุกคาม ครอบครัวก็เข้าใจและไม่ได้เป็นห่วงกังวลอะไรมากนัก 

อั๋วเล่าย้อนกลับไปถึงการคุกคามที่เธอเผชิญว่า ช่วงแรกๆที่ทำกิจกรรมมีตำรวจมาติดตามที่บ้านในต่างจังหวัดและมีบุคคลต้องสงสัยมาติดตามที่หอพัก มีการชวนไปดื่มกาแฟ ซึ่งเธอก็ถือว่า เป็นการคุกคามเช่นกันเนื่องจากมันไม่มีเหตุผลอะไรเลยที่จะต้องไปดื่มกาแฟกับเจ้าหน้าที่ นอกจากนี้อั๋วยังถูกโจมตีด้วยสปายแวร์เพกาซัส สอดแนมโทรศัพท์  

ในประเด็นเรื่องผลคดีมาตรา 112 เธอกล่าวว่า ตอนนี้คงยังไม่สามารถคาดการณ์ได้ อย่างแย่ที่สุดคงเป็นอัตราโทษที่สูงและกระบวนการพิจารณาคดีที่ไม่ได้เป็นธรรมนัก ปัญหาของมาตรา 112 เมื่อมันเป็นกฎหมายที่คุ้มครองบุคคล ห้ามคิด ห้ามวิจารณ์ “พอมีคนเห็นปัญหา ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ ออกมาเสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหาก็มักจะโดนคดี 112 บางคนก็จะติดคุกระหว่างการพิจารณา มันมีดีเบทกันระหว่างการยกเลิกกับแก้ไขเอาอันไหนดี ฝั่งอนุรักษ์นิยมบอกว่า ประเทศอื่นๆก็มี แต่จริงๆเนื้อหาและการบังคับใช้มันแตกต่าง…มันไม่ควรมีกฎหมายนี้ต่อไป ถ้ายกเลิกได้ก็จะดีมากๆ อย่างน้อยที่สุด อย่างต่ำสุด โทษจำคุกควรจะหมดไป เหลือแค่โทษปรับ แต่โทษปรับก็ยังมีปัญหาอยู่ในกรณีที่มีรายได้น้อย”

“คุณคือประมุขของรัฐ คุณควรจะเข้าใจประชาชนมากที่สุดก็ควรที่จะเปิดให้คนวิพากษ์วิจารณ์ได้อย่างคนสาธารณะทั่วไป เราไม่ได้คิดมุ่งร้ายที่จะเอาชีวิต แต่มันเป็นการพูดเพื่อที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลง พูดเพื่อให้มันดียิ่งขึ้นกว่านี้”

ทนายอานนท์ : การวิจารณ์สถาบันฯมีต้นทุนเสรีภาพ หากสังคมเดินหน้าก็คุ้มค่า

อานนท์ นำภา ทนายความสิทธิมนุษยชนเล่าถึงปัญหาการสู้คดีว่า เขาถูกกล่าวหาเกี่ยวกับเนื้อหาที่ปราศรัยบนเวทีชุมนุม เป็นประเด็นเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ อัยการบรรยายฟ้องเรื่องการที่อานนท์ปราศรัยไม่ว่าจะการที่รัชกาลที่สิบแปรพระราชฐาน การโอนอัตรากำลังพลและเรื่องทรัพย์สินเป็นเท็จ เขาในฐานะจำเลยจึงขอให้ศาลออกหมายเรียกเอกสารที่เกี่ยวข้อง เช่น งบประมาณสถาบันกษัตริย์ แต่ศาลไม่ออกหมายเรียกให้และบอกว่า ไม่เกี่ยวข้องกับคดี เมื่อไม่มีพยานหลักฐานในชั้นศาลเกิดปัญหาว่า จะพิสูจน์อย่างไร บางคดีศาลก็กล่าวไปไกลว่า ต่อให้พูดความจริงก็ผิดอยู่ดี ซึ่งมันเป็นการขยายวิธีพิจารณาความที่ประหลาด มันจะประหลาดที่มีบุคคลหนึ่งเกี่ยวพันกับรัฐ แต่เราไม่สามารถพูดถึงได้เลย โดยตอนนี้คดีมาตรา 112 ที่ต้องเรียกเอกสารดังกล่าวมาพิสูจน์ต้องดำเนินไปโดยไม่มีหลักฐานเข้ามา

หรือคดีที่พื้นฐานเรื่องการนำทรัพย์สินของรัฐเป็นของตนเอง ทำให้กษัตริย์ถูกฟ้องร้องได้ เช่น รัชกาลที่เจ็ดถูกฟ้อง ยึดพระราชวังและขาย มีคำพิพากษาแล้วแต่อัยการบรรยายฟ้องว่าเป็นเท็จ เขาจึงขอคำพิพากษาศาลแพ่ง แต่ศาลไม่ออกหมายเรียกเอกสารให้ ทั้งหลายทั้งปวงเราก็ยังสู้คดีอย่างเมามัน

“ผมคิดว่า ทุกคนในสังคมรู้ว่า สิ่งที่เราพูดไปเป็นความจริง โอเคอาจจะมีคนปราศรัยไม่เหมาะสมไปบ้างกับบริบทสังคมไทย แต่ว่า มันไม่ได้ผิด ไม่ได้เป็นการใส่ความ คือเป็นภาษาวัยรุ่น เรื่องพวกนี้เป็นกระพี้มากๆ” 

“มันพยายามจะย้อนกลับไปละเมิดสิทธิแบบโบราณาโดยอ้างเรื่องจารีตหรืออะไรก็ตาม แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นมันชัดแล้วว่า ความชอบธรรมมันอยู่ฝั่งพวกเราคือ ถ้าไม่ชอบธรรมหลายคนไม่สามารถประกันตัวได้ เรือนจำและศาลเอง ในหลายๆ คดีศาลก็รู้ว่าพวกนี้มันไม่ใช่อาชญากร มันเป็นคนที่ออกมาต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ทุกคนมีความบริสุทธิ์ใจ แต่ละคนไม่ได้มีเบื้องลึกเบื้องหลังใด” 

อานนท์กล่าวถึงเงื่อนไขการประกันตัวหรือเรื่องอื่นๆ ที่เป็นข้อจำกัดหลังถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ไม่ว่าจะการจำกัดเวลาที่จะออกบ้าน และทำกิจกรรมบางอย่างไม่ได้เช่น ลงทะเลไม่ได้ ว่ายน้ำกับลูกไม่ได้ จะเดินทางไปต่างจังหวัดก็ต้องขับรถไป ขึ้นเครื่องบินไม่ได้ บางวันกำลังฝันเห็นหวย แต่กำไลอีเอ็มดันสั่นขึ้นมากลางดึก มันหงุดหงิด การมีคนตามมันหงุดหงิดนะ หรือเรื่องการโพสต์ข้อความแสดงออกที่ตำรวจอาจจะถอนประกันได้ 

“ข้อจำกัดมันเยอะมากแต่เราก็ดำเนินชีวิตแบบเย้ยยุทธจักร มึงห้ามกู ก็ใช้ชีวิตปกติ ห้ามพูดเรื่องสถาบันกษัตริย์เราก็พูด เรื่องความไม่เป็นธรรมนั่นนี่ การไปศาลว่า ความในคดี เอาเรื่องราวในศาลมาบอกเล่า” 

“….เป็นชีวิตที่สนุกดี มันพยายามจะทำให้เราเป็นทุกข์ เครียด เราก็ต้องทำให้มันสนุกวันดีคืนดีเราชาร์จแบตอยู่ไฟวอบแวบๆ เราก็จิบเบียร์ดูไฟ เราก็คิดว่า เป็นไฟเทค อีกมุมหนึ่งให้สนุกกับมัน ไปศาลก็ไปอย่างรื่นเริง ล่าสุดก็เปลี่ยนสีผมหน่อย กวนตีน….อยู่กับมันให้ได้และสู้กับความจำกัด…”

อานนท์สรุปในเรื่องประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ว่า มาตรา 112 ไม่ควรมีอยู่ เนื่องจากมีปัญหา เช่น ตัวบทมีเรื่องโทษและการตีความของผู้ร้องทุกข์ ที่ทำให้อัยการกับตำรวจเป็นบ้าไปด้วย คดีขโมยพระบรมฉายาลักษณ์หน้าหมู่บ้าน ลากไป ตอนแรกตำรวจลักทรัพย์และศปปส.ไปแจ้งมาตรา 112 อ้างว่า ขโมยก็จริงแต่ต้องแบกด้วยความเคารพ สุดท้ายเป็นข้อหาที่เกินจริง ล่าสุดมีการแจ้งข้ามจังหวัดแบบกลั่นแกล้งกัน สิ่งที่เกิดขึ้นยกเลิกมาตรา 112 คงไม่พอ แต่ต้องทำให้สถาบันกษัตริย์เป็นสถาบันในระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง สำคัญคือ การวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ คนรุ่นใหม่ใช้ถ้อยคำที่ไม่เหมาะสมบ้าง แต่แก่นคือเขาต้องการวิพากษ์วิจารณ์ที่เป็นผลดีต่อสถาบันกษัตริย์ ตัวอย่างคือ การออกมาวิจารณ์เรื่องขบวนเสด็จและท้ายสุดก็ปรับปรุงไม่ให้มีผลกระทบ

ขณะนี้เขามองว่า สถาบันมีการปรับตัวมากขึ้น ทำให้สถานะของสถาบันอยู่คู่กับประชาธิปไตยได้มากขึ้น ไม่เพียงเท่านี้ศาลเองก็ปรับตัวมากขึ้น เดิมสั่งพิจารณาลับ แต่เมื่อมีการวิพากษ์วิจารณ์ศาลก็ปรับตัวมากขึ้น แต่ต้นทุนในการปรับตัวก็มีบ้างเช่น การถูกดำเนินคดีแต่คิดว่า คุ้มค่าต่อสังคมที่เคลื่อนไปข้างหน้ามากขึ้น