RECAP เสวนา Never Say Never: ถกปัญหา-หาทางออก 2 ปี การกลับมาของมาตรา 112”

วันที่ 20 พฤศจิกายน 2565 เนื่องในโอกาสครบรอบ 2 ปี การนำ #มาตรา112 กลับมาบังคับใช้ในระลอกปี 2563 ไอลอว์ร่วมกับสโมสรนิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดงานเสวนา “Never Say Never: ถกปัญหา-หาทางออก 2 ปี การกลับมาของมาตรา 112” โดยเป็นการพูดคุยกับตัวแทนพรรคการเมืองสามพรรค ได้แก่  

  • พล.ต.อ.เสรีพิสุทธิ์ เตมียเวช หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย
  • รังสิมันต์ โรม โฆษกพรรคก้าวไกล
  • ขัตติยา สวัสดิผล ตัวแทนพรรคเพื่อไทย

ดำเนินรายการโดย ฐาปนีย์ เอียดศรีชัย ซึ่งตัวแทนพรรคการเมืองแต่ละได้เสนอแนวทางการแก้ไขและบังคับใช้ รวมทั้งจุดยืนต่อประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ดังนี้

ก้าวไกล มองมาตรา 112 ไม่สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตย

รังสิมันต์ โรม โฆษกพรรคก้าวไกล กล่าวว่า มาตรา 112 เป็นความรุนแรงที่ถูกผลิตซ้ำในนามของกฎหมาย ปัญหาของมาตรา 112 มีตั้งแต่การเปิดให้ประชาชนทั่วไปสามารถฟ้องร้องได้ ยิ่งในปัจจุบันที่เราใช้โซเซียลมีเดียทำให้มีการฟ้องร้องในสถานีตำรวจพื้นที่ต่างๆ ทำให้หลายคนต้องไปพบกับพนักงานสอบสวนในพื้นที่ไกลๆ เพื่อสร้างภาระทางคดี สิ่งตามมาก็คือเจ้าหน้าตำรวจ อัยการ แม้กระทั่งศาลชั้นต้นหรืออุทธรณ์ หลายครั้งพวกเขาก็ตัดสินโดยไม่กล้าใช้ดุลยพินิจที่มีความกล้าหาญ หลายครั้งก็เลยจบที่ไม่ได้ประกันตัว ทำให้ต้องไปสู้กันในเรือนจำ หลายคนเลยต้องยอมรับสารภาพ ด้วยเหตุผลคือเขาต้องการของไปใช้ชีวิตของนอก ไม่มีใครอยากติดคุก

“ผมมีโอกาสได้คุยกับนักโทษ มาตรา 112 หลายคน เขาเชื่อว่าเขาไม่ได้ทำผิดอะไร แต่เขาต้องยอมรับกับสิ่งที่เกิดขึ้น ยอมแพ้กับกระบวนการยุติธรรม เหตุผลคือเขาไม่รู้ว่าจะชนะได้อย่างไร เขากำลังสู้กับศาลที่ได้ตัดสินเขาไปแล้วว่า เขามีความผิดทั้งที่ยังไม่มีคำพิพากษาผ่านการฝากขัง หลายคนจึงหาทางออกด้วยการรับสารภาพในท้ายที่สุด ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อเราไปดูในรายละเอียดมากขึ้น จะพบว่ามีพี่น้องประชาชนที่ถูกดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 จำนวนมาก ในช่วงเวลาที่ผ่านมา บางคนถูกตัดสินมีโทษจำคุก สูงสุด 80-90 ปี อาจจะได้รับการลดโทษบ้าง แต่มันก็คือสิ่งที่ยืนยันว่ามาตรา 112 มีความรุนแรงต่อประชาชนอย่างมาก”

“คำถามก็คือ สิ่งที่เรากำลังเดินอยู่มันสอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตยไหม หากพูดอย่างหนักแน่น ต้องยอมรับตรงไปตรงมาว่า สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นอยู่กับการใช้มาตรา 112 ไม่สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตย ไม่ได้อยู่บนจุดสมดุลที่ถือว่าเป็นระบอบประชาธิปไตย มีประชาชนเป็นใหญ่ที่สุด และประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยมีเสรีภาพในการที่จะแสดงความคิดเห็น องค์กรทุกองค์กรในทางการเมืองสามารถที่จะถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้ ดังนั้น ผมคิดว่าการเกิดขึ้นและการใช้มาตรา 112 ในลักษณะนี้ทำให้คุณค่าในเชิงประชาธิปไตยมันมอดมลายลง”

ก้าวไกล ยอมรับแก้ 112 ต้องหาจุดที่ทุกฝ่ายคุยกัน

รังสิมันต์ โรม กล่าวว่า ผมยืนยันว่า มาตรา 112 มีปัญหาแน่ๆ สิ่งที่พรรคก้าวไกลพยายามในการที่จะเสนอการแก้ไขมาตรา 112 โดยในพรรคก้าวไกลเรามีการเถียงกันว่า “ควรจะยกเลิกหรือควรจะแก้ไข” ซึ่งก็มีทั้งสองฝ่ายที่มีความเห็นแบบนี้ แต่สุดท้ายเราได้ข้อยุติว่า การแก้ไขมาตรา 112 บางทีอาจจะเป็นหนทางหนึ่งที่เรา พอจะพูดคุยกันได้กับฝ่ายต่างๆ ดังนั้น ถ้าเกิดสมมติว่าเราสามารถปักธงทางความคิด ชวนพรรคการเมืองต่างๆ ชวนฝ่ายต่างๆ ว่า “ถึงเวลาที่ต้องแก้แล้ว” การใช้มาตรา 112 ในลักษณะแบบนี้มีแต่จะทำลายคุณค่าของประชาธิปไตย แล้วก็ส่งผลกระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วยซ้ำไป

ดังนั้น เราก็พยายามแก้ปัญหาด้วยการดึงฝ่ายต่างๆ ให้นำไปสู่การพูดคุยกันเพื่อหาทางออกที่เป็นไปได้ของสังคมไทย เพราะลำพังแค่พรรคก้าวไกล วันนี้เรามี ส.ส.กันอยู่ประมาณ 50 คน ยอมรับกันตรงๆ ว่าเราทำคนเดียวไม่ได้ แล้วจะมีจุดไหนที่เป็นไปได้ในการที่จะดึงฝ่ายต่างๆ มาพูดคุย ยิ่งเราทำในฐานะฝ่ายค้านก็ต้องยอมรับตรงๆ ว่าข้อเสนอหลายอย่าง ถ้าเราจะใช้กระบวนการทางรัฐสภาก็จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือ แล้วจุดที่พรรคก้าวไกลคิดว่าพอจะเป็นไปได้ก็คือการแก้ไข ซึ่งอย่างน้อยก็นำไปสู่การพูดคุยกัน พรรคการเมืองไหนมีข้อเสนออะไรก็มาช่วยกันทำเพื่อให้กฎหมายฉบับนี้เป็นกฎหมายของทุกคนได้จริงๆ

“พรรคก้าวไกลไม่ใช่ว่าไม่เห็นด้วยกับการที่ภาคประชาชนจะเสนอยกเลิก เราเชื่อว่าถ้าพี่น้องประชาชนมีเจตจำนงเข้าชื่อกันในการที่จะเสนอให้มีการยกเลิก เราก็พร้อมที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันข้อเสนอของพี่น้องประชาชน”

เพื่อไทย มอง 112 โทษสูงไป ใครฟ้องก็ได้

ขัตติยา สวัสดิผล ตัวแทนพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงจุดยืนว่า มาตรา 112 คือกฎหมายที่ต้องการไม่ให้มีใครมาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ซึ่งแม้แต่ตัวเราเองที่เป็นบุคคลธรรมเราก็ยังมีกฎหมายห้ามหมิ่นประมาท เพราะฉะนั้นการที่จะมีกฎหมายห้ามหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ก็คงไม่ใช่เรื่องแปลก แต่ในการตีความของคำว่าหมิ่นประมาท ตรงนี้ที่เราต้องมาพูดคุยกัน รวมถึงอัตราโทษที่กำหนดขั้นต่ำไว้ 3-15 ปี ตรงนี้มีความเหมาะสมหรือไม่ในสถานการณ์ของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป

ในขณะที่ประเทศอื่นๆ อย่างแถบยุโรปที่มีพระมหากษัตริย์บางประเทศ มีการยกเลิกกฎหมายทำนองนี้ไปแล้ว หรือถ้ามีอยู่ก็มีการกำหนดโทษจำคุกที่ต่ำมาก เช่น หลักเดือน หรือประมาณ 1-2 ปี หรือประเทศญี่ปุ่นกับมาเลเซียก็ยกเลิกไปแล้ว สำหรับประเทศไทยถ้ามีโอกาสที่จะได้คุยกัน เรื่องโทษก็เป็นเรื่องที่น่าคุย เพราะว่าการกำหนดโทษขั้นต่ำ 3 ปี ทำให้ศาลไม่สามารถใช้ดุลยพินิจที่จะกำหนดโทษต่ำกว่านั้นได้เลย

เรื่องถัดมาคือ ขั้นตอนในการกล่าวโทษ มาตรา 112 เป็นความผิดอาญาแผ่นดินไม่ใช่ความผิดต่อส่วนตัว ดังนั้นจึงเปิดโอกาสให้ใครก็ได้อยู่ที่ไหนก็ได้ที่ใช่ผู้เสียหายโดยตรงจากการกระทำความผิดเป็นผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษ พอให้ใครร้องทุกข์กล่าวโทษก็ได้ สมมติถ้าเราไม่ชอบใครในโซเชียลมีเดีย แล้วคนนั้นชอบโพสต์ถากถาง ซึ่งมันอาจจะไม่ผิดมาตรา 112 แล้วสมมติบ้านเราอยู่อำเภอสุไหงโก-ลก (จังหวัดนราธิวาส) เราก็อาจจะไปฟ้องมาตรา 112 กับตำรวจ

เมื่อเผือกร้อนไปอยู่ในมือของตำรวจ คือ ถ้าเกิดตำรวจทำคดีแล้ว เห็นว่าบางทีหลักฐานอาจจะอ่อนไป แต่ด้วยความที่เป็นคดี 112 ซึ่งมีความอ่อนไหวทางการเมืองและสังคม อาจทำให้ตำรวจเกิดความกดดันในการที่จะใช้ดุลพินิจสั่งฟ้องหรือไม่สั่งฟ้อง ตรงนี้ก็เป็นปัญหาว่า เราควรให้ดุลพินิจแก่ตำรวจเพียงผู้เดียวหรือไม่ และเมื่อตำรวจสั่งฟ้องไปแล้ว บางทีระหว่างการสอบสวนไม่ให้สิทธิในการประกันตัว พอเรื่องไปอยู่ในมืออัยการ ก็ถูกสั่งขังในชั้นอัยการอีก เพราะว่าเป็นคดีมาตรา 112 จึงถูกกดดันจากสภาวะแวดล้อมทางการเมืองไปหมด ตรงนี้จึงมีปัญหาในการบังคับใช้ เพราะผิดตั้งแต่ตอนที่คุณให้ใครก็ได้เป็นไปร้องทุกข์กล่าวโทษ

พอคดีมาตรา 112 อยู่ในมือตำรวจการที่จะตีความว่าพฤติการณ์ใดเป็นการดูหมิ่นเป็นการหมิ่นประมาทหรือเป็นการแสดงอาฆาตมาดร้าย มันตีความได้กว้างมาก แล้วก็ตีความตามใจฉัน แล้วแต่เจ้าหน้าที่คนนั้น ดังนั้นถ้าไม่มีการจำกัดคำนิยามของคำว่านี้ให้อยู่ในกรอบ การที่จะสั่งฟ้องหรือดำเนินคดีกับประชาชนมันยิ่งทำให้สังคมไทยเกิดความขัดแย้ง

เมื่อมีการสั่งฟ้องคดีมาตรา 112 คนที่ได้ประโยชน์หรือคนที่เสียประโยชน์ไม่ใช่ตำรวจ ไม่ใช่อัยการ แต่คือสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ต้องได้รับผลลัพธ์ในความรู้สึกที่ไม่ดีจากประชาชน ถ้าเกิดว่าเราใช้มาตรา 112 กับคนที่เห็นต่าง คนที่เสียหายก็คือสถาบันพระมหากษัตริย์ มาตรานี้มันไม่ใช่มาตราที่จะเอาไว้แสดงความจงรักภักดี โดยเฉพาะตั้งแต่ปี 2563 มีการใช้มาตรานี้มากขึ้น ซึ่งเป็นการจงรักภักดีผิดวิธี 

จุดยืนเพื่อไทย ปรับวิธีการบังคับใช้ ม.112

ขัตติยา กล่าวว่า ถ้าเกิดจะต้องมีการปรับเปลี่ยนหรือแก้ไขมาตรา 112 สิ่งที่ต้องทำอย่างแรก คือ วิธีการบังคับใช้ซึ่งพรรคเพื่อไทยให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก แล้วถ้าการแก้ไขมาตรา 112 เข้าไปอยู่ในสภา พรรคเพื่อไทยมองว่า ต้องมีการพูดคุยเรื่องนี้กันอย่างจริงจังจากทุกภาคส่วน เนื่องจากปัญหานี้มีความหลากหลายทางความคิด มีทั้งคนที่อยากให้ยกเลิก มีทั้งคนอยากให้แก้ไข มีทั้งคนไม่อยากให้แก้ เพราะฉะนั้นเราต้องทำการบ้านกันอย่างหนักเราต้องเรียกทุกฝ่ายมาคุย เพื่อหาบทสรุปที่ถูกต้องที่สุด

“พรรคเพื่อไทยให้ความสำคัญในการคุยกันแล้วก็หาจุดตรงกลาง สถานการณ์การเมืองนโยบายต่างๆ ที่ผ่านมา โดยเฉพาะกฎหมายบางฉบับทำให้เรามีประสบการณ์ว่า การที่เรานำเสนอไปโดยไม่ฟังเสียงคนข้างนอกเลยฟังเสียงคนในกลุ่มเดียว มันทำให้เราล้มเหลวมาแล้ว การที่กฎหมายบางฉบับผ่านสภาฯ แต่ไม่ได้ผ่านสถานการณ์ข้างนอก มันทำให้นำไปสู่การรัฐประหารและความรุนแรง เช่น การนิรโทษกรรม ได้”

เสรีรวมไทย เสนอลดโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี

พล.ต.อ.เสรีพิสุทธิ์ เตมียเวช หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย กล่าวว่า ที่เราพูดถึงปัญหามาตรา 112 ทุกวันนี้ พระมหากษัตริย์ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องเลย เราจะไปบอกว่าพระมหากษัตริย์เกี่ยวข้องไม่ได้เลย ประเด็นที่ผมต้องพูดในวันนี้ ก็เพราะว่าผมได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี ตั้งแต่ปี 2522 เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระบรมราชินีนาถ พระราชวงศ์ทุกพระองค์รวมทั้งรัชกาลที่ 10 ด้วย ต้องดื่มน้ำพิพัฒน์สัตยา ต้องสาบานตนต่อพระแก้วมรกต ว่าจะซื่อสัตย์ต่อประเทศชาติ สถาบันพระมหากษัตริย์ และพี่น้องประชาชน เพราะฉะนั้นคำพูดใดๆ ของผมออกจากความจริงที่จะต้องพิทักษ์รักษาดูแลสถาบันฯ เอาไว้ อยากให้ทุกคนเข้าใจ เราต้องแยกสถาบันฯ ออก ที่เรามีประเทศไทยทุกวันนี้ก็เพราะสถาบันพระมหากษัตริย์

“ตอนนี้ก็เห็นพรรคนั้นพรรคนี้จะเลิกบ้าง จะแก้บ้าง ผมก็เลยคิดว่าถ้าฝ่ายนี้ไม่อยากแก้เพราะกลัวกระทบสถาบันฯ ฝ่ายนี้อยากแก้ ผมก็จะเสนอแนวทางกลางๆ ให้เป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่ายและเป็นประโยชน์ต่อสถาบันฯ ด้วย”

เสรีพิสุทธิ์ เริ่มอธิบายการกระทำความผิดและอัตราโทษที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ในประมวลกฎหมายอาญา ก่อนที่จะพูดถึงมาตรา 112 ดังนี้

  • ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 107 ปลงพระชนม์ พยายามปลงพระชนม์พระมหากษัตริย์ มีโทษประหารชีวิต ถ้าขั้นตระเตรียมการก็จำคุกตลอดชีวิต
  • ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 108 ประทุษร้ายพระมหากษัตริย์ มีโทษประหารชีวิต ถ้าขั้นตระเตรียมการก็จำคุก 16-24 ปี
  • ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 109 ปลงพระชนม์ พยายามปลงพระชนม์พระราชินี มีโทษประหารชีวิต ถ้าขั้นตระเตรียมการก็จำคุก 12-20 ปี
  • ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 110 ประทุษร้ายพระราชินี มีโทษประหารชีวิต ถ้าขั้นตระเตรียมการก็จำคุก 16-24 ปี
  • ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 111 สนับสนุนปลงพระชนม์ ประทุษร้าย พระมหากษัตริย์ พระราชินี มีโทษประหารชีวิต ถ้าขั้นตระเตรียมการก็จำคุก 16-24 ปี

มาตรา 112 บอกว่า ดูหมิ่นหมิ่นประมาท และอาฆาตมาดร้าย พระมหากษัตริย์ มีโทษจำคุก 3-15 ปี พอคดีไปอยู่ในมือผู้พิพากษาถ้าผิด ก็ลงโทษต่ำกว่าสามปีไม่ได้ นอกจากนี้ ในการตัดสินโทษยังอยู่ในดุลพินิจของผู้พิพากษา บางคนอาจตัดสิน จำคุก 15 ปี เลยก็ได้

พูดให้ชัดเจน ว่าการแก้ไขมาตรา 112 ผมอยากแยกดูหมิ่นหมิ่นประมาทกับอาฆาตมาดร้ายออกจากกัน เพราะว่าการกระทำอาฆาตมาดร้ายใกล้เคียงกับความผิดลอบปลงพระชนม์หรือประทุษร้าย ซึ่งมีโทษจำคุก ประหารชีวิต หรือ จำคุกตลอดชีวิต แต่ดูหมิ่นหมิ่นประมาทเป็นเรื่องธรรมดา เพราะฉะนั้น ผมจึงอยากแก้ไขการอาฆาตมาดร้ายออกจากมาตรา 112 ซึ่งอาจจะให้การอาฆาตมาดร้ายมีโทษจำคุก 3-15 ปี แบบมาตรา 112 ก็ได้ ถ้าเป็นแบบนี้การดูหมิ่น หมิ่นประมาทก็จะมีโทษลดลงมา

ที่ยังต้องมีโทษหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์อยู่ ก็เพราะว่าพี่น้องประชาชนเองก็ยังได้รับการคุ้มครองจากการหมิ่นประมาทซึ่งมีอัตราโทษ ดังนั้นใครหมิ่นประมาทก็ต้องมีอัตราโทษเช่นกัน แต่อัตราโทษแบบไหนถึงจะเหมาะสม

สำหรับแนวคิดของพรรคเสรีรวมไทย เสนอว่าให้ตัดอาฆาตมาดร้ายออกไป ไปเป็นมาตรา 111/1 ส่วนมาตรา 112 เป็นดูหมิ่น หมิ่นประมาท โดยมีอัตราโทษไม่เกินสามปี จากนี้ก็จะเป็นดุลพินิจผู้พิพากษาว่าจะให้แต่ละคนเท่าใด จะเป็น 10 วัน หรือจะ 1 ปี หรือ 2 ปี

“ตอนผมเป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเมื่อปี 2550 ก็มีเหตุการณ์แบบนี้เหมือนกัน แต่พระองค์ท่าน (รัชกาลที่ 9) สั่งลงมาถึงผมและอัยการสูงสุด “ให้สั่งไม่ฟ้องให้หมด” ท่านไม่อยากให้พี่น้องประชาชนเดือดร้อน เพราะฉะนั้นสำนวนที่อยู่ในมือของผม ผมให้สั่งไม่ฟ้อง”

ก้าวไกล เสนอลดโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี เป็นความผิดยอมความได้

รังสิมันต์ กล่าวว่า พรรคก้าวไกลไม่ได้เสนอแก้ไขมาตรา 112 อย่างเดียว แต่เราเสนอเป็นแพ็คเกจกฎหมาย ซึ่งสรุปออกมาเป็นประเด็นต่างๆ ดังนี้

o ความผิดฐานหมิ่นประมาทหรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระราชินี ราชสามี รัชทายาท ประมุขแห่งรัฐต่างประเทศ ในมาตรา 133 หรือผู้แทนรัฐต่างประเทศซึ่งได้รับการแต่งตั้งให้มาสู่พระราชสำนัก ในมาตรา 134 ให้ยกเลิกโทษจำคุกเหลือแต่โทษปรับ

สำหรับความผิดมาตรา 112 คือ การลดอัตราโทษจากเดิมจำคุกขั้นต่ำสามปีสูงสุดไม่เกิน 15 ปี เราเสนอให้มีการแก้โดยแยกเป็น 2 กรณี กรณีที่หนึ่งคือถ้าเป็นกรณีสำหรับพระมหากษัตริย์ให้มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และกรณีที่สองเป็นการกระทำต่อพระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ให้มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือนปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

o ประเด็นต่อมา คือ ย้ายหมวดความผิดมาตรา 112 ที่ปัจจุบันอยู่ในลักษณะความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรออกมาเป็นความผิดลักษณะใหม่ คือความผิดเกี่ยวกับพระเกียรติของพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และเกียรติยศของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ซึ่งหมายความว่าเราจะไม่เห็นสิ่งที่ศาลมักจะอ้างว่า “เนื่องจากเป็นความผิดในเรื่องความมั่นคงจึงไม่ให้ประกันตัว” การแยกตรงนี้ก็คงจะช่วยในเรื่องการได้รับโอกาสสิทธิการประกันตัว

นอกจากนั้น ยังมีการกำหนดให้สำนักพระราชวังเท่านั้นที่ถือเป็นผู้เสียหายในความผิดลักษณะนี้ ซึ่งสำนักพระราชวังก็จะต้องเป็นผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษ วิธีการนี้ก็จะเป็นการป้องกันไม่ให้มีการฟ้องร้องดำเนินคดีกันในหมู่ประชาชน นอกจากนี้ เรายังกำหนดให้เป็นความผิดที่สามารถยอมความได้ ถ้าเกิดว่าสำนักพระราชวังซึ่งเป็นผู้มีสิทธิในการร้องทุกข์กล่าวโทษก็สามารถที่จะยอมความได้บางเรื่อง

o ประเด็นถัดมา มีการเพิ่มในเรื่องบทยกเว้นความผิดและยกเว้นโทษ ก็คือกรณีมาตรา 112 ที่ผ่านมาแทบจะไม่มีกรณียกเว้นโทษได้เลย พูดง่ายๆ คือบางครั้งเราสามารถพิสูจน์ได้ว่าสิ่งที่พูดไปอาจจะถูกต้องแต่ก็ยังดำเนินคดี และสุดท้ายก็อาจจะมีคำพิพากษาให้จำคุกอยู่ดี ซึ่งบางครั้งถ้าเป็นการติชม แสดงความคิดเห็น หรือแสดงข้อความที่สุจริต ผมคิดว่าเพื่อรักษาระบอบประชาธิปไตยที่เราเชิดชูในเรื่องของคุณค่าของการแสดงออก เราสามารถให้มีช่องทางเพื่อไม่ให้บุคคลนั้นต้องรับความผิดได้ แม้ว่ากรณีนั้นไม่สามารถพิสูจน์ได้ แต่ว่าบุคคลก็อาจจะสามารถพิสูจน์เพื่อไม่ให้รับโทษได้ ถ้าการพิสูจน์นั้นแม้ไม่เป็นความจริง แต่ไม่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน เขาอาจจะยังถูกตัดสินว่าเป็นความผิดได้แต่ไม่ต้องรับโทษ

ส่วนการแยกดูหมิ่น หมิ่นประมาท และอาฆาตมาดร้ายออกจากกันของพรรคเสรีรวมไทย ก็สอดคล้องกับของพรรคก้าวไกล เราก็มีข้อเสนอคล้ายกันว่าควรจะแยกส่วน เพราะถ้าเราพิจารณากฎหมายปกติ ดูหมิ่นกับหมิ่นประมาทอัตราโทษไม่เท่ากัน หมิ่นประมาทโทษหนักกว่า ดังนั้นเราก็ควรที่จะพิจารณาอัตราโทษ โดยดูด้วยว่าการกระทำของบุคคลนั้นหนักขนาดไหน ซึ่งการกำหนดแบบมาตรา 112 ปัจจุบัน คือทำให้ดูหมิ่น ทำให้หมิ่นประมาท และทำให้อาฆาตมาดร้าย อยู่ในระนาบเดียวกัน ผมคิดว่าเป็นการบัญญัติกฎหมายที่อันตราย

เพื่อไทย เสนอตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองคดี 112

ขัตติยา กล่าวว่า มาตรา 112 เป็นความผิดอาญาแผ่นดิน จึงปล่อยให้ใครก็ได้ที่ไม่ใช่ผู้เสียหายโดยตรงสามารถไปกล่าวโทษได้ ดังนั้นถ้าจะใช้มาตรานี้ต้องมีเงื่อนไขว่าจะต้องเป็นผู้ที่ได้รับความเสียหายจริงๆ ยกตัวอย่างเช่น สำนักพระราชวังเป็นคนร้องทุกข์ หรืออาจจะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองขึ้นมาชุดหนึ่งเพื่อกลั่นกรองคดีเหล่านี้เมื่อไปอยู่ในมือของตำรวจ ซึ่งในสมัยพรรคไทยรักไทยเราเคยคณะกรรมการกลั่นกรองแบบนี้ ตอนนั้นการใช้มาตรา 112 ก็ไม่ได้มีปัญหาอะไรเลย แต่คณะกรรมการชุดนั้นก็ถูกเลิกไป

“ทีนี้ คนในสังคมก็อาจตั้งคำถามว่า “กรรมการชุดนี้จะมีความเป็นกลางได้ยังไง” เพราะสุดท้ายแล้วก็เป็นพวกเจ้าหน้าที่รัฐใช่หรือไม่ เพราะว่าที่ผ่านมาก็มี รอง ผบ.ตร. นั่งเป็นคณะกรรมการกลั่นกรอง ดังนั้นการให้ได้มาซึ่งคณะกรรมการชุดนี้จะต้องให้สภาเป็นคนเลือก ถ้าสภาเป็นคนแต่งตั้ง หมายความว่าสภาจะต้องมีอำนาจประชาชนอยู่เต็มสภา เราถึงจะสามารถแต่งตั้งบุคคลที่มีความเป็นกลางเข้ามานั่งในคณะกรรมการชุดนี้ ซึ่งคนก็อาจจะตั้งคำถามต่อว่า “จะดีเหรอ” แน่นอนว่าก็ดีกว่าไม่มีหลักเกณฑ์อะไรเลยเหมือนที่ตอนนี้กำลังทำอยู่ ที่ตำรวจโยนเผือกร้อนออกไปให้อัยการ แล้วก็โยนต่อไปให้ศาล ซึ่งพรรคเพื่อไทยก็พูดมาตลอดว่า ต้องมีกรรมการกลั่นกรองขึ้นมาชุดหนึ่งในการพิจารณาสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้อง”

สำหรับองค์ประกอบของคณะกรรมการชุดนี้ จะต้องเป็นคนที่มีความจริงใจในการที่จะแก้ปัญหารวมถึงรับรู้สถานการณ์อย่างแท้จริงว่าเกิดอะไรขึ้นในสังคมไทย เพื่อที่จะได้มีความละเอียดรอบคอบในการที่จะมีคำสั่งในคดีนั้นออกมา ก่อนไปสู่ในชั้นอัยการ

ในส่วนของน้องๆ พี่ๆ ที่ต้องถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ ไม่ว่าจะเป็นผู้ต้องหาหรือว่าผู้ได้รับโทษแล้ว ซึ่งจริงๆ นักโทษทางความคิดไม่ควรที่จะอยู่เรือนจำ นักโทษทางความคิดจะต้องออกมาใช้ชีวิตอย่างมีเสรีภาพข้างนอกเรือนจำสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ ส่วนเงื่อนไขในการประกันประกันตัว จริงๆ แล้วไม่ควรมีเลยด้วยซ้ำ เพราะว่า ความคิดและสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกถูกบัญญัติรับรองไว้ตามรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว

สิทธิในการประกันตัวเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ แต่ในความเป็นจริง คือมีคนได้สิทธิและคนไม่ได้สิทธิ และน้องๆ พี่ๆ กี่คนที่ต้องเสียโอกาสเสียอนาคต เสียครึ่งหนึ่งของชีวิตเข้าไปอยู่ในเรือนจำ จริงๆ เขาคือผู้กล้าออกมาแสดงความเห็นแทนใครคนที่ไม่กล้าออกมา แต่สุดท้ายเขาต้องเอาอนาคตเขาไปไว้ในเรือนจำ เพราะฉะนั้น สิทธิในการประกันตัวควรได้รับอย่างเท่าเทียมกันทุกคน ยกเว้นคดีร้ายแรงจริงๆ เข้าองค์ประกอบความผิดแล้วก็มีความเสี่ยงที่อาจจะมีการหลบหนี หรือไปยุ่งกับพยานหลักฐานตามที่เขียนไว้ในประมวลวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งอันนี้ก็เป็นอีกเงื่อนไขหนึ่ง

ส่วนการติดกำไล EM ควรจะติดเฉพาะคนที่ได้รับโทษแล้วออกมาเพราะได้รับการพักโทษ ไม่ควรจะติดในคดีที่ยังไม่ได้มีคำพิพากษาถึงที่สุด

ประสบการณ์ถูกฟ้อง 112 ของเสรีพิสุทธิ์ “ปัญหาอยู่ที่คนไม่ใช่ระบบ”

เสรีพิสุทธิ์ กล่าวว่า ถ้ามีคำพูดคำหนึ่งประโยคหนึ่ง แล้วมีคนคิดว่าเป็นการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์และไปแจ้งความที่สถานีตำรวจ ซึ่งเป็นความผิดที่ยอมความไม่ได้เพราะเป็นอาญาแผ่นดิน แต่เมื่อตำรวจสอบสวนไปและถ้าตำรวจสอบสวนอย่างเที่ยงตรง คำพูดไม่มีหมิ่นก็สามารถมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องไปยังอัยการได้ ถ้าอัยการเห็นด้วยชอบก็จบ และถ้าอัยการไม่เห็นด้วยก็ฟ้องศาล กระบวนการแบบนี้ ยุ่งตรงที่ใครก็ได้มาร้องได้ ก็เลยเกิดคดีขึ้นเยอะแยะ พี่น้องประชาชนก็เดือดร้อนไปหมด

เสรีพิสุทธิ์ เล่าถึงประสบการณ์ต่อสู้ถึงคดี 112 ของตัวเองว่า ภายหลังการเลือกตั้งปี 2551 สมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี มีการย้ายผมไปประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และยัดเยียดหลายข้อหา รวมทั้งมาตรา 112 จำนวน 2 คดี แม้ผมจะเป็นถึงผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

เมื่อมีการกล่าวหาแล้ว จะมีคณะกรรมการพิจารณา ในกรุงเทพฯ ก็จะมีกองบัญชาการตำรวจนครบาล มีผู้บัญชาการตำรวจนครบาลเป็นประธาน ส่วนตำรวจภูธรก็มีคณะกรรมการพิจารณาเหมือนกัน ถ้าคณะกรรมการพิจารณาชุดนี้เสร็จแล้ว ก็จะส่งคณะกรรมการระดับสำนักงานตำรวจแห่งชาติมีความเห็นก่อนสั่งฟ้องไปอัยการ

เมื่อเรื่องผมไปยังกองบัญชาการตำรวจนครบาล มีความเห็นว่าผมหมิ่น ตามมาตรา 112 ทั้ง 2 คดี

“ถ้าเป็นคนอื่นที่ไม่ใช่เสรีพิสุทธิ์ ก็เรียบร้อย แต่เสรีพิสุทธิ์วิชาเยอะ … เขาอยากจะสอบก็สอบมา อยากจะแจ้งก็ข้อกล่าวหาก็แจ้งมา เขาก็รวบรวบหลักฐานมา แต่พอเราจะให้การ เราไม่ไปให้การด้วยปากคำ เพราะมันไม่ครบถ้วน เราให้การเป็นหนังสือไป ขณะเดียวกันอ้างพยานบุคคล พยานเอกสารส่งไปให้เขา เมื่อส่งไปคณะกรรมการที่สอบสอนก็ต้องเชิญพยานต่างๆ มา … เราก็ติดตามดูว่าดำเนินการสอบสวนไปถึงไหน ถ้าใกล้จบ ก็เอาพยานเอกสารไปเพิ่ม … เขาจะเร่งรัดให้คดีผมเสร็จก่อนที่ พล.ต.อ.พัชรวาท จะเกษียณ (พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ – อดีต ผบ.ตร.)” เพื่อให้พัชรวาทสั่งฟ้อง ผมก็มองคนเกษียณต้อง 30 กันยายน … เพราะฉะนั้นผมต้องถ่วงให้เกิน 30 กันยายน”  

สุดท้าย กองบัญชาการตำรวจนครบาลมีคำสั่งให้ฟ้อง แต่พอถึงสำนักงานตำรวจแห่งชาติมีคำสั่งไม่ฟ้อง พอส่งเรื่องอัยการก็มีคำสั่งไม่ฟ้องเช่นกัน เสรีพิสุทธิ์ กล่าวว่า ปัญหาอยู่ที่คนไม่ได้อยู่ที่ระบบ ถ้าคนเราเป็นคนดีมีคุณธรรมมันก็ดี

“ผมรอดตัวมาได้เพราะชั้นเชิง แต่พี่น้องประชาชนไม่มีประสบการณ์เชิงไม่มี ถ้าเจอเจ้าหน้าที่ก็ดี ถ้าเจอไม่ดีกันจะเป็นแบบนี้ เป็นเรื่องผู้ปฏิบัติ เป็นเรื่องเจ้าหน้าที่ทั้งนั้น วิธีการก็คือใครก็ได้กล่าวหาใคร ใครก็ได้ยัดเยียดข้อหาใคร ใครก็ได้ตีความภาษาไทยไปยังไง เฉพาะฉะนั้นต้องเปลี่ยนให้สำนักพระราชวังเป็นเจ้าภาพ”