ศาลจังหวัดกระบี่นัดฟังคำพิพากษาคดีมาตรา 112 จากการแชร์คลิปสาปแช่งประยุทธ์ 20 ก.พ. 66

ศาลจังหวัดกระบี่นัดสืบพยานคดีมาตรา 112 ของ สุรีมาศ หรือ จีน่า แม่เลี้ยงเดี่ยวซึ่งมีอาชีพเป็นนักขายประกันชีวิตบริษัทหนึ่งเป็นวันสุดท้ายเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2565 คดีนี้เป็นอีกหนึ่งคดีที่ผู้ริเริ่มเป็นประชาชนทั่วไป โดยเป็นประชาชนที่อยู่ในจังหวัดเดียวกัน จีน่าจึงไม่ต้องเดินทางไกลไปขึ้นศาลเหมือนจำเลยคดีมาตรา 112 อีกหลายคดี 

มูลเหตุแห่งคดีนี้เกิดขึ้นในวันที่ 8 สิงหาคม 2564 จีน่าได้คัดลอกลิงค์คลิปวิดีโอติ๊กต๊อกที่มีหญิงคนหนึ่งกำลังทำพิธี คล้ายสวดคาถาสาปแช่ง พล.อ.ประยุทธ์ จากกลุ่มเฟซบุ๊กรอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส (ตลาดหลวง) มาโพสต์บนเฟซบุ๊กของตัวเอง โดยตั้งค่าการเผยแพร่โพสต์ดังกล่าวเป็นสาธารณะเช่นเดียวกับโพสต์อื่นๆ บนเฟซบุ๊กของเธอ 

ต่อมามีประชาชนในจังหวัดกระบี่กลุ่มหนึ่งซึ่งไม่ได้เป็นสมาชิกกลุ่มตลาดหลวงมาพบเห็นโพสต์ดังกล่าว โดยที่การแสดงผลของโพสต์ที่เป็นปัญหาบนเฟซบุ๊กของคนที่ไม่ได้เป็นสมาชิกกลุ่มจะปรากฎภาพปกของกลุ่มเฟซบุ๊กตลาดหลวงซึ่งเป็นภาพบุคคลคล้ายรัชกาลที่สิบกำลังเล่นสไลเดอร์ 

ผู้พบเห็นโพสต์จึงนำโพสต์ดังกล่าวเข้าแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษ โดยเข้าใจว่าจีน่ามีเจตนาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ จนจีน่าถูกจับกุมดำเนินคดี ซึ่งจีน่าให้การปฏิเสธและต่อสู้คดี หลังการสืบพยานแล้วเสร็จ ศาลนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2566

ในเดือนสิงหาคม 2564 เป็นอีกช่วงหนึ่ง ที่สถานการณ์ทางการเมืองในภาพรวมมีความตึงเครียดค่อนข้างมาก ในวันที่ 7 สิงหาคม 2564 กลุ่มเยาวชนปลดแอกนัดชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยก่อนเคลื่อนขบวนไปที่หน้ากรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ เพื่อขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ ทว่าก็ถูกสลายการชุมนุมด้วยความรุนแรง  

จีน่าซึ่งติดตามสถานการณ์การชุมนุมที่กรุงเทพฯ มีความไม่พอใจกับวิธีการสลายการชุมนุม ต่อมาในวันที่ 8 สิงหาคม ระหว่างที่จีน่าเล่นเฟซบุ๊กก็บังเอิญมีคลิปวิดีโอหญิงคนหนึ่งทำพิธีสาปแช่ง พล.อ.ประยุทธ์ เด้งขึ้นมาในหน้าฟีดของเธอ จีน่าเห็นว่าคลิปดังกล่าวตลกดี และเข้ากับสถานการณ์ที่ผู้ชุมนุมพยายามขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ แต่ไล่ยังไงก็ไม่ไป เธอจึงนำคลิปดังกล่าวไปเผยแพร่บนเฟซบุ๊กของเธอพร้อมเขียนข้อความประกอบว่า “หนทางเดียวของกูละ ไอ่เปรตนี่.. เด่วกูจัด”

เนื่องจากคลิปดังกล่าวถูกเผยแพร่ต่อในกลุ่มเฟซบุ๊กตลาดหลวงซึ่งเป็นกลุ่มส่วนตัวซึ่งไม่มีปุ่มแชร์ให้แบ่งปันไปเนื้อหาไปยังโพสต์ของเธอได้โดยอัตโนมัติ จีน่าจึงใช้วิธีคัดลอกลิงค์ไปวางในเฟซบุ๊กส่วนตัวโดยที่เธอไม่ทราบมาก่อนว่าแม้เธอจะตั้งค่าโพสต์ดังกล่าวเป็นสาธารณะ แต่เนื่องจากต้นทางของโพสต์เป็นกลุ่มส่วนตัว การแสดงผลบนเฟซบุ๊กของผู้ใช้ที่ไม่เป็นสมาชิกของกลุ่มตลาดหลวงจะแตกต่างกันกับโพสต์ต้นทาง

หลังเผยแพร่เนื้อหาดังกล่าวไปจีน่าก็ไม่ได้สนใจหรือกลับไปทำอะไรกับโพสต์นั้นอีก และไม่ทราบมาก่อนว่าเธอจะถูกดำเนินคดี กระทั่งในวันที่ 7 เมษายน 2565 หรือประมาณแปดเดือนหลังจากที่เธอเผยแพร่เนื้อหาดังกล่าวก็มีตำรวจสามนายนำหมายจับมาจับตัวจีน่าที่บ้าน ในขณะที่ตำรวจมาที่บ้านจีน่าเพิ่งอาบน้ำเสร็จ 

เมื่อทราบว่ามีตำรวจมาที่บ้านเธอก็เปิดประตูออกไปดูทั้งๆ ที่ยังใส่ผ้าพันตัวกระโจมอก เมื่อตำรวจเห็นจีน่าก็เริ่มอ่านหมายจับให้เธอฟัง ระหว่างนั้นมีตำรวจนายหนึ่งบันทึกภาพเธอ ซึ่งจีน่าก็ต่อว่า ให้หยุดการบันทึกภาพเพราะเธอยังอยู่ในสภาพนุ่งกระโจมอก จีน่ายังโต้แย้งตำรวจด้วยว่าเธอไม่เคยโพสต์หรือแชร์เนื้อหาที่เป็นการพาดพิงสถาบันฯ เลย ทันทีที่จบประโยคดังกล่าว ตำรวจนายหนึ่งก็ทำการจับกุมโดยพยายามใส่กุญแจมือเธอ แต่จีน่าบิดมือออกและร้องให้คนช่วย เพราะคิดว่าเรื่องที่เกิดขึ้นนี้ไม่ใช่เรื่องจริง หมายจับไม่น่าจะใช่ของจริง และชายฉกรรจ์ทั้งสามคนก็ไม่มีใครสวมเครื่องแบบ มีเพียงชายคนเดียวในกลุ่มดังกล่าวที่ห้อยบัตรประจำตัวซึ่งจีน่าเห็นว่าอาจมีการปลอมแปลงได้ 

จีน่ายังตั้งข้อสังเกตด้วยว่าเหตุใดตำรวจจึงไม่ออกหมายเรียกมาก่อนทั้งที่เธอก็ไม่ได้หลบหนีและใช้ชีวิตตามปกติ จีน่าเล่าด้วยว่าบุคคลทั้งสามทำท่าจะจับกุมตัวเธอซึ่งอยู่ในสภาพที่ผ้านุ่งกำลังจะหลุด เธอจึงนั่งลงกับพื้นเพื่อปิดบังร่างกายที่เกือบไร้อาภรณ์ปกปิด ระหว่างนั้นลูกสาวของจีน่ามาทันเหตุการณ์พอดีจึงเข้ามาเจรจากับตำรวจให้แม่ของเธอได้แต่งตัวก่อนแล้วจะให้นำตัวไปสถานีตำรวจ

จีน่าถูกควบคุมตัวไว้ที่สถานีตำรวจหนึ่งคืนก่อนที่ศาลจะอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวเธอผ่านทางระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ในวันถัดมา ตั้งแต่ชั้นสอบสวนและชั้นอัยการ จีน่ายังไม่ทราบว่าโพสต์ที่เป็นปัญหาแห่งคดีคือโพสต์ใดเพราะภาพหลักฐานที่นำมาใช้ดำเนินคดีเธอไม่ใช่ภาพที่ตัวของจีน่าเป็นผู้โพสต์ แต่เป็นภาพที่เกิดจากระบบการแสดงผลของเฟซบุ๊กที่แตกต่างกันระหว่างผู้ใช้งานที่เป็นสมาชิกกลุ่มตลาดหลวงกับบัญชีที่ไม่ได้เป็นสมาชิกกลุ่ม

ประกอบกับวันที่ที่ปรากฎบนภาพบันทึกหน้าจอที่ใช้เป็นหลักฐานทำขึ้นในวันที่ 9 สิงหาคม 2564 ซึ่งเป็นเวลาหนึ่งวันหลังวันที่จีน่าเผยแพร่โพสต์ แทนการระบุเวลาที่เผยแพร่จริง ทำให้การหาโพสต์ต้นทางที่เป็นปัญหาเป็นไปอย่างยากลำบาก 

ทนายความและจีน่าเพิ่งมาทราบว่าโพสต์ที่เป็นประเด็นปัญหาจริงๆ คือโพสต์ใดในวันที่ 29 มิถุนายน 2565 หลังศาลนัดคุ้มครองสิทธิแจ้งให้ทราบถึงวันที่ เดือน ปี เวลาที่โพสต์ และมีทีมงานของทนายความที่มีความเชี่ยวชาญด้านคอมพิวเตอร์และการใช้เฟซบุ๊กมาช่วยกันค้นหาจนเจอ

ศาลจังหวัดกระบี่นัดสืบพยานคดีของจีน่ารวมสามนัดระหว่างวันที่ 23 – 25 พฤศจิกายน 2565 เป็นการสืบพยานโจทก์สิบปากรวมสองนัด สืบพยานจำเลยสามปากรวมหนึ่งนัด ประเด็นหลักที่โจทก์มุ่งสืบคือจำเลยเป็นเจ้าของเฟซบุ๊กและเป็นผู้โพสต์ภาพที่เป็นปัญหาแห่งคดี

ส่วนประเด็นหลักที่จำเลยนำสืบต่อสู้ คือจำเลยไม่มีเจตนากระทำการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ และโพสต์ที่จำเลยนำไปเผยแพร่ต่อบนเฟซบุ๊กของตัวเองก็ไม่ใช่เนื้อหาที่หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ แต่เป็นคลิปวิดีโอที่หญิงคนหนึ่งทำพิธีสาปแช่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ส่วนการแสดงผลตามที่มีประชาชนมาร้องทุกข์กล่าวโทษเกิดจากระบบการแสดงผลของเฟซบุ๊กโดยที่ตัวจำเลยไม่เคยรับรู้ถึงข้อเท็จจริงดังกล่าว

หลังการสืบพยาน ทนายธีรพันธุ์ พันธุ์คีรี ทนายความอาสาของศูนย์ทนายเพื่อสิทธิมนุษยชนซึ่งให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายกับจีน่าเปิดเผยว่า คดีนี้เป็นอีกหนึ่งในตัวอย่างของคดีที่ประชาชนเป็นผู้ริเริ่มดำเนินคดีกันเอง พยานโจทก์เจ็ดปากในคดีนี้คือตัวผู้กล่าวหาและคนที่นั่งประชุมอยู่ในที่เดียวกัน 

เมื่อผู้กล่าวหาพบเห็นโพสต์ของจีน่าจึงนำมาให้คนที่นั่งประชุมอยู่ด้วยกันดู พยานส่วนใหญ่ดูโพสต์จากโทรศัพท์ของพยานผู้กล่าวหา มีเพียงหนึ่งหรือสองคนที่ดูโพสต์ดังกล่าวจากโทรศัพท์ของตัวเอง เมื่อมาเบิกความพยานทั้งเจ็ดปากต่างเบิกความในประเด็นซ้ำๆ กัน สำหรับการกระทำที่ผู้กล่าวหานำมาดำเนินคดีกับจำเลยก็เป็นการกระทำที่เป็นคนละเรื่องกับสิ่งที่จำเลยได้ทำลงไปจริงๆ แต่เป็นเรื่องระบบการแสดงผลของเฟซบุ๊กที่คนทั่วไปก็อาจไม่ทราบ

ธีรพันธุ์ กล่าวต่อไปว่าการแสวงหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับคดีนี้ค่อนข้างลำบาก เพราะภาพบันทึกหน้าจอที่ผู้กล่าวหานำมาใช้เป็นพยานหลักฐานคดีนี้ไม่ระบุวันที่ที่แน่นอนประกอบกับตัวจำเลยไม่ได้เป็นผู้โพสต์ภาพตามที่ถูกกล่าวหาด้วยตัวเองจึงไม่ทราบว่าจะเริ่มต้นค้นหาหลักฐานบนเฟซบุ๊กอย่างไร ทั้งกว่าจำเลยจะมาถูกจับก็เป็นเวลาที่ล่วงมาจากวันเกิดเหตุหลายเดือน 

ธีรพันธุ์ระบุด้วยว่า ยังดีที่จำเลยมีสติ ไม่ลบโพสต์ดังกล่าว และลูกของจำเลยพอมีความรู้เกี่ยวกับกฎหมายอยู่บ้างจึงเตือนไม่ให้จำเลยลบโพสต์ เพราะถ้าหากจำเลยตกใจและลบโพสต์ไปก่อน ก็เป็นเรื่องยากที่จะไปหาหลักฐานมาพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตัวเอง

สำหรับความคาดหวังต่อทิศทางของคดี ธีรพันธุ์ระบุว่า คดีนี้เป็นคดีที่สู้กันด้วยประเด็นทางเทคนิคที่เป็นวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่ประด็นความเห็น จึงเชื่อว่า ที่สุดแล้วศาลจะพิพากษายกฟ้อง

ธีรพันธุ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ระหว่างการสืบพยาน พยานโจทก์ที่เป็นประชาชนบางปาก ได้แสดงออกอย่างชัดเจนว่ามีทัศนคติทางการเมืองแตกต่างจากจำเลยอย่างสุดขั้ว ซึ่งไม่สอดคล้องกับที่พยานเหล่านั้นที่ตอบอัยการว่า ไม่เคยมีเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน นอกจากนั้นพยานบางส่วนยังรับกับพนักงานสอบสวนด้วยว่าพวกเขาติดตามความเคลื่อนไหวของเฟซบุ๊กจำเลยอยู่เป็นประจำด้วย

ธีรพันธุ์ยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่า จริงๆ แล้วในคดีนี้ตำรวจเคยเรียกผู้ใช้เฟซบุ๊กที่เป็นสมาชิกกลุ่มตลาดหลวงที่ได้เขียนแสดงความคิดเห็นท้ายโพสต์ที่เป็นปัญหาในคดีนี้มาสอบปากคำ ซึ่งพยานเหล่านั้นให้การเป็นประโยชน์กับจำเลยและได้เห็นว่าแท้ที่จริงแล้วสิ่งที่จำเลยโพสต์คืออะไร 

แต่ปรากฎว่าอัยการกลับไม่ได้ออกหมายเรียกพยานเหล่านั้นมาให้การในศาล และเพิ่งมาส่งคำให้การของพยานที่ได้เขียนแสดงความคิดเห็นท้ายโพสต์ของจำเลยในชั้นสอบสวน เข้าสำนวนในช่วงท้ายหลังการการสืบพยานเสร็จสิ้น ขณะที่ฝ่ายจำเลยก็ประสบข้อขัดข้องไม่สามารถติดตามพยานเหล่านั้นให้มาเบิกความได้