พรชัย : คนบนดอยที่ไม่ยอมตัดขาดจากโลกภายนอก

“เราจะเป็นคนบนดอยคนเดียวที่มาอยู่ในกรุงเทพฯ และต่อสู้กับเหล่าบรรดานักธุรกิจทั้งหลายเหรอ?”

ในปี 2563 คำถามหนึ่งผุดขึ้นมาในหัวของ “พรชัย วิมลศุภวงศ์” หรือชื่อเล่นที่เขาตั้งให้ตัวเองคือ มาริโอ้ พรชัยเป็นชาวปกาเกอะญอที่ตัดสินใจเดินทางออกจากชีวิต “บนดอย” มาทำงานหากินอยู่ในเมืองหลวง การใช้ชีวิตในสังคมแห่งการแข่งขัน และถูกดูถูกชาติพันธุ์ ทำให้พรชัยมองเห็นถึงความไม่เท่ากันที่มนุษย์ปฏิบัติต่อกัน 

กระทั่งเกิดรัฐประหาร 2549 พรชัยก็สนใจความเป็นไปทางการเมือง ติดตามสังเกตการณ์เรื่อยมา และเข้าร่วมการชุมนุมกับคนรุ่นใหม่ในปี 2563 ต่อมาในปี 2564 พรชัยถูกดำเนินคดีมาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พร้อมๆ กันถึง 2 คดี คดีแรกที่จังหวัดเชียงใหม่ 4 กรรม และคดีต่อมาที่จังหวัดยะลา 3 กรรม โดยทั้งสองคดีริเริ่มโดย “คนธรรมดา” ในพื้นที่ห่างไกลซึ่งไม่เคยรู้จักกันมาก่อน

การถูกฟ้องร้องด้วยมาตรานี้เอง ทำให้เขาต้องเดินทาง “ขึ้นเหนือ-ล่องใต้” เพื่อเข้าร่วมกระบวนการพิจารณาคดี  และในวันที่ 15 ธันวาคม 2565 ศาลจังหวัดยะลาก็กำลังจะมีคำพิพากษา แต่ไม่ว่าผลคำตัดสินจะออกมาเป็นอย่างไร พรชัยเชื่อว่า ตนเองได้ทำหน้าที่ “ปลุกคนบนดอย” ให้ตื่นรู้ อย่างสุดความสามารถแล้ว

คนดอยไม่ควรต้องกลับไปปลูกกะหล่ำปลี

พื้นเพของพรชัยเป็นชาติพันธุ์ “ปกาเกอะญอ” เขาเกิดและเติบโตในอำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน เมื่อโตขึ้น พรชัยเดินทางเข้าไปใช้ชีวิตและแสวงหา “อนาคต” ในกรุงเทพมหานคร และทำงานหาเลี้ยงชีพในเมืองหลวงต่อเนื่องมากว่า 20 ปี โดยเริ่มด้วยสถานะ “คนไร้บ้าน” ที่สถานีรถไฟหัวลำโพง ก่อนจะพยายามหางานเลี้ยงชีพด้วยการสมัครเป็นยามตามแต่สถานที่ต่างๆ จะประกาศรับ ต่อมา เขาเริ่มตั้งตัวทำมาค้าขายโทรศัพท์มือถือและซิมการ์ดบริเวณปากคลองตลาด และทำกิจการค้าขายของตัวเอง

พรชัยเล่าว่า การเปลี่ยนจากชีวิตบนดอยมาสู่เมืองหลวงทำให้เขาต้องเผชิญกับแรงกดดันหลายอย่าง ทั้งการแข่งขันเพื่อทำมาหากิน หรือการดูถูกในความเป็นชาติพันธุ์ และสำเนียงพูดภาษาไทยกลางที่ไม่ชัด แต่ความยากลำบากที่ถาโถมเข้ามานี้เองก็ทำให้เขาได้เข้าถึง “ความไม่เท่ากัน” อย่างถ่องแท้ของมนุษย์ กระทั่งก่อเกิดเป็นการตั้งคำถามและแสวงหาความรู้

“การที่ผมมาใช้ชีวิตอยู่ในกรุงเทพมหานคร ผมถูกผู้คนดูถูกเหยียดหยามเรื่องภาษาและคำพูด ถ้าดูถูกเราอย่างเดียว เรายังรับได้ แต่นี่ลามปามไปถึงประเทศเพื่อนบ้านของเรา ทั้งๆ ที่เราก็เป็นคนไทยคนหนึ่ง มีบัตรประชาชน มีอะไรถูกต้องตามกฎหมายหมด”

“ผมเข้าใจคนบนดอยที่ไม่อยากลงมาใช้ชีวิตร่วมกับโลกภายนอกนะ และไม่ผิดเลยที่เขาจะไม่ลงมาทำงานอยู่ในเมืองที่มีการแข่งขันทางความคิดหรือการแข่งขันที่ต้องใช้ความรู้ความสามารถ บางคนเรียนจบปริญญาตรี แต่ก็กลับไปปลูกกะหล่ำปลี ไปทำไร่ทำนาเหมือนเดิม ไม่ใช่ว่าความรู้เขาไม่มีนะ แต่เขาไม่มีพื้นที่ให้แสดงออก หรืออาจกังวลว่าถ้าพูดอะไรแล้วจะมีคนมาล้อไหม จะมีคนมาชี้หน้าว่าอะไรไหม นี่คือความรู้สึกของพวกเขา”

“ผมเองก็เป็นหนึ่งในนั้น แต่ผมพยายามศึกษาหาความรู้ หนังสือของไทยผมไม่อ่านเลย ผมไปหาหนังสือแปลของตะวันตก พวกฝรั่ง ทีนี้มันก็เลยกลายเป็นแรงบันดาลใจในการต่อสู้ในสนามการแข่งขันหรือการทำมาหากิน การที่ผมได้ใช้ชีวิตท่ามกลางผู้คนที่ดูถูกเหยียดหยาม ด้วยวัฒนธรรมสังคมและการแข่งขันที่มันไม่เคยเท่าเทียมกัน มีต้นทุนทางการศึกษา หรือเศรษฐกิจที่ไม่เท่ากัน แก่งแย่งพื้นที่กัน มันทำให้เราเกิดคำถามว่า เอ๊ะ เราก็เกิดมาเป็นคนเหมือนกันนะ ทำไมเราถึงอยู่ในกลุ่มที่ถูกตัดขาดจากโลกภายนอก”

พรชัยเล่าว่า ได้ไปสังเกตการณ์การชุมนุมด้วยตัวเองมาตลอดตั้งแต่หลังรัฐประหารปี 2549 จนถึงการชุมนุมช่วงปี 2553 การเฝ้ามองและศึกษาการแสดงออกของแต่ละฝ่ายนี่เองทำให้เขามีความสนใจทางการเมือง กระทั่งปี 2563 พรชัยก็เข้าร่วมการชุมนุม แสดงทางออกทางการเมือง พร้อมกับการใช้โซเชียลมีเดียของตนเองเพื่อแสดงความคิดเห็นทางการเมืองอย่างสม่ำเสมอ นอกจากนี้ พรชัยยังมีช่อง YouTube channel รายการวิเคราะห์การเมืองเป็นของตัวเองอีกด้วย

ทว่า ในปี 2564 คลิปวิดีโอที่เขาถ่ายไลฟ์ตัวเองกำลังวิเคราะห์การเมืองไทยคลิปหนึ่ง เป็นเหตุให้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ

“ก่อนช่วงปี 2563 เป็นช่วงที่ผมสร้างเนื้อสร้างตัว อยู่คนเดียวได้สบายทั้งชีวิตเลย แต่ด้วยความที่เราศึกษามากขึ้น มีประสบการณ์และความรู้มากขึ้น มันเลยทำให้เรามองว่า เราจะเป็นคนบนดอยคนเดียวที่มาอยู่ในกรุงเทพฯ และต่อสู้กับเหล่าบรรดานักธุรกิจทั้งหลายเหรอ? ทำไมต้องเป็นเราคนเดียวด้วยล่ะ? คนบนดอยจะอยู่กันต่อไปแบบไหน? เขาจะถูกตัดขัดจากโลกภายนอกแบบนี้ต่อไปไม่ได้ ผมก็เลยออกมา”

“การออกมาในปี 2563 การแสดงออกของผมอยู่ระดับที่พอประมาณและอยู่ภายใต้การแสดงออกอย่างถูกต้อง… มีการพูดกันเยอะมากว่าทำไมผมต้องออกมาพูดข้อเรียกร้องข้อที่ 3 (ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์) ในการชุมนุมคณะราษฎร  หรือทำไมผมต้องออกมาวิพากษ์รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ตอนนั้นผมตั้งไลฟ์สดอภิปรายกระทู้เองเหมือนในสภาเลยนะ ซึ่งนั่นก็เป็นที่มาของคดีที่กำลังจะตัดสินในวันที่ 15 ธันวาคมนี้ด้วย”

นักปฏิวัติวิญญาณไก่และผลไม้เน่า

ช่วงเช้าของวันที่ 10 มีนาคม 2564 พรชัยเล่าว่า เวลาประมาณ 7.00 น. ระหว่างเขากำลังจะออกไปทำงาน มีตำรวจนอกเครื่องแบบประมาณ 30 นายเข้าจับกุมที่หน้าคอนโดของเขา โดยเบื้องต้นเขาถูกสอบสวนเกี่ยวกับเหตุการณ์ “เผาพระบรมฉายาลักษณ์” ที่หน้าศาลอาญา ซึ่งพรชัยปฏิเสธว่าไม่เกี่ยวข้อง ต่อมา เมื่อตำรวจสอบสวนและดูภาพแล้วก็ไม่ได้ดำเนินคดีกับพรชัยจากเหตุดังกล่าว 

แต่พรชัยยังไม่ได้รับอิสรภาพ หลังจากนั้น เขาก็ถูกส่งตัวไปจังหวัดเชียงใหม่ เพราะได้รับแจ้งว่ามีคดีมาตรา 112 ค้างอยู่ที่ สภ.แม่โจ้ โดยเป็นคดีจากการโพสต์เฟซบุ๊ก 4 ครั้ง ด้วยภาพและข้อความเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์และการชุมนุม และในคดีที่เชียงใหม่นี้ เขาถูกควบคุมตัวและศาลก็ให้ฝากขังโดยไม่ให้ประกันตัว ทำให้พรชัยถูกส่งตัวไปที่ “เรือนจำกลางจังหวัดเชียงใหม่” ทันที

ระหว่างที่อยู่ในเรือนจำกลางจังหวัดเชียงใหม่ เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่มีผู้ชุมนุมทางการเมืองถูกคุมขังเป็นจำนวนมาก และคนมีชื่อเสียงอย่าง เพนกวิน พริษฐ์ และรุ้ง ปนัสยา สองนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ประกาศอดอาหารเรียกร้องสิทธิประกันตัว พรชัยเองซึ่งอยู่เรือนจำในเชียงใหม่ก็ประกาศขอ “อดข้าว อดน้ำ” ด้วย

พรชัยเล่าว่า เขารับไม่ได้กับสภาพความเป็นอยู่ในเรือนจำ โดยเฉพาะอาหารที่นำมาให้นักโทษรับประทาน เขาจึงเริ่มทำการอดอาหารประท้วงเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2564 แต่หลังจากนั้น 4 วัน เขามีอาการปวดท้องอย่างหนัก จึงเลิกการทรมานตัวเอง จากนั้น มี “ผู้ใหญ่” ในเรือนจำเข้ามาพูดคุยกับพรชัยเรื่องสวัสดิภาพของผู้ต้องขัง และหลังจากวันนั้นเขาก็ได้รับการดูแลที่ดีกว่าเก่า ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่สอดคล้องกับคำบอกเล่าของผู้ต้องขังการเมืองคนอื่นๆ

“เขาเอาผมไปฝากขังเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2564 ผมไปอยู่ในแดนแรกรับมา 43 วัน ผมไม่รู้ว่าท่าน ผบ.เรือนจำและท่านรอง ผบ.เรือนจำได้ข้อมูลมาจากไหน แต่ว่าที่ผมไปอยู่ที่เรือนจำตอนนั้น ผมสามารถเปลี่ยนแปลงอาหารการกินในเรือนจำได้ (หัวเราะ)”

“พี่น้องที่ไปติดคุกอยู่ในเรือนจำ เราเข้าใจว่าเขาเป็นนักโทษ เขากระทำความผิด เราเข้าใจ แต่เรื่องอาหารการกินอย่าง ‘แกงเขียวหวานไก่’ เขาจะเรียกกันว่า ‘วิญญาณไก่’ หรืออย่างข้าวก็ไม่สุก ผลไม้ก็เป็นผลไม้แบบที่เขาจะเอาไปทิ้งแล้ว แต่เอามาให้นักโทษกินกัน ผมเข้าไป 4 วัน ผมไม่กินข้าว ประท้วงอดอาหารในเรือนจำ น้ำในเรือนจำผมก็ไม่กิน จนท่าน ผบ.เดินมาหาผม เอาน้ำมาให้กิน (หัวเราะ) แล้วก็แยกที่นอนให้ผมนอน”

“วันนั้น ท่าน ผบ.เรือนจำเรียกผมเข้าไปสอบ มาบอกว่า ‘อย่ามาปลุกคนในเรือนจำนะ’ ผมก็เลยบอกว่า ‘ท่าน ผบ. ครับ คนที่เขามาเป็นนักโทษ เขามีจิตสำนึกความเป็นคน เขายังเป็นมนุษย์ ไม่ใช่สัตว์ เพราะฉะนั้น การดูแล อาหารการกิน ควรจะอยู่ในขอบเขตที่พอประมาณกว่านี้นะ ถ้าขนาดนี้มันไม่ใช่แล้ว’ ผมบอกไปแบบนี้”   

หลังสิ้นสุดการสื่อสารในวันนั้น ท่ามกลางอากาศที่ยังคงหนาวในเดือนมีนาคม ชีวิตในเรือนจำแห่งดอยสุเทพของพรชัย รวมทั้งนักโทษคนอื่นๆ ก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป 

“การอาบน้ำผมก็ไม่ได้อาบน้ำเหมือนคนทั่วไปนะ เขาแยกที่ให้ผมอาบน้ำ เวลาผมนอนก็ให้คนดูแลผมทุกคืนเลย เวลาคนอื่นนอนเขาขาสั่นกันเลยนะ ขาบิดกันเลย แต่ห้องที่ผมนอนเขาแยกออกไปให้นอนกันไม่กี่คน ผมขอใช้สิทธิ์อะไร เขาให้ผมหมด ขออะไรได้ภายใน 10 นาที ในนั้นมีคนดูแลผมอย่างดี บีบนวดให้ตอนก่อนนอน เวลาเดินไปที่ไหน ก็จะมีนักโทษชั้นดีมาติดตามดูแลผมอย่างดี ไม่มีใครมากระทบกระแทกเลย ใครคนไหนมาข่มขู่ผมจะย้ายออกทันทีเลย”

“ก่อนที่ผมจะออก ทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ตั้งแต่ผมมา อาหารการกินดีขึ้น ทุกอย่างดีขึ้นหมดเลย บางคนบอกว่าเข้าออกเรือนจำมา 20 กว่าปี ยังไม่เคยเห็นใครคนไหนมาเปลี่ยนแปลงอาหารการกินในเรือนจำ ทำไมพี่ทำได้ บางคนออกมาแล้วยังโทรมาคุยกับผมนะว่าตอนนี้อาหารยังเหมือนเดิม กับข้าวเต็ม กินอิ่มกันทุกคน”

2 คดี ตีตั๋วทริป “เหนือ-ใต้”

คดีมาตรา 112 ที่เชียงใหม่เริ่มต้นขึ้นโดย “เจษฎา ทันแก้ว” อดีตการ์ดกลุ่ม กปปส. เป็นผู้เข้ากล่าวโทษกับ สภ.แม่โจ้ รวม 4 กรรม

มากไปกว่านั้น หลังจากเข้าเรือนจำที่เชียงใหม่ได้แค่วันเดียว พรชัยก็ได้รับข่าวร้ายเพิ่ม เมื่อตำรวจจาก สภ.บันนังสตา จังหวัดยะลา เดินทางไกลมาพบเข้าที่เชียงใหม่เพื่อแจ้งข้อกล่าวหาคดีมาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ อีกคดี รวม 3 กรรม โดยมีวัชรินทร์ นิวัฒน์สวัสดิ์ ภาคีประชาชนปกป้องสถาบันฯ ชาวอำเภอบันนังสตาเป็นผู้ริเริ่มแจ้งความไว้ที่ สภ.บันนังสตา

ด้วยเหตุนี้ พรชัยจึงถูกดำเนินคดีมาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พร้อมๆ กันถึง 2 คดี และต้องเดินทางไปกลับ กรุงเทพฯ – เชียงใหม่ และ กรุงเทพฯ – ยะลา เพื่อเข้าร่วมกระบวนการทางกฎหมายไปพร้อมๆ กัน

จุดเริ่มต้นของคดีมาตรา 112 ทั้ง 2 คดีของพรชัยนั้นมีลักษณะเดียวกัน คือ ถูกแจ้งความโดยสมาชิกของเครือข่ายประชาชนปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ และเป็นประชาชนธรรมดาที่ไม่ได้เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ไปดำเนินการในนามของกลุ่มสังกัด ไม่ได้ทำในนามปัจเจกบุคคล ซึ่งทั้งสองกลุ่มก็ต่างมีสมาชิกกระจายอยู่ในหลายจังหวัดรวมทั้งกรุงเทพมหานคร แต่มักจะเลือกให้ตัวแทนสมาชิกที่อยู่ในจังหวัดห่างไกลเป็นผู้ไปริเริ่มคดีเพื่อสร้างภาระแก่จำเลย  

“กระทบเยอะมาก ทั้งหน้าที่การงาน หรือเป้าหมายที่วางแผนเอาไว้ แต่ด้วยความที่เป็นคนเติบโตมาในมาตรฐานของผม ไม่ยอมแพ้ ไม่ว่าจะเจออะไรจะหาทางออกของตนเองได้ ซึ่งค่าใช้จ่ายสูงมาก ไป (นัดศาล) แต่ละครั้งใช้เวลา 4-6 วัน เสียเวลาทำมาหากิน”

“นับถึงทุกวันนี้ก็ปาไปหลายหมื่นแล้วนะ เพราะนั่งเครื่องไปกลับ นั่งรถตู้ ตอนนั้นมันเป็นช่วงโควิด-19 ด้วย เราบินไปโดยตรงไม่ได้ เราต้องลงที่หาดใหญ่ แล้วไปเช่ารถตู้ส่วนตัว หนึ่งคันต่อคนเพราะเขาไม่ให้นั่งด้วยกัน เท่ากับค่าเดินทางของเราตอนนั้น เฉลี่ยแล้วมาถึงวันนี้ก็ประมาณ 2-3 หมื่น ราคานี้เฉพาะคดียะลาอย่างเดียว”

อย่าสะใจในโลกที่คนอื่นต้องเผชิญ

เมื่อถามถึงความรู้สึกที่ต้องเปลี่ยนสถานะมาสู่ “ผู้ต้องหา มาตรา 112” พรชัยตอบว่า รู้สึกไม่ดีกับสถานการณ์การใช้กฎหมายเอาผิดกับผู้เห็นต่างที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าผลคำตัดสินจะออกมาเป็นอย่างไร เขาก็เชื่อว่า ตนเองได้ทำหน้าที่ “ปลุกคนบนดอย” ให้ตื่นรู้ อย่างสุดความสามารถแล้ว

“ทุกวันนี้ พลังความคิดที่เรามีแตกต่างกัน มันเป็นเรื่องปกตินะ แต่ประเด็นที่เป็นปัญหา เราไม่ควรไปใส่ความกัน มันจะทำให้เขาเดือดร้อนจริงๆ นะ คุณจะโกรธ จะแค้นใคร คุณควรจะให้พื้นที่ของกันและกัน เวลาคุณได้ความสะใจ ฉันเอาชนะเธอได้เพราะฉันมีกฎหมาย สะใจที่เอาคนนั้นคนนี้เข้าเรือนจำได้ คุณอย่าเอาความสะใจในโลกที่คนอื่นต้องเผชิญ ถ้าคุณเป็นเขา คุณจะรู้สึกอย่างไร ผมอยากให้คิดแบบนี้”

“ผมได้แต่ภาวนาให้คำว่า ‘คน’ หรือ ‘คนในแผ่นดิน’ ไม่ว่าเราจะเป็นใครมาจากไหน มองว่าเรามีเลือดที่เป็นสีแดงเหมือนกันดีกว่าไหม ดีกว่าที่เราจะมองว่าเป็นสีดำ สีเขียว สีเหลือง สีอะไรก็ตามแต่ อย่าไปมองกันแบบนั้นดีกว่า เพราะคนที่เขาได้รับผลกระทบจากการถูกดำเนินคดี มันเหนื่อยนะ มันท้อแท้นะ ถ้าคนที่ไม่เคยผ่านประสบการณ์การต่อสู้เลย เป็นธรรมดามากถ้าเขาจะฆ่าตัวตาย จะเป็นโรคซึมเศร้า ผมบอกได้เลย”

“เราก็เตรียมใจนะ เตรียมกำลังใจ กำลังความคิด ว่าเราจะต้องเผชิญกับวินาทีสุดท้ายที่ศาลพิพากษานั้น ไม่ว่าผลจะออกมาเป็นหน้ามือหลังมือ ผมก็คิดว่านั่นเป็นจุดที่เราต้องเตรียมพร้อมจนกว่าจะถึงตอนนั้น คำพิพากษาคืออนาคตของเราทั้งคน เป็นทั้งชีวิตของเราเลยก็ว่าได้”

“ถ้าวันหนึ่งผมถูกตัดสินว่าผิด ไม่ว่าประเด็นไหนก็ตาม ผมเชื่อว่า ผมก็ทำดีที่สุดแล้วแล้ว เพราะวันนี้อย่างน้อยๆ คนบนดอย คนชนเผ่า มากกว่า 6 ล้านกว่าคน เขารู้จักผมหมดเลยทุกคน หลังเหตุการณ์หลายอย่างมันเปลี่ยนแปลง… วันนี้เราจะได้เห็นแล้วว่า คนบนดอยก็ทำอะไรที่มันแตกต่างได้ คนบนดอยได้ตื่นขึ้นมาแล้ว”

You May Also Like
อ่าน

กสม.ชี้หน่วยงานรัฐไทยเอี่ยวใช้สปายแวร์เพกาซัส ชงครม.สั่งสอบ-เรียกเอกสารลับ

กสม. เชื่อว่า มีการใช้สปายแวร์ เพกาซัสละเมิดสิทธิจริง โดยพิจารณาจากความน่าเชื่อถือของการตรวจสอบทางเทคนิคคอมพิวเตอร์ และบริบทแวดล้อมในต่างประเทศ นอกจากนี้ยังระบุด้วยว่า หน่วยงานรัฐไทยมีส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้สปายแวร์
อ่าน

ขนุน สิรภพ กับความเติบโตในสายตาของอาจารย์

ชวนฟังมุมมองของอาจารย์ที่มีต่อลูกศิษย์ผู้ถูกคุมขังด้วยประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112