2022 Judgement Days Recap: ขอบเขตที่ยังไม่แน่ชัด / ยกฟ้องคดี “ฟ้องทางไกล” เพราะพยานหลักฐานอ่อน ประเด็นเด่นคำพิพากษา 112 รอบปี 65

หากปักหมุดว่า ปี 2563 คือปีแห่งการลุกขึ้นสู้ของผู้ชุมนุมที่เรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ปี 2564 ก็คงจะเป็นปีแห่งการโต้กลับที่รัฐใช้กลไกและองคาพยพต่างๆ รวมถึงประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ดำเนินคดีกับผู้ชุมนุม ส่งผลให้เข้าสู่ยุคสมัยที่คดีมาตรา 112 พุ่งสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ มาถึงปี 2565 คดีที่เริ่มต้นในปี 2563 และ ปี 2564 จำนวนหนึ่งทยอยเข้าสู่ศาล และศาลได้ดำเนินกระบวนพิจารณาคดีจนมีคำพิพากษาออกมาแล้ว

สำหรับประเด็นเด่นของคำพิพากษาที่ออกมาในปี 2565 ได้แก่ เรื่องการตีความขอบเขตความคุ้มครองของมาตรา 112 เพราะคำพิพากษาที่ออกมาในปีนี้มีทั้งคำพิพากษาที่ศาลตีความขยายขอบเขตไปคุ้มครองพระมหากษัตริย์ในอดีต และตีความไปคุ้มครองถึง “สถาบัน” ซึ่งไม่ใช่ถ้อยคำที่ปรากฎอยู่ในตัวบท ขณะเดียวกันก็มีคำพิพากษาที่ศาลตีความเคร่งครัดโดยจำกัดความคุ้มครองเฉพาะผู้ที่กำลังดำรงตำแหน่งสำคัญทั้งสี่ตำแหน่งที่อยู่ในกฎหมายเท่านั้น นอกจากนั้นก็มีแนวทางต่อเนื่องกันที่ศาลในจังหวัดห่างไกลมีคำพิพากษายกฟ้องคดีมาตรา 112 หลายคดีที่เริ่มต้นจากประชาชนร้องทุกข์กล่าวโทษกันเอง เพราะพยานหลักฐานทางอิเล็กทรอนิกส์ที่ผู้กล่าวหาจัดทำมาไม่น่าเชื่อถือ

การตีความ “กว้างขวาง” ที่ยังไม่มีข้อยุติ

ประเด็นขอบเขตของประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ทั้งในมิติกาลเวลาว่ากฎหมายคุ้มครองเฉพาะการกระทำที่เกิดขึ้นในขณะที่ผู้ถูกล่วงละเมิดดำรงตำแหน่งอยู่ หรือคุ้มครองไปถึงอดีตผู้ดำรงตำแหน่ง และในมิติของผู้ได้รับความคุ้มครองว่าหมายถึงเฉพาะผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญที่สี่คือพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ หรือคุ้มครองรวมไปถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ คือ ประเด็นที่ยังไม่มีข้อยุติเพราะคำพิพากษาของศาลที่ออกมาในปี 2565 เพราะมีหลายคดีที่ตีความและวางบรรทัดฐานไม่ตรงกัน

คดีจรัส ศาลอุทธรณ์เปลี่ยนแนวทาง ให้คุ้มครองอดีตกษัตริย์รัชกาลที่ 9 

จรัส ผู้ใช้เฟซบุ๊กชาวจันทบุรี ถูกกล่าวหาว่าโพสต์ข้อความวิพากษ์วิจารณ์แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงของพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่เก้า ในกลุ่มเฟซบุ๊ก “เพจจันทร์บุรี” ศาลจังหวัดจันทบุรีจะมีคำพิพากษา “ยกฟ้อง” จรัส ในเดือนธันวาคม 2564 โดยศาลให้เหตุผลที่ยกฟ้องว่าจรัสในข้อหาตามมาตรา 112 โดยสรุปได้ว่า

“แม้มาตรา 112 จะไม่ได้ระบุว่าพระมหากษัตริย์ในตัวบ หมายถึงพระมหากษัตริย์ที่ครองราชย์อยู่ในขณะเกิดเหตุหรือไม่ แต่การตีความกฎหมายต้องพิจารณาถึงเจตนารมณ์และตีความโดยเคร่งครัด การตีความคำว่าพระมหากษัตริย์ตามมาตรา 112 จึงหมายถึงพระมหากษัตริย์ที่กำลังดำรงตำแหน่งเท่านั้น ไม่เช่นนั้นจะหาขอบเขตอันเป็นองค์ประกอบความผิดไม่ได้” 

แม้ศาลจะพิพากษายกฟ้องจรัสในส่วนของมาตรา 112 แต่ก็พิพากษาว่า จรัสมีความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ โดยโทษที่จรัสต้องรับหลังศาลลดโทษให้คือจำคุก 1 ปี 4 เดือน และถูกปรับเงิน 26,666.66 บาท โดยศาลให้รอการลงโทษจำคุกไว้ 2 ปี 

ต่อมาในวันที่ 22 พฤศจิกายน 2565 ศาลอุทธรณ์มีคำสั่ง “กลับ” คำพิพากษาศาลชั้นต้นในส่วนของความผิดตามมาตรา 112 จากที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องเป็นพิพากษาว่า จรัสมีความผิด พร้อมทั้งให้เหตุผลโดยสรุปได้ว่า      

“ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 อยู่ในประมวลกฎหมายอาญาหมวดความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร แม้การกระทำความผิดจะกระทบต่อพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท เพียงพระองค์เดียว ย่อมมีผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ การดำรงตำแหน่งพระมหากษัตริย์ กระทำโดยการสืบสันตติวงศ์ตามกฎมณเฑียรบาล ทำให้พระมหากษัตริย์จะสืบทอดทางสันตติวงศ์ทางสายพระโลหิตติดต่อกันมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งราชวงศ์จักรี ตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ต้นราชวงศ์ ตลอดมาจนกระทั่งรัชกาลปัจจุบัน

การที่กฎหมายไม่ได้บัญญัติว่าพระมหากษัตริย์จะต้องครองราชย์อยู่เท่านั้น แม้จะเป็นการกระทำต่อพระมหากษัตริย์ซึ่งสวรรคตไปแล้ว ก็ยังเป็นความผิดตามกฎหมายดังกล่าว ทั้งการหมิ่นประมาทหรือดูหมิ่นอดีตพระมหากษัตริย์ก็ย่อมกระทบถึงพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบันที่ยังคงครองราชย์อยู่ ในคดีนี้การที่จำเลยกล่าวพาดพิงทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงของรัชกาลที่เก้าในลักษณะเป็นการหมิ่นประมาท รัชกาลที่เก้าทรงเป็นพระบิดาของพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบัน หากตีความว่าพระมหากษัตริย์ต้องเป็นองค์ปัจจุบันที่ยังทรงครองราชย์อยู่ ก็จะเป็นช่องทางให้เกิดการละเมิด หมิ่นประมาท ดูหมิ่น ให้กระทบต่อพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบัน” 

อย่างไรก็ในส่วนของบทกำหนดโทษ ศาลอุทธรณ์ยังคงใช้บทลงโทษเดียวกับที่ศาลชั้นต้นวางไว้ จรัสจึงยังไม่ถูกคุมขังในเรือนจำ 

คดีพอร์ท และเพชร ศาลให้คุ้มครองทั้ง “สถาบัน” ไม่ใช่แค่ตัวบุคคลหรือตำแหน่ง

ในขณะที่คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในคดีของจรัสขยายความคุ้มครองของประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ไปครอบคลุมอดีตผู้ดำรงตำแหน่งพระมหากษัตริย์ คำพิพากษาศาลอาญาในคดีของปริญญา หรือพอร์ท มือกีตาร์วงไฟเย็น ซึ่งออกมาเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2565 และคำพิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวกลางของธนกร หรือเพชร ซึ่งออกมาเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2565 เป็นคำพิพากษาที่ขยายขอบเขตของมาตรา 112 ให้ไปคุ้มครอง “สถาบันพระมหากษัตริย์” ซึ่งเป็นคำที่ไม่มีอยู่ในตัวกฎหมาย 

ปริญญาถูกกล่าวหาว่า โพสต์ข้อความที่เข้าข่ายความผิดรวมสามข้อความ โดยที่ทั้งสามข้อความไม่ได้มีการระบุชื่อบุคคลใด ข้อความแรกที่ถูกฟ้องปริญญาเขียนทำนองว่า สถาบันพระมหากษัตริย์ที่มีประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งมีโทษร้ายแรงให้ความคุ้มครองเป็นสิ่งงมงาย ข้อความนี้แม้จะไม่ได้มีการเอ่ยพระนามหรือชื่อของผู้ดำรงตำแหน่งใดโดยตรงแต่ศาลก็พิพากษาว่าเป็นความผิดโดยให้เหตุผลว่า ข้อความดังกล่าวไม่เป็นความจริง เพราะสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสถาบันที่มีความสำคัญ พระมหากษัตริย์ใช้อำนาจผ่านสถาบันนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ จึงไม่ใช่สิ่งงมงาย 

ข้อความที่สอง ซึ่งเป็นเนื้อเพลงมีคำว่า “สถาบันกากสัส” ซ้ำๆอยู่ในเนื้อเพลง ส่วนข้อความที่สามที่เขียนว่า “ไม่มีกษัตริย์เซ็นรับรองการทำรัฐประหารก็แบบนี้แหละ” ประกอบกับข่าวการรัฐประหารในประเทศตุรกี ศาลมองว่า เป็นการเขียนในลักษณะโยนความผิดให้สถาบันพระมหากษัตริย์ ท้ายที่สุดปริญญาถูกพิพากษาจำคุกเป็นเวลารวมหกปี 

สำหรับคดีของธนกร หรือ เพชร ซึ่งขณะถูกดำเนินคดียังเป็นเยาวชน มีมูลเหตุมาจากคำปราศรัยของเขาในการชุมนุมที่วงเวียนใหญ่เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2563 ธนกรถูกกล่าวหาว่า ปราศรัยเกี่ยวกับการระบอบการปกครองของประเทศไทยว่าไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตยแต่เป็นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ รวมถึงวิพากษ์วิจารณ์การรัฐประหารไปพาดพิงสถาบันพระมหากษัตริย์ แม้ธนกรจะไม่ได้ปราศรัยถึงชื่อของบุคคลใด แต่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางก็เห็นว่าการปราศรัยของธนกรเป็นความผิด และให้เหตุผลไว้ตอนหนึ่งว่า 

แม้คำปราศรัยของธนกรจะไม่ได้มีการกล่าวถึงพระนามของพระมหากษัตริย์พระองค์ใด แต่ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ไม่ได้คุ้มครองแค่พระมหากษัตริย์พระองค์ใดพระองค์หนึ่ง แต่มุ่งคุ้มครองทั้งสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งถือเป็นการตีความที่กว้าง สำหรับโทษของธนกร เบื้องต้นศาลกำหนดโทษจำคุกของธนกรไว้ที่ 2 ปี โดยไม่รอการลงโทษ แต่ได้ปรับแก้โทษเป็นคุมประพฤติ ให้นำตัวไปฝึกอบรมที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน กำหนดขั้นต่ำ 1 ปี 6 เดือน ขั้นสูงไม่เกิน 3 ปี   

สิ่งที่คล้ายกันของคำพิพากษาคดีของปริญญาและธนกร คือ ข้อความที่เป็นปัญหาในคดีทั้งสอง ไม่ได้ระบุหรือสื่อเข้าใจว่า กล่าวถึงบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ซึ่งมาตรา 112 ให้ความคุ้มครอง แต่ศาลก็พิพากษาว่า ข้อความเหล่านั้นเข้าข่ายความผิดตามมาตรา 112 นอกจากนั้นในคำพิพากษาของทั้งสองคดีศาลยังตีความขยายขอบเขตมาตรา 112 ไปคุ้มครอง “สถาบันพระมหากษัตริย์” ซึ่งไม่ใช่ถ้อยคำที่ระบุไว้ในกฎหมายด้วย และไม่มีเอกสารใดระบุว่ามาตรา 112 มีเจตนารมณ์เช่นนั้นจริง 

หากคำพิพากษาทั้งสองฉบับถูกยึดเป็นบรรทัดฐานก็จะมีปัญหาตามมาในอนาคตว่า บุคคลหรือหน่วยงานใดบ้างที่จะได้รับการคุ้มครองโดยที่ตัวบทกฎหมายไม่จำเป็นต้องเขียนไว้ให้ชดเจน และประชาชนที่วิพากษ์วิจารณ์องค์ประกอบอื่นๆ แต่ไม่ได้แตะต้องบุคคลที่เป็นสมาชิกราชวงค์ เช่น เช่น สำนักทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ หรือส่วนราชการในพระองค์ หรือองคมนตรี จะมีความผิดด้วยหรือไม่

คำพิพากษาที่ตีความ “เคร่งครัด” ไม่ครอบคลุมตัว “สถาบัน” และอดีตกษัตริย์

แม้ในปีนี้จะมีอย่างน้อยสามคดีที่ศาลพิพากษาในลักษณะขยายความคุ้มครองของประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ไปเกินจากที่ตัวบทเขียนไว้ แต่ก็มีคำพิพากษาที่ศาลตีความในลักษณะจำกัดขอบเขตของกฎหมายออกมาด้วยเช่นกัน คือคดีของ ‘วุฒิภัทร’ ซึ่งถูกกล่าวหาว่าโพสต์ข้อความเรื่องกรณีสวรรคตของรัชกาลที่แปดโดยพาดพิงรัชกาลที่เก้าในทางที่อาจก่อให้เกิดความเสียหาย 

25 มีนาคม 2565 ศาลจังหวัดสมุทรปราการพิพากษายกฟ้อง ‘วุฒิภัทร’ เฉพาะข้อกล่าวหาตามมาตรา 112 โดยให้เหตุผลว่า แม้จำเลยจะโพสต์ข้อความพาดพิงในหลวงรัชกาลที่เก้า แต่เจตนารมณ์ของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 คุ้มครองบุคคลเพียงเฉพาะ 4 ตำแหน่ง ได้แก่ พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ที่ยังคงครองราชย์หรือดำรงตำแหน่งอยู่เท่านั้น แม้ศาลจะยกฟ้องมาตรา 112 แต่ก็เห็นว่าการกระทำของ’วุฒิภัทร’ เป็นความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯมาตรา 14(1) และลงโทษจำคุกเขาเป็นเวลาแปดเดือนโดยไม่รอการลงโทษ 
 

นอกจากนั้นก็มีคดีของอิศเรศ ประชาชนชาวจังหวัดนครพนม ที่ถูกกล่าวหาว่า โพสต์ข้อความหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ด้วยการตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับความล่าช้าในการประกาศให้รัชกาลที่สิบขึ้นครองราชย์ วันที่ 16 มีนาคม 2565 ศาลจังหวัดนครพนมมีคำพิพากษายกฟ้องโดยให้เหตุผลว่า ความผิดฐานดูหมิ่นและหมิ่นประมาทจะต้องได้ความว่า หมายถึงบุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นการเฉพาะซึ่งในข้อความที่เป็นประเด็นในคดีไม่ได้ระบุเจาะจงถึงบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ส่วนที่พยานโจทก์เบิกความว่าข้อความของอิศเรศเป็นการดูหมิ่น ให้ร้ายสถาบันพระมหากษัตริย์ ศาลเห็นว่าสิ่งที่พยานโจทก์เบิกความเป็นเพียงความเห็นและการตีความของพยานโจทก์เองทั้งสถาบันพระมหากษัตริย์ก็ไม่ใช่องค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 

และมีคำพิพากษาคดีของทิวากรที่ถูกกล่าวหาว่า โพสต์ภาพตัวเองสวมเสื้อสกรีนข้อความ “เราหมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์แล้ว” และโพสต์ข้อความวิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์อีกสองข้อความ เรื่องการบังคับใช้มาตรา 112 กับข้อความเรียกร้องให้สถาบันพระมหากษัตริย์ปล่อยตัวนักโทษการเมือง วันที่ 29 กันยายน 2565 ศาลจังหวัดขอนแก่นมีคำพิพากษายกฟ้อง โดยให้เหตุผลว่าข้อความที่ทิวากรโพสต์ไม่ได้ระบุถึงบุคคลที่ถูกดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาทให้รู้ได้แน่นอนว่าเป็นองค์พระมหากษัตริย์องค์ใด และสถาบันพระมหากษัตริย์ก็ไม่ใช่องค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112  

ศาลยกฟ้องคดี ‘ฟ้องทางไกล’ เพราะผู้กล่าวหาทำหลักฐานไม่น่าเชื่อถือ

คดีมาตรา 112 ส่วนหนึ่งที่ศาลพิจารณาคดีแล้วเสร็จและมีคำพิพากษาออกมาในปี 2565 เป็นคดีที่มีมูลเหตุจากการแสดงความคิดเห็นบนโลกออนไลน์ ซึ่งคดีเกิดขึ้นเพราะมีกลุ่มประชาชนรวมตัวกันไปร้องทุกข์กล่าวโทษต่อฝ่ายที่เห็นต่างทางการเมือง ซึ่งคดีเหล่านี้พยานหลักฐานที่นำมาใช้กล่าวหาจำเลยมักเป็นเอกสารง่ายๆ ที่คนกล่าวโทษทำขึ้น เช่น ภาพบันทึกหน้าจอจากโทรศัพท์มือถือ ที่อาจขาดรายละเอียดแสดงถึงความเป็นเจ้าของโพส หรือผ่านการตัดแต่ง ย่อขยายก่อนนำไปพิมพ์ลงบนกระดาษเอสี่ ซึ่งการจัดทำพยานหลักฐานในลักษณะดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานที่ปนเปื้อน ขาดความแท้จริง และขาดความน่าเชื่อถือ 

โดยการพิสูจน์ว่า บุคคลใดโพสข้อความจริงหรือไม่ สามารถรวบรวมหลักฐานให้น่าเชื่อได้ โดยอย่างน้อยการเก็บหลักฐานของโพสต้นฉบับต้องสั่งพิมพ์โดยตรงจากเว็บเบราเซอร์โดยตรง วิธีการนี้นอกจากผู้สั่งพิมพ์จะไม่สามารถดัดแปลงแก้ไขข้อมูลใดๆของหน้าเว็บไซต์ที่สั่งพิมพ์ได้แล้ว บนกระดาษที่พิมพ์ออกมายังจะปรากฎวันเวลาที่จัดพิมพ์รวมถึง url หรือที่อยู่ทางอิเล็กทรอนิกส์ของข้อมูลต้นทาง ความน่ากังขาของพยานหลักฐานทางอิเล็กทรอนิกส์นั้นเป็นเหตุให้ศาลยกฟ้องหลายคดีในเวลาต่อมา ได้แก่ คดีของ ‘วารี’ กับ ‘ชัยชนะ’ ที่ศาลจังหวัดนราธิวาส และคดีของพิพัทธ์ที่ศาลจังหวัดสมุทรปราการ

‘วารี’ ชาวจังหวัดสมุทรปราการถูกพสิษฐ์ จันทร์หัวโทน ประชาชนที่อาศัยอยู่ที่จังหวัดนราธิวาสร้องทุกข์กล่าวโทษดำเนินคดีที่สภ.สุไหงโกลก จังหวัดนราธิวาส โดยเธอถูกกล่าวหาว่า โพสต์ภาพและข้อความที่เข้าข่ายความผิดตามมาตรา 112 เป็นการคอมเมนท์ด้วยภาพการ์ตูน เป็นคนนั่งบนเก้าอี้กำลังคล้องเหรียญให้ตัวละครที่ร่างกายเป็นคนหัวเป็นสุนัขกำลังก้มลงหมอบกราบ ในคดีนี้หลักฐานที่พสิษฐ์นำมาใช้ปรักปรำ ‘วารี’ เป็นภาพบันทึกหน้าจอของหน้าโปรไฟล์เฟซบุ๊กของจำเลย และภาพบันทึกหน้าจอโพสต์ที่เป็นเหตุแห่งคดีที่ผ่านการดัดแปลงด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ก่อนพิมพ์ออกมายื่นต่อศาล

วันที่ 6 ตุลาคม 2565 ศาลจังหวัดนราธิวาสพิพากษายกฟ้อง ‘วารี’ ให้เหตุผลโดยสรุปได้ว่า พยานหลักฐานของโจทก์ก็ยังไม่พอฟังว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิด เพราะเอกสารหลักฐานที่โจทก์นำมาใช้ปรักปรำจำเลยซึ่งเป็นภาพบันทึกจอไม่ปรากฎ URL ซึ่งจะระบุที่อยู่ทางอิเล็กทรอนิกส์ของโพสต์ที่เป็นปัญหาแห่งคดี นอกจากนั้นตัวผู้กล่าวหายังเบิกความเกี่ยวกับการพบเห็นโพสต์ที่เป็นประเด็นปัญหาในคดีอย่างมีพิรุธ และพยานผู้เชี่ยวชาญของฝ่ายจำเลยก็เบิกความยืนยันว่าภาพถ่ายหน้าจอที่เป็นหลักฐานของโจทก์มีผ่านการตัดต่อมา 

‘ชัยชนะ’ ชาวจังหวัดลำพูนเป็นจำเลยอีกคนหนึ่งที่ถูกพสิษฐ์ จันทร์หัวโทน ร้องทุกข์กล่าวโทษที่สภ.สุไหงโกลก  ‘ชัยชนะ’ ถูกกล่าวหาว่าทำความผิดจากการโพสเฟซบุ๊กรวมสี่กรรม โดยหลักฐานที่พสิษฐ์นำมาร้องทุกข์กล่าวโทษ ‘ชัยชนะ’ เป็นภาพบันทึกหน้าจอที่ผ่านการตัดต่อเพื่อพิมพ์ลงในกระดาษเช่นเดียวกับหลักฐานในคดีของ ‘วารี’ โดยที่ไม่ได้มีพยานหลักฐานทางอิเล็กทรอนิกส์อื่นที่ใช้ระบุตัวตนหรือระบุความเชื่อมโยงระหว่าง ‘ชัยชนะ’ กับเฟซบุ๊กที่เป็นปัญหาแห่งคดี 

วันที่ 21 ธันวาคม 2565 ศาลจังหวัดนราธิวาสพิพากษายกฟ้อง ‘ชัยชนะ’ พร้อมให้เหตุผลโดยสรุปได้ว่า โจทก์ไม่สามารถนำสืบได้ว่าจำเลยเป็นผู้ใช้งานหรือเป็นเจ้าของบัญชีเฟซบุ๊กดังกล่าวจริง ทั้งผู้เชี่ยวชาญด้านคอมพิวเตอร์ที่เป็นพยานจำเลยก็เบิกความว่า ข้อมูลส่วนตัวที่ถูกเผยแพร่อยู่บนอินเทอร์เน็ต สามารถถูกนำไปตัดต่อ ปลอมแปลงเป็นภาพและข้อมูลเท็จได้ นอกจากนั้นจากการตรวจสอบโทรศัพท์ของจำเลยก็ไม่พบว่ามีประวัติการเข้าถึงเฟซบุ๊กที่เป็นปัญหาในคดีนี้ อีกทั้ง จำเลยให้การปฏิเสธตลอดมาตั้งแต่ชั้นจับกุมจนถึงชั้นพิจารณา จึงต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย

นอกจากคดีของ ‘วารี’ กับ ‘ชัยชนะ’ พสิษฐ์ยังร้องทุกข์กล่าวโทษผู้ใช้อินเทอร์เน็ตที่แสดงความคิดเห็นทางการเมืองในลักษณะพาดพิงสถาบันพระมหากษัตริย์ในพื้นที่จังหวัดนราธิวาสอีกอย่างน้อยหกคดี  

ที่ศาลจังหวัดสมุทรปราการ พิพัทธ์ พลทหารชาวพิษณุโลกซึ่งขณะเกิดเหตุทำงานอยู่ที่จังหวัดลพบุรีถูกอุราพรประชาชนในจังหวัดสมุทรปราการกล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนสภ.บางแก้วว่า โพสต์ภาพตัดต่อข้อความที่เป็นบทสนทนาโต้ตอบในพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่สิบและสมเด็จเจ้าฟ้าทีปังกรฯก่อนนำไปโพสต์ในกลุ่มเฟซบุ๊กรอยัลลิสต์ มาร์เก็ตเพลส – ตลาดหลวง หลักฐานที่อุราพรผู้กล่าวหาใช้เป็นมูลเหตุในการดำเนินคดีกับพิพัทธ์ในคดีนี้คือบันทึกภาพหน้าจอข้อความที่เป็นปัญหาแห่งคดีกับภาพบันทึกหน้าจออื่นๆ ที่ถูกปรับแต่งจัดวางรวมกันด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ก่อนพิมพ์ออกมาเป็นกระดาษเอสี่

ในชั้นศาลฝ่ายโจทก์ไม่ได้มีหลักฐานทางอิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ ที่จะใช้ระบุตัวตนของพิพัทธ์เข้ากับเฟซบุ๊กโพสต์ที่เป็นปัญหาในคดี เช่น ข้อมูลการจราจรทางคอมพิวเตอร์ว่า มีจุดเริ่มต้นส่งข้อมูลและปลายทางส่งข้อมูลเป็นอย่างไร หมายเลขประจำตัวเครื่องคอมพิวเตอร์คืออะไร ซึ่งจะเป็นข้อมูลระบุตัวตนสำคัญ ว่าขณะเกิดเหตุจำเลยอยู่ที่ใด และใช้อุปกรณ์อะไรขณะกระทำผิด ทั้งผู้เชี่ยวชาญด้านโปรแกรมคอมพิวเตอร์ซึ่งเป็นพยานจำเลยก็เบิกความว่า ภาพหลักฐานที่ผู้กล่าวหานำมาแสดง สามารถใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ตัดต่อได้

ในวันที่ 26 ตุลาคม 2565 ศาลจังหวัดสมุทรปราการพิพากษายกฟ้องพิพัทธ์ในทุกข้อกล่าวหาโดยยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยเพราะพยานหลักฐานโจทก์ไม่มีน้ำหนักมั่นคงเพียงพอ  

แม้ศาลชั้นต้นจะพิพากษายกฟ้องคดีทั้งสามคดีแต่ก็มีข้อน่าสังเกตว่า เหตุใดตำรวจและอัยการจึงรับฟ้องคดีทั้งๆ ที่พยานหลักฐานอาจจะยังไม่ได้มีน้ำหนักมั่นคงเพียงพอ ซึ่งหลายคดีฝ่ายตำรวจได้พยายามตรวจสอบหมายเลขไอพีแอดเดรสที่เกี่ยวข้องกับการโพสข้อความแล้ว และตรวจสอบประวัติการใช้งานเครื่องคอมพิวเตอร์ของจำเลยแล้ว ไม่พบหลักฐานที่ชี้ว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดแต่ก็ยังคงส่งฟ้องคดี ซึ่งเป็นการผลักภาระให้จำเลยต้องไปพิสูจน์ความบริสุทธิ์ในชั้นศาล 

นอกจากนี้ทั้งสามคดีเป็นคดีร้องทุกข์กล่าวโทษแบบ “ทางไกล” ที่ผู้ริเริ่มคดีจงใจทำให้จำเลยแต่ละคนได้รับผลกระทบทั้งเรื่องค่าใช้จ่ายและเวลาเพิ่มขึ้น ‘วารี’ ต้องสูญเงินทั้งค่าเดินทางและค่าที่พักตลอดกระบวนการพิจารณาคดีไปประมาณ 60,000 บาท นอกจากนั้นก็ต้องเสียรายได้ในวันที่ต้องลางานเพื่อไปรายงานตัว  เช่นเดียวกับ ‘ชัยชนะ’ ที่ต้องเดินทางไกลมากกว่าหนึ่งพันกิโลจากจังหวัดลำพูนไปที่จังหวัดนราธิวาส ขณะที่พิพัทธ์ก็ต้องเดินทางจากลพบุรีมาที่สมุทรปราการ พิพัทธ์ให้ข้อมูลด้วยว่านอกจากผลกระทบเรื่องเวลาและค่าใช้จ่ายแล้ว เขายังได้รับผลกระทบเรื่องโอกาสในอาชีพด้วย พิพัทธ์ระบุว่าก่อนเกิดเหตุเขาอยู่ระหว่างรอสัมภาษณ์หลังสอบติดหน่วยราชการแห่งหนึ่งแต่มาถูกดำเนินคดีนี้เสียก่อน จึงตัดสินใจสละสิทธิการสัมภาษณ์เพราะเกรงจะมีปัญหาหรือถูกสอบถามเกี่ยวกับคดี