“ขอแค่ได้ร่วมสร้างความเปลี่ยนแปลง” โจเซฟจากอาสาสมัครมูลนิธิสู่นักสู้คดี 112

11 ตุลาคม 2564 ระหว่างที่ศาลอาญากรุงเทพใต้กำลังพิจารณาคดีมาตรา 112 ที่เกิดจากการชุมนุมหน้าสถานทูตเยอรมนีประจำประเทศไทย ชายผิวขาวหนึ่งใน 13 จำเลยซึ่งร่วมอ่านแถลงการณ์ในวันนั้น ปรินท์กระดาษรูปของทนายอานนท์ นำภา และเบนจา อะปัญ จำเลยคดีมาตรา 112 ที่ถูกคุมขังในเวลานั้น ปิดทับเสื้อยืดของตัวเองยกมือขึ้น และแถลงขอให้ศาลดูรูปของคนที่อยู่บนเสื้อของตัวเองซึ่งทั้งสองคนถูกคุมขังในเรือนจำ ทั้งๆ ที่ยังไม่ถูกพิพากษาว่ามีความผิด จึงขอให้ศาลช่วยส่งเรื่องนี้ไปถึงอธิบดีศาลด้วย หลังแถลงจบชายคนดังกล่าวก็ควักมีดคัตเตอร์ขึ้นมากรีดหลังแขนตัวเองจนเลือดไหลเป็นทางยาวท่ามกลางความตกตะลึงของคนที่อยู่ในห้องพิจารณาคดี 

“ผมแค่หวังว่าสิ่งที่ผมทำจะทำให้สังคมตั้งคำถามกับสิ่งที่เกิดขึ้นในกระบวนการยุติธรรม หรืออย่างน้อยๆ ก็ให้คนที่อยู่ในศาลได้คุยกัน ให้เรื่องมันดังไปถึงหูอธิบดีศาลเพื่อให้หวนกลับมาฉุกคิดว่าการเอาคนไปขังคุกทั้งๆ ที่ศาลยังไม่มีคำตัดสินมันไม่ยุติธรรม” นั่นคือเหตุผลที่ผลักดันให้โจเซฟ ตัดสินใจสร้างบาดแผลบนร่างกายของตัวเองโดยหวังว่าความเจ็บปวดของเขาจะทำให้คนที่นั่งอยู่บนบัลลังก์ศาลเกิดมโนธรรมสำนึกบางอย่าง 

โจเซฟมองโลกตามความเป็นจริงว่า ความเปลี่ยนแปลงที่ตัวเขารวมถึงน้องๆ นักกิจกรรมอีกหลายคนฝันถึงคงไม่ได้มาอย่างง่ายดายและเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา บางช่วงเวลาโจเซฟเองยังตั้งคำถามกับตัวเองว่าราคาที่เขาต้องจ่ายไปกับการต่อสู้ครั้งนี้ โดยเฉพาะการถูกดำเนินคดีร้ายแรงอย่างมาตรา 112 ถึงสองคดี ดูจะแพงไปหรือไม่กับความเปลี่ยนแปลงที่ยังแทบไม่เห็นอะไรเป็นรูปธรรม แต่หลังจากได้พักจนความรู้สึกท้อหรือความรู้สึกแย่ๆ เริ่มคลายไปโจเซฟก็ไม่คิดว่าเขาจะหยุดเคลื่อนไหวหรือกลับไปเป็นคนไม่สนใจการเมืองอีก

ใช้ชีวิตต่างแดนภาพเปรียนเทียบสังคมไทย

โจเซฟเป็นคนกรุงเทพโดยกำเนิด พ่อของโจเซฟเสียชีวิตไปตั้งแต่เขาเกิดมาไม่ทันพ้นขวบปี ฐานะทางบ้านของโจเซฟแม้ไม่ได้ถึงขั้นยากจนแต่ก็ต้องดิ้นรนอยู่ในระดับหนึ่ง พอโจเซฟอายุได้ประมาณเจ็ดถึงแปดขวบ แม่ของโจเซฟก็ตัดสินใจเดินทางไปขายแรงงานที่ประเทศนิวซีแลนด์เพื่อมองหาโอกาสให้กับตัวเองและลูกของเธอ โจเซฟจึงต้องใช้ชีวิตในวัยเด็กอยู่ในความดูแลของญาติๆ โดยมีแม่ส่งเงินมาช่วยค่าเลี้ยงดู โจเซฟเรียนหนังสือและใช้ชีวิตอยู่กับญาติในเมืองไทยจนกระทั่งอายุ 12 ปีและเรียนจบป. 6 แม่ของเขาจึงให้เขาเดินทางตามไปอยู่ที่ประเทศนิวซีแลนด์ด้วย

“ตอนที่ผมไปถึงที่นั่นแม่เขาตั้งตัวได้ระดับหนึ่งแล้ว แต่ผมก็ไม่ได้ถูกแม่ตามใจนะ พอไปถึงผมก็ต้องทำเหมือนเด็กที่โน่นเลยคือ ต้องหางานทำ หาเงินใช้เอง เริ่มจากเป็นพนักงานล้างจานกับพนักงานเสิร์ฟในร้านของแม่ พอเริ่มโตขึ้นผมก็ออกไปทำงานอื่นๆ ทั้งไปเป็นคนตัดองุ่น และเป็นกรรมกรใช้แรงงาน หลังจากเรียนจบระดับมัธยม ผมก็เข้าเรียนด้านเคมีในระดับมหาวิทยาลัยที่เมืองโอ๊คแลนด์ จนสุดท้ายได้มีโอกาสไปเป็นผู้ช่วยอาจารย์สอนนักศึกษาในการทำแล็บต่างๆ”

“ตอนที่ผมไปอยู่ที่นิวซีแลนด์ผมยังเด็กมากก็เลยไม่ได้มองเรื่องความแตกต่างในมิติทางการเมืองอะไรขนาดนั้น ผมมาเริ่มรู้สึกถึงความแตกต่างก็ตอนที่กลับมาเมืองไทยช่วงปิดเรียนซัมเมอร์ตอนเรียนมหาลัยแต่ก็ไม่ได้รู้สึกเรื่องการเมืองอะไรขนาดนั้น แค่รู้สึกว่าทำไมคนไทยดูต้องดิ้นรนกันจัง ทำไมมีขอทาน มีคนไร้บ้านเยอะขนาดนั้น คือที่นิวซีแลนด์ เด็กๆ ต้องโตเร็ว เริ่มทำงานเร็วก็จริง แต่ในภาพรวมคนที่นั่นก็ยังถือว่ามีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า แม้แต่คนที่เป็นกรรมกรหรือชาวนาก็ยังมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าคนประกอบอาชีพเดียวกันในบ้านเรา”

เปิดประสบการณ์ความเหลี่ยมล้ำกับมูลนิธิดวงประทีป

“ช่วงปิดเทอมหน้าร้อนปีหนึ่งที่ผมกลับมาเมืองไทย ผมได้ไปเป็นอาสาสมัครของมูลนิธิดวงประทีปที่ทำงานในชุมชนคลองเตย สมัยที่ผมเข้าไปเป็นอาสาสมัครทางมูลนิธิยังมีเจ้าหน้าที่ที่ใช้ภาษาอังกฤษได้ดีไม่มากนัก ผมเลยได้รับมอบหมายให้ทำงานในส่วนที่ต้องใช้ภาษาอังกฤษ ทั้งช่วยเขียนจดหมายโต้ตอบถึงพ่อแม่อุปถัมภ์ที่เป็นชาวต่างชาติ แปลอีเมล ประสานงานกับผู้บริจาคที่เป็นคนต่างประเทศแล้วก็ช่วยเขียนสรุปรายงานโครงการเป็นภาษาอังกฤษ นอกจากนั้นผมก็ได้ไปช่วยงานภาคสนามด้วยทั้งการลงพื้นที่ไปทำงานกับผู้ติดเชื้อ HIV ในชุมชน”

“การทำงานกับมูลนิธิดวงประทีบช่วยให้ผมตกผลึกอะไรหลายอย่าง อย่างแรกเลยคือการเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยหรือเคลื่อนไหวทางการเมืองจะทำไปโดยละเลยมุมด้านเศรษฐกิจไม่ได้ เพราะถ้าไม่มีรัฐสวัสดิการและประชาชนในระดับล่างๆ ยังต้องดิ้นรนเพียงเพื่อหาอาหารในแต่ละมื้อหรือต้องหาเงินมาซื้อชุดนักเรียนให้ลูกก็เป็นเรื่องที่ลำบากหรือเป็นการเรียกร้องมากเกินไปที่จะต้องให้เขาออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองด้วย”

“การเรียกร้องให้เกิดรัฐสวัสดิการซึ่งเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในทางหนึ่งจึงเป็นการเพิ่มโอกาสให้คนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้นด้วย ผมไม่ได้หมายความว่าคนที่ปากกัดตีนถีบหรือลำบากในการทำมาหากินจะไม่สนใจการเมืองนะ เอาเข้าจริงคนที่ออกมาชุมนุมหรือเคลื่อนไหวในปี 2563 หลายคนก็ไม่ใช่คนมีฐานะอะไร เพียงแต่ผมมองว่าถ้าเราสามารถสร้างรัฐสวัสดิการได้เราก็จะเปิดโอกาสให้คนอีกจำนวนหนึ่งที่ไม่สามารถมีส่วนร่วมทางการเมืองได้เพราะติดเงื่อนไขทางเศรษฐกิจ มีโอกาสเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้น”

“อีกประเด็นหนึ่งที่ผมรู้สึกตกผลึกจากการทำงานร่วมกับมูลนิธิดวงประทีป คืองานของมูลนิธิมีความสำคัญมากและช่วยคนได้จริง แต่ก็เป็นการทำงานในลักษณะการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าหรือเป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุเท่านั้น การตั้งคำถามกับโครงสร้างของสังคมไทยที่มันบิดเบี้ยวก็เป็นสิ่งที่ต้องทำควบคู่ไปด้วย”

หลังเรียนจบปริญญาตรีโจเซฟตัดสินใจกลับมาหางานทำในเมืองไทยช่วงประมาณปี 2554 – 2555 ระหว่างที่กำลังหางานโจเซฟมีโอกาสกลับไปช่วยงานกับทางมูลนิธิดวงประทีปอีกครั้งในฐานะอาสาสมัครที่ไม่มีเงินเดือน ช่วงนั้นเองคนรู้จักในมูลนิธิดวงประทีปก็ชวนให้โจเซฟทำงานกับมูลนิธิในฐานะเจ้าหน้าที่ประจำ แต่สุดท้ายโจเซฟก็ตัดสินใจตอบปฏิเสธไป

โจเซฟเล่าว่า “ระหว่างทำงานในฐานะอาสาสมัครผมได้มีโอกาสเรียนรู้วัฒนธรรมการทำงานขององค์กรในไทยซึ่งมีบางอย่างที่ผมรู้สึกว่าอาจจะไม่เหมาะกับวิธีการทำงานของผม แต่ประเด็นสำคัญที่ทำให้ผมตัดสินใจไม่ทำงานประจำกับทางมูลนิธิคือรายได้ มูลนิธิดวงประทีปเป็นองค์กรไม่แสวงกำไรก็เลยไม่สามารถจ่ายเงินเดือนให้ผมได้มากเท่าที่คาดหวัง แม้ตัวผมจะมีความสนใจในประเด็นทางสังคมแต่ตอนนั้นผมกำลังมองหางานที่จะสร้างรายได้และสร้างฐานะให้ตัวเอง จึงได้ไปทำงานกับบริษัทต่างประเทศแห่งหนึ่งที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับพรม หลังจากนั้นไม่ว่าจะเปลี่ยนงานอย่างไรผมก็วนเวียนทำงานกับบริษัทของคนต่างชาติมาตลอด”

ปี 2563 สะสมประสบการณ์เริ่มเคลื่อนไหวการเมือง

แม้การทำงานในฐานะอาสาสมัครของมูลนิธิดวงประทีปจะไม่ใช่การทำงานในประเด็นที่เป็นเรื่องโครงสร้างอำนาจทางการเมือง แต่ก็ทำให้โจเซฟได้มีโอกาสสัมผัสกับด้านมืดของสังคมไทยที่มักถูกละเลยไว้และเขาก็ได้นำประสบการณ์ที่ได้ประสบพบเจอไปตั้งคำถามต่อจนส่งผลให้ตัวเขากลายเป็นคนสนใจการเมือง นอกจากประสบการณ์ตรงแล้ว โจเซฟยังหาหนังสือเกี่ยวกับการเมืองมาอ่านอยู่เป็นระยะ โดยหนังสือเล่มแรกๆ ที่มีผลกับความคิดความอ่านของเขาคือหนังสือ Thailand’s Crisis ที่เขียนโดยคริส เบเคอร์ และผาสุก พงษ์ไพจิตร ซึ่งให้ภาพเกี่ยวกับวิกฤตของการเมืองไทย การรัฐประหารและการแทรกแซงทางการเมืองของทหาร

“ช่วงก่อนปี 2563 ผมยังไม่เคยออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง อาจจะตามข่าวบ้าง แสดงออกทางออนไลน์บ้าง แต่ยังไม่เคยออกมาร่วมชุมนุมเอง ผมยอมรับว่ามีบางช่วงเหมือนกันที่ตัวเองเหมือนกลายเป็นพวกอิกนอร์แรนท์ไป เพราะผมก็ต้องพยายามสร้างฐานะให้ตัวเอง ก็อย่างที่บอกตอนแรกว่าพอเมืองไทยมันไม่เป็นรัฐสวัสดิการผมก็ต้องพยายามสร้างฐานะของตัวเองเพื่อไม่ให้ลำบากในช่วงที่มีอายุ เลยกลายเป็นว่าผมเองก็มัวแต่สนใจเรื่องของตัวเองไม่ได้คิดจะออกมาเคลื่อนไหวอะไร จนกระทั่งเริ่มเห็นน้องๆ นักเรียนนักศึกษาออกมาเคลื่อนไหวขับไล่ประยุทธ์ในช่วงปี 2563 ผมก็คิดว่าตัวเองควรออกมาร่วมทำอะไรสักอย่างเลยออกมาร่วมชุมนุมเป็นระยะ แล้วช่วงนั้นผมเองก็เริ่มทำธุรกิจส่วนตัว ทำให้สามารถจัดสรรเวลาได้มากขึ้น จนกระทั่งผมได้มาร่วมอ่านแถลงการณ์ภาษาอังกฤษที่หน้าสถานทูตเยอรมันแล้วถูกดำเนินคดี”

โดน 112 คดีแรก เพราะอาสาอ่านแถลงการณ์

นับจนถึงเดือนธันวาคม 2565 คดีการชุมนุมที่หน้าสถานทูตเยอรมนีนับเป็นคดีการชุมนุมที่มีจำนวนคนถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ในคราวเดียวมากที่สุด ในจำนวนจำเลยทั้ง 13 คน น่าจะมีเพียงมายด์ ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล และครูใหญ่ อรรถพล บัวพัฒน์ ที่เป็นบุคคลสาธารณะ ขณะที่นักกิจกรรมนักศึกษาส่วนหนึ่งที่ถูกดำเนินคดีนี้ เช่น เบนจา อะปัญ ในขณะนั้นก็ยังไม่ได้เป็นคนที่มีบทบาทการเคลื่อนไหวในทางสาธารณะมากนัก ขณะที่โจเซฟไม่ได้แม้แต่จะเป็นคนที่ทำกิจกรรมสังกัดกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เป็นเพียงประชาชนคนหนึ่งที่ออกมาร่วมการชุมนุมเท่านั้น

การชุมนุมที่หน้าสถานทูตเยอรมนีเกิดขึ้นในบริบทที่นักกิจกรรมที่เคยมีบทบาทนำ เช่น ทนาย อานนท์ นำภา เพนกวิน พริษฐ์ ชิวารักษ์ และรุ้ง ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ซึ่งเป็นนักเคลื่อนไหวที่มีบทบาทนำในขณะนั้นก็ยังถูกคุมขังในเรือนจำ และผู้ชุมนุมเริ่มใช้ยุทธศาสตร์การเคลื่นไหวแบบ ‘ทุกคนคือแกนนำ’ เมื่อโจเซฟทราบว่าทางกลุ่มผู้จัดการชุมนุมกำลังหาอาสาสมัครที่จะขึ้นมาอ่านแถลงการณ์ภาษาอังกฤษบนรถเวที ตัวเขาซึ่งอยู่ตรงหน้าขบวนจึงเข้าไปแจ้งกับกลุ่มนักกิจกรรมว่าเขาขออาสาขึ้นไปร่วมอ่านแถลงการณ์ด้วย    

“วันนั้นผมอยู่แถวหน้าของขบวนเลย จำได้ว่าอยู่ใกล้ๆ กับรถซาเล้งที่ครูใหญ่นั่งอยู่ ผมเป็นแค่ผู้ร่วมชุมนุมธรรมดา ไม่ได้เป็นแกนนำ ไม่ได้มีบทบาทอะไร ผมแค่อยากช่วยขบวนเท่าที่ช่วยได้ ซึ่งในวันนั้นผมก็คงช่วยได้เรื่องภาษา พอรู้ว่าเขากำลังหาคนขึ้นไปร่วมอ่านแถลงกาณ์ภาษาอังกฤษก็เลยอาสาไป”

“ผมไม่ได้คิดอะไรเลยนะตอนนั้น พอได้แถลงการณ์มาก็ลองอ่านดู ผมก็ไม่ได้คิดว่าเนื้อหามันจะแรงหรือผิดกฎหมายอะไรก็เลยขึ้นไปอ่าน เอาจริงๆ วันนั้นคนที่อ่านแถลงการณ์ถ้าไม่นับพวกน้องๆ ที่เป็นนักศึกษาแล้วแทบไม่มีใครรู้จักกันมาก่อนเลย เหมือนไปมั่วกันหน้างานแท้ๆ พออ่านเสร็จเลิกชุมนุมต่างคนต่างก็แยกย้ายกันกลับ”

“หลังมีหมายออกจับมาก็มีน้องซัน (วัชรากร ไชยแก้ว) จากแนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ ติดต่อผมมาว่าผมโดนหมายด้วย ตอนนั้นผมตกใจมาก เพราะตัวผมเองไม่เคยถูกดำเนินคดีมาก่อนไม่ว่าจะคดีอาญาหรือคดีอะไร ที่สำคัญผมเองเคยอ่านเรื่องราวเกี่ยวกับคดีมาตรา 112 ของอากง SMS มาก่อน มันเลยฝังหัวไปแล้วว่าถ้าโดน 112 ยังไงก็ติดคุก”

“วันที่พวกเราไปรายงานตัวกับตำรวจ ไม่เคยรู้เลยว่าจะได้ปล่อยตัวไหม ทนายก็บอกเราไม่ได้ มันมีแต่ความคลุมเครือไปหมด แต่สุดท้ายพอไปรายงานตัวพวกเราก็ได้รับการปล่อยตัวออกมา สำหรับคดีสถานทูตตอนนี้ก็คาอยู่ในศาล จะสืบพยานเดือนมีนาคมปี 2566 แล้วศาลก็คงมีคำตัดสินออกมาไม่เกินเดือนมิถุนายนปีเดียวกัน”

กรีดแขนในห้องพิจารณาเพื่อถามหาความเป็นธรรม

แม้ระหว่างการต่อสู้คดีการชุมนุมที่สถานทูตเยอรมนี จำเลยทั้งหมดรวมทั้งโจเซฟจะได้รับการประกันตัว แต่ในวันที่ 8 ตุลาคม 2564 เบนจา อะปัญ หนึ่งในจำเลยคดีการชุมนุมที่หน้าสถานทูตเยอรมนีถูกนำตัวไปคุมขังในเรือนจำหลังถูกตำรวจจับในคดีมาตรา 112 จากการปราศรัยคาร์ม็อบ 10 สิงหาคน 2564 ทำให้ในวันที่ 11 ตุลาคม 2564 ซึ่งเป็นวันที่ศาลอาญากรุงเทพใต้นัดพิจารณาคดีการชุมนุมที่หน้าสถานทูตเยอรมนี โจเซฟตัดสินใจแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ด้วยการกรีดเลือดประท้วงในห้องพิจารณาโดยหวังให้การแสดงออกของเขาทำให้เกิดบทสนทนาเรื่องสิทธิการประกันตัวในสังคมหรืออย่างน้อยๆ ก็ในศาลและหวังว่าเรื่องจะไปถึงหูผู้มีอำนาจตัดสินใจเรื่องการให้ประกันตัว

“ผมตั้งใจว่าจะกรีดแขนในห้องพิจารณาคดีตั้งแต่ก่อนไปศาลแล้ว มีดคัตเตอร์นี่ก็เตรียมมาจากบ้านเลย เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ผมคิดจะแสดงออกของผมคนเดียว ไม่ได้บอกใคร ขนาดครูใหญ่ (อรรถพล บัวพัฒน์) ที่คืนก่อนไปศาลพักโรงแรมห้องเดียวกันผมก็ไม่ได้บอกอะไรเขา”

“ผมเป็นแค่คนธรรมดา ไม่ใช่คนมีชื่อเสียง ถ้าจะไปพูดหรือไปเรียกร้องสิทธิประกันตัวให้เพื่อนด้วยวิธีอื่นก็คงไม่มีใครสนใจ หรือไม่มีใครฟัง ผมก็แค่หวังว่าสิ่งที่ผมทำจะทำให้สังคมตั้งคำถามกับสิ่งที่เกิดขึ้นในกระบวนการยุติธรรม หรืออย่างน้อยๆ ก็ให้คนที่อยู่ในศาลได้คุยกัน ให้เรื่องมันดังไปถึงหูอธิบดีศาลเพื่อให้หวนกลับมาฉุกคิดว่าการเอาคนไปขังคุกทั้งๆ ที่ศาลยังไม่มีคำตัดสินมันไม่ยุติธรรม”

“วันนั้นผมเตรียมตัวไปอย่างดี ผมเอารูปของทนายอานนท์กับเบนจามาติดไว้กับเสื้อ พอศาลเริ่มดำเนินกระบวนพิจารณาคดีผมก็ยกมือขึ้นขออนุญาตศาลแถลง จำได้แค่ผมบอกให้ศาลดูรูปคนที่อยู่บนเสื้อผม ทั้งสองคนถูกคุมขังโดยที่ยังไม่ถูกตัดสินว่ามีความผิด  ผมอยากส่งสารนี้ไปถึงอธิบดีศาลขอให้คืนสิทธิประกันตัวให้ทั้งสองคนแล้วผมก็ควักมีดออกมากรีดแขนตัวเอง ผมรู้ว่าถ้าไปกรีดโดนเส้นเลือดอาจจะถึงตายได้ ผมไม่ได้ตั้งใจจะฆ่าตัวตาย แค่ต้องการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เลยใช้วิธีกรีดด้านหลังแขนแทน แต่แผลก็ลึกอยู่พอสมควร ยังเป็นแผลเป็นมาจนถึงวันนี้”

“พอผมกรีดแขนทุกคนตกใจกันมาก เท่าที่ดูท่าทีของศาลตอนนั้นก็ไม่ได้ดูโกรธอะไรผม ผู้พิพากษาคนที่เป็นคนดำเนินกระบวนการเป็นหลักก็พูดกับผมทำนองว่ามาตรา 112 มันมีอยู่ไม่ว่ายังไงศาลก็ต้องดำเนินคดีไปตามระบบ ถ้าจะไม่ให้มีคดีก็ต้องไปยกเลิกกฎหมาย แล้วศาลก็สั่งให้ตามเจ้าหน้าที่มาดูเรื่องแผลผม”

“วันที่ผมกรีดแขนศาลก็ไม่ได้พูดเรื่องการดำเนินคดีละเมิดอำนาจศาลกับผม แต่หลังจากนั้นก็มีการตั้งเรื่องละเมิดอำนาจศาลว่าผมประพฤติตัวไม่เรียบร้อย พกพาอาวุธ”

“ผมก็พอเข้าใจได้นะเรื่องที่เขาต้องดำเนินคดีเพราะไม่ต้องการให้เป็นบรรทัดฐานแล้วมีคนมาทำตาม เอาจริงๆ มีผู้อำนวยการศาลเขาให้ข่าวกับสื่อมวลชนว่าจะมีการตั้งเรื่องละเมิดอำนาจศาลกับผมก่อนที่ตัวผมจะรู้เรื่องเสียอีก”

“ในส่วนของคดีละเมิดอำนาจศาลผมรับสารภาพไปตามคำแนะนำของทนาย เพราะเราก็ทำจริง แล้วอีกอย่างคดีแบบนี้ศาลเป็นคนดำเนินคดีเราเองจะสู้ไปก็คงไม่ชนะ สุดท้ายศาลก็พิพากษาจำคุกผมหนึ่งเดือน แล้วก็ปรับเงิน 250 บาท แต่ให้รอลงอาญาไว้หกเดือน ถึงตอนนี้ที่ผมถูกคาดโทษเอาไว้ก็ครบกำหนดไปแล้ว”

ปราศรัยวงเวียนใหญ่ตามคำสัญญาที่ให้ไว้

ล่วงมาถึงปี 2565 ยังไม่ทันที่คดีมาตรา 112 คดีแรกของโจเซฟจะถึงที่สิ้นสุด เขาก็มาถูกดำเนินคดีมาตรา 112 อีกหนึ่งคดี

“ตอนนั้นผมได้รับการติดต่อจากเก็ทให้ไปช่วยปราศรัยในวันจักรีที่อนุสาวรีย์พระเจ้าตากสินมหาราช วงเวียนใหญ่ เก็ทบอกผมว่าขอให้ไปช่วยหน่อยเพราะไม่มีคนขึ้นปราศรัยผมก็เลยสัญญากับเก็ทว่าจะไปช่วยเขา สำหรับตัวผมเองวันนั้นเตรียมประเด็นเรื่องลัทธิเทวราชซึ่งเป็นประเด็นเชิงประวัติศาสตร์ไปพูด ถ้าจะมีการพาดพิงถึงพระมหากษัตริย์ก็จะเป็นพระมหากษัตริย์ในอดีตแล้วมันมีคดีไหนซักคดีที่ศาลวางแนวทางมาว่าคดีมาตรา 112 คุ้มครองเฉพาะพระมหากษัตริย์ที่ดำรงตำแหน่งตอนเกิดเหตุผมก็เลยคิดว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไร”

“เนื่องจากมันเป็นกิจกรรมเล็กๆ เราก็เลยไม่ได้มีการนัดแนะอะไรกันเป็นพิเศษ ก็แค่ปราศรัยประเด็นที่ตัวเองเตรียมมา ปรากฎว่าพอถึงเวลาปราศรัยเก็ทก็ปราศรัยแบบ”ตรงไปตรงมา” จนผมเองยังถามตัวเองตอนนั้นเลยว่าเอาไงดีวะกู จะขึ้นดีไหม ผมก็ถามตัวเองอยู่นาน แต่สุดท้ายก็คิดว่ามันเป็นเรื่องสปิริตที่เราสัญญากับน้องไว้แล้วว่าเราจะไปช่วยปราศรัยผมก็เลยขึ้นไปพูด สุดท้ายก็มาโดนคดี”

“ถ้าเอาเฉพาะส่วนที่ผมพูด จริงๆ ผมค่อนข้างมั่นใจว่าสิ่งที่ผมพูดในการปราศรัยครั้งนั้น มันไม่ผิดกฎหมายเพราะมันเป็นเรื่องทางประวัติศาสตร์ แต่ผมก็พอจะรู้อยู่ว่าถ้ามีการดำเนินคดีเขาก็คงเหมาเอาว่าเป็นการร่วมกันทำ ประกอบกับช่วงเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา (2565) เพิ่งมีคำพิพากษาที่ศาลตัดสินว่า การพูดถึงพระมหากษัตริย์ในอดีตเข้าข่ายความผิดตามมาตรา 112 ด้วย ผมก็เลยรู้สึกว่ามันมีความเป็นไปได้ที่สุดท้ายศาลอาจจะตัดสินว่าสิ่งที่ผมพูดมันผิดมาตรา 112″

มีบ้างวันที่ท้อ แต่ขอสู้ต่อไป

“ที่ถามว่าถ้าย้อนเวลากลับไปได้จะขึ้นไปอ่านแถลงการณ์ที่หน้าสถานทูตอยู่ไหม ผมก็อยากจะตอบแบบหล่อๆ ว่ายังยืนยันคำเดิม แต่แน่นอนชีวิตคนเราไม่ได้มีแต่วันที่ดี หลายๆ วันก็เป็นวันที่แย่ ตัวผมเองช่วงที่ชีวิตต้องเผชิญมรสุมก็เคยถามตัวเองเหมือนกันว่า วันนั้นกูขึ้นไปอ่านแถลงการณ์ทำไม ไปขึ้นปราศรัยทำไม เบื่อแล้ว พอแล้วกับคดีความ แต่พอได้พักให้หายเหนื่อยแล้ว ถามตัวเองใหม่ผมก็ยืนยันกับตัวเองคำเดิมว่าที่ตัดสินใจไปอ่านแถลงการณ์หรือไปขึ้นปราศรัยในวันนั้น เราทำถูกต้องแล้ว”

“มันเหมือนในหนัง The Matrix อ่ะพี่ พอพี่กินยาที่มันเปิดเผยโลกของความเป็นจริงแล้ว มันคงเป็นไปไม่ได้ที่จะย้อนกลับไปใช้ชีวิตในแบบเดิมอีก”

“ผมคิดไปแล้วว่าตัวเองอยากเป็นส่วนหนึ่งของความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในประเทศนี้ แน่นอนความเปลี่ยนแปลงมันไม่ได้มาอย่างรวดเร็ว การออกไปสู้ครั้งสองครั้งมันคงยังไม่เห็นผลอะไร แต่ผมเชื่อว่าบางสิ่งบางอย่างในประเทศนี้มันก็ไม่ได้เหมือนเดิมอีกแล้ว”

“สำหรับเรื่องอนาคตเกี่ยวกับคดีของผม ด้วยความที่คดี 112 เป็นคดีการเมือง มันเลยยากที่จะทำนายว่าทิศทางจะเป็นอย่างไร เพราะถ้าการเมืองในอนาคตเปลี่ยนก็อาจจะส่งผลต่อทิศทางคดีได้เหมือนกัน ช่วงหลังๆ ก็อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงในทางบวกอยู่บ้างเช่นบางคดีในศาลต่างจังหวัดที่พอจำเลยรับสารภาพศาลก็รอลงอาญาให้ยังไม่เอาเข้าคุก แต่สำหรับคดีของผม เท่าที่ได้คุยกับเพื่อนที่ถูกดำเนินคดีเดียวกันก็ได้คำตอบว่าไม่ว่ายังไงก็จะสู้ ซึ่งผมเองก็ตัดสินใจไปแล้วจะสู้ให้ถึงที่สุด ส่วนผลที่ออกมาจะเป็นยังไงก็ถือว่าผมได้เลือกทางเดินไปแล้ว”