มาแล้ว! นัดฟังคำพิพากษา ม.112 ในปี 2566

ในปี 2565 จากจำนวนคดี #มาตรา112 ในยุคปิดปากราษฎรตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา รวมอย่างน้อย 227 คน ใน 245 คดี (ข้อมูลล่าสุด วันที่ 12 มกราคม 2566) มีคดีที่มีคำพิพากษาแล้วอย่างน้อย 32 คดี และเริ่มต้นปี 2566 หลายคนอาจได้หยุดพักผ่อนก่อนเริ่มทำงานกันมาในช่วงปีใหม่ แต่สำหรับผู้ต้องหามาตรา 112 นาฬิกาแห่งคำพิพากษาของพวกเขานั้นยังคงย่ำเท้าเดินต่อไปเรื่อยๆ 

สำหรับกำหนดนัดฟังคำพิพากษาในปี 2566 มีดังต่อไปนี้ 

นัดฟังคำพิพากษา เดือนมกราคม 2566

17 มกราคม 2566 ศาลอาญา รัชดา นัดฟังคำพิพากษา คดีของสิทธิโชค (คดีไรเดอร์ Food Panda)

สิทธิโชค เศรษฐเศวต อายุ 25 ปี ประกอบอาชีพไรเดอร์และเป็นอาสาสมัครหน่วยกู้ภัย เขาถูกตั้งข้อหาว่าเป็นผู้เผาพระบรมฉายาลักษณ์ตามมาตรา 112 จากเหตุสืบเนื่องในการชุมนุมเยาวชนปลดแอกเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2564 โดยในการสืบพยาน สิทธิโชคเล่าว่าเขาขับรถผ่านพื้นที่ชุมนุมและเห็นเหตุการณ์ไฟลุกไหม้ที่บริเวณฐานซุ้มพระบรมฉายาลักษณ์จึงเข้าไปช่วยดับเพลิง ดูรายละเอียดคดีได้ทาง https://freedom.ilaw.or.th/node/1142

17 มกราคม 2566 ศาลจังหวัดลำปาง นัดฟังคำพิพากษา คดีของ “ไลลา” 

“ไลลา” นักศึกษาธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง ถูกตั้งข้อหามาตรา 112 และฐานทำลายทรัพย์สินสาธารณะ ตามมาตรา 360 จากการร่วมแฟลชม็อบ 17 ตุลาคม 2563 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง เพื่อประณามการใช้ความรุนแรงในการสลายการชุมนุมในวันที่ 16 ตุลาคม 2563 โดยในกิจกรรมได้ปรากฏภาพการปลดพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 10 และพระราชินี ดูรายละเอียดคดีได้ทาง https://freedom.ilaw.or.th/case/934

25 มกราคม 2566 ศาลจังหวัดสมุทรปราการ นัดฟังคำพิพากษา คดีของ “นคร”

“นคร” เป็นช่างรับจ้างแต่งหน้าชาว LGBTQI+ อยู่ที่จังหวัดเชียงราย “นคร” ถูกตั้งข้อหามาตรา 112 จากการแชร์โพสต์ข้อความเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ราชวงศ์จักรี และข้อความจากเพจ KonthaiUk ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับรัชกาลที่ 10 คดีนี้มีศิวพันธุ์ มานิตย์กุล นักฟ้องมือฉมังจากสมุทรปราการเป็นผู้กล่าวหา ดูรายละเอียดคดีได้ทาง https://freedom.ilaw.or.th/node/997 

26 มกราคม 2566 ศาลจังหวัดเชียงรายนัดพิพากษา คดีของบาส 

บาส มงคล เป็นชาวจังหวัดเชียงรายที่ตัดสินใจเดินทางมาหน้าศาลอาญา รัชดา ในช่วงเดือนเมษายน 2564 เพื่อแสดงออกโดยการอดอาหารเป็นเพื่อนเพนกวิน จนกว่านักโทษคดีการเมืองจะได้รับการประกันตัว เขาถูกกล่าวหาด้วยมาตรา 112 ว่า โพสต์และแชร์ ภาพ คลิปวิดีโอ ข้อความ จำนวนรวม 27 โพสต์ โดยคดีนี้ถูกตำรวจออกหมายจับและเข้าจับกุมทันทีที่เขาเริ่มนั่งอดอาหารหน้าศาลอาญา เพียง 2 วันเท่านั้น นอกจากนี้ คดีนี้ยังมีการเลื่อนการอ่านคำพิพากษามาแล้ว 2 ครั้งในเดือนธันวาคม 2565 ดูรายละเอียดคดีได้ทาง https://www.facebook.com/iLawClub/photos/10166984478315551

31 มกราคม 2566 ศาลจังหวัดลำปางนัดพิพากษา คดีติดป้ายผ้าเรื่องงบวัคซีนโควิด-19

นักกิจกรรมในจังหวัดลำปาง 5 คน ได้แก่ พินิจ หรือจอร์จ, ภัทรกันย์ หรือโม, วรรณพร หรือจูน, ยุพดี หรือแอน และ “หวาน” ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 จากการติดป้ายผ้าขนาดใหญ่เขียนข้อความ “งบสถาบันกษัตริย์>วัคซีนCOVID19” แขวนอยู่ที่สะพานรัษฎาภิเศก ในอำเภอเมือง จังหวัดลำปาง โดยในคดีนี้ตำรวจเข้าตรวจค้นและนำหมายเรียกมาให้ทั้งห้าคน ก่อนทั้งห้าคนจะเข้ารายงานตัวและต่อสู้คดี ดูรายละเอียดคดีได้ทาง https://freedom.ilaw.or.th/th/case/925

นัดฟังคำพิพากษา เดือนกุมภาพันธ์ 2566

7 กุมภาพันธ์ 2566 ศาลอาญา รัชดา นัดพิพากษา คดีของสหรัฐ เจริญสิน

สหรัฐ เจริญสิน อายุ 29 ปี ประกอบอาชีพเป็นพนักงานบริษัท ถูกกล่าวหาจากการทวิต 3 ข้อความเกี่ยวกับอาการประชวรของพระราชินีสุทิดา และเผยแพร่คลิป 1 โพสต์ โดยในคดีนี้สหรัฐเลือกที่จะรับสารภาพ ดูรายละเอียดคดีได้ทาง https://tlhr2014.com/archives/48624

15 กุมภาพันธ์ 2566 ศาลจังหวัดธัญบุรี นัดพิพากษา คดีของนิว สิริชัย 

สิริชัย นาถึง หรือนิว สมาชิกแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ถูกกล่าวหาว่าใช้สีสเปรย์พ่นข้อความเรียกร้องให้มีการยกเลิกมาตรา 112 และข้อความ “ภาษีกู” บนพระบรมฉายาลักษณ์และฐานติดตั้งพระบรมฉายาลักษณ์พระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูงรวมหกจุดในพื้นที่อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี ดูรายละเอียดคดีได้ทาง https://freedom.ilaw.or.th/th/case/950

16 กุมภาพันธ์ 2566 ศาลจังหวัดสมุทรปราการ นัดพิพากษา คดีของก้อง-อุกฤษฏ์

ก้อง-อุกฤษฏ์ สันติปประเสริฐกุล ถูกตั้งข้อหามาตรา 112 จากการแชร์ข่าวการชุมนุมประท้วงที่หน้าโรงแรมในเยอรมันจากเพจ Jonh New World โดยมีผู้กล่าวหาคือ ศิวพันธุ์ มานิตย์กุล นักร้องมือฉมังแห่งสมุทรปราการที่ไปริเริ่มคดีไว้ที่ สภ.บางแก้ว ดูรายละเอียดคดีได้ทาง https://freedom.ilaw.or.th/node/1165

20 กุมภาพันธ์ 2566 ศาลจังหวัดกระบี่ นัดพิพากษา คดีของจีน่า สุรีมาศ

จีน่า สุรีมาศ เป็นชาวกจังหวัดกระบี่ ถูกตั้งข้อหามาตรา 112 จากการแชร์คลิปทำพิธีสวดคาถาสาปแช่ง พล.อ.ประยุทธ์ จากกลุ่มเฟซบุ๊ก “รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส” (ตลาดหลวง) มาโพสต์บนเฟซบุ๊กของตัวเอง แต่การแสดงผลในโพสต์ของคนที่ไม่ได้เป็นสมาชิกกลุ่ม จะปรากฏภาพปกของกลุ่มเฟซบุ๊กตลาดหลวง (ภาพบุคคลคล้ายรัชกาลที่สิบกำลังเล่นสไลเดอร์) ต่อมา จึงมีประชาชนในจังหวัดกระบี่กลุ่มหนึ่งมาพบเห็นและริเริ่มคดี ดูรายละเอียดคดีได้ทาง https://freedom.ilaw.or.th/node/1157

นัดฟังคำพิพากษา เดือนมีนาคม 2566

13 มีนาคม 2566 ศาลจังหวัดเชียงใหม่ นัดฟังคำพิพากษา คดีของพรชัย

พรชัย เป็นชาวปกาเกอะญอวัย 39 ปี ภูมิลำเนาอยู่ที่อำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ปัจจุบันทำธุรกิจส่วนตัวอยู่ที่กรุงเทพ โดยพรชัยมีคดีมาตรา 112 จำนวนสองคดีที่เชียงใหม่และยะลา ในคดีที่เชียงใหม่นี้ เขาถูกเจษฎา ทันแก้ว เป็นอดีตการ์ด กปปส. กล่าวหาว่าโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กพาดพิง รัชกาล 10 และพล.อ.ประยุทธ์ รวม 4 โพสต์ ดูรายละเอียดคดีได้ทาง https://freedom.ilaw.or.th/th/case/975

27 มีนาคม 2566 ศาลจังหวัดเชียงราย นัดพิพากษา คดีของบอส ฉัตรมงคล 

ฉัตรมงคล วัลลีย์ หรือบอส ถูกตั้งข้อหามาตรา 112 จากการใช้เฟซบุ๊กส่วนตัวไปคอมเมนต์ข้อความหมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายกษัตริย์ในเพจ “ศรีสุริโยทัย” โดยในคดีนี้มี นัธทวัฒน์ ชลภักดี แอดมินเพจศรีสุริโยไทเป็นผู้ริเริ่มคดี ดูรายละเอียดคดีได้ทาง https://database.tlhr2014.com/public/case/1897/lawsuit/672/

30 มีนาคม 2566 ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง นัดพิพากษาคดีของสายน้ำ (เยาวชน)

สายน้ำ ถูกตั้งข้อหามาตรา 112, วางเพลิงเผาทรัพย์, ทำให้เสียทรัพย์ โดยถูกกล่าวหาว่าแปะกระดาษข้อความ “CANCLE LAW 112” และพ่นสีสเปรย์บนรูปรัชกาลที่ 10 รวมทั้งจุดไฟเผาผ้าประดับรูป ระหว่างการชุมนุม #ทวงคืนประเทศไทยขับไล่ปรสิต ที่เคลื่อนขบวนจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ไปยังทําเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2564 ดูรายละเอียดคดีได้ทาง https://freedom.ilaw.or.th/th/case/980

นัดฟังคำพิพากษา เดือนเมษายน 2566

25 เมษายน 2566 เวลา 9.00 น. ศาลอาญา รัชดา นัดฟังคำพิพากษาคดีของคงศักดิ์ (สงวนนามสกุล) 

คงศักดิ์ เป็นอดีตเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของธนาคารแห่งหนึ่ง ถูกตั้งข้อหามาตรา 112 จากการโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์จำนวน 5 ข้อความ ระหว่างวันที่ 30 เมษายน – 7 พฤษภาคม 2564 โดยพนักงานสอบสวนระบุว่า เป็นโพสต์ที่เกี่ยวกับรัชกาลที่ 9 จำนวน 2 ข้อความ และรัชกาลที่ 10 จำนวน 3 ข้อความ ทั้งนี้ ก่อนที่คงศักดิ์จะไปรับทราบข้อกล่าวหา เขายังเคยถูกกลุ่มบุคคลอ้างว่าเป็นกลุ่มอาชีวะปกป้องสถาบันฯ ประมาณ 6-7 คน บุกมาที่ทำงานเพื่อข่มขู่ให้ขอโทษจากการโพสต์ข้อความเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์อีกด้วย ดูรายละเอียดได้ทาง https://tlhr2014.com/archives/36525

26 เมษายน 2566 เวลา 9.00 น. ศาลอาญา รัชดา นัดฟังคำพิพากษาคดีของณวรรษ เลี้ยงวัฒนา หรือแอมป์  

แอมป์ เป็นนักกิจกรรมจากกลุ่ม “ราษฎร” และบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยศิลปากร ถูกตั้งข้อหามาตรา 112 จากการปราศรัยในการชุมนุม #ม็อบ13กุมภา2564 บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยในเอกสารคำฟ้องระบุว่า เนื้อหาปราศรัยนั้นมีเนื้อหาเรียกร้องให้รัชกาลที่ 10 ลงมาอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ มีการเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ พร้อมทั้งทวงถามถึงการใช้เงินภาษีประชาชน 

นอกจากมาตรา 112 แล้ว ในคดีนี้ยังมีการดำเนินคดีในข้อหา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, ทำให้เสียทรัพย์, กีดขวางทางสาธารณะ, พ.ร.บ.ความสะอาดฯ และใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาตอีกด้วย ดูรายละเอียดได้ทาง https://database.tlhr2014.com/public/case/1881/lawsuit/655/

27 เมษายน 2566 เวลา 9.00 น. ศาลจังหวัดสมุทรปราการ นัดฟังคำพิพากษาชั้นอุทธรณ์ คดีของ “วุฒิภัทร” (นามสมมติ) 

“วุฒิภัทร” เป็นพนักงานบริษัทวัย 28 ปี ชาวจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้แสดงความคิดเห็นในกลุ่มเฟซบุ๊กชื่อ “รอยัลลิสต์มาร์เกตเพลส” เมื่อ 2 มิถุนายน 2563 โดยมีเนื้อหาข้อความเกี่ยวกับกรณีการสรรคตของในหลวงรัชกาลที่ 8 และการตั้งคำถามต่อเหตุการณ์ที่สามจำเลยในคดีประทุษร้ายรัชกาลที่ 8 ถูกประหารชีวิตไปโดยไม่มีความผิด

25 มีนาคม 2565 ศาลจังหวัดสมุทรปราการยกฟ้องโดยเห็นว่า องค์ประกอบ มาตรา 112 คุ้มครองเฉพาะพระมหากษัตริย์ที่ยังทรงครองราชย์อยู่เท่านั้น แต่ลงโทษในข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (1) เนื่องจากเห็นว่าข้อความกระทบกระเทือนความรู้สึกของประชาชนทั่วไป จึงพิพากษาจำคุกหนึ่งปี ให้การเป็นประโยชน์ ลดโทษเหลือจำคุกแปดเดือน โดยไม่รอการลงโทษ

ทั้งนี้ จากข้อมูลของศูนย์ทนายฯ ทนายความของวุฒิภัทรเปิดเผยว่า การที่ศาลพิพากษาลงโทษความผิดฐาน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (1) “นำเข้าข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ” นั้น ไม่เป็นไปตามคำฟ้องของอัยการโจทก์ที่บรรยายฟ้องจำเลยตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) ดังนั้น คำพิพากษาของศาลจึงเกินกว่าฟ้องของโจทก์ อาจขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 “ห้ามมิให้พิพากษาหรือสั่งเกินคำขอหรือที่มิได้กล่าวในฟ้อง” ซึ่งเป็นประเด็นที่ทนายจะดำเนินการยื่นอุทธรณ์คดีต่อไป ดูรายละเอียดเพิ่มเติม https://tlhr2014.com/archives/41895

นัดฟังคำพิพากษา เดือนมิถุนายน 2566

หลังการเลือกตั้งผ่านไปแล้ว แม้จะเกิดปรากฏการณ์เหนือความคาดหมายที่พรรคก้าวไกลซึ่งเสนอนโยบายแก้ไขมาตรา 112 ได้คะแนนเสียงแบบบัญชีรายชื่อมากที่สุด และได้ที่นั่ง ส.ส. อย่างไม่เป็นทางการมากที่สุด แต่ก็ยังไม่ได้เสียงมากเกินครึ่ง และยังไม่ง่ายที่จะมีการเปลี่ยนแปลงในระดับตัวบทกฎหมาย ระหว่างที่เริ่มเกิด “ความหวัง” ถึงความเปลี่ยนแปลงขึ้นในสังคมที่อาจส่งผลต่อคดีความ แต่เวลาก็ไม่ได้รอช้าเพราะคดีต่างๆ ที่ดำเนินกระบวนพิจารณาไปก็มาครบรอบมีนัดฟังคำพิพากษาถึง 9 คดีในเดือนมิถุนายน 2566

1 มิถุนายน 2566 เวลา 9.00 น. นัดพิพากษา ไปป์-ศิระพัทธ์ ดีสวัสดิ์ ที่ศาลจังหวัดนนทบุรี (คดีหมายเลขดำ อ.1204/2564)

ไปป์-ศิระพัทธ์ ดีสวัสดิ์ ประชาชนชาวนนทบุรี ถูกตั้งข้อหามาตรา 112, ข้อหาลักทรัพย์ในยามวิกาล และฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากกรณีลักกรอบพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่สิบจากหน้าหมู่บ้านย่านประชาชื่น ไปโยนลงทิ้งยังคลองบางตลาด จังหวัดนนทบุรี เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2564

คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้ยกฟ้อง โดยระบุว่า พฤติการณ์ของจำเลยเป็นการจงใจลักทรัพย์ ยังฟังไม่ได้ว่ามีเจตนาพิเศษเข้าองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 112 จึงให้ยกฟ้องความผิดตามมาตรา 112 ส่วนความผิดฐานลักทรัพย์ในยามวิกาล และการฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พิพากษาจำคุกเก้าเดือน ปรับ 30,000 บาท แต่เนื่องจากจำเลยไม่เคยกระทำความผิดมาก่อน โทษจำคุกให้รอลงอาญาเป็นเวลาสองปี โดยให้รายงานตัวกับพนักงานคุมประพฤติทั้งสิ้นแปดครั้ง ดูรายละเอียดคดีของ ไปป์ เพิ่มเติม https://freedom.ilaw.or.th/node/1189

8 มิถุนายน 2566 เวลา 9.00 น. นัดพิพากษา “ภูมิ หัวลำโพง” ที่ศาลอาญา รัชดา (หมายเลขคดี อ.695/2565)

ศศลักษณ์ หรือ “ภูมิ หัวลำโพง” นักกิจกรรมอายุ 18 ปี ถูกตั้งข้อหามาตรา 112 และมาตรา 368 ฐานฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานโดยไม่มีเหตุอันสมควร จากกรณีการชูป้ายบริเวณแยกพระบรมรูปทรงม้า ขณะขบวนเสด็จผ่าน เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2564 โดยในวันดังกล่าว มีเยาวชนอายุ 14 ปีอีกหนึ่งคนถูกแจ้งข้อกล่าวหาด้วยเช่นกัน แต่พนักงานสอบสวนได้แยกสํานวนส่งฟ้องต่อศาลเยาวชน

ในคำฟ้องระบุว่า จำเลยกับพวกได้ร่วมกันหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาดมาดร้ายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่สิบ โดยการแสดงป้ายผ้าที่มีข้อความว่า “ไอ้ษัตริย์ ปล่อยเพื่อนกู” ทําให้เข้าใจความหมายได้ว่า เป็นการแสดงความอาฆาดมาดร้าย และไม่เคารพสักการะในหลวงรัชกาลที่สิบ ดูรายละเอียดคดีของ “ภูมิ หัวลำโพง” เพิ่มเติม https://tlhr2014.com/archives/42006

12 มิถุนายน 2566 เวลา 9.00 น. นัดพิพากษา ประสงค์ โคตรสงคราม ที่ศาลอาญาตลิ่งชัน (หมายเลขคดี อ.1220/2564)

โด่ง-ประสงค์ โคตรสงคราม ประชาชนชาวจังหวัดลพบุรี ถูกตั้งข้อหามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากการโพสต์เฟซบุ๊กวิจารณ์ รัชกาลที่สิบ รวมทั้งหมดสองกรรม โดยคำบรรยายฟ้องระบุพฤติการณ์ของจำเลย ดังนี้

  1. แชร์ภาพจากเฟซบุ๊กซึ่งปรากฏภาพฉลองพระองค์เป็นเสื้อเอวลอย (Crop – Top) และข้อความวิจารณ์พาดพิงถึงตัวเลข 904 จากเพจ “ชาติ ศาสนา ประชาชน” โดยระบุแคปชั่นว่า “ชุดทรงงาน”
  2. โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก พาดพิงถึงกษัตริย์และรัชกาลที่สิบรวมสองข้อความ ได้แก่ “… คนเชียร์ก็ส้นตีน” และ “เอาเขาไปไว้ไหน…” ประกอบโพสต์ที่แชร์มาจากเพจ “เยาวชนปลดแอก-Free Youth” เกี่ยวกับครบรอบ 1 ปี เหตุการณ์อุ้มหายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์

ในคดีนี้ ประสงค์เคยถูกส่งตัวไปคุมขังที่เรือนจำชั่วคราวทุ่งน้อย จังหวัดนครปฐม (ภายในพื้นที่เรือนจำมณฑลทหารบกที่ 11) เป็นเวลา 21 วัน ก่อนจะถูกกักตัวโควิด-19 ต่ออีกเป็นเวลาหนึ่งอาทิตย์และได้รับการประกันตัวในวันที่ 4 สิงหาคม 2564 รวมทั้งสิ้นเป็นเวลาอย่างน้อย 27 วัน ดูรายละเอียดคดีของ ประสงค์ เพิ่มเติม https://tlhr2014.com/archives/35990

15 มิถุนายน 2566 เวลา 9.00 น. นัดพิพากษา ชูเกียรติ แสงวงค์ ที่ศาลอาญา รัชดา (หมายเลขคดี อ.1366/2564)

ชูเกียรติ แสงวงค์ หรือจัสติน ถูกตั้งข้อหามาตรา 112, มาตรา 116 และอื่นๆ รวมเจ็ดข้อหา จากกรณีแปะข้อความ “ที่ทิ้งขยะ สิ่งปฏิกูล!” บนภาพพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่สิบบริเวณหน้าศาลฎีกา เมื่อกลางดึกของวันที่ 20 มีนาคม 2564

ในคดีนี้ ข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนระบุว่า จัสตินถูกคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ระหว่างการสอบสวนตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคม 2564 – 1 มิถุนายน 2564 รวม 71 วัน ภายหลังได้ประกันตัวหลังการยื่นขอประกันตัวหกครั้ง นอกจากนี้ จัสตินยังถูกตั้งข้อหามาตรา 112 อีกจำนวนรวมสี่คดี โดยในเดือนมิถุนายนนี้ เขามีนัดพิพากษาคดีมาตรา 112 สองคดี (15 และ 27 มิถุนายน 2566) ดูรายละเอียดคดีของ จัสติน เพิ่มเติม https://tlhr2014.com/archives/30872

19 มิถุนายน 2566 เวลา 9.00 น. นัดพิพากษา ทีปกร จิตรอาจ ที่ศาลอาญา รัชดา (หมายเลขคดี อ.329/2565)

ทีปกร จิตรอาจ ถูกตั้งข้อหามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากการแชร์คลิปจากยูทูป ปรากฏภาพตัดต่อข้อความว่า “กษัตริย์มีไว้ทําไม” และมีการขีดทับสีแดงบนพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่สิบ โดยมีข้อความหัวข้อวิดีโอที่เป็นการวิพากษ์วิจารณ์กษัตริย์ พร้อมโพสต์ข้อความว่า “#กษัตริย์มีไว้ทําไม ผู้มีบุญคุณต่อแผ่นดินคือเหล่าราษฎร…”

ในคดีนี้ ข้อมูลของศูนย์ทนายฯ ระบุว่า ทีปกรถูกตำรวจนอกและในเครื่องแบบจาก สน.นิมิตรใหม่ และกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ราวสิบนายเข้าค้นบ้านพัก เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565 ดูรายละเอียดคดีของ ทีปกร เพิ่มเติม https://tlhr2014.com/archives/40565

26 มิถุนายน 2566 เวลา 9.00 น. “พงษ์” ที่ศาลอาญา รัชดา (หมายเลขคดี อ.898/2565)

“พงษ์” (นามสมมติ) ประชาชนชาวภูเก็ตวัย 59 ปี ถูกตั้งข้อหามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากการแชร์และโพสต์เฟซบุ๊กหกข้อความ โดยเป็นการโพสต์ข้อความประกอบภาพรัชกาลที่สิบจำนวนสองข้อความ และเป็นการโพสต์ข้อความเพียงอย่างเดียวสี่ข้อความ

ในคดีนี้ ข้อมูลของศูนย์ทนายฯ ระบุว่า “พงษ์” เคยถูกคุมขังชั่วคราวเป็นเวลาสี่วันเนื่องจากเขาไม่มีครอบครัวและอาศัยอยู่คนเดียวในบ้านเช่า ทำให้ไม่มีญาติมาประกันตัว โดยในวันที่ถูกจับกุมเมื่อ 20 มกราคม 2565 มีตำรวจชุดจับกุมกว่า 22 นายเข้าค้นห้องเช่าของเขาที่จังหวัดภูเก็ต นอกจากนี้ “พงษ์” ยังถูกตรวจยึดโทรศัพท์มือถือ โน้ตบุ๊ก เอทานอลไดร์ฟ และกระดาษจดเนื้อเพลงจำนวนหนึ่งแผ่น ก่อนจะถูกนำตัวขึ้นเครื่องบินมาที่กรุงเทพฯ ในช่วงเวลาประมาณ 22.00 น. และควบคุมตัวไว้ที่ สน.ทุ่งสองห้อง

นอกจากนี้ “พงษ์” ได้ยื่นหนังสือขอพระราชทานอภัยโทษต่อสำนักพระราชวัง และรับสารภาพต่อศาล พร้อมขอให้ศาลลงโทษสถานเบา ดูรายละเอียดคดีของ “พงษ์” เพิ่มเติมได้ที่ https://tlhr2014.com/archives/39848

27 มิถุนายน 2566 เวลา 9.00 น. นัดพิพากษา ชูเกียรติ แสงวงค์ และวรรณวลี ธรรมสัตยา ที่ศาลอาญาธนบุรี (หมายเลขคดี อ.372/2564)

ชูเกียรติ แสงวงค์ หรือจัสติน และ วรรณวลี ธรรมสัตยา หรือ ตี้ ถูกตั้งข้อหามาตรา 112 จากการขึ้นปราศรัยใน #ม็อบ6ธันวา บริเวณวงเวียนใหญ่ ซึ่งมีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล รวมถึงสถาบันกษัตริย์ โดยในคดีนี้มี จักรพงศ์ กลิ่นแก้ว แกนนำกลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) เป็นผู้ริเริ่มคดี

ตัวอย่างเนื้อหาคำปราศรัยของจัสตินที่ระบุไว้ในคำบรรยายฟ้อง เช่น การกล่าวถึงเหตุการณ์การยึดอำนาจจากพระเจ้าตากสินฯ, การที่รัฐใช้มาตรา 112 เพื่อปิดปากประชาชน และคำปราศรัยที่กล่าวถึงภาวะของสถาบันกษัตริย์ที่ไม่สามารถตรวจสอบได้ เป็นต้น ในส่วนของ ตี้-วรรณวลี ได้ขึ้นปราศรัยโดยกล่าวถึงอำนาจของพระมหากษัตริย์ที่สามารถชี้นำกองทัพและมีส่วนในการเซ็นรับรองการรัฐประหาร รวมไปถึงชี้นำการทำงานของคณะรัฐมนตรี

คดีนี้ทั้งสองคนให้การปฏิเสธ และต่อสู้คดีว่า การเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นเสรีภาพที่ประชาชนสามารถเรียกร้องได้ ดูรายละเอียดคดีของจัสตินและตี้เพิ่มเติม https://database.tlhr2014.com/public/case/1742/lawsuit/523/

27 มิถุนายน 2566 เวลา 9.00 น. นัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ “กัลยา” ที่ศาลจังหวัดนราธิวาส (หมายเลขคดี อ.855/2564)

“กัลยา” (นามสมมติ) ชาวนนทบุรีวัย 27 ปี ถูกตั้งข้อหามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ โดยมีผู้ริเริ่มคดี คือ พสิษฐ์ จันทร์หัวโทน นักร้องมือฉมังจากอำเภอสุไหง-โกลก จากการโพสต์และแชร์ข้อความเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์รวมสี่โพสต์ หนึ่งในนั้นคือการแชร์ข้อความ “มีการ์ดโดนยิงเข้าช่องท้องอาการสาหัสอยู่ห้อง ICU” จากจากเฟซบุ๊ก “Somsak Jeamteerasakul” พร้อมระบุแคปชั่นว่า “กระสุนพระราชทานเข้า1”

ในคดีนี้ จำเลยปฏิเสธว่า ไม่ได้โพสข้อความตามที่ถูกกล่าวหา แต่ถูกฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองกลั่นแกล้งใส่ร้าย เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2565 ศาลชั้นต้นจังหวัดนราธิวาส พิพากษาว่าจำเลยมีตามมาตรา 112 จำคุกกรรมละสามปี รวมสองกรรม รวมเป็นจำคุกหกปี ไม่รอลงอาญา โดย “กัลยา” ได้รับการประกันตัวระหว่างการยื่นอุทธรณ์ ดูรายละเอียดคดีของ “กัลยา” เพิ่มเติม https://freedom.ilaw.or.th/case/957

28 มิถุนายน 2566 เวลา 9.00 น. นัดพิพากษา วารุณี ที่ศาลอาญา รัชดา (หมายเลขคดี อ.492/2565)

วารุณี (สงวนนามสกุล) ประชาชนชาวพิษณุโลกวัย 30 ปี ถูกตั้งข้อหามาตรา 112, พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ และ “เหยียดหยามศาสนา” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 206 กรณีโพสต์ภาพรัชกาลที่สิบเปลี่ยนเครื่องทรง พระแก้วมรกตเป็นชุดราตรี โดยในคดีนี้มีนพดล พรหมภาสิต เลขาธิการศูนย์ช่วยเหลือด้านกฎหมายผู้ถูกล่วงละเมิด bully ทางสังคมออนไลน์ (ศชอ.) เป็นผู้ริเริ่มคดีกับ ปอท. ก่อนที่ทางตำรวจจะเข้าบุกจับกุมวารุณีถึงบ้านที่พิษณุโลก พร้อมยึดโทรศัพท์มือถือและคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2564

จากข้อมูลของศูนย์ทนายฯ ในคำฟ้องระบุว่า จำเลยได้โพสต์ข้อความ “แก้วมรกต X Sirivannavari Bangkok” ประกอบภาพของรัชกาลที่สิบขณะทรงประกอบพิธีเปลี่ยนเครื่องทรงฤดูหนาวของพระแก้วมรกต โดยมีการตัดต่อหรือดัดแปลงภาพเป็นภาพพระแก้วมรกตสวมใส่เครื่องทรงเป็นชุดราตรียาวสีม่วงแทนเครื่องทรงฤดูหนาว พร้อมกับปรากฏภาพสุนัขผูกโบสีม่วงนั่งอยู่ด้านข้างพระแก้วมรกต ดูรายละเอียดคดีของ วารุณี เพิ่มเติม https://tlhr2014.com/archives/41984

นัดฟังคำพิพากษา เดือนกรกฎาคม 2566 ผู้ใหญ่-เยาวชน อย่างละ 2 คดี

เส้นทางของ “นัดพิพากษามาตรา 112” ในปี 2566 เดินทางมาถึงครึ่งปีแล้ว โดยนับตั้งแต่เดือนมกราคม 2566 จนถึงมิถุนายน 2566 มีคดีมาตรา 112 ที่มีคำพิพากษาแล้วอย่างน้อย 40 คดี กระทั่งในเดือนกรกฎาคม 2566 นัดพิพากษาก็ยังคงทยอยมาถึงอีกสี่รวดคดี ในช่วงวันที่ 10-20 กรกฎาคม 2566 โดยเป็นคดีของประชาชนผู้ใหญ่สองคนได้แก่ อนุชา (สงวนนามสกุล) และ “วงศ์” และนัดพิพากษาคดีของเยาวชนอีกสองคน ได้แก่ “เบลล์” และสายน้ำ ซึ่งโดยทั่วไปในการพิจารณคดีเยาวชน ศาลจะสั่งให้ “พิจารณาลับ” และไม่ให้บุคคลภายนอกเข้าฟัง รายละเอียดแต่ละคดีมีดังนี้

10 กรกฎาคม 2566 เวลา 9.00 น. นัดพิพากษา อนุชา (สงวนนามสกุล) ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ (หมายเลขคดี อ.936/2564)

อนุชา ประชาชนวัย 47 ปี ถูกตั้งข้อหามาตรา 112 จากกรณีการชูป้ายแผ่นป้ายไวนิลขนาดใหญ่ในชุมนุม #ม็อบตำรวจล้มช้าง ซึ่งเป็นการเดินขบวนจากแยกราชประสงค์ไปยังบริเวณสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2564 โดยภาพไวนิลดังกล่าว ปรากฏภาพรัชกาลที่ 10 บนธงชาติเยอรมนี และมีตัวอักษรภาษาอังกฤษพิมพ์ทับ พร้อมกับข้อความอื่นๆ โดยในคดีนี้ อนุชายังถูกตั้งข้อหาอื่นๆ ได้แก่ ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ และ พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ 
อนุชาถูกจับกุมในวันเดียวกันภายหลังออกจากพื้นที่การชุมนุม โดยข้อมูลของศูนย์ทนายฯ ระบุว่า หลังอนุชาชูป้ายอยู่ราว 10 นาที เขาได้เดินไปที่ริมกำแพงสำนักงานตำรวจแห่งชาติเพื่อเปลี่ยนเสื้อและเก็บแผ่นป้ายไวนิลไว้ในกระเป๋า ก่อนเดินออกจากพื้นที่ชุมนุม แต่ถูกตำรวจติดตามไปทันที กระทั่งมาถึงแยกราชประสงค์ หน้าศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ เจ้าหน้าที่ได้เข้าแสดงตัวเป็นตำรวจและขอทำการตรวจค้นตัว ก่อนทำการจับกุมพร้อมของกลาง นำส่งพนักงานสอบสวนสน.ปทุมวัน ในเวลาประมาณ 19.25 น. 
อนุชาไม่ได้รับอิสรภาพโดยถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพนาน 24 วัน กระทั่งอัยการมีคำสั่งฟ้องคดีเมื่อ 18 พฤษภาคม 2564 ศาลมีคำสั่งให้ประกันในวันรุ่งขึ้น ด้วยหลักทรัพย์ 150,000 บาท พร้อมกำหนดเงื่อนไขห้ามเข้าร่วมกิจกรรมที่ทำให้สถาบันเสื่อมเสีย 
12 กรกฎาคม 2566 เวลา 9.00 น. นัดพิพากษาคดีของ “เบลล์” ที่ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดพัทลุง (หมายเลขคดี ยชอ.57/2565)
“เบลล์” เยาวชนอายุ 18 ปี ถูกตั้งข้อหามาตรา 112 จากการโพสต์รูปภาพถ่ายสถานที่ต่างๆ ในจังหวัดพัทลุง และใส่ข้อความทางการเมืองประกอบในเพจเฟซบุ๊ก “พัทลุงปลดแอก” และ “ประชาธิปไตยในด้ามขวาน” เมื่อเดือนพฤศจิกายนปี 2563 โดยในคดีนี้ยังมีผู้ต้องหาคนอื่นๆ อีกสามคน ได้แก่ ศุภกร ขุนชิต นักศึกษาคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, อลิสา บินดุส๊ะ สมาชิกกลุ่มนักกฎหมายอาสา “Law Long Beach” และชมพูนุท (สงวนนามสกุล) นักศึกษาระดับปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ แต่เนื่องจากในวันเกิดเหตุ “เบลล์” ยังมีสถานะเป็นเยาวชน ตำรวจจึงส่งสำนวนแยกฟ้องต่อศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดพัทลุง 
คำบรรยายฟ้องคดีที่ศูนย์ทนายฯ เผยแพร่ระบุว่า กลุ่มจำเลยได้ร่วมกันถ่ายรูปสถานที่ต่างๆ ที่เป็นเชิงสัญลักษณ์ ได้แก่ อนุสรณ์สถาน พระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 10 และพระราชินี ในท้องที่อำเภอเมืองพัทลุง แล้วนำไปตัดต่อพิมพ์ประกอบข้อความที่จัดทำขึ้น ก่อนนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ผ่านเพจเฟซบุ๊กที่ใช้ชื่อว่า “พัทลุงปลดแอก” จำนวนห้าภาพ โดยมีข้อความที่ประกอบภาพสถานที่ต่างๆ ได้แก่ “Land of Compromise ทำไมใช้ ม.112 #กษัตริย์ตรัสแล้วไม่คืนคำ”, “ไปด้วยกัน ไปได้ไกล ไปด้วยความรักความสามัคคี”, “EAT THE RICH”, “คิดถึงยอด SCB ใจจะขาด” และ “เผด็จการจงพินาศ เป็ดก้าบ ก้าบ จงเจริญ”
อีกส่วนหนึ่งระบุว่ากลุ่มจำเลยได้นำภาพสถานที่ต่างๆ ในท้องที่อำเภอเมืองพัทลุง ไปตัดต่อพิมพ์ประกอบข้อความ โพสต์ในเพจเฟซบุ๊กชื่อว่า “ประชาธิปไตยในด้ามขวาน” จำนวน 15 ภาพ โดยมีข้อความที่ประกอบภาพสถานที่ต่างๆ อาทิ “เลียตีนให้ตายยศมึงก็ไม่เท่า ฟู ฟู #สุนัขทรงเลี้ยงด้วยภาษีประชาชน” “เผด็จการจงพินาศ เป็ดก้าบ ก้าบ จงเจริญ” เป็นต้น 
ที่ผ่านมา ศาลได้กำหนดให้ “เบลล์” ไปรายงานตัวต่อเจ้าหน้าที่สถานพินิจฯ จังหวัดพัทลุง จำนวนเจ็ดครั้ง ในช่วงที่ผ่านมา กระทั่งอัยการมีคำสั่งฟ้องคดี เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2565 โดย “เบลล์” ได้รับการประกันตัวระหว่างพิจารณาคดี

17 กรกฎาคม 2566 เวลา 9.00 น. นัดพิพากษาคดีของ “วงศ์” (นามสมมติ) ที่ศาลอาญา รัชดา (หมายเลขคดี อ.1253/2565)

“วงศ์” เป็นประชาชนชาวราชบุรีอายุ 28 ปี ประกอบอาชีพขายของออนไลน์ ถูกตั้งข้อหามาตรา 112 จากการโพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวระบุข้อความชื่นชมการทรงงานของรัชกาลที่เก้า แต่วิพากษ์วิจารณ์การทรงงานของรัชกาลที่สิบ โดยในคดีนี้มี ปิติ สมันตรัฐ ประชาชนทั่วไปไปริเริ่มแจ้งความไว้ที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.)
คำบรรยายฟ้องที่ศูนย์ทนายฯ เผยแพร่ระบุว่า “วงศ์” โพสต์ข้อความมีใจความในทำนองว่า จำเลยเคารพนับถือเพียงรัชกาลที่เก้า แม้จะเคยอ่านข้อมูลเรื่องสาเหตุการสวรรคตของรัชกาลที่แปด แต่ก็เชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง และเห็นว่ารัชกาลที่ เก้า ทรงทำงานหนักเพื่อประชาชน แต่จำเลยไม่เห็นว่ารัชกาลที่สิบ ได้ทรงงาน จึงไม่จำเป็นต้องเคารพ ซึ่งข้อความที่เกี่ยวกับกรณีสิ้นพระชนม์ของรัชกาลที่แปด มีความหมายว่า รัชกาลที่เก้ามีส่วนเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งไม่เป็นความจริง อันเป็นการใส่ความรัชกาลที่เก้า ทำให้พระองค์เสื่อมเสียพระเกียรติ เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง
ส่วนข้อความส่วนที่พาดพิงรัชกาลที่สิบ ทำให้ผู้พบเห็นเข้าใจได้ว่ารัชกาลที่สิบ ไม่ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ซึ่งไม่เป็นความจริง ทำให้พระองค์เสียพระเกียรติยศ ทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา ไม่เคารพกษัตริย์ ซึ่งอยู่ในฐานะที่ใครจะละเมิดมิได้ 
ภายหลังอัยการมีคำสั่งฟ้องเมื่อ 26 พฤษภาคม 2565 ศาลมีคำสั่งอนุญาตประกันตัวระหว่างพิจารณาคดี ด้วยหลักทรัพย์ 180,000 บาท พร้อมกำหนดเงื่อนไขให้จำเลยไปรายงานตัวต่อผู้กำกับดูแลที่ศาลแต่งตั้ง ทุกวันที่ 15 ของเดือน

20 กรกฎาคม 2566 เวลา 9.00 น. นัดพิพากษาคดีของสายน้ำ ที่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง (หมายเลขคดี ยชอ.246/2564)

สายน้ำ เยาวชนที่ถูกตั้งข้อหามาตรา 112 จากการสวมครอปท็อปเดินแฟชั่นโชว์สีลมระหว่างการชุมนุมที่บริเวณด้านหน้าของวัดแขกบนถนนสีลม เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2563 โดยมี วริษนันท์ ศรีบวรธนกิตติ์ แอดมินเพจ #เชียร์ลุง เป็นผู้ริเริ่มแจ้งความ นอกจากนี้ ในคดีนี้ยังมี จตุพร แซ่อึง หรือนิว นักกิจกรรมวัย 23 ปี ที่ถูกตั้งข้อมาตรา 112 ร่วมกัน จากกรณีแต่งชุดไทยสีชมพูร่วมเดินแฟชั่นโชว์ในการชุมนุมดังกล่าว โดยคดีของนิวถูกแยกพิจารณาโดยศาลอาญา รัชดา และศาลพิพากษาให้นิวมีความผิด จำคุกสามปี ไม่รอลงอาญา เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2565 ปัจจุบันนิวได้รับการประกันตัวระหว่างการอุทธรณ์คดี 
คำบรรยายฟ้องที่ศูนย์ทนายฯ เผยแพร่ ระบุว่า จําเลยได้ร่วมเดินบนพรมแดงฝั่งถนนสีลมขาออกโดยแต่งกายด้วยชุดครอปท็อปสีดํา (เสื้อกล้ามเอวลอย) สวมกางเกงยีนส์ขายาวใส่รองเท้าแตะ และเขียนข้อความที่ร่างกายบริเวณแผ่นหลังลงมาถึงเอวว่า “พ่อกูชื่อมานะ ไม่ใช่ (ชื่อพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบัน)” โดยก่อนที่สายน้ำจะเดินออกมา บุคคลซึ่งไม่ทราบว่าเป็นใครที่ทําหน้าที่พิธีกรได้ประกาศว่า “เตรียมตัวหมอบกราบ” แล้วเมื่อสายน้ำเดินผ่านกลุ่มผู้ชุมนุม มีผู้ชุมนุมได้ตะโกนคําว่า “ทรงพระเจริญ” และ “ในหลวงสู้ ๆ” ซึ่งเป็นการแสดงออกหรือสื่อความหมายว่าสายน้ำเป็นพระมหากษัตริย์ มีกริยาและการแต่งกายดังกล่าว การแสดงกริยาและการเขียนข้อความพระนามของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในบริเวณร่างกายเป็นการกระทําที่ไม่เหมาะสม และมิบังควร 
นอกจากคดีนี้ สายน้ำยังมีคดีมาตรา 112 อีกหนึ่งคดีจากการใช้กระดาษข้อความ “CANCEL LAW 112” ปิดทับบริเวณพระพักตร์ของพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่สิบ และนำป้ายข้อความว่า “เอาช่วงเวลาชีวิตพวกกูคืนมา” ปิดทับบนพระบรมฉายาลักษณ์ พร้อมกับใช้สเปรย์สีดำพ่นทับข้อความ “ทรงพระเจริญ” รวมทั้งเผาสิ่งของที่ใช้ประดับพระบรมฉายาลักษณ์ ซึ่งตั้งอยู่บริเวณด้านหน้ามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนครใกล้แยกนางเลิ้ง ระหว่างการชุมนุมเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2564 แต่ในคดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกฟ้องเมื่อ 30 มีนาคม 2565 เนื่องจากหลักฐานของโจทก์ยังไม่น่าเชื่อถือว่าเป็นผู้กระทำจริง แต่ให้มีความผิดฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

ดูนัดคดีสำคัญด้านสิทธิเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมในเดือนกรกฎาคม 2566 ทั้งหมดได้ที่ https://tlhr2014.com/archives/56835