นิว สิริชัย : หมาย 112 จากการทวงคืน “ภาษี” ด้วย “สีสเปรย์”

ยังจดจำชีวิตหอพักในมหาวิทยาลัยกันได้ไหม นั่งอ่านหนังสือเตรียมสอบข้ามคืน ดูซีรีส์ติดต่อกัน 10ตอนในคืนวันศุกร์ หรือกินเหล้าเมาหลับไปกับเพื่อนจนตื่นไม่ทันไปเรียน แต่ไม่ว่าจะเป็นความทรงจำแบบไหน สาบานได้เลยว่าคงไม่มีใครมีภาพ “ตำรวจบุกค้นห้องยามวิกาล” รวมอยู่ในความทรงจำสมัยเรียนด้วยหรอกใช่ไหม

ทว่า กลางดึกของวันที่ 13 มกราคม 2564 สิริชัย นาถึง หรือ นิว นักศึกษาจากวิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถูกตำรวจบุกจับกุมถึงหอพัก ในมาตรา 112 โดยไม่เคยได้รับหมายเรียกมาก่อน

เรื่องราวดังกล่าวกลายข่าวใหญ่บนโลกออนไลน์ เมื่อตำรวจแจ้งกับนิวว่า “จะพาตัวไปที่ ตชด.ภาค 1” และเมื่อเพื่อนๆ ของเขาตามไปถึงก็กลับไม่พบตัว จึงตัดสินใจไปตามหาที่สถานีตำรวจภูธรคลองหลวงต่อ แต่ก็ยังไม่พบ

ช่วงเวลาสุญญากาศที่ไม่รู้ว่านิวถูกพาตัวไปควบคุมตัวอยู่ที่ใด จึงเกิดเป็นกระแส #saveนิวมธ ก่อนที่ 2-3ชั่วโมงต่อมา ตำรวจก็พาเขากลับไปค้นหอพักในช่วงเวลาหลังตีหนึ่ง พร้อมกับตั้งข้อหามาตรา 112 จากการพ่นสีบนพระบรมฉายาลักษณ์ ด้วยข้อความว่า “ภาษีกู” และ “ยกเลิก 112” หลายจุดในพื้นที่จังหวัดปทุมธานี

ในคดีนี้ นิวปฏิเสธข้อกล่าวหาและต่อสู้คดี โดยมีการสืบพยานโจทก์เมื่อ 21 กันยายน 2565 และสืบพยานจำเลยเมื่อ 21 พฤศจิกายน 2565 ก่อนที่จังหวัดธัญบุรีจะมีคำพิพากษาในวันพุธที่ 15 กุมภาพันธ์ 2566 ชวนทำความรู้จักตัวตนของนิวให้มากขึ้น

o อ่านรายละเอียดคดีมาตรา 112 ของนิว https://freedom.ilaw.or.th/case/950

นักฉอดในโรงเรียนกีฬา

นิวเล่าถึงชีวิตวัยเด็กของเขาว่า พ่อและแม่ทำอาชีพเกษตรกรและจะออกจากบ้านไปทำงานตั้งแต่เช้า เมื่อกลับบ้านมาก็มักจะเป็นเวลาค่ำแล้ว ภาพการทำงานหนักของพ่อแม่ที่เห็นจนชินตาในทุกๆ วันนี้เอง เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้นิวเริ่มตั้งคำถามถึงความเป็นไปของสังคม

“เรียกได้เลยว่าหาเช้ากินค่ำ ตัวเราเองก็ถูกพ่อแม่พาติดไปด้วย กว่าจะได้กินข้าวก็เกือบๆ เที่ยงแล้ว ตอนเช้าจะไม่ได้กินเพราะต้องไปทำงานก่อน นับแล้ววันหนึ่งๆ ต้องทำงานมากกว่า 12 ชั่วโมง แต่บ้านเราก็ฐานะไม่ได้ดีขึ้นทั้งๆ ที่ทำงานหนักมาก เมื่อเราโดนพ่อแม่เหน็บไปทำงานด้วย ก็เห็นการทำงานหนัก แต่สภาพความเป็นอยู่ของบ้านไม่ได้ดีขึ้น เราก็เริ่มเกิดความสงสัย เกิดความคลางแคลงใจ เก็บไว้ในใจ”

ในวัยมัธยม นิวเล่าว่าเขาเคยเป็นนักเรียนทุนและอยู่โรงเรียนเอกชนที่คุณภาพดีมาก่อน แต่ต่อมา มีเหตุผลให้ต้องย้ายมาเรียน “โรงเรียนกีฬา” ของรัฐบาลซึ่งเป็นโรงเรียนประจำ จึงทำให้ต้องอยู่หอพักของโรงเรียน โดยองค์ประกอบแต่ละอย่างที่นิวหยิบยกมาอธิบายความทรงจำของสถานที่ในวัยเด็กนั้น ก็ทำให้เข้าใจได้ว่าเขาไม่ได้เติบโตมาในสภาพแวดล้อมที่ดีนัก

“ก่อนหน้าที่จะเข้าโรงเรียนนั้นเคยอยู่โรงเรียนดีๆ ที่เป็นของเอกชนมาก่อน จ่ายเงินแพงๆ มีคุณภาพการศึกษาที่ดี เมื่อไปอยู่โรงเรียนประจำทุกอย่างเปลี่ยนไปหมด มันกลับตาลปัตร หอพักที่โรงเรียนจัดหาให้เป็นหอพักรวมที่แออัดมาก ความสะอาดก็แย่มาก รวมถึงเรื่องการศึกษาก็ด้วย”

“หอพักที่โรงเรียนจัดหาให้เป็นหอพักรวมที่แออัดมาก ความสะอาดก็แย่มาก หอพักมีลักษณะเป็นห้องโถงใหญ่ นักเรียนต้องนอนกับพื้นโดยมีฟูกบางๆ รองนอนเท่านั้น พัดลมไม่เพียงพอกับจำนวนนักเรียน อาหารไม่พอ ต้องกินข้าวกับลูกชิ้น เพราะโรงเรียนได้รับเงินทุนสนับสนุนอย่างจำกัด”

“ด้วยคุณภาพชีวิตที่แย่แบบนี้ แล้วนักเรียนจะเล่นกีฬาสู้คนอื่นได้อย่างไรเมื่อเทียบกับนักกีฬาเอกชนที่อยู่กับสโมสรซึ่งมีเงินทุนสนับสนุนมากกว่า” นิวตั้งคำถามต่อปัญหาคุณภาพชีวิต ก่อนจะเริ่มพูดถึงปัญหาคุณภาพของการศึกษาเป็นลำดับถัดมา

“โรงเรียนกีฬาต้องส่งเสริมความเป็นเลิศทางด้านกีฬา แต่ว่าระบบของบ้านเรามันกลายเป็นการเอาเด็กมีปัญหาเข้ามาเพิ่มโอกาส พอเด็กเข้าไป เด็กก็ไม่เรียน เด็กไม่เรียนก็ไม่ว่า แต่อาจารย์ก็ไม่สอน ถ้าวันนึงเด็กเล่นกีฬาแล้วประสบความสำเร็จก็โอเค แต่ถ้าเล่นแล้วไม่ประสบความสำเร็จ โดยที่ตอนเรียนเค้าก็ไม่ได้เรียน สุดท้ายแล้วคุณภาพชีวิตของเขาจะเป็นยังไง”

ระหว่างที่ยังเรียนอยู่ในโรงเรียนกีฬา นิวเล่าว่าเขาติดตามข่าวสารบ้านเมืองและเริ่มสนใจปัญหาสังคมการเมือง จึงลองเอาเรื่องราวทางสังคมมาตีแผ่บนโลกโซเชียล โดยตั้งข้อสังเกตและวิพากษ์วิจารณ์อย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีส่วนที่ไปเกี่ยวข้องกับ “นักการเมืองท้องถิ่น” ผลจึงกลายเป็นว่า เขาโดนอาจารย์ระดับผู้บริหารของโรงเรียนเรียกคุยและขู่แจ้งความ รวมทั้งโดนเรียกผู้ปกครองมาพบจนกลายเป็นเรื่องราวใหญ่โต

ภายหลังการวิจารณ์บนโลกออนไลน์ถูกสกัดกั้น นิวก็เริ่มไต่ระดับมาทำกิจกรรมออฟไลน์ด้วยการ “ลงสมัครสภานักเรียน”  

“โดยปกติผู้ลงสมัครก็จะมีการหาเสียงมาเรื่อยๆ แต่วิธีหาเสียงของเราไม่เหมือนกับผู้สมัครคนอื่น เรากับเพื่อนหาเสียงเพียงครั้งเดียวก่อนเลือกตั้ง แต่ใช้ไม้ตาย วิพากษ์วิจารณ์ข้อผิดพลาดของครูในโรงเรียน เมื่อผลเลือกตั้งออกมาก็ปรากฏว่าชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย แต่ทำให้เกิดแรงกดดันภายในโรงเรียนต่อเรามากขึ้นด้วย”

แม้ว่าระหว่างทางจะไม่ได้ราบรื่น แต่ผลลัพธ์ในปลายทางก็ไม่ได้แย่นัก นิวเล่าต่ออย่างภาคภูมิใจว่า การวิพากษ์วิจารณ์โรงเรียนของเขา ทำให้มีผู้เกี่ยวข้องเข้ามาตรวจสอบโรงเรียน ส่งผลให้โรงเรียนถูกเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น

10 สิงหาฯ ตัดสินใจมาเป็น “นักกิจกรรม”

ระหว่างช่วงเรียนมัธยมศึกษาปีที่หก นิวเล่าว่า ตัดสินใจไม่ได้ว่าจะเรียนต่อด้านไหนดี กระทั่งไปรู้จักกับคณะรัฐศาสตร์ ประกอบกับในช่วงเวลานั้น (2563) เป็นช่วงที่กระแสการเมืองเริ่มมีความร้อนแรง มีกระแสต่อต้านพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เขาจึงสนใจเรียนสายสังคม และมีโอกาสได้เข้าร่วมค่ายเปิดถ้ำสิงห์ ที่จัดโดยคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

อย่างไรก็ตาม นิวเล่าอย่างตรงไปตรงมาว่า เนื่องจากคะแนนโอเน็ตภาษาอังกฤษของเขาไม่ถึงเกณฑ์ยื่น จึงทำให้ในท้ายที่สุดก็ไม่ได้เรียนคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อย่างที่ตั้งใจไว้ และตัดสินใจยื่นเข้าเรียนที่ “วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์” เพราะเป็นคณะสายสังคมเหมือนกันและเนื้อหาก็ดีไม่แพ้กัน เมื่อได้เข้าไปเรียนจริงๆ เขาก็รู้สึกไม่ผิดหวังที่เลือกเรียนคณะดังกล่าว เพราะทุกอย่างดีกว่าที่เขาคาดหวังไว้และอาจารย์ก็สนับสนุนเขาดีทุกอย่าง

10 สิงหาคม 2563 ซึ่งเป็นวันเปิดเทอม แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมจัดการชุมนุมที่ลานพญานาค มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต โดยไฮไลท์สำคัญของงานคือ การอ่านประกาศ 10 ข้อเรียกร้องว่าด้วยการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ โดย รุ้ง-ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล

นิวเล่าว่า เหตุการณ์ในครั้งนั้นเป็นแรงขับเคลื่อนให้เขาตัดสินใจเข้าเป็นสมาชิกแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม และสมาชิกพรรคโดมปฏิวัติ จากนั้น เส้นทางการเป็นนักกิจกรรมในรั้วมหาวิทยาลัยของเขาก็เริ่มต้นขึ้น

“ผมว่าผมก็ทั่วๆ ไปนั่นแหละ ถ้าให้เรียนก็เรียนได้ เรียนได้ดีนะ แต่ไม่ชอบเรียนในห้องเรียน ชอบลงมือทำมากกว่า รู้สึกว่ามันจับต้องได้มากกว่า ตั้งแต่การเข้ามาเป็นนักกิจกรรม การได้รู้จักคนโน้นคนนี้ การได้ทำกิจกรรม ทำให้เรารู้สึกว่าล้ำหน้าคนอื่นในแง่ประสบการณ์ เรื่องเรียนก็ถูไถ B+ บ้าง  A บ้าง C บ้าง มี D ด้วย แต่ยังไม่มี F มันก็ไปได้ แต่ในแง่ประสบการณ์ เราว่าไม่มีใครล้ำหน้าเราไปเท่าไหร่ เราไปเรื่อยๆ”

สถานะสมาชิกแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมซึ่งเป็นกลุ่มที่จัดการชุมนุม ทำให้นิวได้สัมผัสบรรยากาศการชุมนุมอยู่เสมอ โดยพ่อหนุ่ม ว.ป๋วย เล่าถึงความรู้สึกของเขาต่อการชุมนุมว่า การจัดชุมนุมทำให้เขาได้มองเห็นปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมมากขึ้น

“บางเวลาก็เหนื่อย แต่โดยรวมมันทำให้เราได้เห็นความหลากหลายมากขึ้นว่ามีเรื่องอะไรเกิดขึ้นบ้าง มีปัญหาอะไรบ้าง มันมีคนเดือดร้อนจริงๆ ถ้าไม่เดือดร้อนเขาไม่มา (ร่วมชุมนุม) หรอก มันเป็นเหมือนกับสิ่งที่ทำให้เราต้องดิ้นรนต่อไป ว่าต้องทำต่อ เรารับไม่ได้ถ้าต้องมีคนเดือดร้อนเยอะขนาดนี้ ยกตัวอย่างแค่การนั่งรถเมล์ไปตามทางแล้วทุกป้ายรถเมล์มีคนไร้บ้าน ผมรับไม่ได้ ทนไม่ได้ ถ้าอยู่เฉยๆ ขอตายดีกว่า”

สำหรับ 10 ข้อเรียกร้อง ว่าด้วยการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์นั้น นิวเล่าว่าถูกปรับเปลี่ยนมาจากเจ็ดข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ของสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อดีตอาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

โดยข้อเรียกร้องที่เขาเห็นด้วยมากที่สุด คือการ “ยกเลิกมาตรา 112”

“เร็วที่สุดที่ทำได้ตอนนี้และสามารถทำผ่านระบบรัฐสภาได้ คือการยกเลิกกฎหมายอาญา มาตรา 112เพราะเราคิดว่าเรื่องนี้ชัดที่สุด ณ ตอนนี้คนโดนคดีอาญามาตรา 112 เป็นร้อยคนแล้ว ทะลุร้อยคนไปแล้ว เราคิดว่ามันจะนำมาซึ่งข้อยุติก้าวแรกของสังคม ณ ตอนนี้”

ทวง “ภาษี” ด้วย “สีสเปรย์”

“คดีมาตรา 112 ของผมไม่เคยมีการออกหมายเรียกผมเลย มาถึงก็ออกหมายจับเลย ผมโดนจับไป 2-3ชั่วโมงถูกตัดการติดต่อโดยไม่มีใครรู้เลย สิทธิของผมถูกลิดรอน สิ่งที่เกิดขึ้นในคดีของผมเลี่ยงไม่ได้ที่จะบอกว่า มันไม่โปร่งใส อยากให้ตรงนี้ต้องเปลี่ยนแปลง”

กลางดึกของวันที่ 13 มกราคม 2564 นิวถูกบุกค้นหอพัก พร้อมยึดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ โดยที่มาของหมายดังกล่าว คือข้อหาตามมาตรา 112 จากการพ่นสีที่ฐานพระฉายาลักษณ์เป็นข้อความว่า “ภาษีกู”และ “ยกเลิก 112” จำนวน 6 จุด ในจังหวัดปทุมธานี ระหว่างวันที่ ระหว่างวันที่ 9-10 มกราคม 2564 ต่อมา ศาลธัญบุรีจะให้ประกันตัวด้วยหลักทรัพย์ 150,000 บาท

“ตอนที่เราโดนจับ ตำรวจเข้ามาค้นห้อง เขายึดอุปกรณ์ไอทีเราไปหมดเลย โทรศัพท์ก็ยึด ไอแพดก็ยึด เขาบอกว่าเป็นของกลาง แล้วเราต้องเรียนออนไลน์ เราก็ไม่มีอุปกรณ์เรียน ต้องไปหายืมเพื่อนมาใช้ ยืมมหา’ลัยมาใช้ กว่าจะได้คืนก็หลายเดือน ช่วงที่เราไม่มีอุปกรณ์เราเสียชั่วโมงเรียนไป อย่างเดือนแรกแทบไม่ได้เข้าเรียนเลย เพราะหาอุปกรณ์มาเรียนไม่ได้ ต้องไปอยู่กับเพื่อน ลำบากมาก”

ในความคิดของนิว เขามองว่าถ้อยคำดังกล่าวไม่ใช้ทั้งการดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายแต่อย่างไร

“ใครที่มองว่าเป็นการดูหมิ่น ก็อยากให้ลองมองย้อนทบทวนดูคำดังกล่าวที่ว่า “ภาษีกู” ก็เป็นภาษีจริงๆ ส่วนคำว่า “ยกเลิก 112” มันก็ไม่ใช่การหมิ่นประมาทเช่นกัน”

นิวเล่าว่า สถานะของผู้ถูกดำเนินคดีส่งผลให้เกิดผลกระทบกับการเรียนเป็นอย่างมาก สืบเนื่องจากจำนวนนัดศาลที่กินเวลาชั่วโมงเรียนในวันธรรมดา

“ช่วงที่นัดหนักๆ หน่อย อาทิตย์หนึ่งต้องไปศาลสามวันในวันธรรมดา เพราะศาลไม่เปิดเสาร์-อาทิตย์ เท่ากับว่าเราต้องเสียเวลาเรียน ต้องฝากเพื่อน โชคดีที่เพื่อนเข้าใจ แต่บางทีเพื่อนก็ไม่สามารถช่วยได้ โชคดีที่อาจารย์เข้าใจ แต่บางเรื่องอาจารย์ก็ไม่สามารถช่วยได้ ดังนั้นค่าเสียโอกาสมันสูง ราคาที่เราจ่ายไปมันไม่โอเค”

“เราไม่ชอบการเรียนก็จริง แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะกเฬวรากขนาดนั้น ถ้าเอาดีได้ก็เอา แต่ว่าแบบพอเป็นอย่างนี้ เราไม่สามารถเต็มที่กับตรงนั้นได้ ไม่สามารถเต็มที่กับการใช้ชีวิตได้ การมาศาลแต่ละครั้งกินพลังงานชีวิตเหมือนกันนะ”

“ก่อนหน้านี้ตอนทำกิจกรรมส่วนมากจะเป็นแนวช่วยสนับสนุนเพื่อนอยู่หลังบ้านมากกว่า ช่วยคนที่พร้อมรับความเสี่ยงที่สูงกว่า แต่พอโดนคดีแล้ว ความเป็นส่วนตัวมันหายไป เราอยู่หลังม่านไม่ได้อีกต่อไป ความสัมพันธ์กับบุคคลในครอบครัวและคนรอบข้างที่เคยสนิทก็เปลี่ยนไป”

นอกจากผลกระทบเรื่องเวลาแล้ว “เงิน” ก็เป็นอีกภาระหนึ่งที่เขาต้องแบกรับหลังจากการถูกดำเนินคดี รวมทั้ง “จิตใจ” ที่ถูกกระทบกระเทือนจนครั้งหนึ่งนิวเลือกที่จะเข้าพบจิตแพทย์

“เมื่อก่อนไม่ต้องไปไหน ทุกวันนี้ต้องเสียเงินมาทำคดี ทุกวันนี้เราเป็นนักศึกษาที่กู้ กยศ.เรียน มีภาระตรงนั้นก็เยอะพออยู่แล้ว ต้องมาตรงนี้อีก ไปกลับครั้งหนึ่งค่ารถห้าร้อยไม่พอ อาทิตย์หนึ่งเป็นพัน นักศึกษาจะไปเอาเงินมาจากไหน ต้องไปหางานทำ”

“จริงๆ เราไม่ใช่คนที่ชอบพูดอะไรกับคนอื่น ชอบเก็บไว้คนเดียว ชอบแก้ปัญหาด้วยตัวเอง รู้สึกว่ามันท้าทายดี มันทำให้เราเก่งขึ้นในแต่ละวัน แต่ถึงจุดๆ หนึ่งที่มันไม่ไหวจริงๆ ก็ต้องยอมรับกับตัวเอง ถามว่าทางด้านจิตใจมันได้รับผลกระทบมากไหม มันก็ได้รับผลกระทบแหละ แต่มันไม่ใช่อาการกลัวหรือขยาด มันเป็นอาการเซ็ง แบบ… อีกแล้ว อย่างนี้อีกแล้ว”

เพลง ซีรีส์ บีบีกัน

“ตอนนี้ติดซีรีส์เรื่อง Designated Survivor เป็นเรื่องเกี่ยวกับการเมือง แต่มันสนุก มันเป็นเรื่องการเมืองในอุดมคติ”

เมื่อยิงคำถามพ้นอาณาเขตคำจำกัดความเป็นนักกิจกรรม นิวเล่าว่า เขามีงานอดิเรกเหมือนกับวัยรุ่นทั่วๆ ไป คือดูหนัง ฟังเพลง ดูซีรีส์

แม้ว่าประเด็นที่แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมเรียกร้องจะเกี่ยวข้องกับเรื่องทางการเมืองก็ตาม แต่ในเรื่องรสนิยมส่วนตัวหรือความชอบ นิวอธิบายว่า เขาไม่ได้ชอบเฉพาะสิ่งที่เกี่ยวข้องกับการเมืองไปเสียทั้งหมด

“เราคิดว่าเรื่องพวกนี้ (ความชอบหรือรสนิยม) มันปรับเปลี่ยนได้ ถามว่าอย่างอื่นเราดูไหม ดู การ์ตูนก็ดู Attack on Titan ไซตามะ ดูหลายอย่าง เป็นนักกีฬามาก่อนก็ชอบดูกีฬา ถ้าไม่ดูหนังก็ออกไปใช้ชีวิต ออกกำลังกาย ไปเล่นแบดมินตัน ยิงปืน นู่นนี่ ผมชอบใช้ชีวิต”

แนวเพลงที่นิวชอบฟังคือเพลงสากลแนวฮิปฮอป โดยนิวมีนักร้องคนโปรดคือแร็ปเปอร์ชาวอังกฤษอย่าง Post Malone และนักร้องชาวแคนาดา The Weeknd นิวเล่าต่อไปว่า เพลงของ The Weeknd ที่เขาชอบฟังมากที่สุดคือเพลง Save Your Tears Feat.Ariana Grande

สำหรับคนที่เคยฟังเพลงของ The Weeknd ก็คงจะพอรู้ว่าเนื้อเพลงหลายเพลงนั้นค่อนข้างโลดโผน เช่น พูดถึงเรื่องสุรา สารเสพติด ปาร์ตี้ การมีเพศสัมพันธ์แบบสุดเหวี่ยง ซึ่งในที่นี้ทำให้นิวตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับเพลงสากลด้วยว่า เพลงจำนวนไม่น้อยมีความหมายรุนแรง หรือพูดถึงเรื่องเพศอย่างเปิดเผยมากเมื่อเปรียบเทียบกับเพลงไทย

“จะเห็นได้ว่าสังคมวัฒนธรรม หรือความเป็นประชาธิปไตยของแต่ละชาติก็มีอิทธิพลต่อเนื้อหาของเพลงด้วย เพราะจริงๆ แล้วการพูดถึงเรื่องเหล่านั้นควรพูดได้อย่างเปิดเผย เพราะมันคือเรื่องจริง เรื่องธรรมชาติ แต่ประเทศไทยกลับตัดปัญหาด้วยการไม่พูด ทั้งๆ ที่มีช่องทางอื่นอีกมากมายที่จะป้องกันข้อผิดพลาด นั่นคือเหตุผลที่แม้กฎหมายจะเปลี่ยน แต่วัฒนธรรมไม่เปลี่ยนก็นำพามาซึ่งปัญหาก้อนใหญ่อยู่ดี”

นอกจากการดูหนัง ฟังเพลง นิวยังมีงานอดิเรกอีกอย่างคือการเล่นบีบีกัน โดยในระหว่างการพูดคุย เดฟ-ชยพล ดโนทัย เพื่อนของนิวซึ่งเป็นพยานโจทก์ในคดีนี้ก็ถือโอกาสเข้ามาร่วมวงสนทนาด้วย เดฟเล่าว่า นิวเป็นคนที่จริงจังเสมอ ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตามแม้จะเป็นงานอดิเรก

“ต้องไปดูเฟซบุ๊กมัน เวลามันเล่นบีบีกันนี่ โอ้โห” เดฟเน้นเสียง ก่อนกล่าวต่อว่า “เสื้อเกราะ ผมก็มี แต่มีตัวเดียว แต่ต้องลองถามมันดูว่ามันมีกี่ตัว กางเกงอีก รองเท้าอีก หมวกอีก อะไรก็ไม่รู้ เยอะมาก ไม่ใช่เยอะมากธรรมดา แต่ว่าเยอะมากๆ (เน้นเสียง) สังเกตให้เห็นว่าเขาทุ่มเต็มที่ในสิ่งที่ชอบ”

ลากแผงรั้ว เที่ยวเล่น เปลี่ยนโครงสร้าง

“จริงๆ แล้วผมยังไม่ได้คิดเลย แต่ก็คงเป็น NGOs ทำงานอะไรเทือกๆ นี้ ไม่ได้วาดฝันตัวเองว่าต้องเป็นนักการเมืองนะ”

นิวตอบสั้นๆ ในส่วนคำถามเรื่องของความฝัน ว่าด้วยอาชีพที่ตั้งใจจะทำเมื่อเรียนจบ โดยเดฟเสริมว่า อาชีพหลังเรียนจบของนิวอาจเป็นการทำงานในหน่วยงานเกี่ยวกับความมั่นคง เพราะคล้ายกับการเล่นบีบี ส่วน NGOs ก็น่าจะเป็นอาชีพนิวทำได้ดี เพราะนิวมีภาพในหัวว่าหากชาวบ้านเดือดร้อนมา ก็จะลากแผงรั้วมาปิดถนนแล้วประท้วงให้ชาวบ้านอย่างแน่นอน

เมื่อถามว่าทั้งสองว่าเคยคุยกันถึงปลายทางที่อยากให้ประเทศไทยเป็นหรือไม่ พวกเขาตอบว่าเคย แต่ก็จำไม่ค่อยได้ว่าปลายทางที่เป็นความฝันของแต่ละคนเป็นอย่างไร แต่ปลายทางที่ง่ายที่สุด คือการเป็นประชาธิปไตยอย่างจริงจังเพื่อให้ประเทศได้รับการพัฒนา

“ถ้าสามารถทำให้ประเทศเปลี่ยนไปในทิศทางที่ดีขึ้น มีระบบการเมืองที่สนับสนุนระบอบประชาธิปไตยมากกว่านี้ ก็จะทำให้แต่ละคนสามารถไปทำในสิ่งที่ตัวเองอยากจะทำได้ ซึ่งสิ่งที่ต้องทำเป็นอันดับแรกคือต้องเปลี่ยนโครงสร้างทางการเมืองให้ได้ก่อน”