ศาลแพ่งยกฟ้อง คดีรุ้งฟ้องให้ประยุทธ์เพิกถอนข้อกำหนดห้ามชุมนุม

14 มีนาคม 2566 ศาลแพ่งนัดฟังคำพิพากษาคดีที่ รุ้ง ปนัสยา และนักกิจกรรมอีกสามคนได้แก่ เบนจา อะปัญ กุลจิรา ทองคง หรือเอ้ The Voice และ เสกสิทธิ แย้มสงวนศักดิ์ ร่วมกันเป็นโจทก์ที่หนึ่งถึงที่สี่ตามลำดับ ฟ้อง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นจำเลยที่หนึ่ง และ พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ในฐานะหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง เป็นจำเลยที่สอง โดยในวันนี้นักกิจกรรมที่เป็นโจทก์ไม่ได้เดินทางมาฟังคำสั่งศาล มีเพียงทนายความและผู้รับมอบอำนาจที่เดินทางมาฟังคำสั่งแทน 

คดีนี้โจทก์ทั้งสี่ยื่นฟ้องต่อศาลแพ่งไว้ตั้งแต่วันที่ 29 ตุลาคม 2564 ขอให้ศาลเพิกถอนข้อกำหนดที่ออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 15 ข้อ 3 (กำหนดห้ามการชุมนุม) ที่ออกโดยจำเลยที่หนึ่ง และประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง เรื่อง ห้ามการชุมนุม การทำกิจกรรม การมั่วสุม ที่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ฉบับที่ 12 ที่ออกโดยจำเลยที่สอง จนเป็นเหตุให้โจทก์ที่หนึ่งถึงที่สามถูกดำเนินคดีในความผิดฐานฝ่าฝืนข้อกำหนดและประกาศห้ามชุมนุม และโจทก์ทั้งสี่ได้รับความเดือดร้อนไม่สามารถใช้สิทธิเสรีภาพได้ โดยให้ถือว่าประกาศและข้อกำหนดตามฟ้องไม่มีผลบังคับใช้มาตั้งแต่ต้น โดยศาลแพ่งมีคำสั่งยกฟ้องของโจทก์ทั้งสี่คนโดยให้เหตุผลว่า 

แม้รัฐธรรมนูญจะให้การรับรองเสรีภาพในการชุมนุม แต่เสรีภาพการชุมนุมก็ไม่ใช่เสรีภาพที่ได้รับการคุ้มครองเด็ดขาด  แต่จำกัดได้โดยกฎหมายที่ตราขึ้นมาเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยสาธารณะ ความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อคุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น เมื่อมีสถานการณ์ฉุกเฉินจำเป็นฝ่ายบริหารก็มีอำนาจที่จะจำกัดเสรีภาพของประชาชนบางประการเพื่อป้องกันสถานการณ์ฉุกเฉินไม่ให้รุนแรงบานปลายออกไปได้ ทั้งไม่ปรากฎข้อเท็จจริงจากการนำสืบของโจทก์ว่า จำเลยที่หนึ่งและสองใช้โอกาสที่มีการแพร่ระบาดของโรค สั่งห้ามการชุมนุมเพื่อรักษาอำนาจทางการเมืองของตัวเอง ทั้งเมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 คลี่คลาย ในเดือนกันยายน 2565 ก็มีการประกาศยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉินฯ อันเป็นเหตุให้ประกาศและข้อกำหนดต่างๆ ที่โจทก์ทั้งสี่อ้างเป็นเหตุฟ้องจำเลยทั้งสองในคดีนี้สิ้นผลไป จึงพิพากษายกฟ้อง โดยคำพิพากษาพอสรุปได้ว่า

โจทก์ทั้งสี่เบิกความทำนองเดียวกันว่า  จำเลยที่หนึ่งใช้อำนาจประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและจำเลยที่สองซึ่งจำเลยที่หนึ่งเป็นผู้แต่งตั้ง ใช้อำนาจออกประกาศหลายฉบับห้ามการชุมนุมในสถานที่แออัด โดยที่การออกข้อกำหนดและประกาศดังกล่าวไม่ได้เป็นไปเพื่อมุ่งแก้ไขสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เมื่อโจทก์ที่หนึ่งถึงที่สามใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบก็ถูกดำเนินคดีด้วยข้อกำหนดและประกาศที่จำเลยที่หนึ่งและที่สองเป็นผู้ออกมาบังคับใช้ นอกจากนั้นการออกข้อกำหนดและประกาศยังเป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ตำรวจนำรั้วลวดหนาม ตู้คอนเทนเนอร์ และรถโดยสารประจำทาง ซึ่งไม่ได้ถูกประกาศให้เป็นอุปกรณ์ควบคุมการชุมนุมมาใช้ปิดกั้นเส้นทางสัญจร ทั้งที่สถานการณ์ในการชุมนุมยังไม่ได้มีความวุ่นวาย

การชุมนุมที่เกิดขึ้นในเวลานั้นก็เป็นไปโดยสงบ ใช้เวลาไม่นาน เพื่อสะท้อนความล้มเหลวในการบริหารของรัฐและเรียกร้องให้รัฐแก้ปัญหา แต่การใช้มาตรการต่างๆ ของตำรวจกลับเป็นไปโดยไม่ได้สัดส่วน ทั้งการชุมนุมก็เป็นการชุมนุมในพื้นที่เปิดโล่งให้อากาศถ่ายเทจึงไม่เสี่ยงให้เกิดการแพร่ระบาดของโรค นอกจากนั้น คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (United Nations Human Rights Council: UNHRC) ยังได้มีมติที่ 44/20 เรื่อง การส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในบริบทของการชุมนุมโดยสงบ โดยย้ำว่ารัฐไม่ควรใช้การแพร่ระบาดของโควิดเป็นเงื่อนไขในการจำกัดเสรีภาพการชุมนุม โดยไม่คำนึงถึงความจำเป็นและความได้สัดส่วนด้วย

ขณะที่โจทก์ทั้งสองมีพยานเป็นเจ้าหน้าที่หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องเข้ามาเบิกความโดยสรุปได้ว่า ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2562 เริ่มมีการระบาดของโรคอุบัติใหม่ในเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน ก่อนที่จะเริ่มแพร่ระบาดไปยังพื้นที่อื่นๆ ของโลก รวมถึงในประเทศไทยที่เริ่มมีการแพร่ระบาดเป็นกลุ่มก้อนตามการเคลื่อนย้ายของประชากร ส่งผลให้ภาครัฐต้องยกระดับมาตรการเพื่อควบคุมการแพร่ระบาด รวมถึงการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วประเทศที่เริ่มมีผลบังคับในวันที่ 26 มีนาคม 2563 โดยมาตรการต่างๆ ที่ออกมาเป็นการออกตามความจำเป็นเพื่อป้องกันไม่ให้โรคติดต่อแพร่ระบาดเป็นวงกว้าง และมีมาตรการหลายส่วน ทั้งการสั่งห้ามเข้าสถานที่ สั่งปิดสถานที่ และห้ามออกนอกเคหะสถาน ไม่ได้ออกมาตรการเพื่อมุ่งควบคุมการชุมนุมโดยเฉพาะเจาะจง 

โจทก์ทั้งสี่ทราบดีถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคแต่ยังประสงค์รวมตัวโดยขาดความรับผิดชอบต่อสังคม การดำเนินคดีที่เกิดขึ้นกับโจทก์ที่หนึ่งถึงที่สามจึงไม่ใช่การกลั่นแกล้งแต่เป็นเพราะโจทก์ทั้งสามจงใจฝ่าฝืนกฎหมาย

ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า มาตรา 26 ของรัฐธรรมนูญ ได้กำหนดเกณฑ์การจำกัดสิทธิเสรีของประชาชนไว้ว่า การออกกฎหมายเพื่อจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ หากรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดไว้กฎหมายที่ออกมาต้องไม่ขัดต่อหลักนิติธรรม ไม่เพิ่มภาระหรือจํากัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุ และจะกระทบต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคลมิได้ รวมทั้งต้องมีผลใช้บังคับเป็นการทั่วไป ไม่มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่กรณีใด กรณีหนึ่งหรือแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นการเจาะจง

มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญ กำหนดว่า บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ การจํากัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทํามิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอํานาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ที่ตราขึ้นเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยสาธารณะ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อคุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น

ขณะที่พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ออกมาโดยมีเหตุผลว่า โดยที่กฎหมายว่าด้วยการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินได้ใช้บังคับ มาเป็นเวลานานแล้ว บทบัญญัติต่างๆ ไม่สามารถนำมาใช้แก้ไขสถานการณ์ ที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐที่มีหลากหลายรูปแบบให้ยุติลงได้โดยเร็ว รวมทั้งไม่อาจนำมาใช้ในการแก้ไขปัญหาที่เกิดจากภัยพิบัติสาธารณะและการฟื้นฟูสภาพความเป็นอยู่ของประชาชนที่ได้รับความเสียหาย  ทำให้ประชาชนได้รับอันตรายหรือเดือดร้อนจนไม่อาจใช้ชีวิตอย่างเป็นปกติสุข และไม่อาจแก้ไขปัญหาด้วยการบริหารราชการในรูปแบบปกติได้ สมควรต้องกำหนดมาตรการในการบริหารราชการสำหรับสถานการณ์ฉุกเฉินไว้เป็นพิเศษ เพื่อให้รัฐสามารถรักษาความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัย และการรักษาสิทธิและเสรีภาพของประชาชนทั้งปวงให้กลับสู่สภาพปกติได้โดยเร็ว 

เมื่อฝ่ายจำเลยมีแพทย์จากกรมควบคุมโรคเบิกความเป็นพยานว่า ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2562 เริ่มมีการพบผู้ติดเชื้อโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจอุบัติใหม่ในเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน ก่อนที่โรคดังกล่าวจะแพร่กระจายออกไปอย่างรวดเร็วในลักษณะเป็นกลุ่มก้อนอันเกิดจากการเคลื่อนย้ายของประชากรและองค์การอนามัยโรคก็ได้ประกาศให้การแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ รัฐบาลจึงมีความจำเป็นต้องยกระดับการบริหารจัดการสถานการณ์เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดและควบคุมสถานการณ์ฉุกเฉินให้ยุติโดยเร็ว

การที่จำเลยที่หนึ่งประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และอาศัยอำนาจตามมาตรา 9 ของพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ออกข้อกำหนดฉบับที่ 15 ข้อ 3 เรื่องห้ามการชุมนุม และจำเลยที่สองซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากจำเลยที่หนึ่งให้เป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบ ในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 10 ของพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ออกประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบ ในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคงฉบับที่ 12 ห้ามการชุมนุมมั่วสุม จึงเป็นการจำกัดเสรีภาพโดยมีเหตุอันควรในสถานการณ์ที่มีความจำเป็นเร่งด่วน

ที่โจทก์ทั้งสี่อ้างว่าการออกข้อกำหนดและประกาศของจำเลยที่หนึ่งและสองไม่ได้เป็นไปเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคแต่เป็นไปเพื่อรักษาอำนาจทางการเมือง เป็นการออกประกาศหลายฉบับต่อเนื่องทับซ้อนกันจนประชาชนเกิดความสับสน และเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพเกิดสมควร

ศาลพิเคราะห์และเห็นว่าแม้การชุมนุมจะเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน แต่ก็ไม่ใช่สิทธิที่ได้รับความคุ้มครองโดยเด็ดขาด แต่จำกัดได้โดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายดังที่รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 44 วรรคสอง กำหนดไว้ จำเลยที่หนึ่งและสองจึงมีอำนาจห้ามการชุมนุมตามมาตรการที่กฎหมายให้อำนาจฝ่ายบริหารไว้เพื่อป้องกันสถานการณ์ร้ายแรง 

ทั้งการนำสืบของโทก์ทั้งสี่ไม่ปรากฎข้อเท็จจริงว่าจำเลยทั้งสองออกข้อกำหนดและประกาศเพื่อรักษาอำนาจทางการเมืองของตนเอง และเมื่อประกาศและข้อกำหนดดังกล่าวออกมาบังคับใช้เป็นการทั่วไปไม่ได้ใช้เจาะจงกับบุคคลใด จึงเป็นการจำกัดเสรีภาพเท่าที่จำเป็น ไม่ขัดต่อหลักนิติธรรม ทั้งเมื่อสถานการณ์เริ่มคลี่คลายก็ได้มีการประกาศยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉินฯในวันที่ 29 กันยายน 2565 เป็นเหตุผลให้ข้อกำหนดและประกาศตามฟ้องอันเป็นมูลเหตุในคดีนี้สิ้นผลไป พยานหลักฐานของโจทก์ไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานของจำเลย พิพากษายกฟ้อง