1304 1804 1674 1980 1086 1397 1996 1358 1552 1121 1169 1812 1282 1386 1501 1286 1351 1993 1778 1792 1428 1744 1485 1246 1241 1135 1624 1027 1975 1207 1429 1280 1583 1805 1244 1225 1786 1095 1071 1307 1710 1723 1390 1239 1163 1841 1939 1372 1393 1883 1774 1309 1076 1830 1747 1461 1580 1791 1934 1336 1476 1690 1296 1937 1239 1326 1927 1573 1040 1152 1540 1244 1796 1091 1064 1827 1603 1956 1578 1589 1712 1831 1550 1643 1806 1378 1408 1466 1658 1933 1984 1263 1275 1486 1112 1670 1989 1463 1905 RECAP112: ชวนรู้จักคดี “ปฏิทินเป็ด” ที่ศาลสั่งจำคุกเพราะเชื่อว่าตั้งใจล้อเลียนกษัตริย์ | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

RECAP112: ชวนรู้จักคดี “ปฏิทินเป็ด” ที่ศาลสั่งจำคุกเพราะเชื่อว่าตั้งใจล้อเลียนกษัตริย์

 
 
ย้อนกลับไปในเดือนพฤศจิกายน 2563 ช่วงที่รัฐสภากำลังจะมีการพิจารณาเพื่อลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญรวมเจ็ดร่าง กลุ่มผู้ชุมนุมราษฎรได้ประกาศว่า ไปปิดล้อมรัฐสภา ทั้งทางบก ทางน้ำและทางอากาศ โดยไฮไลท์ของการปิดล้อม “ทางน้ำ” คือการ "เดินทัพ" ของกองทัพเป็ดยางเป่าลมสีเหลือง ราว 60 ตัวที่ผู้ชุมนุมขนเตรียมขนไปที่หน้ารัฐสภาเกียกกาย
 
ทว่าในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2563 วันแรกของการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่รัฐสภา เจ้าหน้าที่ได้ปิดกั้นพื้นที่รัฐสภา รวมถึงพยายามสลายการชุมนุมโดยฉีดน้ำผสมแก๊สน้ำตาสีม่วงใส่ผู้ชุมนุมที่แยกเกียกกาย เป็ดยางขนาดยักษ์ที่ผู้ชุมนุมตั้งใจนำมาใช้เป็นพร็อพประกอบการชุมนุมจึงถูกใช้เป็นโล่จำเป็น นอกจากนั้น ในวันเดียวกันก็มีเหตุปะทะระหว่างกลุ่มคนเสื้อเหลืองและผู้ชุมนุมที่บริเวณใกล้เคียง เหล่าเป็ดยางสีเหลืองนี้จึงถูกหยิบยืมมาใช้เป็นโล่กำบังจำเป็นอีกครั้ง
 
ภายหลังเหตุการณ์ดังกล่าว เป็ดยางก็ได้รับการตั้งชื่อใหม่ว่า “พระบรมวงศ์เธอกรมหลวงเกียกกายราษฎรบริรักษ์” และกลายมาเป็นสัญลักษณ์แห่งการประท้วงของผู้ชุมนุม ที่เรียกได้ว่า “ฮอตฮิตติดตลาด” และมีคนนำไปผลิตเป็นสินค้าประจำม็อบ ไม่ว่าจะเป็นกิ๊บติดผม เสื้อ พวงกุญแจ พัด สติ๊กเกอร์ ตุ๊กตา
 
อย่างไรก็ตาม สินค้าในเครือเป็ดเหลืองชิ้นหนึ่งอย่าง #ปฏิทินเป็ด กลับนำมาซึ่งการตั้งข้อหา #มาตรา112 เนื่องจากถูกตั้งข้อสงสัยว่าเป็นการล้อเลียนรัชกาลที่ 10 แม้เนื้อหาในปฏิทินดังกล่าวจะไม่ได้มีการเอ่ยชื่อบุคคลใด หรือมีตราสัญลักษณ์ทางการของสถาบันพระมหากษัตริย์แต่อย่างใด
 
ในคดีนี้ ศาลอาญากรุงเทพใต้พิพากษาเมื่อ 7 มีนาคม 2566 ให้ลงโทษจำคุก “ต้นไม้” ผู้จัดส่งปฏิทินดังกล่าวเป็นเวลาสามปี โดยไม่รอลงอาญา ไอลอว์ชวนย้อนอ่านสรุปที่มาที่ไปของคดีปฏิทินเป็ด จากจุดเริ่มต้นที่ชุดสืบสวนใช้วิธีการเล่นใหญ่ “ล่อซื้อออนไลน์” มากถึงสามครั้งก่อนจะบุกค้นเพื่อจับกุมถึงบ้านพัก
 

ล่อซื้อ 3 ครั้ง ก่อนบุกค้นบ้าน-แจ้งข้อหา

 
2812
 
ย้อนกลับไปในช่วงเย็นของวันที่ 31 ธันวาคม 2563 มีเจ้าหน้าที่ตำรวจเดินทางมาพบ “ต้นไม้” (นามสมมติ) นิติกร บริษัทเอกชนวัย 26 ปี หนึ่งในแอดมินเพจ “คณะราษฎร” ถึงหน้าบ้าน ก่อนจะแสดงหมายค้นของศาลอาญาตลิ่งชันเพื่อทำการตรวจค้นบ้านพัก จากนั้น เจ้าหน้าที่ทำการยึด “ปฏิทินตั้งโต๊ะรูปเป็ด” สินค้าที่วางขายออนไลน์อยู่บนเพจคณะราษฎรจำนวน 174 ชุด กลับไปเป็นของกลาง พร้อมกับนำตัว “ต้นไม้” ไปที่ สน.หนองแขมเพื่อแจ้งข้อหามาตรา 112
 
ในวันเดียวกัน หลังเสร็จสิ้นการสอบสวนคำให้การ “ต้นไม้” พยายามยื่นเรื่องขอประกันตัวในชั้นสอบสวน พร้อมกับวางหลักทรัพย์เป็นเงินจำนวน 300,000 บาท อย่างไรก็ตาม ผกก.สน.หนองแขม มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัว พร้อมชี้แจงว่า “ต้นไม้” ต้องรอทำเรื่องยื่นประกันต่อศาลอาญาตลิ่งชันในชั้นฝากขังเมื่อศาลเปิดทำการในวันที่ 2 มกราคม 2564 เป็นเหตุให้เขาถูกควบคุมตัวอยู่ที่ห้องขังของ สน.หนองแขม ราวสองวัน ก่อนได้ประกันตัวด้วยตำแหน่งของ ส.ส.อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล จากพรรคก้าวไกล 
 
แล้วเจ้าหน้าที่ทราบตำแหน่งที่อยู่ของ “ต้นไม้” ได้อย่างไร?
 
ข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนระบุว่า ก่อนการจับกุม ตำรวจสันติบาลใช้กลวิธี “ล่อซื้อ” ปฏิทินดังกล่าว โดยสั่งซื้อไปรวมทั้งหมดสามครั้ง
 
ครั้งแรก (23 ธันวาคม 2563) : ติดต่อซื้อผ่านทางกล่องข้อความ (Inbox) ของเพจคณะราษฎร จํานวนสองชุด เพื่อนำมาตรวจสอบเนื้อหา เมื่อได้รับปฏิทินก็ส่งต่อให้ผู้บังคับบัญชาตรวจสอบข้อความในปฏิทิน และเห็นว่าน่าจะเข้าข่ายความผิดตามมาตรา 112  
 
ครั้งที่สอง (29 ธันวาคม 2563) : ติดต่อซื้อด้วยวิธี “นัดรับ” เมื่อทางเพจแจ้งว่าไม่มีบริการส่งแบบนัดรับ แต่สามารถส่งทางแมสเซนเจอร์ได้ เจ้าหน้าที่จึงสั่งซื้อเพิ่มอีกจํานวนสี่ชุด และตรวจสอบพิกัดสถานที่ต้นทางที่ของถูกส่ง จนพบตำแหน่งบ้านของ “ต้นไม้”
 
ครั้งที่สาม (31 ธันวาคม 2563) : ติดต่อซื้อด้วยวิธีการเดิม พร้อมวางกําลังเฝ้าที่บริเวณหน้าบ้านของ “ต้นไม้” ต่อมาเมื่อ “ต้นไม้” เดินถือลังปฏิทินออกมามอบให้พนักงานส่งของในเวลา 15.00 น. เจ้าหน้าที่ได้ทำการถ่ายรูปขณะส่งมอบของ เพื่อนำไปเป็นหลักฐานขอให้ศาลอาญาตลิ่งชันออกหมายค้น ก่อนประสานให้ตํารวจ สน.หนองแขม ให้เดินทางไปตรวจค้นในเวลา 17.30 น. ของวันเดียวกัน
 
สำหรับข้อความของปฏิทินที่พนักงานสอบสวนระบุว่าเข้าข่ายความผิดตามมาตรา 112 มีทั้งหมดสามข้อความดังนี้
 
1. ภาพเป็ดใส่เครื่องแบบพร้อมเกราะกำบังและข้อความว่า “ปฏิทินพระราชทาน รุ่นพิเศษรวมทุกคำสอนของเรา” ซึ่งสามารถสื่อความหมายได้ว่าปฏิทินนี้เป็นปฏิทินที่พระมหากษัตริย์พระราชทาน
 
2. ภาพเป็ดสีเหลืองบนปฏิทินเดือนมกราคมพร้อมข้อความว่า “กล้ามาก เก่งมาก ขอบใจ” ซึ่งเป็นข้อความที่รัชกาลที่สิบ เคยตรัสกับประชาชนที่มาเฝ้ารับเสด็จ ทั้งในรูปยังมีคำราชาศัพท์บนสุนัขสองตัวว่า “ทรงพระเจริญ”
 
3. ภาพเป็ดสีเหลืองใส่แว่นบนปฏิทินเดือนกรกฎาคมพร้อมข้อความว่า “เหงื่อเราจะเทไปให้ต้นไม้ของพ่อยังงดงาม” โดยภาพดังกล่าวทำให้เห็นว่าสื่อความหมายถึงรัชกาลที่เก้า
 
หมายเหตุ เนื้อในส่วนนี้เรียบเรียงจาก https://tlhr2014.com/archives/24655
 

พยานเบิกความ ตั้งข้อสงสัย “ภาพเป็ด” สื่อถึงรัชกาลที่ 10

 
2813
 
ต่อมา ในปี 2564 มีผู้ถูกตั้งข้อหาในคดีนี้เป็นรายที่สอง ได้แก่ พิชญ (สงวนนามสกุล) อายุ 25 ปี เนื่องจากเขามีชื่อเป็นเจ้าของหมายเลขบัญชีธนาคารที่รับโอนและชื่อที่ใช่ในการจัดส่งพัสดุ โดยพิชญ ได้รับหมายเรียกจาก สน.หนองแขมตั้งแต่วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564 และเดินทางมารับข้อกล่าวหาเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2564
 
คดีนี้ อัยการมีคำสั่งให้เลื่อนการสั่งฟ้องคดี รวมสี่ครั้ง ได้แก่ 26 มีนาคม 2564, 27 เมษายน 2564, 7 กรกฎาคม 2564 และ 10 สิงหาคม 2564 เพราะยังทำสำนวนคดีไม่เสร็จ และความไม่สะดวกจากสถานการณ์โควิด-19
 
กระทั่งวันที่ 2 กันยายน 2564 พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญาตลิ่งชัน 1 มีความเห็นสั่งฟ้อง “ต้นไม้” เป็นจำเลยที่หนึ่ง และพิชญ เป็นจำเลยที่สอง โดยศูนย์ทนายฯ เผยแพร่คำบรรยายฟ้องที่ระบุว่า ปฏิทินดังกล่าวมีความผิดตามมาตรา 112 ตามข้อความต่อไปนี้
 
 
1) ในหน้าปฏิทินเดือนมกราคม 2564 : มีข้อความว่า “กล้ามาก เก่งมาก ขอบใจ” และ OK1 ห้อยที่คอรูปการ์ตูนเป็ดสีเหลือง และมีภาพการ์ตูนบนรูปสุนัขว่า “ทรงพระเจริญ”
 
2) ในหน้าปฏิทินเดือนมีนาคม 2564 : มีภาพการ์ตูนเป็ดสีเหลืองสวมถุงยางอนามัยที่หัว
 
3) ในหน้าปฏิทินเดือนเมษายน 2564 มีข้อความว่า “รักคุณเท่าฟ้า” และรูปการ์ตูนเป็ดสีเหลืองขับเครื่องบิน โดยบนปีกเครื่องบินทั้งสองข้างมีข้อความว่า “SUPER VIP”
 
4)     ในหน้าปฏิทินเดือนพฤษภาคม 2564 มีรูปการ์ตูนเป็ดสีเหลืองและตัวเลข 10 บนตัว พร้อมข้อความ “ไอโอนะ ยูโอไหม?”
 
5)     ในหน้าปฏิทินเดือนตุลาคม 2564 มีรูปการ์ตูนเป็ดสีเหลืองบนคอปรากฎข้อความ NO10 และ Fordad และ “พ่อบอกให้ทุกคนพอเพียง””ทรงนำเศรษฐกิจพอเพียงหล่อเลี้ยงชีวา”
 
อย่างไรก็ตาม ในนัดพร้อมเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2565 นายประกันจําเลยที่สองแถลงว่า ไม่สามารถติดต่อเจ้าตัวได้ ศาลจึงให้จําหน่ายคดีในส่วนจําเลยที่สองชั่วคราว และหากได้ตัวมาเมื่อใด ให้ยกคดีขึ้นพิจารณาในส่วนจําเลยที่สองต่อไป
 
ในการสืบพยาน ศาลได้นัดสืบพยานคดีรวมทั้งหมดหกนัด แบ่งเป็นการสืบพยานโจทก์ 18 – 21 ตุลาคม 2565 รวมสิบปาก และสืบพยานจำเลย 2 – 3 พฤศจิกายน 2565 รวมสามปาก โดยมีเนื้อหาบางช่วงของพยานฝ่ายโจทก์  จากบันทึกสืบพยานที่น่าสนใจ ดังนี้
 
กิตติพงศ์ กมลธรรมวงศ์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เบิกความแสดงความเห็นต่อภาพในหน้าเดือนพฤษภาคมตอนหนึ่งว่า
 
“ข้อความภาษาอังกฤษ ‘Army’ ที่หมายถึงทหาร และข้อความว่า ‘IO’ พยานเชื่อว่ามีความหมายมาจาก Information Operation ซึ่งมีความหมายว่าการใช้ข้อมูลเพื่อจุดประสงค์ในการสร้างความนิยม โดยส่วนตัวมองว่า ภาพดังกล่าวทำให้เข้าใจได้ว่า รัชกาลที่ 10 ใช้ทหารในการเผยแพร่ข่าวสารสร้างความนิยมให้แก่ประชาชน และยังมีข้อความปรากฏว่า ‘ไอโอนะ ยูโอไหม’ ซึ่งข้อความดังกล่าวมีความหมายถึงประชาชนยอมรับได้ไหมเกี่ยวกับการที่มีการสร้างค่านิยมปลูกฝังให้ทำความเคารพต่อสถาบันกษัตริย์”
 
ไชยันต์ ไชยพร อาตารย์ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เบิกความแสดงความเห็นต่อภาพในเดือนมีนาคมตอนหนึ่งว่า
 
“การที่เป็ดซึ่งหมายถึงรัชกาลที่10 มีถุงยางอนามัยอยู่บนศีรษะทำให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจว่ารัชกาลที่ 10 เป็นผู้ที่หมกมุ่นในกาม หรือมองว่ารัชกาลที่ 10 เป็นผู้รณรงค์ในการใช้ถุงยางอนามัยก็ได้ แต่จากประสบการณ์การทำงานและติดตามข่าวและสื่อต่างๆ ของพยาน ไม่พบว่ารัชกาลที่ 10 มีการประชาสัมพันธ์รณรงค์ให้ใช้ถุงยางอนามัย จึงเหลือความหมายเดียวของปฏิทินเดือนมีนาคมว่า เป็นผู้หมกมุ่นในกาม ถือเป็นการล้อเลียนและดูหมิ่นรัชกาลที่ 10 อันเป็นความผิดตามมาตรา 112”
 
ตรีดาว อภัยวงศ์ อาจารย์พิเศษสาขาศิลปกรรมการแสดง คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เบิกความแสดงความเห็นว่า
 
“หากดูภาพอื่นที่ไม่ได้ฟ้องมา อย่างเดือนกุมภาพันธ์และกันยายน จะมีการเสียดสีคำสอนของรัชกาลที่ 9 ว่า รัชกาลที่ 10 ไม่ได้ปฏิบัติตนตามคำสอนของพ่อ และจะให้ประชาชนเชื่อฟังคำสอนดังกล่าวได้อย่างไร ซึ่งเมื่อดูโดยรวมจะได้ความหมายว่า รัชกาลที่ 10 เป็นลูกอกตัญญู ผู้ผลิตมีเจตนาสร้างความเชื่อที่ผิดๆ และความเกลียดชังให้กษัตริย์”
 
ในขณะที่ “ต้นไม้” ขึ้นเบิกความฐานะพยานจำเลย ระบุยืนยันว่า เป็ดเหลืองในปฏิทินเป็นเพียงบทบาทสมมติ และมีชื่อว่า “กรมหลวงเกียกกายราษฎรบริรักษ์” อีกทั้งยังไม่ได้เป็นผู้จำหน่าย เป็นเพียงผู้ส่งของเท่านั้น
 
อ่านบันทึกการสืบพยานฉบับเต็มของศูนย์ทนายฯ https://tlhr2014.com/archives/54047
 

ทำไมศาลตัดสินให้ “ปฏิทินเป็ด” ผิดมาตรา 112 ??

 
2814
 
ภายหลังการสืบพยานเสร็จสิ้น ข้อมูลของศูนย์ทนายฯ ระบุว่า ทนายความของ “ต้นไม้” ได้ดำเนินการยื่นคำร้องขอให้ศาลส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า “คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 41 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2519 ข้อ 1 อันมีการกำหนดเพิ่มโทษข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากเดิมโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี เป็นจำคุกตั้งแต่ 3-15 ปี  ซึ่งจะบังคับใช้ลงโทษจำเลยในคดีนี้นั้น ไม่มีสภาพเป็นกฎหมาย หรือขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 26 หรือไม่”
 
จากนั้น ศาลได้รับคำร้องไว้ ก่อนจะนัดฟังคำพิพากษาและคำวินิจฉัยอีกครั้งในวันที่ 30 มกราคม 2566 ก่อนจะเลื่อนไปวันที่ 7 มีนาคม 2566 เนื่องจากยังต้องรอคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ
 
ศาลพิพากษา “การผลิตและจำหน่ายปฏิทินนี้ ตั้งใจสื่อสารว่าเป็นรัชกาลที่ 10”
 
สำหรับคำพิพากษาเมื่อ 7 มีนาคม 2566 ศูนย์ทนายฯ เผยแพร่คำพิพากษาของศาลอาญาตลิ่งชันโดยสรุปไว้ดังนี้
 
เมื่อมองปฏิทินโดยรวมในแต่ละเดือน ตั้งแต่มีนาคม เมษายน และกันยายน จากคำเบิกความของพยานโจทก์มีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันหมด โดยเฉพาะในเดือนกันยายน ซึ่งเป็นรูปภาพเป็ดใส่ครอปท็อป สวมแว่นตาดำ ที่พยานโจทก์ได้กล่าวว่าเป็นการสื่อสารถึงรัชกาลที่ 10 เนื่องจากเคยมีภาพรัชกาลที่ 10 แต่งกายในลักษณะดังกล่าวออกมา แต่ไม่ทราบแน่ชัดว่าเป็นเรื่องจริงหรือไม่ ซึ่งการผลิตและจำหน่ายปฏิทินฉบับนี้ จึงเป็นการตั้งใจสื่อสารว่าเป็ดตัวดังกล่าวเป็นรัชกาลที่ 10
 
และจากการเบิกความเชื่อมโยงจากเดือนมกราคม มีนาคม ตุลาคม ตลอดเดือนธันวาคม ที่มีปรากฏข้อความว่า “การปกครองในระบอบประชาธิปไตย ทรงมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ทำให้เชื่อได้ว่าเป็ดเหลืองในปฏิทินฉบับนี้ก็คือรัชกาลที่ 10
 
นอกจากนี้ การที่พยานโจทก์เบิกความสอดคล้องกันในปฏิทินเดือนมีนาคมว่า การนำเป็ดสวมถุงยางอนามัยบนศีรษะ เป็นการด้อยค่า หมิ่นประมาท สร้างความเสื่อมเสียศรัทธาต่อรัชกาลที่ 10 การที่พยานโจทก์เบิกความในทำนองเดียวกันเช่นนี้ จึงพิเคราะห์ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ ความในมาตรา 2 ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และความในมาตรา 6 องค์กษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้
 
ตลอดจนในมาตรา 50 บุคคลมีหน้าที่ต้องพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ คำเบิกความของพยานโจทก์ที่กล่าวว่าจำเลยสร้างความเสื่อมเสีย หมิ่นประมาท ล้อเลียนรัชกาลที่ 10 จึงเป็นคำที่มีน้ำหนักและรับฟังได้
 
ในส่วนที่จำเลยเบิกความว่า ไม่ได้เป็นผู้จัดทำหรือจัดจำหน่ายโดยตรง เป็นเพียงผู้นำไปจัดส่งเท่านั้น ศาลเห็นว่า การที่จำเลยกับพวกร่วมกันจำหน่ายและจัดส่งปฏิทิน ก็ถือว่าได้มีส่วนในการกระทำความผิดร่วมกัน จำเลยย่อมรู้กฎหมาย และหากไม่เห็นเนื้อหาในปฏิทิน ก็ต้องเห็นหน้าปกที่มีข้อความว่า “ปฏิทินพระราชทาน” ซึ่งได้ปรากฏข้อเท็จจริงชัดเจนจากพยานโจทก์แล้วว่าปฏิทินฉบับนี้ ไม่ใช่ของจริงและทำขึ้นมาเพื่อล้อเลียน หมิ่นประมาท รัชกาลที่ 10
 
พิเคราะห์แล้ว พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย 3 ปี ให้การเป็นประโยชน์ ลดโทษเหลือจำคุก 2 ปี โดยไม่รอลงอาญาพร้อมกับยกคำร้องที่ทนายได้ขอให้ศาลส่งไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยด้วย ภายหลังอ่านคำพิพากษา “ต้นไม้” ได้รับการประกันตัวในระหว่างอุทธรณ์คดี
 
อ่านคำพิพากษาทั้งหมด https://tlhr2014.com/archives/54080