112Alert พรุ่งนี้พิพากษา! จับตาศาลอุทธรณ์จังหวัดสมุทรปราการพิพากษา “วุฒิภัทร” คดีโพสต์ตั้งคำถามกรณีสวรรคต รัชกาลที่ 8

112Alert พรุ่งนี้พิพากษา! จับตาศาลอุทธรณ์จังหวัดสมุทรปราการพิพากษา “วุฒิภัทร” คดีโพสต์ตั้งคำถามกรณีสวรรคต รัชกาลที่ 8

1) “วุฒิภัทร” (นามสมมติ) เป็นพนักงานบริษัทวัย 28 ปี ชาวจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ถูกศิวพันธุ์ มานิตย์กุล นักร้องมือฉมังประจำจังหวัดสมุทรปราการ ไปริเริ่มคดีข้อหามาตรา 112 และและ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) ไว้ที่ สภ.บางแก้ว โดยอัยการมีคำสั่งยื่นฟ้องไปเมื่อ 19 กรกฎาคม 2564

2) ศิวพันธุ์กล่าวหาว่า “วุฒิภัทร” เป็นผู้แสดงความคิดเห็นในกลุ่มเฟซบุ๊ก “รอยัลลิสต์มาร์เกตเพลส” เมื่อ 2 มิถุนายน 2563 โดยมีเนื้อหาข้อความเกี่ยวกับกรณีการสรรคตของในหลวงรัชกาลที่ 8 พร้อมทั้งตั้งคำถามต่อเหตุการณ์ที่สามจำเลยในคดีประทุษร้ายรัชกาลที่ 8 ถูกประหารชีวิตไปโดยไม่มีความผิด

3) ในการสืบพยานเมื่อ 1-2 มีนาคม 2565 “วุฒิภัทร” รับว่าเป็นผู้โพสต์ข้อความ และในเนื้อหามีการกล่าวถึงในหลวงรัชกาลที่ 9 จริง แต่ไม่เข้าองค์ประกอบความผิด เนื่องจากมาตรา 112 “คุ้มครองพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ครองราชย์อยู่เท่านั้น” ไม่ครอบคลุมถึงอดีตพระมหากษัตริย์ รวมทั้งเหตุการณ์สวรรคตของรัชกาลที่ 8 ก็ถือเป็นเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นเมื่อประมาณเกือบ 80 ปีที่แล้ว และไม่เกี่ยวกับในหลวงรัชกาลที่ 10 ซึ่งเป็นพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบัน

4) 25 มีนาคม 2565 ศาลจังหวัดสมุทรปราการมีคำสั่งให้ “ยกฟ้อง” ในข้อหามาตรา 112 โดยพิเคราะห์ว่า

แม้จำเลยจะโพสต์ข้อความพาดพิงในหลวงรัชกาลที่ 9 เกี่ยวกับกรณีการสวรรคตของรัชกาลที่ 8 โดยใช้ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น หมิ่นประมาท แสดงความอาฆาตมาดร้าย แต่เจตนารมณ์ของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 คุ้มครองบุคคลเพียงเฉพาะ 4 ตำแหน่ง ได้แก่ พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ที่ยังคงครองราชย์หรือดำรงตำแหน่งอยู่เท่านั้น โดยช่วงเวลาที่จำเลยโพสต์ข้อความพาดพิงดังกล่าว ในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้สวรรคตตั้งแต่เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2559 การกระทำของจำเลยจึงขาดองค์ประกอบของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 

5) ทว่า แม้จะไม่มีความผิดตามมาตรา 112 แต่ก็ศาลได้ลงโทษ “วุฒิภัทร” ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (1) เนื่องจากเห็นว่าข้อความกระทบกระเทือนความรู้สึกของประชาชนทั่วไป ดังนี้

แม้ในกลุ่มเฟซบุ๊ก “รอยัลลิสต์มาร์เกตเพลส” จะเป็นกลุ่มปิดสาธารณะ แต่ก็มีสมาชิกกลุ่มจำนวนกว่า 100,000 ราย จึงถือว่าเป็นประชาชนจำนวนหนึ่ง และถ้อยคำของจำเลยที่พาดพิงถึงในหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นถ้อยคำด่าทอ หยาบคาย ใส่ความ หมิ่นประมาท และแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อในหลวงรัชกาลที่ 9 เมื่อคนทั่วไปอ่านแล้ว จะเข้าใจว่าในหลวงรัชกาลที่ 9 เกี่ยวข้องกับการสวรรคตของในหลวงรัชกาลที่ 8 และให้จำเลยทั้งสาม ได้แก่ ชิต สิงหเสนี, บุศย์ ปัทมศริน และเฉลียว ปทุมรส ในคดีประทุษร้ายต่อในหลวงรัชกาลที่ 8 ถูกประหารชีวิตไปโดยไม่มีความผิด ดังนั้น การกระทำของจำเลยดังกล่าวจึงมีเจตนาทำให้ในหลวงรัชกาลที่ 9 ถูกดูหมิ่น เกลียดชัง และเสื่อมพระเกียรติ อีกทั้งกระทบต่อความรู้สึกของประชาชนทั่วไปที่เข้ามาพบเห็น และก่อให้เกิดความแตกแยกเป็นฝักฝ่ายในสังคม

6) ด้วยเหตุผลดังกล่าว ศาลจึงพิพากษาตัดสินโทษจำคุกหนึ่งปี โดยไม่รอลงอาญา (ให้การเป็นประโยชน์ ลดโทษเหลือจำคุกแปดเดือน) 

7) อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ทนายความของ “วุฒิภัทร” เปิดเผยว่า การที่ศาลพิพากษาลงโทษความผิดฐาน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (1) “นำเข้าข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ” นั้น ไม่เป็นไปตามคำฟ้องของอัยการโจทก์ที่บรรยายฟ้องจำเลยตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) ดังนั้น คำพิพากษาของศาลจึงเกินกว่าฟ้องของโจทก์ อาจขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 “ห้ามมิให้พิพากษาหรือสั่งเกินคำขอหรือที่มิได้กล่าวในฟ้อง” 

อ่านคำพิพากษาทั้งหมดได้ที่ https://tlhr2014.com/archives/41895

8 ) ภายหลังอ่านคำพิพากษา ทนายความของ “วุฒิภัทร” จึงดำเนินการยื่นอุทธรณ์คดีในประเด็นดังกล่าวต่อไป

9) เวลาผ่านไปหนึ่งปีกว่า ศาลจังหวัดสมุทรปราการนัดฟังคำพิพากษาชั้นอุทธรณ์ในวันพรุ่งนี้ 27 เมษายน 2566 เวลา 9.00 น.

10) ทั้งนี้ คดีของ “วุฒิภัทร” นับเป็นคดีที่สองที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้ยกฟ้องมาตรา 112 (สถิติระลอก 2563-2566) เนื่องจากเห็นว่ามาตรา 112 ไม่คุ้มครองอดีตกษัตริย์ เช่นเดียวกันกับคดีของจรัส นักศึกษาจากจังหวัดจันทบุรี ที่ศาลชั้นต้นจังหวัดจันทบุรีมีคำสั่งให้ยกฟ้องไปเมื่อ 30 พฤศจิกายน 2564 

อย่างไรก็ตาม ในนัดฟังคำพิพากษาชั้นอุทธรณ์เมื่อ 22 พฤศจิกายน 2565 ศาลอุทธรณ์จังหวัดจันทบุรีก็ “กลับคำพิพากษา” ให้จรัสมีความผิดตามมาตรา 112 ลงโทษจำคุก 3 ปี (รอลงอาญา 2 ปี) โดยให้เหตุผลว่า 

การดำรงตำแหน่งพระมหากษัตริย์ กระทำโดยการสืบสันตติวงศ์ตามกฎมณเฑียรบาล ทำให้พระมหากษัตริย์จะสืบทอดทางสันตติวงศ์ทางสายพระโลหิตติดต่อกันมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งราชวงศ์จักรี ตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ต้นราชวงศ์ ตลอดมาจนกระทั่งรัชกาลปัจจุบัน และคดีของเพชร ธนกร ที่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางมีคำพิพากษาว่า มาตรา 112 ไม่ได้คุ้มครองเฉพาะพระมหากษัตริย์องค์ใดองค์หนึ่ง แต่คุ้มครองทั้งสถาบันฯ