ฤดู #เลือกตั้ง66 ผ่านไป ในบรรยากาศที่มีคนเข้า-ออกเรือนจำเพราะมาตรา 112

52961129462_f28846d97d_o
การแก้ไข #มาตรา112 เป็นหัวข้อหนึ่งที่สื่อมวลชนช่องน้อย-ใหญ่ให้ความสนใจในสนามการเลือกตั้ง 2566 สังเกตได้จากการที่ประเด็นดังกล่าวมักถูกหยิบยกไปเป็น “หัวข้อดีเบท” ในหลายต่อหลายเวทีเพื่อเปิดพื้นที่ให้ตัวแทนของแต่ละพรรคการเมืองชี้แจงได้อย่างเสรีว่ามีจุดยืนอย่างไร หรือมีข้อเสนอให้แก้ไขมาตรานี้อย่างไรบ้าง อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางบรรยากาศของการพูดคุยที่เปิดกว้างมากขึ้น ตลอดสามเดือนช่วงฤดูการเลือกตั้ง ประตูรั้วของ “เรือนจำ” ก็ยังคงมีนักโทษทางการเมืองเดินเข้า-ออกอยู่เรื่อยๆ
ข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนระบุว่า ในเดือนมีนาคม 2566 มีประชาชนที่ถูกคุมขังด้วยมาตรา 112 อย่างน้อยสองคน ได้แก่ “วุฒิ” (นามสมมติ) ประชาชนวัย 50 ปีที่ถูกส่งตัวไปยังเรือนจำพิเศษมีนบุรีภายหลังอัยการมีคำสั่งฟ้องในมาตรา 112 จากการโพสต์เฟซบุ๊กจำนวน 12 ข้อความ โดย “วุฒิ” ยังคงไม่ได้รับการประกันตัวมาตั้งแต่วันที่ 27 มีนาคม 2566 และหยก เยาวชนอายุ 15 ปี ซึ่งถูกคุมขังอยู่ที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนหญิง หรือ “บ้านปรานี” เป็นเวลากว่า 51 วัน
ต่อมา ในเดือนพฤษภาคม 2566 มีผู้ถูกคุมขังเพิ่มขึ้นอีกสองราย ได้แก่ เวหา แสนชนชนะศึก ที่ถูกควบคุมตัวภายหลังศาลอาญา รัชดา มีคำพิพากษาเมื่อ 18 พฤษภาคม 2566 ให้จำคุก 3 ปี 18 เดือน ไม่รอลงอาญา จากการใช้ทวิตเตอร์ “ฟ้าฝน ver.เกรี้ยวกราด” ทวิตข้อความเล่าประสบการณ์ใน #คุกวังทวี โดยเวหาไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัวระหว่างการขออุทธรณ์ และ “ชรัน” (นามสมมติ) ประชาชนชาวจังหวัดสงขลาที่ถูกตั้งข้อหามาตรา 112 จากการโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก และถูกควบคุมตัวทางไกลมาที่เรือนจำจังหวัดนนทบุรีเป็นเวลาเก้าวัน
เพื่อให้บทสนทนาว่าด้วย #มาตรา112 ยังคงอยู่แม้การเลือกตั้งจบลง ชวนย้อนดูสถิติการเข้าออกเรือนจำของนักโทษการเมืองผ่านไทม์ไลน์ “เลือกตั้ง 2566” นับตั้งแต่มีการประกาศยุบสภาในเดือนมีนาคม 2566

หลังยุบสภาหนึ่งสัปดาห์ มีประชาชน “ไม่ได้ประกัน” คดี ม.112 หนึ่งคน

หลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศยุบสภาเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2566 ในวันถัดมา กกต.ก็ประกาศให้วันเลือกตั้งเป็นวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ในขณะเดียวกัน หนึ่งอาทิตย์ถัดมาหลังจากนั้น 27 มีนาคม 2566 ศูนย์ทนายฯ รายงานว่า ศาลอาญามีนบุรีมีคำสั่งไม่ให้ประกันตัว “วุฒิ” (นามสมมติ) ประชาชนวัย 50 ปี ภายหลังอัยการสั่งฟ้องในข้อหามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) จากการโพสต์เฟซบุ๊กจำนวนรวม 12 ข้อความ โดยคำบรรยายฟ้องระบุว่า จำเลยได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กที่มีเนื้อหาไปในทางที่ชี้นำประชาชนให้เข้าใจว่าพระมหากษัตริย์ พระราชินี และพระบรมวงศานุวงศ์ เป็นบุคคลไม่ดี ลดคุณค่าความน่าเชื่อถือและความนับถือลง พร้อมมีการโพสต์ภาพพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 และพระราชินี 
ในวันดังกล่าว “วุฒิ” ได้ยื่นเรื่องขอประกันตัวด้วยหลักทรัพย์ 150,000 บาท แต่ศาลอาญามีนบุรีมีคำสั่งไม่อนุญาตเนื่องจากเห็นว่าการกระทำที่ถูกฟ้องเป็นการกระทำหลายครั้งต่อเนื่องกันโดยไม่เกรงกลัวต่อกฎหมาย คดีมีอัตราโทษสูง หากอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว เกรงว่าจำเลยจะหลบหนี ส่งผลให้ “วุฒิ” ถูกนำตัวไปที่เรือนจำพิเศษมีนบุรีและยังไม่ได้รับการประกันตัวจนถึงปัจจุบัน
ทั้งนี้ มีข้อสังเกตว่ากรณีที่ศาลไม่อนุญาตปล่อยตัว “วุฒิ” โดยระบุว่า “เป็นการกระทำหลายครั้งต่อเนื่องกัน” นั้น ไม่สอดคล้องกับดุลยพินิจการปล่อยตัวผู้ต้องหาชั้นเดียวกัน เมื่อเทียบกับคดีอื่นๆ ในระยะเวลาไล่เลี่ยกัน เช่น คดีของ “ต้นไผ่” (นามสมมติ) พนักงานบริษัทวัย 41 ปี ที่ถูกฟ้องต่อศาลอาญา รัชดา ในข้อหามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) จำนวนสองคดีไปเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2566 สืบเนื่องจากการใช้เฟซบุ๊กชื่อ “ศักดินาปรสิต – Parasite Monarchy” และทวิตเตอร์ชื่อ “Guillotine Activists for Democracy” และ “Guillotine2475” โพสต์เนื้อหาเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ในระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2564 – มีนาคม 2565 โดยทั้งสองคดีรวมกัน มีจำนวนมากถึง 20 ข้อความ แต่ในเย็นวันเดียวกันนั้น ศาลก็มีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัว 
ทั้งนี้ คดีของ “วุฒิ” มีผู้ริเริ่มคดีคือ สุรวัชร สังขฤกษ์ นักร้องในนามกลุ่มการเมืองภาคประชาชน ผู้เคยยื่นเรื่องขอให้ กกต. ตรวจสอบอดีตพรรคการเมืองฝ่ายค้านหลังการเลือกตั้ง 2562 มาแล้วหลายครั้ง อาทิ ยื่นเรื่องขอให้ กกต. ระงับการรับรองผลการเลือกตั้งของ ส.ส.ของพรรคอนาคตใหม่ ยื่นเรื่องขอให้ยุบพรรคเพื่อไทยเนื่องจากเชื่อว่า ทักษิณ ชินวัตร เข้ามาครอบงำพรรค และยื่นเรื่องให้ กกต. ตรวจสอบ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส กรณีเข้าข่ายมีลักษณะต้องห้ามการเป็นผู้สมัคร ส.ส. เป็นต้น นอกจากนี้ ข้อมูลของศูนย์ทนายฯ ยังระบุว่า สุรวัชรเคยยื่นริเริ่มคดีมาตรา 112 ไว้อย่างน้อยสองคดีที่ สน.นิมิตรใหม่ 

เปิดลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าสามวัน มี “เยาวชน” ถูกคุมขังเพิ่ม

25 มีนาคม 2566 กกต.เปิดให้ประชาชนลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าและเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรเป็นวันแรก ภายหลังเปิดระบบได้สามวัน เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2566 เกิดกรณีการจับกุม หยก-ธนลภย์ เยาวชนอายุ 15 ปี ภายหลังเธอและเพื่อนๆ ได้ติดตามการจับกุม “บังเอิญ” ศิลปินอิสระอายุ 25 ปี ผู้พ่นข้อความ 112 บนผนังกำแพงวัดพระแก้ว ไปที่ สน.พระราชวัง แต่เมื่อถึง สน. หยกกลับถูกจับกุมตามหมายจับในคดีมาตรา 112 จากการเข้าร่วมกิจกรรมชุมนุม #13ตุลาหวังว่าสายฝนจะพาล่องลอยไป ที่ลานเสาชิงช้า เมื่อ 13 ตุลาคม 2565
หยกถูกควบคุมตัวอยู่ที่ สน.สำราญราษฎ์เป็นเวลาหนึ่งคืน โดยเธอเลือกเส้นทาง “ปฏิเสธกระบวนการยุติธรรม”  ไม่ขอมีที่ปรึกษาทางกฎหมาย ตลอดจนไม่ขอลงชื่อในเอกสารใดๆ และไม่ยื่นขอประกันตัว ส่งผลให้เช้าวันต่อมา (29 มีนาคม 2566) ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางมีคำสั่งให้ควบคุมตัวหยกไปที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนหญิง หรือ “บ้านปรานี” จังหวัดนครปฐม ซึ่งอยู่ภายใต้ความดูแลของสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน เป็นระยะเวลา 30 วัน (1 ผัด) จนกว่าพนักงานอัยการจะมีคำสั่งฟ้อง
ในคดีนี้มี อานนท์ กลิ่นแก้ว สมาชิกกลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) เป็นผู้ริเริ่มคดีไว้ที่ สน.สำราญราษฎร์ โดยอานนท์นับว่าเป็นนักร้องมือฉมังที่ทำสถิติริเริ่มคดีมาตรา 112 ไว้มากถึงเจ็ดคดี และหกในเจ็ดคดีเกิดขึ้นภายในปี 2565 ปีเดียว (อีกหนึ่งคดีริเริ่มไว้เมื่อปี 2563) รวมทั้งอานนท์ยังเป็นผู้ไปริเริ่มแจ้งความมาตรา 112 กับ “บังเอิญ” อีกด้วย 

เคาท์ดาวน์สี่วันก่อนเลือกตั้ง คุมตัวนักกิจกรรมเก้าคน เหตุเรียกร้อง #ปล่อยหยก

เวลาผ่านไปราวหนึ่งเดือนเศษ ยังไม่มีทีท่าว่าหยกจะได้รับการปล่อยตัว แต่สถานการณ์กลับเลวร้ายขึ้นเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2566 หยกถูกแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มจาก ผกก.สน.สำราญราษฎร์ ในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.บ.โบราณสถานฯ ส่งผลให้ในช่วงเย็นของวันเดียวกัน กลุ่มทะลุแก๊สนัดรวมตัวกันชุมนุมประท้วงสาดสีหน้า สน.สำราญราษฎร์ และมีเหตุการณ์ชุลมุนเกิดขึ้นเมื่อตำรวจนำกำลังเข้าจับกุมผู้ร่วมชุมนุมอย่างน้อย 9 คน
ในวันดังกล่าว มีผู้ถูกควบคุมตัว ได้แก่ นภสินธุ์ ตรีรยาภิวัฒน์ หรือสายน้ำ, ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ หรือตะวัน, ธีรภัทร ประดับแก้ว หรือธี, จิรภาส กอรัมย์ หรือแก๊ป, อรวรรณ ภู่พงษ์ หรือแบม, ณัฐพล เหล็กแย้ม หรือมอส, สิทธิชัย ปราศรัย หรือออย, รณกร ห้างชัยเจริญ หรือแฟรงค์ และ “บังเอิญ” โดยทั้งเก้าคนถูกควบคุมตัวไว้ที่สน. เป็นเวลาสองคืน ต่อมา วันที่ 12 พฤษภาคม 2566 พนักงานสอบสวนได้ขอยื่นเรื่องขอฝากขังต่อศาลอาญา รัชดา โดยระบุข้อกล่าวหาต่อทั้งเก้าคน อาทิ ร่วมกันบุกรุกโดยไม่มีเหตุอันควร ร่วมกันทำลายทรัพย์สินผู้อื่นและสาธารณะ และต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน ซึ่งศาลอนุญาตให้ฝากขัง ก่อนที่ทนายจะดำเนินการยื่นประกันตัวและศาลเห็นควรให้ปล่อยตัวชั่วคราวทั้งเก้าคน
หยกไม่ได้รับอิสรภาพเป็นเวลานานจนวันเลือกตั้งเลยผ่านไป กระทั่งช่วงเย็นของวันที่ 18 พฤษภาคม 2566 ภายหลัง สน.สำราญราษฎร์ ยื่นขอผัดฟ้องต่ออีกครั้ง แต่ในครั้งนี้ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางได้ยกคำร้อง หยกจึงได้รับการปล่อยตัวจากบ้านปรานี รวมระยะเวลาถูกคุมขัง 51 วัน โดยเธอก้าวขาออกมาพร้อมกับ “ผื่นบริเวณหลังคอ” ที่เกิดจากการแพ้น้ำบาดาลในศูนย์ฝึกและอบรม ทั้งนี้ หยกให้สัมภาษณ์กับสื่อว่า ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ของศูนย์ฯ ให้การช่วยเหลือเพียงการให้ยาคารามายเท่านั้น และหลังจากนี้จะเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลต่อไป

จบเลือกตั้งสี่วัน มีประชาชน “เข้าเรือนจำ” หลังศาลพิพากษา

18 พฤษภาคม 2566 หลังผ่านวันเลือกตั้งไปสี่วันและเป็นวันเดียวกันกับที่หยกได้ปล่อยตัว ศาลอาญา รัชดา มีคำพิพากษาให้ เวหา แสนชนชนะศึก มีความผิดในคดีมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) จากการใช้แอคเคาท์ทวิตเตอร์ชื่อ “ฟ้าฝน ver.เกรี้ยวกราด” ทวิตข้อความเล่าประสบการณ์ในคุกเรือนจำชั่วคราวพุทธมณฑล ผ่านแฮชแท็ก #คุกวังทวี จนเกิดกระแส #แอร์ไม่เย็น บนทวิตเตอร์เมื่อเดือนสิงหาคม 2564 และข้อความอื่นๆ รวม 3 กรรม จำคุกกรรมละ 3 ปี รับสารภาพลดโทษเหลือกรรมละ 1 ปี 6 เดือน รวมเป็น 3 ปี 18 เดือน โดยไม่รอลงอาญา
ข้อมูลของศูนย์ทนายฯ ระบุว่า ภายหลังยื่นเรื่องขอประกันตัว ศาลมีคำสั่งให้ส่งคำร้องขอประกันไปยังศาลอุทธรณ์ ต่อมา 20 พฤษภาคม 2566 ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัว โดยเห็นว่าศาลชั้นต้นลงโทษสูง เกรงว่าจำเลยจะหลบหนี เวหาจึงถูกควบคุมตัวอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมาตั้งแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาเรื่อยมา
อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เวหาต้องก้าวเท้าเข้าเรือนจำ เพราะเมื่อย้อนกลับไปในปี 2564 หลังการโพสต์ข้อความดังกล่าวเมื่อ 4-5 สิงหาคม 2564 ประมาณห้าวันต่อมา (10 สิงหาคม 2564) เวหาถูกตำรวจเข้าจับกุมที่บ้านพักในจังหวัดพิษณุโลก ก่อนจะถูกนำตัวมาฝากขังต่อศาลในรุ่งขึ้น (11 สิงหาคม 2564) โดยการเข้าเรือนจำในครั้งนั้น เวหาได้ติดเชื้อโควิด-19 และต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ กระทั่งศาลมีคำสั่งให้ประกันเมื่อ 2 ตุลาคม 2564 รวมระยะเวลาถูกคุมขังรอบแรก 53 วัน 
นอกจากนี้ เวหายังมีคดีมาตรา 112 อีกสองคดี ได้แก่ (1) คดีจากการโพสต์เฟซบุ๊กสองกรรม กรรมแรกมาจากการแชร์โพสต์ของเพจเยาวชนปลดแอก และกรรมที่สองเป็นการโพสต์ข้อความในวันขึ้นปีใหม่ 2565 และ (2) คดีจากการโพสต์ภาพและข้อความต่อกรณีคำพิพากษาของศาลคดี “ติดสติกเกอร์ กูKult” 
การถูกตั้งข้อหาในคดีที่ (1) ส่งผลให้เวหาต้องเข้าเรือนจำอีกเป็นครั้งที่สอง โดยเขาถูกตำรวจดักจับกุมที่บริเวณสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพหมอชิต เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2565 ขณะเดินทางมาจากจังหวัดพิษณุโลก จากนั้น เจ้าหน้าที่ได้ควบคุมตัวเวหาไปที่กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (บช.ปส.) เป็นเวลาหนึ่งคืน ก่อนที่ในเช้าวันถัดไป (11 มีนาคม 2565) ศาลอาญา รัชดา จะมีคำสั่งให้ส่งตัวเวหาไปที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ จากนั้น เวหาไม่ได้รับอิสรภาพระหว่างที่คดียังไม่มีคำพิพากษา กระทั่งวันที่ 17 มิถุนายน 2565 ศาลมีคำสั่งให้ประกันตัวพร้อมติดกำไล EM และเงื่อนไขอื่นๆ รวมระยะเวลาถูกคุมขัง 99 วัน 
ผลจากการเข้าเรือนจำสามครั้ง ทำให้นับถึง 9 มิถุนายน 2566 เวหาอยู่ในเรือนจำรวมกันไม่น้อยกว่า 178 วัน

วันเซ็น MOU ตั้งรัฐบาล มีประชาชน “ไม่ได้ประกัน” ระหว่างสอบสวน 

22 พฤษภาคม 2566 หรือประมาณหนึ่งอาทิตย์หลังวันเลือกตั้ง พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล พร้อมแกนนำพรรคเสียงข้างมากแปดพรรค ได้ร่วมกันลงนาม MOU เพื่อจัดตั้งรัฐบาล แต่ในวันเดียวกันนี้ มีประชาชนถูกจับกุมในข้อหามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) จากการโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก และถูกนำตัวไปฝากขังที่ศาลจังหวัดนนทบุรี
ข้อมูลของศูนย์ทนายฯ ระบุว่า  “ชรัน” (นามสมมติ) ประชาชนอายุ 38 ปี ชาวจังหวัดสงขลา ถูกจับกุมเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2566 เขาถูกพาตัวไปที่ สภ.หาดใหญ่เป็นเวลาหนึ่งคืน ก่อนในเช้าวันถัดมา (20 พฤษภาคม 2566) ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สภ.เมืองนนทบุรี ซึ่งเป็นสถานีตำรวจท้องที่เจ้าของคดีนำตัว “ชรัน” ขึ้นรถตู้เพื่อเดินทางไปที่จังหวัดนนทบุรีและควบคุมตัวไว้ที่ สภ.เมืองนนทบุรีอีกหนึ่งคืน จากนั้นจึงส่งตัวไปทำเรื่องฝากขังต่อศาลในเช้าวันที่ 22 พฤษภาคม 2566 ภายหลังอยู่ในเรือนจำจังหวัดนนทบุรีนานกว่าเก้าวัน “ชรัน” ได้รับอิสระหลังจากญาติยื่นประกันครั้งที่สองเมื่อ 30 พฤษภาคม 2566