ธีรวัช: “ผมไม่ได้ทำอะไรผิด” การต่อสู้ของเด็กหนุ่มผู้ถูกคดี มาตรา 112

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ยังถูกเข้าใจอยู่ว่า “ไม่ทำผิด ไม่ติดคุก” และมีเพียง “ตัวแสบ” ไม่กี่คนที่โดนจับ อย่างไรก็ตามความเป็นจริงนั้นกฎหมายข้อนี้มีปัญหามากกว่านั้น ดังเช่นกรณีของ ‘ธีรวัช’ ผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 เพียงการกดแชร์สเสตัสเฟซบุ๊กเช่นเดียวกับคนอื่น

“วันนั้นตำรวจไปบ้านที่ต่างจังหวัด คุณย่าเลยโทรหาเรา กลายเป็นเรื่องใหญ่เพราะเป็นคดีเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ เราเลยบอกตำรวจว่าเราจะไปหาที่สถานีตำรวจวันต่อไป เราก็ไปแบบไม่มีทนายเลยเพราะตำรวจบอกคุณย่าให้หลานไปหา ไปยอมรับ แล้วจะไม่เป็นอะไร”

นอกจากนี้คดีดังกล่าวยังไม่ถูกดำเนินคดีอย่างตรงไปตรงมา เมื่อเจ้าหน้าที่ตัดสินใจบอกธีรวัชเพียงให้ “ไปเซ็น” จะได้ไม่ถูกข้อหาอะไร สอบสวนเขาขณะไม่มีทนายอยู่ด้วยเป็นเวลากว่าสี่ชั่วโมง ปฏิเสธการให้ไปดำเนินคดีในศาลเยาวชนทั้งที่เขาเพิ่งอายุ 18 มาได้ไม่กี่เดือน ซ้ำร้ายยังเรียกเงินประกันตัวที่สูงยิ่งกว่าผู้ต้องหาคดียาเสพติดไม่รู้กี่เท่า

“ผมไม่ได้ทำอะไรผิด ย้อนกลับไปผมก็จะทำแบบเดิม ถ้าถึงเวลาต้องกดแชร์ก็จะกดแชร์อีกครั้ง”

วันที่ 28 กันนายน 2566 นี้ศาลกำลังนัดพิพากษาคดีของเขา แต่กำลังใจของเขายังเต็มร้อย และเชื่อว่าไม่มีความผิดใดที่ตัวเองได้กระทำเกินไปกว่าการใช้สิทธิเสรีภาพตามที่สังคมควรจะเป็น

เพราะทุกคนควรสนใจการเมือง จุดเปลี่ยนจากคนขายน้ำเต้าหู้สู่ม็อบเยาวชนปี 2563 

ธีรวัชเป็นนักเรียนสายอาชีพแห่งหนึ่งแม้ส่วนตัวเขาจะชอบการเรียนสายสามัญมากกว่า โดยช่วงระหว่างมัธยมปีที่หนึ่งถึงมัธยมปีที่สามเขาได้ขึ้นมาเรียนที่กรุงเทพมหานคร ตรงนี้เขาระบุเองว่าเป็นเพราะเขา “ดื้อ” จนคุณพ่อต้องให้มาอยู่ใกล้ตัว 

“อยู่กรุงเทพฯ เหงามาก เพราะก็ต้องอยู่ที่บ้านกับคุณพ่ออย่างเดียว เหมือนเป็นเด็กในกล่อง คุณพ่อก็เป็นตำรวจ”

ความดื้อของเขาทำให้ในสมัยก่อนเขากับคุณพ่อจะกระทบกระทั่งกันบ้าง เราจึงถามความฝันของเขาในวัยเด็ก ทว่าเขาไม่ได้ตอบชัดเจนว่ามีความฝันอะไรเนื่องจากชีวิตมีการผันเปลี่ยนไปมาบ่อย ตอนนี้เขาก็ถือเพียงแค่ต้องการมีอาชีพที่มั่นคงและไม่เดือดร้อนเรื่องเงินเพียงเท่านั้น

“แต่ตอนนี้ความสัมพันธ์ผมกับคุณพ่อปกติกันแล้ว เพราะก่อนหน้านี้ได้ไปขายน้ำเต้าหู้ด้วยตนเอง ใช้ชีวิตด้วยตัวเองหนึ่งปีแบบไม่ขอเงินใคร ไม่เดือดร้อนใคร”

ธีรวัชใช้เวลาช่วงหนึ่งของชีวิตวัยรุ่นไปช่วยพี่สาวขายน้ำเต้าหู้อยู่ที่ตลาดแห่งหนึ่งแถวคลองสาม จังหวัดปทุมธานี เขาบอกว่าช่วงก่อนหน้าขายดีมากจนกระทั่งเศรษฐกิจแย่ลง พอเศรษฐกิจแย่ลงการย้ายไปขายที่อื่นก็ไม่ได้ช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าว เขาจึงต้องพยายามออกมาหางานประจำจนกว่าจะพร้อมกลับไปขายน้ำเต้าหู้อีกครั้ง เนื่องจากมีอุปกรณ์และสูตรอยู่แล้ว ด้วยเหตุนี้เช่นกันที่ทำให้เขามองว่าการขายน้ำเต้าหู้เหนื่อยน้อยกว่าการทำงานประจำที่เขาทำอยู่เป็นอย่างมาก

“ตอนนี้ผมฝึกงานเพื่อเตรียมเป็นผู้จัดการร้านสุกี้แห่งหนึ่งอยู่… เหนื่อยกว่ามาก เข้างานหกโมงเย็น ออกงานตีสองครึ่ง ส่วนใหญ่เป็นการเดินใช้แรง”

จึงเท่ากับว่า ธีรวัชได้เผชิญหน้ากับพิษเศรษฐกิจครั้งใหญ่ของประเทศไทยในช่วงการปกครองของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จนทำให้ต้องเปลี่ยนจากการเป็นนายตัวเองมาสู่งานประจำในระบบ ซึ่งยิ่งกระทบต่อสุขภาพ การพักผ่อน และเวลาส่วนตัวจำนวนมากอีกด้วย

ด้วยเหตุนี้เราจึงสงสัยว่า เพราะอะไรเขาจึงเริ่มหันมาสนใจการเมือง

“คนรอบตัวสนใจการเมือง ผมก็สนใจด้วย อยู่ในทุกกลุ่มอยู่แล้ว มันเป็นเรื่องเบสิกอ่ะครับ ต้องสนใจ ไม่สนใจสิแปลก”

ธีรวัชเริ่มสนใจการเมืองจากการซึบซับจากคนรอบตัว จุดนี้ทำให้เขามองว่าการเมืองเป็นเรื่องปกติที่ควรสนใจ สำหรับธีรวัชการไม่สนใจการเมืองเลยคือเรื่องแปลกประหลาด แต่หากจะหาจุดตัดที่ทำให้เขาหันมาสนใจการเมืองอย่างจริงจังก็ต้องมองไปที่ผลการเลือกตั้งในปี 2562 ที่พล.อ.ประยุทธ์ ชนะการเลือกตั้งด้วยกลไกจากรัฐธรรมนูญ 2560 ที่มีที่มาจากการทำรัฐประหารในปี 2557 

“เริ่มสนใจจริงๆ คือ ช่วงการเลือกตั้งปี 2562 ที่ประยุทธ์ชนะการเลือกตั้ง คนด่าประยุทธ์บ่อยมาก เราก็อยากรู้ว่าทำไมประยุทธ์ถึงโดนด่า ทำไมคนเขาถึงไม่ชอบประยุทธ์กัน เราก็อ่านสืบตามการเมืองมาเรื่อยๆ จนรู้ว่าระบบการเมืองไทยมันเป็นอย่างไรบ้าง”

ด้วยเหตุนี้ทำให้ธีรวัชตัดสินใจไปชุมนุมครั้งแรกที่แยกเกษตร ฝั่งบางเขน เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2563 หลังการชุมนุมของคณะราษฎรถูกสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2563 และมีแกนนำหลายคนถูกจับกุม ซึ่งเขาก็ได้รับการสนับสนุนจากครอบครัวในการไปชุมนุม ไม่ได้ถูกห้ามอะไรเหมือนที่ครอบครัวอื่นเผชิญ 

แต่ในตอนนั้นเขาก็ยังไม่รู้ว่าการสนใจการเมืองดังที่ประชาชนในประเทศนี้ควรจะทำ จะนำคดีความมาสู่ตัวเขาเอง ซึ่งก็ไม่ใช่คดีธรรมดาแต่ก็เป็นคดีอาญาแผ่นดินที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงอีกด้วย

กดแชร์สเตตัสก็ทำให้เกือบติดคุก เมื่อคดีมาตรา 112 เงินประกันตัวสูงกว่าคดียาเสพติ

เขาอายุเพียง 18 ปี กับอีกไม่กี่เดือนนัก เมื่อมีเจ้าหน้าที่เดินทางไปพบญาติเขาที่ต่างจังหวัดเพื่อแจ้งว่าธีรวัชถูกดำเนินคดีความตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จากการแชร์สเตตัสเฟซบุ๊กของเพจ “KonThaiUK” ในหัวข้อที่เกี่ยวกับลักษณะนิสัยและการแต่งตัวของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 ซึ่ง ณ ขณะนั้นสังคมไทยกำลังพูดถึงกระแสการ “ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์” กันอย่างร้อนแรง 

“ตอนที่กดแชร์สเตตัสนั้นก็ไม่ได้คิดว่าจะโดนคดี เพราะคนแชร์ร่วมกันเยอะมาก เราแค่ไม่รู้ไปใช้ชื่อจริงนามสกุลจริง-ไม่ได้ตั้งค่าให้เป็นส่วนตัว เราเห็นคนแชร์เยอะทำไมเราจะแชร์บ้างไม่ได้ เราไม่น่าจะเป็นคนโดน”

เขาไม่ได้คาดคิดมาก่อนว่าการแชร์สเตตัสเพียงสเตตัสเดียวจะทำให้มีการดำเนินคดีตามมา โดยเฉพาะในประเด็นการเมืองที่มีคนร่วมแชร์กันเป็นจำนวนมหาศาล ปัญหาสำคัญที่เขาตระหนักได้คือการใช้ชื่อและนามสกุลจริงในการแชร์สเตตัสการเมือง ที่สำคัญคือการไม่ได้ตั้งค่าไว้ให้เป็นการแชร์ในลักษณะส่วนตัว แต่เป็นการแชร์แบบสาธารณะที่คนอื่นๆ สามารถมองเห็นได้ ประกอบกับชื่อนามสกุลจริงที่เขาใช้ยังเป็นภาษาไทยอีกด้วย จึงอาจจะยิ่งเป็นการสร้างความสะดวกให้แก่เหล่า “นักร้อง” ที่ตามหากลุ่มคนที่วิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์ไปร้องทุกข์กล่าวโทษแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจ

“วันนั้นตำรวจไปบ้านที่ต่างจังหวัด คุณย่าเลยโทรหาเรา กลายเป็นเรื่องใหญ่เพราะเป็นคดีเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ เราเลยบอกตำรวจว่าเราจะไปหาที่สถานีตำรวจวันต่อไป เราก็ไปแบบไม่มีทนายเลยเพราะตำรวจบอกคุณย่าให้หลานไปหา ไปยอมรับ แล้วจะไม่เป็นอะไร” 

ด้วยเหตุนี้ธีรวัชจึงเดินทางไปพบเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธรบางแก้วเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2564 ซึ่งตอนนั้นเจ้าหน้าที่ก็ “สืบ” ด้วยการถามคำถามจำนวนมาก เช่น ทำไมจึงทำแบบนี้ ทำไปทำไม โดยที่ไม่ได้มีทนายร่วมด้วย จนกระทั่งทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจบอกให้เขามาในวันต่อไป ซึ่งธีรวัชระบุว่าวันต่อไปที่มาถึงก็คือวันที่เขาไปศาลและถูกนำตัวลงไปยังใต้ถุนศาลเพื่อรอส่งเข้าเรือนจำเสียแล้ว ตอนนั้นเป็นครั้งแรกที่ธีรวัชได้เจอกับทนาย

“ตอนที่ถูกเรียกตัวไปพบเจ้าหน้าที่ เขาสัมภาษณ์เราจริงๆ แค่ประมาณหนึ่งชั่วโมง ที่เหลือเขาทำอะไรของเขาก็ไม่รู้ ตอนเขาถามก็จะถามช้าๆ เหมือนเน้นประเด็น ที่เหลือเขาก็มัวแต่พิมพ์อะไรสักอย่าง”

สาเหตุที่ธีรวัชยอมไปพบเจ้าหน้าที่ครั้งนี้ เขาระบุว่าเป็นเพราะเจ้าหน้าที่ตำรวจบอกกับคุณย่าให้ธีรวัชต้องไปตามนัดจะได้ไม่เป็นอะไร หากไม่ไปจะถูกออกหมายจับ ซึ่งธีรวัชก็ระบุว่าเขาไม่รู้เลยว่าใครเป็นคนไปแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษเขา แต่ก็ได้เจอกันแล้วในชั้นศาล โดยคาดว่าเป็น “นักฟ้อง” ที่ไม่ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษคดีมาตรา 112 แค่ของเขาเท่านั้น แต่น่าจะเป็นขาประจำของศาลนี้เสียด้วย 

การต่อสู้ทางคดี ธีรวัชมีจุดแข็งว่าในช่วงเวลาที่ถูกร้องทุกข์กล่าวโทษเขาเพิ่งมีอายุ 18 ปีมาได้ไม่นาน ทนายความของเขาจึงพยายามต่อสู้เพื่อให้คดีของเขาถูกยกไปพิจารณายังศาลเยาวชนแทนศาลทั่วไป เนื่องจาก “พระราชบัญญัติ ศาลเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553” มาตรา 97 เปิดโอกาสให้บุคคลอายุไม่เกิน 20 ปีบริบูรณ์ หากศาลพิจารณาเห็นว่ามีสภาพเช่นเดียวกับเด็กหรือเยาวชน โดยคำนึงถึงสภาพร่างกาย สภาพจิต สติปัญญา และนิสัยแล้ว สามารถมีคำสั่งโอนคดีไปพิจารณาในศาลเยาวชนได้  

ด้วยเหตุนี้เขาจึงต้องเข้ารับการตรวจสุขภาพจิตเพื่อระบุวุฒิภาวะที่ชัดเจนจากสถาบันจิตเวช โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา แต่ก็ไม่สามาถทำให้เขาสามารถย้ายคดีนี้ไปสู่ศาลเยาวชนได้สำเร็จ

“ตอนแรกที่ไปเราคุยกับหมอ หมอก็เหมือนเป็นนักศึกษาแพทย์ก็เข้าใจเรานะว่าเราไม่ได้เป็นอะไร เราต้องการความช่วยเหลือ หมอเขาก็คุยกันสักพักกับอาจารย์หมอ เราก็ชื้นใจแล้วแต่พอผลออกมาเราก็เซ็งนิดหน่อยว่าเขาช่วยเราไม่ได้”

ธีรวัชต้องใช้เงินประกันตัวระหว่างสู้คดีสูงมากถึง 150,000 บาท จำนวนนี้ถือว่าเป็นจำนวนที่สูงมาก โดยเฉพาะตอนที่ธีรวัชเปรียบเทียบจำนวนเงินประกันของเขากับจำนวนเงินประกันในคดีอื่นๆ ที่เขาได้เจอ ณ ใต้ถุนศาล  

“ทั้งที่ในห้องตอนนั้นเงินประกันตัวสูงสุดที่ได้ยิน คือ ประมาณหนึ่งถึงสองหมื่นบาทในคดียาบ้า… แต่เอาจริงๆ ก็พอจะเข้าใจเลยว่าทำไมคดีผมแพง ก็เขาจะแกล้งเรา มันก็เขียนไว้ในมาตราเลยว่าเป็นการอาฆาตมาดร้าย ทั้งที่เราแค่แชร์โพสต์ เลยไม่ได้รู้สึกแปลกใจที่เงินประกันจะสูง”

หลังจากจ่ายเงินประกันตัวด้วยเงินของกองทุนดาตอร์ปิโด ธีรวัชต้องไปต่อสู้คดีในชั้นศาลอีกปีละสี่ถึงห้าครั้ง ทำให้ตั้งแต่ปีที่ถูกอัยการสั่งฟ้องจนถึงปัจจุบันเขาต้องเสียเวลาไปศาลมากเกินสิบครั้งเป็นที่เรียบร้อยแล้ว การอยู่ต่างจังหวัดก็ทำให้เขาต้องเดินทางไป-กลับเสมอ สร้างความเหนื่อยล้าเป็นเท่าทวี

“ผมไม่ได้ทำอะไรผิด” เมื่ออุดมการณ์ที่มั่นคงปะทะกับกฎหมายที่บ้าคลั่ง 

หลังการถูกทำให้ไปพัวพันกับคดีมาตรา 112 ธีรวัชก็มีคนมาให้กำลังใจเยอะมาก ทว่าก็ยังมีคนที่ไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่เขาทำเช่นกัน ส่วนมากจะเป็นการวิพากษ์วิจารณ์การกระทำของเขาในกลุ่มอื่นๆ

“เราเห็นจากกลุ่มอื่นแต่ก็ไม่ได้ไปโต้ตอบอะไรเพราะอยู่ในช่วงคดี เดี๋ยวคดีจะเพิ่ม”

แต่คำวิจารณ์เหล่านั้นก็ไม่ได้ทำให้เขาสั่นคลอนความคิด เราได้ถามเขาว่าหากสามารถย้อนเวลากลับไปได้จะกลับไปแก้ไขอะไรบ้างไหม ซึ่งธีรวัชตอบกับเราอย่างแน่วแน่ว่า

“ผมไม่ได้ทำอะไรผิด ย้อนกลับไปผมก็จะทำแบบเดิม ถ้าถึงเวลาต้องกดแชร์ก็จะกดแชร์อีกครั้ง”

แต่เขาก็ได้อธิบายเพิ่มเติมว่า เขาจะระมัดระวังมากขึ้นด้วยการตั้งสถานะให้สามารถเห็นแค่เพื่อนเท่านั้น เพราะเขาเชื่อว่าสิ่งที่เขาทำนั้นไม่ได้ผิดอะไร เขาระบุว่าทุกคนรู้แก่ใจลึกๆ อยู่แล้วว่ามันไม่ผิด ดังนั้นไม่จำเป็นต้องแก้ไขการกระทำอะไรทั้งนั้น

“หากพิพากษาแล้วผลออกมาว่าติดคุก ผมจะสูญเสียตำแหน่งการได้เป็นผู้จัดการร้านสุกี้ในเดือนหน้า… แต่ผมเคลียร์ชีวิตตัวเองแล้ว ไม่ผูกมัดสัญญาอะไร ถ้าติดก็ติด มันเต็มที่แล้ว เหลือแค่เขาจะแกล้งเราต่อไหม”

ธีรวัชไม่ได้บอกกับที่ทำงานว่าเขาเป็นผู้ต้องหาในคดีมาตรา 112 เนื่องจากเขาไม่รู้ว่า ผู้บริหารในระดับสูงขึ้นไปมีแนวคิดทางการเมืองเป็นอย่างไรบ้าง ถึงแม้ในระดับเพื่อนพี่น้องที่รู้จักกันในองค์กรจะมีแนวคิดทางการเมืองที่ใกล้เคียงกันมากก็ตาม

“เราไม่รู้ว่าเจ้าของจริงๆ เขาโอเคไหม ป้องกันไว้ก่อน ส่วนถ้าเราต้องติดคุกเราก็แค่จะหายไปเลย”

เขายอมรับกับเราว่าหากต้องติดคุกเราก็คงเศร้าพอสมควร แต่ก็ยืนยันว่าไม่ได้แปลกใจนักเนื่องจากทำใจไว้แล้วเกือบครึ่งว่ามีโอกาสต้องติดคุก เราจึงตัดสินใจถามเขาต่อว่าได้เผื่อใจไว้หรือไม่ว่าหากไม่ติดคุกแล้วจะทำชีวิตต่อไปอย่างไรบ้าง

“พ้นจากคดีนี้ได้ก็จะกลับไปเรียนต่อ อยากไปต่อมหาวิทยาลัย วุฒิผมตอนนี้สูงแค่ ปวช. แต่อยากจบมหาวิทยาลัยเพื่อเอามาต่อเรื่องการทำงาน”

อย่างไรก็ตาม เขายังไม่รู้ว่าจะเรียนคณะใดในมหาวิทยาลัยต่อไป เขาระบุว่าเป็นสภาวะอารมณ์ที่คล้ายคลึงกับสมัยเขาเรียนมัธยม-ปวช. ที่ยังไม่รู้ว่าอยากจะเป็นอะไรกันแน่ นอกจากการโหยหาชีวิตการทำงานที่มั่นคงและไม่เดือดร้อนตัวเองหรือผู้อื่น การมีใบปริญญาจึงน่าจะช่วยให้เขามีโอกาสมากกว่าในการใช้หางานต่อไปในอนาคต

“อยากให้สังคมไทยรู้ว่ากฎหมายนี้มันไม่ยุติธรรม มันไว้กลั่นแกล้งกันได้ คนไม่ได้ผิด กฎหมายต่างหากที่ผิด ไม่อยากให้เขามาโทษว่าเราทำตัวเอง ไปเปลี่ยนกฎหมายดีกว่า”

ถึงจุดนี้ ธีรวัชยังระบุว่าเขาจะไม่ลดเพดานของตัวเองลงแต่อาจจะรัดกุมมากขึ้น หากอนาคตมีการชุมนุมในประเด็นการเมืองเช่นนี้อีกแล้วเขาสะดวกจากการทำงาน เขาก็ยังคงไปร่วมเช่นเดิม แม้ว่าเขาจะเป็นคนที่ไม่ได้มีหลักมั่นอะไรตายตัวและพร้อมเปลี่ยนเป้าหมายในชีวิตไปมาได้เสมอ แต่สิ่งหนึ่งที่ธีรวัชไม่เคยเปลี่ยนแปลงไปเลยคือ อุดมการณ์ประชาธิปไตยที่เสรี