หนึ่งปีเต็มเลิกใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แต่ชีวิตคนโดนคดียังเหนื่อยไม่เลิก

 

เป็นเวลากว่าหนึ่งปีแล้ว นับแต่ 29 กันยายน 2565 ที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยุติการใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ตอนแรกถูกนำมาใช้โดยระบุว่าเพื่อป้องกันโรคระบาดโควิด-19 แต่ในทางปฏิบัติถูกนำมาใช้อย่างหนักกับการควบคุมการชุมนุมทางการเมือง จากกฎหมายที่จะใช้คุมโรค กลายเป็น “กฎหมายคุมม็อบ”

แม้พล.อ.ประยุทธ์ จะยุติการใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ทำให้ข้อกำหนด ประกาศ และคำสั่งอื่นๆ สิ้นสุดลงไปด้วยทั้งหมด แต่คดีความทั้งหมดยังคงเดินหน้าพิจารณาคดีกันต่อไปตามขั้นตอนของการพิจารณาคดีทางอาญา ขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรมก็กลายเป็นเครื่องมือหลักที่สร้างภาระให้กับผู้ที่แสดงความคิดเห็นทางการเมือง ทำให้ยังต้องวนเวียนอยู่กับสถานีตำรวจ สำนักงานอัยการ และกระบวนการของศาล โดยยังไม่มีทางออกอื่นนอกจากดำเนินคดีไปเรื่อยๆ จนกว่าจะถึงที่สุดครบทั้ง 663 คดี

ในโอกาสครบรอบหนึ่งปี ที่เลิกใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพื่อควบคุมโรคโควิด ชวนอ่านชวนฟังข้อมูลและประสบการณ์ของผู้ที่เกี่ยวข้องกับคดีพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

คดีพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อย่างน้อย 663 คดี มี 467 คดียังอยู่ชั้นสอบสวน-ชั้นศาล

นับถึงวันครบรอบการประกาศยกเลิกการใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากข้อมูลที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนมีอยู่อย่างน้อย 663 คดี มีคดีที่สิ้นสุดแล้ว 196 คดี คดีที่ยังอยู่ในชั้นศาล 188 คดี และยังอยู่ระหว่างชั้นสอบสวน ยังไม่ได้ยื่นฟ้องต่อศาลอีก 279 คดี 

ส่วนของคดีที่จำเลยถูกฟ้อง แต่เห็นว่าการชุมนุมของตัวเองไม่เป็นความผิดจึงตัดสินใจต่อสู้คดีนั้น ศาลมีคำพิพากษาแล้วอย่างน้อย 184 คดี แบ่งเป็นคดีที่ศาลพิพากษายกฟ้องไป 81 คดี ส่วนคดีที่ศาลพิพากษาลงโทษมีจำนวน 54 คดี ในจำนวนนี้ มีคดีที่ศาลลงโทษปรับเพียงอย่างเดียว จำนวน 30 คดี คดีที่ศาลให้รอกำหนดโทษ จำนวน 3 คดี คดีที่ศาลลงโทษจำคุก โดยให้รอลงอาญา จำนวน 17 คดี คดีที่ศาลลงโทษจำคุก โดยไม่รอลงอาญา จำนวน 3 คดี และมีคดีที่ศาลกล่าวตักเตือน เป็นคดีที่ศาลเยาวชน 1 คดี และพนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องคดี 49 คดี

สำหรับทางออกของคดีพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่มีปริมาณคดีมาก เป็นภาระทั้งองค์กรในกระบวนการยุติธรรมและผู้ที่ถูกดำเนินคดี พิฆเนศ ประวัง จากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เสนอว่า ตามพระราชบัญญัติองค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ. 2553 อัยการสามารถสั่งไม่ฟ้องได้หากการดำเนินคดีไม่เป็นประโยชน์สาธารณะแล้ว ซึ่งตอนนี้สถานการณ์โรคระบาดเปลี่ยนแล้ว องค์กรอัยการจึงควรกลับมาทบทวนเรื่องนี้

เสียงจากเยาวชนที่โดนคดี รับสภาพบางคดีเพราะไม่อยากให้แม่เหนื่อย

ยุคลธรณ์ ช้อยเครือ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ผู้ต้องหาคดีพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 12 คดี เล่าว่าตนเคลื่อนไหวมาตั้งแต่ปี 2563 และเคลื่อนไหวเรื่อยมา ช่วงแรกๆ ยังไม่ได้มีบทบาทอะไรมากนัก ไม่ค่อยได้ขึ้นเวที หรือหากขึ้นเวทีก็ขึ้นเวทีในต่างจังหวัด 

แต่เมื่อเข้ามาในกรุงเทพมหานครได้ไม่นาน ก็ต้องเจอกับเหตุการณ์สลายหมู่บ้านทะลุฟ้าที่ทำเนียบรัฐบาล ในวันที่ 28 มีนาคม 2564 ยุคลธรณ์เล่าว่า ช่วงตีห้าของวันดังกล่าว เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าสลายการชุมนุม และให้ผู้ชุมนุมมานั่งรวมกัน โดยตอนนั้นยังไม่มีการแยกว่าใครเป็นผู้ใหญ่ ใครยังเป็นเยาวชน หลังจากนั้นก็ถูกนำตัวไปที่ กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดนภาคที่ 1 ปทุมธานี (ตชด.ภาค 1) เมื่อทนายความไปที่ ตชด. ภาค 1 แล้ว ภายหลังก็แยกระหว่างผู้ใหญ่และเยาวชน โดยเยาวชนต้องไปรายงานตัวที่ศาลเยาวชนและครอบครัว 

สำหรับคดีที่เด็กหรือเยาวชนถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด จะต้องขึ้นศาลเยาวชนและครอบครัว ซึ่งกระบวนการพิจารณาคดีในศาลเยาวชนและครอบครัว แตกต่างจากศาลของผู้ใหญ่ตรงที่ให้เฉพาะบิดามารดาและทนายความเข้าไปในศาลได้ คนนอกไม่สามารถเข้าไปสังเกตการณ์ได้ 

ยุคลธรณ์ เล่าประสบการณ์ที่สัมผัสมาจากกระบวนการยุติธรรมว่า สิ่งที่ตนเจอ คือ อัยการมาโน้มน้าวให้ยอมรับสารภาพ เพราะตามกฎหมายยังมีกลไกให้ศาลใช้วิธีการอื่นแทนการลงโทษเยาวชนได้ แต่ตนก็ยืนยันว่าปฏิเสธข้อกล่าวหา เมื่อคดีเข้าสู่ชั้นศาล สิ่งที่เจอระหว่างกระบวนการพิจารณาคดี คือ ผู้พิพากษาศาลเยาวชนฯ ก็มีทัศนคติที่มองว่าตนซึ่งเป็นจำเลยนั้น ต้องได้รับการสั่งสอน พร้อมยกตัวอย่างเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในระหว่างกระบวนการพิจารณาคดีว่า ศาลระบุว่าตนขึ้นจับไมค์ปราศรัย แต่เมื่อตนขอแย้งว่าตนไม่ได้ขึ้นปราศรัยเลย ศาลกลับไม่ให้โต้แย้ง ทั้งๆ ที่ตนก็ไม่ได้ขึ้นเวทีปราศรัยจริงๆ และไม่มีแม้กระทั่งรูปถ่ายว่าตนขึ้นเวที

สำหรับผลกระทบจากการถูกดำเนินถึงคดี 12 คดี ยุคลธรณ์เล่าว่าต้องขาดเรียนเยอะ ช่วงแรกยังดีว่าช่วงที่โควิด-19 ระบาดหนัก ระบบการเรียนเป็นการเรียนออนไลน์ แต่พอช่วงหลังที่สถานการณ์โควิดเริ่มดีขึ้น เริ่มกลับไปเรียนที่สถานศึกษา ตนก็ต้องขาดเรียนไปเลย สิ่งที่กระทบกับจิตใจมาก คือ เรื่องในครอบครัว เนื่องจากเป็นคดีเยาวชน ก็ต้องมีบิดามารดามาด้วย ตอนนั้นมีช่วงที่พ่อและพี่ชายป่วยเข้าโรงพยาบาลพร้อมกัน ยายก็เพิ่งเสีย น้องสาวก็อยู่คนเดียว แต่แม่ก็ยังต้องเดินทางจากชัยภูมิมาจัดการเรื่องคดีด้วย พอเห็นแม่ที่เดินทางไกลมาคดีในสภาพที่อิดโรยมากเข้า ทำให้คิดว่าจะตัดสินใจรับสภาพบางคดีให้จบๆ ไปเพราะไม่อยากให้แม่ต้องเดินทางมา

สำหรับความคืบหน้าของคดี ยุคลธรณ์แจงว่าในจำนวน 12 คดี พิจารณาแล้วเสร็จไป 2 คดี โดยในจำนวนนี้ ศาลยกฟ้อง 1 คดี และพิพากษาลงโทษปรับ 1 คดี

จากสระบุรีมาศาลที่กรุงเทพฯ ตกงาน-หางานไม่ได้ เพราะโดนคดี

ธนพร วิจันทร์ นักกิจกรรมที่เคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อสิทธิแรงงาน จากเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน เล่าว่า นอกจากจำนวน 17 คดี ที่อยู่ในความรับผิดชอบของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ยังมีคดีอีกบางส่วนที่ถูกดำเนินคดีอีก แต่ไม่ได้เข้าหลักเกณฑ์ที่จะให้ศุนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเข้ามาช่วยเหลือ จึงไม่อยู่ในสถิติดังกล่าว โดยประมาณตัวเลขได้ว่าถูกดำเนินคดีประมาณ 23 คดี มูลเหตุของการถูกดำเนินคดี เช่น เคยไปเคลื่อนไหวเรียกร้องวัคซีนโควิด-19 ให้กับแรงงานข้ามชาติ แต่กลับถูกดำเนินคดี หรืออีกคดีที่เกิดขึ้น มาจากการไปเรียกร้องค่าใช้เชยการเลิกจ้างแรงงานไทรอัมพ์

ธนพร แชร์ผลกระทบที่ได้รับจากการถูกดำเนินคดีว่า ตนพักอาศัยอยู่ที่สระบุรี เมื่อถูกดำเนินคดีก็ต้องเดินทางมากรุงเทพฯ ซึ่งก็มีค่าใช้จ่ายในการเดินทาง เมื่อตนถูกดำเนินคดีก็ทำให้ตกงาน และไปหางานใหม่ ก็ไม่มีใครรับเข้าทำงานเพราะเห็นว่าถูกดำเนินคดี ตนยังดีที่ไม่มีสามีไม่มีลูก แต่บางคนมีครอบครัว มีลูก ก็ลำบากมาก

ขึ้นเวทียืนยันสิทธิสมรสเท่าเทียม มีเว้นระยะห่างกันโควิด แต่ก็โดนคดีพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

ชานันท์ ยอดหงษ์ นักกิจกรรมด้านความหลากหลายทางเพศ ผู้ต้องหาคดีพ.ร.ก.ฉุกเฉิน 1 คดี เล่าว่า เมื่อ 28 พฤศจิกายน 2564 ภาคีสีรุ้งเพื่อสมรสเท่าเทียม จัดการชุมนุมที่เซ็นทรัลเวิลด์ และมีช่วงที่เชิญให้ตัวแทนจากหลายพรรคการเมืองขึ้นไปแสดงจุดยืนว่าเห็นด้วยกับการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เรื่องการสมรส เพื่อให้มีสมรสเท่าเทียมหรือไม่ ทางภาคีฯ ก็ส่งจดหมายเชิญไปยังพรรคเพื่อไทยซึ่งตอนนั้นตนทำงานรับผิดชอบนโยบายในพรรค จึงได้เป็นตัวแทนมาพูดในเวทีนี้

ชานันท์เล่าว่า ทางผู้จัดงาน ก็จัดเวทีโดยคำนึงถึงมาตรการป้องกันโควิด-19 ตามมาตรฐานสาธารณสุข เช่น กำหนดความสูงเวทีให้ห่างจากผู้นั่งชม กำหนดระยะห่างของเวที- ตามมาตรฐานสาธารณสุข และทำความสะอาดไมค์โครโฟน ภายหลังจากไปพูดบนเวทีดังกล่าว พบว่าถูกดำเนินคดี ก็ตกใจว่าการชุมนุมที่มีเนื้อหาความหลากหลายทางเพศก็ยังโดยดำเนินคดีด้วยหรือ เรื่องสมรสเท่าเทียม เป็นสิทธิที่รัฐควรยอมรับและไม่จำเป็นต้องปล่อยให้ประชาชนออกมาชุมนุมเรียกร้อง เรื่องพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ก็ทำให้เราตั้งคำถามถึงการใช้กฎหมายเพื่อควบคุมโรคจริงๆ หรือไม่ 

เมื่อต้องไปรายงานตัวที่ สน.ลุมพินี ก็พบว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจจัดการได้ไม่ค่อยดี คดีนี้มีผู้ที่ถูกดำเนินคดึ 20 กว่าคน มีทั้งตน ตัวแทนจากพรรคการเมืองพรรคอื่น รวมถึงผู้จัดเวทีหรือช่างไฟก็ยังถูกดำเนินคดีด้วย ก็ต้องมาที่สน. พร้อมๆ กัน ขณะที่เครื่องพิมพ์เอกสารเครื่องเดียว ตำรวจก็นำเอกสารที่ถอดเทปถ้อยคำที่พูดในงานเวทีดังกล่าวมาให้ดูเพื่อให้ยืนยันว่าพูดตามนั้นจริงหรือไม่ มีบางส่วนของความที่ถอดมา ตนพูดคำว่า Gender ซึ่งในภาษาไทย คือ เพศสภาพ แต่ตำรวจถอดมาว่า สภาพเพศ พอขอให้แก้ไขให้ถูกต้อง ตำรวจก็พูดทำนองว่า ก็เหมือนๆ กัน ต้องแก้ด้วยเหรอ ต้องรออีกเป็นชั่วโมงกว่าจะยอมแก้

ชานันท์แชร์ความรู้สึกจากการที่ต้องไปสน. หรือไปศาลว่า บรรยากาศของศาล สน. ทำให้รู้สึกกัดเซาะ ทำลายความรู้สึก เหมือนตัวเล็กลงเรื่อยๆ พอไปหลายๆ ครั้งก็ผลิตซ้ำความรู้สึกแบบนี้ซ้ำๆ

โดนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แม้อยู่บนรถร่วมคาร์ม็อบ 

ปัญญารัตน์ นันทภูษิตานนท์ ส.ส.จังหวัดนนทบุรี พรรคก้าวไกล ผู้ต้องหา 3 คดี เล่าประสบการณ์เคลื่อนไหวทางการเมืองว่า เคลื่อนไหวมาตั้งแต่ปี 2549 แต่ไม่เคยถูกดำเนินคดี ที่ผ่านมาก็ไปร่วมชุมนุมทางการเมืองแบบคนทั่วๆ ไป หลังรัฐประหารปี 2557 ก็ยังคงไปเคลื่อนไหว และรู้จักเพื่อนๆ นักกิจกรรมจากหลายภูมิภาคมากขึ้น ตอนนั้นก็ไม่ได้เป็นแค่ผู้ไปเข้าร่วมชุมนุมเพียงอย่างเดียว แต่เริ่มทำงานด้วย ในช่วงยุคหลังเลือกตั้ง ปี 2563 คดีแรกๆ ที่ถูกดำเนินคดี สืบเนื่องมาจากการไปร่วมชุมนุมวิ่งไล่ลุงนนทบุรี

สำหรับคดีพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ปัญญารัตน์ถูกดำเนินคดี มีสามคดี 

คดีที่หนึ่ง สืบเนื่องจาก 1 สิงหาคม 2564 อยู่บนรถจะไปเข้าร่วมคาร์ม็อบไล่ประยุทธ์ บนรถมีคนไม่เกินห้าคนตามมาตรการเรื่องโควิด แต่ก็โดนสกัด และถูกนำตัวไปสภ.รัตนาธิเบศร์ ซึ่งมีคน 20 กว่าคน แถมตำรวจยังไม่ใส่หน้ากากอนามัย ภายหลังถูกดำเนินคดีร่วมกับน้องๆ นักกิจกรรมคนอื่นรวม 7 คน ศาลพิพากษาปรับ 7,000 บาท ก็ตัดสินใจไม่อุทธรณ์เพราะจะเสียเวลาผู้ที่ถูกดำเนินคดีคนอื่นๆ ด้วย

คดีที่สอง คดีคาร์ม็อบ 2 สิงหาคม 2564

คดีที่สาม สืบเนื่องจากการชุมนุมเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2564 ซึ่งมีจำเลยในคดีนี้ 30 กว่าคน

สำหรับทางออกของสถานการณ์คดีจำนวนมากนี้ ปัญญารัตน์ ในฐานะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) ระบุว่า พรรคก้าวไกลกำลังร่างกฎหมายนิรโทษกรรม โดยยกเว้นเฉพาะคดีอาญาในคดีที่ให้คนเสียชีวิต และคดีทุจริต 

ใช้กฎหมายพิเศษ ต้องมีกระบวนการตรวจสอบภายหลังที่เข้มข้น

พัชร์ นิยมศิลป อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นพยานผู้เชี่ยวชาญคดีพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ หลายคดี ระบุว่า ในความคิดเห็นของตน การดำเนินคดีพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ รัฐใช้ทรัพยากรเยอะมากในการดำเนินคดี จะเห็นได้จากอัยการที่ต้องมาทำคดีเหล่านี้อย่างน้อยหกร้อยกว่าคดี ทั้งๆ ที่อัยการสามารถไปทำคดีอื่นๆ อีกจำนวนมากเพื่ออำนวยความยุติธรรม เช่น คดีพนันออนไลน์

พัชร์ชี้ให้เห็นถึงปัญหาของการใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อย่างหนึ่งว่า ตามหลักแล้วหากกฎหมายฉุกเฉินที่ใช้นั้นมีข้อยกเว้นกระบวนการตามหลักการปกติ ก็ต้องมีกระบวนการตรวจสอบภายหลังที่เข้มข้น ซึ่งกรณีของพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ก็ยกเว้นกระบวนการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาบางส่วน แต่ปรากฏตัวพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เองกลับกำหนดกลไกตรวจสอบการกระทำของเจ้าหน้าที่ในภายหลังไว้อ่อนมาก นอกจากนี้ การออกประกาศที่ออกตามมาตรา 9 ของพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ยังมีลักษณะออกประกาศซ้อนๆ กันโดยที่บางกรณี ประกาศฉบับใหม่ก็ไม่ได้เป็นการยกเลิกประกาศฉบับก่อนหน้า แต่เป็นการเพิ่มเติมเนื้อหาจากประกาศฉบับก่อนหน้าซ้อนกันไปเรื่อยๆ ซึ่งในทางปฏิบัติส่งผลต่อการบังคับใช้กฎหมายมาก เพราะเจ้าหน้าที่รัฐบางกลุ่มก็ไม่ได้จบนิติศาสตร์ เช่น เจ้าหน้าที่สาธารณสุข หรือแม้แต่จบนิติศาสตร์มาก็อาจจะเข้าใจยาก ดังนั้นเมื่อประกาศมีลักษณะที่ทำความเข้าใจยาก ก็ทำให้ทางปฏิบัติเจ้าหน้าที่ก็จะดำเนินคดีไปและเมื่อมีประชาชนไปโต้แย้ง ก็ไม่ค่อยรับฟัง

นอกจากปัญหาการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งเกิดจากความไม่เข้าใจเนื้อหาเพราะความซับซ้อนของประกาศที่ออกตามความพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พัชร์ยังชวนตั้งคำถามถึงมาตรฐานในการบังคับใช้กฎหมาย โดยเล่าประสบการณ์การไปเป็นพยานผู้เชี่ยวชาญว่า คดีพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการชุมนุมหลายคดี ที่ตนได้ไปเป็นพยานผู้เชี่ยวชาญ ก็เป็นการชุมนุมที่มีวัตถุประสงค์เพื่อโต้แย้งผู้มีอำนาจรัฐในขณะนั้น และตนก็ยังไม่เห็นว่ามีผู้ชุมนุมสนับสนุนรัฐบาลที่ถูกดำเนินคดี ซึ่งทำให้เกิดการตั้งคำถามต่อการบังคับใช้กฎหมายว่าเป็นการบังคับใช้กฎหมายสองมาตรฐานหรือไม่

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *