Stand Together ครั้งที่สอง : จากข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ สู่วันพิพากษาคดี 112

เดือนตุลาคมถึงเดือนพฤศจิกายน ปี 2566 ผู้ที่ถูกดำเนินคดีด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หลายคนที่จะต้องฟังคำพิพากษา โดยในเร็วๆ นี้จะมีอย่างน้อยสองคดีที่จะถึงเวลาพิพากษา คือคดีของ เบนจา อะปัญ ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้นัดอ่านคำพิพากษาในวันที่ 30 ตุลาคม 2566 และสัปดาห์ถัดไป 8 พฤศจิกายน ศาลจังหวัดธัญบุรี นัดอ่านคำพิพากษาคดี 112 ของณัฐชนน ไพโรจน์

29 ตุลาคม 2566 iLaw และสภานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดงาน Stand Together ครั้งที่สอง ส่งใจให้ผู้ต้องหาก่อนเผชิญคำพิพากษา 112 โดยมี เบนจา อะปัญ นักศึกษาสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (SIIT)  อดีตสมาชิกแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม และณัฐชนน ไพโรจน์ อดีตนักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสมาชิกแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ร่วมเล่าที่มาของคดี และแลกเปลี่ยนความรู้สึกจากการถูกดำเนินคดีด้วยข้อหามาตรา 112 

สำหรับที่มาของคดี 112 ที่ณัฐชนน และเบนจาต้องเผชิญกับคำพิพากษาในระยะเวลาอันใกล้นี้ ณัฐชนนเล่ามูลเหตุของคดีว่า คดีประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ของตนมีหนึ่งคดีที่กำลังอยู่ในกระบวนการพิจารณาของศาลและศาลนัดอ่านคำพิพากษาในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2566 ที่มาของคดีนี้สืบเนื่องจาก การชุมนุม 10 สิงหาคม 2563 ที่ลานพญานาค มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม จัดการชุมนุมและออกประกาศฉบับที่หนึ่ง ที่มีข้อเรียกร้อง 10 ข้อเพื่อการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ หลังจากนั้นมีผู้หวังดีจัดพิมพ์หนังสือ “ปรากฏการณ์สะท้านฟ้า 10 สิงหา ข้อเรียกร้องว่าด้วยสถาบันกษัตริย์” ซึ่งเป็นหนังสือถอดเทปถ้อยคำปราศรัยในการชุมนุมดังกล่าวมาให้ 

ในการชุมนุมครั้งต่อมาที่นัดหมาย 19 กันยายน 2563 ที่ท้องสนามหลวง ขณะที่รถขนของสำหรับการจัดการชุมนุมรวมถึงขนหนังสือดังกล่าวที่ณัฐชนนนั่งอยู่บนรถด้วย กำลังจะออกเดินทางจากหมู่บ้านแห่งหนึ่งใกล้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เพื่อมุ่งหน้าไปยังสนามหลวง ก็ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจดักไว้และแจ้งว่าภายในรถขนของมีสิ่งผิดกฎหมาย หลังจากนั้นตนก็ถูกดำเนินคดีด้วย มาตรา 112 โดยอัยการระบุว่าหนังสือดังกล่าวมีถ้อยคำที่ผิด มาตรา 112 ณัฐชนนถูกฟ้องเป็นจำเลยเพียงคนเดียวในคดีนี้

ด้านเบนจา อะปัญ เล่ามูลเหตุของคดี มาตรา 112 ว่า สืบเนื่องจากการชุมนุมคาร์ม็อบเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2564 ซึ่งเป็นวันครบรอบหนึ่งปีการชุมนุม 10 สิงหา เบญจาอ่านประกาศแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ฉบับที่สอง ซึ่งมีเนื้อหาพูดถึงปัญหาการบริหารของประเทศภายใต้รัฐบาลพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา และเรียกร้องให้ผลักดันให้เกิดการปฏิรูปโครงสร้างสถาบันการเมือง ต่อมาเบนจาถูกดำเนินคดี มาตรา 112 เพียงคนเดียวในคดีนี้ 

การที่ถูกดำเนินคดีขณะที่ยังเป็นนักศึกษาอยู่ เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่ทั้งสองต้องเผชิญ ขณะที่ถูกดำเนินคดี มาตรา 112 ณัฐชนยังคงเป็นนักศึกษาคณะรัฐศาสตร์อยู่ เขาเล่าว่าปัญหาสำคัญคือ การที่ถูกดำเนินคดี ชีวิตก็จะไม่ได้เป็นกิจวัตรเหมือนกันทุกวัน เวลาจะนัดหมายหรือทำงานร่วมกันกับเพื่อนๆ จึงต้องจัดการเวลา หากวิชาไหนที่ต้องนำเสนองาน แล้วชนกับวันที่มีนัดศาล ก็จะคุยกับเพื่อนเพื่อขอทำงานให้ก่อนและให้เพื่อนเป็นคนนำเสนอ ส่วนเบนจาเล่าว่า โชคดีที่ของคณะ SIIT มีอัดวิดีโอการสอนให้ดูย้อนหลังได้ แต่ก็ต้องจัดการตัวเอง โดยเธอจะทำเครื่องหมายในปฏิทินว่าวันไหนที่มีนัดคดีบ้าง พบว่ามีแค่เดือนหน้า (พฤศจิกายน) ที่ไม่มีนัดหมายคดีอะไร ที่ผ่านมาก็รู้สึก Suffer มากแต่ก็ต้องจัดการให้ผ่านมันไปให้ได้ ไม่อย่างนั้นก็จะแย่ และการที่คดีอยู่ภายใต้อำนาจศาลอาญากรุงเทพใต้ ก็ทำให้มีภาระในการเดินทางจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ฝ่ารถติดและระยะทางไกลไปถึงศาล (อยู่เขตสาธร) บางทีก็รู้สึกแย่จนอยากจะกรี๊ดออกมา 

สำหรับวิธีรับมือกับปัญหาจิตใจ เบนจาเผยว่า ต้องเข้าใจก่อนว่าภาวะหรือความรู้สึกที่กำลังเกิดขึ้นกับเราขณะนั้นคืออะไร เช่น โกรธ เสียใจ ทำความเข้าใจมัน และต่อสู้กับมันไป ชีวิตนี้มันคือการแก้ไขปัญหา โลกกำลังทดสอบอยู่แล้ว บางครั้งที่เจอปัญหาหนักๆ ก็รู้สึกว่าเรียนผูกเรียนแก้กับมันไป ถ้าหากต่อสู้กับสิ่งที่หนักไปได้ เมื่อเจอสิ่งที่หนักน้อยกว่านี้เราก็จะผ่านมันไปได้ เมื่อมันเกิดขึ้นแล้ว เราไม่สามารถย้อนไปแก้ไขได้ ก็ทำใจยอมรับมัน สุดท้ายก็ต้องยืนยันว่าสิ่งที่กำลังต่อสู้คืออะไร

เบนจาเล่าว่า คดีอื่นๆ ที่ไม่ใช่คดี มาตรา 112 เปรียบเสมือนการชกต่อยกันบนสนามมวย ก็ต้องต่อสู้กันไป ด้านณัฐชนนระบุว่า ในการต่อสู้ทางการเมืองต้องใช้เวลา ถ้าเราแข็งแรงและทำให้จิตใจของตัวเองไปต่อได้ เรายังไม่ตาย ถ้าเขาตายก่อน โอกาสที่เราจะชนะก็มีมากกว่า สิ่งที่คิดในหัวก็เลยมักคิดว่า จะทำยังไงให้ตัวเองไม่ตาย ยังได้มีชีวิตต่อ 

เมื่อถูกถามว่า  หากไม่ได้ถูกดำเนินคดี มาตรา 112 อยากทำอะไร ณัฐชนนเล่าว่า ก่อนหน้านี้ศาลเพิ่งนัดพิพากษาคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ก็มานั่งคิดว่าตัวเองต้องจ่ายค่าเดินทางไปศาลมาก คิดว่าถ้าไม่ถูกดำเนินคดี ก็อยากไปเข้าเรียน และเอาเงินไปใช้ทำอย่างอื่น 

เบนจา กล่าวว่า ถ้าไม่ถูกดำเนินคดีก็คงอยากจะไปทำโปรเจค หรือแคมเปญอะไรสักอย่างในมหาลัย เบนจา กล่าวต่อไปว่า อยากเห็นสังคมที่ทุกคนสามารถเข้าถึงโอกาสได้อย่างเท่ากันในเรื่องที่เป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน เช่น การศึกษา สาธารณสุข อยากให้คนได้ทำตามความฝันของตนเอง ทุกวันนี้ประเทศนี้ไม่ได้เปิดโอกาสให้คนทำตามความฝันเท่าไหร่เพราะมันต้องใช้เงินและเราไม่มีโอกาสเข้าถึงทรัพยากรต่างๆ มากนัก การเล่นไวโอลิน เปียโน การวาดรูป อ่านหนังสือที่มีประโยชน์ มันยากสำหรับคนที่ไม่มีเงิน คนที่ได้ทำอะไรแบบนี้เพราะคุณมีโอกาสได้ทำมัน อย่างก็ตาม ทุกคนควรมีโอกาสได้เลือก ไม่ใช่เพราะแค่ชีวิตมีข้อจำกัด เลยต้องต้องเลือกเส้นทางนี้

หลังจากจบช่วงที่ให้ผู้ถูกดำเนินคดีทั้งสองมาแลกเปลี่ยนความคิดและชีวิต จากนั้นก็เป็นช่วงให้กำลังใจผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 

ชลธิชา แจ้งเร็ว สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ที่ถูกดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 เช่นกัน กล่าวว่า การที่มีผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ไม่ใช่ราคาที่ต้องจ่าย แต่สะท้อนว่าสังคมนี้มันผิดปกติที่ มาตรา 112 มีปัญหาทั้งตัวบทกฎหมาย และปัญหาการบังคับใช้ จากประสบการณ์ของตนช่วงหาเสียงเลือกตั้ง มีประชาชนบางคนสงสัยว่าทำไมพรรคก้าวไกลจะต้องแก้ไขมาตรา 112 เมื่อค่อยๆ อธิบายไปก็มีคนที่เข้าใจมากขึ้น สะท้อนให้เห็นว่าจริงๆ แล้วก็มีประชาชนที่พร้อมเปิดใจ

อยากให้กำลังใจทั้งสองคนว่า สิ่งที่ทำมาไม่สูญเปล่า ในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ก็จะผลักดันกฎหมายที่เกี่ยวกับเสรีภาพและสิทธิประกันตัวต่อ และผลักดันให้สภาเป็นพื้นที่ที่สามารถพูดได้ทุกเรื่อง

สุวรรณา ตาลเหล็ก หรือ ลูกตาล ตัวแทนประชาชน กล่าวให้กำลังใจว่า ขอบคุณทั้งสองคนที่มาต่อสู้เพื่อยกเลิก ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 แต่สุดท้ายแล้วกำลังใจต้องมาจากตัวเอง ยอมรับในสิ่งที่ตัวเองทำ 

บุญเลิศ วิเศษปรีชา อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ไม่ใช่ความผิดของพวกคุณ แต่เป็นความผิดของประเทศที่ทำให้พวกคุณต้องถูกดำเนินคดี เมื่อประเทศเป็นอย่างนี้ คนหนุ่มสาว เลยต้องออกมาต่อสู้ แทนที่จะได้ใช้ชีวิตทำอย่างอื่นที่อยากทำ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *