ภาคประชาชนร้องให้ตรวจสอบคำพิพากษาคดี 112 ของเก็ท-โสภณ

13 พฤศจิกายน 2566 เวลา 9.30 น. ตะวัน-ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ ยื่นหนังสือกรณีคำพิพากษาในคดีของ เก็ท-โสภณ สุรฤทธิ์ธำรงให้มีการตรวจสอบว่าการตัดสินเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายบัญญัติ และมีการตีความสรรพนามเป็นอื่นหรือไม่ ในคดีมาตรา 112, พระราชบัญญัติควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง และมาตรา 91 โดยในวันนี้มีการยื่นหนังสือสองที่ คือช่วงเช้าที่ศาลฎีกาและช่วงบ่ายทำเนียบรัฐบาล 

เวลา 9.30 น. ประชาชนประมาณ 10 คนถือป้ายข้อความเรียกร้องให้มีการปล่อยผู้ต้องขังในเรือนจำ และยกเลิกมาตรา 112 จากนั้นตะวันจะยื่นหนังสือถึงประธานศาลฎีกา และอ่านแถลงการณ์ระบุข้อเรียกร้องดังนี้ 

  1. ใน พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง พ.ศ. 2493 มาตรา 4 กำหนดว่า ผู้ที่จะใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกำลังไฟฟ้าต้องได้รับอนุญาต และมาตรา 9 กำหนดว่าผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 4 มีความผิดต้องระวางโทษปรับ ไม่เกินสองร้อยบาท ดังนั้นคำพิพากษาคดีแดงที่ อ. 2410/2566 กำหนดบทลงโทษฐานใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกำลังไฟฟ้าโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 6 เดือน นั้น จึงเป็นการตัดสินลงโทษโดยปราศจากบทบัญญัติกฎหมายใดๆ รองรับ ทั้งยังขัดกับบทบัญญัติในตัวบทกฎหมายที่มีอยู่
  2. ตามที่ข้าพเจ้าพร้อมทั้งผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้รักความเป็นธรรมเห็นว่าประโยคคำพูดของนายโสภณ สุรฤทธิ์ธำรง ตามคำฟ้องในคดีนี้ เป็นประที่จำเลยใช้เพียงสรรพนามบุรุษที่สอง เป็นประธานของประโยค ซึ่งตามหลักไวยากรณ์หมายถึงผู้ฟังซึ่งหน้าในขณะนั้นคือเจ้าหน้าที่ตำรวจที่กำลังฟังอยู่ จึงไม่ครบองค์ประกอบมาตรา 112

ตะวันกล่าวเสริมว่า ขอร้องเรียนให้มีการตรวจสอบว่าการตัดสินดังกล่าวเป็นไปอย่างถูกต้องตามบทกฎหมายหรือไม่ ทั้งนี้หากเป็นความผิดพลาด ก็ควรที่จะชี้แจงแ ละแก้ไขความผิดพลาดนี้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากเป็นการกระทำที่กระทบต่อสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนอย่างรุนแรง อีกทั้งเพื่อธำรงความเป็นธรรมในสังคมที่ประชาชนควรได้รับจากศาลยุติธรรม

พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวว่า ช่วงนี้เป็นระยะของการเปลี่ยนผ่านจากรัฐบาลทหารเป็นรัฐบาลพลเรือน เราอยากให้รัฐบาลพลเรือนใช้อำนาจและหน้าที่ของตัวเอง ในการส่งเสริมประชาธิปไตย ไม่ใช่ดำเนินเฉกเช่นกับรัฐบาลทหาร 

“จริงๆ เรื่องสิทธิเสรีภาพ เรื่องการเมือง เป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจ และความเป็นอยู่ของประชา ถ้าเอาเรื่องเหล่านี้ไปซุกซ่อนไว้ แล้วปล่อยให้กระบวนการยุติธรรมดำเนินไปโดยไม่มีการกำกับดูแล ก็เปรียบเสมือนการรักษาอำนาจของรัฐบาลทหารในอดีตต่อไป”

เก็ท-โสภณ สุรฤทธิ์ธำรง นักกิจกรรมจากกลุ่มโมกหลวงริมน้ำ ผู้ถูกกล่าวหาในคดี “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากกรณีปราศรัยในกิจกรรม #ทัวร์มูล่าผัว ที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 22 เม.ย. 2565