รู้จักมาตรา 133 134 หมิ่นประมุขรัฐหรือทูตต่างชาติอาจผิดกฎหมาย

รู้หรือไม่ การแสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์ประมุขของรัฐหรือทูตต่างประเทศก็สามารถทำให้ติดคุกหรือถูกปรับได้ โดยมีฐานความผิดเดียวกับประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือกฎหมายหมิ่นประมาทที่ใช้กับกษัตริย์ไทย
ประมวลกฎหมายอาญาไทยมีบทบัญญัติให้การคุ้มครองประมุขของรัฐต่างประเทศ ซึ่งรวมถึง ราชาธิบดี ราชินี ราชสามี รัชทายาท (มาตรา 133) และผู้แทนรัฐต่างประเทศซึ่งได้รับแต่งตั้งให้มาสู่พระราชสำนัก (มาตรา 134) จากการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย โดยความผิดต่อประมุขต่างประเทศนั้นต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงเจ็ดปี หรือปรับตั้งแต่ 2,000 บาทถึง 14,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ในขณะที่ถ้ากระทำต่อทูตต่างประเทศ โทษจำคุกจะอยู่ที่หกเดือนถึงห้าปี หรือปรับตั้งแต่ 1,000 บาทถึง 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
อย่างไรก็ตาม แม้มาตรานี้จะมีมาตั้งแต่ใน “กฎหมายลักษณอาญา” ฉบับปี ร.ศ. 127 จนถึงยุคปัจจุบัน แต่เริ่มแรกบทลงโทษทั้งระยะเวลาในการจำคุกและการปรับไม่ได้มีสูงเท่ายุคปัจจุบัน แต่ถูกปรับขึ้น โดยเฉพาะหลังการรัฐประหารเมื่อปี 2519 และแม้ว่าจะมีความพยายามแก้ไขกฎหมายนี้พร้อมกับกฎหมายหมิ่นประมาทอื่น ๆ ในระบบกฎหมายไทย ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ
พัฒนาการกฎหมาย “ห้ามหมิ่น” ประมุขรัฐหรือทูตต่างชาติ
ในอดีต มาตรา 133 และ 134 เคยถูกแก้ไขพร้อมกับอีกหลายมาตราในประมวลกฎหมายอาญาโดยคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินที่ออกให้หลังเหตุการณ์สังหารหมู่นักศึกษาและการยึดอำนาจในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 โดยระบุให้โทษใหม่ของมาตรา 133 นี้อยู่ที่หนึ่งถึงเจ็ดปี และปรับเป็นเงิน 2,000 บาทถึง 14,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และมาตรา 134 โทษจำคุกจะอยู่ที่หกเดือนถึงห้าปี หรือปรับตั้งแต่ 1,000 บาทถึง 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
คำอธิบายของคำสั่งคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินให้เหตุผลว่า อัตราโทษสำหรับความผิดไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน ณ ขณะนั้น หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองจึงมีคำสั่งเพิ่มโทษให้สูงขึ้น โดยการแก้ไขเพิ่มโทษมาตรา 112 หรือกฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์ไทยก็เป็นหนึ่งในผลลัพธ์ของการออกคำสั่งครั้งนี้ด้วย
ประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2499 ก่อนการยึดอำนาจของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน มาตรา 133 เคยระบุไว้ว่า ให้จำคุกไม่เกินสามปี และปรับไม่เกิน 6,000 บาท ในขณะที่มาตรา 134 โทษจำคุกเคยอยู่ที่สองปีและปรับ 2,000 บาท เท่านั้น
กฎหมายที่คุ้มครองประมุขและทูตจากรัฐอื่นพบตั้งแต่กฎหมายลักษณอาญา ร.ศ. 127 โดยวางโทษการ “แสดงความอาฆาตมาดร้ายหรือหมิ่นประมาท” ประมุขต่างชาติในมาตรา 113 จำคุกไม่เกินสามปีและปรับไม่เกิน 2,000 บาท ส่วนการคุ้มครองทูตนั้นมีความแตกต่างจากที่เห็นในปัจจุบัน เพราะมาตรา 114 แห่งกฎหมายลักษณอาญา ร.ศ. 127 ให้การกระทำความผิดต่อทูตที่ได้รับการแต่งตั้งจากรัฐอื่นนั้นให้ใช้บทบัญญัติเดียวกับการกระทำผิดต่อเจ้าพนักงาน
เยอรมนียกเลิกกฎหมายทันที หลังตุรกีไม่พอใจตลกเสียดสี
บางประเทศมีกฎหมายคุ้มครองประมุขต่างประเทศเช่นเดียวกับไทย แต่การบังคับใช้และพัฒนาการ โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศประชาธิปไตย กลับมีความแตกต่างมาก เยอรมนีเคยมีประมวลกฎหมายอาญามาตรา 103 ซึ่งระบุว่า ผู้ใดหมิ่นประมาทประมุขของรัฐต่างประเทศ หรือสมาชิกของรัฐบาลต่างประเทศ หรือผู้ทำภารกิจทางการทูตของต่างประเทศ จะถูกจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับ รวมทั้งหากการหมิ่นประมาทนั้นมีลักษณะของการใส่ร้ายจะต้องโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงห้าปี
อย่างไรก็ตาม ในปี 2561 เยอรมนีก็ยกเลิกมาตรานี้ไปหลังจากกรณีพิพาท Erdogan v. Böhmermann เหตุการณ์นี้เริ่มต้นจากในวันที่31 มีนาคม 2559 พิธีกรรายการตลก ยาน เบอห์เมอร์มันน์ (Jan Böhmermann) ออกอากาศรายการ Neo Magazin Royale ด้วยการอ่านกลอนเกี่ยวกับประธานาธิบดี เรเจป แอร์โดอัน (Recep Erdoğan) ที่มีลักษณะเสียดสีและพูดถึงกิจกรรมทางเพศ เบอห์เมอร์มันน์ใช้กลอนนี้เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามที่สะท้อนถึงขอบเขตอันจำกัดของเสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพในการสร้างงานศิลปะในรัฐธรรมนูญเยอรมนี จนทำให้ตุรกีแจ้งรัฐบาลเยอรมถึงความประสงค์ที่จะดำเนินการทางกฎหมายต่อเบอห์เมอร์มันน์เมื่อเดือนเมษายนปี 2559 ในข้อหาหมิ่นประมาทตามมาตรา 185 และข้อหาหมิ่นประมาทประมุขแห่งรัฐต่างประเทศตามมาตรา 103 ของประมวลกฎหมายอาญาเยอรมนี
การดำเนินคดีมาตรา 103 จำเป็นต้องได้รับความยินยอมจากรัฐบาลเยอรมนีก่อน ซึ่งได้สร้างข้อถกเถียงอย่างมากในสังคมเยอรมันถึงข้อกฎหมายที่ล้าหลัง ท้ายที่สุด อังเกลา แมร์เคิล (Angela Merkel) นายกรัฐมนตรีเยอรมนี ณ ขณะนั้นให้ความยินยอมในการดำเนินคดี โดยกล่าวว่าเป็นหน้าที่ของศาลและอัยการในการคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงออก ต่อมาอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องเบอห์เมอร์มันน์ในเดือนตุลาคมปี 2559
หลังจากนั้น รัฐบาลก็ดำเนินการผ่านกฎหมายยกเลิกมาตรา 103 โดยกฎหมายถูกยกเลิกอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2561
ข้อเสนอแก้กฎหมายในไทยไม่คืบหน้า อ้างมีแก้ 112 พ่วงขัดรัฐธรรมนูญ
สำหรับในประเทศไทย เคยมีข้อเสนแก้ไขมาตรา 133 และ 134 แล้วผ่านร่าง “พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่…)  พ.ศ. ….” โดยพรรคก้าวไกลในปี 2564
วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2564 พรรคก้าวไกล นำโดย พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เสนอร่างแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาสำหรับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพผ่าน “พ.ร.บ. แก้ไขประมวลกฎหมายอาญาฯ” โดยมาตรา 133 และ 134 ก็ถูกรวมเอาไว้ด้วยเช่นกัน
ร่างดังกล่าวจะย้ายมาตรา 133 ออกจากหมวดความมั่นคงของรัฐไปเป็นลักษณะความผิดใหม่ คือ “ลักษณะ ⅓ ความผิดเกี่ยวกับเกียรติยศของประมุขแห่งรัฐหรือผู้แทนรัฐต่างประเทศ” โดยคงฐานความผิดเอาไว้ตามกฎหมายเดิม แต่ยกเลิกโทษจำคุกเพื่อให้เหลือเพียงโทษปรับเท่านั้น รวมถึงเพิ่มบทยกเว้นความผิดและบทยกเว้นโทษขึ้นมาใหม่ด้วย
บทยกเว้นความผิด ระบุไว้ว่า “ผู้ใดติชม แสดงความคิดเห็น หรือแสดงข้อความใดโดยสุจริต เพื่อธำรงไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญ หรือเพื่อประโยชน์สาธารณะ ผู้นั้นไม่มีความผิด” 
บทยกเว้นโทษ ระบุไว้ว่า “ความผิดในฐานลักษณะนี้ ถ้าผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดพิสูจน์ได้ว่า ข้อที่หาว่าเป็นความผิดนั้นเป็นความจริง ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ” และ “แต่ห้ามมิให้พิสูจน์ ถ้าข้อที่กล่าวหาว่าเป็นความผิดนั้นเป็นเรื่องความเป็นอยู่ส่วนพระองค์หรือความเป็นอยู่ส่วนตัว แล้วแต่กรณี และการพิสูจน์จะไม่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน”
การแก้ไขมาตรา 133 ครั้งนี้ยังรวมไปถึงการแก้ไขมาตรา 134 ที่คุ้มครองผู้แทนรัฐต่างประเทศ เช่น ทูต ในลักษณะเดียวกันอีกด้วย โดยตัดบทลงโทษจำคุกออกและคงไว้ซึ่งการปรับเงินเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวไม่ถูกบรรจุเป็นวาระการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร เนื่องจากสำนักการประชุม สภาผู้แทนผู้ราษฎร และสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร โต้แย้งว่า บทบัญญัติในร่างกฎหมายฉบับนี้มีการแก้ไขที่รวมไปถึงการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 อ้างว่าอาจจะขัดกับรัฐธรรมนูญมาตรา 6 ที่ระบุว่า “องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้” 
ยังมีข้อถกเถียงว่าใครเป็นผู้ตัดสินใจไม่ให้บรรจุเป็นวาระการพิจารณา ชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎรอ้างว่าไม่ใช่ตนแต่เป็นสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาผู้แทนราษฎรที่เป็นผู้วินิจฉัย แต่ชวนก็ยังมองว่าการตัดสินใจของสุชาติถูกต้องแล้ว 
ดังนั้น ข้อเสนอในการแก้ไขมาตรา 133 รวมทั้งมาตรา 134 จึงตกไปด้วยเช่นเดียวกับข้อเสนอที่จะแก้ไขมาตรา 112 และทำให้การวิพากษ์วิจารณ์ประมุขหรือทูตจากรัฐอื่นยังคงสุ่มเสี่ยงที่จะถูกดำเนินคดีได้ดังเดิม