ศาลอุทธรณ์แก้ศาลชั้นต้น คดี 112 พิทักษ์พงษ์ จำคุก 2 ปี 6 เดือน แต่ให้รอลงอาญา 3 ปี วางเงื่อนไขทำงานบริการสังคม-ห้ามล่วงเกินสถาบันฯ อีก

16 มกราคม 2567 ศาลอาญานัดอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในคดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ของพิทักษ์พงษ์ จากการโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัวมีเนื้อหาทำนองวิจารณ์กลุ่มปกป้องสถาบันกษัตริย์และรัฐบาล โดยพาดพิงถึงความประพฤติของรัชกาลที่ 10 เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2563 ซึ่งมีการสลายการชุมนุมบริเวณหน้ารัฐสภาด้วยแก๊สน้ำตาและมีผู้ชุมนุมถูกยิงด้วยกระสุนจริงบริเวณแยกเกียกกาย
คดีนี้มีผู้ร้องทุกข์คือ สุรภพ จันทร์เปล่ง โดยรับมอบอำนาจจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ต่อมา 11 มีนาคม 2564 เจ้าหน้าที่ชุดตรวจค้นจากกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ราว 12 นาย แสดงหมายค้นค้นพักของพิทักษ์พงษ์ พร้อมตรวจยึดโทรศัพท์ ซีพียูคอมพิวเตอร์ ให้พิทักษ์พงษ์บอกรหัสผ่านโทรศัพท์และรหัสผ่านเฟซบุ๊ก หลังจากนั้นเขาได้รับหมายเรียกคดี มาตรา 112 และคดีพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) และเมื่อ 27 กันยายน 2564 อัยการมีความเห็นสั่งฟ้อง ในนัดสืบพยานโจทก์เมื่อ 2 กันยายน 2565 จำเลยให้การรับสารภาพ ศาลสั่งสืบเสาะและพินิจเพื่อประกอบคำพิพากษา
ในส่วนของคำพิพากษาศาลชั้นต้น วันที่ 21 พฤศจิกายน 2565 ศาลอาญามีคำพิพากษา โดยสรุปว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ การกระทำของจำเลยเป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษบทหนักสุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ จำคุกห้าปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกสองปีกับหกเดือน พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีและรายงานการสืบเสาะแล้ว จำเลยกระทำการโดยไม่สมควรเป็นอย่างยิ่งต่อพระมหากษัตริย์อันเป็นที่รักและเคารพศรัทธาของประชาชนชาวไทยทั่วไป จึงไม่มีเหตุให้รอการลงโทษ
สำหรับส่วนของคำพิพากษาชั้นอุทธรณ์ ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 814 ศาลอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ใจความว่า ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องกับการกำหนดโทษของศาลชั้นต้นที่ให้จำคุกห้าปีเนื่องจากจำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษเหลือจำคุกสองปีหกเดือน แต่เนื่องจากเห็นว่าจำเลยไม่เคยกระทำผิดมาก่อน เป็นการกระทำผิดครั้งแรก และจำเลยมีอาชีพมั่นคงเป็นหลักแหล่ง พิพากษาแก้ให้รอลงอาญาสามปี  กำหนดเงื่อนไขรายงานตัวต่อคุมประพฤติสี่ครั้งต่อหนึ่งปี ให้ทำงานบริการสังคม 84 ชั่วโมง และห้ามกระทำการใดๆ ที่มีส่วนล่วงเกินสถาบันพระมหากษัตริย์อีก
สำหรับภูมิหลังของพิทักษ์พงษ์ เขาเป็นประชาชนทั่วไป ประกอบอาชีพพนักงานบริษัท ไม่ได้เป็นนักเคลื่อนไหวหรือนักกิจกรรมทางการเมือง จุดเริ่มต้นที่ทำให้เขาวิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์สืบเนื่องมาจากเห็นข่าวสลายการชุมนุมเมื่อ 17 พฤศจิกายน 2563 ที่หน้ารัฐสภา แยกเกียกกาย ซึ่งในวันดังกล่าว รัฐสภาอันประกอบด้วย สส. และ สว. มีวาระพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เพื่อนำไปสู่การเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ โดยมีร่างจำนวนเจ็ดฉบับ รวมร่างที่เสนอโดยภาคประชาชน เหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลให้เขาโพสต์ถึงตำรวจควบคุมฝูงชน ตำรวจ และบุคคลผู้ไม่หวังดี ที่ปาหินและใช้กระสุนจริงกับผู้ชุมนุม และพาดพิงถึงสถาบันพระมหากษัตริย์
อ่านข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับคดีนี้ได้ทาง https://tlhr2014.com/archives/50809