1499 1970 1130 1348 1507 1494 1568 1044 1981 1936 1247 1164 1714 1185 1004 1494 1617 1454 1638 1831 1575 1092 1740 1209 1406 1829 1300 1450 1383 1311 1209 1892 1268 1573 1147 1050 1730 1866 1281 1189 1220 1341 1011 1535 1427 1783 1651 1462 1018 1826 1439 1889 1019 1639 1830 1989 1846 1571 1121 1251 1952 1184 1708 1523 1682 1893 1224 1290 1536 1545 1758 1417 1863 1461 1093 1531 1747 1649 1362 1180 1520 1165 1855 1989 1386 1757 1066 1747 1161 1912 1920 1301 1157 1120 1121 1564 1373 1385 1186 หลังลูกกรงมี ‘คนบ้า’ เมื่อ ‘คนไม่บ้า’ เดินหน้า ‘กระบวนการยุติธรรม’ | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

หลังลูกกรงมี ‘คนบ้า’ เมื่อ ‘คนไม่บ้า’ เดินหน้า ‘กระบวนการยุติธรรม’

 
“ผมไม่ได้บ้านะ ที่เขาบอกว่าผมบ้าเพราะตำรวจจะได้ไม่ดำเนินคดีผม”
ประจักษ์ชัย กล่าวผ่านลูกกรงซ้ำแล้วซ้ำเล่า เขายังไม่เข้าใจว่า “บ้า” ไม่ใช่คำด่า แต่อาจเป็นเหตุผลเดียวให้เขาออกจากหลังลูกกรงนั่น
 
“ผมไม่ได้บ้าครับ ผมไปหาหมอมาแล้ว หมอเขาก็ไม่ได้ว่าผมเป็นอะไร”
“ธเนศ” นักโทษอีกคนเล่า หลังไปหาหมอในเรือนจำแล้ว แต่ไม่ได้รับการวินิจฉัยใดๆ
 
“ผมจำไม่ได้จริงๆ ตอนรู้ตัวก็คือผมนั่งอยู่ มีคนมายืนเต็มไปหมด”
สมัคร เล่าถึงเหตุการณ์วันที่เขาก่อคดีที่อ่อนไหวที่สุดของยุคสมัย อันเป็นความผิดต่อ “ความมั่นคงของราชอาณาจักร” คดีมาตรา 112 ฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ
 
...................................
 
เรื่องจริงของพวกเขา ชีวิต-เรื่องราว-ความเชื่อ 
 
---“ธเนศ”---
 
2 กรกฎาคม 2558 ช่วงเช้ามืด “ธเนศ” ถูกทหารบุกไปจับที่บ้านในจังหวัดเพชรบูรณ์ และถูกพาตัวเข้ากรุงเทพเพื่อดำเนินคดีตามมาตรา 112 ข้อกล่าวหาของเขา คือ การส่งอีเมล์ให้ชาวต่างชาติซึ่งมีลิงก์ไปยังบล็อกที่มีเนื้อหาผิดกฎหมาย หลังถูกตั้งข้อหา เขาถูกฝากขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพเรื่อยมา
 
“ธเนศ” เป็นชื่อสมมติ ของชายร่างเล็ก สูงประมาณ 160 เซนติเมตร ใบหน้าซูบตอบ ยาวเรียว พูดจาสุภาพอ่อนน้อม อ่อนหวานตุ้งติ้งเล็กน้อย ก่อนถูกจับ “ธเนศ” อายุ 45 ปี มีอาชีพขายสินค้าเกษตรผ่านเว็บไซต์ MisterOtwo.com เขาไม่เคยเข้าร่วมการเคลื่อนไหวทางการเมืองใดๆ แต่เขามีความเชื่อว่าเขามีใบหน้าคล้ายสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เนื่องจากตอนอายุ 18 ปี แม่ค้าขายอาหารเคยเรียกเขาว่า “องค์ชาย”
 
ตลอดระยะเวลา 20-30 ปี ที่ผ่านมา “ธเนศ” เชื่อว่า จากการที่มีใบหน้าเช่นนี้ ทำให้ถูกคนที่เขาไม่รู้ว่าเป็นใคร คอยติดตามไปทุกหนแห่ง และกลั่นแกล้งเพื่อให้เขาไม่ได้มีชีวิตที่ดี เช่น ถูกขโมยรองเท้า ถูกคนเอาก้อนหินมาวางขวางทางตอนขี่จักรยาน เมื่อย้ายที่อยู่ใหม่ข้างห้องก็จะทำเสียงดังรบกวน เมื่อขึ้นรถเมล์คนขับก็จะขับไม่ดี และเคยถูกคนวางยาพิษใส่ไว้ในยาสีฟัน ฯลฯ
 
“ธเนศ” นับถือศาสนาคริสต์และยึดถือคำพยากรณ์ทางเว็บไซต์เป็นหลักของชีวิต ตามคำบอกเล่าของพี่สาว เวลา “ธเนศ” เดินทางไปไหนจะเอาตุ๊กตายางรูปไก่มัดกับไม้เป็นรูปไม้กางเขนติดไว้หน้ารถจักรยาน พร้อมแผ่นกระดาษเขียนว่า “องค์ชาย 20 ปี” บันทึกรายละเอียดเรื่องที่เขาถูกกลั่นแกล้งเอาไว้เพื่ออ้อนวอนต่อพระผู้เป็นเจ้า
 
“ธเนศ” ยังมีอาการได้ยินเสียงแว่วในหูเป็นพักๆ ซึ่งเสียงเหล่านั้นบางครั้งก็คุยกับเขา สั่งให้เขาทำสิ่งต่างๆ รวมทั้งฆ่าตัวตาย “ธเนศ” ชอบใส่ที่อุดหู เขาบอกว่าช่วยให้เขาไม่ต้องทนฟังเสียงเหล่านั้นได้ เสียงเหล่านั้นมารบกวนเขาครั้งหนึ่งในช่วงเดือนมิถุนายน 2553 บอกให้เขาส่งอีเมล์เพื่อ “ช่วยคนเสื้อแดง” เขาเชื่อและทำไปตามนั้น จึงเป็นเหตุนำมาสู่การจับกุมดำเนินคดี
 
ผลการตรวจของสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ ระบุว่า “ธเนศ” ป่วยเป็นโรคจิตหวาดระแวง (F20.0 Paranoid Schizophrenia) และมีอารมณ์เศร้าร่วมด้วย ปัจจุบันสามารถต่อสู้คดีได้
 
“ถ้าไม่มีเสียงแว่ว ก็คงไม่ก่อเหตุ” เอกสารรายงานการวินิจฉัยโรคระบุ
 
…………………………………
 
328 112pycho
 
---สมัคร---
 
8 กรกฎาคม 2557 สำนักข่าวหลายแห่งรายงานการจับกุมสมัคร ชายสติไม่สมประกอบที่อ.เทิง จ.เชียงราย เหตุจากการทำลายซุ้มพระบรมฉายาลักษณ์ที่ตั้งอยู่ริมถนน สี่แยกอ.เทิง ตำรวจในพื้นที่พร้อมผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ร่วมกันเข้าจับกุม เนื่องจากการกระทำของคดีเกิดขึ้นหลังการประกาศให้คดีมาตรา 112 พิจารณาที่ศาลทหาร สมัครถูกฝากขังต่อศาลทหารเชียงราย
 
ตามที่สมัครเล่า วันเกิดเหตุ ช่วงเย็น เขาขี่จักรยานจากบ้านไปตลาดซื้อมีดทำกับข้าวมาสองเล่ม พกใส่กระเป๋าย่ามไว้ ขากลับแวะนั่งกินเหล้าหน้าร้านขายของที่อยู่ห่างจากบ้านของเขาเพียงคนละฟากถนน เขาดื่มไปไม่น้อย จนประมาณสองทุ่มเขาก็จะเดินกลับบ้าน
 
พอจำได้อีกทีเขาก็นั่งอยู่ที่พื้นริมถนน มีตำรวจ ผู้ใหญ่บ้าน นักข่าว ยืนรุมอยู่ มีดเล่มหนึ่งอยู่ในมือ อีกเล่มไม่รู้อยู่ที่ไหน ส่วนจักรยานไม่ได้ขี่กลับมาด้วย
 
“ผมจำไม่ได้จริงๆ”
“จำได้ว่าดื่มเหล้านะ ตอนรู้ตัวก็คือผมนั่งอยู่ มีคนมายืนเต็มไปหมด” สมัครเล่า
 
เมื่อถามว่าได้ทำลายซุ้มเฉลิมพระเกียรติหรือไม่ เขาตอบว่าจำไม่ได้ เมื่อถามว่าทำไมนั่งอยู่ให้ถูกจับไม่เดินกลับบ้านหรือหนีไป เขาตอบว่า “ก็ยังไม่อยากลุกไปไหน”
 
ก่อนถูกจับสมัคร อายุ 49 ปี เป็นชายผิวดำแดง ผู้มีรอยยิ้มกว้างเต็มใบหน้า รูปร่างเล็กแต่ดูแข็งแรง มีอาชีพเป็นชาวนา มีที่นาเป็นของตัวเองที่ตกทอดมาจากพ่อแม่ 5 ไร่ อาศัยอยู่ตัวคนเดียว ไม่มีหนี้สิน ช่วงที่ไม่ต้องทำนาก็จะเข้าไปรับจ้างในเมืองเชียงใหม่ เช่น ทำงานก่อสร้าง จัดสวน สมัครไม่สนใจการเมือง ไม่เคยไปร่วมกิจกรรมทางการเมือง แม้คนแถวบ้านจะชวนกันไปชุมนุมอยู่บ้างแต่ก็ไม่มีใครมาชวนเขา เพราะรู้ว่าเขาจะไม่ไป หลังถูกจับสมัครไม่มีทรัพย์สินพอที่จะยื่นประกันตัว ที่นาที่มีอยู่ก็เป็นชื่อของแม่ ซึ่งตายไปกว่าสิบปีแล้วแต่ยังไม่เคยไปทำเรื่องจัดการมรดก เขาถูกคุมขังตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา
 
สมัครเคยมีประวัติรักษาอาการทางจิตที่โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ ระบุว่า สมัครป่วยเป็นโรคจิตเภท (Schizophrenia) และมีสติปัญญาอยู่ในระดับต่ำ IQ=63 เพื่อนบ้านรู้ดีว่าอาการของสมัคร คือ จะโมโหร้ายเป็นพักๆ เคยทำลายข้าวของและเคยเผารถมอเตอร์ไซค์ของตัวเอง
 
………………………………………
 
---ประจักษ์ชัย---
 
19 กุมภาพันธ์ 2558 ประจักษ์ชัยนั่งรถเมล์ไปที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อบอกกับรปภ.ว่าจะมายื่นหนังสือร้องเรียน เหมือนกับที่เขาเคยทำเป็นประจำ แต่วันนี้เป็นครั้งแรกที่เขาได้รับอนุญาตให้เข้าไปข้างใน เจ้าหน้าที่เอากระดาษให้เขาเขียนเรื่องร้องเรียนด้วยลายมือ ทันทีที่เขายื่นข้อความยาวหนึ่งบรรทัดนั้น ตำรวจกว่าสิบนายก็ล้อมเข้ามาจับกุม
 
ประจักษ์ชัย ถูกฝากขังต่อศาลทหารกรุงเทพ และถูกคุมขังในเรือนจำพิเศษกรุงเทพเรื่อยมา จนกระทั่ง 15 พฤษภาคม 2558 อัยการทหารยื่นคำฟ้องยาวครึ่งหน้ากระดาษต่อศาลทหารกรุงเทพ ขอให้ลงโทษตามมาตรา 112 และขอให้ริบปากกา ซึ่งเป็นของกลางที่ใช้ในการกระทำความผิด
น้องสาวของประจักษ์ชัย เล่าว่า เวลาอยู่บ้านประจักษ์ชัยจะไม่ค่อยคุยกับใคร เข้าสังคมไม่ได้ นานๆ ครั้งจะเกิดอาการคุ้มคลั่ง เคยคุ้มคลั่งไม่ได้สติจนคนในบ้านต้องช่วยกันจับตัวส่งโรงพยาบาล คนรอบข้างจะพยายามพาเขาไปรักษาอาการทางจิตหลายครั้ง แต่ด้วยฐานะยากจน และเขาก็ไม่ยอมรับว่าตัวเองเป็นบ้า จึงไม่ได้เข้ารับการตรวจรักษาอย่างต่อเนื่อง
 
ก่อนถูกจับ ประจักษ์ชัย อายุ 41 ปี ทำงานเป็นช่างขัดอลูมิเนียมอยู่ที่โรงงานของเพื่อน ที่มาจากบ้านเกิดในจ.ศรีสะเกษด้วยกัน ประจักษ์ชัยเป็นชายรูปร่างผอมแห้ง ผิวคล้ำ ตาโต ขอบตาลึก แววตาเหม่อลอย พูดจาตะกุกตะกัก วกไปวนมา บางครั้งจับใจความไม่ได้ ประจักษ์ชัยยังมีโรคประจำตัว คือ ตับแข็ง จากการดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป โรคนี้หากเครียดอาการจะกำเริบ ท้องบวม และถ้าไม่ได้รับการรักษาทันทีเขาอาจเสียชีวิต
เขาไม่เคยฝักใฝ่กลุ่มการเมืองสีเสื้อ แต่เขามีความคิดเกี่ยวกับการเมืองในแบบของตัวเองที่รุนแรง และนอกกรอบ จนคนรอบข้างไม่ยอมรับฟัง
 
“คุณไม่รู้เหรอ แบงค์ร้อยตอนนี้ มันเป็นแบงค์ปลอม นี่คุณไม่รู้กันจริงๆ เหรอ?” ประจักษ์ชัยบอกคนที่ไปเยี่ยม
“คุณลองเอามาดูสิ แบงค์ร้อยมันต้องมีรูปช้างใช่ไหม ที่เป็นพระนเรศวร เดี๋ยวนี้มันเป็นรูปอะไร แต่เขาก็ยอมให้ใช้กัน”
“ปี 37 ผมเคยถูกจับครั้งนึง แต่ผมเล่าให้ฟังแล้วผู้กำกับสน.ประชาชื่นเขาบอกว่าผมพูดถูก เขาก็ไม่ทำอะไรผม”
 
“ผมไม่ได้บ้านะ ที่เขาบอกว่าผมบ้าเพราะตำรวจจะได้ไม่ดำเนินคดีผม”
 
“วันไหนว่างผมก็มา (มาทำเนียบรัฐบาลเพื่อยื่นเรื่องร้องเรียน) เสร็จจากงานผมก็นั่งรถเมล์มา รปภ.ที่นี่จำผมได้แล้ว เจอกันประจำ ผมก็บอกกับเขาอย่างงี้ตลอด แต่เขาไม่เคยทำอะไรผม” ประจักษ์ชัยเล่าถึงพฤติกรรมในอดีตของตัวเอง เขาบอกว่าทำแบบนี้มากว่า 20 ครั้งแล้ว
 
327
 
กฎหมายคุ้มครองคนจิตไม่ปกติอย่างไร
 
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิ.อาญา) มาตรา 14 กำหนดว่า "ถ้ามีเหตุควรเชื่อว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นผู้วิกลจริตและไม่สามารถต่อสู้คดีได้ ให้ส่งให้แพทย์ตรวจ ให้งดการดำเนินคดีไว้จนกว่าผู้นั้นหายวิกลจริตหรือสามารถจะต่อสู้คดีได้ และให้มีอำนาจส่งตัวผู้นั้นไปยังโรงพยาบาล หรือส่งให้ผู้ดูแล"
 
ดังนั้น หากตำรวจ หรือศาล เห็นว่าคนที่ถูกดำเนินคดีมีอาการทางจิต ก็มีอำนาจ ที่จะส่งให้แพทย์ตรวจ หากแพทย์วินิจฉัยว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยสู้คดีไม่ได้ ศาลก็มีอำนาจสั่งงดการพิจารณาคดีและส่งตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยไปรักษาได้  
 
ขณะที่ประมวลกฎหมายอาญา (ป.อาญา) มาตรา 65 เปิดช่องสำหรับการไม่ลงโทษหรือลดโทษให้ผู้ที่กระทำความผิดเพราะมีจิตไม่ปกติ โดยมีหลักว่า ผู้ใดกระทำความผิด ในขณะที่ไม่สามารถรู้ผิดชอบ หรือไม่สามารถบังคับตนเองได้เพราะมีจิตบกพร่อง ไม่ต้องรับโทษ แต่ถ้าผู้กระทำความผิดยังรู้ผิดชอบอยู่บ้าง หรือบังคับตนเองได้บ้าง ศาลจะลงโทษน้อยเพียงใดก็ได้
 
ในกรณีของความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่มีโทษจำคุกระหว่าง 3-15 ปี หากจำเลยมีอาการป่วยทางจิต ศาลก็อาจสั่งให้ลงโทษน้อยเพียงใดก็ได้ หรือจะรอลงอาญาก็ได้ แต่ท่ามกลางบรรยากาศทางการเมืองที่ตึงเครียดมาตั้งแต่หลังการรัฐประหารปี 2557 การคุ้มครองผู้ป่วยทางจิต ในทางปฏิบัติอาจไม่ง่ายเช่นนั้น
 
 
ภายใต้บรรยากาศการเมืองที่อ่อนไหว พวกเขาตกร่องกระบวนการยุติธรรม
 
19 กุมภาพันธ์ 2558 หลังประจักษ์ชัยถูกจับกุมจากการยื่นหนังสือที่ทำเนียบรัฐบาล เขาอยู่ที่สน.ดุสิตเพียง 20 นาที ก่อนที่ตำรวจจะปล่อยตัว โดยไม่ได้ตั้งข้อกล่าวหา แต่ด้วยเหตุผลบางประการ เจ้าหน้าที่กลับเปลี่ยนใจและกลับไปจับกุมตัวประจักษ์ชัยในช่วงค่ำวันเดียวกันระหว่างที่เขากำลังไปทำงานที่โรงงาน ประจักษ์ชัยถูกนำตัวกลับไปทำประวัติที่สน.ดุสิตอีกครั้ง และถูกตั้งข้อหาตามมาตรา 112
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้รับแจ้งเรื่องราวของประจักษ์ชัยจากนักโทษคนอื่นในเรือนจำและเข้าช่วยเหลือ แต่ก็ไม่ง่ายนักเมื่อญาติของเขาแจ้งว่าไม่เคยมีใบรับรองแพทย์เรื่องอาการทางจิต ทนายความและญาติจึงเข้ายื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่อพนักงานสอบสวน ให้ใช้อำนาจตามป.วิ.อาญา มาตรา 14 แต่พนักงานสอบสวนปฏิเสธ เพราะใช้ดุลพินิจแล้ว เห็นว่า ผู้ต้องหายังตอบคำถามได้ จึงไม่เข้าข่ายวิกลจริตถึงขั้นต่อสู้คดีไม่ได้
 
ต่อมาทนายความส่งหนังสือขอให้เรือนจำส่งตัวไปตรวจรักษา แต่ก็ถูกปฏิเสธ เพราะเรือนจำไม่มีอำนาจตามป.วิ.อาญา มาตรา 14 จึงต้องรอให้อัยการยื่นฟ้องและยื่นคำร้องเพื่อขอให้ศาลสั่งให้ส่งตัวไปรักษา หลังเข้าเรือนจำได้ไม่นาน ประจักษ์ชัยต้องถูกย้ายไปคุมขังที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ เพราะอาการโรคตับแข็งกำเริบ 
 
ประจักษ์ชัยได้รับการตรวจอาการทางจิตครั้งแรกในเดือนกรกฎาคม 2558 หลังถูกคุมขังมา 5 เดือน และจนถึงเดือนกันยายน 2558 ก็ยังไม่ทราบผลการวินิจฉัย ญาติถอดใจไม่ขอยื่นประกันตัวเพราะไม่รู้จะหาหลักทรัพย์จากที่ไหน
 
“นานเกินไปแล้ว ให้อยู่นานขนาดนี้ไม่ไหว” ประจักษ์ชัยเปรยกับทนายความ หลังถูกคุมขังนานกว่า 6 เดือน ศาลทหารก็ยังไม่กำหนดวันนัดพิจารณาคดี
 
…………………………………………….
 
กรณีของ “ธเนศ” ก็ลำบากคล้ายๆ กับประจักษ์ชัย เพราะไม่มีใบรับรองแพทย์มาก่อนถูกจับ ช่วงแรกเจ้าตัวไม่ยอมรับว่าตัวเองป่วย ญาติและทนายความพยายามเกลี้ยกล่อมให้เขาไปพบพยาบาลที่สถานพยาบาลในเรือนจำ ซึ่ง “ธเนศ” ก็ยอมไป แต่เมื่อไปถึงก็ไม่เล่าเรื่องอะไรให้พยาบาลฟัง
 
“ผมไม่ได้บ้าครับ ผมไปหาหมอมาแล้ว หมอเขาก็ไม่ได้ว่าผมเป็นอะไร” “ธเนศ” บอก หลังพยาบาลในเรือนจำยังไม่ส่งเขาไปตรวจรักษากับผู้เชี่ยวชาญ
 
“ธเนศ” อาจโชคดีกว่าประจักษ์ชัยอยู่บ้าง เพราะทางเรือนจำส่งตัวเขาตรวจอาการทางจิต หลังญาติและทนายความพยายามส่งหนังสือเข้าไป ประกอบกับเรือนจำเองก็สังเกตเห็นอาการ ขั้นตอนการส่งตัวและการตรวจใช้เวลาไม่น้อย  สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ออกใบรับรองว่า "ธเนศ" คือผู้ป่วยหลังเขาถูกคุมขังไปแล้ว 5 เดือน
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเคยติดต่อยืมเงินจากผู้ใจบุญ เพื่อยื่นขอประกันตัวแต่ศาลไม่อนุญาต เพราะเหตุว่า “ความผิดตามฟ้องเป็นการเผยแพร่ข้อความเท็จ ซึ่งกระทบต่อความรู้สึกของประชาชนและมุ่งให้เกิดความเสียหายแก่สถาบันอันเป็นที่เคารพยิ่งของประชาชน ทั้งเป็นการกระทำที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร พฤติการณ์แห่งคดีมีความร้ายแรง มีเหตุควรเชื่อว่า หากได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว จำเลยอาจหลบหนี” 
 
หลังได้ใบรับรองแพทย์ จึงยื่นขอประกันตัวอีกครั้ง ศาลไม่อนุญาต ให้เหตุผลว่า “หากการเจ็บป่วยดังกล่าวทวีความรุนแรงถึงขั้นที่สถานคุมขังจะดูแลความปลอดภัยแก่ชีวิตของจำเลยไม่ได้แล้ว ย่อมต้องดำเนินการส่งตัวจำเลยให้แพทย์ทำการรักษา...”
 
8 พฤษภาคม 2558 วันนัดสืบพยาน พ.ญ.ดวงตา จากสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ เบิกความว่า อาการของจำเลยไม่ถึงขั้นวิกลจริต ตามป.วิ.อาญามาตรา 14 จำเลยมีอาการป่วยจริง ผลการทดสอบทางจิตวิทยาไม่ปรากฏว่า จำเลยแกล้งป่วย จำเลยกล่าวอ้างว่าขณะที่ส่งลิงก์นั้นมีการฟอร์เวิร์ดเมล์ เหตุที่ทำไปเพราะจะเป็นการช่วยประชาชน ไม่ทราบว่าสิ่งที่ทำเป็นความผิด พี่ชายของจำเลยก็มีอาการแบบเดียวกัน อาการของจำเลยจึงน่าจะมีสาเหตุมาจากกรรมพันธุ์ โรคนี้หากเป็นแล้วต้องรักษาตลอดชีวิต สามารถรักษาให้ทุเลาลงได้ แต่ไม่สามารถหายขาด หากจำเลยได้รับการรักษาอย่างเต็มที่น่าจะมีอาการดีกว่าที่เป็นอยู่
 
คดีของ “ธเนศ” ดูมีความหวังอยู่บ้าง เพราะประเด็นอาการทางจิตของจำเลยถูกนำเสนอสู่การพิจารณาของศาลอย่างครบถ้วน ในคดีนี้ ศาลอาจใช้อำนาจตามป.อาญา มาตรา 56 ลงโทษจำเลยน้อยเพียงใดก็ได้
 
…………………………………………….
 
คดีของสมัครอาจจะเริ่มต้นง่ายกว่าบ้าง เพราะเขามีใบรับรองแพทย์เรื่องอาการทางจิตติดตัวมาก่อนอยู่แล้ว
 
แม้ว่าเขาจะจำเหตุการณ์ไม่ได้ แต่ในทางคดีสมัครก็ยอมรับว่าเขาเป็นคนทำลายพระบรมฉายาลักษณ์ เมื่อในคดีมีการกล่าวอ้างเรื่องอาการทางจิต ศาลจึงไม่อาจลงโทษทันที ต้องหาข้อเท็จจริงมาประกอบก่อน ในกระบวนการพิจารณาคดีปกติกรณีเช่นนี้ศาลอาจใช้กระบวนการ “สืบเสาะ” ให้กรมคุมประพฤติไปตรวจสอบประวัติพฤติกรรมของจำเลย รวมทั้งอาการเจ็บป่วยต่างๆ และส่งข้อเท็จจริงให้ศาลใช้ดุลพินิจว่าควรจะลงโทษหนักเบาเพียงใด ซึ่งกระบวนการเช่นนี้อาจใช้เวลา 1-2 เดือน ศาลก็มีคำพิพากษาได้
 
แต่เนื่องจากในศาลทหารไม่มีกระบวนการสืบเสาะ ดังนั้น คดีของสมัครจึงต้องดำเนินการสืบพยานทุกปาก
 
12 มกราคม 2558 และ 10 กุมภาพันธ์ 2558 วันนัดสืบพยาน อัยการทหารไม่ได้มุ่งสืบพยานให้เป็นผลร้ายกับจำเลยนัก เขาเบิกตัวพยานที่เป็นผู้ใหญ่บ้าน และผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านมาขึ้นศาล ซึ่งล้วนยืนยันถึงเรื่องอาการทางจิตของจำเลย
 
อีกแง่มุมหนึ่ง ศาลทหารไม่ใช้ระบบนัดพิจารณาคดีแบบต่อเนื่อง หากวันไหนนัดแล้วสืบพยานปากนั้นไม่เสร็จ หรือพยานไม่มาศาล วันนัดก็จะเลื่อนออกไปอีกประมาณ 1-2 เดือน หากสืบพยานคนหนึ่งเสร็จ ก็จะหาวันนัดสืบพยานคนต่อไปในอีก 1-2 เดือนข้างหน้า ทำให้กระบวนการใช้เวลานาน
10 กรกฎาคม 2558 หลังถูกคุมขังมาครบหนึ่งปีพอดี อัยการบอกว่ายังเหลือพยานอีก 7 ปาก สมัครแจ้งกับทนายความว่าไม่ต้องการจะต่อสู้คดีต่อไปแล้ว ต้องการขอรับสารภาพต่อศาลเลย เพื่อให้ทุกอย่างจบ เพราะกระบวนการใช้เวลานานเกินไป รู้สึกเครียดตลอดเวลาที่ถูกคุมขังอยู่
 
“ถ้ารับแล้วศาลลงโทษห้าปี ลดเหลือสองปีครึ่ง จะไหวไหม” ทนายทดลองถาม 
สมัครก้มหน้ายิ้ม ไม่มีคำตอบกลับมา 
 
ทนายของสมัครยื่นคำแถลงปิดคดีขอให้ศาลลงโทษจำเลยสถานเบา และรอการลงโทษจำคุก เพื่อให้โอกาสจำเลยไปรักษาอาการทางจิต และเนื่องจากสมัครกลับคำให้การเป็นรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา ข้อเท็จจริงเรื่องอาการป่วยจึงไม่ถูกนำสืบต่อศาลอย่างเป็นทางการ 
 
 
324
 
 
แล้วศาลก็ชี้ชะตากรรม
 
6 สิงหาคม 2558 ศาลทหารเชียงราย อ่านคำพิพากษาคดีของสมัคร จากการใช้มีดทำกับข้าวทำลายพระบรมฉายาลักษณ์ ให้จำคุก 10 ปี ตามมาตรา 112 และให้ปรับ 100 บาท ฐานพกพาอาวุธในที่สาธารณะ เนื่องจากจำเลยให้การรับสารภาพ จึงลดโทษกึ่งหนึ่ง เหลือจำคุก 5 ปี ปรับ 50 บาท ศาลอ่านคำพิพากษาโดยไม่เอ่ยถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอาการทางจิตของจำเลย
 
“มันนานเกินไป...” สมัครกล่าว แต่ก็ก้มหน้ายอมรับชะตากรรม
 
25 มิถุนายน 2558 ศาลอาญาอ่านคำพิพากษาคดีของ “ธเนศ” จากการส่งอีเมล์ตามเสียงกระซิบในหู ให้ลงโทษจำคุก 5 ปี ตามมาตรา 112, 116 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ลดโทษให้เนื่องจากให้การเป็นประโยชน์เหลือจำคุก 3 ปี 4 เดือน
 
ศาลระบุเหตุผลว่า จำเลยให้การได้ตามปกติ มีอาการปกติเหมือนคนทั่วไป จำเลยให้การไว้โดยละเอียดเกี่ยวกับการกระทำความผิด เป็นขั้นเป็นตอน จำเลยสามารถประกอบการค้าขายบนอินเทอร์เน็ตได้ ไม่เชื่อว่าขณะกระทำความผิดจำเลยไม่รู้ผิดชอบหรือไม่สามารถบังคับตัวเองได้ จำเลยไม่สามารถยกข้ออ้างดังกล่าวขึ้นมาให้ตัวเองพ้นผิดได้
 
“ที่ผ่านมาขอบคุณทุกคนมาก ผมอยากให้เรื่องมันจบแล้ว ผมไม่ต้องการอุทธรณ์แล้วครับ” “ธเนศ” กล่าวกับทนายด้วยความสิ้นหวังหลังทราบผลคำพิพากษา
 
ส่วนคดีของประจักษ์ชัย ยังไม่เริ่มการพิจารณา ยังต้องเฝ้ารอคอยการชี้ชะตากรรมต่อไป
 
…………………………………………….
 
เท่าที่ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพบันทึกข้อมูลไว้ ในรอบ 5 ปีก่อนการรัฐประหาร มีผู้ป่วยทางจิตที่ถูกจับกุมและดำเนินคดีมาตรา 112 อย่างน้อย 3 คน หลังการรัฐประหารมีคนถูกจับกุมและตั้งข้อหามาตรา 112 อย่างน้อย 53 คน ซึ่งอย่างน้อย 5 คนมีอาการทางจิต และมีอีกหลายต่อหลายคนที่การพูดจา “ขาดๆ เกินๆ” แต่สติปัญญายังสมบูรณ์พร้อม
 
คนที่สนใจเรื่องสังคมการเมืองแม้เพียงเล็กน้อยย่อมทราบดีว่า ในบรรยากาศทางการเมืองปัจจุบัน การกล่าวถึงพระมหากษัตริย์อันเป็นที่รักของปวงชนชาวไทยเป็นเรื่องอ่อนไหวที่สุด โดยมีมาตรา 112 ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีโทษหนักคอยกำกับไว้ คนที่จะฝ่าฝืนกฎเกณฑ์นี้ ถ้าไม่เชื่อมั่นอย่างมากจริงๆ ก็คงต้องมี “บ้า” แถมด้วย
 
“ผมไม่เข้าใจครับ ผมรับสารภาพมาตลอด ทำไมเมื่อผมมีใบรับรองแพทย์เรื่องโรคจิต ศาลถึงลงโทษเยอะกว่า” เสียงตะโกนถามดังออกมาจากหลังลูกกรง “ธเนศ” ยังไม่เข้าใจผลคดีของตัวเอง เขาไม่เข้าใจว่าศาลไม่เชื่อผลการตรวจตามใบรับรองแพทย์แผ่นนั้น
 
ปัจจุบันคดีของ “ธเนศ” เลยระยะเวลาตามกฎหมายที่จะยื่นอุทธรณ์ คดีถึงที่สุดแล้ว
 
ที่ศาลทหารเชียงราย บรรยากาศค่อนข้างผ่อนคลาย ทั้งวันมีคดีของสมัครเพียงคนเดียว หลังออกจากห้องพิจารณาคดี เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ ชี้มือให้สมัครเดินเข้าไปในห้องขัง ขณะที่โซ่ตรวนสนิมเขรอะพันอยู่รอบขา ชาวนา IQ ต่ำ เดินเข้าไปอย่างช้าๆ  เขาหันหลังกลับมาผลักประตูลูกกรงปิดขังตัวเองไว้ด้านใน แล้วเดินเข้าไปนั่งอย่างสงบอยู่คนเดียวที่มุมหนึ่งของห้องนั้น ต้องใช้เวลาอีกเกือบ 4 ปี จึงจะถึงวันที่เขาได้กลับออกมาเห็นโลกภายนอกอีกครั้ง
 
คดีของสมัครสิ้นสุดแล้ว การพิจารณาในศาลทหารไม่มีชั้นอุทธรณ์ฎีกา
 
 
 
อ่านข้อมูลคดีของ "ธเนศ" ได้ที่ http://freedom.ilaw.or.th/case/614
อ่านข้อมูลคดีของสมัคร ได้ที่ http://freedom.ilaw.or.th/case/584
อ่านข้อมูลคดีของประจักษ์ชัย ได้ที่ http://freedom.ilaw.or.th/case/666