ประสบการณ์จากทนายความ เรื่องความพร้อมของโรงละครศาลทหาร

“ตอนแรกรู้สึกตื่นเต้น เพราะไม่คิดว่าวันหนึ่งเราจะได้มาขึ้นศาลทหาร ก็งงว่ามีศาลทหารอยู่ในกรุงเทพด้วยเหรอ อยู่ตรงศาลหลักเมืองนี่เองนะ ซึ่งเราผ่านบ่อยมาก แต่ไม่เคยรู้เลยว่ามีศาลทหารอยู่” ศศินันท์เล่าประสบการณ์เมื่อต้องไปเยือนศาลทหารกรุงเทพครั้งแรก 
ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ เป็นทนายความประจำศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน องค์กรที่ตั้งขึ้นเพื่อให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชนที่ถูกดำเนินคดีทางการเมืองในยุค คสช. โดยเธอเป็นทนายความคนแรกที่เข้ามาทำงานเต็มเวลาตั้งแต่ช่วงที่ศูนย์ฯ เพิ่งตั้งต้นใหม่ๆ เริ่มจากทนายความประสบการณ์น้อย จนเรียนรู้เติบโตขึ้นจากการว่าความคดีการเมืองที่ข้อหาหนักหลายคดี จนศศินันท์ในวันนี้เปี่ยมด้วยประสบการณ์และเรื่องเล่าเกี่ยวกับปัญหารวมถึงอุปสรรคเมื่อคดีของพลเรือนต้องขึ้นศาลทหาร 
“ครั้งแรกเราประหม่า ไม่รู้เรียกว่ากลัวได้หรือเปล่า พอไปที่ศาลทหารเห็นว่าการจัดภายในมันดูไม่ค่อยเป็นระเบียบ ไม่รู้ต้องไปติดต่อตรงไหนยังไง ดูไม่มีแผนกชัดเจน มีแต่ทหารนั่งๆ อยู่” ศุภณัฐเล่าประสบการณ์ครั้งแรกเมื่อไปถึงศาลทหารกรุงเทพบ้าง
ศุภณัฐ บุญสด เป็นเจ้าหน้าที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนแบบเต็มเวลาคนที่สองต่อจากศศินันท์ เขานิยามตัวเองว่าเป็น “ม้าเร็ว” ของศูนย์ฯ เนื่องจากมีหน้าที่วิ่งไปศาลเพื่อยื่นหรือรับเอกสาร ติดต่องานธุรการต่าง ยื่นขอประกันตัว หรือไปศาลเป็นเพื่อนจำเลยในวันที่ทนายความไม่ว่าง ชายหนุ่มจึงมีประสบการณ์ที่ต้องประสานงานกับเจ้าหน้าที่ของศาลทหารในกิจการต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง

ในห้องธุรการ: ทนายไปครั้งแรก จำเลยไปครั้งแรก เจ้าหน้าที่ก็เพิ่งเจอครั้งแรก

เมื่อคดีการเมืองที่พลเรือนตกเป็นจำเลยถูกสั่งให้ขึ้นศาลทหาร ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนจึงต้องรับภาระหนัก ไม่ใช่แค่ปริมาณคดีที่มีมาก แต่เมื่อคดีไปขึ้นศาลทหารจึงต้องพบเจอกับบรรยากาศการทำงานภายใต้ “สภาวะไม่ปกติ” รวมทั้งการปฏิบัติแปลกๆ ทั้งที่ดีและไม่ดี ทั้งที่เหมือนและต่างกับศาลปกติ และบางครั้งก็เป็นกระบวนการที่ไม่เป็นธรรม หรือสร้างผลเสียต่อจำเลย
ศุภณัฐเล่าว่า เจ้าหน้าที่ที่ศาลทหารทุกคนเป็นทหารและแต่งเครื่องแบบทหารเดินกันไปมา จำเลยที่ไปศาลทหารมักจะกลัว โดยเฉพาะคดีข้อหาเกี่ยวกับอาวุธที่มีจำเลยเคยถูกจับไปขังไว้ในค่ายทหารก่อนและถูกกระทำต่างๆ ทำให้พวกเขากลัวและระแวงทหาร การไปศาลทหารช่วงแรกๆ จะไม่จึงยอมไปคนเดียว ต้องให้ตนไปเป็นเพื่อนกับเขาด้วยทุกครั้ง 
นอกจากนั้น การให้บริการของเจ้าหน้าที่ศาลทหารขึ้นอยู่กับตัวบุคคล ไม่มีระบบที่ชัดเจน คนที่ดีก็เป็นเหมือน “one stop service” คือถามอะไรตอบได้ทุกอย่าง คนที่ไม่ดีบางครั้งก็พูดจาสะท้อนทัศคติที่มีต่อจำเลยออกมาบ้าง เมื่องานบริการไม่สามารถคาดเดามาตรฐานใดได้ ทำให้หลายเรื่องใช้เวลานาน โดยศุภณัฐเคยต้องนั่งรอคำสั่งประกันตัวถึงสองทุ่ม เพราะมีเจ้าหน้าที่คนเดียวต้องทำหลายเรื่อง 
ศศินันท์เสริมในประเด็นเดียวกันว่า ช่วงแรกเจ้าหน้าที่ศาลทหารก็ยังใหม่กับคดีการเมือง เจ้าหน้าที่ก็มีกันอยู่ไม่กี่คน เธอยังเคยเห็นเขาหันไปคุยกันว่าใครจะทำอะไร โดยช่วงที่คดียังไม่เยอะศาลทหารก็ให้บริการได้เร็ว แต่ด้วยคดีที่เยอะขึ้นภายหลัง ทำให้บางครั้งเธอต้องรอคิวคัดถ่ายเอกสาร 2-3 อาทิตย์

ในห้องธุรการ: จัดการไม่เป็นระบบ ไม่แจ้งวันนัดให้ทนายทราบล่วงหน้า

ด้วยความที่ตามปกติศาลทหารรับมือกับปริมาณคดีไม่มากนัก จะมีแต่คดีที่จำเลยเป็นทหารซึ่งส่วนใหญ่รับสารภาพและคดีมีขั้นตอนไม่ยุ่งยาก ศาลทหารจึงไม่ได้ออกแบบระบบในทางธุรการไว้บริการประชาชนที่จะมาศาลจำนวนมาก จากความไม่พร้อมนี้ก่อให้เกิดเรื่องยุ่งยากขึ้นไม่น้อย ประการหนึ่งก็คือ การแจ้งวันนัดพิจารณาคดีให้ทนายความทราบ
ศุภณัฐเล่าว่า บางคดีศาลทหารก็ไม่ส่งหมายนัดมาให้ทนายความ ทำให้ทนายไม่ทราบว่าจะต้องไปศาลเมื่อไหร่ แม้ช่วงหลังเจ้าหน้าที่จะเริ่มส่งหมายนัดให้มากขึ้น แต่ก็ยังไม่ใช่ทุกคดี ทำให้ทนายมีหน้าที่เพิ่มคือต้องไปตามถามวันนัดจากเจ้าหน้าที่ด้วยตัวเอง เพื่อไม่ให้พลาดนัด

ศศินันท์ยกตัวอย่างคดีที่เกิดความผิดพลาดครั้งใหญ่ที่สุดในประสบการณ์ของเธอคือ >คดีของจำเลยชื่อชญาภา</a> ที่ถูกกล่าวหาว่า โพสต์เฟซบุ๊กเข้าข่ายความผิดมาตรา 112 และ 116 คดีนั้นมีการนำตัวจำเลยมาขึ้นศาลโดยที่ไม่แจ้งทนายความ และจำเลยเองก็รับสารภาพไปทั้งที่ยังไม่ได้มีโอกาสปรึกษากับทนายความก่อน ผลคือศาลพิพากษาให้ลงโทษจำคุก 7 ปี 30 เดือน

“กระบวนการของศาลพลเรือน เมื่อถึงวันนัดคดีจะต้องแจ้งไปที่ทนายความด้วย และศาลพลเรือนบางแห่ง พอใกล้ถึงวันนัดจะมีโทรศัพท์มาเตือนทนายความอีกครั้งด้วยเพื่อไม่ให้ผิดพลาด” ศศินันท์เปรียบเทียบให้เห็นภาพ 

ในห้องธุรการ: ขอประกันตัวลำบาก ขอคัดถ่ายเอกสารไม่ได้

“ปัญหาการให้ประกันตัวของศาลทหารเป็นปัญหาอันดับต้นๆ เลย ที่ศาลทหารเกณฑ์การใช้หลักทรัพย์ประกันตัวก็จำกัดกว่าศาลพลเรือน และการใช้ดุลพินิจก็มีแนวโน้มให้ประกันตัวน้อย” อีกเสียงหนึ่งจาก วิญญัติ ทนายจำเลยคดีการเมืองในยุค คสช.
วิญญัติ ชาติมนตรี เป็นทนายความที่สนใจติดตามการเมืองอยู่ตลอด จนเมื่อ คสช. เข้ายึดอำนาจ วิญญัติเห็นว่ามีการเรียกนักเคลื่อนไหวทางการเมืองกลุ่มต่างๆ ไปเข้าค่ายทหารจำนวนมาก จึงชวนพรรคพวกที่เป็นทนายความด้วยกันมาตั้งกลุ่มชื่อว่า กลุ่มนักกฎหมายอาสาเพื่อสิทธิมนุษยชน (กนส.) แล้วส่งข้อมูลต่อกันทางไลน์ว่า กลุ่มจะรับช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่ง คสช. ต่อมากลุ่มเปลี่ยนชื่อเป็น สมาพันธ์นักกฎหมายเพื่อสิทธิเสรีภาพ (สกสส.) เพื่อให้เป็นทางการมากขึ้น ปัจจุบันช่วยเหลือคดีทางการเมืองอยู่ประมาณ 40 คดี ทนายความกลุ่มนี้จึงเป็นอีกที่พึ่งพาหนึ่งของผู้ต้องหาทางการเมืองควบคู่ไปกับศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
วิญญัติอธิบายว่า ตามระเบียบของศาลทหารจะไม่อนุญาตให้ใช้ตำแหน่งเป็นหลักประกันเพื่อขอประกันตัวผู้ต้องหา และไม่อนุญาตให้ใช้หลักประกันที่ซื้อจากบริษัทเอกชน หรือที่เรียกว่า “การเช่าหลักทรัพย์” ศาลทหารจะรับพิจารณาหลักทรัพย์แค่เงินสด สลากออมสิน และที่ดินเท่านั้น แถมเมื่อเป็นคดีการเมือง ศาลทหารจะเรียกหลักประกันที่สูง ซึ่งเป็นการสร้างภาระให้กับผู้ถูกดำเนินคดีมากจนเกินไป อีกปัญหาหนึ่งในทางปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ศาลทหารที่วิญญัติสะท้อนออกมาคือ เรื่องการขออนุญาตคัดถ่ายเอกสาร โดยเฉพาะรายงานกระบวนพิจารณาคดีแสนยุ่งยาก เพราะต้องรอการอนุญาตจากผู้พิพากษาเจ้าของแต่ละคดีเท่านั้น บางครั้งเมื่อยื่นคำร้องขอคัดถ่ายเอกสาร แต่ผู้พิพากษาประจำคดีไม่อยู่หรือไม่ว่าง ก็ต้องรอไปอีกหลายวัน
“ถ้าเป็นศาลอาญา เราไปยื่นคำร้องแล้วเขาจะส่งให้ผู้พิพากษาที่เป็นเวรพิจารณา เราสามารถรอฟังคำสั่งและขอคัดถ่ายได้เลย แต่ถ้าเอกสารเยอะก็จะนัดให้มารับวันหลัง แต่สำหรับศาลทหาร เมื่อเขียนคำร้องยื่นไปแล้วต้องรอการพิจารณาจากศาล แถมบางครั้งศาลกลับสั่งไม่อนุญาตให้คัดถ่าย โดยให้เหตุผลว่าได้แจ้งให้คู่ความทราบแล้ว ซึ่งแจ้งแล้วจริง แต่มันจำทันทีไม่ได้ เราต้องมีเอกสารเก็บไว้เผื่ออีก 2-3 เดือนข้างหน้า เราลืมแล้วเราจะได้กลับมาดูได้” วิญญัติชี้ถึงปัญหาการขอคัดถ่ายเอกสาร

ในห้องธุรการ: ศาลทหารไม่มีทนายความอาสาช่วยเหลือจำเลยพลเรือน

ระเบียบปฏิบัติของศาลทหารอีกอย่างหนึ่งที่ต่างจากศาลพลเรือนคือ ขั้นตอนการยื่นคำร้องและเอกสารต่างๆ ให้ศาล ศศินันท์ สะท้อนเรื่องนี้ว่า การยื่นคำร้องก็ตลกอยู่เหมือนกัน แม้กระทั่งระหว่างที่คดีพิจารณาอยู่ หากต้องการยื่นคำร้องอะไรให้ศาลพิจารณาจะยื่นให้ศาลที่นั่งอยู่บนบัลลังก์โดยตรงเลยไม่ได้ ต้องลงไปยื่นที่ห้องธุรการชั้นหนึ่ง เมื่อยื่นแล้ว เจ้าหน้าที่ข้างล่างก็ค่อยเดินเอากลับขึ้นมาให้ตุลาการอีกครั้ง
เรื่องทางปฏิบัติในการยื่นเอกสารคำร้องต่างๆ อาจจะเป็นเพียงเรื่องเล็กน้อยที่แสดงถึงความไม่พร้อมหรือไม่เชี่ยวชาญเท่านั้น ส่วนเรื่องใหญ่ที่กระทบต่อสิทธิของจำเลยและความเป็นธรรมในคดีคือ สิทธิในการมีทนายความ แม้จำเลยที่เป็นพลเรือนจะแต่งตั้งทนายความเข้ามาช่วยเหลือคดีที่ศาลทหารได้ แต่หากจำเลยไม่มีเงินจ้างทนายความ ศาลทหารเองก็ไม่อาจหาทนายความอาสามาให้จำเลยได้ 
ศุภณัฐอธิบายเรื่องนี้ว่า เจ้าหน้าที่ศาลทหารเคยบอกว่าจำเลยที่เป็นพลเรือนศาลไม่สามารถมี “ทนายขอแรง” ได้ เพราะศาลทหารไม่มีระเบียบที่จะให้เจ้าหน้าที่ติดต่อกับสภาทนายความเพื่อให้ส่งทนายความมาช่วยเหลือ แต่ถ้าเป็นคดีที่จำเลยเป็นทหาร ศาลทหารกลับมีแผนกทนายความทหารคอยช่วยเหลือ ซึ่งที่ผ่านมามีกรณีที่จำเลยไม่มีใครช่วย เจ้าหน้าที่เลยติดต่อมาให้ศูนย์ฯ ช่วยเหลือ แต่ถ้าเป็นศาลทหารในต่างจังหวัดจะไม่มีใครช่วยเลย
งานธุรการในศาลทหารยังมีข้อแตกต่างจากศาลพลเรือนอีกมาก ส่วนใหญ่แล้วเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เช่น ไม่มีร้านถ่ายเอกสารสำหรับประชาชน หรือไม่มีที่จอดรถสำหรับผู้มาติดต่อแม้แต่คันเดียว ซึ่งแสดงถึงความไม่พร้อมสำหรับการบริการประชาชนขององค์กรทหารที่ปกติแล้วมีไว้สำหรับปกครองทหารเท่านั้น ที่สำคัญคือในบางกรณี ความไม่สมบูรณ์พร้อมเช่นนี้ล้วนกระทบสิทธิของจำเลยในการต่อสู้คดีได้ไม่น้อย  

ในห้องพิจารณาคดี: ตุลาการเป็นนายทหาร มีอิสระภายใต้ความเป็นทหาร

ตาม พ.ร.บ. ธรรมนูญศาลทหาร ผู้พิพากษาคณะหนึ่งๆ ที่ทำหน้าที่ดำเนินกระบวนพิจารณาและตัดสินคดี จะมี 1 คนที่เรียนจบกฎหมายคือ ตุลาการพระธรรมนูญ ส่วนอีก 2 คนคือ ตุลาการศาลทหาร เป็นนายทหารที่ถูกแต่งตั้งเข้ามาและไม่ได้เรียนจบกฎหมาย เรื่องนี้เองที่เป็นจุดอ่อนทำให้ศาลทหารถูกมองว่า ไม่เป็นอิสระหรือไม่น่าเชื่อถือ
วิญญัติเล่าว่า ผู้พิพากษาในศาลทหารมาจากการแต่งตั้งโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เคยเห็นหลายครั้งว่าอากัปกริยา สีหน้า แสดงทัศนคติออกมาว่า เห็นจำเลยที่นั่งอยู่ข้างล่างเป็นคนเลว เป็นภัย ต้องถูกกระทำอะไรก็ได้ เป็นแนวทางแบบเดียวกับที่ทหารจะลงโทษทหารเกณฑ์ หรือบางครั้งก็ออกความเห็นระหว่างการพิจารณาด้วย เช่น การเตือนพยานให้ทบทวนคำเบิกความ ซึ่งถือว่าไม่สมควร
วิญญัติพาย้อนประสบการณ์ในคดีหนึ่งว่า มีทหารซึ่งนั่งเป็นตุลาการในคดีชี้หน้าจำเลยในบัลลังก์ระหว่างที่นั่งรอการจดรายงานอยู่ แล้วบอกว่า “ผมอยากรู้ว่าคุณจะสู้อะไร” หลังออกจากบัลลังก์ก็ยังเดินตามลงมาข้างล่าง แล้วพูดคุยกับจำเลยในลักษณะข่มขู่ เช่น “แต่งตัวไม่เรียบร้อย” “ระวังโดนซ่อม” วิญญัติมองว่า การแสดงออกแบบนี้เป็นทั้งการแทรกแซงและข่มขวัญ ซึ่งผิดมารยาท และเป็นเรื่องที่รับไม่ได้
วิญญัติยังตั้งข้อสังเกตต่อการทำงานของตุลาการในศาลทหารว่า คำร้องบางอย่างที่ไม่ได้เจอทุกวัน เช่น คำร้องขอให้วินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในข้อกฎหมาย คำร้องขอให้วินิจฉัยเรื่องเขตอำนาจศาล ศาลทหารจะใช้วิธีไม่สั่ง โดยใช้เทคนิคว่า จะรอไว้สั่งพร้อมกับคำพิพากษา ทำให้กระบวนการที่ทำไปโดยไม่ถูกต้องตามขั้นตอนก็ไม่ถูกแก้ไข เราเลยประเมินว่า ศาลอาจจะไม่กล้าสั่งหรือต้องรอปรึกษาใครก่อนหรือเปล่า

ในห้องพิจารณาคดี: อัยการทหาร ไม่มีหน้าที่พิสูจน์ความบริสุทธิ์ของจำเลย

ที่ศาลทหาร นอกจากผู้พิพากษาทุกคนจะเป็นข้าราชการทหารแล้ว ฝ่ายโจทก์ของทุกคดีคือ อัยการทหาร ก็เป็นข้าราชการทหาร สังกัดกระทรวงกลาโหมเช่นกัน อัยการทหารโดยปกติจะทำคดีที่ทหารฟ้องทหาร เมื่อมาเจอคดีการเมืองของพลเรือนจึงต้องปรับตัวอีกไม่น้อย
ศศินันท์สังเกตว่า อัยการทหารแต่ละคนเมื่อมาถึงห้องพิจารณาคดีจะมีลักษณะการปฏิบัติงานที่เหมือนกันหมด ถ้าทนายโต้แย้งอะไรมากกว่าปกติ บางทีอัยการก็งงว่า ทนายแย้งมาแบบนี้ไม่รู้จะตอบอย่างไร ต้องหันไปถามคนอื่น เพราะเขาวางรูปแบบมาแล้ว แต่คดีที่ศาลพลเรือนจะเห็นว่า อัยการแต่ละคนที่มาจะมีสไตล์ของตัวเอง มีความเป็นปัจเจกไม่เหมือนกัน
ด้านวิญญัติก็ยกตัวอย่างการทำงานของอัยการทหารคดีหนึ่งว่า อัยการทหารดึงเอกสารที่เคยอยู่ในสำนวนของตำรวจออก ซึ่งวิญญัติเห็นว่าสิ่งที่อัยการทำนั้นผิดต่อกฎหมาย แต่อัยการทหารอธิบายว่า การพิจารณาพยานหลักฐานของอัยการ ไม่จำเป็นต้องพิจารณาพยานหลักฐานที่แสดงความบริสุทธิ์ของจำเลย
“นี่เป็นเรื่องที่น่าเสียใจมาก เหมือนกับยอมรับไปในตัวว่า เอกสารชิ้นนี้จะพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของจำเลยได้ จึงไม่ส่งเข้ามาในสำนวน คดีอื่นๆ ก็มีลักษณะที่อัยการทหารทำแบบนี้อีกเหมือนกัน โดยอัยการทหารมองว่า ตนเองมีสิทธิที่จะทำแบบนี้ได้” 

ในห้องพิจารณาคดี: ทุกคนเป็นทหาร “เล่นละคร” กระบวนการยุติธรรม

ศศินันท์อธิบายภาพว่า บรรยากาศในห้องพิจารณาคดีของศาลทหาร จะเห็นเจ้าหน้าที่ทุกคนใส่เครื่องแบบทหารเต็มยศขึงขัง ช่วงแรกก็ตกใจ แต่ต่อมาก็เริ่มรู้สึกตลก รู้สึกเหมือนทุกคนในห้องพิจารณากำลังเล่นละครบางอย่างให้เราดู เช่น ก่อนตุลาการจะออกคำสั่งก็จะถามว่าอัยการทหารเห็นว่าอย่างไร อัยการทหารก็จะขานรับเป็นจังหวะๆ แล้วศาลก็สั่งตามนั้น ช่วงที่มีคดีฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. เยอะๆ เมื่อไปศาลทุกคดีก็ทำเหมือนกันหมด จนเราแทบจะรู้แล้วว่า พอศาลขึ้นบัลลังก์จะพูดอะไรบ้าง สามารถบอกลูกความของเราได้เลย
สอดคล้องกับที่ศุภณัฐพูดถึงบรรยากาศในห้องพิจารณาคดีของศาลทหารว่า ห้องของอัยการทหารอยู่ชั้นสองส่วนห้องของตุลาการอยู่ชั้นสามในตึกเดียวกัน พอเริ่มการพิจารณาก็เหมือนรู้กันอยู่แล้ว แล้วมาเล่นให้เราดู เราเป็นแค่ส่วนหนึ่งที่มาเติมให้มันเต็ม ในแง่หนึ่ง เราก็ไปช่วยทำให้กระบวนการมีความชอบธรรมขึ้นมาว่า มีทนายความอยู่ด้วย ให้ถูกต้องตามรูปแบบเท่านั้น
“ลูกความเราเป็นพลเรือน คนที่มาแจ้งความเราเป็นทหาร อัยการที่ว่าความอยู่ก็เป็นทหาร แล้วข้างบนบัลลังก์ที่นั่งอยู่ก็เป็นทหาร ทหารจับมาส่งข้อหาต่อต้านทหาร อัยการฟ้องข้อหาต่อต้านทหาร เพื่อจะถามทหารว่า ผิดหรือไม่ผิด คิดๆ แล้วมันก็ตลก” ศศินันท์เล่าเรื่องศาลทหารมาถึงจุดนี้ โดยยังมีรอยยิ้มให้กับเรื่องที่เธอเผชิญมา
“ศาลทหารมันเป็นแค่การสร้างละครขึ้นมาฉากหนึ่งเท่านั้นเอง มันไม่ศักดิ์สิทธิ์เท่าไร อัยการก็เป็นทหาร ตุลาการก็เป็นทหาร พื้นที่ในการพิจารณาคดีก็เป็นบริเวณศาลทหาร ทหารฝ่ายการเมืองใช้อาวุธและจังหวะในการยึดอำนาจ แต่ทหารฝ่ายตุลาการใช้อำนาจดุลพินิจเป็นอาวุธ ซึ่งเป็นดุลพินิจที่อาจทำลายชีวิตของคนอื่นได้” วิญญัติเองก็ย้ำข้อสังเกตที่มีไม่ต่างกัน

ในห้องพิจารณาคดี: สร้างกระบวนการที่ช้า สร้างบทบังคับให้รับสารภาพ

ศาลพลเรือนทุกแห่งได้พัฒนาระบบการพิจารณาที่เรียกว่า “พิจารณาคดีต่อเนื่อง” หมายถึง การนัดกำหนดสืบพยานติดต่อกัน คดีที่มีพยาน 10-15 คน อาจกำหนดวันสืบพยาน 3-4 วันติดต่อกัน แล้วสืบพยานให้เสร็จไปในคราวเดียวเพื่อความรวดเร็วต่อเนื่องและไม่ให้คู่ความมีเวลาไปเตรียมซักซ้อมพยานให้เปลี่ยนคำให้การ แต่ระบบกลับไม่ได้ใช้ในศาลทหาร เนื่องจากศาลทหารใช้วิธีนัดสืบพยานวันละคน เมื่อเสร็จหนึ่งคนก็หาวันนัดใหม่ต่อไปเรื่อยๆ บางครั้งแต่ละนัดห่างกัน 3-4 เดือน ทำให้ไม่อาจทราบได้ว่า แต่ละคดีจะใช้เวลาพิจารณานานเท่าไร
“อาจจะเพราะตุลาการมีน้อย หรือบุคลากรไม่พอ ศาลทหารจึงใช้วิธีนัดพิจารณาคดีนัดทีละนัด ไม่ต่อเนื่อง บางนัดพยานซึ่งเป็นทหารยศสูงๆ ไม่มาศาล อ้างว่าติดราชการโดยไม่ให้ความสำคัญกับนัดพิจารณาคดี ทำให้การพิจารณาคดีล่าช้า และต้องไปกำหนดวันนัดกันใหม่ เรื่องแบบนี้ไม่สมควรเกิดขึ้น กลายเป็นว่า ทั้งจำเลยและทนายความต้องมาเสียเวลา” วิญญัติ กล่าว
นอกจากความคิดเห็นข้างต้นแล้ว วิญญัติยังนิยามปรากฏการณ์การนัดสืบพยานที่ล่าช้าว่า “การบีบบังคับโดยสภาพ” ซึ่งหมายถึง การสร้างเงื่อนไขให้จำเลยกังวลต่อสิ่งที่พวกเขาจะต้องเจอในการต่อสู้คดี รวมทั้งขาดกำลังใจจากครอบครัวเนื่องจากไม่สามารถคาดเดาวันนัดใดๆ ได้ ทำให้จำเลยรู้สึกไม่อยากจะไปต่อ ทั้งที่ยังอยากจะพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตัวเอง เหล่านี้ล้วนเป็นสภาพที่บังคับให้จำเลยต้องรับสารภาพเท่านั้น 
ศุภณัฐเล่าด้วยว่า นอกจากเรื่องการสืบพยานแบบไม่ต่อเนื่อง ยังมีเรื่องการกำหนดวันนัดสอบคำให้การที่ไม่แน่นอน โดยทางปฏิบัติของศาลพลเรือน เมื่อโจทก์ยื่นฟ้องแล้ววันรุ่งขึ้นศาลจะนำตัวจำเลยมาสอบถามคำให้การทันทีว่าจะรับสารภาพหรือปฏิเสธ แต่ทางปฏิบัติของศาลทหาร แม้โจทก์จะยื่นฟ้องแล้ว ศาลจะยังไม่กำหนดวันนัดสอบคำให้การ บางคดีอาจต้องรอเป็นเดือน หรือ 2-3 เดือน ศาลก็ยังไม่เรียกตัวมาสอบคำให้การ กระบวนการเช่นนี้ ศุภณัฐมองว่า มีส่วนทำให้จำเลยที่รอนาน เปลี่ยนใจรับสารภาพทั้งที่บางคดีจำเลยก็มีโอกาสจะต่อสู้คดีได้ 
“คนอยู่ในคุกอยู่ไปแบบไม่มีความหวัง เพราะไม่รู้ว่าจะมีนัดไปขึ้นศาลเมื่อไร พออยู่ไปนานๆ แล้วเขาก็อยากให้คดีจบเร็วๆ เขาไม่รู้เลยว่า คดีจะได้สืบพยานเมื่อไร เพราะแค่นัดสอบคำให้การยังไม่รู้เลยว่าจะเริ่มตอนไหน” ศุภณัฐเล่าด้วยน้ำเสียงถอดใจ

นอกตัวอาคาร: คดีใหญ่ ศาลทหารปิดทางเข้าด้านหน้า ให้เข้าเฉพาะทนายความและชาวต่างชาติ

ศาลทหารกรุงเทพเคยเผชิญหน้ากับความขัดแย้งโดยตรง เมื่อผู้ต้องหาที่เป็นนักกิจกรรมกลุ่มพลเมืองโต้กลับ 4 คน ไปรายงานตัวต่อศาลในวันที่ 16 มีนาคม 2558 โดยมีกลุ่มนักศึกษาที่รวมตัวกันมาถือป้ายประท้วงและปราศรัยผ่านโทรโข่งอยู่ด้านหน้าของศาล โจมตีทั้งรัฐบาทหารและการเอาพลเรือนขึ้นศาลทหาร หลังจากนั้นศาลทหารจึงต้องเปลี่ยนกฎระเบียบ โดยเฉพาะเมื่อคดีของนักกิจกรรมทางการเมืองที่มีคนจำนวนมากอยากมาให้กำลังใจผู้ต้องหา 
ศศินันท์อธิบายให้เห็นภาพว่า ช่วงแรกๆ ที่คดีพลเรือนไปถึงศาลทหารนั้น เจ้าหน้าที่ยังมีท่าทีเป็นมิตรมาก แต่หลังจากที่มีการชุมนุมของกลุ่มนักศึกษาถึงหน้าศาล ทำให้เจ้าหน้าที่เริ่มขึงขังมากขึ้น ใครจะเข้าออกก็ต้องถามตลอดว่ามาทำอะไร
ศุภณัฐเล่าต่อว่า หลังจากเหตุการณ์นั้น เมื่อมีคดีที่ได้รับความสนใจจากสาธารณะ ศาลจะปิดทางเข้าตั้งแต่ถนนด้านหน้าศาลหลักเมือง โดยมีสารวัตรทหารคอยกันไม่ให้ผู้ไม่เกี่ยวข้องกับคดีเข้าไปที่ศาลทหาร ให้เข้าไปได้เฉพาะจำเลย ทนายความ และญาติเท่านั้น อีกทั้งยังขอดูบัตรประชาชนหรือบัตรทนายความด้วย ศุภณัฐซึ่งทำหน้าที่เป็นเสมียนทนายที่ต้องแบกเอกสารไปให้ทนายก็เข้าด้านในไม่ได้เช่นกัน  
ศศินันท์เล่าถึงอีกสิ่งหนึ่งที่สังเกตเห็น คือ ศาลทหารจะค่อนข้างเกรงใจต่างชาติ เวลามีองค์กรระหว่างประเทศ หรือตัวแทนสถานทูตมาสังเกตการณ์คดี เจ้าหน้าที่เคยมากระซิบให้ทนายไปอธิบายให้คนต่างชาติฟังด้วยว่า ศาลทหารก็ให้ความยุติธรรมเหมือนกัน และในวันที่มีคดีสำคัญ ชาวต่างชาติที่มาสังเกตการณ์คดีจะเข้าไปศาลได้แต่คนไทยที่มาให้กำลังกลับเข้าไม่ได้

นอกกรุงเทพมหานคร: ศาลทหารต่างจังหวัดตั้งอยู่ในค่ายทหาร ผู้พิพากษาไม่มาทุกวัน

ศาลทหารไม่ได้มีอยู่ในกรุงเทพแห่งเดียว แต่แบ่งเขตอำนาจการพิจารณาคดีตามเขตมณฑลทหาร แต่ละมณฑลทหารจะมีศาลทหารหนึ่งแห่ง รวมมีศาลทหารต่างจังหวัดทั้งหมด 34 แห่ง ทุกแห่งล้วนตั้งอยู่ในค่ายที่เป็นศูนย์บัญชาการหลักของทหารในจังหวัดต่างๆ
โดยศุภณัฐเล่าว่า เท่าที่เคยไปติดต่อราชการกับศาลทหารที่จังหวัดขอนแก่น เชียงราย และชลบุรี พบว่า ศาลทหารในต่างจังหวัดมีบุคลากรน้อย และมีคดีน้อย จึงไม่มีผู้พิพากษามาทำหน้าที่ทุกวัน ถ้าไปยื่นคำร้องในวันที่ผู้พิพากษาไม่มา เจ้าหน้าที่จะพยายามไม่รับ เพราะไม่รู้ว่าจะต้องตัดสินใจอย่างไร
ครั้งหนึ่งศุภณัฐเคยไปยื่นคำร้องคัดค้านการพิจารณาคดีที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายต่อศาลทหารขอนแก่น เจ้าหน้าที่กลับไม่ยอมรับคำร้องของเขา และยังถามกลับว่า “ยื่นคำร้องแบบนี้ได้ด้วยเหรอ” ศุภณัฐเสริมว่า บางคดีการเข้าไปให้ถึงศาลก็เป็นเรื่องยากถ้าไม่ใช่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เช่น คดีของจตุภัทร์ หรือ “ไผ่ ดาวดิน” ที่ศาลทหารขอนแก่น ผู้ต้องหาถูกนำตัวไปศาลตอนสองทุ่ม ทนายความเข้าไปได้ แต่เสมียนทนายความและญาติเข้าไม่ได้ เพราะทหารได้รับคำสั่งมาปิดประตูตั้งแต่หน้าค่าย 
“มันไม่มีความเป็นอิสระ เพราะคนที่แจ้งความก็เป็นทหาร คนที่จับกุมก็เป็นทหาร ทำงานอยู่ที่นั่นเอง ก็เข้าไปคุยกับผู้พิพากษาได้ สร้างความรู้สึกไม่มั่นใจเลย แค่เข้าไปในค่ายทหารก็หวาดกลัวแล้ว ถ้าเราจะแสดงออกมากเกินไป โต้แย้งอะไรมากเกินไป ก็มีความรู้สึกไม่ปลอดภัยในชีวิตอยู่เหมือนกัน” ศุภณัฐ เล่าความรู้สึก

ศาลทหารปรับปรุงตัว ภายใต้สายตาของสังคมที่จ้องมอง

ศศินันท์ประมวลถึงการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นในทางปฏิบัติของศาลทหารว่า หลังจากศาลทหารเคยผิดพลาดในคดีของชญาภา และถูกสังคมวิจารณ์มาก ศาลทหารก็ปรับตัวในเรื่องนี้ โดยมีลูกความของเธออีกคน คือ ธเนตร ที่ถูกพาไปศาลทหารโดยทนายความไม่ได้ไปด้วย ธเนตรแถลงรับสารภาพต่อศาลเพื่อต้องการให้คดีจบโดยเร็ว แต่ศาลทหารยืนยันกับธเนตรว่า ให้ไปปรึกษากับทนายความให้เรียบร้อยก่อน แล้วนัดสอบคำให้การใหม่เป็นวันหลัง
ศุภณัฐเองก็เห็นการปรับตัวของศาลทหารเช่นเดียวกัน ช่วงแรกๆ ศาลทหารกรุงเทพไม่ให้คัดถ่ายรายงานกระบวนพิจารณาเลย เราใช้วิธียื่นคำร้องขออนุญาตซ้ำแล้วซ้ำอีก จนตอนหลังศาลทหารกรุงเทพเริ่มปรับตัวและอนุญาตมากขึ้น แต่ยังไม่ใช่ทุกคดี คดีที่มีความอ่อนไหว เช่น คดีมาตรา112 ก็ยังไม่ให้คัดถ่าย ส่วนคำร้องที่ไม่ค่อยได้เจอทุกวัน เจ้าหน้าที่ก็เริ่มรู้วิธีการขั้นตอนมากขึ้นเรื่อยๆ แล้ว
ด้านวิญญัติเสริมเรื่องความเปลี่ยนแปลงที่เขาเห็นคือ ในช่วงปี 2557 ระหว่างการพิจารณาคดี ตุลาการของศาลทหารยังใช้วิธีการจดคำเบิกความของพยานด้วยลายมืออยู่ ทำให้การพิจารณาคดีช้าลง และข้อเท็จจริงในคดีก็ถูกบันทึกเป็นลายมือที่อ่านยาก แต่เมื่อมีเสียงวิจารณ์มากเข้าก็เปลี่ยนเป็นการพูดใส่ไมโครโฟนแล้วให้เจ้าหน้าที่พิมพ์ตาม นอกจากนี้ วิญญัติยังเห็นว่า ศาลทหารพยายามจัดอบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพบุคลากร แต่ลำพังการอบรมก็ยังไม่เพียงพอเพราะต้องอาศัยความเชี่ยวชาญที่เกิดจากการปฏิบัติด้วย
“สิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้นกับประชาชนคนใดเลย ไม่ว่าทหารหรือพลเรือน คือ มาตรฐานที่ต่ำในกระบวนการพิจารณาคดี ศาลทหารต้องพัฒนา หรือทำให้ตัวเองมีมาตรฐานดีขึ้นกว่าเดิม” วิญญัติกล่าว

12 กันยาน 2559 หัวหน้า คสช. ออกคำสั่งที่ 55/2559 ยุติการเอาพลเรือนขึ้นศาลทหารในคดีที่เกิดขึ้นหลังจากวันที่ออกประกาศเป็นต้นไป แต่คดีของพลเรือนอีกจำนวนมากที่เกิดขึ้นก่อนหน้านั้นก็ยังคงเดินหน้าพิจารณาต่อที่ศาลทหารดังเดิม พลเรือนยังต้องเผชิญหน้ากับเจ้าหน้าที่ที่เป็นทหาร อัยการที่เป็นทหาร และตุลาการคนตัดสินคดีที่เป็นทหารต่อไป ระยะเวลากว่า 2 ปีที่ผ่านมานี้ คงทำให้ทั้งทนายความและประชาชนที่สนใจเรื่องราวของระบบยุติธรรมได้เรียนรู้ไปไม่น้อย ขณะเดียวกัน ศาลทหารเองก็คงได้เรียนรู้และพัฒนาตัวเองหลายอย่างจากประสบการณ์ที่ต้องพิจารณาคดีพลเรือนเช่นเดียวกัน

You May Also Like
อ่าน

กสม.ชี้หน่วยงานรัฐไทยเอี่ยวใช้สปายแวร์เพกาซัส ชงครม.สั่งสอบ-เรียกเอกสารลับ

กสม. เชื่อว่า มีการใช้สปายแวร์ เพกาซัสละเมิดสิทธิจริง โดยพิจารณาจากความน่าเชื่อถือของการตรวจสอบทางเทคนิคคอมพิวเตอร์ และบริบทแวดล้อมในต่างประเทศ นอกจากนี้ยังระบุด้วยว่า หน่วยงานรัฐไทยมีส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้สปายแวร์
อ่าน

ขนุน สิรภพ “คงแค่ยิ้มสู้” ระหว่างศาลอุทธรณ์ไม่ให้ประกันตัวในคดีมาตรา 112

ขนุน สิรภพ “คงแค่ยิ้มสู้” ระหว่างศาลอุทธรณ์ไม่ให้ประกันตัวในคดีมาตรา 112 . สิรภพ พุ่มพึ่งพุทธ หรือขนุน นิสิตรัฐศาสตร์จากมศว จำเลยในคดีมาตรา 112 จากการกล่าวปราศรัยระหว่างการชุมนุม #ม็อบ18พฤศจิกา . 25 มีนาคม ที่ผ่านมาศาลอาญากรุงเทพใต้พิพากษา จำคุก 3 ปี แต่เนื่องจากการนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาอยู่บ้าง ศาลจึงลดโทษหนึ่งในสามคงจำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา . จนถึงวันนี้(4 เมษายน 2567) เป็นเวลา 10 วันแล้วที่ศาลอุทธรณ์ไม่ให้ประกันตัว